ความสำคัญของกระดูกอ่อนในข้อ
กระดูกอ่อนในข้อ หรือ กระดูกอ่อนข้อต่อ เป็นกระดูกอ่อนที่หุ้มอยู่ที่ปลายกระดูกส่วนที่อยู่ในข้อต่อ ทำหน้าที่ช่วยให้การเคลื่อนไหวข้อเป็นไปอย่างสะดวก ราบรื่น ไม่สะดุดหรือติดขัด กระดูกอ่อนข้อต่อจึงมีโครงสร้างที่ต่างจากกระดูกอื่นๆ คือ มีผิวมันวาว มีความหนาและแข็งแรงพอจะรองรับน้ำหนักหรือแรงกระแทกได้สูง กระดูกอ่อนข้อต่อจะไม่มีหลอดเลือดไปเลี้ยง แต่ได้รับสารอาหารจากน้ำหล่อเลี้ยงที่ผลิตจากเยื่อบุข้อที่เรียกว่าไขข้อ ซึ่งจะไปเคลือบอยู่ระหว่างผิวข้อทั้งสองด้านเพื่อช่วยให้การเคลื่อนไหวง่ายขึ้น โดยทั่วไปกระดูกอ่อนข้อต่อสามารถใช้งานได้ตลอดอายุขัยของแต่ละคน
กระดูกอ่อนอยู่ในส่วนใดของร่างกายบ้าง
กระดูกอ่อนข้อต่อจะมีอยู่เฉพาะในข้อต่อที่มีไขข้อเท่านั้น เนื่องจากต้องมีไขข้อมาหล่อเลี้ยง ส่วนกระดูกอ่อนที่พบในตำแหน่งอื่น เช่น ดั้งจมูก หรือใบหู เป็นชนิดที่มีความยืดหยุ่นมาก นอกจากนี้ยังมีกระดูกอ่อนเส้นใยซึ่งพบบริเวณหมอนรองกระดูกสันหลังหรือระหว่างกระดูกหัวหน่าว ซึ่งเป็นข้อต่อที่มีการเคลื่อนไหวน้อย กระดูกอ่อนแต่ละชนิดมีคุณสมบัติและโครงสร้างที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นหากพูดถึงข้อเสื่อมเราจะหมายถึงกระดูกอ่อนในข้อหรือกระดูกอ่อนข้อต่อ ซึ่งเรียกสั้นๆ ว่า ‘กระดูกอ่อน’ นั่นเอง
จะทราบได้อย่างไรว่ากระดูกอ่อนเริ่มผิดปกติ
เมื่อกระดูกอ่อนข้อต่อเริ่มเกิดการเสื่อม ผิวนอกที่เรียบเป็นมันวาวจะเริ่มแตกเป็นเส้นใยฝอยๆ เป็นการปริแยกที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า และเมื่อโรคดำเนินต่อไปก็จะแตกเป็นร่องลึก ผิวข้อจะเริ่มขรุขระ ลึกลงไปถึงชั้นกระดูกผิวข้อจะค่อยๆ บางลงและเสื่อมสลายไปหมดจนเหลือแต่กระดูกแข็ง
อาการของโรคข้อเสื่อม คือ อาการปวด จะปวดแบบเสียวลึกๆ ขัด และตึงในข้อ อาการจะมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวหรืออากาศเย็น ตอนเช้าหลังจากตื่นนอนผู้ป่วยอาจจะเดินได้ช้าลง การเคลื่อนไหวลดลง มีเสียงกรอบแกรบในข้อ ข้อบวม กล้ามเนื้อรอบข้อลีบลง และเมื่อโรคลุกลามจะทำให้ข้อมีลักษณะผิดรูป ถ้าเป็นข้อเข่าเสื่อมรุนแรงมักจะทำให้ขาโก่ง
การปฏิบัติตัวเมื่อพบว่ากระดูกข้อเสื่อม
สิ่งสำคัญที่ต้องปฏิบัติเพื่อป้องกันโรคข้อเสื่อมลุกลาม ได้แก่
1. ควบคุมน้ำหนักตัว เพราะน้ำหนักมีความสัมพันธ์อย่างสูงกับข้อเสื่อมโดยเฉพาะข้อเข่า การลดน้ำหนักลงได้ 5 กิโลกรัมจะช่วยลดความเสี่ยงต่อข้อเข่าเลื่อมลงได้ครึ่งหนึ่ง
2. หลีกเลี่ยงการใช้งานที่ต้องรับแรงกระทำมากๆ ทุกวัน เช่น งานที่ต้องนั่งคุกเข่า นั่งยองๆ หรืองานที่ต้องยกของหนักเป็นประจำ
3. ไม่ควรทำกิจกรรมต่างๆ บนพื้น เช่น การล้อมวงกินข้าว การซักผ้า รัดผ้า หรือการใช้ห้องน้ำที่ต้องนั่งยองๆ
รองศาสตราจารย์วิวัฒน์ วจนะวิศิษฐ์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
ที่มา : ไทยรัฐ 13 กุมภาพันธ์ 2558