ต้อหินกับการใช้ยา โดย รศ.นพ.นริศ กิจณรงค์

การมองเห็นของคนปกติ

การเกิดโรคต้อหิน อาจพบได้ในผู้สูงอายุ ผู้ที่สายตาสั้น หรือยาวมาก ๆ ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน และยังเชื่อว่า เกิดจากกรรมพันธุ์ แต่สาเหตุสำคัญอีกอย่างที่ทำให้เกิดต้อหินได้เช่นกัน ก็คือ การใช้ยาหยอดตาประเภท สเตียรอยด์ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น เพราะยากลุ่มนี้สามารถรักษาอาการคัน และระคายเคืองตาได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังช่วยรักษาโรคภูมิแพ้ต่าง ๆ ได้ด้วย จึงทำให้คนทั่วไปนิยมซึ้อมาใช้เอง หรือนำตัวอย่างยาที่เคยได้รับจากจักษุแพทย์ไปหาซื้อมาใช้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ดวงตาได้รับปริมาณยามากเกินไป ความดันตาจะสูงขึ้นจนถึงขั้นทำให้เกิดโรคต้อหิน ตาจะมัวลงเรื่อย ๆ จนถึงขั้นตาบอดสนิทได้

ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นต้อหินจากการใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ นอกจากจะพบในผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ หรือการอักเสบเรื้อรังที่ตา และจำเป็นต้องรักษาด้วยการหยอดยาลดการอักเสบประเภทสเตียรอยด์แล้ว ยังพบได้ในผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาสเตียรอยด์เป็นเวลานานทั้งยารับประทาน ยาฉีด ยาพ่นจมูก รวมถึงยาป้ายผิวหนังบริเวณใบหน้า หรือรอบดวงตา เช่น โรคผื่นแพ้ที่ผิวหนัง ผู้ป่วยโรคไต ผู้ป่วยภาวะภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติที่ต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยโรคหอบหืดเรื้อรัง เป็นต้น ผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ และไม่ควรซื้อยามาใช้เอง เพราะอาจเป็นได้ทั้งต้อหินและต้อกระจก

การมองเห็นของคนเป็นต้อหิน

การตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคต้อหิน จำเป็นต้องไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจวัดความดันตา และวางแผนการรักษา สำหรับมาตรฐานการรักษาต้อหินในปัจจุบันมี 3 วิธี ได้แก่ การใช้ยาซึ่งอาจต้องใช้ยาหยอดตาหลายชนิดร่วมกัน การรักษาโดยใช้แสงเลเซอร์ และการผ่าตัด ซึ่งจะใช้สำหรับผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา ส่วนการนวดตา หรือการใช้สมุนไพรยังไม่เป็นที่ยอมรับว่าเป็นมาตรฐานการรักษาต้อหินในปัจจุบันครับ

ฉะนั้น ก่อนการใช้ยาทางตาต่างๆ ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรเสมอ ควรอ่านเอกสารกำกับยาเพื่อดูข้อบ่งใช้และผลข้างเคียงให้เข้าใจ รวมถึงการใช้ยาหยอดตาอย่างต่อเนื่องควรอยู่ในความดูแลของจักษุแพทย์ โดยเฉพาะยาที่อาจมีส่วนผสมของสเตียรอยด์ ข้อสังเกตเบื้องต้นคือ ยาที่ขึ้นต้นหรือลงท้ายว่า เด็กซ์ (Dex)

แต่ถ้าเป็นยาที่ไม่อันตราย เช่น น้ำตาเทียม ยาล้างตา ก็สามารถซื้อมาใช้เองได้ครับ

ต้อหินอาจพบในเด็กเล็กได้โดยจะมีตาโตและกระจกตาขุ่น

***

กิจกรรมดีๆ ที่ศิริราช

12 ต.ค.อบรม “Palliative and end of life care” โดย ผศ.นพ.รุ่งนิรันดร์ ประดิษฐสุวรรณ แก่บุคลากรทางการแพทย์ ดาวน์โหลดใบสมัครที่  http://www.si.mahidol.ac.th/th/division/palliative_care/registration/register1.asp สอบถาม โทร.0 2411 6430 http://www1.si.mahidol.ac.th/Palliative/

14 ต.ค.บรรยาย “เลี้ยงทารกให้ง่าย ๆ สบาย ๆ สไตล์ศิริราช” โดย รศ.กรรณิการ์ วิจิตรสุคนธ์ และ อ.พิกุล ขำศรีบุศ แก่ผู้ปกครองฟรี ณ ตึกสยามินทร์ ชั้น 7 รพ.ศิริราช สำรองที่นั่ง โทร. 0 2419 5722, 0 2419 7626

ที่มา: ASTVผู้จัดการออนไลน์ 10 ตุลาคม 2555

ฉีดสเตียรอยด์ ลดอาการ ‘ปวดหลัง’ อีกหนึ่งทางรักษา เลี่ยงผ่าตัด

ฉีดสเตียรอยด์ ลดอาการ ‘ปวดหลัง’ อีกหนึ่งทางรักษา เลี่ยงผ่าตัด  

 
       โรคปวดหลังเป็นปัญหาสำคัญที่พบได้เกือบทุกช่วงวัย โดยปัญหาที่พบบ่อยในกลุ่มคนหนุ่มสาวมักเกิดจากมีการอักเสบของกล้ามเนื้อ หรือเกิดจากการเคลื่อนที่ของหมอนรองกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาท ส่วนในกลุ่มผู้สูงอายุมักเกิดจากการเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลัง ถือเป็นกระบวนการเสื่อมเองตามธรรมชาติ ซึ่งการผ่าตัดกระดูกสันหลังเป็นวิธีการรักษาที่หลายคนไม่อยากเลือกเพราะกลัวความเจ็บปวด
 
      ผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์ ภาควิชาออร์โทปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้ความรู้ถึงแนวทางการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังเรื้อรัง อาการปวดร้าวลงขา อาการชาว่า มีทางเลือกในการรักษาอีกวิธีหนึ่งโดยไม่ต้องผ่าตัด คือวิธีการฉีดยาสเตียรอยด์ชนิดฉีดเฉพาะที่เข้าไปยังช่องว่างของเส้นประสาทบริเวณโพรงกระดูกสันหลัง จะทำให้ผู้ป่วยสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้เป็นปกติ โดยไม่มีอาการปวดหลัง โดย  การฉีดยานี้มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือการควบคุม บรรเทาอาการปวดหลังและปวดขา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาแบบประคับประคองเพื่อลดอุบัติการณ์การผ่าตัดให้แก่ผู้ป่วย
   
     ยาที่ฉีดเข้าไปเป็น ยาสเตียรอยด์ชนิดเฉพาะที่ร่วมกับยาชา ซึ่งจะไปอยู่รอบ ๆ เส้นประสาทที่อยู่ภายในโพรง กระดูกสันหลัง คุณสมบัติที่สำคัญคือ เป็นยาที่มีฤทธิ์ลดการอักเสบที่ดีมาก เมื่อฉีดเข้าไปในตำแหน่งของเส้นประสาทที่มีการอักเสบและการบวมจะช่วยลดการอักเสบได้เป็นอย่างมาก ทำให้บรรเทาอาการเจ็บปวดแก่ผู้ป่วย โดยการลดการบวมของเส้นประสาทจะช่วยทำให้เส้นประสาททำงานได้ดียิ่งขึ้น และยังช่วยลดอาการชาและอาการอ่อนแรงอีกด้วย
   
      อย่างไรก็ตาม การฉีดยาสเตียรอยด์จะมีผลช่วยบรรเทาอาการปวดชั่วคราวขึ้นอยู่กับลักษณะความรุนแรงของโรคในแต่ละบุคคล ซึ่งอาจมีฤทธิ์อยู่ได้ประมาณ 1-3 เดือน แต่ก็ช่วยบรรเทาอาการปวดทำให้ผู้ป่วยทำกายภาพบำบัดได้สะดวกมากขึ้น
   
      นอกจากนี้ยังช่วยให้ร่างกายสามารถซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอได้ เช่น กรณีโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนกดทับเส้นประสาท จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดมากในระยะแรก เนื่องจากสารเคมีที่อยู่ภายในเนื้อของหมอนรองกระดูกสันหลังฉีกขาดเป็นตัวการสำคัญในการทำให้เกิดการอักเสบ มักใช้เวลาหลายสัปดาห์ในการที่หมอนรองกระดูกเกิดการซ่อมแซมตนเอง จนกระทั่งไม่มีการรั่วของสารเคมีออกมาระคายเคืองต่อเส้นประสาท ซึ่งยาสเตีย รอยด์ชนิดฉีดเฉพาะที่จะช่วยลดอาการปวดเมื่อเริ่มต้นทำให้อาการผู้ป่วยทุเลาลง
   
   วิธีการนี้เหมาะสมเป็นอย่างมากสำหรับผู้ป่วยที่ไม่ต้องการรักษาด้วยการผ่าตัดกระดูกสันหลังหรือมีความเสี่ยงสูงจากการผ่าตัด เช่น ผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องของโรคช่องทางเดินของโพรงประสาทตีบตัน เนื่องจากกระบวนการเสื่อมของกระดูกสันหลังซึ่งจะทำให้ช่องประสาทตีบตัน มีผลทำให้เกิดการอักเสบของเส้นประสาทที่อยู่ภายในโพรงกระดูกสันหลังทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวด ชา ปวดร้าวลงขา การรักษาด้วยการฉีดสเตียรอยด์ชนิดเฉพาะที่จะช่วยบรรเทาอาการปวดและชาลงได้
   
      นอกจากนี้ยังใช้ได้ผลดีในกรณีที่ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดแล้วยังมีอาการปวดหลังและอาการปวดชาร้าวลงขา ซึ่งพยาธิสภาพที่เกิดหลังผ่าตัดคือ การมีพังผืดไปกดรัดเส้นประสาทหลังจากการผ่าตัด ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหลังร่วมกับอาการปวดร้าวลงขาอยู่ การฉีดยานี้จะช่วยแยกสลายพังผืดที่กดรัดรอบ ๆ เส้นประสาท และลดการอักเสบของเส้นประสาท  และเนื้อเยื่ออ่อน ๆ ที่อยู่รอบ ๆ ทำให้ลดอาการปวดให้ผู้ป่วย อีกทางหนึ่งด้วย ยิ่งในปัจจุบันด้วยวิวัฒนาการที่ก้าวหน้า จึงมีการนำเครื่องเสียงความถี่สูงหรือเครื่องอัลตราซาวด์มาช่วยเป็นเครื่องชี้นำ บ่งบอกถึงบริเวณที่จะฉีดยา ทำให้การฉีดยาเข้าโพรงประสาทมีความแม่นยำมากขึ้น
  
     ถึงแม้อาการปวดหลังจะเป็นอาการที่ทุกคน ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะเมื่อเราอายุมากขึ้นจะทำให้กระดูกบางลง ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง สูญเสียความยืดหยุ่น แต่เราสามารถชะลอการเสื่อมของกระดูกสันหลังได้ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่จะทำหน้าที่ในการพยุงร่างกายและเพิ่มความยืดหยุ่นของร่างกาย ควรยกของให้ถูกวิธี รักษาน้ำหนักของร่างกายให้เหมาะสม ระวังอย่าให้น้ำหนักมากกว่าที่ควรจะเป็น หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และพยายามจัดท่าทางของร่างกายให้เหมาะสม อย่าให้ตัวเองตัวงอไม่ว่าจะเป็นท่านั่งหรือท่ายืน

    สำหรับใครที่มีอาการปวดหลังแล้วสามารถเลือกวิธีการรักษาด้วยการฉีดยาสเตียรอยด์ชนิดเฉพาะที่เข้าไปยังช่องว่างของเส้นประสาทบริเวณโพรงกระดูกสันหลังได้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งนอกเหนือจากการรักษาด้วยการผ่าตัด
 
 
ข้อมูลจาก : เดลินิวส์ วันอาทิตย์ที่ 26 กันยายน 2553 ฉบับที่ 22263