‘เมื่อฉันตรวจพบไวรัสตับอักเสบบี’

dailynews141221_04‘เมื่อฉันตรวจพบไวรัสตับอักเสบบี’ ตอนที่ 1

คุณสมพงษ์ หนุ่มใหญ่นักธุรกิจ รู้ว่าเป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบีมาตั้งแต่ตอนเรียนมหาวิทยาลัย เฝ้าติดตามห่าง ๆ มานานเพื่อนตัวนี้ก็ไม่ยอมไปไหน ระยะหลังเห็นข่าวคราวเซเล็บหลายต่อหลายคน ทั้ง ดีเจ นักร้อง ตลอดจนนักการเมืองใหญ่โต ป่วยด้วยโรคตับแข็ง หรือไม่ก็มะเร็งตับ ฟังแล้วก็เสียวไปถึงตับ สืบค้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต ยิ่งอ่านยิ่งกังวล มีคนแนะนำให้ไปตรวจนับไวรัสในเลือด ลองไปตรวจดูเอง เห็นผลแล้วเครียดหนัก คือมีไวรัสตั้งหกร้อยล้านตัวต่อซีซี นี่ตับฉันเป็นโรงงานผลิตไวรัสหรือนี่กระไร ไม่รู้จะทำอย่างไรกับชีวิต

คนไทยและชาวเอเชียเป็นแหล่งพาหะของไวรัสตับอักเสบบี ประเทศไทยตอนนี้พบประมาณ 3-5 คน ใน 100 คน จะพบน้อยก็เด็กรุ่นใหม่ที่ได้รับวัคซีนตั้งแต่แรกเกิดทั่วประเทศซึ่งเริ่มประมาณปี 2535 ฉะนั้นปัญหาก็จะเป็นกับคนรุ่นที่เกิดก่อนปีนั้น ปัญหาของบ้านเรายังอยู่ที่ไม่มีการตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบบี ผู้คนยังเข้าใจผิดกับเรื่องการติดต่อ ทำให้กลัวคนรังเกียจบ้าง เลยพยายามไม่ไปตรวจ หรือปกปิด ปัญหาใหญ่อีกประการคือ ทั้งคนที่รู้ว่าเป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบีและแพทย์จำนวนหนึ่ง ยังเข้าใจกับคำว่าพาหะแบบผิด ๆ คือคิดว่าเป็นพาหะแล้วปลอดภัย ไม่เกิดปัญหา หรือมีเชื้ออยู่เฉย ไม่ต้องไปตรวจติดตามก็ได้ จนในที่สุดก็ลืมไป กลับไปหาแพทย์ก็ตอนเป็นมะเร็งตับไปแล้ว

ไวรัสตับอักเสบบีแบบเรื้อรัง ซึ่งบ้านเรามักจะติดมาจากมารดาขณะคลอด ทำให้เป็นเรื้อรังไปจนเป็นผู้ใหญ่ คนที่มีตับอักเสบเรื้อรังร่วมด้วยเมื่อปล่อยไปนาน ๆ เข้าโดยไม่ได้รับการรักษา จะเกิดภาวะตับแข็ง ตับแข็งระยะท้ายจนตับวาย และบางคนจะมีมะเร็งตับแทรกซ้อนขึ้นมา ทั้งไวรัสตับอักเสบบีกับไวรัสตับอักเสบซีมีการดำเนินโรคคล้าย ๆ กันตรงที่ ชอบที่จะอยู่แบบเงียบ ๆ เหมือนสนิมกัดกร่อนตับแบบที่เจ้าตัวไม่รู้ แต่เจ้าไวรัสบีตัวร้ายมีนิสัยประหลาดอยู่ที่ เมื่อเวลาผ่านไปจากไวรัสน้อยก็อาจเพิ่มจำนวนขึ้นมามาก ๆ วันดีคืนดีก็ก่อให้เกิดตับอักเสบแบบเฉียบพลันขึ้นมาเฉย มีตั้งแต่เป็นน้อยไม่แสดงอาการชัด แค่รู้สึกเพลีย ๆ ไปจนตาเหลืองตัวเหลือง บางคนถึงขั้นตับวายเสียชีวิต โดยเฉพาะคนที่ไปได้รับยากดภูมิต้านทานเช่น สเตียรอยด์ หรือยาเคมีบำบัด และที่พบบ่อยอีกกลุ่มคือ คนที่ทานยาต้านไวรัสแล้วเกิดเบื่อ แอบหยุดยาไปเอง หรือ เกิดดื้อยาระหว่างการรักษา พอไวรัสเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วจะเกิดภาวะตับอักเสบเฉียบพลันแทรกซ้อนขึ้นมา

ทุกคนที่มีไวรัสตับอักเสบบีแบบเรื้อรังเกิน 6 เดือน เรียกว่าเป็น “พาหะไวรัสตับอักเสบบี” หรือ มักจะได้ยินคนพูดตามภาษาอังกฤษแบบสั้น ๆ ว่า “แคร์ริเออร์” ตัดมาจากคำว่า Viral hepatitis B carrier แปลว่า มีไวรัสบีอยู่ในร่างกายและสามารถแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้ แปลแค่นี้ ไม่ได้แปลว่าเป็นพาหะแล้วตัวเองปลอดภัยโดยทั่วไปแบ่งพาหะไวรัสตับอักเสบบีออกเป็น 4 ระยะ คือ

(1) พาหะตอนเด็ก (immune tolerance) ไวรัสในเลือดมากแต่ไม่มีการอักเสบของตับ ต่างคนต่างอยู่

(2) ระยะที่เริ่มมีการอักเสบทำลายไวรัส (immune clearance) ระยะนี้ภูมิต้านทานของร่างกายเริ่มแข็งแรงขึ้นจึงไปทำลายไวรัสในตับทำให้เกิดตับอักเสบขึ้น เกิดขึ้นตอนเข้าสู่วัยรุ่นหรือบางคนยาวไปจนอายุยี่สิบกว่าปี ถ้าทำลายไวรัสสำเร็จจะเข้าสู่ระยะที่สาม แต่ถ้าทำลายไวรัสไม่ได้สักทีหลายปีไม่ยอมหายเราเรียกว่า ตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสตับอักเสบบี ระยะอีบวก [แพทย์ใช้อีโปรตีน (HBeAg) เป็นตัวแบ่งระยะโรค] ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม หลายคนจะตามมาด้วยภาวะตับแข็งและมีโอกาสเป็นมะเร็งตับสูง

(3) ระยะพาหะชนิดเชื้อน้อย (inactive carrier) ภูมิต้านทานของร่างกายควบคุมไวรัสได้สำเร็จ จนไวรัสในเลือดลดลงมากจนน้อยกว่า 10,000 ตัวต่อซีซี (copies/mL) หรืออาจจะใช้หน่วยเป็นน้อยกว่า 2,000 ยูนิตต่อซีซี (IU/mL) ซึ่งระยะนี้จะไม่มีการอักเสบของตับ โดยค่า SGOT/SGPT จะอยู่ในเกณฑ์ปกติ ผู้ที่อยู่ในระยะนี้ และคงอยู่อย่างนี้ไปนาน ๆ โอกาสกลายเป็นตับแข็งจะน้อยกว่าระยะอื่น โอกาสการเป็นมะเร็งตับก็น้อยกว่าระยะอื่น แต่ไม่ได้หมายถึงว่าไม่มีโอกาสเป็นมะเร็งตับ ผู้ที่อยู่ในระยะนี้บางคน ภูมิของร่างกายดีขึ้นไปอีกจนกำจัดไวรัสได้เกือบราบคาบ จนไวรัสหายไป [ตรวจผิวไวรัสบีเป็นลบ (HBsAg)] บางคนเกิดภูมิต้านทานต่อไวรัสบี (AntiHBs) ขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งเราเห็นกันได้บ่อย ๆ ว่าทำไมคนบางคนไปตรวจเช็กเลือดแล้วพบว่าตัวเองมีภูมิต้านทานไวรัสบีอยู่แล้วทั้ง ๆ ที่ไม่เคยไปฉีดวัคซีนมาก่อน บางท่านไวรัสนอนนิ่งอยู่นานอยู่ดี ๆ ก็เพิ่มจำนวนขึ้นเข้าสู่ระยะต่อไปคือ

(4) ระยะตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสบี ชนิดอีลบ (immune reactivation) คือไวรัสเกิดหาหนทางสำเร็จในการดื้อต่อภูมิของร่างกาย เปลี่ยนแปลงร่างจนภูมิของร่างกายควบคุมไว้ไม่ได้ ไวรัสเพิ่มจำนวนมากขึ้น ในที่สุดก่อให้เกิดภาวะตับอักเสบขึ้นมาใหม่ แพทย์ใช้คำว่า “อีลบ” ต่อท้ายเพื่อแบ่งระยะโรคว่าแตกต่างกับระยะที่สองที่เรียก “อีบวก” โดยดูจากโปรตีนอี (HBeAg) เป็นลบในเลือด เช่นเดียวกับระยะที่สอง ถ้าปล่อยไว้ไม่รักษาตับก็จะถูกทำลายไปเรื่อย ๆ จนเกิดภาวะตับแข็งและมะเร็งตับได้ ที่สาธยายมานี้ก็เพื่อผู้อ่านบางท่านที่อยากจะรู้ลึกและเข้าใจโรคมากขึ้น แต่ผู้ที่อ่านแล้วไม่เข้าใจ ก็ไม่ต้องใส่ใจมากเพราะจะเครียดไปเปล่า ๆ แค่เป็นโรคก็เครียดพอแล้ว

เอาเป็นว่าใครก็ตามที่เข้าสู่วัยอายุยี่สิบกว่า ๆ ก็สมควรเข้าสู่ระยะที่ (3) ระยะพาหะเชื้อน้อย คือมีไวรัสในเลือดน้อยกว่า 10,000 ตัวต่อซีซี ร่วมกับไม่มีภาวะตับอักเสบ (SGOT/SGPT อยู่ในเกณฑ์ปกติ) ถ้าอยู่ในระยะนี้ จะปลอดภัยกว่าระยะอื่น ไม่ต้องให้ยารักษา เอาแค่ติดตามกับแพทย์อย่างต่อเนื่อง คอยระวังไวรัสตื่นขึ้นมาใหม่ หรือ คอยระวังมะเร็งตับ แต่อย่าไปเครียดมาก คิดเสียว่าไวรัสเป็นเพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตาย อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข เมื่อไหร่ไวรัสมันเบื่อ ก็อาจจะยอมถอยร่นหายไปจากตับตามที่ได้กล่าวมา อย่าลืมต้องออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทำจิตใจให้ผ่องใส ภูมิต้านทานจะได้แข็งแรงไปช่วยกำจัดไวรัสที่หลงเหลืออยู่ บางท่านเล่าว่า เขาแผ่เมตตาให้มันบ่อย ๆ ขู่มันเป็นพัก ๆ บอกไวรัสว่า ถ้ามาเล่นงานจนเขาเป็นอะไรไป ไวรัส! เจ้าก็จะไม่มีที่อยู่ที่กินนะ จะบอกให้

ใครก็ตามเมื่อวัยยี่สิบกว่า ๆ แล้ว ไวรัสมีจำนวนมากกว่า 10,000 ตัวต่อซีซี โดยมากจะมีไวรัสเป็นหลายแสน หลายล้าน หลายร้อยหลายพันล้าน ซึ่งถ้าติดตามผลเลือดเป็นระยะ ๆ ก็จะพบค่าการอักเสบสูงเกินค่าปกติ (คนที่ไวรัสเกินหนึ่งหมื่นถึงแสนต้น ๆ มักไม่มีตับอักเสบ) คนอยู่ในเกณฑ์นี้แล้วไวรัสไม่ยอมลดลงเอง ควรพิจารณาให้การรักษา ซึ่งต้องพิจารณาหลายปัจจัยร่วมด้วย ดังนั้นต้องปรึกษาแพทย์ผู้รู้และปรึกษาตนเองหลังได้คุยกับแพทย์ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ ว่าสมควรรักษาหรือยัง หรือจะเลือกการรักษาด้วยวิธีใด

การรักษาไวรัสตับอักเสบบี ก็เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลร้ายที่กล่าวข้างต้น คือ ตับอักเสบ ตับแข็ง ตับวาย และมะเร็งตับ มีทั้งงานวิจัยและประสบการณ์ตรงยืนยันแน่ชัดว่า แม้ตับเข้าสู่ระยะตับแข็งและตับเริ่มวายไปแล้ว พอได้ยาต้านไวรัส กดไวรัสไม่ให้โงหัวขึ้นมา ผ่านไประยะหนึ่ง ตับจะฟื้นตัวกลับมาทำงานปกติ พังผืดและตับแข็งก็หายได้ ในงานวิจัยเดียวกันในผู้ป่วยตับแข็ง ก็มีตัวเลขทางสถิติชี้บ่งว่า โอกาสการเกิดมะเร็งตับก็ลดลง ฉะนั้นเมื่อมีข้อบ่งชี้ว่าควรรักษาก็ต้องรักษา

การให้ยารักษาไวรัสตับอักเสบบี มีหลักในการหายอยู่สองประเภทคือ การหายระยะที่หนึ่ง คือรักษาให้โรคกลับเข้าสู่ระยะที่สามคือ ให้กลับเข้าสู่ระยะพาหะเชื้อน้อย หรือไวรัสน้อย ๆ และตับไม่อักเสบ เท่านี้ก็เรียกว่าดีมากแล้ว ผู้รับการรักษาอย่างน้อยถ้าจะหวังก็หวังแบบนี้เป็นแบบแรก การหายระยะที่สอง คือ รักษาจนไวรัสหมดไปคือ ผิวไวรัส (HBsAg) เป็นลบ และบางคนถึงขั้นเกิดภูมิต้านทานไวรัสขึ้น (AntiHBs) โอกาสถึงระยะนี้อาจจะประมาณ 3-5 คนต่อ 100 คน (เมื่อรักษาด้วย อินเตอร์เฟียรอน)

ก่อนการรักษาแพทย์จะมีการตรวจวัดสิ่งต่าง ๆ หลายประการ ได้แก่ ตรวจเลือด นับจำนวนไวรัส (Hepatitis B viral load) ตรวจค่าการทำงานตับ ตรวจนับเม็ดเลือด (CBC) ตรวจค่ามะเร็งตับ (AFP) ตรวจค่าการแข็งตัวของเลือด (INR) ตรวจโปรตีนอีของไวรัส (HBeAg) ภูมิต่อโปรตีนอี (AntiHBe) และ ปริมาณผิวของไวรัส (HBsAg quantitative) นอกจากนี้จะมีการตรวจเพื่อดูเนื้อตับว่าเป็นอย่างไรด้วยการทำอัลตร้าซาวด์ หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือ ตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) และ ปัจจุบันมักจะตรวจวัดความหนาแน่นของตับ (liver stiffness) เพื่อบอกว่าตับมีพังผืดมากน้อยอย่างไร แข็งหรือยัง และบางกรณีจะมีการตรวจเนื้อตับโดยตรงด้วยการเจาะตับ (liver biopsy) อ่านถึงตรงนี้คงขวัญหนีดีฝ่อเมื่อได้ยินคำว่าเจาะตับ อย่ากังวลไป ปัจจุบันมักไม่ใช้การเจาะตับกับทุก ๆ คน จะทำเมื่อมีข้อบ่งชี้ หรือใช้ช่วยการตัดสินใจในการรักษา

ข้อมูลจาก นายแพทย์ ดร.ปิยะวัฒน์ โกมลมิศร์ และ นายแพทย์สมบัติ ตรีประเสริฐสุข ศูนย์โรคตับ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์

ที่มา: เดลินิวส์ 21 ธันวาคม 2557

‘ตับอักเสบ – ตับแข็ง’

dailynews141012_02

‘ตับอักเสบ – ตับแข็ง’ ตอนที่ 1 ทบทวนสาเหตุ 10 ประการ

คนทั่วไปเวลาได้ยินคำว่า ตับอักเสบหรือตับแข็ง มักจะคิดถึงการดื่มแอลกอฮอล์เกินขนาด ก่อนอื่นช่วยกันล้างสมองเอาความคิดนี้ทิ้งไปก่อน แล้วเริ่มกันใหม่ ๆ จริง ๆ แล้วมีโรคมากมาย โรคอะไรก็ตามที่ไปทำลายตับแบบเรื้อรังย่อมทำให้เกิดเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรังได้ เมื่อเป็นไปนาน ๆ หลายปีก็จะกลายเป็นตับแข็ง เพราะฉะนั้น ตับแข็งก็ไม่จำเป็นต้องเกิดจากเหล้าเสมอไป บ้านเราสาเหตุที่พบได้บ่อยคือ ไวรัสตับอักเสบบี ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินขนาด ไวรัสตับอักเสบซี ไขมันเกาะตับ นอกนั้นยังมีสาเหตุอื่น ๆ ที่พบรอง ๆ ลงไป ดูได้จากตารางข้างล่าง สาเหตุของตับอักเสบเรื้อรังพอจะแบ่งเป็นกลุ่มโรคได้หลายกลุ่ม ดังนี้

เมื่อท่านอ่านมาถึงตรงนี้ สำหรับท่านที่ต้องการความรู้เบื้องต้นก็อ่านผ่านตาที่ตารางข้างต้น สำหรับหลายท่านที่ประสบปัญหากับโรคตับอักเสบเรื้อรัง ขอให้อ่านต่อเฉพาะโรคที่แพทย์ให้การวินิจฉัย หรืออ่านไปถามแพทย์ เผื่อว่าแพทย์ยังไม่ได้ทำการวิเคราะห์หาสาเหตุเหล่านั้น และที่สำคัญก็เพื่อทำความเข้าใจในแต่ละสาเหตุที่ท่านเป็นอยู่ ผู้ป่วยหลายท่านที่เป็นโรคประหลาด ๆ ก่อให้เกิดปัญหากับตับท่านนั้น จะหาอ่านข้อมูลที่เป็นภาษาไทยได้ค่อนข้างยาก แพทย์ก็ยังไม่รู้จะบัญญัติศัพท์ภาษาไทยอะไรมาบอกท่าน ได้แต่พูดเป็นภาษาอังกฤษที่ไม่ได้สื่อความหมายอะไร ติดตามศึกษาจากบทความตามนี้พอสรุปให้ท่านทราบได้พอสังเขป

โรคตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัส

ไวรัสบีและไวรัสซีเป็นปัญหาใหญ่สำหรับบ้านเราและทั้งโลก ว่าไปแล้วถ้านับไปเรียงตัว ท่านทราบหรือไม่ว่า คนไทยทุก ๆ 12 คนจะมี 1 คนที่มีไวรัสตับอักเสบบีหรือซีซ่อนอยู่ 1 คน คนไทย 65 ล้านคน มีไวรัสบีประมาณ 3 ล้านกว่าคน มีไวรัสซีประมาณ 1 ล้านกว่าคน ปัญหาใหญ่ของไวรัส 2 ตัวนี้คือ แอบซ่อนอยู่แบบไม่แสดงอาการ หรือบางท่านรู้ทั้งรู้แต่ไม่ได้ใส่ใจรักษา ปล่อยไวรัสทำลายตับไปนาน ๆ คล้าย ๆ เป็นสนิมอยู่ในตับ ตับก็ถูกกัดกร่อนไปเรื่อย ๆ ผ่านไป 20-30 ปีก็จะเข้าสู่ระยะตับแข็งแบบไม่รู้ตัว ตับแข็งต่อไปอีกสัก 10 ปีจึงค่อย ๆ แสดงอาการบวมที่ขา ท้องโต สับสน อาเจียนเป็นเลือด หรือบางคนก็เกิดเป็นมะเร็งตับแทรกขึ้นมา

โรคตับจากแอลกอฮอล์

ส่วนใหญ่ท่านที่ดื่มแอลกอฮอล์จัดจนเกิดปัญหา อ่านถึงบรรทัดนี้ก็คงรีบปิดหนังสือ เพราะอย่างไรก็ไม่ยอมหยุดดื่ม นี่สิเรื่องใหญ่ พวกที่ยอมเชื่อก็จะลองหยุดเหล้าแล้วไปดื่มไวน์แทน เพราะหลอกตัวเองว่าไวน์มันเบากว่าเหล้า ว่าเข้าไปนั่น ยกคำที่หมอหัวใจชอบเอามาโฆษณาว่าช่วยเรื่องหัวใจและหลอดเลือดสุขภาพดีอีกต่างหาก แพทย์ก็บอกว่าไม่ได้ ต้องหยุดไวน์ ท่านเหล่านั้นก็หลบไปดื่มเบียร์ เพราะอ้างว่าเบียร์มีแอลกอฮอล์น้อย ไม่สร้างปัญหา แพทย์ก็ต้องขอร้องต่อไปว่า เบียร์ก็ไม่ได้เพราะดื่มมาก ๆ ก็ได้แอลกอฮอล์เข้าไปเยอะเช่นกัน ท่านรู้มั้ย กิเลสที่สิงสู่ในคนติดเหล้าบอกให้เจ้าตัวทำอย่างไรต่อ ท่านเหล่านี้ก็จะกลับมาด้วยการดื่มไลท์เบียร์ ภาษาอังกฤษคำว่า ไลท์ (Light) แปลว่า เบา ก็คือเบียร์ เบา ๆ เบียร์บาง ๆ ทราบหรือไม่ ไลท์เบียร์ของไทยปริมาณแอลกอฮอล์ใกล้เคียงกับเบียร์มาตรฐานทั่วไป

โรคภูมิต้านทานไปทำลายเนื้อเซลล์ตับ เรียกภาษาแพทย์ว่า ออโต้อิมมูน เฮ็บปาไตติส (Autoimmune hepatitis) “ออโต้” แปลว่า ต่อตัวเอง “อิมมูน” แปลว่า ภูมิต้านทาน “เฮ็บปาไตติส” แปลว่า ตับอักเสบ เมื่อแปลโดยรวมก็คือ โรคตับอักเสบที่เกิดจากภูมิต้านทานของตัวเองต่อตับ ผู้ที่เป็นก็จะเกิดมีตับอักเสบเรื้อรังเป็นส่วนใหญ่ เป็นแบบกัดกร่อนไปทีละน้อย หรือเกิดอักเสบแบบรุนแรง บ้างก็รุนแรงจนเกิดภาวะตับวาย โรคนี้มักจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย แพทย์จะให้การวินิจฉัยได้ด้วยการตรวจเลือดหาค่าเลือดบางอย่าง ที่ช่วยชี้แนะว่าอาจจะมีโรคนี้ซ่อนอยู่ ได้แก่ Antinuclear Antibody (ANA) และ Anti-smooth muscle antibody เป็นต้น และต้องตรวจหาว่าไม่มีโรคอื่น ๆ จากนั้นจะต้องตรวจดูเนื้อตับด้วยกล้องจุลทรรศน์ว่ามีลักษณะจำเพาะที่เข้าได้กับโรคนี้ โรคนี้รักษาได้ด้วยยากดภูมิ ได้แก่ สเตียรอยด์ เป็นต้น

โรคตับจากหัวใจวายเรื้อรัง

โรคนี้เกิดจากโรคหัวใจวายชนิดเรื้อรัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีหัวใจซีกขวาวายมาก ๆ ด้วยเหตุใดก็ตาม ในที่สุดเลือดก็จะคั่งอยู่ในตับ ตับขาดสารอาหารจากเลือด ความดันในตับสูง ตับโต ม้ามโต ตับอักเสบเรื้อรัง จนเกิดตับแข็งในที่สุด โรคนี้ต้องแก้ที่โรคหัวใจถึงจะผ่อนหนักให้เป็นเบาได้

ข้อมูลจาก นายแพทย์ ดร.ปิยะวัฒน์  โกมลมิศร์ ศูนย์โรคตับ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์.

นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์

ที่มา : เดลินิวส์ 12 ตุลาคม 2557

 

dailynews141019_01

‘ตับอักเสบ – ตับแข็ง’ ตอนที่ 2 สุรา นานาประเภทกับตับแข็ง

 โรคตับจากแอลกอฮอล์เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์มาก และดื่มมานานระยะหนึ่ง นานขนาดไหน ประมาณ 5-10 ปีขึ้นไป ก็ขึ้นกับปริมาณที่ดื่มด้วย เห็นอย่างนี้ไม่ใช่ชี้โพรงให้กระรอก เดี๋ยวก็บอกตัวเองว่า ดื่มแค่ 2-3 ปีก็พอให้สะใจแล้วจะหยุด อย่าลองแบบนั้น เพราะลองแล้วหยุดไม่ได้ ผู้หญิงโชคไม่ดีเกิดโรคตับจากแอลกอฮอล์ได้ง่ายกว่าผู้ชาย ไม่ว่าท่านจะดื่มแอลกอฮอล์ชนิดใดก็ตาม จะเป็นเหล้าขาว เหล้าแดง

วอดก้า ไวน์ขาว ไวน์แดง เบียร์ ลาร์คเกอร์ ถ้าดื่มมากถึงระดับหนึ่งก็เกิดปัญหากับตับได้เช่นกัน ถ้าจะดื่มก็ขอให้เป็นการดื่มเวลาเข้าสังคม ดื่มพอตึง ๆ ให้สนุกสนาน ดื่มแบบนี้ไม่เป็นอะไร แต่ก็อย่าอ้างว่าต้องเข้าสังคมทุกวัน เพื่อนคะยั้นคะยอ ผิดธรรมเนียมถ้าไม่ดื่ม เหล่านี้มักจะเป็นข้ออ้างของคนติดแอลกอฮอล์

ดื่มได้เท่าไรจะไม่เกิดโรคตับ เป็นคำถามที่พบบ่อย เพราะคนอยากดื่ม ถ้าพูดตามมาตรฐานโลกมีสถิติบอกไว้ว่า ผู้ชายดื่มได้ไม่เกิน 21 ยูนิต (ดริ๊งค์) ต่ออาทิตย์ ผู้หญิงดื่มได้ไม่เกิน 14 ยูนิต (ดริ๊งค์) ต่ออาทิตย์ คำว่า 1 ยูนิต เทียบเท่ากับแอลกอฮอล์ 8 กรัม ถ้าเทียบให้ง่ายขึ้น

เหล้าแดง (วิสกี้ 40%) 25 ซีซี เท่ากับ 1 ยูนิต

ไวน์ (12%) 1 แก้วเล็ก 175 ซีซี เท่ากับ 2 ยูนิต

ไวน์ (12%) 1 แก้วใหญ่ 250 ซีซี เท่ากับ 3 ยูนิต

เบียร์ (5%) 1 แก้วใหญ่ หรือ 1 ไพน์ (pint = 568 ซีซี) เท่ากับ 3 ยูนิต

ถึงตรงนี้ก็คงจะทำให้บางท่านสับสนมากขึ้น เอาเป็นว่าให้ดูจากตารางข้างล่างเป็นเกณฑ์จะง่ายกว่า ว่าในหนึ่งอาทิตย์ผู้ชายและผู้หญิงไม่ควรดื่มเกินกว่าเท่าใดตาราง แสดงปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์แต่ละชนิด ไม่ควรเกินเท่าใด ของผู้หญิงและผู้ชายภายในหนึ่งอาทิตย์

ชนิดของแอลกอฮอล์

หญิงดื่มไม่เกิน 14 ยูนิต ชายดื่มไม่เกิน 21 ยูนิต

ต่ออาทิตย์                     ต่ออาทิตย์

เหล้าแดง (Whisky 40%)

1 ขวดกลม (1,000 ซีซี) 1 ใน 3 ขวด                 ครึ่งขวด

ไวน์ (12%)

1 ขวด (750 ซีซี) 1 ขวดครึ่ง    2 ขวดครึ่ง

เบียร์ไทย (6.4%)

1 กระป๋อง (330 ซีซี)                7 กระป๋อง                       10 กระป๋อง

1 ขวดใหญ่ (640 ซีซี)               3 ขวดครึ่ง                      5 ขวดเบียร์ขนาดมาตรฐาน (5%)

1 กระป๋อง (330 ซีซี)                8 กระป๋อง                       12 กระป๋อง

1 ขวดใหญ่ (640 ซีซี) 4 ขวด   6 ขวดครึ่ง

ไลท์เบียร์ (3.5 – 4.2%)

1 กระป๋อง                           10 กระป๋อง                        15 กระป๋อง

หมายเหตุ  เหล้าขาวที่ชาวบ้านชอบดื่ม ปริมาณแอลกอฮอล์ใกล้เคียงหรือมากกว่าเหล้าแดงขึ้นอยู่กับวิธีการผลิต

แอลกอฮอล์ เมื่อดื่มเกินขนาดที่ควรนานถึงระยะเวลาหนึ่งจะก่อปัญหากับตับ 4 ประการ เริ่มแรกจะมีไขมันแทรกในตับมากขึ้น ตับค่อย ๆ โตขึ้น เมื่อดื่มมากต่อไปอีกจะเริ่มมีการอักเสบของตับแทรกอยู่ในเนื้อตับ เรียกว่า ตับอักเสบจากแอลกอฮอล์ ถ้ายังไม่หยุดดื่มก็จะเริ่มเข้าทางแบบโรคตับอักเสบเรื้อรังจากสาเหตุอื่น ๆ คือจะมีแผลเป็นหรือพังผืดแทรกกระจายไปทั่ว ๆ ตับ คือ ในตับจะมีทั้งไขมัน การอักเสบ และพังผืด เมื่อถึงระยะที่มีพังผืดกระจายทั่วตับจะเข้าสู่ระยะตับแข็ง และท้ายที่สุดก็จะมี มะเร็งตับ เกิดขึ้นที่ใดที่หนึ่ง คนที่ดื่มเหล้าจนตับแข็งโดยเฉพาะอย่างยิ่งเริ่มมีขาบวม ถ้ายังไม่หยุดดื่มภายใน 5 ปี มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของคนเหล่านี้จะเสียชีวิต หรือแปลให้ง่ายเข้า ถ้ามี 2 คน 1 ใน 2 คนจะเสียชีวิตในระยะ 5 ปี หรือเอาให้ง่ายขึ้นอีก ท่านลองหยิบเหรียญขึ้นมา แล้วก็โยนหัวโยนก้อยได้เลยว่าจะเสียชีวิตหรือไม่ในระยะ 5 ปี

รีบหยุดแอลกอฮอล์เสียตั้งแต่ระยะแรก ๆ หรือแม้จะเกิดตับแข็งมากแล้วก็ตาม ถ้าหยุดแอลกอฮอล์ได้ทัน ท่านก็โชคดี ตับฟื้นตัวได้ แข็งแล้วก็คืนกลับได้ อย่าหมดหวัง แต่ในชีวิตจริงแล้ว หลายคนยินดีไปเกิดใหม่อย่างทุกข์ทรมานมากกว่าที่จะหยุดแอลกอฮอล์

โรคตับจากไขมันแทรกตับ ปัจจุบันโรคไขมันแทรกตับกลับเป็นโรคที่พบได้บ่อยมากขึ้น เนื่องจากการทานอาหารที่ผิดวิธี ขาดการออกกำลังกาย ผู้คนทั้งเด็กและผู้ใหญ่น้ำหนักเกิน เป็นโรคอ้วน และโรคเบาหวาน ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ในอดีตเราคิดกันว่า ไขมันแทรกตับไม่มีผลเสียต่อการทำงานของตับ ไม่ก่อให้เกิดการอักเสบของตับ ปัจจุบันเป็นที่ทราบแล้วว่า คนที่มีไขมันแทรกตับมาก ๆ จะก่อให้เกิดภาวการณ์อักเสบของตับแบบเรื้อรัง ตับแข็ง และอาจมีมะเร็งตับตามมา

โรคตับที่เกิดจากท่อน้ำดีอุดตันแบบมีสาเหตุ

โรคนี้คล้ายกับโรคพีเอสซี (PSC) ที่เกิดจากภูมิต้านทาน แพทย์ใช้คำเรียกว่า เซ็คกันดารี่ สเกลอโรสซิ่ง คอแลงไจติส (Secondary sclerosing cholangitis) ใช้คำว่า เซ็คกันดารี่ ในความหมายคือ เกิดขึ้นจากสาเหตุที่หาได้ โรคนี้จะเกิดที่ท่อน้ำดีขนาดใหญ่ทั้งในและนอกตับ มีพังผืดยึดในท่อน้ำดีจนเกิดการตีบตันของท่อน้ำดี สาเหตุที่พบได้เกิดจากการติดเชื้อในท่อทางเดินน้ำดีอย่างรุนแรง เช่น มีนิ่วในท่อทางเดินน้ำดี มักเกิดในคนที่ภูมิต้านทานไม่ดี เป็นเบาหวาน เป็นต้น เมื่อท่อน้ำดีตีบ ก็จะเกิดการติดเชื้อซ้ำซาก ในที่สุดก็จะมีอาการตาเหลือง ตัวเหลือง ตับแข็ง และตับวายในที่สุด

ข้อมูลจาก นายแพทย์ ดร.ปิยะวัฒน์  โกมลมิศร์ ศูนย์โรคตับ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์

ที่มา : เดลินิวส์ 19 ตุลาคม 2557

 

dailynews141026_01

‘ตับอักเสบ–ตับแข็ง’ ตอนที่ 3 โรคภูมิต้านทานทำลายเนื้อเซลล์ตับและอื่น ๆ

มนุษย์เรามีภูมิต้านทานอยู่ในร่างกาย เอาไว้ทำหน้าที่หลาย ๆ อย่างที่สำคัญก็คือ คอยป้องกันร่างกายจากเชื้อโรคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส พยาธิ ไม่ให้เข้ามาภายในกระแสเลือด หรืออวัยวะต่าง ๆ หรือแม้แต่มีเชื้อโรคหลุดเข้ามาจากบาดแผล จากเข็มฉีดยา จากอะไรก็ตาม พอเข้ามาในเนื้อเยื่อหรือกระแสเลือด ภูมิของเราก็จะรู้ทันทีว่าเชื้อโรคเป็นสิ่งแปลกปลอม เมื่อร่างกายรู้ภูมิต้านทานก็จะส่งสารต่าง ๆ และเม็ดเลือดขาวชนิดต่าง ๆ เข้าไปทำลายเชื้อโรคเหล่านั้น

แต่ชีวิตไม่สวยหรูเช่นนั้นเสมอไป บางครั้งภูมิของร่างกายก็เกิดเพี้ยนขึ้นมาดันไปรับรู้ว่าร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นสิ่งแปลกปลอม เช่น ไปเห็นว่าผิวหนัง ไต หลอดเลือด ข้อกระดูก และอวัยวะหลาย ๆ แห่งเป็นสิ่งแปลกปลอม ก็จะส่งเม็ดเลือดขาวไปทำลายอวัยวะนั้น ๆ ท่านคงอาจจะได้ยินจากข่าวสารอยู่บ้าง มีดารา นักร้อง หรือผู้มีชื่อเสียงเป็นโรคที่เรียกว่า ลูปัส เป็นต้น

กลับมาที่ตับ มีโรคภูมิต้านทานต่อตัวเอง ที่ภูมิของร่างกายไปเห็นว่าเนื้อเยื่อบางส่วนของตับเป็นสิ่งแปลกปลอมของร่างกาย ก็จะทำแบบที่กล่าวข้างต้นคือส่งสารต่าง ๆ หรือเม็ดเลือดขาวเข้าไปทำลายเนื้อเยื่อตับส่วนนั้น ๆ

มีโรคตับเรื้อรังหลายชนิดที่จัดอยู่ในโรคภูมิต้านทานต่อตับ ได้แก่

โรคภูมิต้านทานไปทำลายท่อนํ้าดีขนาดเล็กในเนื้อตับ เรียกภาษาแพทย์ว่า ไพรมารี่ บิลิอารี่ เซอร์โรสิส (Primary billiary cirrhosis) แพทย์จะใช้คำย่อว่า พีบีซี (PBC) คำว่า “ไพรมารี่” ในความหมายนี้แปลว่า ไม่ทราบสาเหตุ “บิลิอารี่” แปลว่า ท่อนํ้าดี “เซอร์โรสิส” แปลว่า ตับแข็ง เมื่อแปลโดยรวมก็คือ โรคตับแข็งที่เกิดจากการอักเสบของท่อนํ้าดีโดยไม่ทราบสาเหตุ โรคชนิดนี้พบได้ในคนไทยเช่นกัน ที่คลินิกโรคตับของจุฬาฯ พบเกือบทุกเดือน เนื่องจากเป็นที่รวมของโรคตับที่แพทย์ทั่วไปวินิจฉัยไม่ได้ในเบื้องต้น ผู้ป่วยมักจะมาด้วยอาการคันตามร่างกาย เนื่องจากตับขับของเสียออกทางนํ้าดีไม่ได้ ค่าการทำงานตับจะมีความผิดปกติ เมื่อตรวจเลือดจะพบมีค่าที่เรียกว่า AMA (เอเอ็มเอ) ให้ผลบวก การเจาะตับตรวจเนื้อเยื่อจะช่วยในการวินิจฉัยและบอกถึงความรุนแรงของโรคได้ โรคนี้สามารถให้การรักษาด้วยยา เออโซดีออกซี่โคลิก แอสิด (ursodexycholic acid) ซึ่งก็เป็นนํ้าดีชนิดหนึ่งในร่างกาย ผู้ป่วยจะต้องทานยาไปตลอดชีวิต จะช่วยชะลอการทำลายของตับไปได้มากพอสมควร

โรคภูมิต้านทานไปทำลายท่อนํ้าดีขนาดใหญ่ เรียกภาษาแพทย์ว่า ไพรมารี่ สเกลอโรสซิ่ง คอแลงไจติส (primary sclerosing cholangitis) แพทย์มักจะใช้คำย่อว่า พีเอสซี (PSC) คำว่า “ไพรมารี่” ในความหมายนี้แปลว่า ไม่ทราบสาเหตุ “สเกลอโรสซิ่ง” แปลว่า เกิดพังผืด ในที่นี้คือพังผืดบริเวณท่อนํ้าดี “คอแลงไจติส” แปลว่า ท่อนํ้าดีอักเสบ เมื่อแปลโดยรวมหมายถึง โรคท่อนํ้าดีอักเสบจนเกิดเป็นพังผืดบริเวณท่อนํ้าดีโดยไม่ทราบสาเหตุ โรคนี้พบค่อนข้างน้อยในประเทศไทย ผู้ป่วยจะมาด้วยการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณท่อนํ้าดีหรืออาจเข้าสู่กระแสเลือด ตรวจพบค่าการทำงานตับผิดปกติ ส่องกล้องตรวจท่อนํ้าดีจะพบการตีบตันของท่อนํ้าดีในบริเวณต่าง ๆ ของท่อนํ้าดีขนาดใหญ่ทั้งในและนอกตับ การรักษาต้องใช้การส่องกล้องขยายท่อนํ้าดีที่ตีบ ใส่ท่อระบายช่วย หรือแม้แต่กระทั่งต้องเปลี่ยนตับเมื่อเป็นมาก ๆ เข้ายังไม่มียาที่ใช้ในการรักษาได้ผลดีโรคตับที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม

ยีนเป็นองค์ประกอบที่อยู่บนสายพันธุ กรรมที่อยู่ในใจกลางของเซลล์ เป็นตัวควบคุมกลไกทุกอย่างทางกายภาพของความเป็นเราเป็นเขา เช่น ความสูงต่ำ ดำขาว เป็นชายเป็นหญิง บางครั้งยีนเหล่านี้เกิดความผิดปกติ มีการเรียง

ตัวขององค์ประกอบของยีนผิดปกติไป มีโรคหลายชนิดที่เกิดจากความผิดปกติของยีน ทำให้เกิดตับอักเสบเรื้อรัง ในที่สุดก็ตับแข็ง โรคแรกเรียกตามชื่อผู้ค้นพบว่า โรควิลสัน (Wilson’s disease) ในประเทศไทยก็พบได้พอสมควร เกิดจากการที่ร่างกายขับถ่ายธาตุทองแดงออกจากตับไม่ได้ ในที่สุดธาตุทองแดงไปสะสมในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ที่สมอง ที่ตับ มักพบในวัยเด็ก วัยรุ่น และผู้ใหญ่ที่อายุไม่มากมาด้วยอาการตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง ซีด มือสั่น มีการเคลื่อนไหวของร่างกายบางส่วนผิดปกติ การรักษาของโรคก็มียาที่ใช้ขับธาตุทองแดงออก หรือลดการดูดซึมของธาตุทองแดง โรคที่สองเรียก เฮียริดิทารี่ ฮีโมโครมาโตสิส (Hereditary hemochromatosis) เกิดจากการมีธาตุเหล็กถูกดูดซึมเข้ามาในร่างกายมากกว่าปกติ นานเข้าก็ไปสะสมตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย จนมีผิวหนังสีบรอนซ์ กล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติ ตับอ่อนผิดปกติจนเกิดเบาหวานและตับแข็ง บ้านเราพบน้อยมาก มักจะเป็นในคนยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย การรักษาต้องใช้การเจาะเลือดทิ้งเป็นระยะ ๆ เพื่อเอาธาตุเหล็กออกจากร่างกาย คนไทยจะพบโรคธาตุเหล็กสะสม ในร่างกายมาก ๆ ก็ในโรคซีดจากพันธุกรรมที่เรียกว่า ธาลัสซีเมีย (Thalassemia) ชนิดที่รุนแรงซึ่งเป็นตั้งแต่เด็ก โรคนี้แก้ด้วยการเจาะเลือดทิ้งไม่ได้ เพราะซีดมากอยู่แล้ว โรคตับมักเป็นส่วนหนึ่งของอาการหลาย ๆ อย่าง มักจะแก้ไม่ได้ เปลี่ยนตับก็ทำไม่ได้โรคตับที่เกิดจากท่อเส้นเลือดออกจากตับอุดตัน

โรคนี้พบได้ประปรายในบ้านเรา ภาษาแพทย์เรียกตามชื่อแพทย์ 2 ท่านที่ค้นพบโรคนี้ว่า บัดด์ เคียรี่ ซินโดรม (Budd Chiari syndrome) เอาเป็นว่า เส้นเลือดเส้นใหญ่ที่ออกจากตับเพื่อไปยังหัวใจเกิดการอุดตันด้วยเหตุอะไรก็ตาม เช่น มีก้อนเลือดไปอุด มีผนังเนื้อเยื่อยื่นไปในเส้นเลือดทำให้เลือดไหลผ่านไม่ได้ เป็นต้น เมื่อเกิดการอุดตัน เลือดก็จะคั่งอยู่ในตับ ความดันในตับสูงมากขึ้น เลือดต้องหาทางออกไปทางอื่น ตับหลายส่วนขาดเลือดไปเลี้ยง ในที่สุดเซลล์ตับก็ตามเกิดการอักเสบแบบรุนแรง ถ้าเป็นเร็ว เกิดตับอักเสบแบบช้า ๆ จนตับแข็ง ถ้าค่อย ๆ อุดตัน มีตับโต ม้ามโต มีนํ้าในท้อง การรักษาต้องใส่สายสวนไปขยายหลอดเลือดทำทางเดินเลือดให้ใหม่เพื่อลดความดันในตับ ที่เรียกว่า ทิปส์ (Tips) อาจจะผ่าตัดเปลี่ยนทางเดินเลือด หรือสุดท้ายต้องเปลี่ยนตับโรคตับอักเสบเรื้อรังและตับแข็งโดยไม่ทราบสาเหตุ

จริง ๆ แล้วสาเหตุของโรคตับยังมีอีกมาก ยังมีไวรัสตับอักเสบที่มนุษย์ยังไม่รู้จัก มีโรคอีกหลายชนิดที่ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุ ภาษาแพทย์เราใช้คำรวม ๆ เป็นกระโถนท้องพระโรง เรียกว่า คริปโตเจนนิค เซอร์โรสิส (Cryptogenic cirrhosis) “คริปโตเจนนิค” ในความหมายนี้แปลว่า ไม่ทราบสาเหตุ “เซอร์โรสิส” แปลว่า ตับแข็ง โรคกลุ่มนี้เมื่อหาสาเหตุไม่ได้ก็แก้ไขไม่ได้ ถ้าตับอักเสบเป็นมาก นานพอควร โรคจะเข้าสู่ระยะตับแข็ง และถึงระยะหนึ่งก็จะมีตับวาย การรักษาทำได้ด้วยการเปลี่ยนตับ

ท่านที่อ่านมาถึงตรงนี้คงต้องเป็นคนที่สนใจตับพอสมควร หรือไม่ก็มีโรคตับที่แพทย์ใช้คำแปลก ๆ วินิจฉัยโรคให้ ยังมีโรคตับอีกหลายชนิดที่ไม่สามารถนำมาเขียนไว้ในที่นี้ ถ้าต้องการหาความรู้เพิ่มเติมคงต้องถามรายละเอียดจากแพทย์ผู้ดูแล ยิ่งถ้าโรคยาก ๆ โรคตับอักเสบเรื้อรังที่แพทย์ยังไม่สามารถหาชื่อโรคให้กับท่านได้ แนะนำให้พบแพทย์โรคตับโดยเฉพาะ

ข้อมูลจาก นายแพทย์ ดร.ปิยะวัฒน์  โกมลมิศร์ ศูนย์โรคตับ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์.

นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์

ที่มา : เดลินิวส์ 26 ตุลาคม 2557

การใช้ ‘ออนโคเทอร์เมีย’ รักษามะเร็ง

dailynews141012_01สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้พัฒนานวัตกรรมการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งโดยวิธีใช้ความร้อนด้วยเครื่องออนโคเทอร์เมียเป็นครั้งแรกในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน เสริมประสิทธิภาพรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เผยว่า จากข้อมูลทะเบียนมะเร็งของประเทศไทย พบว่ามะเร็งตับเป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในผู้ชาย และมะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในผู้หญิง

สาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดมะเร็งตับ คือ การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ และพยาธิใบไม้ในตับ สำหรับวิธีการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งชนิดนี้จะทำได้โดยการผ่าตัด แต่มีผู้ป่วยมะเร็งตับที่สามารถทำการผ่าตัดได้เพียง 10 – 15% เท่านั้น ส่วนที่เหลือจะเป็นการรักษาแบบประคับประคองด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การฉีดยาเคมีบำบัดร่วมกับการอุดเส้น เลือดแดงที่จะไปเลี้ยงมะเร็ง ซึ่งยังมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ไม่สามารถทำการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวได้ เนื่องจากมีจำนวนมะเร็งหลายก้อน มีการอุดตันของเส้นเลือดดำใหญ่ที่ไปเลี้ยงตับจากมะเร็ง หรือ มีเนื้อตับไม่เพียงพอ ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสตับวายจากการรักษาได้ หรือมะเร็งมีการกระจายออกนอกตับ การรักษาที่เหลือจึงเป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ และผู้ป่วยส่วนใหญ่จะสามารถอยู่ได้อีกประมาณ 2-3 เดือนเท่านั้น

สำหรับมะเร็งเต้านม แม้ว่าการรักษามะเร็งในระยะต้นจะได้ผลดี โดยมีอัตราการมีชีวิตรอดอยู่ที่ 5 ปี ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะที่ 1 ของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สูงถึงเกือบ 100 % แต่อัตราการอยู่รอดจะลดลงเหลือเพียง 30-50% เมื่อผู้ป่วยอยู่ในระยะที่ 3 และ 4 ดังนั้นเพื่อเพิ่มสัดส่วน และยกระดับผลการรักษาให้ดีขึ้น สถาบันมะเร็งแห่งชาติจึงมีนโยบายอยู่ 2 ด้าน คือ ทำการส่งเสริมสุขภาพ และมีการตรวจคัดกรองเพื่อเพิ่มสัดส่วนของผู้ป่วยในระยะแรกให้มากขึ้น และสนับสนุนให้มีการศึกษา วิจัย พัฒนานวัตกรรมการรักษาพยาบาลวิธีใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มอัตราการอยู่รอดในผู้ป่วย มองหาเทคโนโลยีใหม่เพื่อนำมาใช้ร่วมกับการรักษาตามมาตรฐานที่มีข้อจำกัดอยู่ในปัจจุบัน และทำการประเมินประสิทธิผลของกระบวนการรักษาดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการทำการวิจัยในครั้งนี้

ด้าน นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผอ.สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า การรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีใช้ความร้อนเพื่อเป็นการรักษาทางเลือก หรือร่วมรักษาในโรคมะเร็ง ปัจจุบันมีอยู่ 3 รูปแบบ คือ

1.การใช้ความร้อนระดับต่ำ อยู่ที่ 38-40 องศาเซลเซียส เป็นวิธีที่ทำให้เกิดความร้อนทั้งตัว โดยคาดหวังว่าความร้อนนี้จะทำให้เกิดการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อให้สามารถต่อสู้กับมะเร็งได้

2.การใช้ความร้อนระดับปานกลาง โดยใช้อุณหภูมิประมาณ 42-43 องศาเซลเซียส เฉพาะที่กับตัวมะเร็ง โดยคาดหวังว่าจะทำให้เกิดกระบวนการตายของเซลล์มะเร็งโดยไม่ทำให้เกิดการอักเสบ ได้แก่ เครื่องออนโคเทอร์เมีย

3.การใช้ความร้อนระดับสูง ประมาณ 60-90 องศาเซลเซียส ซึ่งการใช้ความร้อนระดับนี้จำเป็นต้องมีการกำหนดเป้าหมายในการทำลายเซลล์มะเร็งไปยังตำแหน่งเฉพาะที่ เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายต่อเนื้อเยื่อข้างเคียงได้ เช่น เครื่องไฮฟู

วิธีการรักษาแต่ละวิธี จะมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันออกไป เช่น วิธีที่ 1 อาจทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย เหมือนภาวะฮีทสโตรก เช่นเดียวกับเวลาที่ตากแดดนาน ๆ และอาจเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยมะเร็งที่มีสุขภาพอ่อนแอ ดังนั้นวิธีที่ 2 และ 3 จึงได้รับความนิยมมากกว่าวิธีที่ 1

เครื่องออนโคเทอร์เมียให้ความร้อนระดับปานกลางมีการนำมาใช้งานจำนวนมากในต่างประเทศ ทั้งประเทศในแถบทวีปยุโรป และเอเชีย แต่สำหรับในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในประเทศไทย มีการนำมาใช้ที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติเป็นแห่งแรก โดยได้รับบริจาคมาจากภาคเอกชน ตั้งแต่ปี 2555 และเนื่องจากการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งโดยการใช้เครื่องออนโคเทอร์เมียในประเทศไทย ยังไม่เคยมีการทำการศึกษา วิจัย อย่างเป็นระบบมาก่อน กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จึงได้มอบนโยบายให้สถาบันมะเร็งแห่งชาติทำการศึกษา วิจัย การทำงานของเครื่องนี้ เพื่อประเมินประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และหากผลการศึกษาพบว่า การรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีนี้ได้ผลดี และมีความคุ้มค่าเพียงพอ ประกอบกับเครื่องมือนี้มีราคาไม่แพงมากนัก กรมการแพทย์จะสนับสนุนให้โรงพยาบาลที่เกี่ยวข้องมีเครื่องออนโคเทอร์เมียไว้ใช้เพื่อให้บริการผู้ป่วยมะเร็งในอนาคต

ขณะที่ นพ.สมชาย ธนะสิทธิชัย ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการวิจัย สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า ทีมวิจัยเริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2555 โดยออกแบบงานวิจัยเป็น 2 โครงการย่อยเพื่อเปรียบเทียบผลการใช้เครื่องออนโคเทอร์เมีย คือ
1. ศึกษาแบบสุ่มเปรียบเทียบอัตราการยุบของก้อนมะเร็งเต้านม ในผู้ป่วยระยะที่ 3 ที่ใช้เครื่องออนโคเทอร์เมีย ร่วมกับการใช้ยาเคมีบำบัด จำนวน 30 ราย
2. ศึกษาแบบสุ่มเปรียบเทียบเวลาการมีชีวิตรอดของผู้ป่วยมะเร็งตับระยะท้าย ที่ได้รับการรักษาด้วยเครื่องออนโคเทอร์เมีย เทียบกับผู้ป่วยมะเร็งตับที่ให้การรักษาแบบประคับประคอง จำนวน 22 ราย

ผลการศึกษาเบื้องต้น พบว่า อายุเฉลี่ย ชนิดของมะเร็งขนาดก้อนมะเร็งก่อนการรักษาของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ทั้ง 2 กลุ่ม ไม่แตกต่างกัน ทั้งนี้ 22% ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะที่ 3 ในกลุ่มทดลองที่ใช้เครื่องออนโคเทอร์เมียร่วมรักษา มีการตอบสนองจนก้อนมะเร็งยุบหายหมด ในขณะที่ไม่มีผู้ป่วยรายใดในกลุ่มการรักษาแบบปกติ ที่มะเร็งยุบหมด ส่วนมะเร็งตับระยะสุดท้าย พบว่า 25% ของผู้ป่วยในกลุ่มทดลองมีการตอบสนองต่อการรักษา ระยะเวลาเฉลี่ยของการมีชีวิตรอดของผู้ป่วยที่ตอบสนองต่อการรักษา 15.3 เดือน ส่วนระยะเวลาการอยู่รอดของผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาอยู่ที่ 2.7 เดือน เทียบกับกลุ่มควบคุม 2.2 เดือน ซึ่งทั้ง 2 กลุ่ม การทดลองไม่พบผู้ป่วยรายใดมีผลแทรกซ้อนจากการรักษาเพิ่มเติม ดังนั้นการศึกษาในครั้งนี้ พบว่าการใช้เครื่องออนโคเทอร์เมียรักษามะเร็งด้วยความร้อน มีศักยภาพที่จะใช้รักษาโรคมะเร็งเต้านมร่วมกับยาเคมีบำบัด และอาจใช้เพื่อเป็นทางเลือกเพิ่มเติมในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งตับระยะสุดท้าย เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น.

นวพรรษ บุญชาญ : รายงาน

ที่มา : เดลินิวส์ 12 ตุลาคม 2557

ระวัง ไวรัสตับอักเสบบีและซี

bangkokbiznews140725_01แพทย์เตือนโรคไวรัสตับอักเสบบีและซี ตัวการสำคัญการเกิดตับแข็งและมะเร็งตับ

แพทย์เตือนโรคไวรัสตับอักเสบบีและซี ตัวการสำคัญการเกิดตับแข็งและมะเร็งตับ

รศ.นพ.ธีระ พิรัชวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสถาบันโรคตับ และระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท กล่าวว่าในผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสบีหรือซีเรื้อรัง จะเกิดตับอักเสบเรื้อรังมีค่าของเอนไซม์ตับ (AST, ALT) สูงกว่าปกติ ซึ่งอาจสูงกว่าปกติตลอด หรือค่าแกว่งขึ้นลงเป็นระยะ ในผู้ป่วยที่มีตับอักเสบเรื้อรัง จะมีการทำลายเซลล์ตับเรื้อรัง เกิดผังผืดสะสมมากขึ้น จนเกิดตับแข็ง ได้ร้อยละ 20 – 25 ภายในเวลา 8 – 20 ปี หลังจากเกิดตับแข็งจะมีการดำเนินโรคจนเกิดตับวายได้ร้อยละ 4 – 6 ต่อปี อาการของตับวาย เช่น ดีซ่าน ท้องมาน ซึม

ผู้ป่วยที่มีตับแข็งจะมีโอกาสเกิดมะเร็งตับได้ ร้อยละ 3-8 ต่อปี พบว่าไวรัสบีและซีเป็นสาเหตุของมะเร็งตับในคนไทยสูงถึงมากกว่าร้อยละ 80 ที่สำคัญผู้ป่วยไวรัสบีหรือซีเรื้อรังมักจะไม่มีอาการอะไร จนทำให้ผู้ป่วยเข้าใจผิดว่าตนเองปกติแข็งแรงดี กว่าจะมีอาการทางคลินิกผู้ป่วยก็มักจะมีภาวะตับแข็งที่เป็นมากจนเริ่มมีตับวายเรื้อรังแล้ว ในกรณีมะเร็งตับก็จะมีขนาดมะเร็งที่ใหญ่เกินกว่ารักษาให้ได้ผลดีแล้วเช่นกัน

นอกจากนี้ ค่าเอนไซม์ตับอาจจะอยู่ในเกณฑ์ปกติได้ เพราะการตรวจดูเอนไซม์ตับทุก 3-6 เดือน อาจจะไม่พบค่าผิดปกติในผู้ป่วยที่มีค่าเอนไซม์ตับแกว่งขึ้นลง ดังนั้นประมาณร้อยละ 15-20 ของผู้ป่วยไวรัสบีและซีเรื้อรังจะมีการดำเนินโรคไปเป็นตับแข็งหรือมะเร็งตับในขณะที่ตรวจแต่ค่าเอนไซม์เป็นช่วงๆ แล้วพบว่าปกติ

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ 25 กรกฎาคม 2557

“ปวดตับ” อย่ามองข้าม โดย รศ.นพ.พูลชัย จรัสเจริญวิทยา

manager140723_01“ปวดตับ” เป็นปัญหาหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม

ตับ ทำหน้าที่เสมือนเป็นโรงงานผลิตพลังงาน และสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย รวมทั้งยังเป็นอวัยวะสำคัญในการเผาผลาญของเสียต่างๆ ที่เกิดขึ้นในร่างกายด้วย โดยทำการขับออกมาทางน้ำดีลงสู่ลำไส้ปนไปกับอุจจาระ และเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย เช่น แบคทีเรีย ไวรัส ยา หรือสารต่างๆ ที่ร่างกายรับประทานแล้วเหลือตกค้าง สิ่งเหล่านี้อาจมีผลกระทบต่อการทำงานของตับ ทำให้เกิดโรคตับต่างๆ ได้ เช่น โรคตับอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งมีการอักเสบบวมของเนื้อตับ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตับ จุกตึงใต้ชายโครงขวา ร่วมกับมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร และเกิดดีซ่านขึ้นได้

นอกจากนี้ ปวดตับ ยังอาจเกิดจากเนื้อตับบางส่วนที่มีการเจริญเติบโตผิดปกติกลายเป็นก้อนเนื้องอกดันผิวตับให้โป่งนูน ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดจุกแน่นในบริเวณใต้ชายโครงขวา หรือลิ้นปี่ มักพบในผู้ป่วยที่มีโรคตับอักเสบเรื้อรังแฝงอยู่โดยไม่มีสัญญาณเตือนใดๆ มาก่อน หรืออาจมีอาการเพียงเล็กน้อย ได้แก่ อ่อนเพลียและหมดแรงง่าย บางรายมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรืออาเจียนเป็นเลือดสด ซึ่งเกิดจากเส้นเลือดขอดในหลอดอาหาร หรือกระเพาะอาหาร อันเป็นผลจากภาวะตับแข็งที่มักพบร่วมด้วยในผู้ป่วยที่เกิดมะเร็งตับ

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า เมื่อไรควรไปพบแพทย์ เรามีสัญญาณอันตรายที่เตือนว่า ตับของคุณเริ่มมีปัญหาแล้วคือ
1. อาการปวดจุก หรือแน่นชายโครงขวา ซึ่งเป็นที่อยู่ของตับ อาจเพราะมีการอักเสบของเนื้อตับ หรือเกิดจากก้อนเนื้องอกภายในเนื้อตับ

2. ดีซ่าน คือ ภาวะที่มีการคั่งของเม็ดสีน้ำดี ซึ่งสร้างมาจากตับ สะสมในเนื้อเยื่อต่างๆ ทำให้ผิวหนังและเยื่อตาขาวเปลี่ยน มีสีเหลือง ซึ่งน้ำดีที่มากเกินในร่างกาย ส่วนหนึ่งจะถูกขับออกทางไต ทำให้ปัสสาวะมีสีเหลืองเข้ม เป็นสัญญาณบ่งบอกว่า สมรรถภาพการทำงานของตับเริ่มถดถอย

3. อ่อนเพลียเรื้อรัง หมดแรงง่าย อาจเกิดจากภาวะตับอักเสบเรื้อรัง ซึ่งควรได้รับการตรวจเลือดยืนยันและหาสาเหตุต่อไป โดยอาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดต่างๆ การดื่มสุราจนทำให้เกิดโรคตับเรื้อรัง โรคอ้วนจนมีไขมันคั่งในเนื้อตับปริมาณมาก และการรับประทานยา อาหารเสริม หรือสมุนไพรบางชนิด ในผู้ป่วยบางรายอาจมีสารเหล่านี้ตกค้าง จนทำให้เกิดตับอักเสบ ผลิตพลังงาน และสารที่จำเป็นต่อร่างกายได้ลดลง

4. เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ซึ่งอาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า สมรรถภาพการทำงานของตับเริ่มเสื่อมลง ทำให้ร่างกายต้องดึงพลังงานสำรองจากที่ต่างๆ มาเผาพลาญ น้ำหนักตัวจึงลดลง

ดังนั้น ถ้าเราสังเกตตัวเองว่ามีสัญญาณเตือนความผิดปกติดังกล่าว อาจบ่งว่าสุขภาพตับเริ่มจะไม่แข็งแรง มีโรคภัยซ้อนเร้นอยู่ จึงควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจเพิ่มเติมว่า สมรรถภาพการทำงานของตับและสาเหตุของความผิดปกตินั้นเกิดจากอะไร

แต่สิ่งสำคัญที่สุดเพื่อให้ห่างไกลจากโรคที่ทำให้ “ปวดตับ” เราควรจะดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยรับประทานอาหารที่สะอาดและมีคุณค่าทางโภชนาการในปริมาณที่เหมาะสม ร่วมกับออกกำลังกาย เพื่อควบคุมน้ำหนักและลดพุง ไม่รับประทานสารอาหาร ยา หรือสมุนไพรใดๆ เสริมโดยไม่จำเป็น เท่านี้คุณก็จะไม่ “ปวดตับ”

ที่มา ASTV : ผู้จัดการออนไลน์ 23 กรกฎาคม 2557

ภัยเงียบไวรัสตับอักเสบซี ใครเสี่ยง?

dailynews140128_001ไวรัสตับอักเสบซี เป็นสาเหตุที่สำคัญของตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง และมะเร็งตับในผู้ป่วยไทยเป็นจำนวนมาก นับเป็นภัยเงียบที่คอยคุกคามตับของผู้ป่วยโดยไม่มีอาการหลังจากได้รับเชื้อผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่ทราบว่าเป็นไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรังจน 10-20 ปี จึงเกิดภาวะตับเสื่อมหรือเป็นตับแข็ง ซึ่งแม้เป็นตับแข็งแล้วผู้ป่วยส่วนมากก็ยังไม่มีอาการ จนกว่าตับจะเสื่อมมากถึงขั้นมีภาวะตับวาย หรือเป็นมะเร็งตับระยะท้ายจึงเริ่มมีอาการ

บุคคลที่มีความเสี่ยงอาจติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี คือ ผู้ที่เคยได้รับเลือดหรือส่วนประกอบของเลือด เช่น เกร็ดเลือด น้ำเลือด ก่อนปี พ.ศ. 2538 หรือบุคคลที่เคยมีประวัติใช้ยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้นแม้แต่เพียงครั้งเดียวก็อาจติดได้ นอกจากนี้ผู้ที่นิยมสักตามร่างกายหรือผู้ที่มีการทำงานของตับผิดปกติอย่างต่อเนื่องก็ควรได้รับการตรวจหาว่าท่านมีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรังหรือไม่ สำหรับความชุกในประเทศไทยมีประมาณร้อยละ 1-2 ของประชากร นั่นคือ อาจมีผู้ป่วยสูงถึงเกือบ 1 ล้านคน โดยไวรัสตับอักเสบซีจะอยู่อย่างเงียบๆ รอเวลาที่จะมีโรคในระยะลุกลาม ตับแข็ง หรือเกิดมะเร็งตับในอนาคต

หากท่านเป็นกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจว่าท่านเป็นไวรัสตับอักเสบซีหรือไม่ โดยแพทย์จะส่งตรวจสารภูมิต่อไวรัสตับอักเสบซี (Anti-HCV) หากผลเป็นบวกแสดงว่าท่านมีโอกาสสูงที่จะเป็นไวรัสตับอักเสบซี แพทย์จะตรวจเพื่อยืนยันเพิ่มเติม โดยการตรวจนับปริมาณไวรัส และตรวจหาสายพันธุ์ของไวรัสตับอักเสบซีต่อไปเพื่อประเมินสำหรับการรักษาสำหรับประเทศไทยส่วนใหญ่ของผู้ป่วยเป็นไวรัสตับอักเสบซีชนิดสายพันธุ์ที่ 3 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่รักษาง่ายด้วยยาอินเตอร์เฟอรอน นอกจากนั้นก็พบสายพันธุ์ที่1 และ 6

ในผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง ปัจจุบันการรักษามาตรฐาน คือการใช้ยาฉีดอินเตอร์เฟอรอน (Peg-Interferon) ทุกสัปดาห์ร่วมกับรับประทานยาไรบาไวรินทุกวัน เป็นเวลา 6 เดือนสำหรับสายพันธุ์ที่ 2 และ 3 หรือ 1 ปี สำหรับสายพันธุ์อื่น ๆ ก็มีโอกาสสูงที่จะหายขาดจากไวรัสตับอักเสบซี สิ่งที่ได้ประโยชน์อย่างมากสำหรับการรักษาก็คือ นอกจากจะทำให้ไวรัสหายขาดแล้วการอักเสบของตับหรือแม้แต่พังผืดในตับก็จะลดลงด้วย ลดความเสี่ยงที่จะเกิดตับแข็งและมะเร็งตับลงได้อย่างมาก

ข่าวดีสำหรับชาวไทยก็คือ การรักษาไวรัสตับอักเสบซี ซึ่งในอดีตดูเหมือนว่ามีราคาแพง แต่เนื่องจากประโยชน์ที่ได้จากการรักษามีมากมายและมีความคุ้มค่าในการรักษาอย่างมาก ดังนั้นในปัจจุบันยาสำหรับรักษาไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่ 2 และ 3 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่พบบ่อยนั้น ได้รับการบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติทำให้ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีส่วนใหญ่ได้รับการรักษา โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น หากท่านมีความเสี่ยงดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์ที่ดูแลท่าน เพื่อขอรับการตรวจหาไวรัสตับอักเสบซี และหากท่านเป็นไวรัสตับอักเสบซีจะได้ให้การรักษาจนหายขาดต่อไป

อยากฝากท่านผู้อ่านทุกท่านไว้ว่า อย่าชะล่าใจ หากท่านมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีหรือทราบอยู่แล้วว่าเป็นไวรัสตับอักเสบซีโดยไม่มีอาการใด ๆ ท่านยังมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดตับแข็งและมะเร็งตับเมื่ออายุมากขึ้น ดังนั้น ไปตรวจเสียตั้งแต่วันนี้เพื่อจะได้รับการรักษาแล้วท่านจะห่างไกลจากโรคตับแข็ง มะเร็งตับ อันเป็นผลจากไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง

ข้อมูลจาก : รองศาสตราจารย์นายแพทย์ทวีศักดิ์ แทนวันดี

ที่มา: เดลินิวส์ 28 มกราคม 2557

ระวังมะเร็งตับจากสมุนไพรแห้ง

dailynews131227_001สมุนไพรแห้ง ไม่ว่าจะจีนและไทย ยังจัดว่าเป็นยาโบราณที่ทรงคุณค่า มีผลในการช่วยบำรุง ตลอดจนฟื้นฟูร่ายกาย ตามสรรพคุณที่แพทย์แผนโบราณได้ศึกษาและบอกต่อกันมา แต่หลายต่อหลายคนอาจลืมไปว่า ของที่มีคุณ อาจกลายเป็นภัยแฝง ที่ส่งผลร้ายต่อร่างกายได้ หากกระบวนการผลิต และสภาวะการจัดเก็บที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ไม่ได้ช่วยปกป้องสมุนไพรแห้งที่แสนจะมีประโยชน์นี้ ให้ปลอดภัยจากสารพิษที่เกิดจากเชื้อรา ที่มีชื่อว่า “อะฟลาทอกซิน (aflatoxin)” หากสมุนไพรแห้งที่นำมาใช้นั้น มาจากกระบวนการผลิต และการจัดเก็บที่ไม่ถูกสุขลักษณะ จนมีเชื้อราที่สร้างสารพิษปะปนมากับสมุนไพร ก็จะเกิดผลร้ายกับร่างกายเราได้ ที่เรียกว่าภัยแฝงนั้น นั่นเพราะ สารพิษชนิดนี้ ไม่ได้ก่อให้เกิด มะเร็งหรือโรคต่างๆกับร่างกายในทันที จนบางทีเราอาจไม่รู้ว่า ถึงเวลาที่ป่วยด้วยโรคที่เกิดจากสารพิษชนิดนี้ นั่นมีที่มาจากสมุนไพรแห้งที่เราเคยทานเป็นยาเข้าไปเมื่อนานมาแล้วนั่นเอง

ปัจจุบันองค์การ IARC ( International Association Research Cancer ) ได้จัดสารอะฟลาทอกซิน เป็นสารก่อมะเร็ง Class I ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นที่ตับ และอาจก่อมะเร็งในอวัยวะอื่นๆ เช่น ไต ระบบหายใจ ระบบทางเดินอาหาร ระบบประสาท ระบบสืบพันธุ์ และระบบภูมิคุ้มกัน สารพิษอะฟลาทอกซิน เป็นสารพิษ ที่ผลิตโดยเชื้อราในกลุ่มราในโรงเก็บ (storage fungi) เชื้อราตัวสำคัญที่สร้างสารพิษนี้ได้ ได้แก่ Aspergillus flavus, A. parasiticus, Penicillium citrinum เป็นต้น ได้มีการศึกษาการสร้างอะฟลาทอกซินของ A. flavus ในห้องปฏิบัติการพบว่า A. flavus บางสายพันธุ์สร้างอะฟลาทอกซินในปริมาณสูงมาก บางตัวก็ไม่สร้าง ดังนั้นการที่พบเชื้อราเหล่านี้บนผลิตผลเกษตรจึงไม่สามารถสรุปว่าผลิตผลนั้นมีสารพิษ ในทำนองเดียวกันก็อาจมีการปนเปื้อนของอะฟลาทอกซินในผลิตผล โดยที่เราไม่เห็นเชื้อราเนื่องจากเชื้อราอาจถูกกำจัดออกไป โดยผู้ผลิตคิดว่าเมื่อไม่มีเชื้อราปรากฏให้เห็น ผลิตผลนั้นก็สะอาดปลอดภัย บริโภคได้ แต่ไม่ทราบว่าเชื้อราได้สร้างสารพิษและยังตกค้างอยู่ในผลิตผลนั้น ๆ การกำจัดอะฟลาทอกซินก็ทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากสารพิษชนิดนี้ทนความร้อนได้ถึง 250 องศาเซลเซียส เป็นสารพิษที่ก่อมะเร็งที่ตับ และตับอักเสบทั้งในมนุษย์และสัตว์ที่บริโภคอาหารที่มีสารพิษนี้เข้าได้จึงเห็นได้ว่าเป็นสารพิษที่อันตรายมาก ๆ

 

สมุนไพรและผลิตผลเกษตรอื่น ๆ ที่พบแอฟลาทอกซิน

เชื้อราสร้างสารพิษแอฟลาทอกซินได้ในสมุนไพรเกือบทุกชนิด ตัวอย่างสมุนไพรที่รู้จักกันดีและใช้กันอย่างแพร่หลายที่ตรวจพบแอฟลาทอกซินได้แก่ ข้าวเย็นเหนือ อบเชยเทศ โป๊ยกั๊ก ฟ้าทะลายโจร ขิง มะขามแขก บอระเพ็ด กานพลู ขมิ้นชัน มะตูม ขี้เหล็ก แสมสาร แห้วหมู พิกุล สารภี ระย่อม อบเชยญวน เกสรบัวหลวง สมอไทย มะขามป้อม เป็นต้น โดยที่บางชนิดตรวจไม่พบเชื้อราเจริญบนสมุนไพร แต่พบสารพิษในปริมาณที่สูงกว่ามาตรฐาน เช่นในอบเชยเทศ โป๊ยกั๊ก ฟ้าทะลายโจร และกานพลู เป็นต้น นอกจากในสมุนไพรแล้วผลิตผลเกษตรที่พบแอฟลาทอกซินส่วนใหญ่เป็นผลิตผลตากแห้ง และอาหารแปรรูป เช่น ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ข้าวสาร (ที่เก็บนาน ๆ) ข้าวเหนียว ลูกเดือย งา ข้าวสาลี กระเทียม หอม พริกไทยป่น พริกป่น ปลาป่น และในผลิตภัณฑ์แปรรูปเช่น ถั่วตัด งาตัด น้ำมันถั่วลิสง (ที่นำถั่วลิสงที่ไม่มีคุณภาพมาแปรรูป) และนมสด (จากการที่นำข้าวโพด ถั่วหรืออื่น ๆ ที่มี แอฟลาทอกซิน ชนิด B1 ปนเปื้อนอยู่ เป็นส่วนผสมในอาหารเลี้ยงสัตว์ แอฟลาทอกซิน จะเปลี่ยนจากชนิด B1 เป็น M1) จึงเห็นได้ว่าแอฟลาทอกซินอยู่ใกล้ตัวเรามาก ๆ ในต่างประเทศก็มีรายงานการตรวจพบแอฟลาทอกซินในสมุนไพรเช่นกัน เช่น ในประเทศศรีลังกาพบว่าสมุนไพร 6 ชนิดที่นิยมใช้ในการรักษาโรคนั้นตรวจพบสารพิษทั้ง 6 ชนิด ส่วนในประเทศอินเดียพบว่าสมุนไพรหรือเครื่องเทศที่พบว่ามีการปนเปื้อนของ แอฟลาทอกซิน มากที่สุดคือพริกไทย

 

ขั้นตอนใดในการผลิตสมุนไพรที่ตรวจพบอะฟลาทอกซิน

เชื้อราสามารถเข้าทำลายและสร้างสารพิษได้ดีในสภาพที่มีความชื้นสัมพัทธ์ไม่ต่ำกว่า 80% อุณหภูมิระหว่าง 28-35 องศาเซลเซียส และเกิดได้ในทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิตสมุนไพรหลังจากเก็บเกี่ยวมาแล้ว คือในขั้นตอนของการหั่น การตากแห้ง การบด การบรรจุ และการเก็บรักษา หรือแม้แต่ช่วงที่ผู้บริโภคซื้อมา และรับประทานไม่หมดแล้วไม่ปิดเก็บให้มิดชิดในที่แห้ง ความชื้นจากบรรยากาศก็สามารถเข้าไปทำให้สมุนไพรที่ตากแห้งแล้วมีความชื้นมากขึ้น เชื้อราจึงเจริญได้ โดยปกติเชื้อรา Aspergillus spp. อาศัยได้ทั่วไปในอากาศ ดิน เศษซากพืช สปอร์ปลิวกระจายทั่วไปโดยอาจมีปริมาณไม่มากนัก เมื่อมาสัมผัสกับสมุนไพรที่อยู่ระหว่างการตากแห้ง ที่ตากที่ลานบ้าน หรือช่วงที่รอการนำไปบดที่ร้านขายยา หรือในช่วงที่นำมาบรรจุใส่ซองหรือใส่แคปซูล ซึ่งเป็นช่วงที่มีโอกาสปนเปื้อนเชื้อและเชื้อสร้างสารพิษได้ดี เนื่องจากสมุนไพรที่บดมีขนาดเล็ก มีพื้นที่ผิวในการดูดความชื้นได้มาก จึงมีความชื้นสูงกว่าช่วงตากแห้ง การเจริญของราและการสร้างสารพิษจึงสูงกว่าในขั้นตอนอื่น ๆ กระบวนการผลิตที่ผลิตอย่างมีมาตรฐานตามข้อกำหนด GMP (Good Manufacturing Practice) จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง

ประเทศไทยยังไม่มีข้อกำหนด กฏหมาย ที่กำหนดปริมาณสารแอฟลาทอกซิน ในสมุนไพร มีกำหนดเฉพาะในอาหารสำหรับบริโภคเท่านั้น ที่กำหนดให้มี อะฟลาทอกซินได้ไม่เกิน 20 ไมโครกรัม/ กิโลกรัม จึงยังเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคต้องระมัดระวังและดูแลตัวเอง ในอดีตคนไทยรับประทานสมุนไพรเป็นยาโดยรับประทานสด แม้ว่าคุณสมบัติของสารออกฤทธิ์จะลดน้อยกว่าสมุนไพรตากแห้ง ดังนั้นถ้ามีโอกาสและสามารถบริโภคสมุนไพรสดก็ควรบริโภคแบบสด แต่หากปฏิบัติไม่ได้ควรเลือกบริโภคสมุนไพรที่มีการบรรจุดี สะอาด มิดชิด ความชื้นจากบรรยากาศไม่สามารถเข้าไปได้ ควรมีทะเบียนยารับรอง ระบุวันเดือนปีที่ผลิตและวันหมดอายุ มีการควบคุมคุณภาพตามมาตรฐานขององค์การอาหารและยา การเลือกซื้อสมุนไพรที่ผลิตโดยโรงพยาบาลและบริษัทที่มี อย. รับรองจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ดีที่สุด

หลายท่านอาจคิดว่า ก่อนนำไปดื่มหรือบริโภค ก็ต้องนำไปผ่านความร้อนโดยการต้มให้เดือด ก็น่าจะทำลายสารพิษชนิดนี้ได้ แต่อย่าลืมนะคะว่า เจ้าสารพิษชนิดนี้ทนความร้อนได้ถึง 250 องศาเซลเซียส ซึ่งอุณหภูมิน้ำเดือดทั่วไปไม่สูงถึงขั้นจะทำลายสารพิษชนิดนี้ได้

จะเลือกทานสมุนไพรแห้งใส่ใจแหล่งที่มา จนถึงคุณภาพ และมาตรฐานในการผลิตกันให้ดีนะคะ

โดย “PrincessFangy”
Twitter @Princessfangy

เนื้อหาบางส่วนจาก http://share.psu.ac.th/blog/

ภาพประกอบจาก http://www.hanji-herb.com/herb/

ที่มา : เดลินิวส์  27 ธันวาคม 2556

เรื่องของมะเร็งตับ

dailynews130915_001มะเร็งตับเป็นมะเร็งน่ากลัวและพบได้มากในคนไทย โดยเป็นมะเร็งที่พบได้มากอันดับต้น ๆ ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย  ผู้ป่วยมักจะเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็วเพราะพบเมื่อโรคลุกลามไปมากแล้ว

สาเหตุของมะเร็งตับในประเทศไทยมีหลายสาเหตุดังนี้

– เกิดจากไวรัสตับอักเสบทั้งชนิดบีและซี  คนที่เป็นพาหะไวรัสบีจะมีความเสี่ยงสูงมากที่จะเกิดมะเร็งตับเมื่อเทียบกับคนปกติทั่วไป คนที่เป็นพาหะไวรัสบีคือผู้ที่มีเชื้อไวรัสบีในร่างกายแต่ยังไม่มีอาการ คนกลุ่มนี้สามารถแพร่กระจายโรคให้ผู้อื่นได้โดยทางเลือดหรือเพศสััมพันธ์   ในผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีก็มีความเสี่ยงที่ตับจะถูกทำลายและมีโอกาสเกิดตับแข็งและกลายเป็นมะเร็งตับได้

– เป็นที่ทราบกันดีว่า การดื่มแอลกอฮอล์มีผลต่อการทำลายตับ และหากตับถูกทำลายจนกลายเป็นตับแข็ง ความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งตับจะสูงมาก  นอกจากนี้สารพิษต่อตับที่ก่อมะเร็งที่รู้จักกันทั่วไปคือ อะฟลาท๊อกซิน (Aflatoxin)  เป็นสารพิษที่สร้างขึ้นโดยเชื้อราบางชนิด พบได้ในอาหารแห้งหรือหมักดอง เช่น ถั่วลิสงคั่วป่น พริกป่น เต้าเจี้ยว เต้าหู้ยี้  กุ้งแห้ง สารพิษตัวนี้ยังทนความร้อนได้ถึง 260 องศาเซลเซียส จึงไม่สามารถทำลายให้หมดไปได้ แม้จะหุงต้มตามปกติ  การเลือกวัตถุดิบในการปรุงอาหารจึงมีความสำคัญต่อสุขภาพของตับและร่างกายโดยรวมด้วย

อาการของมะเร็งตับในระยะแรกส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะไม่มีอาการ จนกระทั่งมะเร็งอยู่ในขั้นลุกลาม ผู้ป่วยอาจมาด้วยอาการแน่นท้อง ปวดท้อง จุกเสียด อ่อนเพลีย ไม่มีแรง น้ำหนักลด ถ้าโรคเป็นมากขึ้น อาการปวดจะชัดขึ้นโดยเฉพาะปวดชายโครงขวา ตัวเหลือง ตาเหลือง คลำได้ก้อนบริเวณท้องด้านขวา ท้องมาน  มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ตรวจพบเมื่อมะเร็งอยู่ในขั้นลุกลามแล้วทำให้ยากต่อการรักษาและโอกาสเสียชีวิตมีสูง การป้องกันและการเฝ้าระวังในผู้ที่มีความเสี่ยงจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด กลุ่มเสี่ยงคือผู้ที่เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบี ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ผู้ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำและมีอาการตับแข็ง  ผู้ที่ชอบทานของแห้งของหมักดองที่อาจมีสารก่อมะเร็ง  ผู้ที่มีประวัติมะเร็งตับในครอบครัว 

การตรวจหามะเร็งตับ ในปัจจุบัน แพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ใช้เครื่องมือคือการทำอัลตราซาวด์ หรือใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อตรวจหาก้อนผิดปกติในตับ การตรวจชิ้นเนื้อ บางรายมีการตรวจเลือดเพิ่มเติมด้วยตามความเหมาะสม  หากตรวจพบในระยะแรก ๆ ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ เช่น  ผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออก การรักษาวิธีอื่นคือการใส่ยาเคมีเข้าไปที่ก้อนมะเร็ง การใช้คลื่นเสียงและเข็มความร้อนทำลายมะเร็ง การใช้สารกัมมันตรังสีทำลายมะเร็ง หรือแม้กระทั่งการเปลี่ยนตับในบางราย  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะและความรุนแรงของโรค

การป้องกันมะเร็งตับจึงเป็นหนทางที่จะหลีกเลี่ยงโรคนี้ เป็นที่น่ายินดีว่ากระทรวงสาธารณสุขได้แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีแก่เด็กทุกราย  ทำให้อัตราการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีลดลงมาก แต่ไวรัสตับอักเสบซียังพบได้ค่อนข้างมาก นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์หรือทานอาหารที่อาจมีสารก่อมะเร็งและอาหารที่มีเชื้อราขึ้น หลีกเลี่ยงอาหารดิบที่ปรุงไม่สุกเพราะอาจมีพยาธิใบไม้ในตับซึ่งก่อให้เกิดมะเร็งของทางเดินน้ำดีได้ซึ่งพบได้มากทางภาคอีสาน ที่สำคัญคือควรตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำ ตรวจหาไวรัสตับอักเสบบีและซี  หากเป็นพาหะไวรัสบีจะแนะนำให้พบแพทย์เพื่อตรวจเฝ้าระวังเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 2-3 ครั้ง หากมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ใด ๆ ควรรีบปรึกษาแพทย์ครับ.

นายแพทย์ถนัด ไพศาขมาศ
อายุรกรรมผู้สูงอายุ

ที่มา: เดลินิวส์  15 กันยายน 2556

รู้จัก ‘มะเร็งตับ’

dailynews130727_001จากกรณีนักร้องลูกทุ่งชื่อดัง “พี่เป้า” สายัณห์ สัญญา ป่วยเป็นโรคมะเร็งตับระยะ 4  โดยที่เจ้าตัวก็ยังงงอยู่เหมือนกันว่า เหล้าไม่กิน บุหรี่ไม่สูบ ออกกำลังกาย ดูแลสุขภาพตลอด แล้วป่วยได้อย่างไร เชื่อว่าแฟนเพลงหลายคนที่ติดตามข่าวสารของพี่เป้าอย่างใกล้ชิดด้วยความเป็นห่วง คงมีคำถามมากมายเกี่ยวกับโรคนี้

นพ.ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผอ.สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข บอกว่า มะเร็งตับพบมากเป็นอันดับ 1 ในผู้ชาย และอันดับ 3 ในผู้หญิง ปีหนึ่งมีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 13,000 คน ชนิดที่พบบ่อยเป็นมะเร็งที่เกิดจากเซลล์ตับ กับเซลล์ท่อน้ำดีในตับ โดยมะเร็งที่เกิดจากเซลล์ท่อน้ำดีในตับพบมากทางภาคอีสาน จากการกินปลาดิบ บวกกับอาหารที่มีสารก่อมะเร็ง เช่น อาหารที่ใส่ดินประสิว อาหารหมักดอง ทั้งนี้มะเร็งตับอาจเกิดจากตัวของมันเอง หรือมะเร็งที่อื่นกระจายมาที่ตับก็ได้

“มะเร็งตับ” กับ “มะเร็งตับอ่อน” ไม่เหมือนกัน เพราะเป็นอวัยวะคนละส่วนกัน  มะเร็งตับไม่กระจายไปตับอ่อน แต่มะเร็งตับอ่อนกระจายไปยังตับได้  เพราะฉะนั้นถ้าเจอทั้งมะเร็งตับและตับอ่อนในผู้ป่วย แสดงว่าเป็นมะเร็งตับอ่อนแล้วกระจายไปที่ตับ

คนที่ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ อาจจะเป็นมะเร็งตับได้ จากไวรัสตับอักเสบบีและซี  การดื่มเหล้าเป็นประจำจนเกิดภาวะตับแข็ง การกินอาหารที่มีเชื้อรา โดยเฉพาะธัญพืชมีเชื้อรา เช่น ถั่วลิสง พริกป่น เป็นต้น

ส่วน “มะเร็งตับอ่อน” พบน้อยกว่ามะเร็งตับ 10 เท่า ปีหนึ่งพบผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 1,300 คน  มีเซลล์ 2 ชนิดที่เป็นบ่อย คือ เซลล์ท่อตับอ่อน เป็นมะเร็งได้ 90-95% เป็นแล้วรุนแรง ส่วนอีกชนิดคือเซลล์จากต่อมไร้ท่อ พบไม่บ่อย พบได้ประมาณ 5-10% เจริญเติบโตช้ากว่า การรักษาจะดีกว่า

“มะเร็งตับอ่อน” อาจมีปัจจัยมาจากการสูบบุหรี่ เพราะตับอ่อนไวต่อสารก่อมะเร็ง คนไม่สูบบุหรี่ก็เป็นได้ จากภาวะตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง บ้านเรามักเกิดจากการดื่มสุรา แต่บางครั้งก็ไม่รู้สาเหตุ หรือคนที่เป็นโรคเบาหวาน กินอาหารที่มีไขมันสูง เป็นโรคอ้วน ก็มีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งตับอ่อนได้

มะเร็งตับ ระยะที่ 1 ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็ก ยังไม่ลุกลาม ระยะที่ 2 ก้อนใหญ่ขึ้น กินเส้นเลือดที่อยู่ในตับ  ระยะที่ 3 มะเร็งลุกลามกินเส้นเลือดใหญ่ และระยะที่ 4 มะเร็งกระจายไปยังอวัยวะอื่น

การรักษามะเร็งตับจะใช้วิธีการผ่าตัด  ถ้าก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กสามารถใช้ความร้อนจี้ได้  ส่วนการฉายแสงค่อนข้างลำบาก เพราะเนื้อตับจะถูกทำลาย

มะเร็งตับอ่อน  ระยะที่ 1 จำกัดอยู่เฉพาะในตัวตับอ่อน ระยะที่ 2 กระจายไปนอกตับอ่อนบริเวณต่อมน้ำเหลืองโดยรอบ  ระยะที่ 3 ลุกลามไปสู่เส้นประสาทและหลอดเลือดใหญ่ในช่องท้อง และระยะที่ 4 กระจายไปยังอวัยวะอื่น การรักษามะเร็งตับอ่อนใช้วิธีการผ่าตัดเช่นกัน ขึ้นอยู่กับว่าเป็นส่วนไหนของตับอ่อน เพราะวิธีการรักษาต่างกัน เช่น ส่วนหัวอาจผ่าตัดได้ยาก

เมื่อเป็นมะเร็งระยะที่ 4 ซึ่งเป็นระยะสุดท้าย หากผู้ป่วยไม่รักษาเลย อาจมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 2-5 เดือน แต่ถ้ารักษา ผู้ป่วยได้รับยาที่เหมาะสม อาจช่วยยืดชีวิตไปได้ 2 เท่าหรือประมาณ 10 เดือน หรืออาจอยู่ได้นานกว่านี้ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งที่เป็นด้วย ในทางการแพทย์การยืดชีวิตผู้ป่วยออกไปถือว่าได้ประโยชน์.

นวพรรษ บุญชาญ : รายงาน

ที่มา : เดลินิวส์ 27 กรกฎาคม 2556

โรคตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสตับอักเสบบี

dailynews130707_001ทั่วโลกมีผู้ที่เคยได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B virus: HBV) มากกว่า 2,000 ล้านคน ในขณะที่มีประชากรไม่ต่ำกว่า 378 ล้านคน (หรือเท่ากับร้อยละ 6 ของประชากร โลก) เป็นพาหะของเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าร้อยละ 75 ของผู้ที่เป็นพาหะของเชื้อไวรัสตับอักเสบบี มีถิ่นฐานอยู่ในทวีปเอเชีย ส่วนความผิดปกติของตับเนื่องจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี นอกจากเป็นพาหะของเชื้อไวรัสตับอักเสบบีแล้ว ยังอาจพบโรคตับอักเสบเรื้อรัง โรคตับแข็ง โรคมะเร็งตับ และโรคตับอักเสบเฉียบพลันได้

โรคตับอักเสบเรื้อรังจากเชื้อไวรัสตับอักเสบบี สามารถวินิจฉัยได้จากการตรวจเลือด หากพบแอนติเจนของเชื้อเป็นบวกอย่างน้อย 3-6 เดือนร่วมกับมีจำนวนไวรัสสูง โรคนี้เป็นโรคที่มีความสำคัญเนื่องจากว่าร้อยละ 15-40 ของผู้ที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบี อาจเกิดโรคตับแข็ง มะเร็งตับและตับวาย

ปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมการดำเนินของโรคตับอักเสบเรื้อรังไปเป็นโรคตับแข็งและมะเร็งตับได้แก่ จำนวนของไวรัสตับอักเสบบีที่มาก เอนไซม์ตับขึ้นสูง เพศชาย อายุมาก และดื่มสุราเป็นประจำ ในอดีตผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย มักได้รับเชื้อจากมารดา ในขณะที่คลอดลูก ผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบบีตั้งแต่แรกเกิดมักมีระยะของโรคอยู่ในระยะภูมิคุ้มกันไม่ตอบสนองเป็นเวลานาน ซึ่งในระยะนี้จะพบจำนวนไวรัสสูงมาก โดยที่เอนไซม์ตับปกติ และมีแอนติเจนของ HBe เป็นบวก เมื่อเข้าสู่ระยะที่ 2 ซึ่งเป็นระยะภูมิคุ้มกันแข็งแรง เอนไซม์ตับเพิ่มสูงขึ้น นำไปสู่การลดลงของจำนวนเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และมีการเปลี่ยนแปลงของแอนติเจน HBe ไปเป็นแอนติบอดี้ของ HBe เข้าสู่ระยะพาหะที่โรคสงบ ผู้ที่อยู่ในระยะนี้มักมีเอนไซม์ตับปกติ จำนวนเชื้อไวรัสตับอักเสบบีต่ำมากหรือตรวจไม่พบ และมีแอนติบอดี้ของ HBe แต่บางครั้งระหว่างการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น อาจเกิดการกลายพันธุ์ของไวรัสชนิดนี้ได้ ทำให้ตับกลับมามีการอักเสบรุนแรงได้อีก พยาธิสภาพของตับที่อักเสบรุนแรงต่อเนื่องเป็นเวลานาน ก็จะทำให้กลายเป็นตับแข็งได้สูง

ข้อพิจารณาว่าใครควรได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุ จำนวนไวรัส ระดับเอนไซม์ตับ และโรคร่วมที่มีอยู่ ผู้ที่ยังไม่ควรได้รับการรักษาได้แก่ ผู้ที่อยู่ในระยะที่ 1 หรือระยะภูมิคุ้มกันไม่ตอบสนอง เนื่องจากการรักษาแล้วมักไม่ได้ผล ตับระยะนี้มักมีการอักเสบน้อยและมีโอกาสพัฒนาไปเป็นโรคตับแข็งได้น้อย การที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในระยะนี้ ไม่ควรได้รับการรักษาเนื่องจากร่างกายยังขาดการตอบสนองต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องรักษาตลอดไป ผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรได้รับการติดตามเป็นระยะ ๆ เพื่อรอดูเวลาที่เหมาะสมของการเริ่มรักษา เช่น เมื่อโรคมีการเปลี่ยนแปลงจากระยะที่ 1 เข้าสู่ระยะที่ 2 แต่ถ้าผู้นั้นมีอายุ 40 ปีขึ้นไปและมีจำนวนเชื้อไวรัสสูงมาก แต่ระดับเอนไซม์ตับปกติหรือไม่สูงมาก ควรได้รับการเจาะตับ เพื่อตรวจหาพยาธิสภาพของเนื้อตับโดยละเอียด ถ้ามีความรุนแรงของโรคมากพอ ก็ควรรักษาด้วยยาต้านไวรัส

การป้องกันหรือหยุดยั้งการเกิดโรคตับแข็งและมะเร็งตับ เป็นเป้าหมายสูงสุดของการรักษาโรคตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสตับอักเสบบี เมื่อจำนวนของไวรัสลดลง ระดับเอนไซม์ตับกลับมาปกติ และพยาธิสภาพของตับดีขึ้น ปัจจุบันมียาที่ได้รับการยอมรับโดยองค์การอาหารและยาแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ในการใช้รักษาโรคตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสบี ทั้งยาฉีดได้แก่ อินเตอเฟอรอน (interferon) เพ็กเกอเล็ดเต็ดอินเตอเฟอรอน(pegylated interferon) และยาต้านไวรัสชนิดรับประทาน 5 ชนิด ได้แก่ ลามิวูดีน (lamivudine) อะเด็ฟโฟเวีย (adefovir) เอนติคาเวีย (entecavir) เทลบิวูดีน (telbivudine) และล่าสุดได้แก่ ทินอฟโฟเวีย (tenofovir)

ในการดูแลและป้องกันโรคตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสตับอักเสบบี สามารถทำได้อย่างไร และวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบี มีประสิทธิภาพอย่างไร ติดตามได้ฉบับหน้า.

รศ.พญ.อาภัสณี โสภณสฤษฎ์สุข
ภาควิชาอายุรศาสตร์คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ที่มา:  เดลินิวส์  6 กรกฎาคม 2556

dailynews130713_001

มาดูแลและป้องกันโรคตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสตับอักเสบบี

ต่อเนื่องจากฉบับที่แล้ว แฟนคอลัมน์ก็คงจะทราบถึงสาเหตุการเกิดโรคตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสตับอักเสบบีกันไปแล้ว ฉบับนี้..เรามาร่วมดูแลและป้องกันโรคตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสตับอักเสบบีกันดีกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการป้องกันด้วยการฉีดวัคซีน จะเป็นอย่างไร มีข้อห้ามและการปฏิบัติตัวอย่างไร ติดตามกันต่อได้เลย

สำหรับการดูแลและป้องกันโรคตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสตับอักเสบบี ผู้ที่ตรวจพบว่ามีเชื้อไวรัสตับอักเสบบี แม้ว่าจะมีเอนไซม์ตับปกติ แต่ก็ควรได้รับการติดตามว่าพบเชื้ออีกหรือไม่ทุก ๆ 3-6 เดือน โดยในการตรวจนับจำนวนไวรัสตับอักเสบบี และการตรวจดีเอ็นเอ ถือว่ามีความจำเป็นเพื่อประกอบการประเมินโรคอย่างมาก

นอกจากนี้ควรมีการติดตามแอลฟ่าฟีโตโปรตีน (Alpha-  fetoprotein) และทำการ อัลตราซาวด์ตับทุก ๆ 6 เดือนในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงของการเกิดโรคมะเร็งตับ ได้แก่ ชายอายุ 40 ปีขึ้นไป หญิงอายุ 50 ปีขึ้นไป ที่เป็นโรคตับแข็ง มีคนในครอบ ครัวเป็นมะเร็งตับ ในกลุ่มผู้ที่มีอายุ40 ปีขึ้นไปที่มีเอนไซม์ตับและหรือจำนวนไวรัสตับอักเสบบีสูง ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานถั่วลิสงหรือพริกป่นบด เนื่องจากอาจมีเชื้อราอะฟลาทอกซินปนเปื้อน ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งตับได้

ส่วนในผู้ที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ผู้ที่เป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบบี หรือเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสตับอักเสบบี ไม่ควรดื่มสุราหรือใช้ยาสมุนไพร ทั้งยังให้ระมัดระวังการใช้ยาที่เป็นพิษต่อตับ ซึ่งสามารถใช้ยาลดไข้แก้ปวดได้โดยไม่ใช้ยาเกินขนาด ไม่บริจาคโลหิต ระวังการติดต่อโรคให้ผู้อื่น เช่น จากแม่ไปสู่ลูก การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน พยายามไม่ให้สารคัดหลั่งสัมผัสบาดแผลของผู้อื่น ควรแจ้งให้สูติ-นรีแพทย์ทราบเมื่อไปฝากครรภ์ พักผ่อนให้เพียงพอ และติดตามการรักษากับแพทย์อย่างสม่ำเสมอในกรณีที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสตับอักเสบบี

การป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบี (HBV) เมื่อเชื้อไวรัสตับอักเสบบีอยู่ในอากาศภายนอกที่มีอุณหภูมิปกติ เชื้อจะมีชีวิตอยู่ได้นาน 7วัน โดยเชื้อสามารถติดต่อจากแม่สู่ลูกได้ในระหว่างตั้งครรภ์และการคลอดบุตร การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในเด็ก ระยะต้นอาจเกิดจากเชื้อไวรัสตับอักเสบบี จากเลือด หรือสารคัดหลั่งที่มีเชื้อชนิดนี้ไปสัมผัสกับบาดแผลตามร่างกาย ส่วนการติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ของการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ในประเทศที่กำลังพัฒนาพบว่ามีความชุกของเชื้อไวรัสชนิดนี้ค่อนข้างสูง มักมีการติดต่อจากแม่สู่ลูกหรือได้รับเชื้อในวัยเด็กระยะต้น การป้องกันการติดเชื้อสามารถทำได้โดยการมีเพศสัมพันธ์แบบปลอดภัย มีสุขอนามัยที่ดี มีการตรวจหาไวรัสตับอักเสบบีในเลือดทุกถุง และปฏิบัติตามหลักการปลอดเชื้อที่แพทย์แนะนำ

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา พบว่าการใช้วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีนั้น วัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคมากถึงร้อยละ 95 และจัดเป็นวัคซีนตัวแรกที่สามารถป้องกันโรคมะเร็งได้ วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบีจะฉีดเข้ากล้ามเนื้อโดยห่างจากเข็มแรก 1 เดือน และ 6 เดือน ผู้ที่ทราบว่าตนเองมีเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ให้คู่ของตนเองไปฉีดวัคซีนให้มีภูมิต้านทานก่อนแต่งงาน และหลีกเลี่ยงการบริจาคโลหิต อวัยวะ และสารคัดหลั่งของร่างกาย

ในส่วนของวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี คำถามว่าใครควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบี? ต้องบอกว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 องค์การอนามัยโรคมีนโยบายให้โรงพยาบาลทุกแห่งมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบีแก่ทารกแรกเกิดทุกราย เช่นเดียวกันกับผู้ที่อยู่ภายในบ้านเดียวกันกับผู้ที่เป็นโรคตับอักเสบเฉียบพลันจากไวรัสตับอักเสบบีหรือเป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบบี รวมถึงผู้ที่มีประวัติการมีเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยง เช่น มีคู่นอนหลายคน ผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย ผู้ที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมทั้งผู้ค้าบริการทางเพศ

สำหรับประโยชน์สำคัญของวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบี  นั้น การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบี ทำให้อุบัติการณ์ของโรคตับแข็ง มะเร็งตับในเด็กและวัยรุ่น ลดลงอย่างชัดเจน วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบี มีความปลอดภัยและมีผลข้างเคียงน้อยมาก

เมื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบีครบ 3 เข็มแล้ว ควรตรวจวัดระดับภูมิต้านทาน anti-HBs ภายใน 1-3 เดือน ถ้ามีระดับภูมิต้านทานต่อไวรัสตับอักเสบบี หรือ anti-HBs มากกว่า 10 IU/L (international units per liter) ถือว่าป้องกันได้ มีผลการศึกษาพบว่าไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีซ้ำอีก ถ้าร่างกายเคยสร้างภูมิต้านทาน anti-HBs ขึ้นมาแล้ว ภูมิต้านทานนี้สามารถป้องกันเชื้อไวรัสตับอักเสบบีได้ตลอดชีวิต.

รศ.พญ.อาภัสณี โสภณสฤษฎ์สุข
ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล

ที่มา:  เดลินิวส์  13 กรกฎาคม 2556