25 ปี จุฬาฯ ผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ

dailynews121223_001โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสถาบันที่ทำการผ่าตัดปลูกถ่ายไต ตับและหัวใจ สำเร็จเป็นแห่งแรกของประเทศไทย โดยการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจสำเร็จเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2530 เป็นครั้งแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้การนำของ ศ.กิตติคุณ นพ.ชวลิต อ่องจริต อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ผ่านมา 25 ปีแล้ว ผู้ได้รับการผ่าตัดรายแรก  คือ นายพิชิต บุญเชิด อายุ 44 ปี ยังมีชีวิตอยู่และทำงานเป็นบุคลากรของสภากาชาดไทย ส่วน ศ.กิตติคุณ นพ.ชวลิต ในวัย 80 ปี แม้จะวางมือจากการผ่าตัด รับเป็นที่ปรึกษาอย่างเดียว แต่ก็ยังมีบุตรชายเจริญรอยตาม คือ  อ.นพ.พัชร อ่องจริต หน่วยศัลยศาสตร์ทรวงอก หัวใจ และหลอดเลือด ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ย้อนกลับไปเมื่อ 25 ปีก่อน  ศ.กิตติคุณ นพ.ชวลิต อ่องจริต เล่าว่า ได้ผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจให้กับ “พิชิต บุญเชิด” วัย 19 ปี มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ โดยไม่ทราบสาเหตุ ทำให้หัวใจโต ปกติหัวใจของคนธรรมดาขนาดเท่ากำมือ พออักเสบจะโตเท่าน้ำเต้า พอหัวใจไม่บีบตัว  การสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายก็มีปัญหาคนไข้จะมีอาการเหนื่อยหอบ ให้ยาก็ได้ผลระยะสั้น

ก่อนผ่าตัดคนไข้รายนี้ผมอยู่ในงานลีลาศที่โรงแรมแห่งหนึ่งตอน 4 ทุ่ม สมัยก่อนมือถือก็ไม่มี มีแต่เพจเจอร์ ได้รับข้อความจากห้องไอซียูสมองดังปิ๊บ ๆ ๆ แจ้งว่า มีคนไข้สมองตายนอนอยู่ ก็ออกจากงานมาดูว่าคุณภาพหัวใจคนไข้ยังดีอยู่หรือเปล่า  คนไข้สมองตายรายนี้เป็นผู้หญิงอายุ 45 ปี ดื่มเหล้ามากจนเส้นเลือดในสมองแตก แพทย์พยายามรักษาแล้วแต่ไม่ฟื้น เมื่อดูแล้วหัวใจใช้ได้ก็ต้องไปขอญาติเขาซึ่งบ้านอยู่ที่คลองเตย ตามหาญาติคนไข้สมองตายตั้งแต่ 4 ทุ่มกว่าจนถึงเที่ยงคืนถึงเจอ จากนั้นทำการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจตั้งแต่ตี  1-ตี 5

ตอนนั้นก็ตื่นเต้นเหมือนปล่อยจรวดเพราะมีคนพูดเอาไว้เยอะว่าทำไม่ได้หรอกประเทศไทย เดี๋ยวคนต่อต้าน  เอาหัวใจจากอีกคนมาใส่ให้อีกคน  ศาสนาพุทธจะว่ายังไง เราไม่เถียงเขา แต่ไปถามผู้รู้ อาจารย์ นักกฎหมาย ได้รับคำตอบว่าทำได้  อยากบอกว่า การเปลี่ยนอวัยวะโดยเฉพาะหัวใจเป็นงานที่หนักมาก ต้องใช้เวลาทุ่มเท ไม่รู้ว่าจะได้รับบริจาคหัวใจเวลาไหน หัวใจที่บริจาคอยู่ที่ไหน ส่วนใหญ่อยู่ต่างจังหวัดก็ต้องบินไปเอา

การผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ จะทำในผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจหมดสภาพ ซึ่งอาจเกิดจากเส้นเลือดหัวใจตีบ หัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ลิ้นหัวใจพิการ หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้  เข้าสู่ภาวะหัวใจวายระยะสุดท้าย รักษาด้วยการทำบายพาส เปลี่ยนลิ้นหัวใจ ใช้ยาแล้วไม่ได้ผล ภายใน 6 เดือนคนไข้จะเสียชีวิต การผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจจึงเป็นการให้ชีวิตใหม่กับคนไข้ เพราะคนไข้ที่รอผ่าตัด 40% เสียชีวิตไปก่อน จึงอยากรณรงค์ให้มีการบริจาคอวัยวะมาก ๆ เพราะถ้าไม่มีการบริจาคก็ไม่มีการปลูกถ่าย โดยเฉพาะหัวใจรอไม่ได้ แม้ระหว่างที่รออาจใส่หัวใจเทียม คล้ายปั๊ม เพื่อซื้อเวลา แต่ราคาแพง 7 ล้านบาทขึ้นไปและอยู่ได้ประมาณ 6 เดือน ถึง 1 ปี เท่านั้น

ด้าน  อ.นพ.พัชร อ่องจริต  ซึ่งมีประสบการณ์ผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจให้กับผู้ป่วยมาแล้วนับ 100 ราย กล่าวว่า  ในปีนี้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจให้กับคนไข้ไปแล้ว 9 ราย ถ้ารวมทั้งประเทศน่าจะอยู่ที่ประมาณ 15 ราย  ความจริงมีคนไข้อีกเยอะที่รออยู่ แต่เนื่องจากการผ่าตัดไม่ได้อยู่ในสิทธิประโยชน์ คนไข้ติดปัญหาการเงิน เพราะค่าใช้จ่ายสูง พอสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยอมจ่ายให้แล้วการผ่าตัดคงเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้เมื่อได้หัวใจจากคนไข้สมองตาย จะดูความเร่งด่วนก่อน เช่น คนไข้ช็อกแล้วใช้ปั๊มเทียม ใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจ นอนอยู่ในห้องไอซียูถือว่ามีความเร่งด่วนสูงสุด  ถัดมาคือ คนไข้นอนใน รพ.และใช้ยา จากนั้นดูว่ากรุ๊ปเลือดตรงกันหรือไม่  ขนาดของร่างกายเป็นอย่างไร เพราะถ้าเอาหัวใจขนาดเล็กไปใส่ให้คนตัวโตก็ปั๊มไม่พอ

กระบวนการผ่าตัดเริ่มจากมีทีมไปผ่าตัดเอาหัวใจมาจากผู้บริจาคสมองตาย ส่วนใหญ่อยู่ในต่างจังหวัด โดยเฉพาะภาคอีสานมีการบริจาคหัวใจมากที่สุด ทางโรงพยาบาลจะมีทีมเตรียมคนไข้รอไว้  ทั้งนี้เมื่อแพทย์ทำการหยุดเลือดไปเลี้ยงหัวใจคนไข้จะต้องใส่หัวใจให้เสร็จภายใน 4-6 ชม. ดังนั้นพอหัวใจมาถึงต้องเย็บใส่ให้กับคนไข้ทันที อัตราการรอดชีวิตประมาณ 85% ถ้าคนไข้รอดจากการผ่าตัดไปได้มักจะไม่เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจแต่อาจเสียชีวิตด้วยโรคอื่น ๆ

อายุน้อยสุดที่เคยผ่าตัด คือ 12 ขวบ แต่ปัญหา คือ เด็กสมองตายบริจาคหัวใจมีน้อย คนไข้รายนี้เลยใช้หัวใจของผู้ใหญ่ที่ตัวเล็กแทน ขนาดของหัวใจก็เล็กหน่อย สำหรับข้อแนะนำในการปลูกถ่ายหัวใจ โดยทั่วไป ผู้รับ อายุไม่ควรเกิน 65 ปี เพราะหลังปลูกถ่ายไปแล้วจะดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับอวัยวะอื่นด้วย อย่างคนอายุ 65 ปีตับ ไต ปอดมักจะค่อยไม่ดี เปลี่ยนแล้วอาจเกิดผลแทรกซ้อนสูง ถ้าผ่าตัดแล้วผลลัพธ์ไม่ดีเหมือนตัดโอกาสคนอื่น แต่ถ้าคนไข้ฟิตมาก ๆ อายุมากกว่านี้ก็ทำได้ อย่างไรก็ตามการปลูกถ่ายหัวใจ หลายท่านอาจไม่ทราบว่าเราทำมานานแล้ว และได้ผลดี อย่างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ทำต่อเนื่องมาโดยตลอด มันเป็นการผ่าตัดที่ทำได้จริงและได้ผลดี ถ้าโชคร้ายป่วยก็มารับบริการได้

ด้าน นายพิชิต บุญเชิด อายุ 44 ปี ผู้ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจรายแรกของประเทศไทย  กล่าวว่า เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจตอนอายุ 19 ปี ตอนนั้นมีอาการหอบเหนื่อย แน่นหน้าอก นอนราบไม่ได้ นอนอยู่บนเตียงนิ่ง ๆ ก็เหนื่อยแล้ว หายใจไม่ทัน ทานได้น้อย หมดหนทางรักษาแล้ว  อาจารย์ชวลิตมาพูดคุยว่ามีวิธีเดียวที่จะรักษาคือผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจจะเอาด้วยมั้ยเป็นรายแรกด้วย ตอนนั้นหมดหวังแล้ว ผมก็บอกว่าขึ้นอยู่กับอาจารย์ก็แล้วกัน ในที่สุดก็ได้รับการผ่าตัดเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2530  หลังผ่าตัดอาการดีขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ต้องเหนื่อยทรมานเหมือนเมื่อก่อน  รู้สึกเหมือนตายแล้วเกิดใหม่ ดีใจที่มีชีวิตอยู่ สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้เหมือนคนปกติ ทำงานช่วยสังคมได้.

นวพรรษ บุญชาญ

 

ที่มา: เดลินิวส์ 23 ธันวาคม 2555

Leave a comment