25 ปี จุฬาฯ ผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ

dailynews121223_001โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสถาบันที่ทำการผ่าตัดปลูกถ่ายไต ตับและหัวใจ สำเร็จเป็นแห่งแรกของประเทศไทย โดยการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจสำเร็จเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2530 เป็นครั้งแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้การนำของ ศ.กิตติคุณ นพ.ชวลิต อ่องจริต อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ผ่านมา 25 ปีแล้ว ผู้ได้รับการผ่าตัดรายแรก  คือ นายพิชิต บุญเชิด อายุ 44 ปี ยังมีชีวิตอยู่และทำงานเป็นบุคลากรของสภากาชาดไทย ส่วน ศ.กิตติคุณ นพ.ชวลิต ในวัย 80 ปี แม้จะวางมือจากการผ่าตัด รับเป็นที่ปรึกษาอย่างเดียว แต่ก็ยังมีบุตรชายเจริญรอยตาม คือ  อ.นพ.พัชร อ่องจริต หน่วยศัลยศาสตร์ทรวงอก หัวใจ และหลอดเลือด ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ย้อนกลับไปเมื่อ 25 ปีก่อน  ศ.กิตติคุณ นพ.ชวลิต อ่องจริต เล่าว่า ได้ผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจให้กับ “พิชิต บุญเชิด” วัย 19 ปี มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ โดยไม่ทราบสาเหตุ ทำให้หัวใจโต ปกติหัวใจของคนธรรมดาขนาดเท่ากำมือ พออักเสบจะโตเท่าน้ำเต้า พอหัวใจไม่บีบตัว  การสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายก็มีปัญหาคนไข้จะมีอาการเหนื่อยหอบ ให้ยาก็ได้ผลระยะสั้น

ก่อนผ่าตัดคนไข้รายนี้ผมอยู่ในงานลีลาศที่โรงแรมแห่งหนึ่งตอน 4 ทุ่ม สมัยก่อนมือถือก็ไม่มี มีแต่เพจเจอร์ ได้รับข้อความจากห้องไอซียูสมองดังปิ๊บ ๆ ๆ แจ้งว่า มีคนไข้สมองตายนอนอยู่ ก็ออกจากงานมาดูว่าคุณภาพหัวใจคนไข้ยังดีอยู่หรือเปล่า  คนไข้สมองตายรายนี้เป็นผู้หญิงอายุ 45 ปี ดื่มเหล้ามากจนเส้นเลือดในสมองแตก แพทย์พยายามรักษาแล้วแต่ไม่ฟื้น เมื่อดูแล้วหัวใจใช้ได้ก็ต้องไปขอญาติเขาซึ่งบ้านอยู่ที่คลองเตย ตามหาญาติคนไข้สมองตายตั้งแต่ 4 ทุ่มกว่าจนถึงเที่ยงคืนถึงเจอ จากนั้นทำการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจตั้งแต่ตี  1-ตี 5

ตอนนั้นก็ตื่นเต้นเหมือนปล่อยจรวดเพราะมีคนพูดเอาไว้เยอะว่าทำไม่ได้หรอกประเทศไทย เดี๋ยวคนต่อต้าน  เอาหัวใจจากอีกคนมาใส่ให้อีกคน  ศาสนาพุทธจะว่ายังไง เราไม่เถียงเขา แต่ไปถามผู้รู้ อาจารย์ นักกฎหมาย ได้รับคำตอบว่าทำได้  อยากบอกว่า การเปลี่ยนอวัยวะโดยเฉพาะหัวใจเป็นงานที่หนักมาก ต้องใช้เวลาทุ่มเท ไม่รู้ว่าจะได้รับบริจาคหัวใจเวลาไหน หัวใจที่บริจาคอยู่ที่ไหน ส่วนใหญ่อยู่ต่างจังหวัดก็ต้องบินไปเอา

การผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ จะทำในผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจหมดสภาพ ซึ่งอาจเกิดจากเส้นเลือดหัวใจตีบ หัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ลิ้นหัวใจพิการ หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้  เข้าสู่ภาวะหัวใจวายระยะสุดท้าย รักษาด้วยการทำบายพาส เปลี่ยนลิ้นหัวใจ ใช้ยาแล้วไม่ได้ผล ภายใน 6 เดือนคนไข้จะเสียชีวิต การผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจจึงเป็นการให้ชีวิตใหม่กับคนไข้ เพราะคนไข้ที่รอผ่าตัด 40% เสียชีวิตไปก่อน จึงอยากรณรงค์ให้มีการบริจาคอวัยวะมาก ๆ เพราะถ้าไม่มีการบริจาคก็ไม่มีการปลูกถ่าย โดยเฉพาะหัวใจรอไม่ได้ แม้ระหว่างที่รออาจใส่หัวใจเทียม คล้ายปั๊ม เพื่อซื้อเวลา แต่ราคาแพง 7 ล้านบาทขึ้นไปและอยู่ได้ประมาณ 6 เดือน ถึง 1 ปี เท่านั้น

ด้าน  อ.นพ.พัชร อ่องจริต  ซึ่งมีประสบการณ์ผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจให้กับผู้ป่วยมาแล้วนับ 100 ราย กล่าวว่า  ในปีนี้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจให้กับคนไข้ไปแล้ว 9 ราย ถ้ารวมทั้งประเทศน่าจะอยู่ที่ประมาณ 15 ราย  ความจริงมีคนไข้อีกเยอะที่รออยู่ แต่เนื่องจากการผ่าตัดไม่ได้อยู่ในสิทธิประโยชน์ คนไข้ติดปัญหาการเงิน เพราะค่าใช้จ่ายสูง พอสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยอมจ่ายให้แล้วการผ่าตัดคงเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้เมื่อได้หัวใจจากคนไข้สมองตาย จะดูความเร่งด่วนก่อน เช่น คนไข้ช็อกแล้วใช้ปั๊มเทียม ใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจ นอนอยู่ในห้องไอซียูถือว่ามีความเร่งด่วนสูงสุด  ถัดมาคือ คนไข้นอนใน รพ.และใช้ยา จากนั้นดูว่ากรุ๊ปเลือดตรงกันหรือไม่  ขนาดของร่างกายเป็นอย่างไร เพราะถ้าเอาหัวใจขนาดเล็กไปใส่ให้คนตัวโตก็ปั๊มไม่พอ

กระบวนการผ่าตัดเริ่มจากมีทีมไปผ่าตัดเอาหัวใจมาจากผู้บริจาคสมองตาย ส่วนใหญ่อยู่ในต่างจังหวัด โดยเฉพาะภาคอีสานมีการบริจาคหัวใจมากที่สุด ทางโรงพยาบาลจะมีทีมเตรียมคนไข้รอไว้  ทั้งนี้เมื่อแพทย์ทำการหยุดเลือดไปเลี้ยงหัวใจคนไข้จะต้องใส่หัวใจให้เสร็จภายใน 4-6 ชม. ดังนั้นพอหัวใจมาถึงต้องเย็บใส่ให้กับคนไข้ทันที อัตราการรอดชีวิตประมาณ 85% ถ้าคนไข้รอดจากการผ่าตัดไปได้มักจะไม่เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจแต่อาจเสียชีวิตด้วยโรคอื่น ๆ

อายุน้อยสุดที่เคยผ่าตัด คือ 12 ขวบ แต่ปัญหา คือ เด็กสมองตายบริจาคหัวใจมีน้อย คนไข้รายนี้เลยใช้หัวใจของผู้ใหญ่ที่ตัวเล็กแทน ขนาดของหัวใจก็เล็กหน่อย สำหรับข้อแนะนำในการปลูกถ่ายหัวใจ โดยทั่วไป ผู้รับ อายุไม่ควรเกิน 65 ปี เพราะหลังปลูกถ่ายไปแล้วจะดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับอวัยวะอื่นด้วย อย่างคนอายุ 65 ปีตับ ไต ปอดมักจะค่อยไม่ดี เปลี่ยนแล้วอาจเกิดผลแทรกซ้อนสูง ถ้าผ่าตัดแล้วผลลัพธ์ไม่ดีเหมือนตัดโอกาสคนอื่น แต่ถ้าคนไข้ฟิตมาก ๆ อายุมากกว่านี้ก็ทำได้ อย่างไรก็ตามการปลูกถ่ายหัวใจ หลายท่านอาจไม่ทราบว่าเราทำมานานแล้ว และได้ผลดี อย่างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ทำต่อเนื่องมาโดยตลอด มันเป็นการผ่าตัดที่ทำได้จริงและได้ผลดี ถ้าโชคร้ายป่วยก็มารับบริการได้

ด้าน นายพิชิต บุญเชิด อายุ 44 ปี ผู้ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจรายแรกของประเทศไทย  กล่าวว่า เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจตอนอายุ 19 ปี ตอนนั้นมีอาการหอบเหนื่อย แน่นหน้าอก นอนราบไม่ได้ นอนอยู่บนเตียงนิ่ง ๆ ก็เหนื่อยแล้ว หายใจไม่ทัน ทานได้น้อย หมดหนทางรักษาแล้ว  อาจารย์ชวลิตมาพูดคุยว่ามีวิธีเดียวที่จะรักษาคือผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจจะเอาด้วยมั้ยเป็นรายแรกด้วย ตอนนั้นหมดหวังแล้ว ผมก็บอกว่าขึ้นอยู่กับอาจารย์ก็แล้วกัน ในที่สุดก็ได้รับการผ่าตัดเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2530  หลังผ่าตัดอาการดีขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ต้องเหนื่อยทรมานเหมือนเมื่อก่อน  รู้สึกเหมือนตายแล้วเกิดใหม่ ดีใจที่มีชีวิตอยู่ สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้เหมือนคนปกติ ทำงานช่วยสังคมได้.

นวพรรษ บุญชาญ

 

ที่มา: เดลินิวส์ 23 ธันวาคม 2555

ปลูกถ่ายตับ

การปลูกถ่ายตับเป็นวิธีเดียวที่จะรักษาผู้ป่วยโรคตับแข็ง หรือโรคตับวายระยะสุดท้ายได้ ซึ่งต้องใช้แพทย์เฉพาะทางหลายสาขา ทำงานร่วมกันเป็นทีม ตลอดระยะเวลาการรักษา ทั้งก่อนการผ่าตัด หลังการผ่าตัด

รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานโครงการปลูกถ่ายตับ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัย มหิดล บอกว่า  ประเทศไทยมีการปลูกถ่ายตับครั้งแรกในปี 2530 ที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  หลังจากนั้นคณะแพทยศาสตร์  รพ. รามาธิบดีได้ทำการปลูกถ่ายตับในปีเดียวกัน ต่อมาประมาณปี 2533 คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดีประสบความสำเร็จในการผ่าตัดปลูกถ่ายตับจากผู้ป่วยสมองตายให้กับเด็กเป็นครั้งแรกในเอเชีย แต่เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนผู้บริจาคตับ ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากระหว่างรอรับการรักษา ดังนั้นในปี 2544 คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี จึงได้ริเริ่มปลูกถ่ายตับโดยใช้ตับจากพ่อแม่ที่ยังมีชีวิตอยู่

ตับเป็นอวัยวะที่มีความพิเศษ  เมื่อตัดออกมาแล้วที่เหลือสามารถงอกขึ้นมาได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ รพ.รามาธิบดีทำการผ่าตัดปลูกถ่ายตับให้กับผู้ป่วยไปแล้ว 176 ราย เป็นการปลูกถ่ายตับจากพ่อแม่สู่ลูก 58 คู่  ผู้ใหญ่ให้ตับผู้ใหญ่ 3 คู่ ที่เหลือเป็นการปลูกถ่ายตับจากผู้บริจาคสมองตาย  ผลการปลูกถ่ายตับประสบความสำเร็จกว่า 90 เปอร์เซ็นต์  มีคนไข้เสียชีวิตเพียง 4 รายเท่านั้น

ในปี 2554 ที่ผ่านมา รพ.รามาธิบดีทำการปลูกถ่ายตับให้กับผู้ป่วยจำนวน 22 ราย เป็นพ่อแม่ให้ลูก 12 คู่  ตอนนี้มีผู้ป่วยรอการปลูกถ่ายตับอีก 32  คู่

โรคตับที่พบในเด็กส่วนใหญ่เป็นโรคท่อน้ำดีตีบตัน กรณีนี้พบตั้งแต่เกิดยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง เด็กจะมีอาการตาเหลือง ตัวเหลือง  การรักษาโดยทั่วไปถ้าตรวจพบเร็วอาจผ่าตัดเอาลำไส้ไปเสริมที่ท่อน้ำดีเหมือนการทำบายพาสเด็กสามารถเจริญเติบโตได้ แต่ไม่ใช่ทุกรายจะสำเร็จ อาจมีครึ่งหนึ่งตับเสียไป กลายเป็นตับแข็ง จำเป็นต้องเปลี่ยนตับเพื่อยืดอายุให้ยืนยาวขึ้น ในขณะที่เด็กอีกกลุ่มตับอาจสร้างสารบางอย่างที่มีผลต่อระบบอื่นของร่างกาย เช่น ระบบประสาท ระบบเลือด ก็ต้องเปลี่ยนตับใหม่เช่นกัน

ในผู้ใหญ่ที่ต้องเปลี่ยนตับ อาจเกิดจากภาวะตับวายเฉียบพลัน เช่น กินเห็ดพิษ เป็นไวรัสตับอักเสบบางชนิดแล้วทำให้ตับเสียสภาพ  เป็นโรคตับวายระยะสุดท้าย  มะเร็งที่ตับ  ตับแข็ง  หรือตับสร้างสารบางอย่างแล้วส่งผลต่อระบบอื่นของร่างกาย  ผู้ป่วยจะมีอาการท้องมาน ตัวเหลือง ตาเหลือง อ่อนเพลีย ขาบวม ใช้ชีวิตเหมือนคนปกติไม่ได้

กลุ่มผู้ป่วยข้างต้นต้องมาเข้าคิวปลูกถ่ายตับ  เมื่อได้ตับบริจาคมา ก็ต้องพิจารณาว่ากรุ๊ปเลือดเข้ากันได้หรือไม่  ตับจากพ่อแม่บริจาคให้ลูกก็เช่นกันต้องดูกรุ๊ปเลือดเข้ากันได้หรือไม่ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีปัญหา  พ่อแม่ที่บริจาคตับให้ลูกส่วนใหญ่มีร่างกายแข็งแรง การเฉือนตับจากพ่อแม่ให้ลูกใช้ประมาณ  20 เปอร์เซ็นต์ แต่ในกรณีที่เป็นผู้ใหญ่อาจต้องเฉือนเนื้อตับ 40-50 เปอร์เซ็นต์

หลังการเฉือนตับออกไปแล้ว  2-3 เดือนตับจะงอกประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์และชะลอลง ประมาณ 1 ปีก็คงที่ แต่งอกขึ้นมาไม่ 100 เปอร์เซ็นต์  โดยงอกมาประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์

สำหรับการเฉือนตับจากคนที่มีชีวิตอยู่ให้กับผู้ป่วย ก็ต้องพิจารณาถึงความปลอดภัยของคนให้ด้วย รวมถึงผู้รับเองก็ต้องไม่มีปัญหาภายหลัง การเฉือนตับจึงไม่ใช่สักแต่ว่าเฉือน ตับที่เฉือนมาต้องมีท่อน้ำดี เส้นเลือดดำ เส้นเลือดแดง มีองค์ประกอบครบ

ศูนย์ปลูกถ่ายตับจำเป็นต้องมีห้องผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะซึ่งเป็นการผ่าตัดใหญ่ ต้องผ่าตัดพร้อมกัน 2 ห้อง 2 ทีม หลังการปลูกถ่ายตับผู้ป่วยจะต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดในห้องแยกปลอดเชื้อ ต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกัน

ความสำเร็จในการปลูกถ่ายตับนอกจากอยู่ที่ความสามารถของทีมแพทย์ เทคโนโลยี ตัวผู้ป่วยและครอบครัวแล้ว  เครือข่ายผู้ปลูกถ่ายตับจากพ่อแม่สู่ลูกก็เป็นกองเชียร์ที่สำคัญ เพราะพ่อแม่หรือญาติพี่น้องผู้ป่วยจะได้ข้อมูลจากผู้ที่มีประสบการณ์โดยตรง

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องช่วยกันรณรงค์และทำความเข้าใจต่อไป คือ การบริจาคอวัยวะ  ต้องบอกว่า อวัยวะหลายอย่างมีประโยชน์กับคนที่มีชีวิตอยู่  เป็นการให้ที่ดีมากและยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น กระจกตา กระดูก หลอดเลือด เส้นเลือด ผิวหนัง.

นวพรรษ บุญชาญ

 

ที่มา: เดลินิวส์ 8 กันยายน 2555

ธนาคารเนื้อเยื่อ…ฝันที่ไม่ไกลเกินจริง

ข้อมูลจากเว็บไซต์สภากาชาดไทย ระบุว่า ฝ่ายกายวิภาคศาสตร์ ได้รับผู้อุทิศร่างกายเพื่อการศึกษาทางการแพทย์ ดำเนินการตามเจตนารมณ์ของผู้ที่ล่วงลับ ที่จะมอบร่างให้กับแพทย์เพื่อการเรียนรู้ทางการแพทย์ อันจะก่อประโยชน์แก่ประชาชนโดยทั่วไป ด้วยมุ่งหวังว่าจะมีแพทย์ที่เก่งด้านการรักษาพยาบาล ให้การช่วยเหลือแก่ผู้ทุกข์ทนจากโรคภัยไข้เจ็บให้หายได้ด้วยวิทยาการปัจจุบัน

การบริจาคอวัยวะ นอกจากจะมาจากผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ ผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว แต่สภาพร่างกายเหมาะสมก็สามารถเป็นผู้บริจาคอวัยวะได้เช่นกัน อวัยวะหรือเนื้อเยื่อที่สามารถก่อประโยชน์แก่ผู้ป่วยที่ยังมีชีวิตอยู่ คือ ผิวหนัง กระดูก กระดูกอ่อน ลิ้นหัวใจ เส้นเอ็น และหลอดเลือดใหญ่ของทรวงอก ผู้บริจาคอวัยวะที่เหมาะสมหนึ่งราย สามารถบริจาคเนื้อเยื่อให้กับคนไข้ได้มากถึง 60-100 คน ปัญหาคือสภาพใดถึงเหมาะกับการเป็นผู้บริจาคอวัยวะหรือเนื้อเยื่อ

ประการแรก ต้องเสียชีวิตไม่เกินหกชั่วโมง ประการที่ 2 ที่สำคัญมากคือต้องไม่มีโรคติดต่อที่จะส่งผ่านไปยังผู้รับเนื้อเยื่อได้ ประการต่อมาคือสภาพเนื้อเยื่อที่ต้องรับแรงดึงหรือแรงกด ต้องมีความแข็งแรง เช่น กระดูกหรือเส้นเอ็นต้องมาจากผู้บริจาคที่อายุไม่มากนัก ดังนั้น การจัดตั้งธนาคารเนื้อเยื่อต้องมีการรับบริจาคจากผู้ที่อายุไม่มากนัก ฝ่ายกายวิภาคศาสตร์จึงได้รับหน้าที่รับบริจาคร่างกายที่อยู่ในสภาพที่เหมาะสมกับการเป็นผู้บริจาคอวัยวะ เพื่อส่งมอบให้กับศูนย์รับบริจาคอวัยวะดำเนินการต่อไป จึงได้กำหนดแนวปฏิบัติที่เป็นคำแนะนำร่วมกันว่า หากผู้แจ้งความจำนงจะเป็นผู้บริจาคร่างกาย ดวงตา และอวัยวะ สามารถแจ้งลงทะเบียนบริจาคได้พร้อมกันทั้งหมด หากผู้บริจาคเสียชีวิตและร่างกายอยู่ในสภาพเหมาะสมแก่การเป็นผู้บริจาคอวัยวะ ทางสภากาชาดไทยจะดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้บริจาค หากดวงตามีสภาพดีไม่ขุ่นมัว จะสามารถผ่าตัดให้คนไข้ได้ 2 คน หากสภาพร่างกายไม่สามารถเป็นผู้บริจาคเนื้อเยื่อหรืออวัยวะได้ ยังสามารถเป็นอาจารย์ใหญ่ของแพทย์ได้ต่อไป

ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย ได้ดำเนินการเป็นศูนย์กลางด้านการรับบริจาคอวัยวะเพื่อผ่าตัดให้กับคนไข้ที่มีความจำเป็น เนื่องจากอวัยวะสำคัญเสียหายหรือเสื่อมสภาพไปจากโรคหรือความผิดปกติต่างๆ ตลอดเรื่อยมา โดยปัจจุบันจะดำเนินการเตรียมเนื้อเยื่อสำหรับการใส่ทดแทนแก่คนไข้ในลักษณะต่างๆ นอกเหนือจากลิ้นหัวใจ คือ กระดูก กระดูกอ่อน ผิวหนัง ดังได้กล่าวแล้ว ทางหนึ่งในการจัดหาผู้บริจาคเนื้อเยื่อคือ การจัดตั้งเครือข่ายศูนย์รับอุทิศร่างกายขึ้นตามจังหวัดต่างๆ นอกเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เนื่องจากเพื่อแสวงหาร่างที่เหมาะสมแล้ว ยังต้องมีการดำเนินการต่อเนื่องเพื่อสำรองเนื้อเยื่อให้สามารถจัดส่งให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ที่มีความต้องการต่อไป

ผู้ประสงค์จะสนับสนุนให้เกิดการจัดหาเนื้อเยื่อเพื่อการจัดตั้งธนาคารเนื้อเยื่อ เพื่อเป็นประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไป สามารถบริจาคได้ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสภากาชาดไทย ชื่อบัญชี “กองทุนสภากาชาดไทยเพื่อการบริจาค” เลขที่บัญชี 0452-88000-6 โดยระบุชื่อบัญชี “เงินฝากเพื่อพัฒนาอาจารย์ใหญ่เพื่อการศึกษาด้านการแพทย์ หมายเลขบัญชี 4300071.

ที่มา: ไทยโพสต์ 22 พฤษภาคม 2555

.

Related link:

ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย

อาคารเทิดพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺโน) ชั้น 5 ถนนอังรีดูนังต์ ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
โทร. 0-2256-4045-6   โทรสาร 0-2255-7968
E-mail : odc-trcs@redcross.or.th

http://www.organdonate.in.th

การเดินทาง

สายรถเมล์ที่ผ่าน ถ.พระรามที่ 4: สาย 4, 25 (ปากน้ำ-สามแยก), 46, 47, 50, 67, 109, ปอ.507, ปอ.177
สายรถเมล์ที่ผ่าน ถ.อังรีดูนังต์ : สาย 16, 21, 162, ปอ.141, ปอ.21

ไขความเข้าใจผิด ‘บริจาคดวงตา’

การบริจาคอวัยวะ คือ การให้ที่ยิ่งใหญ่ ปัจจุบันอวัยวะที่สามารถปลูกถ่ายให้กับผู้อื่นได้ ประกอบด้วย หัวใจ ตับ ปอด ไต และดวงตา กรณีที่ผู้บริจาคเสียชีวิตลง แพทย์จะผ่าตัดนำอวัยวะเหล่านั้นออกจากร่างกายแล้วเย็บตกแต่งรอยแผลให้เรียบร้อยก่อนส่งให้ญาตินำศพไปทำพิธีทางศาสนา

โดยเฉพาะการบริจาคดวงตา หลายคนเกรงว่า ศพจะดูน่ากลัวเมื่อไม่มีดวงตา ซึ่ง ‘พญ.สมพร จันทรา’ จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระจกตา โรงพยาบาลราชวิถี ไขความเข้าใจที่ถูกต้องว่า เมื่อผู้บริจาคเสียชีวิตลง แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญจะผ่าตัดนำดวงตาออกมาทั้งดวง จากนั้นจะตกแต่งเย็บบริเวณดวงตาให้สวยงาม ดูเหมือนคนกำลังนอนหลับ

ส่วนข้อสงสัยที่ว่า ผู้ที่มีปัญหาสายตา สามารถบริจาคดวงตาได้หรือไม่? พญ.สมพร แจงว่า บริจาคได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะสายตาสั้น ยาว เอียง เป็นต้อ เคยทำเลสิกมาก่อน ก็สามารถให้ได้ มีข้อจำกัดเพียงแค่ผู้ให้ต้องมีอายุ 2 ปีขึ้นไป แพทย์ต้องจัดเก็บหลังผู้บริจาคเสียชีวิตภายใน 6 ชั่วโมง

ตัวอย่างจากชีวิตจริงของ ‘นายวัฒศิลป์ จิ้นสุริวงษ์’ ป่วยโรคกระจกตาโป่งพองมาตั้งแต่เด็ก โรคนี้ทำให้สายตาสั้นและเอียงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดไม่สามารถหาแว่นสายตาหรือคอนแทคเลนส์ใส่ได้ อาการภาพเบลอของวัฒศิลป์ รุนแรงมากในช่วงอายุ 13 ปี ผ่านไป 2 ปี จึงได้รับบริจาคหนึ่งข้าง และเมื่อปีที่แล้วเพิ่งได้รับบริจาคอีกข้าง นับตั้งแต่ได้รับบริจาค วัฒศิลป์ สามารถใช้สายตาอ่านหนังสือเรียน และใช้ชีวิตได้อย่างปกติปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม การบริจาคดวงตาของผู้บริจาค 1 คน จะนำไปให้กับผู้รับบริจาค 2 คน หรือมากกว่านั้น ซึ่งส่วนใดของดวงตาสามารถนำไปให้กับผู้รับได้บ้าง พญ.สมพร เผยเพิ่มเติมไว้ในคลิปประกอบเรื่องราว

นอกจากนี้ ทรู คอร์ปอเรชั่น ร่วมกับศูนย์รับบริจาคอวัยวะและศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย ชวนคนไทยบริจาคอวัยวะและดวงตา ในโครงการ Let Them See Love 2555 ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 ปีนี้จัดในแนวคิด ‘THE ENDLESS GIVING การบริจาคอวัยวะ…การให้ที่ไม่สิ้นสุด’ เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ป่วยรอการปลูกถ่ายอวัยวะมากถึง 10,777 ราย แบ่งเป็นอวัยวะ 3,166 ราย และดวงตา 7,611 ราย

แต่ในปี 2554 ที่ผ่านมา ศูนย์รับบริจาคอวัยวะได้รับบริจาคเพียง 113 รายเท่านั้น และนำอวัยวะไปปลูกถ่ายช่วยชีวิตได้ 533 ราย ส่วนศูนย์ดวงตา มีผู้ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา 523 ราย ซึ่งยังมีผู้รอรับการบริจาคอยู่เป็นจำนวนมาก หากประสงค์อยากเป็นผู้ให้ที่ไม่สิ้นสุด สอบถามข้อมูลการบริจาคเพิ่มเติมที่

ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย โทร. 0-2256-4045-6 หรือ 1666 www.organdonate.in.th

ศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย โทร. 0-2256-4039-40 www.eyebankthai.com

ทีมเดลินิวส์ออนไลน์
takecareDD@gmail.com

ที่มา: เดลินิวส์ 15 มีนาคม 2555