ระวัง โฟม ใส่อาหาร – คุณหมอขอบอก

ในปัจจุบันข้าวของเครื่องใช้พลาสติกเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตคนเราเป็นอย่างมาก “โพลีสไตรีน”หรือ “โฟม” เป็นพลาสติกชนิดหนึ่งที่นิยมใช้เป็นภาชนะใส่อาหารเย็นและอาหารร้อน ซึ่งในงานประชุมวิชาการโรคมะเร็งแห่งชาติ ครั้งที่ 11 ระหว่างวันที่ 14-16 มี.ค. ที่ผ่านมา จัดโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการพูดถึงเรื่องนี้เอาไว้ด้วย

ดร.ศุลีพร แสงกระจ่าง นักวิจัยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าวิถีชีวิตของคนเราในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก โฟมก็ถือเป็นอีกหนึ่งในเทคโนโลยีใหม่ มีการออกแบบโฟมให้ใช้เป็นภาชนะบรรจุอาหาร แต่ถ้าจะให้เหมาะสมควรจะเป็นอาหารที่เย็นไม่ใช่อาหารร้อน แต่ว่าบ้านเราอาหารไทยมีหลากหลาย ก็เลยมีการเอาภาชนะที่ทำจากโฟมไปใส่ก๋วยเตี๋ยว ใส่แกง ใส่อาหาร ร้อน ๆ อันตรายจากการใช้พลาสติกประเภทนี้ คือ “สารสไตรีนซึ่งถูกจัดให้เป็นสารก่อมะเร็งในกลุ่ม 2B คือ สาร (สารประกอบ) หรือส่วนผสมที่น่าจะเป็นสารก่อมะเร็งในคน

ขณะนี้ทั่วโลกตื่นตัวและมีการรณรงค์งดใช้สิ่งของที่ทำจากโฟม รวมถึงการใช้พลาสติกโฟมเพื่อกันของแตกหักในการขนส่งสินค้า เนื่องจากสารสไตรีนเป็นสารละลายในน้ำมัน และแอลกอฮอล์ ได้ดี ดังนั้นหากนำภาชนะที่ทำจากโฟมใส่อาหารที่มีไขมันสูงหรือใส่อาหารร้อน เป็นกรด อาจทำให้ได้รับสารสไตรีนออกมาจากภาชนะ อย่างก๋วยเตี๋ยวน้ำร้อนจัด แถมมีการปรุงรสด้วยน้ำส้มเข้าไปอีกก็อาจไปกระตุ้นให้สารสไตรีนออกมามากขึ้น

ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนที่กินอาหารใส่ภาชนะที่ทำจากโฟมจะเป็นมะเร็งทุกคน เพราะขึ้นอยู่กับความบ่อย ปริมาณที่กินเข้าไป ถ้าจะใช้ใส่อาหารต้องระมัดระวัง แม้ว่าในทางวิทยาศาสตร์จะยังไม่มีข้อพิสูจน์ว่าการใช้โฟมทำให้เกิดโรคมะเร็ง แต่ว่ามันเป็นแค่การเพิ่มความเสี่ยง อีกทั้งโรคมะเร็งไม่ได้เกิดจากสาเหตุเดียว มันมีหลายปัจจัยเสี่ยง เพราะฉะนั้นถ้าหลีกเลี่ยงได้ก็ควรหลีกเลี่ยง เพื่อที่จะไม่ได้รับสารตัวนี้เข้าไปสะสมในร่างกาย  คือ ต้องบอกว่ามะเร็งบางอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เรามีสิทธิเลือกก็น่าจะเลือก

เนื่องจากโฟมเป็นพลาสติกที่ราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับวัสดุอื่นๆ คงเป็นเหตุผลที่มีการนำมาใช้มาก ดังนั้นถ้าเราจำเป็นต้องใช้โฟมใส่อาหารจริง ๆ เช่น ใส่อาหารร้อนจัดก็ควรเอาพลาสติกกันร้อนรองก่อน  แต่เท่าที่สังเกต คือ ส่วนใหญ่จะรองข้างล่างแต่ไม่ปิดข้างบน อาหารที่ร้อนก็ยังสัมผัสกับภาชนะโฟมอยู่

โดยส่วนตัวอยากให้ประเทศไทยรณรงค์เรื่องนี้ให้มากขึ้น ถ้าเป็นไปได้ไม่ควรใช้ภาชนะใส่อาหารที่ทำจากโฟมเลย เพราะโฟมเป็นพลาสติกที่นำกลับมารีไซเคิลยาก ทำได้แต่ต้นทุนสูง ส่วนใหญ่เลยไม่ทำกัน ก็จะทิ้งเป็นขยะ แล้วการย่อยสลายต้องใช้เวลานานหลายปี กลายเป็นขยะล้นโลกทำให้โลกร้อน

ร้านขายอาหารบางร้านมีทั้งกล่องโฟมและกระดาษสำหรับห่ออาหาร  ถ้าเป็นไปได้อยากให้ผู้บริโภคเลือกเอง คือ บอกให้คนขายใช้กระดาษสำหรับห่ออาหารแทนที่จะเป็นกล่องโฟม  คือ เราต้องช่วยกันรณรงค์ว่าไม่ควรใช้โฟมเลยเพราะอาหารไทยเป็นอาหารร้อน  การรณรงค์เรื่องนี้ก็มีมานานแล้วเพียงแต่มันไม่มีผลตอบรับ การใช้โฟมก็ไม่ลดลง

ถ้ามีการรณรงค์แล้วไม่ได้ผล  ลูกค้าบอกพ่อค้าแม่ค้าอาจจะยาก แต่ถ้าสื่อช่วยกันบอกว่า ใช้โฟมแล้วต้องใช้พลาสติกรองข้างบนข้างล่างด้วยก็น่าจะดีขึ้น  อยากให้ทุกคนลดการใช้ให้มากที่สุด ลดไปจนกว่าเราจะมีเทคโนโลยีที่ใช้กล่องหรือภาชนะแบบอื่นที่เป็นธรรมชาติมาทดแทน ตอนนี้ก็มีการทำวิจัยกันอยู่ เพียงแต่ว่าราคายังแพงอยู่  เพราะต้นทุนสูง วันหนึ่งหากมีภาชนะที่ปลอดภัยมาแทนที่ การใช้โฟมก็อาจลดลง แต่จริงๆ เราไม่ควรไปรอถึงขนาดนั้นเพราะรู้อยู่แล้วว่าไม่มีประโยชน์และไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ควรกลับมาใช้ใบตองหรือไม่? ดร.ศุลีพร กล่าวว่า อาหารบางประเภท เช่น ผัดไทย  ถ้าทำได้ก็ดี  แต่ถ้าจะให้ดี อย่างน้อยที่สุดเราน่าจะใช้กล่องพาสติกที่เข้าไมโครเวฟได้หรือนำภาชนะไปใส่เอง เพราะภาชนะเหล่านี้ใช้ได้หลายครั้งแทนที่จะใช้โฟมแล้วทิ้งเลย

สรุปว่า ควรหลีกเลี่ยงการใช้ภาชนะที่ทำจากโฟมใส่อาหารร้อน มัน เป็นกรด ดีที่สุด.

 

ที่มา: เดลินิวส์ 17 มีนาคม 2555