คุมกระเพาะอาหาร…ลดความอ้วน

อย่างที่เรารู้กันมานานแล้วว่า ภาวะโรคอ้วน ส่งผลต่อสุขภาพกายผิดปกติ

ไม่ว่าจะเป็น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ส่งผลก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง เกิดอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต และโรคหลอดเลือดหัวใจ และยังส่งผลเสียต่อระบบทางเดินหายใจ นิ่วในถุงน้ำดี มะเร็งทางเดินอาหาร ระบบกล้ามเนื้อ และข้อต่อของร่างกาย เช่น ข้อกระดูกสันหลัง และข้อเข่าเสื่อม เป็นต้น

หลายคนเสาะแสวงหาสารพันวิธีมากำจัดเจ้าน้ำหนักส่วนเกินนี้ออกไปจากชีวิต

นายแพทย์สุรชัย รุ่งธนาภิรมย์ อายุรแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า การควบคุมน้ำหนักอีกวิธีหนึ่งที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงกัน คือ การฝึกควบคุมปริมาตรของกระเพาะอาหาร

เมื่อเริ่มรับประทานอาหารจะทำให้เกิดความอิ่มใน “ช่วงต้น” ซึ่งความอิ่มช่วงนี้เป็นผลมาจาก การรับรู้ของบริเวณทางเดินอาหารเมื่อมีอาหารเข้ามาอยู่ภายใน รวมถึงความ “ตึง” ของกระเพาะอาหาร

สิ่งเหล่านี้จะกระตุ้นฮอร์โมนส่งสัญญาณไปยังศูนย์หิว-อิ่มที่อยู่ภายในสมอง ส่วนความอิ่ม “ช่วงหลัง” เกิดขึ้นหลังจากที่สมองได้รับสัญญาณจากทางเดินอาหาร และจากสิ่งกระตุ้นภายนอก ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่มองเห็น กลิ่นที่ได้รับ และบรรยากาศรอบตัว ทำให้เกิดความอยาก หรือไม่อยากอาหารในมื้อนั้นอีกต่อไป สัญญาณความอิ่มที่ระดับทางเดินอาหารก็ดี หรือที่ระดับสมองก็ดี ต้องใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง กว่าจะส่งสัญญาณเชื่อมถึงกัน

ด้วยกลไกตามธรรมชาติของร่างกายข้างต้น จึงเป็นที่มาของการฝึกควบคุมปริมาตรกระเพาะอาหาร เพื่อให้เรากินได้น้อยลงแต่รู้สึกอิ่ม เช่น การเคี้ยวอาหารช้าๆ ให้ละเอียด นอกจากจะช่วยทำให้กระเพาะอาหาร ทำงานน้อยลงแล้ว การเคี้ยวอาหารช้าๆ จะทำให้รับประทานอาหารได้ในปริมาณน้อยลง และทางเดินอาหารมีเวลาที่จะส่งสัญญาณไปที่สมอง ทำให้รู้สึกอิ่มและไม่รู้สึกว่าต้องกินอาหารต่อได้เช่นกัน

ผู้ป่วยหลายรายที่ฝึกรับประทานอาหารโดยใช้เวลาเคี้ยวอาหารให้นานขึ้น ร่วมกับการลดปริมาณอาหารต่อมื้อ เพื่อฝึกกระเพาะอาหารให้มีปริมาตรลดลง และช่วยลดการสร้าง น้ำย่อยซึ่งกระตุ้นให้อยากอาหารน้อยลง

ผู้ป่วยเหล่านี้มักเล่าให้แพทย์ฟังว่า หลังจากการฝึกเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง ประมาณ 2 สัปดาห์ จะรู้สึกชินกับการรับประทานอาหารปริมาณน้อยๆ ไม่รับประทานดุเดือดเท่าแต่ก่อน และทำให้น้ำหนักลดลงได้ถึง 3 กิโลกรัมต่อเดือน แถมยังมีความสุขที่ยังคงรับประทานอาหารหลายอย่างที่ชอบได้

นอกจากน้ำหนักตัวจะลดลงแล้ว ยังมีความสุขที่ สามารถลดยาที่ใช้รักษาโรคประจำตัวอื่นๆ ที่เกิดจากความอ้วนได้อีกด้วย ผลตรวจเลือดต่างๆ ก็ดีขึ้นตามน้ำหนักตัวที่หายไป

 

สรุปหลักการฝึกควบคุมปริมาตรกระเพาะอาหารให้เล็กลง
1. ลดปริมาณอาหารที่กินในแต่ละมื้อให้น้อยลง
2. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีปริมาณแคลอรีสูง โดยเฉพาะอาหารที่ผ่านการทอด
3. เคี้ยวอาหารแต่ละคำให้ช้าๆ และเคี้ยวนาน ให้ละเอียด

 

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ 10 กรกฎาคม 2555