ภาวะพร่องเอนไซม์ จี 6 พีดี

ถั่วปากอ้าเป็นอาหารต้องห้ามสำหรับคนที่มี “ภาวะพร่องเอนไซม์ จี 6 พีดี” หรือ กลูโคส6-ฟอสเฟต ดีไฮโดรจีเนส แต่ท่านผู้อ่านรู้หรือไม่ว่า ในอีกมุมหนึ่งภาวะดังกล่าวก็มีประโยชน์เหมือนกัน

ศ.นพ.ดร.อิศรางค์ นุชประยูร คลินิกกุมารชีวาภิบาล ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  กล่าวว่า ภาวะพร่องเอนไซม์ จี 6 พีดี เป็นภาวะที่พบบ่อยในประชากรไทย ส่วนใหญ่ผู้ที่พร่องเอนไซม์นี้ไม่ค่อยมีปัญหาทางสุขภาพ ยกเว้นเด็กบางคนคลอดออกมาพร่องเอนไซม์นี้จะมีภาวะตัวเหลืองมากกว่าเด็กปกติ

นอกจากอาการตัวเหลืองตอนแรกคลอดแล้ว เมื่อโตขึ้นมักไม่ค่อยมีปัญหาอะไรทางสุขภาพ ยกเว้นไปกินยา หรือกินอาหารบางอย่าง เช่น กินยาต้านมาลาเรียบางชนิด กินถั่วปากอ้า อาจทำให้เม็ดเลือดแดงแตก ปัสสาวะมีสีแดง หรือสีดำ เลือดจางอย่างรวดเร็วได้ แต่ถ้าไม่ได้กินก็ใช้ชีวิตได้ตามปกติ

ประเด็นที่น่าสนใจ คือ ทำไมภาวะพร่องเอนไซม์ จี 6 พีดีพบมากในประชากรไทยและประชากรชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีสูงถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ในประชากรไทยประมาณ 66 ล้านคนน่าจะมีภาวะพร่องเอนไซม์ จี 6 พีดีประมาณ 4 ล้านคน เป็นผู้ชายประมาณ 3 ล้านคน ผู้หญิงประมาณ 1 ล้านคน

อีกมุมหนึ่งของภาวะพร่องเอนไซม์ จี 6 พีดี ก็มีประโยชน์ เพราะมีการค้นพบว่า ภาวะพร่องเอนไซม์ จี 6 พีดีซึ่งเกิดจากความผิดปกติของยีนเพียงเล็กน้อย ในสมัยก่อนที่ประชากรไทยอยู่ในภูมิภาคนี้มียุงเยอะ และมีมาลาเรียเยอะ ประชากรไทยอยู่ได้อย่างไร ตั้งแต่ยุคอดีตจนถึง 50 ปีที่แล้วซึ่งไม่มียาต้านมาลาเรีย  เราพบว่า ประชากรที่มีภาวะพร่องเอนไซม์ จี 6 พีดี ป่วยและตายจากมาลาเรียน้อยกว่าประชากรที่ไม่มีภาวะพร่องเอนไซม์ จี 6 พีดี โดยคนที่มีภาวะพร่องเอนไซม์ จี 6 พีดีอยู่รอดได้ดีกว่า

เพราะฉะนั้นภาวะพร่องเอนไซม์ จี 6 พีดีก็มีประโยชน์สำหรับประชากรไทย คือ มาลาเรียคัดเลือกประชากรที่มีภาวะพร่องเอนไซม์ จี 6 พีดีให้อยู่รอดได้ดีกว่าปัจจุบันเรามียาต้านมาลาเรียแล้ว เราก็เลยไม่เห็นประโยชน์ของการพร่องเอนไซม์ จี 6 พีดีอีกต่อไป

ผู้ใดที่มีภาวะพร่องเอนไซม์ จี 6 พีดีแล้วรู้สึกแย่ น่าจะรู้สึกภูมิใจด้วยซ้ำว่ามียีนของดีนี้อยู่ เพียงแค่หลีกเลี่ยงยาหรืออาหารบางอย่างที่ทำให้เกิดปัญหาเม็ดเลือดแดงแตกเท่านั้นเอง

นอกจากถั่วปากอ้าแล้ว จากการสืบค้นก็ไม่พบว่ามีอาหารอย่างอื่นที่ห้ามสำหรับผู้ที่มีภาวะพร่องเอนไซม์ จี 6 พีดี มีบางรายงานในอินเดียเกี่ยวกับการใช้สีเฮนน่าทาตัวที่อาจเป็นปัญหาได้ หรือลูกเหม็น แต่ปกติไม่มีใครกินลูกเหม็นอยู่แล้ว ยกเว้นเป็นอุบัติเหตุ เด็กรู้เท่าไม่ถึงการณ์กินเข้าไปเพราะนึกว่าลูกอม

เอนไซม์ จี 6 พีดี  มีหน้าที่ป้องกันเม็ดเลือดแดงและเซลล์อื่น ๆ จากภาวะออกซิเดชัน คือ มีหน้าที่ผลิตสารป้องกันภาวะออกซิเดชัน ซึ่งภาวะออกซิเดชันไม่ได้เกิดตลอดเวลา แต่เกิดเป็นพัก ๆ  ส่วนใหญ่ถ้าใช้ชีวิตปกติคงไม่เกิดเรื่อง แต่ช่วงเวลาบางตอนที่ติดเชื้อแบคทีเรีย ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ก็อาจทำให้มีภาวะออกซิเดชันเกิดขึ้นในร่างกาย  ดังนั้นแนะนำว่าควรกินอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ๆ  เช่น ผัก ผลไม้มีสีต่าง ๆ  ทั้งนี้ไม่ใช่เฉพาะคนที่มีภาวะพร่องเอนไซม์ จี 6 พีดีเท่านั้นแต่คนทั่วไปก็ควรรับประทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงเช่นกัน

มีผู้คนถามกันเยอะทางอินเทอร์เน็ตว่า ลูกฉันพร่องเอนไซม์ จี 6 พีดีทำยังไงดี น่ากังวลจัง ก็อยากให้ความรู้ว่า  ไม่ต้องกังวล  ไม่เป็นอะไรหรอก นอกจากตัวเหลืองตอนคลอด ส่องไฟก็หาย ไม่ว่าเหลืองจากภาวะอะไรส่องไฟก็หายหมด แต่เมื่อรู้ว่ามีภาวะพร่องเอนไซม์ จี 6 พีดี สิ่งที่ควรทำ คือ หลีกเลี่ยงยาบางชนิด และถั่วปากอ้า แต่บางคนกินถั่วปากอ้าก็ไม่เห็นเป็นอะไร เพราะมันไม่ได้เป็นทุกครั้ง บางครั้งก็เกิดเรื่อง บางครั้งก็ไม่เกิดเรื่อง ขึ้นอยู่กับว่าถั่วปากอ้าที่กินเข้าไปนั้นมีสารที่ทำให้เม็ดเลือดแตกเยอะหรือเปล่า.

นวพรรษ บุญชาญ รายงาน

 

ที่มา: เดลินิวส์ 23 กันยายน 2555

.

Related Link:

.

ภาวะพร่องเอนไซม์ จีซิกส์พีดี (G6PD deficiency)โดย แพทย์หญิงพัชร เกียรติสารพิภพ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย