นวดสัมผัสปรับ จัด กระดูก แบบไทย

นวดสัมผัสปรับ จัด กระดูก แบบไทย  

ในระหว่างวันที่ 6-7 ก.ค.ที่ผ่านมามีการประชุมวิชาการไทย- เซี่ยงไฮ้ (ประเทศไทย) ครั้งที่ 5 และการประชุมวิชาการการแพทย์แผนจีน ครั้งที่ 2 เรื่องการแพทย์ไทย-จีน บังเอิญมีโอกาสพูดคุยกับ อ.ประสพสุข อิงคะวะระ ผู้เชี่ยวชาญแพทย์ทางเลือก  ซึ่งมาร่วมงานดังกล่าวเกี่ยวกับการนวดสัมผัสปรับสมดุลโครงสร้างร่างกายแบบสืบสานภูมิปัญญาไทย หรือ “ปรับ จัด กระดูก แบบไทย” จึงนำมาถ่ายทอดให้ทุกท่านได้รับทราบกัน

อ.ประสพสุข บอกว่า การนวดสัมผัสปรับ จัด กระดูก แบบไทย เป็นศาสตร์และศิลป์ที่สืบทอดกันมานาน ศาสตร์นี้ ไม่ใช่การรักษาให้หายจากอาการที่เป็นอยู่ แต่เป็นการปรับสมดุลร่างกายให้อยู่ในสภาพปกติ หลังจากนั้นอวัยวะต่างๆ จะรักษาตัวเองตามธรรมชาติ  ซึ่งภูมิปัญญาไทยจะมีหลัก 3 อย่าง คือ “ตาดู หูฟัง มือสัมผัส”

เมื่อมีคนเดินเข้ามารับบริการจะเริ่มตรวจด้วยสายตาก่อน  ตั้งแต่ปลายเท้ายันศีรษะ ดูการไหว้ทักทาย การเดิน ปลายเท้าแบะหรือไม่ แบะซ้ายหรือขวา หัวเข่าโก่งหรือไม่ ตัวบิดหรือไม่ ตะโพกโย้ซ้ายหรือโย้ขวา สูงหรือต่ำ ดูบริเวณหลังไปจนถึงสะบัก สูงต่ำเท่ากันหรือไม่ คอคดเอียงซ้ายเอียงขวาหรือไม่  เมื่อดูโครงสร้างเรียบร้อยแล้วจากนั้นจะตรวจวัดความดันโลหิตด้วยการสัมผัสหน้ามือ ถ้ามือมีลักษณะเย็นชื้นแสดงว่าความดันโลหิตต่ำก่อนการนวดจะต้องให้ดื่มน้ำอุ่นก่อน ถ้าความดันโลหิตสูงมือจะร้อน ส่วนคนเป็นความดันโลหิตสูงแล้วกินยาคุมความดันเอาไว้มือจะเย็นแห้ง แต่ถ้าความดันโลหิตปกติมือจะอุ่นแห้ง

ก่อนเข้าสู่กระบวนการ ปรับ จัด กระดูก จะมีการนวดคลายกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นก่อน เพราะกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นจะเป็นตัวยึดกระดูก ถ้าไม่คลาย แล้วมันเกร็ง รัด อยู่ การไปปรับ จัด กระดูก อาจทำให้เกิดอันตรายตามมาได้จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการปรับ จัด กระดูก บริเวณที่ปวด หรือผิดปกติ  โดยโครงกระดูกทั่วไปของร่างกายมีทั้งหมด 206 ท่อน  ภายหลังการนวดสัมผัส ปรับ จัด กระดูก ขา แขน หลัง คอ บ่า ศีรษะ แล้ว จะต้องให้ผู้มารับบริการเดินให้ดูอีกครั้ง ส่วนไหนยังไม่สมดุลก็มาปรับ จัด ให้สมดุล

การนวดสัมผัสปรับ จัด กระดูก จะช่วยบรรเทาอาการปวดที่เกี่ยวกับกระดูกเคลื่อนทั้งหมด 206 ท่อน หลักการ คือ ทำให้ร่างกายไม่เกิดการบีบ เบียด กด ทับ โดยใช้นิ้ว มือ เท้า เข่า ศอก ร่างกายก็จะไม่ปวด โดยอาการเบื้องต้นที่เปิดสอนให้ลูกศิษย์เรียนรู้ คือ เจ็บหน้าแข้งร้อนหลังเท้า ข้อเท้าแพลง เจ็บตาตุ่มส้นเท้าด้านนอก ปวดหัวเข่า ขาไม่มีแรง แขนไม่มีแรง เจ็บขาด้านหลังร้าวขึ้นตะโพก  เจ็บน่องมัดนอก-มัดใน อาการเจ็บส้นเท้าหรือรอยช้ำ งอขาไม่ได้ พับขาไม่ได้ เจ็บหน้าเท้า เจ็บขาด้านใน ตะคริวน่องมัดใน เอี้ยวตัวไม่ได้ เสียดเสียวซี่โครงหายใจไม่ออก ยกแขนไม่ขึ้น ปวดศีรษะไมเกรน ก้มเงยไม่ได้ เส้นเลือดหัวใจตีบโตหายใจไม่เข้า เจ็บขาชามือ เจ็บแขนท่อนบน-ด้านหน้า-หลัง-กลาง เจ็บคอ-ไอ  เจ็บแขนด้านในชาลงนิ้วมือ เจ็บสันมือเจ็บไปถึงนิ้วก้อยด้านนอก และอัมพฤกษ์ใบหน้า

สำหรับอาการปวดที่เป็นกันเยอะ คือ ปวดหลัง ปวดบ่า ปวดเข่า โดยเฉพาะอาการปวดหลัง มีทั้งที่เกิดจากกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น หมอนรองกระดูกอักเสบ กระดูกทับเส้นประสาทหรือกระดูกผิดรูป ข้อตะโพกเคลื่อน โดยต้นเหตุของอาการปวดเกิดจากอิริยาบถการลุกนั่งลุกนอนไม่เหมาะสม เช่น ลุกนั่งจากเก้าอี้ปลายเท้าไม่ตรง ปลายเท้าแบะ ทำให้ปวดเข่าด้านใน ถ้าปวดข้อเท้าจะปวดใต้ตาตุ่มด้านนอกลามมาถึงข้อตะโพก เพราะกระดูก 30 ท่อนส่วนนี้จะสัมพันธ์กัน ลองขยับปลายเท้าดูจะมาถึงข้อตะโพก

ภายหลังการนวดสัมผัสปรับ จัด กระดูกแล้ว สิ่งสำคัญ คือ จะต้องปรับอิริยาบถ พฤติกรรมต่างๆ ที่ทำให้เกิดอาการปวดด้วย โดยเวลาลุกนั่งลุกนอนจะต้องไม่ตะแคง เพราะถ้าตะแคง ด้านใดด้านหนึ่งด้านที่อยู่ข้างล่างกล้ามเนื้อส่วนนั้นจะนูน ด้านไหนอยู่ด้านบนจะเล็ก ร่างกายจะไม่เท่ากัน ทั้งนี้ในการนวดสัมผัสปรับ จัด กระดูก บางคนอาจนวดสัมผัสปรับ จัด กระดูก แค่ครั้งเดียว แต่บางคนอาจนวดประมาณ 3-5 ครั้ง

ท้ายนี้แนะนำว่าท่านั่งที่ดี คือ นั่งขัดสมาธิท่าเทพบุตร ท่าเทพธิดา ไม่ควรนั่งพับเพียบ เพราะการนั่งพับเพียบจะทำให้ข้อตะโพกมีปัญหา ถ้านั่งบนเก้าอี้ปลายเท้าต้องตรงก่อนลุก สำหรับพนักงานออฟฟิศที่อยู่หน้าคอมพิวเตอร์นาน ๆ ควรจะมีการลุกจากเก้าอี้เพื่อปรับเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ ส่วนการนอนนั้น ก่อนจะลุกต้องหันให้ตัวตรงก่อน ถ้านอนหงายควรลุกแบบกุ้งดีดหรือตุ๊กตาล้มลุก ไม่ควรลุกท่าตะแคง.

ข้อมูลจาก : เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม 2554

 

Related Link: