6 วิธีรับมือกับโรคผิวหนังอักเสบและภูมิแพ้

dailynews141122_01ในช่วงหน้าหนาว ปัญหาที่พบบ่อยคือการดูแลรักษาผิวหนัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผิวหนังที่เป็นโรคผื่นผิวหนังอักเสบ ด้วยการดูแลรักษาโรคผื่นผิวหนังอักเสบจะมีแนวทางการรักษาและปฏิบัติอย่างไรบ้าง มาร่วมติดตามกันได้เลย

หลักการดูแลรักษาโรคผื่นผิวหนังอักเสบที่สำคัญ มีดังนี้

1. หลีกเลี่ยงสาเหตุและปัจจัยทำให้โรคกำเริบมากขึ้น ได้แก่

  • สบู่ ควรใช้สบู่อ่อน ๆ หรือถ้าเป็นไปได้ไม่ควรใช้สบู่อาบน้ำทุกครั้งที่อาบน้ำ เพราะการใช้บ่อยเกินไปยิ่งทำให้ผิวแห้ง กระตุ้นให้ผื่นคันมากขึ้น
  • ผงซักฟอก เลือกชนิดระคายเคืองน้อย เช่น ผงซักฟอกสำหรับเสื้อผ้าเด็กทารก และควรซักล้างออกให้หมดด้วยการซักน้ำเปล่า
  • เสื้อผ้า เลือกใช้เสื้อผ้านุ่ม โปร่งสบาย ผ้าแพร ผ้าฝ้าย โดยหลีกเลี่ยงผ้าขนสัตว์
  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ทำให้เหงื่อออกมาก ๆ
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ ทั้งทางผิวหนัง สูดดมหรือรับประทาน
  • ลดความเครียด ความวิตกกังวล

2. ลดอาการคันและหลีกเลี่ยงการเกา ซึ่งการรับประทานยาต้านฮีสตามีนจะช่วยลดอาการคันได้บ้างและได้ผลดีสำหรับบางคนเท่านั้น จึงควรพิจารณาใช้เมื่อจำเป็น เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงจากยาและการใช้ยาโดยไม่จำเป็น นอกจากนี้ต้องลดการเกาผื่น เนื่องจากการเกาจะทำให้ผื่นผิวหนังที่อักเสบกำเริบหรือเห่อมากขึ้น

3. ป้องกันและรักษาผิวแห้งโดยการทามอยส์เจอไรเซอร์ หรือโลชั่น โดยควรทาหลังอาบน้ำภายใน 3-5 นาที หลังจากนั้นถ้าผิวยังแห้งมาก ควรทาเพิ่มเติม สามารถทาได้วันละหลาย ๆ ครั้ง

4. ยาทาสเตียรอยด์ มีฤทธิ์ลดการอักเสบของผื่นผิวหนัง แต่ควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ เพราะโรคกลุ่มนี้ต้องใช้ยาเป็นเวลานาน ซึ่งอาจมีผลข้างเคียงถ้าใช้ยาไม่ถูกต้อง

5. รักษาโรคแทรกซ้อน ถ้ามีตุ่มหนองบริเวณที่เป็นตุ่มหรือผื่นแดง แสดงว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ควรปรึกษาแพทย์ เพราะผู้ป่วยอาจต้องได้รับยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย

6. การรักษาอื่น ๆ เช่น การฉายแสงอัลตราไวโอเล็ต (UV) การรับประทานยากดภูมิคุ้มกัน ควรพิจารณาใช้ในรายที่เป็นรุนแรงมาก เป็นบริเวณกว้าง หรือไม่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีต่าง ๆ ข้างต้น โดยการใช้ยาในกลุ่มนี้ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

นอกจากนี้ เมื่อเป็นโรคผื่นผิวหนังอักเสบภูมิแพ้แล้วจะมีโอกาสหายขาดได้หรือไม่

ขออธิบายว่า โรคนี้มักเป็นเรื้อรัง ผื่นมักเป็น ๆ หาย ๆ ผู้ป่วยร้อยละ 60 จะเริ่มเป็นโรคก่อนอายุ 1 ปี มักมีอาการดีขึ้นเมื่อเด็กโตขึ้น ทั้งความรุนแรงและพื้นที่เกิดผื่น และอาการอาจจะดีขึ้นอีกเมื่ออายุ

10 ขวบ ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการจนกระทั่งเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ดังนั้นผู้ปกครองและผู้ป่วยจึงไม่ควรวิตกกังวล แต่ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์หรือปรึกษาแพทย์เมื่อมีปัญหา

เมื่อเรารู้สาเหตุและวิธีการรักษาและปฏิบัติเพื่อป้องกันโรคผื่นผิวหนังอักเสบภูมิแพ้แล้ว ก็ไม่ยากและสามารถนำไปปฏิบัติตามได้ หากมีปัญหาผิดปกติจากที่แพทย์แนะนำ ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางตามโรงพยาบาลใกล้ ๆ บ้าน.

ที่มา: เดลินิวส์ 22 พฤศจิกายน 2557

โรคหอบหืด

thairath140801_02aโรคหอบหืด ตอนที่ 1 : หืดป้องกันได้ ก่อนจะสายเกินแก้

พบบ่อยแค่ไหน ?  

โรคหอบหืด หรือ โรคหืด เป็นโรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่งที่พบบ่อยในเด็กและมีแนวโน้มจะพบมากขึ้นเรื่อยๆ ข้อมูลจากการสำรวจพบว่าเด็กไทยเป็นโรคหืดถึงร้อยละ 12 หรือประมาณ 3 ล้านคน ซึ่งมีสัดส่วนเป็นร้อยละ 5 ของประชากรทั่วไป โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 2–4 ต่อปี

สาเหตุของโรคคืออะไร ?  

โรคหืดเกิดจากการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม ทำให้หลอดลมไวต่อสิ่งกระตุ้น เกิดการหดเกร็งของหลอดลม มีการหลั่งมูกเพิ่มขึ้น และผนังหลอดลมบวม เป็นผลให้มีอาการของหลอดลมตีบแคบ ซึ่งอาการเหล่านี้อาจทุเลาได้เองหรือโดยการใช้ยา

สาเหตุสำคัญสุดคือ สารก่อภูมิแพ้ โดยพบว่าเด็กที่เป็นหอบหืดร้อยละ 80 เกิดจากภาวะภูมิแพ้ โดยเฉพาะในเด็กที่มีพันธุกรรมของโรคภูมิแพ้ในครอบครัว โดยสารก่อภูมิแพ้ที่พบบ่อยได้แก่ ไรฝุ่น แมลงสาบ สัตว์เลี้ยง ซึ่งเป็นสารก่อภูมิแพ้ในอาคาร/บ้านที่อยู่อาศัย ส่วนสารก่อภูมิแพ้ภายนอกบ้าน ได้แก่ ละอองเกสร หญ้า วัชพืช และเชื้อรา ซึ่งเชื้อรานี้พบได้ทั้งภายในและภายนอกบ้าน

นอกจากนี้ สารระคายเคืองทางเดินหายใจและมลพิษในสิ่งแวดล้อมก็มีบทบาทเสริมการกระตุ้นให้ผู้ป่วยเป็นโรคหืดได้ง่ายขึ้น ซึ่งสารระคายเคืองที่พบบ่อยได้แก่ ควันบุหรี่ ควันท่อไอเสีย และก๊าซ

ส่วนปัจจัยอื่นที่เป็นสาเหตุเสริมให้ผู้ป่วยโรคหืดมีอาการกำเริบเฉียบพลันคือ การติดเชื้อไวรัสในระบบหายใจ หรือการติดเชื้อแบคทีเรียในทางเดินหายใจส่วนบน เช่น ไซนัสอักเสบ ทอนซิลอักเสบ นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ก็มีส่วนทำให้โรคหืดกำเริบได้

โรคหืดมีอาการอย่างไร ?      

อาการสำคัญคือ ไอ หอบเหนื่อย หายใจลำบาก แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงวี้ด อาการมักเกิดเป็นพักๆ สลับกับช่วงไม่มีอาการ (เหมือนคนปกติ) โดยอาจเกิดอาการขณะออกกำลังกายหรือ ขณะนอนหลับกลางดึกก็ได้ จึงเป็นโรคที่ทรมาน ถ้าอาการรุนแรงและเกิดบ่อยๆ จะมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วยและผู้ดูแลเป็นอย่างมาก เมื่อสงสัยว่าจะเป็นโรคหืดจึงควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรค หาสาเหตุ ประเมินความรุนแรง และเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง หากผู้ป่วยไปพบแพทย์ได้ขณะกำลังมีอาการหอบหืด แพทย์อาจให้การวินิจฉัยโรคได้ไม่ยากโดยการตรวจร่างกาย ฟังเสียงหายใจผิดปกติในปอด และตรวจวัดสมรรถภาพปอด แต่ถ้าไปตรวจขณะไม่มีอาการอาจต้องอาศัยการตรวจพิเศษเพิ่มเติมมาช่วยยืนยันการวินิจฉัยโรค

โรคหืดรุนแรงถึงตาย…แต่ป้องกันได้        

ก่อนมีอาการรุนแรงจนอาจถึงแก่ชีวิต ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีสัญญาณอันตรายซึ่งตัวผู้ป่วยหรือญาติพึงสังเกตได้ ดังต่อไปนี้

  • มีประวัติการเป็นโรคหืดที่มีการจับหืดอย่างรุนแรงมาก่อน เช่น เคยรักษาตัวในห้องไอซียูเพราะหอบรุนแรง ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ หรือใช้เครื่องช่วยหายใจ เป็นต้น
  • มีประวัติการเข้าห้องฉุกเฉินเพราะมีอาการหอบมากในปีที่ผ่านมา
  • มีประวัติการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องจากหอบรุนแรง ต้องให้ออกซิเจนและยาขยายหลอดลม
  • เป็นผู้ป่วยที่เคยใช้ยาพ่นสูดเป็นประจำเพื่อควบคุมอาการของโรค หรือเพิ่งหยุดยาพ่นสูดมาไม่นาน
  • เป็นผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดรับประทานเป็นประจำ หรือเพิ่งหยุดยารับประทานมาไม่นาน
  • เป็นผู้ป่วยที่ไม่ค่อยยอมไปพบแพทย์ ชอบใช้ยาขยายหลอดลมเป็นประจำ และต้องใช้ยามากกว่า 1 หลอดต่อเดือน
  • เป็นผู้ป่วยหืดที่มีปัญหาทางสุขภาพจิตร่วมด้วย หรือเป็นผู้ที่เสพติดยา
  • เป็นผู้ป่วยที่ไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่ยอมใช้ยาที่แพทย์สั่งเป็นประจำ ชอบหยุดยาเองเพราะคิดว่าหายแล้ว
  • เป็นผู้ป่วยที่อยู่ในครอบครัวที่แตกแยก มีปัญหาครอบครัว ไม่มีคนดูแลเอาใจใส่

หากผู้ป่วยและคนใกล้ชิดหมั่นสังเกตปัจจัยทั้ง 9 ข้อดังกล่าว ให้ความสนใจและถามไถ่ปัญหาจากผู้ป่วย พร้อมให้คำแนะนำและช่วยเหลือให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี ผู้ป่วยก็จะสามารถใช้ชีวิตกับโรคหอบหืดได้อย่างมั่นใจ และจะได้ไม่มีใครเสียใจในภายหลัง.

รศ.นพ.สุวัฒน์ เบญจพลพิทักษ์
คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี

ที่มา : ไทยรัฐ 1 สิงหาคม 2557

thairath140801_02b

โรคหอบหืด ตอนที่ 2 หอบหืด…รักษาได้

หลักการรักษาที่เหมาะสม คือ การหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ และการใช้ยาควบคุมอาการ

1. หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้และสิ่งกระตุ้นเมื่อสังเกตว่าสารก่อภูมิแพ้หรือสิ่งกระตุ้นใดทําให้เกิดอาการหอบ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งนั้นๆ การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังโดยวิธีสะกิดหรือการตรวจเลือดหาระดับของ IgE อาจช่วยบอกชนิดของสารก่อภูมิแพ้ที่กระตุ้นให้ผู้ป่วยมีอาการได้

2. การรักษาด้วยยา ยาที่ใช้ในการรักษาโรคหืดปัจจุบันแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ

-ยาช่วยบรรเทาอาการ (Reliever) ได้แก่ ยาขยายหลอดลม มีทั้งชนิดพ่นสูด ชนิดรับประทาน และชนิดฉีด ใช้เพื่อขยายหลอดลมในขณะที่มีอาการหอบหืด เนื่องจากออกฤทธิ์ได้ ยาวนาน จึงสามารถใช้ควบคุมอาการได้ โดยใช้ร่วมกับยาสเตียรอยด์

– ยาควบคุมอาการ (Controller) มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ใช้ลดการอักเสบของหลอดลมเพื่อ ป้องกันไม่ให้เกิดอาการหอบขึ้นอีก ยาประเภทนี้ออกฤทธิ์ช้า จึงต้องใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ขนาดยาที่ใช้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ภายใต้คําแนะนําของแพทย์ ยาประเภทนี้แบ่ง เป็น 3 กลุ่มด้วยกัน คือ

1. ยาที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ คือ ยา Montelukast เป็นยารับประทานสําหรับเด็กและผู้ใหญ่ ที่เป็นโรคหืด โรคเยื่อบุจมูกอักเสบ และโรคภูมิแพ้ มีผลข้างเคียงน้อยแต่ราคายาค่อนข้างสูง

2. ยาสเตียรอยด์ มีหลายรูปแบบ ทั้งยาพ่นสูด ยารับประทาน และยาฉีด โดยยารับประทานและยาฉีดออกฤทธิ์ได้ดีและเร็ว แต่มีผลข้างเคียงต่อร่างกายเมื่อต้องใช้บ่อยๆ หรือใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ได้แก่ ยับยั้งการเจริญเติบโตของเด็ก ความดันโลหิตสูง น้ําตาลในเลือดสูง ภูมิต้านทานต่ำ ติดเชื้อง่าย และกระดูกพรุน จึงแนะนําให้ใช้ในระยะสั้น (ไม่เกิน 3–7 วัน) และใช้เมื่อ มีความจําเป็นเท่านั้น เช่น หอบหืดรุนแรง หอบเหนื่อยอย่างต่อเนื่อง หอบหืดเฉียบพลันรุนแรง เป็นต้น

สําหรับการควบคุมอาการที่ต้องใช้ยาเป็นประจําและต่อเนื่อง แนะนําให้ใช้ยาสเตียรอยด์ในรูปแบบของยาพ่นสูดจะเหมาะสมที่สุด เนื่องจากมีประสิทธิภาพดีและมีผลข้างเคียงน้อยมาก รูปแบบของยาพ่นสูดที่นิยมใช้โดยทั่วไป มี 2 แบบ คือ      

– ยาพ่นสูดชนิดที่ใช้แรงดันก๊าซ (Meter-DoseInhaler,MDI) เป็นรูปแบบที่นิยมใช้กันมานาน ควรใช้ร่วมกับกระบอกพ่นยาและหน้ากากทุกครั้ง เนื่องจากการพ่นเข้าปากโดยตรง ต้องอาศัยจังหวะและความคล่องของผู้ป่วย หากสูดหายใจผิดวิธี จะมียาเข้า สู่ปอดน้อยมาก อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยพ่นสูดด้วยวิธี MDI ได้ไม่ดี ก็สามารถเลือก วิธีการพ่นยาผ่านเครื่องพ่นฝอยละออง (Nebulizer) แทนได้ แต่มีข้อจํากัดคือต้องซื้อ เครื่องพ่นยา และยาชนิดที่ใช้กับเครื่องพ่นมีราคาค่อนข้างสูง

– ยาสูดแบบผง(DryPowderInhaler) เหมาะสําหรับเด็กโตอายุ 5–6 ขวบขึ้นไป เพราะต้องใช้แรงสูดที่แรงและเร็ว เพื่อดูดเอาผงยาเข้าไปในทางเดินหายใจและปอด

ข้อดีคือ เครื่องพ่นใช้ง่ายและพกพาสะดวก ไม่ต้องใช้ร่วมกับอุปกรณ์เสริมอื่นๆ แต่ ราคายาสูงกว่ายาพ่นสูดแบบ MDI

3. วัคซีนภูมิแพ้ หากผู้ป่วยโรคหืดที่มีสาเหตุจากภูมิแพ้ได้ทําการหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้และสิ่งกระตุ้น รวมไปถึงดูแลสุขภาพเป็นอย่างดีและใช้ยาเต็มที่แล้ว ก็ยังไม่สามารถควบคุมอาการได้ อาจพิจารณาการฉีดวัคซีนภูมิแพ้ร่วมด้วย โดยการใช้สารละลายที่ผสมสารก่อภูมิแพ้ นํามาฉีดหรืออม ใต้ลิ้นทุกสัปดาห์หรือทุกเดือน เริ่มจากขนาดยาน้อยๆ แล้วปรับความเข้มข้นให้มากขึ้น จนระบบ ภูมิคุ้มกันในตัวผู้ป่วยเปลี่ยนแปลงไป สามารถทนอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีสารก่อภูมิแพ้ได้ ระยะเวลา ในการรักษาด้วยวัคซีนภูมิแพ้ประมาณ 3–5 ปี แต่มีข้อจํากัดคือ ในขณะที่ฉีดหรืออมใต้ลิ้นอาจก่อ ให้เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง (Anaphylaxis) จึงต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงและความจําเป็นในการรักษาด้วยวิธีนี้ และต้องทําการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคภูมิแพ้เท่านั้น

โรคหืดรักษาหายหรือไม่

โรคหืดมีธรรมชาติของโรคที่หลากหลาย ผู้ป่วยประมาณร้อยละ 25 เป็นหอบหืดในวัยเด็กเท่านั้น เมื่อโตขึ้นก็ไม่มีอาการอีกเลย ส่วนเด็กที่มีอาการหอบหืดเนื่องจากติดเชื้อในทางเดินหายใจอีกร้อยละ 25 มีอาการตั้งแต่เด็กและป่วยต่อเนื่องจนเป็นผู้ใหญ่เนื่องจากหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ได้ยาก ที่เหลืออีกร้อยละ 50 จะมีอาการเป็นๆ หายๆ บางคนมีอาการปกติในช่วงวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ แต่พออายุมากขึ้น (ประมาณ 40 ปี) ก็กลับมามีอาการอีก

โรคหอบหืดเป็นโรคที่พบบ่อยในเด็กไทยและมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นในอนาคต ผู้ป่วยต้องทุกข์ทรมาน และมีคุณภาพชีวิตแย่ เป็นๆ หายๆ หรือต้องเข้า-ออกโรงพยาบาลบ่อยๆ หากมีอาการรุนแรงอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ไม่ควรซื้อหรือปรับขนาดยาเอง ควรมาพบแพทย์ ตามนัดเพื่อประเมินผลการรักษา ปรับขนาดและชนิดของยาให้เหมาะสม จะทําให้ผู้ป่วยโรคหืดสามารถใช้ชีวิตได้ ตามปกติและมีคุณภาพชีวิตที่ดีเช่นเดียวกับคนทั่วไป.

รศ.นพ.สุวัฒน์ เบญจพลพิทักษ์
คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี

ที่มา : ไทยรัฐ 8 สิงหาคม 2557

 

 

ขนสัตว์เข้าปอดคนได้จริงหรือ?

dailynews140720_01จากกรณีที่มีข่าวเด็กหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนชื่อดังใน อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง ติดเชื้อวัณโรคปอดอย่างรุนแรง  โดยมารดาของเด็กระบุว่า ลูกสาวชอบเล่นและคลุกคลีกับสุนัขนับ 10 ตัว และขนสุนัขได้เข้าไปลมหายใจของลูกสาวจนอาการกำเริบและเสียชีวิตนั้น  อาจทำให้คนรักสัตว์และคนที่คลุกคลีกับสัตว์ โดยเฉพาะสุนัข และแมว อาจจะไม่สบายใจ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์ระบบทางเดินหายใจ  กล่าวว่า  ไม่เป็นความจริง  เป็นไปไม่ได้ เพราะร่างกายมีระบบป้องกันสิ่งแปลกปลอม บริเวณจมูกมีทั้งขนจมูก และเมือกคอยจับเอาไว้ แม้จะเข้าไปในร่างกาย แต่ร่างกายก็สามารถที่จะไอขับออกมาได้

ทั้งนี้เคยส่องกล้องเข้าไปในปอดคนไข้นับพันคน ไม่เคยเห็นขนอะไร หรือ เส้นผมในปอด ที่เห็นสิ่งแปลกปลอม คือ เศษอาหาร  เศษหมูหยอง เมล็ดผลไม้ ซึ่งเกิดจากการสำลักเวลากลืนอาหาร โดยเฉพาะคนแก่ เห็นคนที่เอาปากคาบตะปูเอาไว้ เผลอพูดแล้วหลุดเข้าไปในหลอดลม  ต้องส่องกล้องและใช้คีมคีบออกมาที่ผ่านมาไม่เคยเห็นผม หรือขนสักเส้นหนึ่ง

ในต่างประเทศก็ไม่มีรายงานเรื่องนี้  แม้แต่คนต่างชาติเลี้ยงสุนัขเยอะมากก็ไม่เคยเห็นขนสุนัขในปอด ส่วนตัวอยู่ต่างประเทศเป็นสิบ ๆ ปีไม่เคยเห็นเลย เพราะอย่างที่บอกร่างกายของคนเรามีกลไกในการปกป้องตัวเอง ที่จะเข้าไปง่าย ๆ คือขน หรือผมของคน แต่ก็ไม่เคยเห็นเช่นกัน การเอกซเรย์ คอมพิวเตอร์ การฉายรังสีจะไม่สามารถมองเห็นขนหรือผมได้ จะต้องเอากล้องเข้าไปดูอย่างเดียว ดังนั้นคงต้องดูว่ารู้ได้อย่างไรว่ามีขนอยู่ในปอด  เพราะการจะรู้ได้ต้องใช้กล้องส่องเข้าไปดูเท่านั้น

ในเด็กกลไกการป้องกันจะแข็งแรงมาก กลไกร่างกายจะเข้มแข็งมาก ส่วนใหญ่คนแก่มักจะสำลักเวลากลืนอาหาร

ส่วนการติดเชื้อวัณโรคจากสุนัขก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะวัณโรคคนไม่ได้ติดจากสุนัข แต่ติดจากคนสู่คน/มีสัตว์บางชนิดที่มีวัณโรค เช่น ช้าง  เสือ ยีราฟ สมเสร็จ ซึ่งสัตว์เหล่านี้ติดวัณโรคจากคนเช่นกัน กรณีของแมวและสุนัข

อยากฝากว่าไม่มีอะไรน่ากลัว สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับคนเลี้ยงสุนัข และแมว คือ ภูมิแพ้มากกว่า ซึ่งเป็นการแพ้น้ำลายของสัตว์ เนื่องจากสุนัขและแมวจะเลียขนของตัวเอง ร่างกายคนเราจะแพ้น้ำลายที่ติดมากับขน เวลาไปสัมผัสจมูกจะเกิดอาการคัดจมูก มีอาการจาม ไอเรื้อรัง แต่คนที่ไม่แพ้ก็อยู่ได้ไม่มีปัญหาอะไร ไม่มีอะไรน่ากลัว

สรุปขนสัตว์ไม่ว่าจะเป็นขนสุนัข หรือแมว ไม่น่าจะหลุดเข้าไปในปอดของคนเราได้  ดังนั้นคนที่เลี้ยงสัตว์เหล่านี้ไม่ควรวิตกกังวลจนเกินเหตุ.

นวพรรษ บุญชาญ : รายงาน

 

ที่มา : เดลินิวส์ 20 กรกฎาคม 2557

กลยุทธ์รับมือ…โรคภูมิแพ้ผิวหนัง

bangkokbiznews140521_01ปัญหาคันๆ เกาๆ อาจเป็นเรื่องที่หลายคนพบเจออยู่บ่อยๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งอาจเกิดได้จะหลายสาเหตุ แต่ถ้ามีอาการคันที่ผิดปกติ เช่น คุณสาวๆ ที่มีอาการคันหูเพราะแพ้ตุ้มหูคู่สวยที่ซื้อมาใหม่จนติ่งหูแดงบวม มีน้ำเหลือง บางคนเป็นผื่นที่ท้องคันเนื่องจากแพ้กระดุมโลหะของกางเกง หรือหัวเข็มขัดโลหะ

บางคนคันเพราะแพ้สายนาฬิกาหนังจนเป็นผื่นที่ข้อมือ แพ้รองเท้าหนังก็มีผื่นที่หลังเท้ายังมีสารอื่นๆ อีกมากมายที่ทำให้แพ้ได้ เช่น ยาง ปูน พลาสติก ถ้าใครกำลังประสบปัญหาเหล่านี้ อย่าได้นิ่งนอนใจปล่อยทิ้งไว้ เพราะคุณอาจกำลังเผชิญกับ “โรคภูมิแพ้ผิวหนัง” อยู่ก็เป็นได้

ดร. พญ. พิมลพรรณ กฤติยรังสรรค์ ผู้อำนวยการศูนย์ผิวหนังและความงาม โรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า “ภูมิแพ้ผิวหนัง” เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากรุ่นปู่ย่าตายายสู่รุ่นพ่อแม่และลูกหลาน โดยโรคนี้เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆ ไวกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการแพ้ขึ้น

โรคภูมิแพ้ผิวหนังอาจเกิดร่วมกับโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ เช่น โรคหอบหืด แพ้อากาศ แพ้ฝุ่นจามบ่อย ซึ่งเป็นโรคในกลุ่มเดียวกัน แต่ละคนอาจมีความรุนแรงแตกต่างกัน บางคนอาจมีอาการเฉพาะทางผิวหนัง หรือบางคนอาจมีอาการทางเดินหายใจร่วมด้วย สำหรับเด็กที่เป็นโรคนี้จะมีอาการผิวแห้ง คันยุบยิบตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า แถมมีผื่นแดง ขึ้นตามบริเวณร่างกาย โดยเฉพาะข้อพับแขน ขา และคอ เวลามีเหงื่อออกจะคันมากขึ้น หากเป็นเรื้อรังผิวหนังจะหนาและมีรอยคล้ำ เด็กบางคนถ้าอายุมากขึ้นอาการจะดีขึ้น ผื่นอาจจะหายไปเหลือเพียงอาการผิวแห้งเท่านั้นแต่บางคนอาจเป็นไปจนถึงผู้ใหญ่

คนที่เป็นภูมิแพ้ผิวหนังมักจะแพ้แมลง ยุง มด มีอาการคันง่าย เมื่ออดเกาไม่ได้ ก็เป็นเหตุทำให้เกิดขาลายเรื้อรัง จึงควรป้องกันโดยทาน้ำยากันยุงหรือใส่กางเกงขายาวปกปิดเวลาออกไปเดินนอกบ้านในเวลากลางคืน ตัดเล็บให้สั้นเพื่อป้องกันการเกาจนเป็นแผลซึ่งจะนำไปสู่การติดเชื้อเป็นหนองได้ ควรดูแลโดยการใช้สบู่อ่อนๆ และไม่ใช้บ่อย ทาโลชั่นให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการระคายเคือง อาการจะบรรเทาไปเอง เพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ยังคงมีผื่นอักเสบอยู่ ในบริเวณที่หลีกเลี่ยงการระคายเคืองได้ยาก เช่น มือและเท้า มือจะแดงแห้งลอก ส้นเท้าแตกจนบางครั้งมีเลือดออกซิบๆ บริเวณที่มีเหงื่อออกมาก เช่น คอ ข้อพับแขน ขา หรือบริเวณที่เสียดสี เช่นเอว ใต้ราวนม รักแร้ ขาหนีบ จะเป็นผื่นและคล้ำได้ง่าย

“แม้โรคภูมิแพ้ไม่ใช่โรคติดต่อ แต่คนที่เป็นภูมิแพ้ผิวหนัง จะมีภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง มีอาการคันง่าย จึงมักเกาจนเป็นแผลที่ผิวหนังทำให้ติดเชื้อง่าย ถ้าติดเชื้อแบคทีเรียจะเป็นตุ่มหนอง ติดเชื้อไวรัสจะเป็นหูด และหูดข้าวสุกโดยเฉพาะในเด็ก ซึ่งหากมีการติดเชื้อเหล่านี้ เมื่อเด็กเล่นด้วยกันหรือว่ายน้ำในสระเดียวกันอาจติดต่อกันได้”

สำหรับการรักษาภูมิแพ้ผิวหนังขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ถ้าโรคอยู่ในระยะเฉียบพลัน มีตุ่มน้ำและน้ำเหลือง ควรใช้ผ้าพันแผลชุบน้ำเกลือที่สะอาดประคบแผลให้น้ำเหลืองแห้งก่อนจึงตามด้วยยาทา ยาที่ทาได้ผลเร็วคือยาทาสเตียรอยด์ แต่เมื่อผื่นหายแล้วต้องหยุดยา อย่าไปซื้อยาสเตียรอยด์มาทาเอง เพราะจะมีผลข้างเคียงในระยะยาว ถ้าเรื้อรังเป็นๆ หายๆ ควรใช้ยาที่ไม่มีสเตียรอยด์ทา และรับประทานยาแก้แพ้ หากอาการรุนแรงมากๆ แพทย์อาจพิจารณาให้ รับประทานยาสเตียรอยด์ หรือฉายแสงอัลตร้าไวโอเลตที่เรียกว่า Phototherapy ซึ่งจะช่วยระงับอาการคันทำให้ผื่นดีขึ้นและผลข้างเคียงน้อยกว่ารับประทานยาสเตียรอยด์

อย่างไรก็ตาม ดร. พญ. พิมลพรรณ แนะนำว่าคำตอบสำหรับการป้องกันโรคภูมิแพ้ผิวหนังนั้นก็คือ การรู้จักดูแลตนเองและปฏิบัติตนให้ถูกต้อง โดยการเลือกใช้สบู่อ่อนๆ ที่ให้ความชุ่มชื้น ไม่ระคายเคืองกับผิว อย่าเข้าใจผิดคิดว่าไม่สะอาด แล้วพยายามไปฟอกไปถูด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ซึ่งจะทำให้ระคายเคืองต่อผิวหนัง ทำให้คันและเป็นผื่น หลังอาบน้ำควรทาโลชั่น หรือครีมให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว

หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิแบบเฉียบพลัน เช่น อาบน้ำร้อนมาก หรือเปิดแอร์เย็นจัด อย่าใส่เสื้อผ้าที่รัดมากหรือเนื้อหยาบหนาหรือผ้าขนสัตว์ เพราะมักทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิว ที่ไหนมีฝุ่นมาก มีแมลงหรือยุงชุม ก็ควรหลีกเลี่ยง ควรออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อสร้างภูมิให้กับร่างกาย ภูมิแพ้ผิวหนังก็จะดีขึ้นเอง ถ้าหากไม่แน่ใจควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการทดสอบโดยวิธีทำ Patch Test จะได้ทราบสาเหตุสารที่แพ้ เพื่อป้องกันอาการลุกลามต่อไป

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ 21 พฤษภาคม 2557

โรคภูมิแพ้ในวัยทำงาน

thairath140117_001ในปัจจุบันหากไม่พูดถึงโรคภูมิแพ้คงจะดูเชย หลายคนสงสัยว่าโรคภูมิแพ้เกิดเฉพาะคนวัยทำงานหรือเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม ทั้งนี้ ทั้งสองความเชื่อมีส่วนถูกและไม่ถูกต้อง กล่าวคือ ในอดีตเชื่อว่าโรคภูมิแพ้มีปัจจัยจากพันธุกรรมเป็นหลัก หมายถึง หากพ่อแม่เป็นภูมิแพ้ โดยเฉพาะโรคหืด ลูกจะมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้มากกว่าคนอื่น อย่างไรก็ตาม พบว่าปัจจุบันสิ่งแวดล้อมก็มีส่วนสำคัญมากเช่นกัน โดยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่มีการพัฒนาตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์มารดา การที่มารดาสัมผัสควันบุหรี่หรือสัมผัสสารก่อภูมิแพ้บางอย่างในปริมาณมากๆ จึงอาจทำให้ลูกแพ้สิ่งนั้นๆ ได้ นอกจากนี้ สิ่งแวดล้อมในวัยเด็กโดยเฉพาะการเลี้ยงดูแบบสังคมเมือง ครอบครัวเชิงเดี่ยวและการใช้ยาปฏิชีวะอย่างแพร่หลาย ทำให้เชื้อแบคทีเรียในลำไส้ลดลง เด็กไม่ได้สัมผัสเชื้อโรคตามธรรมชาติ จึงมีผลให้การกระตุ้นภูมิคุ้มกันตามปกติลดลง รวมถึงค่านิยมการเลี้ยงสัตว์ในบ้าน เช่น แมว ซึ่งถือเป็นตัวก่อสารภูมิแพ้ที่สำคัญ มีผลให้ผู้คนเป็นโรคภูมิแพ้มากขึ้น

ประเภทของโรคภูมิแพ้และอาการของผู้ป่วย

ในช่วงสองปีแรกของเด็กที่เป็นภูมิแพ้ อาจแสดงอาการแพ้อาหารโดยเฉพาะนมวัวและไข่ รวมถึงอาการภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบ เนื่องมาจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายโดยเฉพาะทางเดินอาหารยังไม่สมบูรณ์และมีการสัมผัสสิ่งแวดล้อมที่จำกัดได้แก่ อาหาร และเชื้อไวรัส ต่อมาในวัยที่เริ่มเข้าโรงเรียน มีการทำกิจกรรม ทำให้สัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ในชั้นบรรยากาศมากขึ้น เช่น ไรฝุ่น แมลงสาบ เกสรดอกไม้ เชื้อรา รวมถึงมลพิษต่างๆ จึงเริ่มมีอาการทางระบบหายใจได้แก่ โรคหืด โรคภูมิแพ้โพรงจมูกและเยื่อบุตาอักเสบ ซึ่งอาการเหล่านี้อาจดีขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น แต่ในบางรายโรคภูมิแพ้อาจไม่ได้หายไป เมื่อผู้ป่วยต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีสารก่อภูมิแพ้มากขึ้น รวมถึงมลพิษจากควันบุหรี่ ท่อไอเสียความชื้นต่างๆ ก็อาจมีอาการกำเริบได้อีก

โรคภูมิแพ้ที่พบบ่อยในวัยทำงานได้แก่ โรคโพรงจมูกและเยื่อบุตาอักเสบจนถึงโรคหืด อาการของโรคได้แก่ อาการคันตามเยื่อบุจมูกและตา จาม น้ำมูกไหลและคัดจมูก ในรายที่มีอาการน้อยอาจมีอาการจามและน้ำมูกไหลเพียงบางครั้ง แต่เยื่อบุจมูกอาจอักเสบจนกลายเป็นอาการคัดจมูกเรื้อรัง มีผลทำให้เป็นไซนัสอักเสบได้ง่าย

นอกจากนี้ เวลาเป็นหวัดจะมีอาการปวดศีรษะ หูเอื้อง่าย หรือมีน้ำมูกจากโพรงจมูกตกลงหลังคอทำให้มีอาการไอหรือกระแอมบ่อย โดยเฉพาะตอนเช้าจนอาจจมูกตันต้องอ้าปากหายใจเป็นระยะ และอาจทำให้ริมฝีปากแห้ง ต้องเลียริมฝีปากบ่อยๆ อาการเหล่านี้แม้ไม่รุนแรงแต่หากเป็นต่อเนื่องอาจมีผลต่อการนอนหลับ ทำให้นอนไม่อิ่ม มีอาการง่วงกลางวัน สมาธิในการเรียนการทำงานลดลง บางรายที่มีอาการมากอาจทำให้เสียบุคลิกภาพ มีปัญหาในการเข้าสังคมและการทำกิจกรรมต่างๆ

หากมีอาการดังกล่าวและสันนิษฐานว่าเป็นอาการของโรคภูมิแพ้ ควรดูแลรักษาด้วยวิธีปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมเพื่อลดปริมาณสารก่อภูมิแพ้และลดการสัมผัสสารมลพิษควบคู่กับการใช้ยา สารก่อภูมิแพ้ที่เป็นสาเหตุภาวะโพรงจมูกอักเสบได้บ่อยในประเทศไทยได้แก่ ไรฝุ่น ซึ่งพบมากในหมอน ผ้าห่ม เตียง ผ้าม่าน พรม จนถึงหนังสือและของเล่นเก่าๆ ห้องที่ควรปรับเปลี่ยนเป็นอันดับแรกคือ ห้องนอน โดยควรเลือกใช้เตียงที่บุด้วยใยสังเคราะห์ หลีกเลี่ยงขนสัตว์ นำหมอนเน่าและตุ๊กตาเน่า พรมและหนังสือที่ไม่จำเป็นออกจากห้องนอน ควรซักล้างผ้าปูเตียง ปลอกหมอนและผ้าม่านอย่างสม่ำเสมอและให้อากาศภายในห้องถ่ายเท ไม่อับชื้น ส่วนมลพิษที่ควรหลีกเลี่ยงได้แก่ ควันบุหรี่ ควันจากท่อไอเสียและกลิ่นฉุน

ยารักษาที่แนะนำมีสองกลุ่มได้แก่ ยาฮีสตามีนแบบรับประทานและยาสเตียรอยด์แบบพ่นจมูก แบบแรกแนะนำให้ใช้ยารุ่นใหม่ ซึ่งไม่ทำให้ง่วง เพราะหากรับประทานยารุ่นเก่าติดต่อกันนานๆ จะมีผลต่อการรับรู้ของสมอง ทำให้สมาธิในการเรียนและการทำงานลดลง และอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุระหว่างการขับรถหรือการทำงานได้ ส่วนยาสเตียรอยด์แบบพ่นจมูก เป็นยาหลักในการรักษาโพรงจมูกอักเสบที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงและสามารถลดอาการของโพรงจมูกอักเสบได้ทุกอาการ

หากปฏิบัติดังกล่าวมาแล้วอาการไม่ดีขึ้น แนะนำให้พบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุอื่นของภาวะโพรงจมูกอักเสบ เช่น การติดเชื้อไซนัสอักเสบเรื้อรัง โพรงจมูกคด ติ่งเนื้อในจมูก ภาวะจมูกตันจากฮอร์โมนและการตั้งครรภ์ เยื่อบุจมูกแห้งจนถึงจมูกอักเสบไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งส่วนมากเกิดจากหลอดเลือดในเยื่อบุจมูกไวต่อสิ่งกระตุ้น รวมถึงอาจทดสอบหาสิ่งที่แพ้ เพื่อพิจารณาปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมให้ครอบคลุมขึ้น จนถึงพิจารณารักษาด้วยการฉีดวัคซีนภูมิแพ้ในรายที่แพ้ไรฝุ่นหรือเกสรดอกหญ้า

เมื่อทราบอย่างนี้แล้ว อย่าลืมตรวจเช็กว่าคุณมีอาการดังกล่าวหรือไม่ พร้อมทั้งสำรวจสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน โดยเฉพาะห้องนอนและที่ทำงานว่ามีสภาพเช่นไร แม้โรคภูมิแพ้โพรงจมูกอักเสบจะไม่มีอันตรายต่อชีวิต แต่สามารถรบกวนคุณภาพชีวิตและอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ไซนัสอักเสบเรื้อรัง และในรายที่มีอาการรุนแรงอาจพัฒนาเป็นโรคหืดได้ ซึ่งในกรณีนั้น ควรพบแพทย์เพื่อประเมินและติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากโรคหืดมีภาวะทุพพลภาพและมีโอกาสเสียชีวิตจากหืดกำเริบเฉียบพลันได้

พญ.ทิชา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์
หน่วยภูมิแพ้ อิมมูโนวิทยาและโรคข้อ
คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี

ที่มา: ไทยรัฐ 17 มกราคม 2557

‘โรคแพ้ตึก’ ภัยเงียบในอาคารลดสารพิษในอากาศป้องกันได้

dailynews140115_001ปัจจุบันการใช้ชีวิตของคนเมืองนิยมอาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียม อพาร์ตเมนต์ แฟลต ตึกแถว เพราะถูกจำกัดเนื้อที่ และยังต้องทำงานอยู่ในอาคารสำนักงาน ซึ่งไม่ว่าจะนอนหรือทำงานก็ต้องใช้เครื่องปรับอากาศตลอดเวลาไม่เคยได้สัมผัสหรือรับอากาศธรรมชาติ จนทำให้หลายคนเกิดอาการอ่อนเพลีย ระคายเคืองจมูก มีอาการภูมิแพ้ ซึ่งเราเรียกลักษณะอาการเหล่านี้ว่า โรคแพ้ตึก นั่นเอง

ผศ.ดร.นพ.จามร สมณะ อาจารย์ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยา ลัยมหิดล อธิบายว่า โรคภูมิแพ้มี 2 ลักษณะ คือ แพ้เพราะเป็นระบบภูมิคุ้มกันของเราเอง เช่น บางคนแพ้ไรฝุ่นก็จะมีอาการ แต่บางคนไม่แพ้ไรฝุ่นก็จะไม่เป็นอะไร ส่วนการแพ้สารเคมีทุกคนเป็นเหมือนกันหมดคือ จะมีอาการระคายเคือง เพราะไม่ใช่ปฏิกิริยาจากระบบภูมิคุ้มกัน แต่เป็นการทำลายเนื้อเยื่อ ซึ่งสารเคมีไประคายเคืองเนื้อเยื่อโดยตรง

ปัญหาเรื่องสารพิษหรือสารเคมีในอากาศ ถ้าเป็นคนในชนบทไม่ค่อยมีปัญหา แต่สำหรับคนในเมืองต้องเผชิญกับหลาย ๆ ปัญหา เนื่องจากวัสดุที่ใช้ทำตึกแทบทุกอย่างมันเกิดฝุ่นหรือเกิดไอระเหยได้อยู่แล้ว ส่วนมากเมื่อเข้าสู่ปอดแล้วไม่ดีต่อสุขภาพ โดยหลัก ๆ ที่พบมาก ได้แก่ ฝุ่นปูน ไอระเหยของตัวทำละลาย เช่น ตัวสี ตัวเคลือบ น้ำยาเคลือบหนัง และผงไม้จากการทำเฟอร์นิเจอร์ ฉนวนกันความร้อน ยิปซัม ใยแก้ว หรือฉนวนยิปซัมที่บุผนังยิ่งน่ากลัว

อย่างไรก็ตาม เมื่อก่อนมีใยหินด้วย เพราะเมืองไทยไม่ได้กวดขันเรื่องการใช้แร่ใยหินในวัสดุก่อสร้างที่อยู่ในส่วนภายในมากนัก บางทีเรายังพบว่ากระเบื้องมุงหลังคาก็ยังมีแร่ใยหิน ซึ่งแร่ใยหินและแร่ใยแก้วเมื่อสูดเข้าไปในปอดแล้วร่างกายกำจัดไม่ออกจะเกิดการอักเสบเรื้อรัง จนในที่สุดปอดเราจะกลายเป็นพังผืด ทำให้หายใจลำบากและอาการจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไม่สามารถรักษาได้ ส่วนระยะเวลาในการรับสารนั้นอยู่ประมาณ 5-10 ปี และสารระเหยจะทำให้เกิดอาการระคายเคือง ซึ่งอาการระคายเคืองมีแบบรู้ตัว คือโดนปุ๊บมีอาการทันที และระคายเคืองแบบไม่รู้ตัว เช่น ไม่ทราบว่าตัวเองเป็นอะไร ทุกวันมีน้ำมูกไหล น้ำตาไหล คอแดง เป็นหวัดง่าย และเป็นหวัดแล้วหายยาก

สำหรับอุปกรณ์ที่ติดตั้งในห้องก็มีสารพิษได้อีก อาทิ เครื่องพรินเตอร์ เครื่องถ่ายเอกสาร เนื่องจากจะมีผงหมึกออกมาได้ ซึ่งผงหมึกจะมีความละเอียดมากเมื่อเข้าปอดแล้วร่างกายมักกำจัดไม่ออกอาจจะมีอาการไม่เป็นมาก แต่ผงหมึกมันจะปล่อยก๊าซโอโซนออกมาด้วย ซึ่งโอโซนในที่นี้ไม่ใช่ดมแล้วบริสุทธิ์สดชื่น เป็นลักษณะเป็นเหมือนสารฟอกขาว เมื่อโดนโปรตีนในเยื่อบุร่างกายเราจะทำให้โปรตีนและไขมันถูกทำลายหมด

เฟอร์นิเจอร์บ้านก็เช่นกัน มีน้ำยาเคลือบหนัง แล็กเกอร์ที่ทาไม้ ฝุ่นขี้เลื่อยของเฟอร์นิเจอร์ไม้ กาวที่ใช้แปะเฟอร์นิ เจอร์ขึ้นมาซึ่งมีผลทั้งสิ้น และยิ่งบ้านไหนใช้วัตถุดิบจากใต้ดินลึก ๆ เช่น ใช้หินอ่อนแกรนิตเยอะ ๆ ซึ่งดูเหมือนเรียบร้อยดีไม่มีอะไร แต่พบว่าถ้าอยู่ในห้องอับจะมีเปอร์เซ็นต์ของก๊าซเรดอน (Radon) สูง ซึ่งเป็นก๊าซชนิดหนึ่งได้จากการสลายตัวของธาตุกัมมันตภาพรังสี ทำให้ตัวของมันมีกัมมันตภาพรังสีด้วย ปกติเป็นก๊าซที่หนักอยู่ในหินแร่ใต้โลก ปัจจุบันเรานำเอาหินอ่อนและหินแกรนิตมาประดับตึกกันมาก ทำให้มีการปล่อยก๊าซเรดอนพวกนี้ออกมาแต่น้อยมาก ซึ่งถ้าอยู่ในห้องอับ ๆ จะมีโอกาสได้รับมากขึ้นและเป็นสารก่อมะเร็ง

ต่อมาเป็นพวก หนังสือ หากเป็นหนังสือเก่า ๆ ไม่น่ามีปัญหา แต่ถ้าเป็นหนังสือใหม่ ๆ มักมีน้ำยาเคลือบสีปก ทำให้มีสารอะคริลาไมด์ (Acrylamide) ที่เป็นสารก่อมะเร็งและมีฤทธิ์ต่อระบบประสาทด้วย ปกติแล้วอะคริลาไมด์เป็นโพลิเมอร์ช่วยทำให้กระดาษมันเงา เวลาใส่ในกระดาษแล้วจะเหลือจางมาก ๆ ไม่รุนแรง ส่วนหนังสือพิมพ์ไม่ได้มีพิษมาก อาจจะมีกลิ่นน้ำมันของหมึก แต่ที่ต้องระวังคือ ตัวกระดาษถ้าฟอกไม่ดีจะมีสารฟอกขาวตกค้างทำให้เกิดการระคายเคืองได้

สารพิษทั้งหมดที่กล่าวมาเกิดจากทางเคมี นอกจากนี้ยังมีสารพิษจากทางชีวภาพอีก เช่น ห้องของเราถ้ามีซอกหรือหลืบเยอะจะเป็นที่เก็บฝุ่น และยิ่งใช้เครื่องปรับอากาศด้วยก็ยิ่งก่อสารพิษ เพราะเวลาที่เครื่องปรับอากาศพ่นไอเย็นออกมา เนื่องจากสภาพอากาศเมืองไทยชื้น ตรงไหนเป็นส่วนที่เย็นจะมีการควบแน่นเกิดหยดน้ำขึ้น ทำให้หยดน้ำไปคลุกกับฝุ่นและมีความชื้นเย็นเป็นประจำ จะทำให้มีรางอก ยีสต์งอก และไรฝุ่นเติบโตได้ดี เป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็น ทำให้มีผลต่อสุขภาพ สำหรับคนที่แพ้ หรือร่างกายแพ้ง่ายต่อสารเคมีอยู่แล้ว ถ้ามาเจอสารพิษพวกนี้เข้าไปอีกก็จะยิ่งแพ้และเป็นโรคภูมิแพ้ได้ง่าย ส่วนคนที่ไม่แพ้ก็ไม่มีผลเท่าใดนัก

 

ผลเสียของสารพิษต่าง ๆ ทำให้มีอาการหลัก ๆ คือ
1. เกิดการแพ้
2. เกิดการระคายเคือง
3. ก่อมะเร็ง และ
4. ถ้าเป็นเชื้อโรคสะสมนอกจากจะแพ้แล้วยังทำให้เกิดเป็นโรค เช่น โรคบางชนิดที่มากับเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในระบบความเย็น ทำให้เป็นโรคปอดบวม ปอดอักเสบ บางรายเป็นหนักถึงขั้นติดเชื้อในกระแสเลือดและเสียชีวิตได้ นอกจากนี้พวกเชื้อราที่อาศัยอยู่ในวัสดุก่อสร้างชื้น ถ้าสปอร์ตกลงไปในปอดอาจทำให้คนที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ๆ เช่น คนแก่ ผู้ป่วยโรคเบาหวานอาจมีราไปงอกในปอดได้

ฉะนั้นการสังเกตอาการเจ็บป่วยนับว่าสำคัญ ถ้าเรารู้สึกว่าไปบางสถานที่แล้วเกิดการระคายเคืองเป็นพิเศษก็สงสัยได้เลยว่าในห้องนั้นอาจจะมีสารพิษหรือสารที่ทำให้เกิดการแพ้มากระตุ้นให้เราเจ็บป่วย โดยทั่วไปอาการของการได้รับสารพิษแต่ละสารพิษจะแตกต่างกัน เช่น พวกโอโซน ดมแล้วกลิ่นจะเหม็นสาบ เปรี้ยว ถ้าโดนตาและจมูกจะแห้งและแสบ สารระเหย ดมเข้าไปจะทำให้น้ำมูก น้ำตาไหล คอแห้ง และถ้าสัมผัสโดยตรงจะทำให้เป็นผื่นแพ้ขึ้นมา แต่ถ้าเป็นอาการภูมิแพ้มีหลายแบบขึ้นอยู่กับแต่ละคน เช่น ถ้าอาการเล็กน้อยอาจมีแค่จาม น้ำมูกไหล คันตา แต่ถ้าเป็นมากจะมีอาการเป็นหอบหืด ไอมาก ส่วนถึงขั้นติดเชื้อในปอด ถ้าไม่มีอาการเป็นไข้สูงก็จะมาด้วยอาการเรื้อรัง ไอเป็นเลือด แต่ถ้าเป็นอาการแบบเรื้อรังนาน ๆ จนก่อมะเร็งไม่สามารถสังเกตได้จนกว่าจะมีอาการและตรวจพบ

 

การป้องกันในเมื่อมันขึ้นอยู่กับวัสดุก่อสร้างบางทีเราเปลี่ยนไม่ได้ แต่มีวิธีลดความรุนแรง เช่น หากมีความจำเป็นต้องอยู่ในห้องพยายามอย่าเปิดแอร์ทั้งวันทั้งคืน เพราะส่วนมากที่พบผู้ป่วยเป็นหวัดแล้วรักษาไม่หายหรือเป็นโรคภูมิแพ้จะแนะนำให้นอนแบบไม่ต้องเปิดแอร์ แต่เปิดหน้าต่างโล่ง ๆ ไม่ต้องห่มผ้าห่ม ถึงแม้จะรู้สึกว่าลมข้างนอกดูสกปรกเพราะมีฝุ่น แต่ลมแอร์ก็ดูดอากาศจากข้างนอกหรือในห้องหมุนไปมา ซึ่งอากาศข้างนอกมีข้อดีกว่าคือสามารถเจือจางและนำพาเชื้อโรคที่สะสมในห้องออกไปได้

หากใครที่อยู่ห้องเวลากลางวันสามารถเปิดแอร์ได้ถ้าอากาศร้อนมาก ส่วนกลางคืนอากาศเย็นเปิดพัดลมและหน้าต่างก็เพียงพอ ที่สำคัญควรทำความสะอาดห้องให้เรียบร้อยไม่เก็บอะไรที่เก็บสะสมฝุ่น โดยเฉพาะพวกอาหารและเครื่องดื่ม เพราะเป็นสิ่งสะสมเชื้อรา เอกสารหนังสือไม่ควรนำเข้ามากองในห้องมากเกินไป เครื่องปรับอากาศควรทำความสะอาดอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง พยายามปรับตัวให้อยู่ในสภาพอากาศอุณหภูมิธรรมชาติให้ได้ ปลูกต้นไม้ใหญ่ ๆ ไว้รอบบ้านเพื่อบังฝุ่นและแสงแดดทำให้ลดการใช้เครื่องปรับอากาศลง การเปิดหน้าต่างในห้องให้อากาศถ่ายเทเป็นสิ่งที่ง่ายและดีที่สุดทำให้ลดสารพิษได้ ถึงแม้จะมีปัญหาคือฝุ่นเยอะ แต่อย่างน้อยอากาศก็ได้ถ่ายเทและหมุนเวียน ส่วนในสำนักงานควรต้องเก็บข้าวของให้เรียบร้อยเพื่อสุขภาพโดยรวม

ส่วนใครที่กำลังมองหาห้องพักควรดูที่การตกแต่งก่อนเช่าหรือซื้อว่าห้องเพดานสูงเพียงพอหรือไม่  มีประตูหลังห้องระบายอากาศและห้องน้ำมีหน้าต่างระบายความชื้นหรือไม่ เพราะเชื้อโรคก่อตัวได้ดีในห้องน้ำชื้น ๆ แสงส่องไม่ถึง หรือการปูพรมในห้องก็ไม่ดีเพราะเป็นแหล่งสะสมฝุ่นและไรฝุ่นที่ดีมาก หรือการตกแต่งห้องควรใช้วอลเปเปอร์ผิวเรียบ อย่าใช้ที่เป็นซอกหรือหลุมมาก ๆ เพราะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคและสัตว์ที่ชอบความชื้นทั้งหลาย หากใครที่ซื้อไปแล้วได้ห้องที่อับก็หากิจกรรมนอกห้องทำให้มากขึ้น เช่น ออกไปฟิตเนส ออกกำลังกายกลางแจ้งบ้าง ไม่ควรหมกตัวอยู่ในห้องบ่อย ๆ และจัดเก็บห้องให้สะอาด โล่งโปร่งสบาย พยายามอย่าให้มีข้าวของรกรุงรังเป็นแหล่งสะสมฝุ่นและเชื้อโรค

สุดท้ายถึงแม้ว่าการก่อสร้างอาคารตึกจะยังไม่มีกฎหมายควบคุมหรือกฎข้อบังคับอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็อยากให้ผู้ก่อสร้างออกแบบให้ดีตั้งแต่ต้น โดยการคำนึงถึงเรื่องสุขภาพและการประหยัดพลังงานด้วย.

ทีมวาไรตี้

ที่มา: เดลินิวส์ 15 มกราคม 2557

รับมือโรคผิวหนังยอดฮิตในหน้าร้อน

dailynews130411_001หน้าร้อน นอกจากต้องระวังโรคลมแดด ไมเกรนกำเริบ ภาวะขาดน้ำ อันเนื่องมาจากอุณหภูมิที่เพิ่มสูงแล้ว ยังต้องระวังโรคผิวหนังบางชนิดที่มักเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ด้วย โดย ‘ผศ.พญ.สุวิรากร โอภาสวงศ์’ ประธานประชาสัมพันธ์สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย เผยถึงโรคผิวหนังยอดฮิตในหน้าร้อนว่า มีทั้งผดร้อน กลาก-เกลื้อน กลิ่นตัว สิว และภูมิแพ้

สำหรับผดร้อน คุณหมอสุวิรากร เล่าว่า เมื่ออุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น ต่อมเหงื่อทำงานหนักเพื่อปรับสมดุลความร้อนในร่างกาย หากเกิดอุดตัน ขับเหงื่อออกมาไม่ได้ จะทำให้เกิดผด ลักษณะเป็นตุ่มน้ำใสๆ เล็กๆ เรียงกัน มักขึ้นตามซอกข้อพับ หน้าอก หน้าผาก ส่วนมากจะพบในเด็ก เพราะต่อมเหงื่อยังพัฒนาไม่เต็มที่ เมื่อผดพวกนี้เกิดอักเสบจะเปลี่ยนเป็นสีแดง หากมีแบคทีเรียเข้าไปจะกลายเป็นตุ่มหนอง

ผดร้อนป้องกันได้ด้วยการใส่เสื้อผ้าโปร่งที่ระบายอากาศได้ดี หลังเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมที่เหงื่อออกเยอะ ไม่ควรทิ้งให้เหงื่อหมักหมมอยู่นาน และวันหนึ่งควรอาบน้ำมากกว่าสองครั้ง อย่าลืมดูแลที่นอน ปลอกหมอนให้สะอาด

ต่อมา กลาก-เกลื้อน เมื่อมีเหงื่อออกมาก ในบริเวณที่อับชื้น จะติดเชื้อเกิดเป็นกลากเกลื้อนได้ง่ายขึ้น และเมื่อเป็นแล้วครั้งหนึ่งก็อาจเป็นซ้ำได้อีก เพราะหมายความว่าลักษณะผิวหนังเหมาะที่จะทำให้เชื้อราเจริญเติบโตได้ง่าย ลักษณะของกลากจะเป็นวงแดงๆ คันๆ เกิดจากเชื้อรา มักพบตามขาหนีบ ก้น รักแร้ ง่ามเท้า ซอกนิ้วมือ มีชื่อเรียกต่างกันไปตามบริเวณที่ขึ้น เช่น ถ้าขึ้นที่ขาหนีบจะเรียกว่า สังคัง กลากบนหนังศีรษะเรียกว่า ชันนะตุ และถ้าเป็นทั้งตัวก็จะเรียกว่า  ขี้กลากหนุมาน  ส่วน เกลื้อน จะเกิดจากเชื้อยีสต์ มองเห็นเป็นจุดขาวๆ คันๆ มักพบในบริเวณที่เหงื่อออกเยอะ เช่น แผ่นหลัง

การป้องกันกลาก-เกลื้อน ควรเลี่ยงการอยู่ในอากาศที่ร้อนอบอ้าว ไม่สวมเสื้อผ้าหนาและคับ หลังการทำงานหรือเล่นกีฬาที่ทำให้มีเหงื่อออกมาก ควรรีบอาบน้ำฟอกสบู่ให้สะอาดแล้วเช็ดตัวให้แห้ง ใส่เสื้อผ้าซักสะอาด ตากให้แห้ง และเปลี่ยนเสื้อใหม่ทุกวัน

ปัญหากลิ่นตัว เกิดจากต่อมอะโพไครน์ (Apocrine) บริเวณรักแร้หลั่งสารชนิดหนึ่งออกมาเวลาร้อนๆ เมื่อสารนี้ทำปฏิกิริยากับเหงื่อและแบคทีเรียจะเกิดเป็นกลิ่นตัวขึ้น ยิ่งเหงื่อออกมาก กลิ่นตัวยิ่งแรง และแต่ละคนก็จะมีกลิ่นแตกต่างกันไป บางคนอาจกลิ่นแรงชนิดที่คนใกล้ๆ ได้กลิ่นก็แทบสลบเลยทีเดียว เคล็ดลับแก้กลิ่นตัว เพียงรักษาความสะอาดโดยเฉพาะบริเวณรักแร้ แนะใช้พวกสารระงับกลิ่นกายหรือสารส้ม พอช่วงกลางวันหากกลิ่นตัวแรงขึ้น ลองใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำสะอาดหยดโคโลญเล็กน้อยเช็ดใต้วงแขน

ส่วนเรื่องของสิว แม้ต่อมเหงื่อกับต่อมไขมันเป็นคนละต่อมกัน แต่เมื่อเหงื่อออกเยอะๆ ความมัน ก็เลยกระจายไปทั่วใบหน้า เกิดความรู้สึกว่าหน้ามันไหลเยิ้ม บางคนก็ชอบเอามือไปจับ เกิดความสกปรก จึงทำให้เกิดการอักเสบเป็นสิวขึ้นได้ หลักป้องกัน คือ ไม่ควรใช้มือที่ไม่สะอาดสัมผัสใบหน้า เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่าเป็น non-comedogenic คือ รับรองว่าไม่ทำให้เกิดสิว และ oil-free ที่สำคัญอย่าลืมล้างเครื่องสำอางให้สะอาดก่อนเข้านอน

สุดท้าย โรคภูมิแพ้ ในช่วงหน้าร้อน สาวๆ ที่ชอบสวมเครื่องประดับประเภทโลหะ ไม่ว่าจะเป็นต่างหู สร้อยคอ สร้อยข้อมือเมื่อเหงื่อออกมากๆ ก็อาจจะทำให้นิกเกิลละลายออกมาทำปฏิกิริยากับผิวหนังจนเกิดผื่นผิวหนังอักเสบในบริเวณที่สัมผัสกับโลหะได้ รวมถึงกลุ่มที่เป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนัง (อโทปิก : Atopic) ความชื้นจากเหงื่อก็จะไปกระตุ้นให้คันมากขึ้นได้ ทางป้องกันที่ดี คือ งดใส่เครื่องประดับที่มีส่วนผสมของนิกเกิล เลือกใช้พวกที่เป็นเงินแท้หรือทองคำแท้แทน

นอกจากนี้ ผศ.พญ.สุวิรากร ยังแนะเพิ่มเติมด้วยว่า เพื่อคงความสดใสของผิวพรรณในช่วงหน้าร้อน ควรดื่มน้ำเยอะๆ ทดแทนน้ำที่ร่างกายสูญเสียไป และรับสารแอนตี้ออกซิแดนท์จากการทานผักผลไม้สดให้มากๆ ทาแป้งเด็กในบริเวณที่มีการเสียดสีหรือเหงื่อออกเยอะๆ จนอับชื้น ส่วนผู้ที่มีแผนจะไปเล่นสาดน้ำคลายร้อน ควรระวังเรื่องน้ำที่ใช้เล่น อาจไม่สะอาด มีการเจือปนของพยาธิและเชื้อโรคต่างๆ รวมถึงการใช้สีอันตรายมาผสมแป้งหรือดินสอพองเล่นกันซึ่งเหล่านี้อาจทำให้เกิดโรคและอาการแพ้ได้ จึงไม่ควรปล่อยทิ้งไว้บนร่างกายนานๆ ควรรีบล้างทำความสะอาดให้เร็วที่สุด.

ทีมเดลินิวส์ออนไลน์
takecareDD@gmail.com 

ที่มา: เดลินิวส์  11 เมษายน 2556

ครบเครื่องเรื่องสุขภาพ” ตอน ภูมิแพ้(อากาศ) โดย ผศ.นพ.กิตติ โตเต็มโชคชัยการ

คลิปวิดีโอ โพสต์โดย PReMAOnline 1 สิงหาคม 2555

สุขภาพดีกับพรีม่า ช่วง “ครบเครื่องเรื่องสุขภาพ” ตอน ภูมิแพ้ (อากาศ)
โดย ผศ.นพ.กิตติ โตเต็มโชคชัยการ
หน่วยโรคภูมิแพ้อิมมูโนวิทยาและโรคข้อ
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์
โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

เจ็ดโรคหลักที่มักทำแก่ (เร็ว) โดย นพ. กฤษดา ศิรามพุช

เลขเจ็ดเป็นตัวเลขสำคัญที่เด่นมากในประวัติศาสตร์โลก ลองดูอย่าง สัปดาห์หนึ่งมีเจ็ดวัน พระเจดีย์ในวัดมีเจ็ดยอด และยังมีอีกหลายต่อหลายเรื่องที่เข้าด้วย “เจ็ด” รวมถึงโรคภัยไข้เจ็ด เอ๊ย..เจ็บ

ฟังดูก็น่าคิดอยู่ไม่น้อยเพราะทุกวันนี้รอบข้างกายก็มีอันตรายทำลายสุขภาพเยอะพออยู่แล้ว มารู้ทันโรคแล้ว จะได้แก้ก่อนดีกว่าครับ

1. ไทรอยด์ขี้เกียจ การที่ต่อมนี้ทำงานด้อยลง ทำให้มีอาการแก่โดยเฉพาะ รับประทานน้อยน้ำหนักขึ้นง่าย เหนื่อยง่าย ง่วงเก่ง อารมณ์หงุดหงิด ประจำเดือนผิดปกติ ท้องอืดน่ารำคาญ รวมความแล้ว “อาการหมดไฟ” ที่เกิดขึ้นสามารถถูกเลียนแบบได้จากไทรอยด์ที่ขี้เกียจทำงานได้สบายๆ ครับ

2. ไทรอยด์เป็นพิษ ในทางตรงข้ามถ้าถามว่าไทรอยด์ทำงานดีเกินไปล่ะเป็นอย่างไร ก็บอกได้เลยว่าทำให้แก่ได้ไม่แพ้กันครับเป็นอาการแก่แบบโทรมมะนัง ตัวผอมแกร็น ตาโปนหงุดหงิดง่าย ใจสั่น น้ำหนักลด นี่ยังเบาะๆ เมื่อเทียบกับว่าทำให้หัวใจวายได้

3. ความดันโลหิตสูง ดูเป็นโรคขำๆ ตามวัยไม่น่ากลัวเหมือนมะเร็งนะครับ แต่ขอบอกว่า “น่ากลัวได้โล่” อย่างแรงครับ เพราะความดันที่สูงจะค่อยทำให้อวัยวะสำคัญเสื่อมง่อยไปอย่างไม่รู้ตัว หลอดเลือดสมองก็แย่ หัวใจก็โตแผ่ออกไป เกิดความตายปุบปับจากอัมพาตและหัวใจวายได้ง่ายๆ

4. เบาหวาน อาการสำคัญที่มักผุดขึ้นในหัว คือ ปัสสาวะออกมาแล้วมีมดตอม เป็นคนรูปร่างเจ้าเนื้อ ทั้งที่จริงแล้วเบาหวานทำให้เกิดอาการ “ผอมโทรม” ในผิวหนังบางส่วนเปื่อยเน่าง่าย กลายเป็นคนไม่ครบไปโดยเฉพาะตรงนิ้วมือนิ้วเท้าที่เป็นเป้านิ่งถูกเบาหวานกัดกิน ท่านที่ชินกับอาการเบาหวานขออย่าลืมตรวจ “ตา” กับ “ไต” ด้วย การช่วยรับประทานยาให้ครบเป็นทางป้องกันแก่ที่ดีสุดครับ

5. ภูมิแพ้ แค่จามฟุดฟิดหรือชีวิตติดผื่นแดงหน่อยๆ จะเป็นอะไรมาก หากคิดถึงภูมิแพ้แต่เพียงน้อยมันก็มักจะไม่หายสักทีครับ เพราะมันเป็นโรคระดับ “ทั้งตัว” น่ากลัวไม่แพ้โรคอื่นๆ ที่อัพสเกลเข้าไปทำลายระบบต่างๆ ของร่างกาย ยกตัวอย่างง่าย จมูกที่อักเสบบ่อยก็นำไปสู่ไซนัสอักเสบเรื้อรังนั่งปวดหัว และผิวที่บางจากสเตียรอยด์ทาผิวก็ทำให้ดูแก่ก่อนวัยได้ครับ

6. โรคตับ ใครจะว่าใครจนปวดตับ แต่ความลับของตับก็คือมันสำคัญมากพอกับสมองและหัวใจที่เต้นกระดุ๊บอยู่ในอกครับ คนเราที่พกตับมาครบตั้งแต่เกิดเมื่อผ่านเวลานานไปอาจมี “ตับโต” ได้ในกรณีของติดเชื้อไวรัส ไขมันจุกตับ ตับแข็งหรือมีก้อนเนื้อมะเร็งงอกขึ้น เพราะตับเป็นส่วนช่วยจับสารพิษ ชีวิตที่ตับไม่ปลื้มนั้นเป็นชีวิตที่สะสมพิษอย่างแน่แท้ ความแก่ก็จะมาเยือนอย่างไม่ต้องสงสัย ทั้งตัวผอม ท้องมาน มีอาการผิวเหลืองตาเหลืองแบบดีซ่าน ดูผ่านๆ ก็มากกว่าวัยแล้ว

7. โรคหัวใจ อย่างสุดท้ายเพราะใครๆ ก็มักทราบกันดีจึงมีวิธีป้องกันอยู่เยอะ แต่ก็ประมาทไม่ได้เลยครับเพราะอาการ “ดับ” ของหัวใจจะมาเยือนได้แบบไม่ตั้งตัว สัญญาณโรคหัวใจกับสัญญาณแก่ใกล้กันมากครับ เหนื่อยง่าย หน้ามืด เจ็บอก น้ำหนักตัวลด ขาบวมน้ำ ย้ำว่าท่านที่มีอาการเข้าวัยทองต้องตรวจไว้ก่อนอย่านอนใจว่าเป็นความแก่ตามวัยครับ

ความปรารถนาแรกของการนำโรคทั้งเจ็ดมาเล่าให้ท่านฟังก็เนื่องมาจากการไปบรรยายตามที่ต่างๆ แล้วมีผู้ใหญ่หลายท่านกรุณาถามว่าอาการเหน็ดเหนื่อยหมดไฟหัวใจเฉาทั้งหลายนี่มันคืออาการแก่ใช่ไหม ก็เลยให้วิสัชนาท่านไปด้วยความห่วงใยว่า “ไม่เสมอไป” ครับ

ถ้ายังไม่ได้ตรวจโรคต่างๆ ที่ว่ามาทั้งเจ็ดนี้ ที่ผมพบบ่อยเวลาตรวจคนไข้คือเรื่อง “ไทรอยด์ขี้เกียจ (Low function thyroid, Hypothyroid)” คือ ไทรอยด์ทำงานน้อยก็ทำให้มีอาการไม่สดชื่นเงื่องหงอยไม่สบายตัวได้

ต่อไปให้รู้ว่า “อย่าเชื่ออาการแก่” เสมอไปครับ

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ 19 สิงหาคม 2555

เปลี่ยนภัยภูมิแพ้ ให้เป็นมิตรกับลูกรัก

“ภูมิแพ้” เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่สร้างความกังวลใจให้กับคุณพ่อคุณแม่ เพราะผลกระทบอาจมากกว่าแค่สุขภาพของลูก แต่อาจส่งผลไปถึงโอกาสในการเรียนรู้ ที่ถูกจำกัดด้วยเจ้าสิ่งที่เรียกว่า “ภูมิแพ้”

แพทย์หญิงมณินทร วรรณรัตน์ อายุรแพทย์ระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า ก่อนจะกล่าวถึงรายละเอียดเกี่ยวกับภูมิแพ้ ควรทำความเข้าใจก่อนว่า ระบบภูมิคุ้มกันทำงานอย่างไร

ปกติเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมหรือแอนติเจนเข้าสู่ร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะพยายามกำจัดสิ่งแปลกปลอมให้หมดไป โดยขั้นตอนแรกจะเป็นการตอบสนองของภูมิคุ้มกันแบบไม่จำเพาะ (Non-specific immune response) เป็นปราการด่านแรกในการกำจัดเชื้อโรค โดยมีกลไกการกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกายแบบไม่จำเพาะเจาะจง มีความสามารถในการป้องกัน หรือทำลายเชื้อจุลินทรีย์ หรือสิ่งแปลกปลอมไม่สูงนัก อาจกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น

ถ้าระบบภูมิคุ้มกันแบบไม่จำเพาะกำจัดสิ่งแปลกปลอมไม่หมด ร่างกายจะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะ (Specific immune response) ขึ้นมาต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอมนั้น ซึ่งเป็นกลไกการกำจัดสิ่งแปลกปลอมหรือแอนติเจนต่างๆ ในร่างกาย ที่มีความจำเพาะต่อแอนติเจนแต่ละชนิด ได้แก่ จุลินทรีย์ สารพิษ และโมเลกุลของสารต่างๆ ภายนอกร่างกาย รวมถึงเซลล์หรือสิ่งที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติในร่างกายด้วย ส่วนใหญ่แอนติเจนจะถูกกำจัดได้หมดและทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันโรค  แต่ในกรณีที่แอนติเจนยังคงอยู่ ระบบภูมิคุ้มกันยังถูกกระตุ้นตลอดเวลา จะก่อให้เกิดอันตรายต่อเนื้อเยื่อและอวัยวะของร่างกาย การตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันที่มีผลเสียต่อร่างกายแบบนี้ เรียกว่า ภาวะภูมิไวเกิน (Hypersensitivity) หรือภูมิแพ้ (Allergy)

แพทย์หญิงมณินทร กล่าวถึงภาวะภูมิแพ้ว่า คือโรคที่เกิดขึ้นกับผู้ที่มีอาการไวผิดปกติต่อสารก่อภูมิแพ้ (Allergen) ซึ่งธรรมชาติสารเหล่านี้อาจไม่ก่อให้เกิดภูมิแพ้กับคนปกติทั่วไป โรคภูมิแพ้ในเด็กพบบ่อยในช่วงอายุ 5-15 ปี มากกว่าร้อยละ 80 ของผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ มีอาการก่อนอายุ 20 ปี โรคภูมิแพ้ส่วนหนึ่งถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ ถ้าพบว่าบิดาหรือมารดาเป็นโรคภูมิแพ้ ลูกมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้สูงถึงร้อยละ 25- 50 และถ้าทั้งบิดาและมารดาเป็นโรคภูมิแพ้ ลูกมีโอกาสเป็นเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 70 และมักจะมีอาการเร็ว

อวัยวะที่ก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้

โรคภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจ

โรคภูมิแพ้อากาศ เมื่อร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้จะมีปฏิกิริยาตอบสนองไวเกิน โดยสารอิมมูโนโกลบูลินอี (IgE) ซึ่งเป็นสารภูมิต้านทานชนิดหนึ่ง ที่ถูกสร้างขึ้นมาจะเข้าทำปฏิกิริยากับสารก่อภูมิแพ้ที่หายใจเข้าไป เป็นผลให้เซลล์บางชนิดในจมูก มีการแตกตัวและหลั่งสารเคมีออกมา ทำให้เกิดการอักเสบ คัดจมูก มีน้ำมูกไหล คันจมูก

โรคหืด สิ่งกระตุ้นจะลงไปที่หลอดลม ทำให้เกิดหลอดลมตีบ หอบ หายใจเร็ว มีเสียงหวีดในปอด

โรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง เกิดผื่นคัน น้ำเหลืองเสีย

โรคภูมิแพ้ระบบทางเดินอาหาร ทำให้ท้องเสีย อาเจียน ถ่ายเป็นเลือด อาจทำให้เกิดอาการร่วมกับระบบอื่นๆ ได้ เช่น ลมพิษ หน้าตาบวม

โรคภูมิแพ้ทางตา ทำให้เกิดอาการแสบตา คันตา ตาบวม น้ำตาไหล

สารก่อภูมิแพ้ที่มักพบบ่อยๆ ได้แก่

สารก่อภูมิแพ้ในบ้าน เช่น ฝุ่น ไร แมลงสาบ รังแคหรือขนสัตว์ เชื้อราในอากาศ ควันบุหรี่

สารก่อภูมิแพ้นอกบ้าน เช่น ละอองหญ้า เกสรดอกไม้ ฝุ่นละออง ควันรถ ก๊าซพิษ แมลง

ปัจจัยอื่นๆ เช่น ยาปฏิชีวนะ อาหารบางชนิด เช่น อาหารทะเล ไข่ขาว นมวัวและแป้งสาลี ทารกที่ได้รับนมแม่เป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน พบว่ามีโอกาสเกิดโรคภูมิแพ้น้อยลง ทารกที่ได้รับอาหารเสริมตั้งแต่อายุ 4 เดือนมีโอกาสเกิดโรคภูมิแพ้มากกว่าทารกที่ไม่ได้รับอาหารเสริมถึง 3 เท่า

การทดสอบโรคภูมิแพ้สามารถทำได้ 2 วิธี

การทดสอบในร่างกาย
การทดสอบทางผิวหนัง (skin test) โดยนำเอาน้ำสกัดของสารก่อภูมิแพ้มาหยดลงบนผิวหนังบริเวณท้องแขนหรือหลัง ใช้ปลายเข็มกดลงบนผิวหนังเพื่อให้น้ำยาซึมซับลงไป ทิ้งไว้ประมาณ 20 นาที ผู้ป่วยที่แพ้จะมีรอยนูนคล้ายตุ่มยุงกัด

ทดสอบโดยการท้าทาย ( Challenge test) โดยนำสารก่อภูมิแพ้ปริมาณเล็กน้อยตามที่คำนวณได้ มาทดสอบโดยการรับประทาน ฉีด หรือทา แล้วค่อยๆ เพิ่มปริมาณ แต่ต้องทำในโรงพยาบาล และเฝ้าติดตามอาการอย่างใกล้ชิด

การทดสอบนอกร่างกาย เช่น การเจาะเลือดไปตรวจ ใช้ในกรณีที่ไม่สามารถหยุดยาได้

เปลี่ยนภัยภูมิแพ้  ให้เป็นมิตรกับลูกรัก

1. หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้  เช่น งดใช้พรม ไม่สะสมหนังสือ ของเล่น ตุ๊กตาที่มีขนในห้องนอน ไม่ควรใช้เครื่องนอนที่ทำจากนุ่น และหมั่นทำความสะอาดเป็นประจำด้วยน้ำร้อน 60 องศา นาน 15-20 นาที ทำความสะอาดครื่องปรับอากาศเป็นประจำ เพื่อฆ่าตัวไรฝุ่นและตากแดดให้แห้ง งดการสูบบุหรี่ในบ้าน ไม่ควรใช้แป้งฝุ่น สเปรย์ปรับอากาศ และยาจุดกันยุง ไม่ควรเลี้ยงสัตว์มีขนในบ้าน เช่น แมว สุนัข กำจัดขยะและเศษอาหารต่างๆ ควรมีฝาปิดมิดชิดเพื่อป้องกันแมลงสาบ เป็นต้น

2. ครอบครัวที่ทารกมีโอกาสเกิดภูมิแพ้ ควรส่งเสริมให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน

3. ส่งเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกาย ด้วยการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอนาน 30 นาที 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์

4. การใช้ยาและการฉีดสารภูมิแพ้ Immunotherapy (desensitization)

ภาวะภูมิไวเกินหรือภูมิแพ้ เป็นปัญหาที่สามารถแก้ไขและควบคุมได้ หากได้รับการทดสอบและรู้แน่ชัดว่าลูกมีปฏิกิริยาต่อสารอะไร ก็สามารถให้การดูแลรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่เนิ่นๆ โดยไม่จำเป็นต้องจำกัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ ที่เด็กมีสิทธิ์จะได้รับ เพื่อสุขภาพและพัฒนาการที่ดีของเด็กๆ

Super Kid’s Center โรงพยาบาลเวชธานี

ที่มา: ไทยรัฐ 28 มีนาคม 2555