อย่าตื่นตระหนกแบคทีเรียกินเนื้อคน

dailynews140727_01ข่าวผู้เสียชีวิตจากเงี่ยงปลาทับทิมตำ แล้วถูกแบคทีเรียกินเนื้อคนเล่นงาน กำลังเป็นที่สนใจอยู่ในขณะนี้ เพื่อให้ผู้อ่านได้รับทราบข้อเท็จจริง “X-RAY สุขภาพ” ในวันนี้จึงไปพูดคุยกับ รศ.ดร.นพ.ภัทรชัย กีรติสิน หัวหน้าภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล

การใช้คำพูดว่า “แบคทีเรียกินเนื้อคน” เป็นข่าวมาหลายครั้ง แม้จะฟังดูน่ากลัว แต่เป็นคำที่ช่วยให้เห็นภาพได้ชัดเจน เชื้อพวกนี้ ทำลายตั้งแต่ชั้นผิวหนังลงไปถึงกล้ามเนื้อ โดยอาศัยเอนไซม์ หรือ สารพิษ ทำให้เกิดการเน่าตายของเนื้อเยื่ออย่างรุนแรง รวมถึงอาจลุกลามทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด และเสียชีวิตได้ในที่สุด

แบคทีเรียที่ก่ออาการแบบนี้ได้ มีหลายชนิด ขอยกตัวอย่างที่สำคัญ 4 ชนิด คือ

1.สเตรปโตคอคคัส ไพโอจีเนส หรือเรียกย่อ ๆ ว่า สเตรป กรุ๊ป เอ ทำให้เกิดโรคเนื้อเยื่อเน่าตาย พบเชื้ออาศัยได้ในสิ่งแวดล้อมทั่วไป เชื้อนี้เป็นตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคต่อมทอนซิลอักเสบ และผิวหนังอักเสบเป็นตุ่มหนองเล็ก ๆ โอกาสเกิดโรคเนื้อเยื่อเน่าตายนี้พบได้น้อยมาก

2.คลอสตริเดียม เพอฟรินเจนส์ เป็นแบคทีเรียกลุ่มที่ไม่ต้องการออกซิเจน พบอาศัยได้ทั่วไปในดิน ซากพืช ซากสัตว์ สิ่งแวดล้อม สร้างสารพิษที่ทำให้เกิดโรคเนื้อตายชนิดมีก๊าซ

3.วิบริโอ วัลนิฟิคัส พบอาศัยในน้ำเค็ม น้ำทะเล รวมถึงสัตว์ที่อาศัยในแหล่งน้ำนั้นสามารถทำให้เกิดการเน่าตายของเนื้อเยื่อที่เกิดผิวหนังโป่งพอง คล้ายถุงน้ำที่มีเลือดปน

4.แอโรโมแนส ไฮโดรฟิลา พบอาศัยในน้ำจืด น้ำกร่อย ทำให้เกิดโรคคล้ายกับข้อ 3

ประเด็นสำคัญที่เชื้อทั้งสี่มีคล้ายกันโดยรวม และประชาชนทั่วไปควรทราบ คือ

1.ผู้ป่วยติดเชื้อจากการสัมผัสสิ่งแวดล้อมที่มีเชื้ออยู่ และเชื้อเข้าทางบาดแผล แม้จะเป็นแค่แผลถลอกเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อแล้วทำให้เกิดโรคดังกล่าว พบได้ไม่บ่อย และเราไม่มีทางทราบได้ว่ามีเชื้ออยู่ที่ใดบ้าง จึงไม่ควรกังวลในการใช้ชีวิตประจำวัน

2.อาการของโรค เริ่มต้นด้วยการปวดบริเวณที่เชื้อเข้าสู่ร่างกาย และเจ็บปวดมากขึ้นอย่างรวดเร็ว เห็นรอยโรคแดงคล้ำ หรือมีถุงน้ำโป่งพอง ลุกลามอย่างรวดเร็ว ถ้าเป็นที่แขนขา จะปวดมากจนยกไม่ขึ้น หรือเดินไม่ได้ในเวลาไม่กี่ชั่วโมง อาจมีไข้สูงร่วมด้วย

3.ถ้ามีอาการดังกล่าว ให้รีบพบแพทย์ทันที การรักษาสามารถใช้ยาต้านจุลชีพได้ หากแพทย์ประเมินแล้วว่ามีการทำลายเนื้อเยื่ออย่างรุนแรง อาจพิจารณาตัดเนื้อเยื่อ หรือตัดแขน ขา ส่วนที่ติดเชื้อ เพื่อรักษาชีวิตผู้ป่วย

4.การป้องกัน ไม่มีวิธีเฉพาะ ไม่มีวัคซีน อาศัยการรักษาสุขอนามัยทั่วไป หากมีแผล ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งแวดล้อมที่สกปรก หรือรีบล้างแผลด้วยน้ำสะอาด น้ำสบู่ ทันทีที่เสี่ยงต่อการสัมผัสสิ่งแวดล้อมที่มีความเสี่ยง จากสถิติทางการแพทย์ พบว่าผู้ป่วยโรคตับแข็ง มีความเสี่ยงสูงต่อเชื้อ วิบริโอ วัลนิฟิคัส มากกว่าคนทั่วไป จึงควรระมัดระวังเป็นพิเศษ

ท้ายนี้อยากฝากว่าไม่ต้องกังวลมากจนเกินไป เพราะในแต่ละปีไม่ได้เจอผู้ป่วยมากนัก ส่วนใหญ่จะพบในสถานพยาบาลที่อยู่ริมทะเล หรืออยู่ใกล้แหล่งน้ำ ส่วนที่เชื้อเข้าสู่ร่างกายสันนิษฐานว่า อาจจะเข้าทางบาดแผล แต่ไม่ได้หมาย ความว่า มีบาดแผลลงเล่นน้ำแล้วติดเชื้อทุกครั้ง แต่ถ้าติดเชื้อแล้วต้องรีบวินิจฉัยและทำการรักษา เพราะถ้าเชื้อเข้าที่บาดแผลจะเริ่มแบ่งตัวทำลายเนื้อเยื่อ และเข้าสู่กระแสเลือด.

นวพรรษ บุญชาญ : รายงาน

 

ที่มา  : เดลินิวส์ 27 กรกฎาคม 2557