โรคมือ เท้า ปาก

จากกรณีการระบาดของ “โรคมือเท้าปาก” ในประเทศกัมพูชา มีรายงานเด็กเสียชีวิตจำนวนมาก โดยเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ คือ “เอ็นเทอร์โรไวรัส 71”  อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่ที่ยังมีลูกน้อยอยู่วิตกกังวลว่าโรคนี้จะลามจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในบ้านเราหรือไม่?

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคมือเท้าปากไม่ใช่โรคใหม่ จึงไม่ต้องวิตกมาก บ้านเรามีโรคนี้อยู่แล้ว มีการพบผู้ป่วยเด็กตลอดทั้งปี อัตราการเสียชีวิตน้อยมาก  ถ้าดูแลความสะอาด หมั่นล้างมือ ไม่เอามือไปจับตา ปาก หรือจมูก ไม่น่าจะมีปัญหา การที่กระทรวงสาธารณสุขเฝ้าระวังไว้ดีแล้ว เพราะผู้ใหญ่เป็นพาหะได้จึงต้องตระหนักว่าอาจไปสัมผัสน้ำลายลูกหลานที่เป็นโรคนี้อยู่ต้องหมั่นล้างมือก่อนไปสัมผัสเด็กคนอื่น

เด็กหลายคนอาจจะเคยเป็นโรคมือเท้าปากมาแล้ว แต่ไม่แสดงอาการ เชื้อก่อโรคส่วนใหญ่ในบ้านเราเกิดจากเชื้อคอกซากี ซึ่งอาการไม่รุนแรง เด็กอาจมีไข้ตอนเย็นและตอนกลางคืน ประมาณ 3 วันอาการจะหายไป กินอาหารไม่ได้ประมาณ 3-4 วันแรก มีแผลในปาก โดยแผลในปากอาจเป็นอยู่หลายวัน มีตุ่มขึ้นที่มือและเท้า

เชื้อที่น่ากลัว คือ เอ็นเทอร์โรไวรัส 71 เคยระบาดมาเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ในต่างประเทศ ไม่ทำให้เสียชีวิต แต่ทำให้เป็นอัมพาต ในเอเชียครั้งแรกที่ระบาดและมีคนตายเยอะ คือ ประเทศมาเลเซียในปี 2540 ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าเป็นจากเอ็นเทอร์โรไวรัส 71 เข้าใจว่าเป็นไวรัสเข้าหัวใจธรรมดา จนส่งไปเพาะเชื้อที่อเมริกาจึงรู้ และปี 2541 มีการระบาดที่ไต้หวัน เด็กป่วยแสนกว่าคน ตายไป 78 คน ในขณะนั้นประเทศไทยก็มีการเฝ้าระวังพบว่ามีผู้เสียชีวิตเหมือนกัน 1-2 รายแต่ยังพิสูจน์ไม่ได้ เพราะไม่สามารถเพาะเชื้อได้

ไต้หวันเคยเจาะเลือดดูภูมิต้านทานเด็ก และกลับไปย้อนดูว่าเคยมีอาการหรือไม่ ปรากฏว่า 29% มีอาการ อีก 71% ภูมิต้านทานขึ้นแต่ไม่แสดงอาการ อีกทั้งคนที่มีอาการ ก็ไม่ได้มีอาการรุนแรงส่วนใหญ่มีอาการเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ในปัจจุบันบ้านเราพบผู้ป่วยโรคมือเท้าปากทุกปี จากเชื้อเอ็นเทอร์โรไวรัส 71 ก็มี  แต่ไม่เป็นข่าว เพราะเสียชีวิตไม่มาก บังเอิญมีการระบาดที่เวียดนาม จีนตอนใต้ และมาที่กัมพูชา ช่วงแรกกัมพูชาวินิจฉัยไม่ได้ก็เลยเป็นข่าวว่าไม่รู้ว่าเสียชีวิตจากโรคอะไร แต่จากอาการทางสมอง อาการทางหัวใจและอาการปอดบวมน้ำเป็นอาการที่พบบ่อยก่อนเด็กเสียชีวิต โดยอาการปอดบวมน้ำเป็นผลมาจากสมองทั้งสิ้น เพราะไวรัสเข้าไปที่แกนสมอง ซึ่งควบคุมการหายใจ การเต้นของหัวใจทั้งหมด เมื่อดูอายุของเด็กกัมพูชาที่เสียชีวิตก็รู้เลยว่าเป็นโรคมือเท้าปาก เพราะอยู่ในช่วง 6 เดือนขึ้นไปถึง 3 ขวบ ส่วนที่เด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบไม่ค่อยเป็นเพราะมีภูมิคุ้มกันจากแม่อยู่

อาการของโรคมือเท้าปากที่เกิดจากเชื้อเอ็นเทอร์โรไวรัส 71 ตุ่มอาจจะลามไปที่ก้นด้วย แต่คนที่อาการหนักและเสียชีวิตตุ่มมักจะไม่ค่อยขึ้นให้เห็นทำให้วินิจฉัยยาก ถามว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าอาการหนัก เกณฑ์ คือ ถ้าเด็กมีไข้สูงเกิน 39 องศาเซลเซียสเกิน 3 วันไข้ไม่ยอมลงอันตราย ต้องรีบไปหาหมอมิฉะนั้นจะช่วยไม่ทัน คือ อาการในช่วง 1-3 วันแรกเด็กจะเป็นไข้ เจ็บแผลในปาก ระยะต่อมาเด็กจะอาเจียน ซึม ชัก แขนขาไม่มีแรง ถ้าปล่อยให้อาการหนักถึงขั้นนั้นจะทำอะไรไม่ได้แล้วเพราะหัวใจเต้นเร็วมาก ทำให้รักษายาก

ถามว่าโรคนี้รักษาอย่างไร ก็รักษาไปตามอาการ กินอาหารไม่ได้ก็ให้น้ำเกลือ ถ้ามีไข้สูง ดูแล้วว่ามีโอกาสที่เชื้อจะไปที่สมองจะให้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป อินทราวีนัส อิมมูโน โกลบูลิน หรือ ไอวีไอจี ฉีดเข้าเส้น ไปบล็อกเชื้อไวรัสไม่ให้กระจาย แต่มีราคาแพงมาก ถ้ารอจนไวรัสเข้าไปในสมองแล้ว การให้ไอวีไอจีก็ไม่มีประโยชน์

ในยุโรป อเมริกา ไม่ค่อยเดือดร้อนกับโรคนี้ เพราะว่าอาการไม่หนัก ที่ผ่านมาเราเคยเถียงกันว่าโรคนี้เป็นเฉพาะในคนเอเชียหรือเปล่าที่อาการรุนแรง ซึ่งพันธุกรรมก็อาจมีส่วน รวมถึงการได้รับเชื้อมากหรือน้อย  ถ้ารับเชื้อมากอาการก็หนัก และยังขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานของร่างกายด้วย ถ้ามีภูมิต้านทานแล้วได้รับเชื้อก็ไม่เป็นอะไร

สำหรับการป้องกันโรคมือเท้าปาก เนื่องจากโรคนี้ติดต่อทางการสัมผัสหากไม่ไปสัมผัสผู้ป่วยก็ไม่เป็นอะไร เมื่อรู้ว่าเชื้อออกมาทางปาก อุจจาระ ตุ่มที่มือและเท้า หากไม่ไปสัมผัสก็ไม่ติด อย่างเด็กเวลาป่วยเจ็บปากน้ำลายยืด หากเด็กคนอื่นไปสัมผัสแล้วเอามือแหย่ปากก็ติดได้ ทั้งนี้นอกจากโรคมือเท้าปากแล้ว หากมีไข้สูงควรระวังโรคไข้เลือดออก โรคไข้หวัดใหญ่  โรคมาลาเรีย โรคไข้สมองอักเสบด้วย.

นวพรรษ บุญชาญ

 

ที่มา: เดลินิวส์ 14 กรกฎาคม 2555