เครื่องมือตรวจความสมดุลของร่างกาย (Biofeedback)

dailynews140921_02ความเครียดเกิดได้จากหลาย ๆ สาเหตุ ทั้งสาเหตุที่เกิดจากความไม่สมดุลของร่างกาย จิตใจ สิ่งแวดล้อม หลาย ๆ กรณีเป็นสาเหตุของอาการปวดศีรษะ เครื่องมือ Biofeedback อาจช่วยท่านได้

Biofeedback คืออะไร

Biofeedback คือ การฝึกให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมร่างกายของตนเองเพื่อสร้างสมดุลภายในร่างกายทำให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น โดยการใช้เครื่อง Biofeedback จะทำให้เราสามารถเห็นความเปลี่ยนแปลงภายในร่างกายที่ปกติเราจะไม่สามารถมองเห็นหรือควบคุมได้ เช่น การตึงตัวของกล้ามเนื้อ อุณหภูมิร่างกาย ความดันโลหิต อัตราชีพจรและคลื่นสมองและทำให้เราสามารถเรียนรู้ที่จะควบคุมความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เหล่านี้ได้

ทำไมต้องเป็น Biofeedback

ความเครียดแม้เพียงเล็กน้อยในชีวิตประจำวันก็สามารถก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพได้ เพราะความเครียดสะสมจะทำให้เกิดความไม่สมดุลของการทำงานภายในร่างกายหลาย ๆ อย่าง และทำให้ระบบควบคุมตนเองเสียไป ซึ่งแพทย์จะใช้เครื่อง Biofeedback เพื่อจะตรวจจัดความไม่สมดุลเหล่านี้ ในขณะรักษา ผู้ป่วยก็สามารถจะเห็นได้ว่าร่างกายตนเองเกิดอะไรขึ้นบ้างเมื่อมีความเครียดเกิดขึ้นและเมื่อได้รับคำแนะนำจากแพทย์ก็จะสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ เมื่อจบการรักษาด้วยเครื่อง Biofeedback แล้ว ผู้ป่วยก็จะสามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อลดปัญหาที่เกิดจากความเครียดได้

Biofeedback เป็นการรักษา ที่ไม่เจ็บตัว ไม่ต้องทานยา ไม่ต้องฉีดยาและไม่ต้องผ่าตัดใด ๆ ทั้งสิ้น แต่เป็นสิ่งสำคัญที่จะฝึกให้ผู้ป่วยเรียนรู้ที่จะควบคุมร่างกายตนเองให้ตอบสนองต่อความเครียดและความเจ็บปวดอย่างเหมาะสมได้

Biofeedback ทำงานอย่างไร

เราสามารถใช้งานเครื่อง Biofeedback ได้ในหลายรูปแบบขึ้นกับภาวะของผู้ป่วย เราจะพบบ่อย ๆ ว่าในผู้ป่วยที่มีความเครียดและวิตกกังวลเรื้อรัง มักจะหายใจเร็วและตื้น ซึ่งจะทำให้เกิดการขาดออกซิเจนในเลือด และจะยิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการวิตกกังวลมากขึ้น ซึ่งการใช้ Biofeedback จะช่วยลดโอกาสเกิดอาการเครียดในอนาคตได้

อาการปวดศีรษะซึ่งเป็นอาการสำคัญอีกอย่างหนึ่งของความเครียดสะสมซึ่งมักพบร่วมกับการที่มีความตึงตัวของกล้ามเนื้อบริเวณคอและบ่าเพิ่มขึ้น เครื่อง Biofeedback จะแสดงให้เห็นถึงความตึงตัวของกล้ามเนื้อและช่วยให้ผู้ป่วยสามารถฝึกควบคุมเพื่อลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อเหล่านั้นได้

ไมเกรนเป็นอาการปวดศีรษะอีกประเภทหนึ่งที่เกิดจากความผิดปกติของการทำงานของหลอดเลือดซึ่งมักดีขึ้นหลังการฝึกควบคุมอุณหภูมิมือด้วยเครื่อง Biofeedback การเรียนรู้ที่จะเพิ่มอุณหภูมิมือด้วยการทำให้หลอดเลือดที่ฝ่ามือขยายตัวจะช่วยลดปริมาณเลือดที่ไปที่ศีรษะ ซึ่งจะช่วยลดการเกิดไมเกรนได้หลักการของเครื่อง Biofeedback

ร่างกายของเราตอบสนองต่อความเครียดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเพียงแค่รถติดอยู่บนท้องถนนหรือการที่ต้องไปสัมภาษณ์งานแบบเดียวกัน โดยการกระตุ้นการทำงานของระบบประสาท ปฏิกิริยาแบบ “สู้หรือหนี” คือสิ่งที่ช่วยป้องกันเราจากอันตรายทางกายซึ่งเป็นปฏิกิริยาเดียวกันกับเมื่อเกิดปัญหาทางจิตใจ เมื่อไม่สามารถหลีกหนีจากสิ่งแวดล้อมที่ทำ ให้เกิดความเครียด ได้ ระบบประสาทจะถูกกระตุ้นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งส่งผลให้เกิดปฏิกิริยา ทางกายอื่น ๆ ตามมา เช่น ความตึงตัวของกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น อัตราชีพจรสูงขึ้นและความดันโลหิตเพิ่มขึ้น เป็นต้น และหากสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไขก็จะส่งผลให้เกิดโรคทางกายตามมา เช่น ความดันโลหิตสูง เป็นต้น

การใช้ยาอาจช่วยในการควบคุมอาการที่เกิดจากความเครียด แต่การรักษาด้วยเครื่อง Biofeedback เป็นการรักษาที่ต้นเหตุของอาการด้วยการปรับเปลี่ยนการตอบสนองต่อความเครียดให้ดีขึ้น
เครื่อง Biofeedback สามารถรักษาภาวะใดได้บ้าง

ในปัจจุบันมีการนำเครื่อง Biofeedback มาใช้ในการรักษาภาวะต่าง ๆ มากมาย ได้แก่

– อาการปวดศีรษะไมเกรน อาการปวดศีรษะจากความเครียด อาการปวดกรามและอาการปวดเรื้อรังต่าง ๆ
– ความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติที่เกิดจากความเครียด
– ภาวะวิตกกังวล รวมถึงอาการวิตกกังวลขั้นรุนแรง (Panic)
– อาการคลื่นไส้อาเจียนจากการให้เคมีบำบัด
– ภาวะนอนไม่หลับ
– ภาวะความดันโลหิตสูงหรือต่ำ
– ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
– โรคหัวใจ
– ภาวะหอบหืด
– ภาวะปวดประจำเดือน
– อาการที่เกิดจากความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร

ข้อมูลจาก คลินิกปวดศีรษะ โรงพยาบาลพญาไท 1/ http://www.phyathai.com

นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์

 

ที่มา : เดลินิวส์ 21 กันยายน 2557

7 วิธีแก้ความเครียดด้วยตัวเอง โดย ดร.สุพาพร เทพยสุวรรณ

manager140915_01ความเครียดเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับมนุษย์แทบทุกเพศทุกวัย อีกทั้งวิธีการแก้ปัญหาความเครียดก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่ทำง่าย ดังนั้นจึงมีคนมากมายหลายล้านคนที่ต้องเผชิญกับความเครียดซึ่งมีทั้งเด็ก วัยรุ่น และผู้ใหญ่ วันนี้ผู้เขียนขอนำเสนอวิธีง่ายๆ ในการแก้ปัญหาความเครียดดังนี้

7 วิธีแก้ความเครียดด้วยตัวเอง / ดร.สุพาพร เทพยสุวรรณ

1. อย่าแยกตัวอยู่ลำพัง เมื่อเกิดความเครียดให้หาที่ปรึกษาและระบายกับคนใกล้ชิดที่สนิทและไว้วางใจ การแยกตัวอยู่ลำพังจะทำให้เรายิ่งรู้สึกจมอยู่ในความเครียดและเหมือนกับไม่สามารถหาทางออกได้ และมีโอกาสที่จะทำให้บางคนคิดสั้นได้อีกด้วย

2. เขียนระบายอารมณ์ บางครั้งเมื่อเราเครียดเราไม่อยากคุยกับใคร สิ่งที่ทำได้คือการใช้วิธีเขียนระบายอารมณ์แทน การพูดคุยกับคนอื่นอาจเป็นการช่วยระดับหนึ่ง แต่บางครั้งการพูดระบายอาจไม่ดีเท่าการเขียนระบายความรู้สึกส่วนลึกออกมา ให้เราใช้เวลากับการดูแลตัวเอง ออกกำลังกาย ทานอาหารที่มีประโยชน์และเขียนบันทึกสิ่งที่เป็นความรู้สึกอัดอั้นตันใจ และเราสามารถเก็บสิ่งที่เราบันทึกไว้เป็นสมบัติที่มีค่าส่วนตัวที่จะมีประโยชน์ต่อไปในอนาคตได้

3. รับประทานอาหารให้ครบทุกมื้อ การรับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมันที่มีประโยชน์รวมทั้งผักและผลไม้จะช่วยทำให้สมองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากสมองทำงานได้อย่างดีก็จะทำให้เรามีชัยไปกว่าครึ่ง กินอาหารครบทั้ง 5 หมู่ นอกจากจะช่วยให้ร่างกายของเราแข็งแรงแล้วยังช่วยกำจัดความซึมเศร้าอีกด้วย อาหารเป็นเสมือนยาบำบัดรักษาภายใน

4. ทานน้ำมันปลา มีงานวิจัยหลายชิ้นระบุว่าการทานปลาทำให้ร่างกายและสมองทำงานได้ดี เพราะมี Omega 3 และ Omega 6 ช่วยเรื่องโรคสมองเสื่อม หลอดเลือดอุดตันและความดันโลหิตสูง อีกทั้งยังมี DHA ช่วยบำรุงสมองและเส้นประสาท ลดความเครียด และป้องกันโรคอัลไซเมอร์อีกด้วย

5. เล่นกับสัตว์เลี้ยง การเล่นกับสัตว์และการเลี้ยงสัตว์เป็นการระบายความเครียดที่ดีอีกวิธีหนึ่ง เพราะทำให้เรารู้สึกเพลิดเพลิน มีความสุขและรู้สึกสดชื่นไปกับความน่ารักของสัตว์อย่างไม่รู้ตัว

6. ลดน้ำตาล หลายครั้งเมื่อเวลาเครียดเรามักคิดว่าการช่วยลดความเครียดง่ายๆ วิธีหนึ่งคือ การกินช็อกโกแลต หรือขนมหวานประเภทต่างๆ แต่ความจริงแล้วอาหารประเภทของหวานจะมีผลเสียต่ออารมณ์และฮอร์โมน รวมทั้งทำให้ผิวพรรณเกิดสิวได้ง่ายและยังเป็นการเพิ่มน้ำหนักตัวอีกด้วย ดังนั้นควรหยุดทานอาหารประเภทของหวานจัด แต่ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อเป็นการรักษาสุขภาพใจและกายที่ดี

7. ออกกำลังกาย การออกกำลังกายถือว่าเป็นการเอาชนะความเครียดได้ดีอีกวิธีหนึ่ง หลายคนที่ประสบปัญหาเรื่องความเครียดแล้วหาทางออกไม่ได้ จะใช้วิธีรับประทานอาหารมากเกินไปจนน้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น หรือบางคนก็ไม่ทานอาหารจนร่างกายซูบผอม สิ่งหนึ่งที่ช่วยลดความเครียดได้ดีก็คือการออกกำลังกาย เริ่มต้นโดยการเดินวันละ 30 นาที และเพิ่มการออกกำลังกายมากขึ้นจนเป็นนิสัย อย่าทำหักโหมเกินไป แต่ค่อยๆทำแล้วจะเห็นการเปลี่ยนแปลง ไม่เพียงแต่น้ำหนักตัวที่ลดลงเท่านั้น แต่ยังเป็นการระบายความเครียดที่มหัศจรรย์วิธีหนึ่ง ช่วยระบายความโกรธ และทำให้ร่างกายหลั่งสารเอนโดฟินที่เป็นสารแสดงความสุขออกมาด้วย เราควรพยายามออกกำลังกายให้ได้ในทุกๆ วัน แต่อย่าคาดหวังผลที่จะเกิดขึ้นชั่วข้ามคืน เมื่อเราเริ่มออกกำลังกาย การเห็นความสำคัญของคุณค่าในตัวเองจะกลับมา จะทำให้รู้สึกว่าอยากมีสุขภาพที่ดีอีกครั้ง และจะทำให้ความเศร้าโศกหรือความเศร้าใจภายในหายไป ลองปฏิบัติดูค่ะ ได้ผลอย่าคาดไม่ถึงจริงๆ

ความเครียดเป็นสิ่งที่บั่นทอนทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต ถือว่าเป็นปัญหาที่ร้ายแรงไม่น้อยไปกว่าการเป็นโรคร้าย เช่น โรคมะเร็ง หรือโรคหัวใจ ดังนั้นเราควรรักษาสุขภาพของจิตใจให้ดีโดยไม่ปล่อยให้ตัวเองจมอยู่กับความเครียดนานจนเกินไป เพราะการมีจิตใจที่แจ่มใสนั้นจะส่งผลที่ดีต่อสุขภาพกายของเราโดยตรง ขอเป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวเสมอค่ะ

ที่มา: ASTV ผู้จัดการออนไลน์ 15 กันยายน 2557

รู้ทันป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด

dailynews140928_02สมาพันธ์หัวใจโลก กำหนดให้วันที่ 29 กันยายนของทุกปี เป็นวันรณรงค์หัวใจโลก เนื่องจากกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทยและของโลก

รศ.นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ หน่วยโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหา วิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า อัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้นทุกปี โดยผู้ชายมีโอกาสเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่าผู้หญิง แต่ในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนแล้วมีโอกาสจะเป็นโรคนี้ได้เท่ากับผู้ชาย ทั้งนี้เวลาพูดถึงโรคหัวใจส่วนใหญ่คือโรคของหลอดเลือดหัวใจ ไม่ว่าจะเป็นหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือ ตัน

สาเหตุที่ผู้ชายมีความเสี่ยงมากกว่าผู้หญิง เพราะว่าผู้ชายมีปัจจัยเสี่ยง คือ สูบบุหรี่มากกว่า มีระดับคอเลสเตอรอลมากกว่า เครียดมากกว่า สำหรับผู้หญิงก่อนวัยหมดประจำเดือน ผู้หญิงมีฮอร์โมนเอสโตรเจน เป็นตัวป้องกันไม่ให้ไขมันจับในหลอดเลือด แต่หลังจากหมดประจำเดือนไปแล้ว คือ หมดฮอร์โมนเอสโตรเจน ข้อดีของการป้องกันก็หายไป ดังนั้นหมดประจำเดือนผู้หญิงจึงมีโอกาสเป็นโรคหัวใจเท่ากับผู้ชาย

สำหรับผู้หญิงที่จะเป็นโรคหัวใจก่อนวัยหมดประจำเดือน อาจมาจากการใช้ยาคุมกำเนิด ซึ่งจะทำให้เกิดลิ่มเลือดได้ง่าย ก็อาจจะมีโอกาสเป็นโรคลิ่มเลือดหัวใจอุดตันได้

ปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด คือ อาหาร บุหรี่ ความเครียด ความอ้วน และการไม่ออกกำลังกาย ในปัจจุบันต้องยอมรับว่า อาหารการกินอุดมสมบูรณ์ ระดับคอเลสเตอรอลของคนไทยใน 10 ปีหลังมานี้เพิ่มขึ้น เพราะเป็นสังคมแห่งการกินดีอยู่ดี ใครเกิด ใครเสียชีวิต ดีใจ เสียใจก็กิน ไม่ได้เป็นการกินเพราะความหิว แต่เป็นการกินเพราะความอยาก

ลักษณะอาหารก็เปลี่ยนไปเป็นอาหารประเภท ชีส เค้ก ข้าวขาหมู ข้าวมันไก่ หาได้ทั่วไป อัตราการสูบบุหรี่ไม่ได้ลดลง ปัจจัยเสี่ยงก็ยังมีอยู่เยอะ คนอ้วนมีเยอะ ความอ้วนเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคเบาหวาน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดโรคหัวใจ ขณะเดียวกันการต่อสู้ดิ้นรนในสังคมมากขึ้น ความเครียดมากขึ้นซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่ง

ประเทศไทยจะมีความก้าวหน้าในการรักษา การทำบอลลูนช่วยชีวิตผู้ป่วย ทำให้อัตราการเสียชีวิตน้อยลง จากเดิมอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ประมาณ 25- 30% ในปัจจุบันการเสียชีวิตลดลงเหลือน้อยกว่า 5% แสดงว่าการรักษาดีขึ้น แต่ไม่ได้เก่งเรื่องการป้องกัน ไม่สามารถป้องกันให้คนเป็นโรคน้อยลงได้ อีกอย่างที่อยากจะบอก คือ

ความรู้ในโซเชียลมีเดียที่แพร่กระจายกันนั้น ข้อมูลหลายอย่างเชื่อถือไม่ได้ เช่น การบอกว่ากินน้ำมันมะพร้าวแล้วไขมันไม่สูง หรือบอกว่าคอเลสเตอรอลไม่เกี่ยวกับโรคหัวใจ ตรงนี้เป็นข้อมูลที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดกันเยอะมาก

ถ้ามีอาการที่สงสัยว่าจะเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น เดินแล้วเหนื่อย นอนราบไม่ได้ ควรไปพบแพทย์ทันที สำหรับคนอายุยังน้อยที่มีความเสี่ยง เช่น ญาติพี่น้องเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ปัจจุบันมีการตรวจบางอย่างที่พอจะบอกได้ ถือเป็นทางเลือกอย่างหนึ่ง ดีกว่าการตรวจร่างกายทั่วไป เช่น การตรวจหินปูนในหลอดเลือดหัวใจซึ่งมีค่าใช้จ่ายไม่แพงนัก

คนที่มีหินปูนเยอะโอกาสจะเป็นโรคหัวใจก็เยอะ ดังนั้นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น หยุดสูบบุหรี่ หรือกินยาเพื่อลดคอเลสเตอรอล แม้ระดับคอเลสเตอรอลจะไม่สูงมาก แต่การลดระดับคอเลสเตอรอลน่าจะป้องกันโรคหัวใจในคนกลุ่มนี้ได้

ด้าน นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์ในประเทศไทย ในช่วงปี 2554-2556 พบว่า อัตราการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ต่อประชากร 100,000 คน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ในปี 2556 มีผู้เสียชีวิต 54,530 คน เฉลี่ยวันละ 150 คนหรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คนสะท้อนว่าโรคหัวใจขาดเลือดเป็นโรคที่รุนแรงและต้องได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วน

อาการที่บ่งชี้ว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด คือ จุกแน่นหน้าอก จุกบริเวณยอดอกตรงกลางมักเป็นในขณะออกกำลังกาย หลังจากหยุดออกกำลังกายอาการจะดีขึ้น มีอาการเจ็บหน้าอกเหมือนมีอะไรมากดทับ อาการเจ็บจะปวดร้าวไปที่หัวไหล่ซ้ายหรือไปที่กราม ถ้าอาการเจ็บหน้าอกเป็นนานเกินกว่า 5 นาที พักแล้วไม่ทุเลาหรืออาการเจ็บรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ต้องรีบพบแพทย์ หรือถ้ามีอาการเหนื่อยง่ายกว่าปกติโดยเฉพาะเวลาทำงาน หัวใจเต้นผิดปกติ จังหวะการเต้นของชีพจร มีสะดุดหรือไม่สม่ำเสมอ

ที่สำคัญประชาชนจะต้องปฏิบัติตนให้ถูกต้อง เพื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน งดอาหารมัน เค็ม เพิ่มผัก ผลไม้ และอาหารที่มีเส้นใย ทำจิตใจให้แจ่มใส งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และควรเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อประเมินภาวะสุขภาพและระดับความเสี่ยงซึ่งเป็นปัจจัยการเกิดโรคหัวใจได้.

นวพรรษ บุญชาญ : รายงาน

ที่มา : เดลินิวส์ 28 กันยายน 2557

 

พฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิด ’โรคหัวใจ’ ในคนไทย

dailynews140823_02โรคหัวใจ เป็นโรคที่คร่าชีวิตคนไทยมากที่สุดในลำดับต้น ๆ สาเหตุสำคัญก็เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย การหาแนวทางป้องกันและกระบวนการรักษาจึงมีความสำคัญมาก เพื่อที่จะให้ผู้ป่วยโรคหัวใจหายขาดและกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติเหมือนคนธรรมดาทั่วไป

ปัญหาโรคหัวใจในปัจจุบันมีหลากหลายแบบ เช่น หัวใจผิดปกติตั้งแต่กำเนิด หัวใจอุดตัน หัวใจล้มเหลว ระบบไฟฟ้าในหัวใจเต้นผิดปกติ แต่โรคหัวใจที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตได้มาก จะเป็นกรณีหัวใจขาดเลือด และหลอดเลือดอุดตัน ที่มักจะพบอยู่เป็นประจำในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ

เมื่อพบว่าเป็นหัวใจขาดเลือดและหลอดเลือดอุดตัน ก็มักจะมีอาการตามมาด้วยโรคหัวใจล้มเหลว หัวใจวาย มีภาวะหัวใจเต้นผิดปกติเพราะหัวใจขาดเลือด และส่งผลให้ระบบไฟฟ้าในหัวใจรวนได้อีกด้วย ซึ่งในปัจจุบันโรคหัวใจและหลอดเลือดจะทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 6 คนต่อหนึ่งชั่วโมง ซึ่งอาจมีตัวเลขที่มากขึ้นได้หากพิจารณาตามขนาดของจำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี

รูปแบบพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ มีอยู่ด้วยกัน 2 รูปแบบ คือ

1) กรรมพันธุ์ ที่จะส่งผ่านมาจากทางบิดา มารดา ที่เป็นโรคหัวใจ จะส่งผลให้มีอัตราเสี่ยงที่จะเป็นมากกว่าปกติ

2) พฤติกรรมที่เกิดขึ้นจากตัวเอง เช่น เป็นไขมันสูง ความดันโลหิตสูง เป็นโรคเบาหวาน แต่ไม่ควบคุมพฤติกรรมต่าง ๆ ทั้งการกิน การออกกำลังกาย รวมไปถึงการสูบบุหรี่ ส่งผลทำให้สามารถเป็นโรคหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันได้

สำหรับคำแนะนำ ในผู้สูงอายุ ต้องอธิบายว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุแล้ว แต่ได้สั่งสมมาตั้งแต่อายุน้อย ๆ เปรียบเสมือน ท่อนํ้าที่สะสมสิ่งต่าง ๆ จนท่อสกปรก ไม่ได้เกิดขึ้นจากการสะสมเพียงไม่กี่วัน หรือไม่กี่ปี แต่ใช้เวลานานถึง 10 ปี จึงจะพบปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ได้

ดังนั้น จึงไม่ควรประมาทในการดูแลตัวเองตั้งแต่ยังวัยรุ่นและหลีกเลี่ยงอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง อาทิ หนังสัตว์ หมูสามชั้น ของทอด หมั่นออกกำลังกาย และตรวจสุขภาพอยู่เสมอ

หลายคนอาจคิดว่า ออกกำลังกายทุกวันสุขภาพจะแข็งแรง ไม่น่าจะเป็นโรคอะไร แต่การที่ไม่ได้รับการตรวจสุขภาพ ตรวจวัดไขมันในเลือดว่าสูงหรือไม่ หรือมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นหรือไม่ บางคนคิดว่าร่างกายผอม ไม่คิดว่าจะเป็นโรคหัวใจ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะคนที่มีรูปร่างผอม บางทีอาจจะสูบบุหรี่จัด หรือมีกรรมพันธุ์ที่แย่มากก็สามารถเป็นโรคหัวใจได้ ไม่ต่างจากคนที่มีรูปร่างอ้วนและนํ้าหนักเกินกว่าปกติ

สิ่งสำคัญเน้นยํ้าอีกทีว่า ไม่ควรประมาทในการใช้ชีวิตทั้งการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การขจัดความเครียดที่เกิดจากการทำงาน เพราะสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้อาจช่วยให้คุณหลุดพ้นจากการมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจได้นั่นเอง.

ผศ.นพ.ภาวิทย์ เพียรวิจิตร
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์
โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

 

ที่มา : เดลินิวส์ 23 สิงหาคม 2557

 

ออฟฟิศซินโดรม…ภัยเงียมที่คุกคามวัยทำงาน

dailynews140822_03จากข้อมูลของกรมการแพทย์กระทรวงสาธารณสุขปี 2557 ระบุว่า ด้วยภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้นของชีวิตคนเมือง ทำให้อาจมองข้ามสุขภาพร่างกาย ทั้งนี้ พบว่า 10% ของคนเมือง มีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคออฟฟิศซินโดรมเพิ่มมากขึ้น โดย นพ.ภัทร จุลศิริ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อทั่วไป โรงพยาบาลเวชธานี ได้กล่าวถึงกลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรมว่า ออฟฟิศซินโดรมคือ กลุ่มอาการที่ พบบ่อยในคนทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นระยะเวลานานๆ เช่น งานเอกสาร, งานคอมพิวเตอร์, เลขา, คนในโรงงานอุสาหกรรม กระทั่ง แม่บ้าน ซึ่งคนกลุ่มนี้จะมีลักษณะที่มีร่วมกันคือ เป็นการเจ็บป่วยที่เกิดภายหลังการทำงาน การทำย้ำๆซ้ำๆ ในอริยาบหนึ่งๆ และทำต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานอาการดังกล่าว จะพบบ่อยในคนวัยทำงาน (20-60 ปี) ที่มักจะเคลื่อนไหวร่างกายซ้ำๆ มากกว่า 8 ชม.ต่อวัน ทำให้เกิดการเสียสุขภาพ มีการป่วยจนกระทบการทำงาน ถึง42 % และเกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจ 1.1 แสนล้านบาทต่อปี (ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ), และมีต้นทุนในการรักษาถึง 38,820 บาท/คน (ข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคม)

นพ.ภัทร กล่าวต่อว่า การเกิดอาการโรคออฟฟิศซินโดรม จะเกิดจากปัจจัย 4 ปัจจัย ได้แก่
1.การทำย้ำๆ ซ้ำๆ ( Repetitive) ซึ่งจะทำให้เกิดการสึกหรอ
2.การผิดท่า (wrong position) จะทำให้เกิดการบาดเจ็บของร่างกาย
3.ใช้แรงมาก ( Forceful) จะเพิ่มความรุนแรงในโรคดังกล่าว และ
4.หากทำต่อเนื่อง ( Long time) จะทำให้ร่างกายซ่อมแซมไม่ทัน
อย่างไรก็ตาม นอกจากปัจจัย 4 ปัจจัยที่กล่าวมาแล้วนั้นยังมีปัจจัยส่งเสริมอื่นๆอีกด้วย เช่น การบ้างาน (Workaholic),ความเร่งรีบ, ความเครียด ,อดอาหาร,อดนอน

อย่างไรก็ตาม หากปัจจัยดังกล่าวทั้งหมดรวมกันจะทำให้กระทบกับระบบต่างๆของร่างกาย เช่น

1.ทางกล้ามเนื้อ ซึ่งเปรียบเสมือนระบบเครื่องยนต์ในร่างกาย ที่หากบาดเจ็บจะเกิดอาการปวดเมื่อย – นั่งทำงานนานๆ จะปวดหลัง, คอ, บ่า,ไหล่ ยืนนานๆ ตะคริวจะขึ้นบ่อยๆ

2.เส้นเอ็น จะใช้เวลานานกว่าจะซ่อมแซมตัวเองได้ – กำของหรือจับของเล็กๆ ซ้ำๆ เกิดอาการนิ้วลออก เหยียดไม่สุด, ใช้ข้อมือทำซ้ำๆ อาจมีเอ็นข้อมืออักเสบได้( Dequavian disease) , นักกีฬาเล่นกีฬาท่าเดิมเป็ นระยะเวลานานๆ อาจมีเอ็นรอยหวายอักเสบ , ไขนออตหรือหมุนข้อมือซ้ำๆ เจ็บที่ด้านนอกข้อศอก เป็นเอ็นเกาะกระดูกข้อศอกอักเสบ (tennis elbow)

3.เส้นประสาท จะมาด้วยอาการปวดเหมือนไฟซ้อต ปวดเสียวๆ ร่วมกับอาการ ชา – ใช้มือพิมพ์คอมพิวเตอร์นานๆ จะเป็นพังผืดรัดเส้นประสาทข้อมือทำให้ปวดชา บริเวณมือ, ยกของหนักๆ ปวดหลังร้าวลงขาได้

4.เส้นเลือด มักจะมาด้วยอาการเส้นเสือดโป่ง ,ตีบ,ชาปวด เนื่องจากเลือดเลี้ยงไม่ทัน เช่น ยืนนานเป็ นเส้นเลือดขอด

5.กระดูก ซึ่งเป็นเหมือนแกนหลักของร่างกาย หากเกิดการกระแทกในระยะเวลานาน อาจเกิดกระดูกร้าว หรือผิวข้อสึกได้ พบในคนงานเจาะถนน ,นักเต้น , นักวิ่ง , นักกีฬา

สำหรับการรักษาโรคดังกล่าว จะแบ่งเป็น 3 วิธี ที่ต้องใช้ร่วมกัน คือ การใช้ยา , การกายภาพบำบัด และการปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมในการทำงาน ทั้งนี้ หากผู้ป่วยเริ่มมีอาการปวดบริเวณกล้ามเนื้อและรีบมาพบแพทย์ แพทย์จะทำการตรวจโดยละเอียดและวินิจฉัย หลังจากนั้น จะให้รับประทานยาแก้อักเสบกล้ามเนื้อ , ยาคลายกล้ามเนื้อ , ยานวด ร่วมกับการหยุดพฤติกรรมที่ทำให้เกิดอาการปวด ในบางครั้งอาจต้องใช้การกายภาพ ยือกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นที่บาดเจ็บ แต่หากรับการรักษาไปช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้วยังคงมีอาการอยู่ แพทย์จะฉีดยาสเตอรรอยด์เข้าสู้ จุดที่บาดเจ็บเพื่อลดการอักเสบให้เร็วที่สุด เมื่อหายจากอาการเจ็บแล้ว แพทย์จะแนะนำให้ออกกำลังกายและยืด เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและยืดหยุ่น ป้องกันการบาดเจ็บในอนาคตสิ่งที่สำคัญคือต้องมีการปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสมกับร่างกายมนุษย์ ( ergonomic environment) ดังภาพ

1 คอตั้งตรงไม่เอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง โดยอาจก้มได้ 10 องศา
2 ไหล่ต้องได้ระดับผ่อนคลาย ไม่ยกหรือตกจนเกินไป3 ข้อศอกต้องงอ 90 องศาและมีที่รองรับ เพื่อผ่อนน ้าหนักของแขนไม่ให้ตกไปที่ไหล่มากเกินไป
4 ข้อมือต้องมีเบาะ เพื่อผ่อนแรงเกร็งของกล้ามเนื้อแขน
5 หลังพิงติดเบาะตลอดเวลา หรืออาจมีเบาะรองร่องหลังเพื่อผ่อนแรง
6 ขาแนบกับเบาะทั้งอัน
7 เข่าต้องงอตรง ต าแหน่งที่เลยเบาะพอดี โดยงอประมาณ 90-110 องศา
8 เท้าต้องติดพื้นหรือหาที่วางขารองเพื่อลดน้ำหนักที่เข่าต้องรับ

นอกจากนั้น การเปลี่ยนอริยาบททุกหนึ่งชั่วโมง เพื่อลดความเครียดต่ออวัยวะใดอวัยวะหนึ่งไม่ได้ออกแรงหนักเกินไปร่วมกับออกกำลังกายกลางแจ้งสม่ำเสมอ เพิ่มความแข็งแรงและลดความเครียดต่อร่างกาย หากทำทั้งหมดแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นแนะนำให้ไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจเพิ่มเติม

นพ.ภัทร จุลศิริ
ศัลยแพทย์กระดูกและข้อทั่วไป
โรงพยาบาลเวชธานี

 

ที่มา : เดลินิวส์ 22 สิงหาคม 2557

น้ำในหูไม่เท่ากัน โรคใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม

dailynews140819_01คุณเคยมีอาการเหล่านี้หรือไม่ อยู่ดีๆก็เกิดอาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะคล้ายๆบ้านหมุนโดยไม่รู้สาเหตุ กระเพาะอาหารปั่นป่วน อยากอาเจียน พอลุกขึ้นยืนก็ทรงตัวไม่อยู่ หากคุณมีอาการเหล่านี้คงจะเป็นสัญญาณอย่างหนึ่งว่าคุณอาจเกิดโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน ซึ่งเรื่องดังกล่าว พญ.จิรัฐา งามศิริเดช แพทย์ หู คอ จมูก โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายถึงโรคดังกล่าวว่าโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน หรือ โรคเมเนียร์ (Meniere’s disease) เป็นโรคที่พบได้บ่อย ซึ่งโรคดังกล่าวเกิดจากความผิดปกติของหูชั้นในที่ควบคุมระบบการได้ยินและการทรงตัว ทำให้มีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน การได้ยินลดลง เสียงก้องในหู และแน่นหูได้

สาเหตุของการเกิดโรค พญ.จิรัฐา กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดและบางครั้งอาจไม่พบสาเหตุ แต่มีตัวกระตุ้นหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน โดยปัจจัยภายนอกได้แก่ ความเครียด การอดนอน การเปลี่ยนแปลของระดับฮอร์โมนรวมถึงการมีประจำเดือน โรคภูมิแพ้ การติดเชื้อไวรัส หูชั้นกลางอักเสบ หูชั้นในอักเสบ หูน้ำหนวก ซิฟิลิส เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เคยประสบอุบัติเหตุที่ศีรษะมาก่อน ปวดศีรษะไมเกรน สำหรับปัจจัยภายใน เกิดจากโรคทางกรรมพันธุ์ พบได้ถึง 10-20% และพบบ่อยในครอบครัวที่เป็นไมเกรน ภาวะร่างกายมีภูมิต้านทานต่อหูชั้นใน ซึ่งผู้ที่มีโอกาสเป็นจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายอัตราส่วน 2:1 และเมื่ออายุเพิ่มขึ้นจะมีความเสี่ยงที่มากขึ้นด้วยโดยช่วงอายุที่พบมากที่สุดคือระหว่าง 40-70 ปี

พญ.จิรัฐา กล่าวต่อว่า อาการของโรคดังกล่าวจะประกอบไปด้วย 3 กลุ่มอาการ ได้แก่

1.เวียนศีรษะแบบบ้านหมุน โดยปกติมักเป็นทันทีทันใด มีอาการเป็นๆหายๆ อาการเวียนศีรษะบ้านหมุนแต่ละครั้งอาจจะมีอาการประมาณ 2-3 ชั่วโมง และมักมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย
2.ประสิทธิภาพการได้ยินลดลง มักจะมีอาการเป็นๆหายๆ โดยอาจเป็นหูข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ แต่ส่วนใหญ่มักพบเป็นหูข้างเดียวมากกว่า
3.เสียงดังในหู แน่นหู อาจทนเสียงดังไม่ได้

สำหรับการวินิจฉัยของแพทย์ โดยปกติแล้วจะซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียดก็สามารถวินิจฉัยได้หากผู้ป่วยมาด้วยอาการที่เด่นชัดทั้ง 3 อาการดังกล่าว แต่หากอาการไม่ชัดเจนอาจต้องอาศัยเครื่องมือที่ช่วยในการวินิจฉัย ได้แก่
1.การตรวจการได้ยิน
2.การตรวจคลื่นไฟฟ้าในหูชั้นใน
3.การตรวจระบบการทรงตัวของหูชั้นในและการทดสอบแคโรลิก
4.การทดลองให้ยาเพื่อลดปริมาณน้ำในหูชั้นในแล้วสังเกตดูว่าอาการดีขึ้นหรือไม่
5. การตรวจการได้ยินระดับก้านสมอง ในกรณีที่สงสัยว่าอาการเวียนศีรษะเกิดจากก้อนเนื้องอกบริเวณประสาทการได้ยิน
6.การตรวจโดยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่สมอง ในกรณีที่สงสัยว่ามีเนื้องอกบริเวณสมองและระบบประสาท

การรักษาโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน พญ.จิรัฐา กล่าวว่า การรักษาจะต้องควบคุมอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน ทำให้อาการทางหูและการได้ยินกลับมาปกติ โดยอาศัยความร่วมมือจากผู้ป่วยทางด้านการปฏิบัติตัวและการรักษาด้วยยา ซึ่งการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยต้องงดอาหารเค็ม เช่น ขนมซองที่มีเกลือปริมาณมาก เครื่องดื่มบำรุงกำลังบางชนิด งดเหล้า บุหรี่ ชา กาแฟ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ลดเครียด แต่หากรักษาด้วยวิธีปรับเปลี่ยนการปฏิบัติตัวและรักษาด้วยยาร่วมกันแล้วยังไม่ได้ผลอาจจะต้องใช้วิธีทางเลือกอื่นๆเช่น

1.Meniett device เป็นเครื่องมือที่ใส่เข้าไปในหูแล้วให้ผู้ป่วยปรับความดันเอง โดยความดันจากเครื่องมือนี้จะส่งผลไปยังหูชั้นในทำให้อาการเวียนศีรษะดีขึ้น

2.การฉีดยาเข้าในหูชั้นกลาง ปัจจุบันยาที่นิยมมี 2 ชนิด คือ
2.1 Dexamethasone เป็นยาที่ช่วยให้ความถี่ในการเวียนศีรษะลดลงและมีผลอาจช่วยให้การได้ยินดีขึ้น ซึ่งสามารถฉีดบ่อยได้ทุก 1-3 เดือน
2.2 Gentamicin เป็นยาฉีดเพื่อควบคุมอาการเวียนศีรษะ แต่อาจมีผลข้างเคียงเรื่องการได้ยินที่ลดลง

3.การรักษาโดยการผ่าตัด ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการมากและรักษาด้วยวิธีการใดก็ไม่ได้ผล ซึ่งการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคนี้ มีหลายวิธีแต่ละวิธีมีความเสี่ยง ข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน ผู้ป่วยควรปรึกษากับแพทย์ หู คอ จมูกเรื่องรายละเอียดการรักษาก่อนตัดสินใจ

ทั้งนี้ อาการเวียนศีรษะโรคน้ำในหูไม่เท่ากันมิใช่เรื่องที่น่ากลัว หากคุณหรือบุคคลใกล้ชิดมีอาการดังกล่าวสามารถมาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งการรักษาอาจต้องใช้ความอดทนและความร่วมมือในจากผู้ป่วย หากช่วยกันก็สามารถทำให้อาการกลับมาเป็นปกติหรือเกือบปกติได้

พญ.จิรัฐา งามศิริเดช
แผนกหู คอ จมูก
โรงพยาบาลเวชธานี

 

ที่มา : เดลินิวส์ 19 สิงหาคม 2557

ความเครียด เป็นโรคติดต่อ?

dailynew140505_01มีผลงานวิจัยชิ้นใหม่ เปิดเผยข้อมูลที่ระบุว่า แค่เห็นคนอื่นเดือดร้อนก็เพียงพอที่จะกระตุ้นการตอบสนองความเครียดในร่างกายของเราเองได้แล้ว

ความเครียด เป็นการคุกคามสุขภาพที่สำคัญของสังคมปัจจุบัน อันก่อให้เกิดปัญหาด้านจิตใจ เช่น ความซึมเศร้าและความวิตกกังวล โดยมีลักษณะคล้ายโรคติดต่อให้กับผู้ที่ผ่อนคลายหรือไม่กังวลใด ๆ โดยกลุ่มเสี่ยงที่จะติดต่อโรคดังกล่าว คือ กลุ่มคนทำงาน

ทีมวิจัยจากสถาบันมักซ์พลังค์ เมืองไลพซิก ประเทศเยอรมนี ได้ทำการทดสอบกลุ่มตัวอย่าง โดยให้ทำข้อสอบวิชาที่ต้องคิดเลขในใจและสัมภาษณ์ พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 26 ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่ได้สัมผัสกับความเครียดโดยตรงจะมีระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล(cortisol) เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ความเครียดดังกล่าวยังถูกส่งต่อมายังบุคคลใกล้ชิด โดยเฉพาะบุคคลในครอบครัว ถึงร้อยละ 40 และถูกส่งต่อไปยังคนแปลกหน้าถึงร้อยละ 10 อีกด้วย

ทั้งนี้ ดร.เวโรนิก้า เองเกิร์ต หนึ่งในทีมนักวิจัย ระบุว่า รายการโทรทัศน์ที่มีฉากแสดงความทุกข์ของคน สามารถส่งผ่านความเครียดให้กับผู้ชมได้ เมื่อต้องเผชิญกับอันตราย ร่างกายจะตอบสนองด้วยการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลออกมา ซึ่งหากมีระดับคอร์ติซอลในร่างกายสูงจะมีผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ดังนั้น การจะรับฟังข่าวสารทั้งจากการพูดคุยและรับจากสื่อต่าง ๆ ผู้ชมควรเสพสื่อเหล่านั้นเพื่อรับทราบเท่านั้น ไม่ควรดึงตัวเองเข้าไปมีส่วนร่วมในเรื่องนั้น ๆ เพื่อป้องกันตัวเองจากความเครียดที่อาจเกิดขึ้น

ที่มา : เดลินิวส์  5 พฤษภาคม 2557

รับมือสภาวะ ‘เครียด’ แผ่นดินไหว วัดระดับความกังวล รู้อาการป้องกันได้

dailynew1405 11_01จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวทางภาคเหนือของประเทศไทย ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อประชาชนในพื้นที่ที่ประสบภัยและประชาชนผู้ติดตามข่าวสารจากโทรทัศน์ โซเชียลมีเดีย และช่องทางอื่น ๆ หลายรายการ ทำให้เสพข่าวสารซ้ำไปซ้ำมาแล้วอาจเกิดความเครียด ไม่สบายใจ หรือวิตกกังวลใจกลัวว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นกับตัวเอง โดยที่ไม่ทราบวิธีการรับมือ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายแพทย์จิตริน ใจดี จิตแพทย์ศูนย์จิตรักษ์ โรงพยาบาลกรุงเทพ แนะนำว่า ความวิตกกังวลนั้นเป็นสภาวะที่พบได้ในคนทั่วไปที่กำลังเผชิญกับความเครียดและหลาย ๆ ครั้งหากมีความวิตกกังวลเกิดขึ้นบ้างในระดับที่ไม่มากเกินไปจะช่วยให้คนคนนั้นมีแรงกระตุ้นให้แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้สำเร็จ แต่ในทางกลับกันหากพบว่าความวิตกกังวลนั้นมีมากเกินไปย่อมส่งผลเสียตามมาได้

ระดับความวิตกกังวลที่มีมากเกินไปแบ่งเป็นระดับได้ดังนี้ คือ ความวิตกกังวลมากเกินกว่าที่จะอธิบายได้ด้วยความเครียดที่มากระตุ้น ความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงมาก ความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นยังคงอยู่ แม้สิ่งกระตุ้นจะหมดไปแล้ว และความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นทำให้รบกวนกิจวัตรประจำวันและหน้าที่การงานต่าง ๆ ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นจากการที่มีความวิตกกังวลที่มากเกินย่อมเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านจิตใจและร่างกาย

การเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายมีอาการ เช่น ใจสั่น เจ็บแน่นหน้าอกจนบางครั้งคิดว่าตัวเองเป็นโรคหัวใจหรืออาจมีอาการหายใจไม่อิ่ม หายใจขัด เหงื่อแตก ตัวเย็น ตัวสั่น รู้สึกคลื่นไส้ ปั่นป่วนในท้องอยากจะอาเจียน วิงเวียน เหมือนจะเป็นลม ซึ่งอาการเหล่านี้จะเป็นเฉพาะช่วงที่เครียดหรืออาจจะเป็นอยู่นานแม้ความเครียดจะหายไปแล้วก็ตาม แต่ละคนจะมีอาการแตกต่างกันไป ส่วนการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจก็อาจจะกลายเป็นคนไม่มีความสุข มีอาการย้ำคิดย้ำทำ หรือต้องคอยหลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นที่จะทำให้เกิดความเครียดอยู่ตลอดเวลา ทำให้ใช้ชีวิตได้ลำบากขึ้น

วิธีการกำจัดความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นเนื่องจากข่าวแผ่นดินไหวนั้น อันดับแรกเลยคือ ตื่นตัวได้แต่ต้องไม่ตื่นตระหนก และควรรู้ตัวว่ากำลังวิตกกังวลอยู่ ซึ่งการที่มีสติและรับรู้อารมณ์ของเรานั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมาก สังเกตง่าย ๆ เช่น เริ่มหายใจเร็วขึ้น รู้สึกใจเต้นแรงขึ้น มีเหงื่อออก มีอาการปวดปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ หรือเริ่มมีความคิดวกวนอยู่กับปัญหาแต่ไม่รู้จะหาทางแก้ไขได้อย่างไร หรือมีอาการย้ำคิดทำนองว่าเรื่องร้าย ๆ กำลังจะเกิดขึ้นกับตนเองและคนใกล้ชิด การมีสติที่ดีจะช่วยให้รับรู้และเข้าใจตัวเองมากขึ้นว่า “เรากำลังกังวลเรื่องอะไร” ซึ่งจะสามารถทำให้หาวิธีมาผ่อนคลายความกังวลได้ตรงจุดมากขึ้น

นอกจากนี้การมีสติยังช่วยระงับพฤติกรรมอันตรายต่าง ๆ ที่อาจทำออกไปโดยไม่ได้ไตร่ตรอง หรือทำไปโดยความตกใจและจะทำให้เกิดอันตรายตามมา เช่น กลัวว่าแผ่นดินไหวแล้วอาคารจะถล่มลงมาทับตนเอง จึงรีบวิ่งหนีออกไปที่ถนนโดยไม่ได้ดูให้ดีเสียก่อน ทำให้ถูกรถชนจนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต หรือรีบวิ่งหนีออกจากอาคารโดยลืมปิดเตาแก๊ส ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายมากกว่าเดิม เป็นต้น

อันดับต่อมาคือ เตรียมพร้อมทั้งกายและใจ ในภาวะที่ต้องเผชิญกับความเครียด หากใครเป็นผู้ประสบภัย เมื่อได้หลบมาอยู่ในที่ปลอดภัยแล้ว ควรหาโอกาสให้ร่างกายได้พักผ่อนบ้าง ถ้าต้องอดนอน อดอาหารนาน ๆ หรือร่างกายโดนใช้งานอย่างหนักอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายและยิ่งทำให้ความวิตกกังวลมากขึ้นด้วย ส่วนการเตรียมพร้อมทางใจเผื่อเผชิญกับความ เครียด เช่น หากรู้ตัวว่าตนเองกำลังอยู่ในภาวะเครียด วิตกกังวล ควรเริ่มจากการค่อย ๆ พยายามผ่อนคลายตัวเองก่อน โดยใช้เทคนิคง่าย ๆ สามารถทำได้ด้วยตนเอง ได้แก่ การควบคุมให้ตัวเองหายใจเข้าออกลึก (Deep breathing exercise) เป็นจังหวะช้า ๆ ระหว่างทำให้มีสติรับรู้การหายใจของตัวเองอยู่ตลอดเวลา

นอกจากนี้ยังมีการคลายเครียดด้วยการเกร็งและคลายกล้ามเนื้อ (Progressive muscle relaxation) โดยจะให้เกร็งกล้ามเนื้อก่อนแล้วจึงปล่อยคลาย ให้เกร็งแล้วคลายกล้ามเนื้อทีละส่วน ๆ ค่อย ๆ ทำไปจนครบ หากปฏิบัติได้ถูกต้องจะช่วยลดระดับความเครียดและความวิตกกังวลลงทำให้เรารู้สึกสบายขึ้นได้ หลังจากที่ความเครียดค่อย ๆ ลดลงแล้วควรคิดเชิงบวกว่าที่ผ่านมาเคยจัดการความเครียดแบบนี้ได้อย่างไร ปัญหาเช่นนี้หรือยากกว่านี้ที่ผ่านมาเราเคยเจอมาแล้วและในครั้งนี้จะพยายามทำให้ดีที่สุดเพื่อให้มันผ่านพ้นไป เป็นแนวทางส่งเสริมให้แก้ปัญหาและเผชิญปัญหาได้ดีขึ้น ส่วนการติดตามข่าวสารต่าง ๆ โดยใช้วิจารณญาณ การศึกษาแนวทางการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหวจะช่วยให้มีความพร้อมและตื่นเต้นน้อยลงเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์จริง ๆ

และอันดับสุดท้ายต้อง ปล่อยวาง เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นแล้วล้วนไม่สามารถย้อนเวลากลับไปเปลี่ยนแปลงได้ คง จะมีแต่จิตใจของคนคนนั้นที่พอจะเปลี่ยน แปลงหรือเยียวยาให้ดีขึ้นได้ ซึ่งการคิดแบบยึดติดกับอดีต หรือโทษตัวเองนั้นไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาให้ดีขึ้น แต่กลับทำให้โศกเศร้าเสียใจและเกิดความวิตกกังวลยาวนานขึ้น จนบางครั้งอาจถึงขั้นเจ็บป่วยหรือเป็นโรคซึมเศร้าได้ หากใครที่ไม่สามารถควบคุมความวิตกกังวลได้เลยหรือมีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วยควรไปพบจิตแพทย์เพื่อพูดคุยถึงแนวทางการผ่อนคลายความเครียดหรือรับการรักษาจะช่วยบรรเทาอาการที่เป็นอยู่ได้

ถึงแม้ว่าการยอมรับสภาพปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจริงจะไม่สบายใจและเป็นทุกข์ แต่ก็เป็นแค่ช่วงแรกเท่านั้น หากเราสามารถปรับตัวหรือมีช่องระบายความเครียด เช่น พูดคุยกับคนอื่นและได้รับความช่วยเหลือที่จำเป็น ในที่สุดแล้วก็จะค่อย ๆ ผ่านวิกฤติปัญหาไปได้อย่างเหมาะสมและจะทำให้เรามีภูมิคุ้มกันความเครียดติดตัวไว้เป็นเครื่องป้องกันจิตใจต่อปัญหาต่าง ๆ ที่ต้องเผชิญในอนาคต.

ที่มา: เดลินิวส์ 11 พฤษภาคม 2557

ชีวิตหลังแต่งงาน ลดหรือเพิ่ม ปัญหาสุขภาพ

dailynews140303_001จากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐมิชิแกน พบว่า การแต่งงานเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดต่อความสัมพันธ์ทางสังคมที่ส่งผลต่อสุขภาพ

ดร.หลิว กล่าวว่า การแต่งงานที่มีความสุขจะช่วยสุขภาพทางกายภาพแข็งแรงขึ้น แต่ในทางตรงกันข้าม ความเครียดจากการแต่งงานที่ไม่มีความสุข อาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า และนำไปสู่พฤติกรรมที่ทำลายสุขภาพเช่น การสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนั้นยังเพิ่มระดับฮอร์โมนความเครียดของร่างกาย ซึ่งฮอร์โมนเหล่านี้อาจส่งผลให้ความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจจะเพิ่มขึ้นและในที่สุดนำไปสู่โรคหัวใจ จึงเป็นไปได้ว่าความสุขของการแต่งงานมีอิทธิพลต่อสุขภาพทางกายและการงาน

ผลวิจัยล่าสุดจากมหาวิทยาลัยยูทาห์ พบว่า คนที่คิดว่าคู่ของตนไม่สนับสนุนซึ่งกันและกัน มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคหัวใจ ส่วนคู่สมรสใดที่รู้สึกว่าบางครั้งก็เกื้อกูลกันแต่บางครั้งก็ไม่ เสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดแดง และเสี่ยงจะเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

ไม่เพียงเท่านั้น การศึกษาล่าสุดจากมหาวิทยาลัยยูซีแอลเอ บ่งชี้ว่า การแต่งงานอาจส่งผลดีกับกระดูกของผู้ชาย โดยผู้ชายที่ชีวิตครอบครัวมั่นคงจะมีกระดูกที่แข็งแกร่งกว่าคนยังโสดหรือหย่าร้าง

ไม่ว่าอย่างไร ชีวิตหลังแต่งงานไม่ได้มีผลกับบุคคลใดบุคคลหนึ่งเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อคู่สมรสและทุกคนในครอบครัวอีกด้วย

ทีมเดลินิวส์ออนไลน์

ที่มา : เดลินิวส์  3 มีนาคม 2557

.

Related Article:

.

dailymail140228_001

Could a bad marriage kill you? Stress of a bad relationship can lead to heart disease, doctors warn

  • People in an unhappy marriage are also at higher risk of depression
  • The stress of a bad marriage can raise blood pressure and heart rate
  • This can eventually lead to heart disease

By EMMA INNES

PUBLISHED: 14:28 GMT, 28 February 2014

Everyone knows that being in an unhappy marriage can make people miserable.

But now, researchers have suggests it could even prove fatal.

U.S. researchers believe that an unhappy marriage can cause stress which, in turn, affects physical health.

They believe people who are unhappy with their spouse could be at higher risk of depression, high blood pressure and even heart disease.

As a result, the scientists at Michigan State University are set to study how marriage affects cardiovascular health.

They say this is particularly important at a time when one in four people in the U.S. die of heart disease.

Dr Hui Liu, the lead researcher, said: ‘The importance of this study is highlighted by the continued high prevalence of cardiovascular disease in the United States.

‘We plan to provide nationally representative evidence on how marriage affects cardiovascular health and elucidate the multiple mechanisms in this relationship. The findings will have important implications for health policy and practice.’

The researchers say most cases of heart disease are preventable meaning identifying risk factors is crucial to the design of effective prevention strategies.

Dr Liu explained that scientists have long believed marriage to be the most important social relationship affecting health.

She believes, for example, that a happy marriage offers support and enhances physical health.

In contrast, she says the stress of an unhappy marriage can cause depression.

This, she says, can promote unhealthy habits, such as smoking and drinking, and can increase the body’s levels of stress hormones.

These hormones can result in raised blood pressure and heart rate eventually leading to heart disease.

dailymail140228_001a

Dr Liu’s theory is supported by previous research which has shown that the happiness of marriage has a powerful influence on physical health.

Recent research from the University of Utah revealed that people who think their partner is not supportive are more likely to develop heart disease.

Scientists found that people who say their spouse is sometimes supportive but also sometimes upsetting have higher levels of artery calcification.

This suggests their arteries are diseased and they are at greater risk of premature death.

Another recent study, from UCLA, revealed that marriage is also good for a man’s bones.

It showed that men in stable marriages have stronger bones than those who are single or divorced.

The researchers are not clear as to the reasons behind this finding.

SOURCE: www.dailymail.co.uk

ห่วงคนไทยเสพโซเซียลยามดึก เสี่ยง ‘โรคต้อหิน’ ทำตาบอดได้

thairath140405_002กระทรวงสาธารณสุขเตือนคนปิดไฟดูทีวี สมาร์ทโฟนในความมืด เสี่ยงเกิดโรค “เทคโนโลยีซินโดรม” สร้างความเครียดผู้ใช้ ทำให้ความดันในลูกตาสูง เสี่ยงเกิดโรคต้อหินถึงขั้นตาบอดได้ แนะอายุ 40 ปี พบจักษุแพทย์ปีละ 1 ครั้ง เพื่อตรวจค้นหาโรคต้อหิน โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวาน เสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้สูงกว่าคนทั่วไป 5-7 เท่าตัว…

เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 57 นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า วันที่ 6 มีนาคมของทุกปี เป็น “วันต้อหินโลก” ซึ่งโรคต้อหิน (Glaucoma) เป็นสาเหตุตาบอดอันดับ 2 ของโลก รองจากตาต้อกระจก ประมาณการว่า มีคนตาบอดทั่วโลก 4.5 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นถึง 11.2 ล้านคน ในปี พ.ศ.2563 ผู้ป่วยโรคต้อหินส่วนใหญ่ร้อยละ 90 มักจะไม่ค่อยรู้ตัวมาก่อน เนื่องจากโรคต้อหินมีอาการค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้น องค์กรต้อหินโลก (World Glaucoma Association) ซึ่งมีสมาชิกที่เป็นชมรม หรือสมาคมแพทย์ต้อหินจากกว่า 75 ประเทศทั่วโลก จึงได้รณรงค์ให้ทราบถึงอันตรายของโรคต้อหิน เพื่อป้องกันตาบอดและสูญเสียการมองเห็น นอกจากนี้ ยังให้ตระหนักถึงความสำคัญของการตรวจตา และการดูแลถนอมดวงตาให้เป็นปกติให้ได้นานมากที่สุด

สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากสถิติสาธารณสุข ปี 2555 พบผู้ป่วยโรคต้อหิน ทั่วประเทศ 17,687 ราย ชายหญิงพอๆ กัน พบมากสุดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4,831 ราย ภาคกลาง 4,352 ราย กรุงเทพมหานคร 3,486 ราย ภาคเหนือ 3,084 ราย และภาคใต้ 1,934 ราย โดยในคนปกติทั่วไปที่อายุ 40 ปีขึ้นไป มีโอกาสเป็นโรคต้อหินประมาณร้อยละ 1 ส่วนผู้ที่เป็นโรคเบาหวานมีโอกาสเป็นต้อหินมากถึงร้อยละ 5-7 หรือมากกว่าคนปกติ 5-7 เท่าตัว แนวโน้มผู้ป่วยโรคนี้ จะมากขึ้นตามจำนวนผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งขณะนี้ไทยมีประมาณ 3.5 ล้านคน ได้กำชับให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ รณรงค์ให้ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป พบจักษุแพทย์เพื่อตรวจตาปีละ 1 ครั้ง และผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป พบจักษุแพทย์ปีละ 2 ครั้ง เพื่อตรวจหาโรคแต่เนิ่นๆ จะช่วยลดปัญหาการสูญเสียการมองเห็นจากโรคต้อหินได้ จัดบริการตรวจตาให้ผู้ป่วยเบาหวานทุกราย เพื่อค้นหาโรคและรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ

ทางด้าน นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ ผู้เชี่ยวชาญโรคตาประจำโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี กล่าวว่า โรคต้อหิน เป็นกลุ่มโรคของดวงตา โรคนี้จะมีการทำลายของเส้นประสาทตาจากหลายสาเหตุ ที่สำคัญคือ เกิดจากความดันในลูกตาสูง ทั้งจากการสร้างน้ำในลูกตามากเกินไป หรือระบายออกน้อยเกินไป ซึ่งอาจเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน หรือค่อยๆ เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ คนเป็นจะไม่รู้ตัว ขึ้นกับชนิดของต้อหิน แล้วมีผลให้ลานสายตาแคบลงเรื่อยๆ จนสูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการรักษาโรคนี้และได้ผลดี ทั้งการใช้ยาหยอดตา เลเซอร์ ผ่าตัด มีเครื่องมือที่สอดไปเพื่อระบายน้ำในลูกตา อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับการตรวจและให้การรักษาอย่างทันท่วงทีเป็นเรื่องสำคัญมาก หากปล่อยทิ้งไว้จนสูญเสียการมองเห็น แม้จะรักษาความดันได้เป็นปกติ แต่สายตาจะไม่กลับคืนเป็นปกติ หรือเรียกว่า สูญเสียอย่างถาวร หากบอดแล้วบอดเลย หรือตาพร่ามัวตลอดชีวิต

“ที่น่าห่วงเป็นอย่างยิ่งในขณะนี้ พบว่า สาเหตุสำคัญของการเกิดโรคต้อหิน อีกอย่างหนึ่งคือความเครียด ทำให้เกิดความดันลูกตาขึ้นได้ ซึ่งขณะนี้ประชาชนมีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้นทั้งคอมพิวเตอร์ มือถือ โทรทัศน์ จนทำให้เกิดปัญหาที่เรียกว่า เทคโนโลยีซินโดรม ซึ่งเทคโนโลยีซินโดรม ไม่ได้ทำให้เกิดจุดรับภาพจอตาเสื่อม หรือตาบอด แต่จะทำให้เกิดความล้าของสายตา ตาแห้ง เนื่องจากต้องใช้สายตาเพ่งที่ภาพ หรือตัวอักษรที่มีขนาดเล็กและอยู่ในจอ การเพ่งจะทำให้ม่านตาขยายใหญ่ขึ้นกว่าปกติ โดยเฉพาะผู้ที่นิยมปิดไฟดูทีวี เล่นสมาร์ทโฟน ไอแพด มีแอพพลิเคชั่นมากๆ ไม่ว่าจะเป็นเฟชบุ๊ก หรือไลน์ต่างๆ การส่องไฟฉายอ่านหนังสือ จะมีความเสี่ยงเกิดเทคโนโลยีซินโดรมได้ง่าย เพราะต้องใช้สายตากำกับตลอดเวลา จะทำให้กล้ามเนื้อตาล้า ตาแห้ง เครียดตลอดเวลา ยิ่งรายละเอียดเยอะ ตายิ่งทำงานหนัก” นพ.ฐาปนวงศ์ กล่าว

นพ.ฐาปนวงศ์ กล่าวอีกว่า การใช้เทคโนโลยีมาก ไม่ว่าจะดูเพื่อความบันเทิง ดูข่าวสารทั่วโลกนาน คุยกัน ความระทึกต่างๆ จะทำให้ผู้ใช้เกิดความเครียด โดยอาการเตือนของความเครียด จะเริ่มรู้สึกแสบตา ตาแห้ง น้ำตาไหล กะพริบตาบ่อย ปวดเมื่อยล้าที่กระบอกตา สายตาพร่า มองเห็นไม่ชัด บางคนมีอาการปวดศีรษะไมเกรนร่วมด้วย วิธีรักษาด้วยตนเอง สามารถทำได้ง่ายๆ คือให้นอนหลับเป็นเวลา 7 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ ซึ่งจะเป็นการรักษาที่ให้ผลดีที่สุด และดื่มน้ำบ่อยๆ เพื่อเพิ่มน้ำให้ตาให้ชุ่มชื้นขึ้น หรือทำประคบเย็น โดยให้ใช้ผ้าขนหนูหนา หรือผ้าเช็ดหน้าพับ 3 ส่วน นำไปแช่น้ำที่มีน้ำแข็งจนเย็น บิดหมาดๆ วางปิดตั้งแต่ขมับให้ทับพาดผ่านดวงตา เว้นสันจมูก ไปถึงขมับอีกข้าง ถ้าเย็นเกินไปให้เอาออก หากหายเย็นให้นำไปแช่น้ำเย็นใหม่อีกครั้ง ติดต่อกันอย่างน้อย 20 นาที พัก 1 นาที วันละ 2 หน จะช่วยลดความเครียด เพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา นอกจากนี้ ควรเปิดไฟดูทีวี การอ่านหนังสือในที่แสงสว่างเพียงพอ ดีที่สุดควรใช้เทคโนโลยีเท่าที่จำเป็น ใช้ให้ปลอดภัย เหมาะสม คือใช้นานประมาณ 25 นาที และให้พัก 5 นาที หรือใช้นาน 30 นาที และพัก 10 นาที เปลี่ยนอิริยาบถสลับกันไป จะช่วยได้ให้เหมาะสม ถ้าไม่จำเป็นอย่ายุ่งกับเทคโนโลยี ให้ควบคุมใจตัวเอง

ทั้งนี้ ผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2551 พบคนไทย อายุ 6 ปีขึ้นไป ดูทีวี 57 ล้านคน และล่าสุด ปี 2555 คนไทยใช้คอมพิวเตอร์  21 ล้านกว่าคน ใช้โทรศัพท์มือถือ 44 ล้านกว่าคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในกรุงเทพมหานครมากที่สุดร้อยละ 84 ภาคกลางร้อยละ 75  ภาคเหนือร้อยละ 68 ภาคใต้ร้อยละ 67 ต่ำสุดภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 64

 

ที่มา : ไทยรัฐ 5 มีนาคม 2557