“การเฝ้าระวังอาการปวดท้องที่เกิดจากอวัยวะภายใน”

“อาการปวดท้องเป็นอาการนำของหลาย ๆ สาเหตุในช่องท้อง เมื่อมีอาการปวดท้องควรรีบมาพบแพทย์เพื่อแยกกลุ่มอาการว่าตำแหน่งที่ปวดท้องนั้นอยู่บริเวณไหน มีโอกาสเป็นโรคอะไรได้บ้าง” 

วิธีการดูแลตัวเองง่าย ๆ เริ่มจากสังเกตว่า

ถ้าปวดท้องส่วนบน หรือบริเวณเหนือสะดือขึ้นมา อาการปวดที่เราพบบ่อย ๆ บริเวณนี้คือ โรคกระเพาะ ตำแหน่งมักจะอยู่ตรงกลาง บางคนอาจเรียกว่าบริเวณใต้ลิ้นปี่  ซึ่งในความเป็นจริงโรคอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นแผลในกระเพาะอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร ก็มีอาการปวดท้องเหมือนกัน  ดังนั้นการวินิจฉัยจึงต้องดูอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ถ้าอาการปวดหน้าท้องส่วนบนด้านขวา ในผู้ป่วยสูงอายุ เป็นคนอ้วน เบาหวาน ควรระวังโรคที่เกี่ยวกับตับและถุงน้ำดี ซึ่งพบได้บ่อยในกลุ่มผู้หญิงวัยกลางคน คือ โรคนิ่วในถุงน้ำดี การรับประทานอาหารมันทำให้อาการปวดท้องเป็นมากขึ้น แต่ถ้ามีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ร่วมด้วย อาจเป็นโรคตับอักเสบ หรือหากตรวจคลำมีก้อน อาจป่วยเป็น  “โรคมะเร็งในตับ

ถ้าปวดท้องบริเวณด้านขวาล่าง ร่วมกับมีไข้  ควรระวัง “ไส้ติ่งอักเสบ” แต่ถ้าเป็นผู้หญิง ก็ควรคิดถึงโรคอื่น ๆ ด้วย เช่น “ปีกมดลูกอักเสบ” เพราะเป็นตำแหน่งเดียวกันกับไส้ติ่ง ส่วนสาเหตุที่เป็นได้ในตำแหน่งเดียวกันอีกโรค คือ “โรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ” มักพบในผู้ชายวัยกลางคน แต่ถ้ามีอาการปวดท้องน้อยด้านซ้าย ส่วนใหญ่ไม่ค่อยร้ายแรง แต่อาจเป็น “โรคลำไส้อักเสบ” (Diverticulitis), “ปีกมดลูกอักเสบ” หรือ “ซีสต์ในรังไข่

แล้วเราจะรู้ได้อย่างไร อาการปวดท้องนั้นรุนแรงหรือไม่?

ส่วนใหญ่ ถ้าปวดท้องปกติ วัน หรือสองวันแล้วหายเอง  แบบนี้จะไม่ค่อยอันตราย แต่ถ้าอาการปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ ร่วมกับอาการอย่างอื่น เช่น คลื่นไส้อาเจียนอย่างรุนแรง ถ่ายเหลว ถ่ายติดต่อกัน 3-4 วัน น้ำหนักลด อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็ง ควรรีบมาพบแพทย์

อาการปวดจาก “นิ่วในถุงน้ำดี” มีลักษณะอย่างไร

“โรคนิ่วในถุงน้ำดี” ไม่ค่อยพบในคนอายุน้อย แต่ควรระวังในคนอายุ 40 ปีขึ้นไป รูปร่างอ้วน มีอาการปวดต่อเนื่อง 2-3 ชั่วโมง ไม่หาย ควรรีบมาพบแพทย์ ซึ่งอาจเกิดจาก “นิ่วอุดตันในถุงน้ำดี” บางรายปวดมากจนต้องฉีดยา แต่ถ้าปวดมากจนไข้ขึ้นอาจกลายเป็น “ถุงน้ำดีอักเสบได้” 

รู้ได้อย่างไรว่าอาการปวดท้องนั้นเกิดจากโรคในระบบทางเดินอาหาร ไม่ใช่ประจำเดือน

โดยปกติอาการปวดประจำเดือน จะปวดบริเวณท้องน้อยส่วนล่าง เป็นซ้ำ ๆ กันบริเวณเดียวกันในทุกครั้งที่มีประจำเดือน แต่ถ้าปวดท้องบริเวณอื่น และเป็นช่วงเวลาที่ไม่มีประจำเดือน อาจสงสัยได้ว่าเป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร

อาการปวดท้องบริเวณอื่น ๆ

ที่พบบ่อย ๆ เกิดจากกล้ามเนื้ออักเสบ หรือกระดูกหลังอักเสบ โดยมักจะสัมพันธ์กับการออกกำลังกายผิดท่า  ประสบอุบัติเหตุจนกล้ามเนื้อฉีกขาดเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ทำให้เกิดอาการปวดท้องได้

คำแนะนำจากคุณหมอ

เมื่อมีอาการปวดท้องที่เข้าข่ายเป็นโรคในระบบทางเดินอาหาร ควรปฏิบัติตัว ดังนี้

1. หลีกเลี่ยงการรับประทานยาแก้ปวด ได้แก่ ยาแก้ปวดประจำเดือน  ยาแก้ปวดในผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกและข้อ
2. หลีกเลี่ยงการรับประทานยารักษาสิว
3. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเสริม วิตามิน โดยเฉพาะวิตามินซี และแคลเซียม
4. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด  อาหารมัน

ข้อมูลจาก นายแพทย์จีรวัส  ศิลาสุวรรณ  อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลพญาไท 2  /  http://www.
phyathai.com

นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันธ์วงษ์

……………………………………

ด้วยทีมงานคุณภาพของคอลัมน์นี้ ร่วมกับทีมงานรายการทีวี “ชีวิตและสุขภาพ” 32 ปีดั้งเดิม ขอนำเสนอ รายการ “สุขภาพดี 4 วัย” ออกอากาศประจำทุกวันจันทร์–ศุกร์ เวลา 15.00-16.00 น. สำหรับวันจันทร์ที่ 22 ต.ค. 55 เวลา 15.00-16.00 น. เสนอเรื่อง “ปลูกถ่ายไต” ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ฟรี ที่ โทร. 0-2940-9030-31 เฉพาะเวลา 15.00-16.00 น. ทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ท่านสามารถรับชมได้ทาง PSI ช่อง 26 DYNASAT ช่อง 101, GMM-Z ช่อง 119, IDEASAT,INFOSAT,  LEOTECH, THAISAT ช่อง 20

ที่มา: เดลินิวส์ 21 ตุลาคม 2555