พุทธศาสน์กับ “ศักราชใหม่” พระอาจารย์คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล โดย ชฎาพร นาวัลย์

bangkokbiznews121230_001ต้อนรับเข้าสู่ศักราชใหม่ ด้วย “แนวทาง” หรือเครื่องมืออันทรงพลังที่จะนำทุกท่านไปพบความจริงของชีวิต จากพระอาจารย์คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล
ต้อนรับเข้าสู่ศักราชใหม่ ปี 2556 ซึ่งเราต่างกำหนดให้มันเป็นจุดสตาร์ทความฝัน และความมุ่งมั่นอันแรงกล้า กายใจฉบับนี้จึงขอเสนอ “แนวทาง” หรือเครื่องมืออันทรงพลังที่จะนำทุกท่านไปพบความจริงของชีวิต เพื่อความสุขความเจริญตลอดปีและตลอดไป

แท้จริงแล้ววันเวลาก็เดินของมันไปตามกลไกธรรมชาติ จะปีเก่า ปีใหม่ วันไหน ๆ ก็สำคัญเท่าเทียมกัน หากแต่ในวันนี้ ปัจจุบันนี้มนุษย์ผู้มีกิเลสหนาทั้งหลาย ยังไม่สามารถไขว่คว้าหาคำตอบให้กับตนเองได้ บ้างก็ยังมัวเมาหรือลุ่มหลงกับความบันเทิงเริงใจ จนประมาทและชะล่าใจกับการใช้ชีวิตที่ถูกครรลอง

ในขณะที่บางคนอาจค้นพบทางออกของตนแล้ว ทว่าก็ยังไม่มั่นใจในทางเลือกหรือคำตอบของตนเอง หลายคนว่าพวกเขาไม่มีหลักยึดที่ถูกต้องแท้จริง จึงโอนเอนท่ามกลางคลื่นข้อมูลความรู้ที่หลากหลายถาโถมซัดกระหน่ำ แล้วพวกเขาจะตัดสินใจให้ถูกต้องได้อย่างไร มันเป็นคำถามที่น่าแปลกใจสำหรับชาวพุทธที่มีศาสดาองค์เดียวกัน ผู้ตรัสรู้ความจริงของโลกอย่างแจ่มแจ้ง

เราเดินทางมุ่งหน้าสู่วัดหนองป่าพง อ. ลำลูกกา จ. ปทุมธานี เพื่อปุจฉา สอบถามความจริง ไขข้อสงสัยกับพระอาจารย์คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล ซึ่งท่านเมตตาวิสัชนา ให้ความกระจ่างกับผู้อ่านกายใจ

พระสูตรหรือพุทธวจนะคือคำตอบของทุกสิ่งหรือ

ใช่ เพราะพระพุทธเจ้าคือ สัพพัญญู รู้ทุกเรื่อง รู้โลกธาตุ เพราะฉะนั้นความศรัทธาที่ชาวพุทธมีต่อศาสดาตนเอง ต้องศรัทธาว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้จริง ไม่ว่าเรื่องทางโลกหรือเรื่องทางธรรม รู้ทั้งหมดและพระองค์ก็ได้จำแนก แจกแจง เปิดเผย บอกเราทุกอย่างแล้ว ก็เลยกลายเป็นว่าคำพูดของพระพุทธเจ้าคือคำตอบของทุกเรื่องในโลก
เป็นคำตอบที่เป็นสัจจะ คือความจริง ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ตรงจริง สัจจะในทางโลก จริงวันนี้ อีกห้าปี สิบปี ร้อยปีอาจจะเปลี่ยนก็ได้ เป็นอนิจจัง ไม่แน่นอน ดังคำที่พระพุทธเจ้าตรัสกับสาวกว่า วิธีการรักษาไว้ซึ่งความจริงคือ อย่าคิดว่าสิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ด้วยความคิดอย่างนี้ความจริงจะถูกรักษาเอาไว้ เพราะสิ่งที่เรารู้มามันเป็นอนิจจังคือไม่แน่นอน มันเปลี่ยนแปลง

หลักธรรมใดที่เราควรยึดใช้ในชีวิต

อริยสัจ ๔ เป็นความจริงที่เป็นกฎตายตัวของธรรมชาติ เพราะข้างในของมันก็คือปฏิจจสมุปบาท อิทัปปัจจยตา ครอบคลุมทุกเรื่อง ว่าด้วยสิ่งนี้มีสิ่งนี้จะมี ถ้าสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จะไม่มี กฎตัวนี้มันเป็นหลักเหตุหลักผลของสังคม ถ้ามนุษย์ใช้หลักตรงนี้ มันตอบโจทย์ได้ทุกเรื่อง ใครค้าขายไม่ดี ก็ไปสร้างเหตุไม่ดี ซึ่งอาจเป็นเหตุทางโลกหรือเหตุทางธรรม เหตุทางโลกขยันแล้ว การศึกษาดีแล้ว ทำไมอุปสรรคเยอะ เจอแต่คนไม่ดี ทำไมโอกาสเราไม่เหมาะกับเวลา ไม่ได้จังหวะ แหม พลาดไปนิดเดียว ก็ต้องไปสร้างเหตุปัจจัยสิ่งที่บางทีเรามองไม่เห็น เรานึกไม่ถึง แต่ตถาคตทราบ นั่นคือ พระศาสดาของเรา

นั่นก็คือการต้องเป็นผู้มีศีลดี ไม่ห่างเหินจากฌาน หรือสมาธิ ประกอบกับการทำวิปัสสนา คือมีปัญญาเห็นความไม่เที่ยง อยู่วิเวกบ้าง หรือให้ความศรัทธาศีล สุตมยปัญญาก็ได้ แล้วก็จะได้สมความปรารถนา

สิ่งนี้ต้องยึดไว้ตลอดชีวิตเลย เพราะเราตายแน่นอน เพราะเวลาเราจะตาย เราจะวางจิตไม่ไหว นี่เป็นคำสอนที่ตอบได้ทั้งทางโลกและทางธรรม คนมักจะคิดไปว่าพระพุทธเจ้าสอนในเรื่องการหลุดพ้นอย่างเดียว นั่นคือเขายังไม่เข้าใจว่าสัพพัญญูคืออะไร ทางโลกก็ตอบไป ทางธรรมก็ตอบไป แต่เพราะคนยังไม่เป็นโสดาบันจึงมีความหวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ก็เลยไปฟังคนอื่น ฟังหมอดูบ้าง พึ่งผีสางเทวดานางไม้ พึ่งตัวเลข ก็จะแสวงหาไปเรื่อย ๆ ท่านก็บอกว่าเดินไปหาที่พึ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่สามารถแก้ปัญหาความทุกข์ได้

แล้วมีหลักธรรมใดใช้แก้ปัญหาปากท้อง

อันดับแรกต้องเชื่อพระพุทธเจ้าก่อน กลับมารักษาศีล กลับมานั่งสมาธิ มาเห็นสัจจะว่า สัตว์โลกเป็นไปตามกรรม เดี๋ยวอุปสรรคปัญหาต่าง ๆ จะค่อย ๆ หมดไปเอง พื้นฐานต้องยอมรับระดับหนึ่งว่า แต่ละคนมีมาไม่เท่ากัน ภายใต้ความไม่เท่ากันตรงนี้ อยากให้ผลกรรมดีนั้นส่งผลในปัจจุบันไหม พระพุทธเจ้าให้ทำสมาธิ ๘ ระดับซึ่งจะส่งผลในปัจจุบันทันที เมื่อเรามีศีล สมาธิ อุปสรรคปากท้องจะค่อย ๆ หมดไป ชีวิตจะดีขึ้นไปเรื่อย ๆ ต้องศรัทธาตรงนี้ก่อน ค่อย ๆ ทำไปเรื่อย ๆ

เราจะเห็นคนจบตรี โท เอก ขยันเท่า ๆ กัน แต่ทำไมบางคนสำเร็จ บางคนไม่สำเร็จ นั่นเพราะมีเหตุปัจจัยที่หลายคนไม่รู้ แต่สัพพัญญูรู้ ท่านบอกให้พึ่งตนและพึ่งธรรมะ พระองค์ให้เจริญสติปัฏฐาน ๔ กลับมารู้ลมหายใจตนเอง เจริญอาณาปานสติ

สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคืออะไร แล้วเราจะจัดการมันได้อย่างไร

คือการไม่รู้อริยสัจ ๔ หรือ ปฏิจจสมุปบาท น่ากลัวที่สุดเลย จึงต้องท่องเที่ยวไปตลอดกาลยาวนานในสังสารวัฏ แต่ถ้ารู้ในอริยสัจ ๔ ไม่มีอะไรจะต้องกลัว เราจะรู้ว่าชีวิตเป็นไปตามกรรม และเราออกจากกรรมได้ จะมีความมั่นคงมาก เพราะฉะนั้น จิตของพระโสดาบันจะมีความมั่นคงประดุจเสาหินยาว ๑๖ ศอกฝังลึกลงในดิน ๘ ศอก ยาวขึ้นมา ๘ ศอก โดยไม่หวั่นไหวต่อแรงโน้มท่วงที่มาทั้ง ๔ ทิศฉันใด จิตโสดาบันก็ฉันนั้น ส่วนจิตของปุถุชนก็เบาเหมือนปุยนุ่น ใครเขาบอกตรงนี้นิด ก็เอนไปแล้ว ลมพัดซ้ายทีก็ไปซ้าย พัดขวาทีก็ไปขวาอย่างนี้ ไม่มีความมั่นคง

หลักเดียวกัน หลักอริยสัจ ๔ เป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุดที่จะต้องรู้ เหมือนฟางไหม้ผมบนศีรษะ พระพุทธเจ้าตรัสถามว่าเธอจะทำอะไรก่อน ตอบกลับมาว่าดับผมบนศีรษะก่อน พระพุทธเจ้าบอกมารู้อริยสัจก่อน ขนาดนั้น ฉะนั้นการไม่รู้ปฏิจจสมุปบาท หรืออริยสัจ ๔ ร้อนยิ่งกว่านรก ในนรกว่าร้อนแล้วนะ แต่การไม่รู้นี่ร้อนยิ่งกว่า

ปฏิจจสมุปบาท ก็คืออริยสัจ ๔ ข้อที่ ๒ และ ๓ เราจะพูดอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ คนที่ไม่รู้ก็อาจสับสน แต่มันคืออย่างเดียวกัน ปฏิจจสมุปบาท คือการลงรายละเอียดในข้อ ๒ และ ๓ สมุทัย เหตุเกิด คือ ปฏิจจสมุปบาทสายเกิด การเกิดขึ้นของความตาย ส่วนปฏิจจสมุปบาทสายดับคือตัวนิโรธ เวลาพระพุทธเจ้าจะพูดนิโรธอย่างเดียว เพราะองค์จะตรัสลำดับขั้นการดับไปของความตาย ว่าตายสามารถดับไปได้ เข้าแบบที่เหตุ ถ้าฆ่าไม่มี ตายก็ไม่มี ถ้าดับภพ ชาติจะไม่มี ถ้าดับอุปาทาน ภพจะไม่มี ถ้าดับตัณหา อุปาทานจะไม่มี ถ้าดับเวทนา ตัณหาก็ไม่มี ถ้าดับผัสสะ เวทนาจะไม่มี ไล่ดับไปเรื่อย ๆ

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่เข้าใจยาก มีอยู่กับตัว แต่ไม่ดูเอง ก็มัวแต่เพลินกับรูปรสกลิ่นเสียง แต่อริยสัจอยู่คาตาของทุกคน พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า มนุษย์ทั้งหลายเป็นผู้มีผัสสะบังหน้า ก็เลยเพลินในผัสสะ เข้าใจผิดในผัสสะ ก็เลยไม่เห็นไง สุขเกิดมาสักพักก็ดับไป แต่ไม่มีใครเห็นเวลามันดับ ความทุกข์เกิดมาที่สุดก็ดับไป แต่ไม่มีใครสังเกตว่าดับไปของทุกข์ ความจริงก็เห็นอยู่ในปัจจุบันขณะ เห็นอย่างนี้ได้คนนั้นหลุดพ้นจากความตาย ไม่ต้องตายอีกต่อไป นี่คือสุดยอดของปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์ใดก็ช่วยให้พ้นจากความตายไม่ได้นอกจากปาฏิหาริย์คือคำสอน

ที่ผ่านมาเราเชื่ออิทธิปาฏิหาริย์ เรามีเครื่องวัดผิด เพราะเราไม่ได้ศึกษาพุทธวจนะ พระพุทธเจ้าไม่ได้สรรเสริญนะ สังคมจึงมีมาตรฐานผิดเครื่องวัดผิด คิดว่าเขาเป็นอริยบุคคลก็เลยเชื่อไปตามนั้น มันก็เลยรู้ผิดกันไปเรื่อยๆ พอบอกแก้กรรมก็ไปรดน้ำมนต์ ไปบังสกุลเป็น-ตาย ไปสะเดาะเคราะห์ ไปดูฤกษ์ยาม คิดว่าเป็นมงคล แต่ตถาคตบอกว่านี่เป็นเดรัจฉานวิชา เลี้ยงชีวิตผิด ซึ่งถ้าเขาเป็นอริยะ เขาต้องมีสัมมาอาชีวะ และเขาต้องเพียรพยายามละมิจฉาอาชีวะให้ได้ ต้องมีสติ เพื่อเป็นสัมมาสติ ละมิจฉาสติได้ เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่เรื่องยากหรือง่าย แต่เป็นเรื่้องจริงหรือไม่จริง อยากรู้ความจริงก็ต้องศึกษา ที่จะต้องทำความเข้าใจและอย่าหยุดความเพียร ก็จะบรรลุได้แน่นอน

เราจะแก้ไขความขัดแย้งในตัวเราและสังคมได้อย่างไร

ต้องไม่หวั่นไหวในพระศาสดา ต้องถามว่าเขาศาสนาพุทธหรือเปล่า แต่ถ้าไม่ใช่หรือมีลัทธิอื่น พระพุทธเจ้าก็มีการสอนอีกแบบหนึ่ง เราก็เอาความดีที่เห็นตรงกันมาคุยกันก่อน ศาสดาใดสมาทานความดีที่เห็นตรงกันได้มากกว่ากัน ให้เป็นเลือกนับถือสิ่งนั้น

แต่ถ้าเรามีศาสดาแล้ว นับถือพุทธใช่ไหม แต่ยังไปฟังความเห็นอื่น แสดงว่าหวั่นไหวในศาสดาของตัวเอง แต่ถ้าเชื่อมั่นก็จะฟังแต่พุทธวจนะ เพราะนี่คือคำที่ออกจากปากศาสดา สาวกมีหน้าที่จดจำคำศาสดามาถ่ายทอด พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า เธอทั้งหลายเป็นทายาทแห่งตถาคต เป็นโอรสอันเกิดจากปากตถาคต พระสงฆ์มีเอาไว้เป็นกระบอกเสียงของพระพุทธเจ้า แต่ไม่ใช่เอาคำพูดของตัวเองมาพูดเอง มิฉะนั้นถ้าเอาคำพูดนั้นมาได้ ก็แสดงว่าคำพระพุทธเจ้านั้นผิด เพราะพระพุทธเจ้าตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย จะไม่บัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่เคยบัญญัติ จะไม่เพิกถอนสิ่งที่บัญญัติไปแล้ว อยากเจริญก็ทำแบบนี้ อยากเสื่อมก็บัญญัติเข้าไป เสื่อมแน่นอน เพราะฉะนั้นตถาคตก็ไม่เป็นหนึ่งเดียว นี่คือสับสนตั้งแต่ตนเอง คนอื่นก็เลยสับสน สังคมก็เลยสับสน ก็เกิดการแตกแยก นี่ขนาดแค่สังคมพุทธ ยังมีหลายสำนักหลายนิกาย

เพราะฉะนั้น อย่างที่พระพุทธเจ้าบอก สุตตันตะ เหล่าใดที่กวีแต่งขึ้นใหม่ เป็นคำร้อยกรองประเภทกาพย์กลอนมีอักษรสละสลวยมีพยัญชนะอันวิจิตร เป็นเรื่องนอกแนวเป็นคำกล่าวของสาวก เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่ เธอจักไม่ฟังด้วยดีไม่เงี่ยหูฟัง ไม่ตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึงและจักไม่สำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน ส่วนสุตตันตะเหล่าใด ที่เป็นคำของตถาคตเป็นข้อความลึกมีความหมายซึ้ง เป็นชั้นโลกุตตระว่าเฉพาะด้วยเรื่องสุญญตา, เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่; เธอย่อมฟังด้วยดี ย่อมเงี่ยหูฟัง ย่อมตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และย่อมสำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน

ความขัดแย้งจะหมดไป ถ้าเรามีศรัทธาร่วมกันในคน ๆ เดียว ทุกอย่างเรียบร้อยหมด ไม่ใช่ว่าพอคนนี้บอกให้หยุด อีกวันคนนั้นบอกให้หยุด คนนี้ก็บอกคนนั้นทำได้ ทำไมจะทำบ้างไม่ได้ อย่างนี้ไม่มีวันแก้ได้ แต่ถ้าเรายึดมั่นในพระศาสดา ทุกเรื่องในสังคม แก้ปัญหาได้ทั้งหมด พระพุทธเจ้าตอบปัญหาของคนทั้งโลกไว้หมดแล้ว จิปาถะ ความเห็นมนุษย์ทั้งโลกคิดได้ ๖๒ แบบ เพราะฉะนั้นคนที่มีอินทรีย์แก่กล้า ดวงตามากน้อยแค่ไหน พระพุทธเจ้ารู้ทั้งหมด แม้จะไม่มีตอบไว้ ก็มีหลักเทียบเคียง ถ้าเข้ากันได้กับสิ่งที่ควร อันนั้นก็ควร ถ้าเข้ากับสิ่งที่ไม่ควร อันนั้นก็ไม่ควร วางหลักเอาไว้แล้ว ฉะนั้นเวลาฟังคำใคร อย่าเพิ่งเชื่อ อย่ารับรอง อย่าคัดค้าน แต่จำให้ดีว่าเขาพูดว่าอะไร เสร็จแล้วเอามาเทียบเคียงกับสิ่งที่ตถาคตว่าไว้ ถ้าเข้ากันได้แสดงว่าคนที่พูดนั้น เขาจำมาถูก แต่ถ้าไม่เข้ากับคำตถาคตให้ละทิ้งความเชื่อและคำพูดนั้นเสีย

อันความขัดแย้งในสังคมนั้นมีหลายเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยหนึ่งของการทะเลาะเบาะแว้ง ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ ยักษ์ นาค อสูร เทวดา มันทะเลาะกันหมด เหตุปัจจัยในการขัดแย้งคือ อิจฉา และ ตระหนี่ อิจฉากันและมีความตระหนี่หวงแหน มันจะเกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันทันที เรียกว่าเรื่องราวอันเกิดจากการหวงกัน แล้วก็มีคนถามพระพุทธเจ้าว่าความอิจฉาและตระหนี่เกิดจากอะไร ท่านก็ตอบว่าเพราะสิ่งอันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รัก เดี๋ยวจะเกิดอิจฉาและตระหนี่ขึ้น แล้วก็จะทะเลาะกัน ทางแก้ก็คือ เมื่อรักใครไม่ชอบใครก็ให้รีบวางอุเบกขา วางเป็นความเฉย ๆ แล้วความรักที่เกิดจากรัก รักที่เกิดจากเกลียด เกลียดที่เกิดจากรัก และเกลียดที่เกิดจากเกลียดจะดับไป อารมณ์คนมี ๔ อย่างในโลก

อีกทั้งการเจริญธรรม ๓ อย่างให้มาก นั่นคือ ถ้าเราเจริญความคิดในทางกาม ปฏิบัติ เบียดเบียน การทะเลาะก็จะเกิดขึ้น แต่ถ้าเราละ ๓ อย่างแล้วมาเจริญธรรม คือ การหลีกออกจากกาม หลีกออกจากพยาบาท และหลีกออกจากการเบียดเบียน การทะเลาะเบาะแว้งจะไม่เกิดขึ้น คนในสังคมมองกันด้วยสายตาแห่งความรัก จะเข้ากันได้ดุจน้ำกับน้ำนม

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ 30 ธันวาคม 2555

.

Related Article :

.