ด้วยรักจากใจของผู้ป่วยโรคข้อสันหลังอักเสบชนิดยึดติด(A.S.)คนหนึ่ง

ด้วยรักจากใจของผู้ป่วยโรคข้อสันหลังอักเสบชนิดยึดติด(A.S.)คนหนึ่ง

โรคข้อสันหลังอักเสบแบบยึดติด ไม่ได้ทำให้เราต่างจากคนปกติ

ทำไมถึงกล่าวเช่นนั้น

พิจารณาคนปกติทั่วไปในโลกใบนี้สิ  ต่างก็ผ่านการเกิด การเจริญเติบโต ความชรา มีความรัก ความชอบ ความชัง สุข ทุกข์ สมปรารถนาบ้าง ไม่สมปรารถนาบ้าง เผชิญหน้ากับการเจ็บไข้ได้ป่วยนานา บ้างก็เป็นโรคเบา ๆ บาดเจ็บเล็กน้อย มีบ้างที่เป็นหนักสูญเสียอวัยวะ หรือสูญเสียการรับรู้ บางคนพิการ บางคนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้และเป็นภาระให้คนใกล้ชิด ในที่สุดคนปกติทั้งมีโรคภัยและไร้โรคภัยก็ต้องตายมิใช่หรือ เป็นสิ่งธรรมดา เป็นสากลโลก

แล้วผู้ป่วยโรคข้อสันหลังอักเสบชนิดยึดติด(A.S.) อย่างเรา ๆ มีอะไรต่างไปจากคนปกติเหล่านั้นเล่า

โรคข้อสันหลังอักเสบชนิดยึดติด(A.S.) ก็เป็นเพียงอาการป่วยไข้ทางกายอย่างหนึ่ง แล้วแต่ว่าเขาจะสมมุติกันขึ้นมาเรียกชื่อว่าอย่างไรเท่านั้นเอง โดยทั่วไปผู้ป่วยจะมีการอักเสบของข้อบริเวณแขนขา มีอาการปวดบวมของข้อ   เช่น  ข้อเข่า  ข้อเท้า ข้อมือ  ร่วมกับการอักเสบของข้อบริเวณกระดูกสันหลัง เช่น คอ หลัง กระเบนเหน็บ ก้นกบ  ทำให้มีอาการปวดตึงบริเวณหลัง, คอ และปวดก้น   ประเทศไทยเรียกอาการอย่างนี้หลายชื่อ เช่น “โรคหลังแข็ง”, “โรคข้อสันหลังอักเสบติดยึด “, “โรคข้อสันหลังอักเสบยึดติด ”       บางประเทศเขาเรียกอาการอย่างนี้ว่า “Ankylosing Spondylitis” บ้างก็ว่า “Bamboo Spine”, ประเทศสหรัฐอเมริกา เรียก “rheumatoid spondylitis”, ประเทศฝรั่งเศส เรียกว่า “spondyloarthrite rhizomegalique”, “Bekhterev syndrome” หรือ “Bechterew Disease”, “Marie–Strümpell Disease” แล้วแต่จะตั้งชื่อและเรียกกันไป

โดยทั่วไปคนไข้/คนป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด เป็นโรคที่ยังไม่มียา/ไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด ก็มักจะตกอกตกใจ ขวัญเสีย หดหู่ เศร้าซึม กินไม่ได้ นอนไม่หลับ หมกหมุ่นครุ่นคิดอยู่แต่กับอาการที่เป็น จนอยู่ไม่เป็นสุข  ตัวเองมีความทุกข์คนเดียวยังไม่พอ คนใกล้ชิดก็พลอยทุกข์ระทมไปด้วย   โดยเฉพาะผู้ที่ทำประกันชีวิตและประกันสุขภาพเต็มที่คิดว่าคงจะได้ใช้บริการเคลมประกันอาจจะต้องผิดหวัง  ผู้เขียนเองเคยคิดว่าซื้อครบครอบคลุมทุกโรคร้ายแรงแล้ว ในที่สุดก็ต้องพบกับความเสียใจเพราะว่าปริษัทประกันชีวิต/ประกันสุขภาพในประเทศไทยไม่ให้ความคุ้มครองครอบคลุมการรักษาข้อสันหลังอักเสบชนิดยึดติด (Ankylosing Spondylitis) ทั้ง ๆ ที่เป็นโรคที่สามารถทำอันตรายถึงกับพิการไปตลอดชีวิตได้

ผู้เขียนเองเคยผ่านประสบการณ์ข้างต้นมาแล้ว อยากให้คำแนะนำผู้ป่วยและญาติผู้ป่วย รวมทั้งผู้ที่มีคนใกล้ชิดมีอาการของโรคข้อและข้อสันหลังอักเสบ ควรตั้งสติให้ดีก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อจะได้สงบพอที่จะพิจารณารักษาตัวเองหรือดูแลรักษาผู้ป่วย ให้การดำรงชีวิตอย่างสุขสงบต่อไป

สิบข้อแนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคข้อสันหลังอักเสบชนิดยึดติด

ประการแรก ผู้ป่วยที่สงสัยว่าตนเองมีอาการคล้ายคลึงกับอาการของโรคข้อและข้อสันหลังอักเสบ หรือ ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยยืนยันจากแพทย์เฉพาะทาง Rheumatogist หรือ อายุรแพทย์โรคข้อ ว่าป่วยเป็นโรคข้อสันหลังอักเสบชนิดยึดติดแล้ว มีสิทธิตัดสินใจว่าจะเลือกรับการรักษาจากแพทย์ท่านใด และมีสิทธิจะเลือกรับการรักษาที่โรงพยาบาลใด  ขอให้เลือกมาสักที่สักคนเถิด เพราะการรักษาที่ประสบความสำเร็จเกิดจากความร่วมมือร่วมใจระหว่างคนป่วยและแพทย์ผู้รักษา การให้ความไว้วางใจเริ่มจากศรัทธาในแพทย์ผู้รักษาก่อน  เกณฑ์การตัดสินใจง่าย ๆ คือ

  1. เป็นโรงพยาบาลที่มีบริการเกี่ยวกับการรักษาโรคข้อ Rheumatogy และมีแพทย์เฉพาะทาง โรคข้อ Rheumatogy
  2. เป็นโรงพยาบาลใกล้บ้านหรือใกล้ที่ทำงาน เพื่อสะดวกในการเดินทาง การรักษาโรคข้อสันหลังอักเสบชนิดยึดติด จำเป็นจะต้องได้รับการดูแลติดตามอาการอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ ต้องมาพบแพทย์ตามนัดสม่ำเสมอ และจะมีการติดตามผลการรักษาด้วยการตรวจเลือด ดูค่าการอักเสบจาก ESR (Erythrocyte Sedimentation Rate) Test และการรอผลเลือดจกห้องปฏิบัติการต้องใช้เวลาพอสมควร(1-2 ชั่วโมง) จากนั้นรอคิวพบแพทย์ (ใช้เวลา 1/2 – 1 ชั่วโมง) ความถี่มีตั้งแต่พบแพทย์ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน ทุกสองเดือน ตามอาการ การรักษาบางครั้งใช้เวลานานหลายปีกว่าโรคจะสงบ
  3. เลือกแพทย์ที่มีวันลงตรวจ และ เวลาตรวจ ตรงกับวัน/เวลาที่เราสะดวกไปพบ ให้ตรวจสอบกับทางโรงพยาบาลให้ดีว่า วันเวลาที่เราสะดวกมีแพทย์ท่านใดลงตรวจบ้าง การพบแพทย์ตามนัดแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง
  4. บางครั้งปัจจัยเรื่องรายได้ของผู้ป่วย หรือฐานะทางการเงินของญาติผู้ป่วย และสวัสดิการสังคมจากที่ทำงาน เป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณาว่าจะใช้บริการจากโรงพยาบาลของรัฐ หรือ โรงพยาบาลของเอกชน

ประการที่สอง แพทย์เฉพาะทาง Rheumatogist หรือ อายุรแพทย์โรคข้อ ที่ท่านเลือก จะเป็นที่ปรึกษาที่ดีที่สุดของท่านตลอดไปหรือจนกว่าโรคจะหายหรือเราหายไปจากโรค  ดังนั้นผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยมีข้อสงสัยหรือข้อซักถามใด ๆ สามารถทำได้ทุกครั้งที่ท่านเข้าพบตามนัด  หรือแม้แต่ยังไม่ถึงวันนัดหากมีอาการผิดปกติก็สามารถเข้าไปรับการวินิจฉัยได้ทุกเวลา   อย่าเก็บความสงสัยข้องใจต่าง ๆ ไปถามตามเว็บบอร์ด หรือไปเปิดกระทู้คำถามบนโลกอินเตอร์เน็ต เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าคำตอบที่ได้นั้นมาจากแพทย์โรคข้อจริง ๆ   ไตร่ตรองให้ดี ๆ ขนาดแพทย์ที่มีใบประกอบโรคศิลป์ ก็ใช่ว่าจะเชี่ยวชาญและรักษาโรคข้อได้ทุกคน

ประการที่สาม ผู้ป่วย/ญาติผู้ป่วย มีสิทธิที่จะซักถาม วิธีการบำบัดรักษา ข้อควรปฏิบัติระหว่างการใช้ยา ผลข้างเคียงของยาที่อาจจะเกิดขึ้น แล้วจึงตัดสินใจว่าจะเลือกใช้วิธีใด  โดยทั่วไปแล้วแพทย์ที่เชียวชาญด้าน Rheumatogy จะมีมาตรฐานในการบำบัดรักษาในทางเดียวกัน มีขั้นตอนการรักษา มีหลักเกณฑ์การให้ยาเป็นสากลทั่วโลก ขึ้นกับสภาพของผู้ป่วย สภาวะอาการของโรค  ความรุนแรงของโรค ระยะเวลาที่ปรากฎอาการ เป็นมานานเท่าไรแล้ว อายุ เพศ น้ำหนัก และปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ (บางคนมีโรคประจำตัวอื่น ๆ ร่วมด้วย)

สงสัยอะไรให้ไปถามแพทย์ อย่าเอาการรักษาอาการเจ็บป่วยของตัวเองไปเปรียบเทียบกับผู้ป่วยท่านอื่น อย่าลืมว่า โรคนี้ตรวจพบเร็ว รักษาเร็ว โรคก็สงบเร็ว  อีกทั้ง อายุ น้ำหนักตัว เพศ ปริมาณยา ชนิดของยาที่ได้รับ พฤติกรรมการบริโภค การออกกำลังกาย อารมณ์ สิ่งแวดล้อม ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้มีอาการดีขึ้นหรือเลวลงแตกต่างกันในแต่ละคน  ไม่มีอะไรแน่นอนในโลกนี้ โอ้อนิจจัง

ประการที่สี่ การรักษาแบบใช้ยาชีวภาพ หรือ กลุ่มยาต้านสาร tumor necrotic factor-TNF (anti-TNF)  ซึ่งออกฤทธิ์ต่อต้านสารจากระบบภูมิคุ้มกันที่ทำให้เกิดการอักเสบโดยตรง  ยากลุ่มนี้มีประสิทธิภาพสูงมาก และออกฤทธิ์เร็ว แต่เนื่องจากมีราคาแพง แพทย์จะให้ผู้ป่วย/ญาติผู้ป่วยตัดสินใจว่าจะใช้หรือไม่ใช้ก็ได้ ขึ้นกับความรุนแรงของโรคในขณะนั้นและขึ้นกับความสามารถในการชำระเงินของผู้ป่วย  ผู้ป่วย/ญาติผู้ป่วย    สามารถขอคำแนะนำจากแพทย์ในเรื่องประสิทธิผลของยา ระยะเวลาในการใช้ยา ผลข้างเคียงของยา ประมาณการค่าใช้จ่ายคร่าว ๆ และขอทราบราคาของยาแต่ละบริษัทได้

เมื่อตัดสินใจเลือกยาได้แล้ว การติดตามผลพบว่ามีการตอบสนองต่อยาดี และไม่มีผลข้างเคียง และแพทย์ให้ใช้ยาชนิดนั้นต่อไปอีกระยะหนึ่ง   แนะนำให้ขอใบสั่งยาจากแพทย์ แล้วติดต่อขอซื้อยาโดยตรงกับบริษัทยา จะได้ราคาต้นทุน ช่วยลดภาระค่ารักษาพยาบาลได้มาก

ประการที่ห้า เตรียมเงิน เงิน เงิน เรื่องจริงคือโรคข้อสันหลังอักเสบชนิดยึดติด เป็นโรคที่ต้องใช้ระยะเวลาในการรักษา รายที่โชคดีใช้เวลารักษาเพียง 6 เดือนก็หายเป็นปกตินั่นเป็นเพราะตรวจพบไว รักษาทัน ไม่เกิดความพิการ  ในรายที่ได้รับการวินิจฉัยช้า ข้อถูกทำลายมากแล้ว การรักษาทำได้เพียงไม่ให้ส่วนอื่น ๆ ถูกทำลายอีก พอควบคุมให้โรคสงบได้แล้วก็ต้องมาแก้ความพิกลพิการ เช่นผ่าตัดเปลี่ยนข้อ เป็นต้น ล้วนมีค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้เงินทั้งสิ้น

– ค่าใช้จ่ายอันดับหนึ่งคือ ยาฉีด ต้านสาร tumor necrotic factor-TNF (anti-TNF) หรือเรียกว่ายาชีวภาพ biologic medications (TNF-a Inhibitors) ตัวอย่างเช่น Adalimumab (Humira), Etanercept (Enbrel), Infliximab (Remicade), Golimumab (Simponi)
– ค่าใช้จ่ายอันดับสองคือ ค่ายาที่นำกลับบ้าน ส่วนใหญ่จะเป็น

  • ยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressants) หรือ Disease-modifying Anti-rheumatic Drugs (DMARDs) ตัวอย่างเช่น Sulfasalazine, Methotrexate, Corticosteroids
  •  ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ Nonsteroidal anti-inflammatory drugs ( NSAIDs ) ตัวอย่างเช่น  diclofenac, ibuprofen, ketoprofen, naproxen, piroxicam, etodolac, indomethacin, oxaprozin, nabumetone, และ meloxicam

– ค่าใช้จ่ายอันดับสามคือ ค่าบริการทางการแพทย์ ค่าตรวจวินิจฉัยทางเทคนิคการแพทย์ ค่าอุปกรณ์ของใช้และเครื่องมือทางการแพทย์ ค่าบริการทางการพยาบาล
– ค่าใช้จ่ายอันดับสี่คือ ค่าใช้จ่ายแฝง เช่น ค่าเดินทาง ค่าอาหาร  ค่าใช้จ่ายสำหรับการบำบัดอื่น ๆ เช่น กายภาพบำบัด นวด ฝังเข็ม อาบน้ำแร่ แช่สมุนไพร ฯลฯ

ประการที่หก อย่าเสียดายเงินและทรัพย์ที่หามาได้เป็นอันขาด  คิดอย่างเดียวว่าทำอย่างไรจึงจะอยู่ได้อย่างไม่ทรมาณ ไม่ลำบากคนข้างหลัง ไม่เป็นภาระสำหรับคนใกล้ชิดที่ต้องดูแลเรา

ผู้เขียนมีกำลังใจลุกขึ้นมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพราะคำพูดของมิตรท่านหนึ่งที่แนะนำผู้เขียน ให้เตรียมตัวเข้ารับการรักษา มีที่ดินก็ต้องเตรียมบอกขายเสียเนิ่น ๆ เพราะที่ดินขายยากที่สุด ระหว่างรอขายที่ดินก็ต้องเอาเงินเก็บที่สะสมไว้ออกมารักษาตัวก่อน  อย่าเสียดาย อย่าขี้เหนียวกับการรักษาอาการเจ็บป่วย  “เงินทองเป็นของนอกกาย ไม่ตายก็หาใหม่ได้”  ถ้าตัวเราทรุด อ่อนแอทำงานไม่ได้ นั่นแหละจะเป็นปัญหา  และถ้าแย่จนต้องนอนนิ่ง ๆ ขยับเคลื่อนไหวไปไหนไม่ได้ ต้องมีคนคอยป้อนข้าวป้อนน้ำแล้วละก็ เราจะเป็นภาระของลูก หรือเป็นภาระของพ่อแม่แก่ ๆ ที่ต้องมาดูแลเราแทนที่เราจะไปดูแลท่าน

ประโยคสุดท้ายนั้นกินใจมาก  ผู้เขียนยอมไม่ได้ที่จะให้พ่อแม่มาดูแลป้อนข้าวป้อนน้ำตอนท่านชรามากแล้ว  จึงตัดสินใจขายทรัพย์สินทุกอย่างที่มีเพื่อรักษาชีวิต  ทรัพย์ที่เคลื่อนที่ได้ก็ปล่อยง่าย จริงอย่างที่เขาว่า  ส่วนอสังหาริมทรัพย์ รีบปล่อยก็กลายเป็นของร้อนถูกกดราคา จึงต้องใจเย็น ๆ ต่อรองราคาให้ได้มากที่สุด

ประการที่เจ็ด เตรียมศึกษาข้อมูล ข้อมูลภาษาไทยเกี่ยวกับโรค Ankylosing Spondylitis  หายากเสียจริง ๆ  แต่ก็ไม่ยากเกินไปที่จะขวนขวายหาความรู้ ข้อมูลภาษาอังกฤษมีมากมาย  โดยเฉพาะงานวิจัยต่างประเทศนั้นก้าวหน้ามาก  ได้แต่หวังว่าเร็ว ๆ นี้คงมีงานวิจัยดี ๆ เกี่ยวกับการรักษาโรค Ankylosing Spondylitis ให้หายขาด

ข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตมีมากก็จริง แต่ก็ต้องเลือก ควรโฟกัสเว็บไซต์ที่เป็นทางการ เช่นเว็บของสถาบันทางการแพทย์ เว็บของมหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ เว็บองค์การ/สมาคมเกี่ยวกับโรคข้อ/Rheumatogy  ความน่าเชื่อถือมีมากกว่า

มีบางเว็บที่มักแอบอ้างอวดสรรพคุณว่า คนป่วยเป็นโรค Ankylosing Spondylitis และรักษาหายแล้วด้วยวิธีนั้นวิธีนี้  อย่าด่วนปักใจเชื่อ ยิ่งต้องจ่ายค่าสมาชิก, ค่าหนังสือหรือค่าอะไรก็ตาม โปรดอย่าได้ส่งเงินให้พวกเขาเป็นอันขาด

แต่บางวิธีที่ผู้ป่วยโรคข้อสันหลังอักเสบชนิดยึดติด เขาแชร์ประสบการณ์กันก็น่าสนใจ ผู้เขียนใช้เทคนิคเลือกลองวิธีที่ไม่เสียสตางค์ และสามารถทำได้ด้วยตนเอง ก็รู้สึกว่าดีต่อร่างกาย  เช่น

การบำบัดด้วยการวิรัติ Diet Therapy คืองดรับประทานอาหารบางอย่าง ยกตัวอย่างเช่น งดบริโภคเนื้อแดง คือ ไม่ทานเนื้อสัตว์ทุกชนิดที่มีสีแดง เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อแพะ เนื้อแกะ ฯลฯ แต่รับประทานปลา ซึ่งมีเนื้อสีขาวได้       บางคนงดอาหารพวกคาร์โบไฮเดรทเชิงเดี่ยว (ข้าวขัดขาว, แป้งขัดขาว, น้ำตาลฟอกขาว) ยกตัวอย่างเช่น งดรับประทานขนมปังที่ทำจากแป้งขาว งดรับประทานอาหารที่ทำมาจากแป้งขัดขาว อาทิ เส้นพาสต้า เส้นมักโรนี เส้นก๋วยเตี๋ยว แต่รับประทานข้าวกล้อง, ธัญพืชและขนมปังธัญพืช โฮลวีตได้  บางคนงดรับประทานเนื้อของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหมด เพราะสายพันธุใกล้เคียงมนุษย์มีแนวโน้มว่าจะทำให้เกิดโรคภัยคล้ายกับที่เกิดกับสัตว์เหล่านี้

การรับประทานพืชผักผลไม้อินทรีย์ปลอดสารพิษ ซึ่งผู้ต้องการมีสุขภาพดีทั่วไปก็ปฏิบัติกันอยู่แล้ว

การบำบัดด้วยวิถีธรรมชาติ  แม็คโครไบโอติกส์ (Macrobiotics) ใช้ชีวิตเรียบง่ายและอิสระ มีความสุข ตามหลักหยินหยาง รับประทานอาหารปลอดจากเคมีและสารพิษ รักษาความสมดุลกรด-ด่างของเลือด

หลีกเลี่ยงการรับประทานพืชจำพวกไนท์เชดส์  (the nightshade plants)  ซึ่งมีสาร SOLANINE (พวกมะเขือ, มะเขือเทศ, แตงกวา, ผักที่เป็นฝัก, พริก, บวบ. แตงโม, มันฝรั่ง ฯลฯ) ในปริมาณมาก ๆ    เนื่องจากในคนที่แพ้สารโซลานินในพืชกลุ่มไนท์เชดส์แล้ว เมื่อรับประทานพืชไนท์เชดส์เข้าไปจะทำให้มีอาการของข้อต่ออักเสบอย่างแรง (ACUTE ARTHRITIS)ได้ หรือแม้แต่คนที่รับประทานพืชกลุ่มไนท์เชดส์เป็นประจำแต่ไม่เคยมีอาการ แต่พอภูมิคุ้มกันลดลงร่างกายอ่อนแอก็ทำให้เกิดอาการปวดข้อได้เช่นกัน อ่านเพิ่มเติมได้จากบทความ ดร.สาทิส อินทรกำแหง

ผู้เขียนคิดว่า การบำบัดแต่ละวิธีอาจเหมาะกับผู้ป่วยบางคน ไม่ใช่ทุกคน  ดังนั้นผู้ป่วยต้องลองปฏิบัติเองจึงจะรู้ว่าวิธีไหนใช้ได้ผลกับเราดีที่สุดการบำบัดด้วยน้ำและเกลือ ผู้เขียนใช้วิธีนอนแช่ในอ่างน้ำอุ่นเติมเกลือสมุทรลงไป 1 ก.ก. เทน้ำส้มสายชู 5 % ลงไปอีก 2 ขวดลิตร ระหว่างแช่ก็นวดตัวเคลื่อนไหวข้อไปด้วย พอน้ำหายอุ่นก็ล้างตัวอาบน้ำปกติ ช่วยให้ตัวเบาสบาย เคลื่อนไหวข้อได้สะดวก

ประการที่แปด เตรียมร่างกายและจิตใจ  บางคนหมกหมุ่นอยู่กับอาการของตนเองจนเกินไป ทำให้เป็นเกิดความเครียดและวิตกกังวล ผู้เขียนเคยเป็นมาก่อน วัน ๆ นั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ใช้เสิรชเอ็นจีน หาทุกคำที่เกี่ยวกับโรคและอาการอ่านทุกเว็บบอร์ดที่มีหัวข้อกระทู้เกี่ยวกับโรค  สุดท้ายเครียด นอนไม่หลับ พักผ่อนไม่พอ ค่าอักเสบไม่ลดลง เสียเวลาไปกับการรักษาอาการทางกายไม่พอ ยังต้องเพิ่มไปรักษาอาการทางจิตอีก

รู้หรือไม่ ความเครียดส่งผลให้การอักเสบเพิ่มขึ้น ภูมิคุ้มกันลดลง

ดังนั้น ผู้ป่วยต้องรู้จักทางสายกลาง ผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่จริงจังหรือคาดหวังกับการรักษาวิธีหนึ่งวิธีใดมากเกินไป  ควรจะผสมผสานการรักษาระหว่างการแพทย์แผนปัจจุบัน ควบคู่ไปกับการรักษากับแพทย์ทางเลือกอื่น ๆ เช่น นวดบำบัด ฝังเข็ม โยคะ สมาธิ วิปัสสนา โภชนาการบำบัด การออกกำลังกาย ฯลฯ

“ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว” ผู้เขียนสนับสนุนให้ฝึกปฏิบัติสมาธิวิปัสสนาเป็นอันดับต้น ๆ เพราะการปฏิบัติวิปัสสนาอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดความสมดุลทั้งทางจิตใจและร่างกาย  ทำได้ด้วยตนเองไม่ต้องพึงพิงนักบำบัด ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เริ่มต้นเพียงสมัครเข้าคอร์สปฏิบัติธรรมซึ่งในประเทศไทยมีให้เลือกหลายแห่ง เมื่อรู้วิธีแล้วสามารถนำมาฝึกต่อที่บ้าน อีกทั้งสามารถฝึกได้ทุกที่ทุกเวลา การสังเกตความรู้สึกตัวทั่วพร้อมกับสิ่งที่ปรากฎทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หรือกับทุก ๆ อารมณ์ มีสติกำกับอยู่ทุกอริยาบท มีข้อดีคือทำให้ การยืน การเดิน การนั่ง การนอน ทุกอาการ มีสติรู้ตัวตลอด เหมาะมากกับผู้ป่วยโรคข้อสันหลังอักเสบที่ต้องระวังอริยาบทให้หลังตรง ตัวตรง เสมอ กล้ามเนื้อหลังที่แข็งแรงช่วยให้หลังไม่ค่อม ไม่โก่ง

สำหรับผู้ป่วยโรคข้อ อาจมีข้อจำกัดในการนั่งขัดสมาธิหรือการนั่งกับพื้น เราสามารถฝึกสมาธิด้วยการนั่งบนเก้าอี้ได้    แต่ควรแจ้งสถานปฏิบัติธรรมให้ทราบว่าเรามีข้อจำกัดเรื่องอะไรบ้างและถามสถานที่ปฏิบัติธรรมนั้นว่ายินดีที่รับเราเข้าคอร์สปฏิบัติหรือไม่ เพื่อเราจะได้ปฏิบัติเต็มที่ หมดความกังวลใจ อันเนื่องมาจากความรู้สึกละอายใจหรือรู้สึกไม่เหมือนผู้ปฏิบัติธรรมอื่น ๆ 

ประการที่เก้า ปฏิบัติตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ทุกครั้งที่ผู้เขียนไปพบอาจารย์หมอที่รักษาผู้เขียนอยู่ ท่านจะบอกทุกครั้งว่า ผู้ป่วยต้องช่วยหมอด้วย ช่วยทำให้ตัวเองแข็งแรง โดยมีหลักปฏิบัติง่าย ๆ คือ

  • ต้องหมั่นออกกำลังกาย เช่น เต้นแอโรบิค เดิน ว่ายน้ำ แบตมินตัน ปั่นจักรยาน เข้าฟิตเนสบริหารกล้ามเนื้อ  เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อหลังและข้อกระดูกสันหลัง เล่นกีฬาได้ทุกอย่าง แต่ระวังการบาดเจ็บที่ข้อเท่านั้น  อย่าลืม วอร์มอัพอุ่นเครื่อง เริ่มจากเบา ๆ แล้วค่อยเพิ่มเวลา เราจะรู้เองว่ากล้ามเนื้อเราทนได้ระดับไหน  ออกกำลังกายวันละ 30 นาที – 1 ชั่วโมง ได้เหงื่อแล้วก็ต้องสโลว์ดาวน์คลายกล้ามเนื้อด้วย ออกกำลังกายสัปดาห์ละสามวันกำลังดี
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ แต่ละคืนหลับให้สนิท 7-8 ชั่วโมง
  • อย่านอนดึก   เวลาที่เหมาะสำหรับการเข้านอน อย่าให้เกิน 22.00 น.
  • อยู่ในสิ่งแวดล้อมดี ๆ คือ อากาศดี อารมณ์ดี  อาหารดีครบ 5 หมู่ (อาหารดีไม่ใช่อาหารราคาแพง) รวมถึงอุจจาระดี (เป็นเวลา และ สม่ำเสมอ)  ควรหลีกเลี่ยงสิ่งทำลายสุขภาพ เช่น บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์  เครื่องดื่มที่มีกาเฟอี น เครื่องดื่มที่มีกรดคาร์บอนิก สิ่งเสพติด อาหารทอด ไขมัน
  • อย่าเครียด   ฝึกผ่อนคลาย อย่าเก็บตัว  ให้ออกมาสังสรรพบปะผู้คน เข้าร่วมกิจกรรมสันทนาการ หรือกิจกรรมเพื่อสังคม เพื่อที่จะได้เพลินไปกับงานอดิเรกหรือกิจกรรมที่เราชอบ สร้างคุณค่าต่อตัวเอง ช่วยให้ลืมความปวดเจ็บไข้ได้  เช่น การเดินทางท่องเที่ยว การถ่ายภาพ เล่นดนตรี งานฝีมือ วาดรูป อาสาสมัครช่วยเหลือสังคม การปฏิบัติธรรมวิปัสสนากรรมฐาน งานสาธารณประโยชน์ ฯลฯ

อาจารย์หมอย้ำทุกครั้ง ไม่ว่าจะป่วยเป็นโรคอะไร หลัก ๆ ในการทำให้หายป่วยมีอยู่เท่านี้ ไม่ต้องมาพบแพทย์ ไม่ต้องกินยาก็ได้ ร่างกายมนุษย์มีกลไกซับซ้อนสามารถปรับตัวสร้างภูมิคุ้มกันและกำจัดโรคภัยได้เอง แต่ต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง  ส่วน “ยา” ช่วยนิดเดียวจริง ๆ คือ ช่วยย่นระยะเวลาป่วย จุดประสงค์หลักที่แพทย์สั่งยาให้ผู้ป่วยเพื่อจะได้หายป่วยเร็วขึ้น

แรก ๆ ผู้เขียนทำตามอาจารย์หมอบอกไม่ครบซักอย่าง กินแต่ยา ครบทุกตัว ตรงตามเวลาเปะ  พอถึงวันนัด ผลคือไม่กระเตื้อง โรคไม่สงบ

ตอนหลังกลับตัวได้ เปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ ทำได้ตามที่อาจารย์หมอสั่งครบทุกอย่าง ผลคือ ค่าอักเสบลดลงไปหลายหน่วย  ท้าผู้ป่วยทั้งหลายไปปฏิบัติตามได้เลย

เคยคิดบ้างไหมว่า ทำไมโรคบางโรคหรืออาการบางอาการซึ่งเราเคยเป็นและรักษาหายแล้ว ไม่นานก็กลับมามีอาการนั้นหรือเป็นโรคนั้นซ้ำแล้วซ้ำอีก  เป็นไปได้ไหมที่ความเคยชินและพฤติกรรมบางอย่างของเรานั่นเอง ที่เป็นสาเหตุให้ต้องเป็นโรคเดิมอาการเดิม ซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า  ยกตัวอย่างเช่น ความเครียด หงุดหงิดไม่พอใจง่าย  พฤติกรรมนอนดึก ขี้เกียจออกกำลังกาย รับประทานอาหารชนิดเดียวซ้ำ ๆ  ชอบอาหารหวานเค็มมัน  ดื่มน้ำน้อย ขับถ่ายไม่เป็นเวลา มีท่านั่ง ท่ายืน ที่ทำร้ายข้อ นั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์นาน ๆ  ก้มยกของแทนที่จะนั่งแล้วยกของ  ชอบเขย่งเอื้อมสุดแขนหยิบของ  ปวดแขนข้างไหนก็หยุดใช้แขนข้างนั้นไปเลย  ฯลฯ  ผู้เขียนสังเกตตัวเองและพบว่ามีพฤติกรรมทำร้ายร่างกายอย่างมาก โดยเฉพาะความเครียด ซึ่งทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำลง เป็นโรคต่าง ๆ ได้ง่าย  ภายหลังเมื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตต่างไปจากเดิม ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ฝึกปฏิบัติสมาธิวิปัสสนา อาการเจ็บป่วยที่เคยเกิดขึ้นเป็นประจำนั้่นได้ลาขาดไปจากชีวิต ไม่ต้องกลับไปพึ่งยาหรือหาหมออีกต่อไป

ทั้งนี้ผู้ป่วยที่อยากหายจากอาการไม่สบายหรืออาการเจ็บป่วย ต้องถามตัวเองก่อนว่า พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้ดีเพื่อสุขภาพหรือไม่  ผู้เขียนพบว่าการบำบัดรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ จากประสบการณ์ที่ผ่านมานั้นไม่ได้ช่วยให้อาการป่วยดีขึ้นเลย ถ้า “ใจ” ปฏิเสธการรักษา หมายถึงการรักษาใด ๆ ที่ใจผู้ป่วยไม่ยอมรับ ผู้ป่วยมีอคติหรือมีทัศนคติทางลบต่อการรักษา ไม่ว่าผู้บำบัดจะแนะนำให้ปฏิบัติตัวเช่นไรก็รู้สึกลำบากใจที่จะทำ ไม่สบายใจหรือฝืนใจทำ  ผลของการบำบัดก็จะออกมาเป็นศูนย์ คือคงอาการเหมือนเดิม ไม่ได้กระเตื้องขึ้น ในบางครั้งอาจยิ่งรู้สึกแย่ลง ความเครียดเพิ่มขึ้น เนื่องจากการฝืนทำในสิ่งที่ไม่ต้องการ ทำเพราะถูกบังคับ    การบำบัดจะให้ผลตรงกันข้ามถ้าผู้ป่วยยอมรับการบำบัดนั้นด้วยความเต็มใจ ทำด้วยแรงบันดาลใจว่าฉันต้องเป็นผู้มีสุขภาพดี  ความรู้สึกสบายใจนั้นเป็นพลังผลักดันที่ดี เพื่อจะได้มีชีวิตต่อไปอย่างมีความสุข

ประการที่สิบ ต้องรู้จักการ “ปล่อยวาง” (อุเบกขา) ภาษาทางธรรมนั้นลึกซึ้งมาก  การปล่อยวางทำให้พ้นทุกข์  พ้นจากเวียนว่าย เกิด แก่ เจ็บ ตาย ในวัฏสงสาร

สำหรับผู้ป่วยที่ยังไม่เข้าใจศัพท์ทางพระพุทธศาสนา ขอแนะนำให้ปล่อยวางง่าย ๆ ด้วยการทำความเข้าใจร่างกายของเรา ยอมรับในสิ่งที่เราเป็น สิ่งที่เรามี  โรคข้อสันหลังอักเสบชนิดยึดติดก็ไม่ต่างอะไรกับโรคหวัด เมื่อสุขภาพดี ภูมิคุ้มกันแข็งแรง หวัดก็ทำอะไรเราไม่ได้  เมื่อสุขภาพเราอ่อนแอหวัดก็กลับมาเล่นงานเรา บางคนเป็นหวัดแค่ไม่กี่วันก็หาย  บางคนเป็นหวัดเป็น ๆ หาย ๆ บางคนไม่กินยาก็หาย ตลอดชีวิตของคนเรา มีใครไม่เคยเป็นหวัดบ้าง  หรือ มีใครเป็นหวัดครั้งเดียวบ้าง คำตอบรู้ ๆ กันอยู่

โรคข้อสันหลังอักเสบชนิดยึดติด (Ankylosing Spondylitis) ก็เช่นเดียวกัน อ่อนแอเมื่อไหร่เขาก็มาสร้างความรำคาญให้กับเรา ปวด ๆ หาย ๆ  ให้คิดเสียว่าเขาเป็นสหายสนิทร่วมเป็นร่วมตายของเรา  เราอยู่เขาก็อยู่ เราตายเขาก็ตายตามไปด้วย จะหาเพื่อนแท้อย่างนี้ที่ไหนได้ การป่วยเป็นการเตือนตนเองที่ดีไม่ให้เราใช้ชีวิตอย่างประมาทและให้รีบทำสิ่งดี ๆ ให้ตนเองและคนที่เรารัก

9FF19197-5389-4A70-8DF3-772806CC2907


5 thoughts on “ด้วยรักจากใจของผู้ป่วยโรคข้อสันหลังอักเสบชนิดยึดติด(A.S.)คนหนึ่ง

  1. สวัสดีครับผม admin เว็บไซต์ thaiasclub.net ครับ
    ผมสนใจบทความนี้มากครับและอีกหลายบทความ
    อยากจะถามคุณเจ้าของบล็อก
    ผมอยำกขออณุญาตินำบทความนี้
    ไปเผยแพร่บทเว็บไซต์ผมได้หรือไม่ครับ
    โดยผมจะแสดงแหล่งที่มาของบทความมายัง
    เว็บบล็อกของคุณยังไงช่วยติดต่อกลับด้วยน่ะครับ

    Kittipnm@gmail.com

  2. ขอขอบคุณมากครับเป็นคำแนะนำที่ดีมาก สำหับผมตอนนี้อายุไม่ถึง40 คุณหมอบอกผมว่าอาการของผมเป็นโรคนี้เข้าแล้ว แต่มีอาการบางอย่างมีความแปลกแตกต่างซึ่งกำลังรอผลวินิจฉัยอยู่ ตอนนี้กระดูกสันหลังและสะโพกผมมีค่ามวลกระดูกลบ3 ทั้งที่อายุเพียงสามสิบกว่า ไม่ใช่โรคกระดูกพรุนแบบคนแก่แน่นอน แต่พร้อมจะหักเองทุกเมื่อ ส่วนยาฉีดชีวะภาพตอนนี้ผมมีอาการแพ้ด้วย ไม่รู้ว่าระยะยาวจะเป็นอย่าไรเหมือนกัน

  3. เป็นกำลังใจให้นะคะ ตอนนี้มีงานวิจัยที่ทำให้รู้สาเหตุแน่ชัดของการเกิดโรค AS ต่อไปโรคนี้คงมีวิธีรักษาได้ในที่สุดค่ะ ระยะนี้ต้องยอมรับในสิ่งที่เรา “มี” สิ่งที่เรา “เป็น” อย่าเครียด ควรรักษาใจให้เข้มแข็ง ปฎิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ สู้ สู้ ค่ะ

Leave a comment