โรคข้อและข้อสันหลังอักเสบ โดย น.พ.กิตติ โตเต็มโชคชัยการ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

โรคข้อและข้อสันหลังอักเสบ

 น.พ.กิตติ  โตเต็มโชคชัยการ
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์
โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ในทางการแพทย์  สิ่งที่น่าสงสารหรือน่าเสียดายประการหนึ่งคือ การเห็นคนหนุ่มสาวที่กำลังเติบโตมีอนาคตที่ก้าวหน้าสดใสเจริญรุ่งเรืองรออยู่  ต้องมาเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังหรือต้องพิการจากการเจ็บป่วย  ถ้าไม่นับความพิการที่เกิดจากการได้รับอุบัติเหตุต่าง ๆ  โรคข้ออักเสบเรื้อรังก็เป็นกลุ่มโรคหนึ่งที่ทำให้เกิดความพิการได้ในคนหนุ่มคนสาว  และในบรรดาโรคข้ออักเสบเรื้อรังที่มีอยู่หลาย ๆ โรค  มีอยู่กลุ่มโรคหนึ่งที่มีคนหนุ่มคนสาวจำนวนไม่น้อยที่โชคร้ายต้องมาป่วยเป็นโรคกลุ่มนี้  นั่นคือ กลุ่มโรคข้อและข้อสันหลังอักเสบ   ที่ภาษาทางการแพทย์เรียกว่ากลุ่มโรค “Spondyloarthropathy”   เหตุที่ผมอยากจะเขียนถึงกลุ่มโรคนี้ 

ประการแรกเนื่องจากตามสถิติแล้วมีคนที่ป่วยเป็นโรคข้ออักเสบในกลุ่มโรคนี้รวม ๆ กันประมาณร้อยละ 1-2 ของประชากร     นั่นหมายความว่าในประเทศไทยจะมีคนที่ป่วยเป็นโรคกลุ่มนี้ประมาณร่วมล้านคนได้   ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่น้อยเลย

ประการที่สองดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า  โรคนี้มักเกิดขึ้นกับคนหนุ่มคนสาวในช่วงวัยรุ่น  วัยเรียน  ถึงช่วงเริ่มทำงาน  ซึ่งคนเหล่านี้กำลังจะเป็นกำลังสำคัญของชาติบ้านเมืองในอนาคต   ทำให้ประเทศชาติต้องเสียกำลังคนที่สำคัญไปกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่ง 

ประการที่สาม  โรคกลุ่มนี้เป็นกลุ่มโรคที่มีอาการแสดงไม่เด่นชัดนักทำให้แพทย์ส่วนมากไม่ได้นึกถึงหรือไม่คุ้นเคย  ผู้ป่วยที่เป็นโรคกลุ่มนี้จึงมักจะไม่ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องตั้งแต่เนิ่น ๆ   ทำให้ได้รับการรักษาที่ถูกต้องล่าช้าไปจนบางรายได้รับความเจ็บป่วยทนทุกข์ทรมานเป็นระยะเวลานานหรือจนถึงขึ้นเกิดความพิการขึ้น 

ประการที่สี่   เนื่องจากความที่ความรุนแรงของโรคกลุ่มนี้แตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย  บางรายเป็นไม่รุนแรง  บางรายเป็นรุนแรง  แพทย์ที่ทำการรักษาจึงต้องมีประสบการณ์ในการรักษาพอสมควร  จึงจะปรับการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย  และติดตามการรักษาได้อย่างถูกต้อง    ประกอบกับการที่เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังจึงต้องมีการติดตามและปรับเปลี่ยนการรักษาให้เหมาะสมกับโรคต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน  ดังนั้นแพทย์ที่ให้การรักษาจึงควรเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาโรคข้อ เช่น แพทย์ในสาขารูมาโตโลจิส  เป็นต้น

 

กลุ่มโรคข้อและข้อสันหลังอักเสบคืออะไร

การที่เรียกโรคกลุ่มนี้ซึ่งประกอบด้วยโรคหลายโรคที่มีข้ออักเสบเรื้อรังว่าโรคข้อและข้อสันหลังอักเสบ  เนื่องจากเกือบทุกโรคในกลุ่มนี้จะมีลักษณะที่คล้ายกัน  คือมีข้ออักเสบของข้อบริเวณแขนขา  ซึ่งส่วนมากจะเป็นข้อบริเวณขา  เช่น  ข้อเข่า  ข้อเท้า  มีอาการปวดบวมของข้อ  ร่วมกับการอักเสบของข้อบริเวณกระดูกสันหลัง   ทำให้มีอาการปวดหลัง   แต่บางรายก็ไม่ปวด  โรคในกลุ่มนี้มีหลายโรค เช่น โรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบ (Ankylosing spondylitis)  ซึ่งจะมีข้อกระดูกสันหลังอักเสบเป็นหลักแต่ก็มีข้อของขาหรือแขนอักเสบร่วมด้วยได้,  โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน (Psoriatic arthritis)   ที่จะเกิดในผู้ป่วยที่เป็นโรคผิวหนังสะเก็ดเงิน (psoriasis) อยู่,  โรคข้ออักเสบรีแอคตีฟ (Reactive arthritis)  ที่เกิดมีการอักเสบของข้อต่าง ๆ หลังจากที่มีการติดเชื้อ, โรคข้ออักเสบที่เกิดร่วมกับลำไส้อักเสบ (Inflammatory bowel disease)  ซึ่งพบไม่บ่อยนักในบ้านเรา,  ถ้าลักษณะของโรคไม่เข้ากับโรคต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วก็จัดเป็นโรคข้อและข้อสันหลังอักเสบที่ยังแยกไม่ออก (undifferentiate spondyloarthropathy)  ซึ่งเป็นชนิดของโรคที่พบได้มากที่สุดในกลุ่มโรคนี้

 

ผู้ป่วยโรคข้อและข้อสันหลังอักเสบ จะมีอาการอย่างไร

ผู้ป่วยที่เข้าข่ายเป็นโรคในกลุ่มโรคข้อและข้อสันหลังอักเสบจะมีอาการดังนี้

  1. มีอาการปวดบวมข้อ  มักจะเป็นข้อเข่า หรือข้อเท้า  เป็น ๆ หาย ๆ  เป็นเวลานาน  มักจะเป็นข้อที่ไม่เกิดพร้อมกัน 2 ข้าง  เช่น บวมข้อเข่าซ้าย  แล้วมาปวดบวมข้อเท้าขวา  บางรายมีข้อบวมมาก มีน้ำในข้อปริมาณมากได้เนื่องจากการอักเสบ
  2. มีอาการปวดหลัง  มักจะปวดบริเวณกระดูกสันหลังส่วนล่าง ๆ แต่ถ้าเป็นมากอาจจะลุกลามขึ้นมาถึงกระดูกสันหลังส่วนบนหรือคอ  เมื่อเป็นนาน ๆ จะทำให้หลังแข็งหรือคอแข็ง  จะก้มตัวหรือขยับหันศีรษะได้ลำบาก
  3. มีเส้นเอ็นอักเสบ  มีอาการปวดบริเวณเส้นเอ็นของขาหรือเท้า เช่น เจ็บเอ็นร้อยหวายบริเวณส้นเท้าข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง  จะเจ็บมากขึ้นเวลาเดินหรือเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ  เวลาเดินจะเจ็บบริเวณส้นเท้า  เวลาตื่นนอนตอนเช้าลุกจากที่นอนลงมายืนจะเจ็บฝ่าเท้าบริเวณส้นเท้ามาก   แต่พอก้าวเดินไปเดินมากลับปวดน้อยลง
  4. ปวดหลังหรือปวดตามข้อเวลาอยู่นิ่ง ๆ หรือนั่งนิ่ง ๆ นาน ๆ  พอจะเริ่มขยับจะปวดแต่พอขยับตัวไปแล้วจะปวดน้อยลง   เวลาตื่นนอนตอนเช้ามีปวดข้อ  ข้อฝืดแข็ง  ขยับลำบาก  แต่ถ้าขยับตัวไปมาเรื่อย ๆ จะไม่ค่อยปวด
  5. อาจมีตาแดงตาอักเสบ  หรือทางเดินปัสสาวะอักเสบบ่อย ๆ ร่วมด้วยได้
  6. มีนิ้วมือหรือนิ้วเท้าปวดบวมอักเสบทั้งนิ้ว 1-2 นิ้ว  ทำให้นิ้วบวมโตคล้ายไส้กรอก

อาการที่กล่าวมานี้อาจเกิดขึ้นทีละอาการ หรือเกิดร่วมกันพร้อม ๆ กันได้  ถ้ามีอาการเหล่านี้ร่วมกับรอยโรคที่ผิวหนังเป็นโรคสะเก็ดเงิน ก็จัดเป็นโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน  ถ้ามีอาการดังกล่าวนี้เกิดขึ้นภายหลังการติดเชื้อ  เช่น  ท้องเดิน  ท้องเสีย หรือเจ็บคอ  ก็จัดเป็นโรคข้ออักเสบรีแอคติฟ เป็นต้น

 

จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นโรคกลุ่มโรคข้อและข้อสันหลังอักเสบ

ถ้าท่านมีอายุตั้งแต่เด็ก  วัยรุ่น  จนถึงวัยทำงานจนอายุประมาณ 40 ปี  ทั้งชายและหญิงแล้วมีอาการดังที่กล่าวมาแล้ว  มาเป็นระยะเวลาหนึ่ง เช่น 1-2 เดือน แล้วไปรับการรักษา กินยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น  ให้สงสัยว่าอาจจะเป็นโรคกลุ่มนี้  ควรรีบไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคข้อ  แพทย์จะทำการซักถามประวัติ และตรวจร่างกาย  โดยเฉพาะตรวจข้อและข้อกระดูกสันหลังดู  ถ้าสงสัยก็จะทำการถ่ายภาพรังสี (x-ray)   บริเวณกระดูกสันหลังส่วนล่างดู  บางครั้งท่านอาจไม่มีอาการปวดหลัง  แต่การวินิจฉัยโรคกลุ่มนี้อาศัยการดูภาพถ่ายรังสีว่ามีความผิดปกติที่เข้าได้กับโรคกลุ่มนี้หรือไม่  นอกจากนี้อาจมีการตรวจเลือด  เพื่อแยกโรคข้ออื่นที่อาจมีอาการคล้ายคลึงกัน เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์  โรค เอส แอล อี  นอกจากนี้ยังอาจตรวจดูลักษณะทางพันธุกรรมที่ทำให้มีแนวโน้มสูงที่จะเป็นโรคนี้ที่เรียกการตรวจ HLA-B27  ซึ่งถ้าให้ผลบวก ก็หมายความว่าท่านมีโอกาสเป็นโรคกลุ่มนี้สูง       ในขณะเดียวกันถ้าท่านมีบุตร  บุตรของท่านก็อาจได้รับถ่ายทอดพันธุกรรมอันนี้ทำให้มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้เช่นเดียวกัน

เนื่องจากโรคกลุ่มนี้ไม่มีการตรวจเลือดอะไรที่ระบุได้แน่ชัดว่าเป็นโรคกลุ่มนี้แน่   ดังนั้นจึงมีแพทย์จำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้คิดถึง  และไม่ได้ให้การวินิจฉัยโรคกลุ่มนี้  ทำให้ผู้ป่วยมักจะไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องตั้งแต่ระยะแรก ๆ  มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่เสียเวลาและเสียเงินทองในการรักษาอาการปวดข้อ  ข้ออักเสบไปมาก     กว่าจะมาได้รับการรักษาที่ถูกต้อง  ดังนั้นขอให้คิดถึงโรคกลุ่มนี้ซึ่งเป็นโรคกลุ่มที่พบได้บ่อย  และรีบไปรับการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคข้อ

 

โรคกลุ่มโรคข้อและข้อสันหลังอักเสบ   เกิดขึ้นได้อย่างไร

ในปัจจุบันนี้  ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า โรคกลุ่มนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร  แต่จากการศึกษาพอจะทราบคร่าว ๆ ว่า โรคกลุ่มนี้เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย  ประการที่สำคัญคือ ผู้ป่วยที่จะเป็นโรคนี้มักจะมีพันธุกรรมที่ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดเป็นโรคได้  เช่น มีพันธุกรรมชนิดที่เรียก HLA-B27 ซึ่งได้รับถ่ายทอดมาแต่พ่อ แม่ หรือปู่ ย่า ตา ยายของผู้ป่วย  แต่พ่อแม่ของผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเป็นโรคนี้  และการมีพันธุกรรมชนิดนี้ไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยเป็นโรคนี้เสมอ   ต้องมีปัจจัยภายนอกมากระตุ้นให้เกิดโรคซึ่งปัจจัยที่มากระตุ้นนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด  แต่มักจะเกี่ยวข้องกับการมีการติดเชื้อโรคบางอย่าง เช่น การติดเชื้อลำไส้อักเสบจากเชื้อแบคทีเรียบางชนิด  ทำให้มีอาการท้องเดินท้องเสีย  หรือการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ  หรือแม้กระทั่งหลอดลมอักเสบ  การติดเชื้อนี้ไม่เรื้อรังเมื่อได้รับการรักษาก็หาย  แต่การติดเชื้อครั้งนั้นดูเหมือนจะไปทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายผู้ป่วย  ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยเปลี่ยนไป  คล้ายกับจะมองว่าข้อหรือเส้นเอ็นของผู้ป่วยเองเป็นสิ่งแปลกปลอม  ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังกับข้อและเส้นเอ็นของผู้ป่วยจนเกิดเป็นโรคขึ้น  และมีอาการต่าง ๆ ดังที่กล่าวไปแล้ว  เหตุที่เกิดโรคนี้ในช่วงวัยรุ่นหรือวัยหนุ่มสาว  เพราะช่วงเวลานี้ของคนเราเป็นช่วงที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายคนเราแข็งแรงที่สุด  ดังนั้นการเกิดการอักเสบจากภูมิคุ้มกันก็รุนแรงที่สุดเช่นเดียวกัน

การรักษาโรคข้อและข้อสันหลังอักเสบ  ทำได้อย่างไร

เนื่องจากผู้ป่วยโรคข้อและข้อสันหลังอักเสบ  มีอาการปวดบวมข้อและเส้นเอ็นต่าง ๆ  อาการปวดนี้บางรายไม่รุนแรง  แต่บางรายก็ปวดรุนแรงมาก  และปวดเรื้อรังเป็นเวลานานจนได้รับความทุกข์ทรมาน  ดังนั้นการรักษาที่สำคัญประการแรกคือต้องได้รับยาต้านการอักเสบ  ซึ่งส่วนมากเป็นยาในกลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์  ที่มีประสิทธิภาพสูง  เช่นยา indomethacin  และอาจต้องใช้ต่อเนื่องกันไปเป็นระยะเวลาหนึ่ง  เนื่องจากผู้ป่วยส่วนมากเป็นคนอายุน้อย  ดังน้นผลข้างเคียงของยากลุ่มนี้ต่อผู้ป่วยอาจไม่มากนัก  แต่ก็ต้องใช้อย่างระมัดระวัง  ต่อมาเนื่องจากโรคกลุ่มนี้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิคุ้มกัน  ดังนั้นจึงต้องมียาที่จะปรับเปลี่ยนภูมิคุ้มกัน หรือปรับเปลี่ยนตัวโรค เช่น ยาซัลฟาซาลาซีน (sulfasalazine)  หรือยาเมโธรเทรกเซต (methotrexate)  ซึ่งต้องให้ต่อเนื่องกันไปเป็นระยะเวลานานเช่นเดียวกัน  ในปัจจุบันเนื่องจากมีผู้ป่วยที่มีการตอบสนองต่อยาปรับเปลี่ยนตัวโรคไม่ดีนัก  โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีข้อกระดูกสันหลังอักเสบ   จึงมีการนำยาในกลุ่มยาชีวภาพ (biologic agent) มาใช้รักษาโรคกลุ่มนี้โดยเฉพาะโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบ (Ankylosing spondylitis)  และโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงินอย่างได้ผล  เช่นยา กลุ่มยาต้านสาร tumor necrotic factor-TNF (anti-TNF)  ซึ่งออกฤทธิ์ต่อต้านสารจากระบบภูมิคุ้มกันที่ทำให้เกิดการอักเสบโดยตรง  ยากลุ่มนี้ถึงแม้จะมีประสิทธิภาพสูงมาก  และออกฤทธิ์เร็ว แต่เนื่องจากมีราคาแพงมาก  จึงมีการนำมาใช้ในบ้านเรา แต่ยังไม่แพร่หลายนัก

วิธีการรักษาโรคกลุ่มนี้ อีกประการหนึ่งที่สำคัญมากคือ  การทำกายภาพบำบัด  โดยเฉพาะการออกกำลังกาย เช่น การว่ายน้ำ  และการบริหารกล้ามเนื้อ  เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อหลังและข้อกระดูกสันหลัง  ป้องกันไม่ให้ข้อติดยึดและพิการ  การทำกายภาพบำบัดนี้ควรทำอย่างสม่ำเสมอ  และทำควบคู่กับการรักษาด้วยยาไปตลอดการรักษา  จะช่วยให้อาการของโรคดีขึ้น และอาจใช้ยาน้อยลงหรือสามารถหยุดยาได้เร็ว  นอกจากนี้สำหรับผู้ป่วยที่มีความพิการเกิดขึ้น  อาจมีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด เช่น ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก หรือผ่าตัดแก้ไขความพิการของกระดูกสันหลังที่จำเป็น

ข้อมูลจาก : ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

http://www.ra.mahidol.ac.th/dpt/MD/know11-air-04

1 thought on “โรคข้อและข้อสันหลังอักเสบ โดย น.พ.กิตติ โตเต็มโชคชัยการ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

  1. Pingback: โรคกระดูกสันหลังอักเสบยึดติด หรือ Ankylosing Spondylitis | ⊹⊱✿ What Ankylosing Spondylitis can't do ✿⊰⊹

Leave a comment