ฉีดสเตียรอยด์ ลดอาการ ‘ปวดหลัง’ อีกหนึ่งทางรักษา เลี่ยงผ่าตัด

ฉีดสเตียรอยด์ ลดอาการ ‘ปวดหลัง’ อีกหนึ่งทางรักษา เลี่ยงผ่าตัด  

 
       โรคปวดหลังเป็นปัญหาสำคัญที่พบได้เกือบทุกช่วงวัย โดยปัญหาที่พบบ่อยในกลุ่มคนหนุ่มสาวมักเกิดจากมีการอักเสบของกล้ามเนื้อ หรือเกิดจากการเคลื่อนที่ของหมอนรองกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาท ส่วนในกลุ่มผู้สูงอายุมักเกิดจากการเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลัง ถือเป็นกระบวนการเสื่อมเองตามธรรมชาติ ซึ่งการผ่าตัดกระดูกสันหลังเป็นวิธีการรักษาที่หลายคนไม่อยากเลือกเพราะกลัวความเจ็บปวด
 
      ผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์ ภาควิชาออร์โทปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้ความรู้ถึงแนวทางการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังเรื้อรัง อาการปวดร้าวลงขา อาการชาว่า มีทางเลือกในการรักษาอีกวิธีหนึ่งโดยไม่ต้องผ่าตัด คือวิธีการฉีดยาสเตียรอยด์ชนิดฉีดเฉพาะที่เข้าไปยังช่องว่างของเส้นประสาทบริเวณโพรงกระดูกสันหลัง จะทำให้ผู้ป่วยสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้เป็นปกติ โดยไม่มีอาการปวดหลัง โดย  การฉีดยานี้มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือการควบคุม บรรเทาอาการปวดหลังและปวดขา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาแบบประคับประคองเพื่อลดอุบัติการณ์การผ่าตัดให้แก่ผู้ป่วย
   
     ยาที่ฉีดเข้าไปเป็น ยาสเตียรอยด์ชนิดเฉพาะที่ร่วมกับยาชา ซึ่งจะไปอยู่รอบ ๆ เส้นประสาทที่อยู่ภายในโพรง กระดูกสันหลัง คุณสมบัติที่สำคัญคือ เป็นยาที่มีฤทธิ์ลดการอักเสบที่ดีมาก เมื่อฉีดเข้าไปในตำแหน่งของเส้นประสาทที่มีการอักเสบและการบวมจะช่วยลดการอักเสบได้เป็นอย่างมาก ทำให้บรรเทาอาการเจ็บปวดแก่ผู้ป่วย โดยการลดการบวมของเส้นประสาทจะช่วยทำให้เส้นประสาททำงานได้ดียิ่งขึ้น และยังช่วยลดอาการชาและอาการอ่อนแรงอีกด้วย
   
      อย่างไรก็ตาม การฉีดยาสเตียรอยด์จะมีผลช่วยบรรเทาอาการปวดชั่วคราวขึ้นอยู่กับลักษณะความรุนแรงของโรคในแต่ละบุคคล ซึ่งอาจมีฤทธิ์อยู่ได้ประมาณ 1-3 เดือน แต่ก็ช่วยบรรเทาอาการปวดทำให้ผู้ป่วยทำกายภาพบำบัดได้สะดวกมากขึ้น
   
      นอกจากนี้ยังช่วยให้ร่างกายสามารถซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอได้ เช่น กรณีโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนกดทับเส้นประสาท จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดมากในระยะแรก เนื่องจากสารเคมีที่อยู่ภายในเนื้อของหมอนรองกระดูกสันหลังฉีกขาดเป็นตัวการสำคัญในการทำให้เกิดการอักเสบ มักใช้เวลาหลายสัปดาห์ในการที่หมอนรองกระดูกเกิดการซ่อมแซมตนเอง จนกระทั่งไม่มีการรั่วของสารเคมีออกมาระคายเคืองต่อเส้นประสาท ซึ่งยาสเตีย รอยด์ชนิดฉีดเฉพาะที่จะช่วยลดอาการปวดเมื่อเริ่มต้นทำให้อาการผู้ป่วยทุเลาลง
   
   วิธีการนี้เหมาะสมเป็นอย่างมากสำหรับผู้ป่วยที่ไม่ต้องการรักษาด้วยการผ่าตัดกระดูกสันหลังหรือมีความเสี่ยงสูงจากการผ่าตัด เช่น ผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องของโรคช่องทางเดินของโพรงประสาทตีบตัน เนื่องจากกระบวนการเสื่อมของกระดูกสันหลังซึ่งจะทำให้ช่องประสาทตีบตัน มีผลทำให้เกิดการอักเสบของเส้นประสาทที่อยู่ภายในโพรงกระดูกสันหลังทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวด ชา ปวดร้าวลงขา การรักษาด้วยการฉีดสเตียรอยด์ชนิดเฉพาะที่จะช่วยบรรเทาอาการปวดและชาลงได้
   
      นอกจากนี้ยังใช้ได้ผลดีในกรณีที่ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดแล้วยังมีอาการปวดหลังและอาการปวดชาร้าวลงขา ซึ่งพยาธิสภาพที่เกิดหลังผ่าตัดคือ การมีพังผืดไปกดรัดเส้นประสาทหลังจากการผ่าตัด ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหลังร่วมกับอาการปวดร้าวลงขาอยู่ การฉีดยานี้จะช่วยแยกสลายพังผืดที่กดรัดรอบ ๆ เส้นประสาท และลดการอักเสบของเส้นประสาท  และเนื้อเยื่ออ่อน ๆ ที่อยู่รอบ ๆ ทำให้ลดอาการปวดให้ผู้ป่วย อีกทางหนึ่งด้วย ยิ่งในปัจจุบันด้วยวิวัฒนาการที่ก้าวหน้า จึงมีการนำเครื่องเสียงความถี่สูงหรือเครื่องอัลตราซาวด์มาช่วยเป็นเครื่องชี้นำ บ่งบอกถึงบริเวณที่จะฉีดยา ทำให้การฉีดยาเข้าโพรงประสาทมีความแม่นยำมากขึ้น
  
     ถึงแม้อาการปวดหลังจะเป็นอาการที่ทุกคน ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะเมื่อเราอายุมากขึ้นจะทำให้กระดูกบางลง ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง สูญเสียความยืดหยุ่น แต่เราสามารถชะลอการเสื่อมของกระดูกสันหลังได้ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่จะทำหน้าที่ในการพยุงร่างกายและเพิ่มความยืดหยุ่นของร่างกาย ควรยกของให้ถูกวิธี รักษาน้ำหนักของร่างกายให้เหมาะสม ระวังอย่าให้น้ำหนักมากกว่าที่ควรจะเป็น หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และพยายามจัดท่าทางของร่างกายให้เหมาะสม อย่าให้ตัวเองตัวงอไม่ว่าจะเป็นท่านั่งหรือท่ายืน

    สำหรับใครที่มีอาการปวดหลังแล้วสามารถเลือกวิธีการรักษาด้วยการฉีดยาสเตียรอยด์ชนิดเฉพาะที่เข้าไปยังช่องว่างของเส้นประสาทบริเวณโพรงกระดูกสันหลังได้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งนอกเหนือจากการรักษาด้วยการผ่าตัด
 
 
ข้อมูลจาก : เดลินิวส์ วันอาทิตย์ที่ 26 กันยายน 2553 ฉบับที่ 22263

2 thoughts on “ฉีดสเตียรอยด์ ลดอาการ ‘ปวดหลัง’ อีกหนึ่งทางรักษา เลี่ยงผ่าตัด

  1. เเล้วคนท้องที่เป็นหมอนรองกระดูกเคลื่อน สามารถรับการฉีดยาเสตียรอยด์ได้ไหมคะ จะมีผลอะไรต่อเด็กหรือไม่

    • หญิงตั้งครรภ์ต้องระมัดระวังการใช้ยาทุกครั้งและควรปฎิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

      สเตียรอยด์ (Steroid) เช่น เพร็ดนิโซโลน, เดกซาเมทาโซน, กลูโคติคอย์ มีผลเสียคือทำให้โอกาสแท้งเพิ่มมากขึ้น หรือเด็กในครรภ์มีความพิการแต่กำเนิด เช่น เพดานโหว่

      แนะนำว่าเมื่อมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นควรปรึกษาแพทย์ที่ฝากครรภ์ จากนั้นแพทย์จะส่งต่อให้แพทย์เฉพาะทาง เช่น อายุรแพทย์โรคข้อหรือออร์โธปิดิคส์ ดูแลรักษาต่อไปเพื่อความปลอดภัยของแม่และลูกในครรภ์

Leave a comment