‘​หลง​ผิด​’ ​ว่า​เป็น​ ‘​โรค​ผิว​หนัง​’​

กลุ่มอาการทางจิตเวชชนิดหนึ่งที่พบ บ่อยในปัจจุบัน คือ กลุ่มอาการที่เรียก  ว่า “อาการหลงผิด” ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มอาการลักษณะนี้สามารถใช้ชีวิตปกติกับคนอื่น ๆ ได้โดยแยกไม่ออก สามารถพูดจารู้เรื่อง ทำอะไรได้ทุกอย่างเหมือนคนทั่วไป เนื่องจากผู้ป่วยไม่ได้คิดว่าตัวเองเจ็บป่วย ส่วนใหญ่จึงไม่เข้ารับการรักษา  ซึ่งปัจจุบันนี้ในทางด้านโรคผิวหนังก็พบโรคจิตหลงผิดของผิวหนังได้เช่นกัน

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.ประวิตร พิศาลบุตร แพทย์โรคผิวหนัง บอกว่า ผู้ป่วยโรคจิตหลงผิดของผิวหนังจะมาพบแพทย์ผิวหนังและแพทย์เวชปฏิบัติมากกว่าที่จะพบจิตแพทย์ เพราะผู้ป่วยเชื่อว่าตนเองมีอาการทางผิวหนัง

โรคจิตหลงผิดของผิวหนัง แบ่งได้ดังนี้

โรคจิตหลงผิดว่ามีปรสิตที่ผิวหนัง ผู้ป่วยจะเล่าว่ารู้สึกว่ามีพยาธิหรือแมลงไต่ เจาะเป็น อุโมงค์ หรือกัดผิวหนัง ผู้ป่วยมักเล่าประวัติอย่างละเอียด รวมทั้งมีพฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำที่จะแกะตัวพยาธิออก หรือใช้ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหิด ยาฆ่าเชื้อโรค อาการที่พบบ่อยคือ ผิวหนังจะเป็นแผลจากการที่ผู้ป่วยทำเอง ผู้ป่วยอาจนำของสะสมที่เป็นผ้าพันแผล เลือดแห้ง เส้นผม และเศษผิวหนัง ที่ เชื่อว่าน่าจะเป็นพยาธิหรือแมลงต้นเหตุที่สะสมในกล่องเล็ก ๆ มาให้แพทย์ดู ผิวหนังจะมีรอยแกะเกา ตุ่มนูนจากการเกา หรือแผล ผู้ป่วยไม่ยอมรับความ จริงว่าตัวเองมีความหลงผิด เพราะมั่นใจว่ามีความผิดปกติของผิวหนังจริง ทั้งนี้พบว่ายาเสพติดบาง อย่างอาจทำให้มีความรู้สึกว่ามีแมลงคลานอยู่ในผิวหนังได้

โรคฝังใจว่ามีเส้นใยไฟเบอร์ผุดออกมาจากผิวหนัง  เป็นโรคที่ตั้งขึ้นใหม่ใน พ.ศ. 2545  ผู้ป่วยโรคนี้เชื่อฝังใจว่ามีเส้นใยไฟเบอร์ หรือวัสดุอื่น ๆ ฝัง หรือผุดออกมาจากผิวหนัง ผู้ป่วยจะแกะ และขุดผิวหนังเพื่อหาสิ่งที่ตนเองคิดว่าฝังอยู่ แต่ ผู้ป่วยโรคนี้จะโทษว่าต้นเหตุเป็นวัสดุ ไม่ได้เป็นพยาธิเหมือนในกรณีแรก ผู้ป่วยจะแกะเกาผิวหนังจนเกิดแผลรูปร่างแปลก ๆ ที่ผิวหนัง อย่างไรก็ตาม ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าโรคนี้มีอยู่จริงหรือไม่ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกากำลังสืบสวนโรคนี้อยู่

โรคจิตหลงผิดว่ามีกลิ่นตัว ผู้ป่วยจะวิตกกังวลว่ากลิ่นตัว กลิ่นปาก หรือกลิ่นจากช่องคลอด  ร่วมกับมีความอับอายความกังวลใจ ทำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการเข้าสังคม ผู้ป่วยจะอาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้าบ่อยกว่าปกติ

โรคฉันไม่สวยไม่หล่อ ทั่วโลกพบบ่อยขึ้นในขณะนี้  ผู้ป่วยกังวลว่ามีความผิดปกติของผิวหนัง หรือมีความผิดปกติ หรืออวัยวะไม่ได้สัดส่วน เช่น จมูก เปลือกตา คิ้ว ริมฝีปาก ฟัน เต้านม อวัยวะเพศ  บางคนกังวลเรื่องผมบาง ขนดก รูขุมขนโต ในบางรายอาจมีอาการหลงผิดร่วมด้วย ผู้ป่วยกลุ่มนี้ จะมีการทำผ่าตัดศัลยกรรมตกแต่งบ่อยครั้ง การไปพบแพทย์ผิวหนังรักษาหน้า รวมทั้งการสัก การเจาะ การฝังหมุด การผ่าลิ้นสองแฉก และการตกแต่งร่างกายถาวรแบบสุดขั้ว ในบางรายที่มีลักษณะหมกมุ่นครุ่นคิด น่าจะเข้าข่ายเป็นโรคจิตหลงผิดชนิดนี้

โรคจิตหลงผิดทางผิวหนัง และโรคผิวหนังที่สัมพันธ์กับภาวะจิตใจ ในปัจจุบันพบมากขึ้น ผู้ป่วยมักไม่ยอมรับว่าอาการทางผิวหนังเกิดจากสาเหตุทางจิตใจ และอาจปฏิเสธคำแนะนำให้พบจิตแพทย์ แพทย์เวชปฏิบัติอาจต้องดูแลผู้ป่วยเองในระยะเริ่มต้น แพทย์ต้องสร้างสัมพันธภาพกับผู้ป่วย เมื่อผู้ป่วยไว้ใจและเชื่อถือ จึงควรปรึกษาและดูแลผู้ป่วยร่วมกับจิตแพทย์ หรือแพทย์เฉพาะทางสาขาที่เกี่ยวข้องตามความเหมาะสม มีแนวโน้มว่าจะพบโรคผิวหนังที่เกี่ยวข้องกับจิตใจมากขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่แพทย์เริ่มให้ความสนใจโรคกลุ่มนี้ และอีกส่วนหนึ่งน่าจะมาจากปัญหาความเครียดในการดำเนินชีวิตที่มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้น.

นวพรรษ  บุญชาญ : รายงาน

ที่มา: เดลินิวส์  26 กันยายน 2552

3 สารเคมีในสมองป่วน! เสี่ยงเพี้ยน

ต่อเนื่องเรื่องความเพี้ยน กับ ภาษาหมอ โดย ทีมเดลินิวส์ออนไลน์ และ ผศ.นพ.สเปญ อุ่นอนงค์ แพทย์ผู้รักษาอาการทางด้านจิตเวช โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

โดยส่วนใหญ่พบว่าผู้มีอาการทางจิตเวชมักเกิดจากกรรมพันธุ์ แต่ในบางรายอาจเกิดจากสารเคมีในสมอง 3 ตัวป่วนก่อการปฏิวัติเจ้าของร่างกาย ได้แก่ Dopamine, Serotonin และ Norepinephrine มีลักษณะผิดปกติ ดังนี้

Dopamine เป็นสารเคมีที่ผลิตขึ้นในร่างกาย ซึ่งมีผลต่อระบบประสาทซิมพาเทติก (Sympathetic Nervous System) โดยมีผลลัพธ์คือ อัตราการเต้นของหัวใจและแรงดันโลหิตเพิ่มขึ้น ถ้ามี Dopamine น้อยเกินไป จะเป็นโรคพาร์กินสัน หรือโรคสั่นสันนิบาต ลักษณะอาการจะสั่นเกร็งที่บริเวณแขนและขา ซึ่งเคยเกิดขึ้นกับคนดังชื่อก้องโลกมาแล้ว อย่าง มูฮัมหมัด อาลี อดีตยอดนักมวยชาวมะกันรุ่นเฮฟวี่เวท แต่ถ้ามีสาร Dopamine มากเกินไป จะทำให้เกิดอาการเพี้ยน ไม่สามารถแยกแยะได้ว่าอะไรจริง-ไม่จริง ประสาทหลอน หูแว่ว

ส่วน Serotonin เป็นสารสื่อประสาทที่ถูกสังเคราะห์ในระบบประสาทส่วนกลางจากเซลล์ประสาท มีหน้าที่หลายบทบาท เช่น การควบคุมอารมณ์ ไม่ว่าจะ หิว โกรธ และขุ่นเคือง ซึ่งหากมีน้อยเกินไปจะทำให้เป็นโรคซึมเศร้า ร้องไห้บ่อย กินไม่ได้ นอนไม่หลับ เช่นเดียวกับ ฮอร์โมน Norepinephrine ที่มีผลต่อส่วนของสมองที่สนใจและการตอบสนองการกระทำที่มีการควบคุม หากมีน้อยเกินไปจะทำให้เป็นโรคซึมเศร้า

แต่ถ้า Serotonin ยังคงน้อยอยู่ แต่ Norepinephrine มากเกินไป จะทำให้เป็นโรคที่ตรงกันข้ามกับซึมเศร้า เฮฮา หรือก้าวร้าว นั่นเอง

รู้ไว้ใช่ว่า แอบสังเกตคนใกล้ตัวไว้ก็ดี

takecareDD@gmail.com

 

 

ที่มา: เดลินิวส์  18 สิงหาคม 2552