คุณเป็นโรคนี้หรือเปล่า Fibromyalgia Syndrome

 

“คอลัมน์เภสัชอาสา .. ปรึกษาปัญหาปวด” กลับมาพบกับผู้อ่านอีกครั้ง ครั้งนี้นำเรื่องเกี่ยวกับโรคปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง (Fibromyalgia Syndrome) มาฝากกัน พร้อมกับวิธีดูแลตัวเองแบบง่ายๆ

ชื่ออาจจะดูเรียกยาก แต่หากจะพูดให้เข้าใจง่ายๆแล้ว โรคนี้จัดเป็นกลุ่มอาการปวดของกล้ามเนื้อทั่วร่างกายเรื้อรัง ร่วมกับอาการอ่อนล้า ทำให้มีปัญหานอนไม่หลับ ส่งผลกระทบต่อจิตใจและอารมณ์โดยตรง มักจะเกิดหลังจากได้รับบาดเจ็บ จากการผ่าตัด การติดเชื้อ หรือได้รับผลกระทบต่อจิตใจอย่างรุนแรง มักจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

อาการของโรคเป็นอย่างไร

อาการในแต่ละบุคคลจะมีอาการมากน้อยแตกต่างกันขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของอากาศ ระดับความเครียด การออกกำลังกาย จะมีอาการสำคัญๆที่เห็นได้ชัดเจน ดังนี้

1. อาการปวด มักจะพบมากบริเวณคอและหลัง ซึ่งจะมีอาการปวดอย่างต่อเนื่อง แต่ความปวดมาก-น้อยจะมีไม่เท่ากัน ลักษณะอาการปวดที่พบมักจะเป็นการปวดตึงๆ, ปวดเหมือนถูกของร้อน , ปวดเหมือนถูกของทิ่มแทง

2. มีความไวต่อการสัมผัส ผู้ป่วยโรคนี้มักจะมีความไวต่อความเจ็บปวดเป็นอย่างมากและจะเจ็บนานกว่าปกติ

3. ข้อติด ผู้ป่วยโรคนี้จะสามารถเคลื่อนไหวลำบาก หากอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานๆ เนื่อจากกล้ามเนื้อมีการหดตัว

4. นอนหลับไม่สนิทและอ่อนเพลีย ผู้ที่เป็นโรคนี้มักจะนอนหลับไม่สนิท แม้ว่าจะมีเวลานอนนานเนื่องจากตื่นตอนกลางคืนบ่อย และบางรายอาจมีอาการอ่อนเพลียร่วมด้วย

การดูแลตนเองเบื้องต้น จะทำได้อย่างไรบ้าง

การดูแลตนเองในเบื้องต้น สามารถทำได้ก่อนการใช้ยารับประทาน ซึ่งผู้ที่เป็นจะต้องสร้างความรู้ความเข้าใจในอาการของโรคเบื้องต้นเสียก่อน รวมถึงผู้ที่อยู่ใกล้ชิดก็จะต้องพยายามเข้าใจในผู้ที่เป็นโรคนี้ให้มาก โดยการให้ความรู้ ให้กำลังใจ เพื่อเปลี่ยนทัศนคติจากความวิตกกังวล ท้อแท้ หรือซึมเศร้า ให้เป็นความเชื่อมั่นเพื่อที่จะส่งเสริมให้สามารถอยู่กับอาการต่างๆได้อย่างเหมาะสม ซึ่งการลดความเครียดนั้น สามารถทำได้หลายวิธีเช่น ออกกำลังกายแบบแอโรบิค เพื่อช่วยเพิ่มสมรรถภาพของร่างกายในผู้ที่มีสุขภาพเสื่อมถอยจากการเจ็บปวดเป็นเวลานาน การออกกำลังกายวิธีนี้มีข้อดีคือ ผู้ออกกำลังกายสามารถเลือกได้หลากหลายวิธี ซึ่งอาจจะพิจารณาตามความเหมาะสมของอายุ สภาพร่างกาย ความพอใจ และการเข้าถึงวิธีออกกำลังกายในแต่ละราย การออกกำลังกายจะต้องเริ่มทำทีละน้อย เพราะอาจกระตุ้นให้มีอาการปวดมากขึ้นได้ เมื่อออกกำลังกายอยู่ตัวแล้วจึงค่อยปรับขึ้นตามความสามารถ , การทำสมาธิ , การเล่นโยคะ , การนวดสปา หรือการนวดแผนไทย (โดยอาจใช้สมุนไพรไทย เช่นใ ช้ครีมที่มีสารสกัดจาก “น้ำมันไพลเข้มข้น” ที่เคยอยู่ในลูกประคบมาอยู่ในรูปแบบของครีมนวดซึ่งใช้ง่ายและไม่ต้องมีวิธียุ่งยากในการใช้)

ส่วนการดูแลในด้านอาการปวดแบบเรื้อรั้งและอาการไวต่อการสัมผัสนั้น อาจใช้วิธีการรักษาได้หลายวิธี เช่น การรับประทานยา การฝังเข็ม การนวดไทย การทำกายภาพบำบัด หรือการใช้สารสกัดจากพริก ซึ่งมีสาร “แคปไซซิน” หรือ “เจลพริก”ซึ่งช่วยในการบรรเทาอาการปวดแบบเรื้อรัง และบรรเทาอาการปวดที่เกิดจากปลายประสาทอักเสบได้ (มักมีอาการปวดเหมือนถูกไฟฟ้าช๊อต หรือถูกของทิ่มแทง บางรายอาจมีอาการชาร่วมด้วย) แต่จะต้องใช้อย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 2 สัปดาห์ขึ้นไป

“ปัจจุบัน Fibromyalgia Syndrome ยังเป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุ แต่เชื่อว่าน่าจะมีความผิดปกติในระบบประสาทส่วนกลาง มักพบว่ามีความสัมพันธ์กับประวัติครอบครัว การได้รับบาดเจ็บ การติดเชื้อไวรัส ความเครียดทางจิตใจ ภาวะซึมเศร้า กังวล ความผิดปกติของต่อมไรท่อ หรือเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน

(หน้าพิเศษ Hospital Healthcare)

ที่มา : Hospital Healthcare   วันที่ 03 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

เครือมติชน ปีที่ 8 ฉบับที่ 77 กุมภาพันธ์ 2557

ที่มา: มติขน 5 กุมภาพันธ์ 2557