นอนกรนในเด็ก ส่วนใหญ่จากต่อมอะดีนอยด์

dailynews150208ในผู้ใหญ่การนอนกรนอาจนำมาซึ่งการหยุดหายใจและสมองเสื่อมได้ แต่ในเด็ก แม้การนอนกรนจะเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ที่ทำให้ทางผ่านลมจากจมูกลงสู่ปอดแคบลง ต่อมอะดีนอยด์โตเป็นสาเหตุที่พบบ่อยอย่างหนึ่ง

ต่อมอะดีนอยด์คืออะไร

ต่อมอะดีนอยด์เป็นต่อมน้ำเหลืองชนิดหนึ่ง ซึ่งอยู่บริเวณด้านหลังของโพรงจมูก ทำหน้าที่ในการกำจัดเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย โดยเฉพาะการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น โรคคออักเสบ โรคโพรงไซนัสอักเสบ โรคหูชั้นกลางอักเสบ หรือโรคหลอดลมอักเสบ เป็นต้น ต่อมอะดีนอยด์โตได้อย่างไร

สาเหตุที่ทำให้ต่อมอะดีนอยด์โต ได้แก่

1. การติดเชื้อเรื้อรังของระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น โรคโพรงจมูกอักเสบเรื้อรัง โรคโพรงไซนัสอักเสบเรื้อรัง หรือโรคหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น

2. โรคภูมิแพ้ โดยเฉพาะโรคภูมิแพ้ของเยื่อบุโพรงจมูก หรือโรคแพ้อากาศ

3. การติดเชื้อเรื้อรังของต่อมอะดีนอยด์

โดยส่วนใหญ่จะพบต่อมทอนซิลโตร่วมกับต่อมอะดีนอยด์โต เนื่องจากต่อมทอนซิลเป็นต่อมน้ำเหลืองที่อยู่บริเวณภายในช่องคอ ซึ่งทำหน้าที่เช่นเดียวกับต่อมอะดีนอยด์เด็กที่มีต่อมอะดีนอยด์โตจะมีอาการอย่างไร

เด็กที่มีต่อมอะดีนอยด์โตจะมีอาการของทางเดินหายใจส่วนบนอุดกั้น เช่น หายใจไม่สะดวก หายใจมีเสียงดัง นอนอ้าปาก เนื่องจากมีการหายใจทางปาก นอนกรน สะดุ้งตื่นกลางดึก หรือมีภาวะหยุดหายใจ เป็นต้น ซึ่งอาการดังกล่าวสามารถสังเกตเห็นได้ในช่วงตอนกลางคืนขณะที่เด็กมีการนอนหลับสนิท ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากโรคต่อมอะดีนอยด์

1. เด็กจะรู้สึกง่วง หรืออ่อนเพลียในช่วงเวลากลางวัน จากการนอนหลับไม่เต็มที่ ทำให้ผลการเรียนตกต่ำลง

2. มีพฤติกรรมไม่อยู่นิ่ง สมาธิสั้น

3. มีการหลั่งของฮอร์โมนที่จำเป็นในการเจริญเติบโตลดน้อยลง เนื่องจากฮอร์โมนดังกล่าวจะหลั่งในขณะที่เด็กมีการนอนหลับสนิท

4.มีการเปลี่ยนแปลงของกระดูกใบหน้า ทำให้รูปหน้ารีเป็นรูปไข่ จากการโก่งตัวสูงขึ้นของกระดูกเพดานปาก และมีการยื่นออกของฟันหน้าจนผิดรูป ซึ่งเกิดจากการที่เด็กหายใจทางปาก

ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญคือ การขาดออกซิเจนในช่วงของการนอนตอนกลางคืนทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันเลือดในปอดสูง เป็นต้น

 

การรักษาโรคต่อมอะดีนอยด์โต

นอกจากการรักษาโรคที่พบร่วมด้วยแล้ว แนวทางการรักษาโรคต่อมอะดีนอยด์โต อาจแบ่งออกได้เป็น 2 วิธี

1. การรับประทานยาปฏิชีวนะ ร่วมกับการใช้ยาพ่นสเตียรอยด์ผ่านจมูก ซึ่งจะใช้ระยะเวลาในการรักษาประมาณ 4-6 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามเด็กอาจมีอาการกลับเป็นซ้ำได้ หากมีการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบน หรือมีการกำเริบของโรคแพ้อากาศ

2. การผ่าตัดรักษา

 

ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์ คือ

– กรณีที่เด็กไม่ตอบสนองต่อการรักษาโดยการรับประทานยา และยาพ่นสเตียรอยด์

– กรณีที่เด็กมีภาวะหยุดหายใจ

– กรณีที่เกิดโรคแทรกซ้อน เช่น โรคหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรังกับมีน้ำคั่ง หรือโรคโพรงไซนัสอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น

 

การผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์ จะเกิดผลเสียต่อเด็กหรือไม่

การผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์จะไม่เกิดผลเสียในด้านลดความสามารถของร่างกาย ในการกำจัดเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายเนื่องจากร่างกายมีระบบต่อมน้ำเหลืองอื่น ๆ อีกมากมายที่สามารถทำงานทดแทนต่อมอะดีนอยด์ที่ถูกตัดออกไป รวมถึงบทบาทของต่อมอะดีนอยด์ก็จะลดน้อยลงและต่อมจะมีขนาดเล็กลงในเด็กที่อายุมากกว่า 5-7 ปี

ข้อมูลจาก นายแพทย์ปรีดา สง่าเจริญกิจ กุมารแพทย์โรคภูมิแพ้และวิทยาภูมิคุ้มกัน ศูนย์ภูมิแพ้ แผนกกุมารเวช โรงพยาบาลพญาไท 1 http://www.phyathai.com

นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์

ที่มา: เดลินิวส์ 8 กุมภาพันธ์ 2558

ไรฝุ่น…สาเหตุของโรคภูมิแพ้

thairath141128_01aผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้ เช่น โรคหืด แพ้อากาศ ผื่นผิวหนังอักเสบ ภูมิแพ้ ร้อยละ 70 มีสาเหตุมาจากการแพ้ไรฝุ่นและสารก่อภูมิแพ้

ไรฝุ่น…อันตรายที่มองไม่เห็น

ไรฝุ่น (dust mite) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Dermatophagoides pteronyssinus Dermatophagoides fariae เป็นแมลงขนาดเล็ก ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เพราะมีความยาวเพียง 250 – 300 ไมครอน มี 8 ขา ไม่มีตา วางไข่คราวละ 20 – 50 ฟอง 3 สัปดาห์/ครั้ง ระยะฟักตัว 8 – 12 วัน แต่ละตัวมีอายุ 2 – 4 เดือน สามารถปะปนอยู่กับฝุ่นตามพื้นบ้าน ห้องนอน ที่นอน หมอน พรม และเครื่องเรือนต่างๆ โดยชอบอาศัยในที่อับชื้น และอบอุ่น ไรฝุ่นกินเศษผิวหนังและรังแคเป็นอาหาร จากนั้นจะถ่ายมูลไว้ในสถานที่ที่อาศัยอยู่ โดยเฉพาะบนเตียง หรือที่นอน ซึ่งเป็นแหล่งสะสมของตัวไรฝุ่นและมูลของไรฝุ่น

– ในฝุ่นบ้าน 1 กรัม สามารถพบไรฝุ่นได้ถึง 500 ตัว

– น้ำหนัก 1 ใน 10 ของหมอนเก่าอายุ 6 ปี มาจากไรฝุ่นและมูลของไรฝุ่น

– ในที่นอน 1 หลัง มีไรฝุ่นอาศัยอยู่ประมาณ 2 ล้านตัว

– มูลของไรฝุ่นสามารถฟุ้งกระจายได้ง่ายและลอยเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจของเราในขณะนอนหลับ

กำจัดไรฝุ่นอย่างไร ?

ไรฝุ่นสามารถแพร่พันธุ์ในที่อับชื้น การกำจัดไรฝุ่นคือทำความสะอาดพื้นห้อง เตียง หมอน ผ้าปูที่นอน เครื่องเรือน พรม ให้มีฝุ่นน้อยที่สุด โดยผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าห่ม ควรนำไปซักด้วยน้ำร้อนอุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที

ไรฝุ่นเจริญเติบโตได้ดีในพรมที่มีขนพรมหนา รวมทั้งที่นอนและหมอน เนื่องจากมีแหล่งอาหารอุดมสมบูรณ์ในที่นอน คือ เศษหนังกำพร้าของคน โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจคือ เศษหนังกำพร้าของคน 1 กรัม เป็นอาหารให้ไรฝุ่นหนึ่งล้านตัวมีชีวิตได้นาน 1 สัปดาห์ ตามปกติคนเราจะมีผิวหนังหลุดลอกออกมาถึง 1.5 กรัมต่อวัน ดังนั้น การตัดทอนอาหารของไรฝุ่นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยวิธีที่ดีที่สุดคือ การหุ้มที่นอนและหมอนด้วยพลาสติก ไวนิลหรือผ้าคลุมที่ป้องกันไรฝุ่น ซึ่งผ้าคุณสมบัติพิเศษ คือ ผ้าที่ทอด้วยเส้นด้ายละเอียดและสานกันแน่นมากจนไรฝุ่นและมูลของไรฝุ่นไม่สามารถเล็ดลอดเข้าไป ทำให้ตัวไรฝุ่นขาดอาหารและลดจำนวนลง

thairath141128_01b
วิธีการลดจำนวนไรฝุ่นในบ้าน

– ซักปลอกหมอน และผ้าปูที่นอน 1-2 สัปดาห์ ด้วยน้ำร้อน 55-60 องศาเซลเซียส เพื่อฆ่าไรฝุ่น และใช้ผ้าคลุมที่นอนและหมอนเพื่อกันไรฝุ่น

– มีการระบายอากาศในห้องนอนเพื่อลดความชื้น อย่างน้อยควรเปิดประตูหน้าต่างห้องนอนวันละ 1 ชั่วโมง ดีกว่าปิดห้องไว้ตลอดเวลา

– ใช้เครื่องดูดฝุ่นที่มีคุณภาพดี ถ้าเป็นไปได้ควรใช้เครื่องที่มี HEPA filter ด้วย

– ทำความสะอาดบ้านและห้องนอนด้วยผ้าชุบน้ำหมาดๆ

– ไม่ควรปูพรม ไม่ควรใช้เฟอร์นิเจอร์ที่หุ้มด้วยผ้าและผ้าม่านในห้องนอน

– ไม่ควรเก็บของเล่นจำพวกตุ๊กตาขนนิ่มๆ ในห้องนอน ถ้ามีควรทำความสะอาดด้วยน้ำร้อน 55-60 องศาเซลเซียส หรือแช่แข็งเพื่อฆ่าไรฝุ่น

– ไม่ควรนำสัตว์เลี้ยงเข้าไปในห้องนอน เพราะรังแคจากสัตว์เลี้ยงเป็นอาหารที่ดีของไรฝุ่น

– นำที่นอน หมอน และพรม ตากแดดจัดๆ ประมาณ 3 ชั่วโมงขึ้นไป จะช่วยฆ่าตัวไรฝุ่นได้

วิธีการข้างต้นเป็นวิธีการที่ไม่ยุ่งยากหรือสลับซับซ้อน และเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับการป้องกันการเกิดโรคภูมิแพ้จากไรฝุ่น อย่างไรก็ตาม หากเกิดอาการผิดปกติใดๆ ก็อย่านิ่งนอนใจ ควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้ เพื่อหาทางรักษาได้อย่างทันท่วงที

รองศาสตราจารย์นายแพทย์สุวัฒน์ เบญจพลพิทักษ์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

ที่มา: ไทยรัฐ 28 พฤศจิกายน 2557

โรคภูมิแพ้ในเด็ก–หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน ทุกเพศ ทุกวัย

dailynews140914_02โรคภูมิแพ้ คืออะไร

โรคภูมิแพ้ คือ โรคที่ร่างกายเกิดปฏิกิริยาที่ผิดปกติต่อสารก่อภูมิแพ้ ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังที่อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น ผิวหนัง เยื่อบุจมูก เยื่อบุตา เยื่อบุทางเดินหายใจ หรือเยื่อบุทางเดินอาหาร เป็นต้น

สารก่อภูมิแพ้ได้แก่อะไรบ้าง
สารก่อภูมิแพ้ มี 2 ประเภท ได้แก่
1.สารก่อภูมิแพ้ในอากาศ เช่น ไรฝุ่น แมลงสาบ ขนสุนัข ขนแมว เกสรหญ้า หรือเชื้อรา เป็นต้น
2.สารก่อภูมิแพ้ประเภทอาหาร เช่น นมวัว นมถั่วเหลือง ไข่ อาหารทะเล หรือแป้งสาลี เป็นต้น
ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้จะมีอาการอย่างไรบ้าง
ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้จะมีอาการตามอวัยวะที่เกิดการอักเสบจากการกระตุ้นโดยสารก่อภูมิแพ้ เช่น

  • ผิวหนัง จะทำให้เกิดโรคผื่นภูมิแพ้ ผิวหนัง ผู้ป่วยจะมีอาการผื่นคันเรื้อรัง บริเวณใบหน้า ข้อพับ แขนขา หรือลำตัว เป็นต้น
  • เยื่อบุจมูก จะทำให้เกิดโรคเยื่อบุจมูกอักเสบภูมิแพ้ ผู้ป่วยจะมีอาการน้ำมูกเรื้อรัง ร่วมกับอาการจาม คันหรือคัดจมูก
  • เยื่อบุตา จะทำให้เกิดโรคเยื่อบุตาอักเสบภูมิแพ้ ผู้ป่วยจะมีอาการคัน หรือเคืองตาเรื้อรัง แสบตา หรือน้ำตาไหลบ่อย ๆ
  • เยื่อบุทางเดินหายใจ จะทำให้เกิดโรคหืด ผู้ป่วยจะมีอาการไอ หอบ หายใจไม่สะดวก แน่นหน้าอก หรือหายใจได้ยินเสียงวี้ด
  • เยื่อบุทางเดินอาหาร จะทำให้เกิดโรคแพ้อาหาร ผู้ป่วยจะมีอาการอุจจาระร่วงเรื้อรัง อาเจียน น้ำหนักตัวลดร่วมกับอาการผื่นเรื้อรังและภาวะซีด

ทำไมถึงเป็นโรคภูมิแพ้
ในปัจจุบันยังไม่สามารถหาสาเหตุที่แน่ชัดของโรคนี้ได้ แต่เชื่อว่าพันธุกรรมเป็นปัจจัยหนึ่งที่เป็นสาเหตุของโรคนี้ ดังจะเห็นได้ว่า ผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคภูมิแพ้มักจะมีบิดา หรือมารดาเป็นโรคภูมิแพ้ด้วยปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป จากสังคมชนบทสู่สังคมเมือง ทำให้มีสารมลพิษในบรรยากาศที่อาจจะเป็นตัวกระตุ้นทำให้ผู้ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้กันมากขึ้น

ผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้ควรดูแลรักษาตัวเองอย่างไร
ผู้ป่วยสามารถที่จะดำเนินชีวิตได้ตามปกติไปพร้อม ๆ กับโรคเพียงแต่รู้จักปฏิบัติตนให้ถูกต้องเท่านั้น หลักสำคัญในการปฏิบัติตนมีอยู่ด้วยกัน 3 ข้อ คือ
1.หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งสามารถทราบชนิดของสารก่อภูมิแพ้ ได้จากการทำการทดสอบผิวหนัง เพื่อหาสารก่อภูมิแพ้ การปฏิบัติตนข้อนี้ นับว่าสำคัญมาก สามารถทำให้ผู้ป่วยลดปริมาณการใช้ยาให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อควบคุมอาการของโรค
2.การใช้ยาอย่างสม่ำเสมอ ตามคำแนะนำของแพทย์ รวมถึงสามารถใช้ยาพ่นผ่านทางจมูกหรือปากได้ถูกต้องตามขั้นตอน
3.การดูแลตนเองให้มีสุขภาพกายและใจที่แข็งแรงอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่อาจกระตุ้นให้มีอาการของโรคมากขึ้น เช่น ควันบุหรี่ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ หรือจากการประกอบอาหาร เป็นต้น

 

หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน

เป็นโรคที่พบได้บ่อยในทุกคนทุกเพศทุกวัย ซึ่งมักพบหลังเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ส่วนมากเกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งจะมีอาการไอ มีเสมหะขาว บางครั้งอาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งจะมีเสมหะสีเหลืองหรือเขียว บางครั้งอาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งจะมีเสมหะสีเหลืองหรือเขียว นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากการถูกสารระคายเคือง เช่น ควันบุหรี่ ไอเสียรถยนต์ ฝุ่นละออง เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้มีอาการเรื้อรังได้

อาการ
มีอาการไอซึ่งจะเป็นมากตอนกลางคืน ระยะแรกจะไอแห้ง ๆ อาจมีเสียงแหบ และเจ็บหน้าอกเพราะไอมาก 4-5 วันต่อมาจะมีเสมหะเหนียวเป็นสีขาว (เชื้อไวรัส) หรือขุ่นข้นเป็นสีเหลืองหรือสีเขียว (เชื้อแบคทีเรีย) ในเด็กอาจไอจนอาเจียน อาจจะมีไข้ต่ำ ๆ หรือไม่มีก็ได้ ถ้าเป็นมากจะมีอาการหอบร่วมด้วย เหนื่อย หายใจเสียงดังหวีด
สิ่งที่ตรวจพบ
ส่วนมากจะไม่พบสิ่งผิดปกติ บางคนอาจมีไข้ การใช้เครื่องฟัง ตรวจปอดอาจได้ยินเสียงหายใจกรอบแกรบ (Coarse breath sound) หรือเสียงครืดคราด (Rhonchi) คนที่มีอาการหอบเหนื่อยร่วมด้วย การฟังปอดอาจได้ยินเสียงหวีด (Wheezing)

อาการแทรกซ้อน
โรคนี้มักหายได้ภายใน 1-3 สัปดาห์แต่อาการไออาจเป็นอยู่นานถึง 2-3 เดือน ที่เรียกว่าไอร้อยวันและบางรายอาจเกิดภาวะแทรก ซ้อน ที่พบได้บ่อยได้แก่ ไอออกเลือด หลอดลมอักเสบเรื้อรัง หลอดลมโป่งพอง

การรักษา
1.แนะนำให้ผู้ป่วยพักผ่อนให้มากขึ้นอย่าทำงานหนัก ควรดื่มน้ำอุ่นมาก ๆ เพื่อช่วยให้เสมหะออกได้ง่ายขึ้น ไม่ควรดื่มน้ำเย็นหรือน้ำแข็ง อาจทำให้ไอมากขึ้น ควรงดสูบบุหรี่ อย่าอยู่ในที่ ๆ มีอากาศเสียหรือฝุ่นละอองมาก
2.ให้ยาขับเสมหะ ควรหลีกเลี่ยงยาแก้ไอชนิดกดการไอ เช่น ยาแก้ไอน้ำดำ ยาแก้ไอน้ำเชื่อม ยาแก้แพ้หรือโคเดอีน (Codeine) เพราะอาจทำให้เสมหะอุดกั้นหลอดลมเล็ก ๆ ทำให้ปอดบางส่วนแฟบได้
3.ยาปฏิชีวนะ ถ้าเสมหะขาว (เกิดจากเชื้อไวรัสหรือการระคายเคือง) ไม่ต้องทานยา ถ้าเป็นเสมหะสีเหลืองหรือเขียว (เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย) ควรให้ยาปฏิชีวนะ
4.ถ้ามีอาการหอบหืด (ฟังเสียงปอดได้ยินเสียงหวีด) ให้ยาขยายหลอดลม
5.ถ้าไอนานเกิน 3 สัปดาห์ หรือมีไข้นานเกิน 1 สัปดาห์ หรือน้ำหนักลด ควรส่งโรงพยาบาล อาจต้องเอกซเรย์ปอด ตรวจเสมหะหาสาเหตุและรักษาตามเหตุ

ข้อแนะนำ
โรคนี้มักเป็นหลังจากเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ และอาจไออยู่นาน 2-3 สัปดาห์ โดยที่สุขภาพทั่วไปแข็งแรงดี แต่ถ้าพบว่ามีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรือมีไข้เรื้อรัง อาจเป็นจากสาเหตุอื่น เช่น วัณโรค หากสงสัย ควรส่งโรงพยาบาล

ข้อมูลจาก ศูนย์ภูมิแพ้ (Allergy Center) แผนกกุมารเวช / คลินิกโรคระบบทางเดินหายใจและโรคปอด โรงพยาบาลพญาไท 1 / http://www.phyathai.com

นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์

ที่มา : เดลินิวส์ 14 กันยายน 2557

โรคหอบหืด

thairath140801_02aโรคหอบหืด ตอนที่ 1 : หืดป้องกันได้ ก่อนจะสายเกินแก้

พบบ่อยแค่ไหน ?  

โรคหอบหืด หรือ โรคหืด เป็นโรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่งที่พบบ่อยในเด็กและมีแนวโน้มจะพบมากขึ้นเรื่อยๆ ข้อมูลจากการสำรวจพบว่าเด็กไทยเป็นโรคหืดถึงร้อยละ 12 หรือประมาณ 3 ล้านคน ซึ่งมีสัดส่วนเป็นร้อยละ 5 ของประชากรทั่วไป โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 2–4 ต่อปี

สาเหตุของโรคคืออะไร ?  

โรคหืดเกิดจากการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม ทำให้หลอดลมไวต่อสิ่งกระตุ้น เกิดการหดเกร็งของหลอดลม มีการหลั่งมูกเพิ่มขึ้น และผนังหลอดลมบวม เป็นผลให้มีอาการของหลอดลมตีบแคบ ซึ่งอาการเหล่านี้อาจทุเลาได้เองหรือโดยการใช้ยา

สาเหตุสำคัญสุดคือ สารก่อภูมิแพ้ โดยพบว่าเด็กที่เป็นหอบหืดร้อยละ 80 เกิดจากภาวะภูมิแพ้ โดยเฉพาะในเด็กที่มีพันธุกรรมของโรคภูมิแพ้ในครอบครัว โดยสารก่อภูมิแพ้ที่พบบ่อยได้แก่ ไรฝุ่น แมลงสาบ สัตว์เลี้ยง ซึ่งเป็นสารก่อภูมิแพ้ในอาคาร/บ้านที่อยู่อาศัย ส่วนสารก่อภูมิแพ้ภายนอกบ้าน ได้แก่ ละอองเกสร หญ้า วัชพืช และเชื้อรา ซึ่งเชื้อรานี้พบได้ทั้งภายในและภายนอกบ้าน

นอกจากนี้ สารระคายเคืองทางเดินหายใจและมลพิษในสิ่งแวดล้อมก็มีบทบาทเสริมการกระตุ้นให้ผู้ป่วยเป็นโรคหืดได้ง่ายขึ้น ซึ่งสารระคายเคืองที่พบบ่อยได้แก่ ควันบุหรี่ ควันท่อไอเสีย และก๊าซ

ส่วนปัจจัยอื่นที่เป็นสาเหตุเสริมให้ผู้ป่วยโรคหืดมีอาการกำเริบเฉียบพลันคือ การติดเชื้อไวรัสในระบบหายใจ หรือการติดเชื้อแบคทีเรียในทางเดินหายใจส่วนบน เช่น ไซนัสอักเสบ ทอนซิลอักเสบ นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ก็มีส่วนทำให้โรคหืดกำเริบได้

โรคหืดมีอาการอย่างไร ?      

อาการสำคัญคือ ไอ หอบเหนื่อย หายใจลำบาก แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงวี้ด อาการมักเกิดเป็นพักๆ สลับกับช่วงไม่มีอาการ (เหมือนคนปกติ) โดยอาจเกิดอาการขณะออกกำลังกายหรือ ขณะนอนหลับกลางดึกก็ได้ จึงเป็นโรคที่ทรมาน ถ้าอาการรุนแรงและเกิดบ่อยๆ จะมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วยและผู้ดูแลเป็นอย่างมาก เมื่อสงสัยว่าจะเป็นโรคหืดจึงควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรค หาสาเหตุ ประเมินความรุนแรง และเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง หากผู้ป่วยไปพบแพทย์ได้ขณะกำลังมีอาการหอบหืด แพทย์อาจให้การวินิจฉัยโรคได้ไม่ยากโดยการตรวจร่างกาย ฟังเสียงหายใจผิดปกติในปอด และตรวจวัดสมรรถภาพปอด แต่ถ้าไปตรวจขณะไม่มีอาการอาจต้องอาศัยการตรวจพิเศษเพิ่มเติมมาช่วยยืนยันการวินิจฉัยโรค

โรคหืดรุนแรงถึงตาย…แต่ป้องกันได้        

ก่อนมีอาการรุนแรงจนอาจถึงแก่ชีวิต ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีสัญญาณอันตรายซึ่งตัวผู้ป่วยหรือญาติพึงสังเกตได้ ดังต่อไปนี้

  • มีประวัติการเป็นโรคหืดที่มีการจับหืดอย่างรุนแรงมาก่อน เช่น เคยรักษาตัวในห้องไอซียูเพราะหอบรุนแรง ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ หรือใช้เครื่องช่วยหายใจ เป็นต้น
  • มีประวัติการเข้าห้องฉุกเฉินเพราะมีอาการหอบมากในปีที่ผ่านมา
  • มีประวัติการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องจากหอบรุนแรง ต้องให้ออกซิเจนและยาขยายหลอดลม
  • เป็นผู้ป่วยที่เคยใช้ยาพ่นสูดเป็นประจำเพื่อควบคุมอาการของโรค หรือเพิ่งหยุดยาพ่นสูดมาไม่นาน
  • เป็นผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดรับประทานเป็นประจำ หรือเพิ่งหยุดยารับประทานมาไม่นาน
  • เป็นผู้ป่วยที่ไม่ค่อยยอมไปพบแพทย์ ชอบใช้ยาขยายหลอดลมเป็นประจำ และต้องใช้ยามากกว่า 1 หลอดต่อเดือน
  • เป็นผู้ป่วยหืดที่มีปัญหาทางสุขภาพจิตร่วมด้วย หรือเป็นผู้ที่เสพติดยา
  • เป็นผู้ป่วยที่ไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่ยอมใช้ยาที่แพทย์สั่งเป็นประจำ ชอบหยุดยาเองเพราะคิดว่าหายแล้ว
  • เป็นผู้ป่วยที่อยู่ในครอบครัวที่แตกแยก มีปัญหาครอบครัว ไม่มีคนดูแลเอาใจใส่

หากผู้ป่วยและคนใกล้ชิดหมั่นสังเกตปัจจัยทั้ง 9 ข้อดังกล่าว ให้ความสนใจและถามไถ่ปัญหาจากผู้ป่วย พร้อมให้คำแนะนำและช่วยเหลือให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี ผู้ป่วยก็จะสามารถใช้ชีวิตกับโรคหอบหืดได้อย่างมั่นใจ และจะได้ไม่มีใครเสียใจในภายหลัง.

รศ.นพ.สุวัฒน์ เบญจพลพิทักษ์
คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี

ที่มา : ไทยรัฐ 1 สิงหาคม 2557

thairath140801_02b

โรคหอบหืด ตอนที่ 2 หอบหืด…รักษาได้

หลักการรักษาที่เหมาะสม คือ การหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ และการใช้ยาควบคุมอาการ

1. หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้และสิ่งกระตุ้นเมื่อสังเกตว่าสารก่อภูมิแพ้หรือสิ่งกระตุ้นใดทําให้เกิดอาการหอบ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งนั้นๆ การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังโดยวิธีสะกิดหรือการตรวจเลือดหาระดับของ IgE อาจช่วยบอกชนิดของสารก่อภูมิแพ้ที่กระตุ้นให้ผู้ป่วยมีอาการได้

2. การรักษาด้วยยา ยาที่ใช้ในการรักษาโรคหืดปัจจุบันแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ

-ยาช่วยบรรเทาอาการ (Reliever) ได้แก่ ยาขยายหลอดลม มีทั้งชนิดพ่นสูด ชนิดรับประทาน และชนิดฉีด ใช้เพื่อขยายหลอดลมในขณะที่มีอาการหอบหืด เนื่องจากออกฤทธิ์ได้ ยาวนาน จึงสามารถใช้ควบคุมอาการได้ โดยใช้ร่วมกับยาสเตียรอยด์

– ยาควบคุมอาการ (Controller) มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ใช้ลดการอักเสบของหลอดลมเพื่อ ป้องกันไม่ให้เกิดอาการหอบขึ้นอีก ยาประเภทนี้ออกฤทธิ์ช้า จึงต้องใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ขนาดยาที่ใช้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ภายใต้คําแนะนําของแพทย์ ยาประเภทนี้แบ่ง เป็น 3 กลุ่มด้วยกัน คือ

1. ยาที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ คือ ยา Montelukast เป็นยารับประทานสําหรับเด็กและผู้ใหญ่ ที่เป็นโรคหืด โรคเยื่อบุจมูกอักเสบ และโรคภูมิแพ้ มีผลข้างเคียงน้อยแต่ราคายาค่อนข้างสูง

2. ยาสเตียรอยด์ มีหลายรูปแบบ ทั้งยาพ่นสูด ยารับประทาน และยาฉีด โดยยารับประทานและยาฉีดออกฤทธิ์ได้ดีและเร็ว แต่มีผลข้างเคียงต่อร่างกายเมื่อต้องใช้บ่อยๆ หรือใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ได้แก่ ยับยั้งการเจริญเติบโตของเด็ก ความดันโลหิตสูง น้ําตาลในเลือดสูง ภูมิต้านทานต่ำ ติดเชื้อง่าย และกระดูกพรุน จึงแนะนําให้ใช้ในระยะสั้น (ไม่เกิน 3–7 วัน) และใช้เมื่อ มีความจําเป็นเท่านั้น เช่น หอบหืดรุนแรง หอบเหนื่อยอย่างต่อเนื่อง หอบหืดเฉียบพลันรุนแรง เป็นต้น

สําหรับการควบคุมอาการที่ต้องใช้ยาเป็นประจําและต่อเนื่อง แนะนําให้ใช้ยาสเตียรอยด์ในรูปแบบของยาพ่นสูดจะเหมาะสมที่สุด เนื่องจากมีประสิทธิภาพดีและมีผลข้างเคียงน้อยมาก รูปแบบของยาพ่นสูดที่นิยมใช้โดยทั่วไป มี 2 แบบ คือ      

– ยาพ่นสูดชนิดที่ใช้แรงดันก๊าซ (Meter-DoseInhaler,MDI) เป็นรูปแบบที่นิยมใช้กันมานาน ควรใช้ร่วมกับกระบอกพ่นยาและหน้ากากทุกครั้ง เนื่องจากการพ่นเข้าปากโดยตรง ต้องอาศัยจังหวะและความคล่องของผู้ป่วย หากสูดหายใจผิดวิธี จะมียาเข้า สู่ปอดน้อยมาก อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยพ่นสูดด้วยวิธี MDI ได้ไม่ดี ก็สามารถเลือก วิธีการพ่นยาผ่านเครื่องพ่นฝอยละออง (Nebulizer) แทนได้ แต่มีข้อจํากัดคือต้องซื้อ เครื่องพ่นยา และยาชนิดที่ใช้กับเครื่องพ่นมีราคาค่อนข้างสูง

– ยาสูดแบบผง(DryPowderInhaler) เหมาะสําหรับเด็กโตอายุ 5–6 ขวบขึ้นไป เพราะต้องใช้แรงสูดที่แรงและเร็ว เพื่อดูดเอาผงยาเข้าไปในทางเดินหายใจและปอด

ข้อดีคือ เครื่องพ่นใช้ง่ายและพกพาสะดวก ไม่ต้องใช้ร่วมกับอุปกรณ์เสริมอื่นๆ แต่ ราคายาสูงกว่ายาพ่นสูดแบบ MDI

3. วัคซีนภูมิแพ้ หากผู้ป่วยโรคหืดที่มีสาเหตุจากภูมิแพ้ได้ทําการหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้และสิ่งกระตุ้น รวมไปถึงดูแลสุขภาพเป็นอย่างดีและใช้ยาเต็มที่แล้ว ก็ยังไม่สามารถควบคุมอาการได้ อาจพิจารณาการฉีดวัคซีนภูมิแพ้ร่วมด้วย โดยการใช้สารละลายที่ผสมสารก่อภูมิแพ้ นํามาฉีดหรืออม ใต้ลิ้นทุกสัปดาห์หรือทุกเดือน เริ่มจากขนาดยาน้อยๆ แล้วปรับความเข้มข้นให้มากขึ้น จนระบบ ภูมิคุ้มกันในตัวผู้ป่วยเปลี่ยนแปลงไป สามารถทนอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีสารก่อภูมิแพ้ได้ ระยะเวลา ในการรักษาด้วยวัคซีนภูมิแพ้ประมาณ 3–5 ปี แต่มีข้อจํากัดคือ ในขณะที่ฉีดหรืออมใต้ลิ้นอาจก่อ ให้เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง (Anaphylaxis) จึงต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงและความจําเป็นในการรักษาด้วยวิธีนี้ และต้องทําการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคภูมิแพ้เท่านั้น

โรคหืดรักษาหายหรือไม่

โรคหืดมีธรรมชาติของโรคที่หลากหลาย ผู้ป่วยประมาณร้อยละ 25 เป็นหอบหืดในวัยเด็กเท่านั้น เมื่อโตขึ้นก็ไม่มีอาการอีกเลย ส่วนเด็กที่มีอาการหอบหืดเนื่องจากติดเชื้อในทางเดินหายใจอีกร้อยละ 25 มีอาการตั้งแต่เด็กและป่วยต่อเนื่องจนเป็นผู้ใหญ่เนื่องจากหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ได้ยาก ที่เหลืออีกร้อยละ 50 จะมีอาการเป็นๆ หายๆ บางคนมีอาการปกติในช่วงวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ แต่พออายุมากขึ้น (ประมาณ 40 ปี) ก็กลับมามีอาการอีก

โรคหอบหืดเป็นโรคที่พบบ่อยในเด็กไทยและมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นในอนาคต ผู้ป่วยต้องทุกข์ทรมาน และมีคุณภาพชีวิตแย่ เป็นๆ หายๆ หรือต้องเข้า-ออกโรงพยาบาลบ่อยๆ หากมีอาการรุนแรงอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ไม่ควรซื้อหรือปรับขนาดยาเอง ควรมาพบแพทย์ ตามนัดเพื่อประเมินผลการรักษา ปรับขนาดและชนิดของยาให้เหมาะสม จะทําให้ผู้ป่วยโรคหืดสามารถใช้ชีวิตได้ ตามปกติและมีคุณภาพชีวิตที่ดีเช่นเดียวกับคนทั่วไป.

รศ.นพ.สุวัฒน์ เบญจพลพิทักษ์
คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี

ที่มา : ไทยรัฐ 8 สิงหาคม 2557

 

 

น้ำในหูไม่เท่ากัน โรคใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม

dailynews140819_01คุณเคยมีอาการเหล่านี้หรือไม่ อยู่ดีๆก็เกิดอาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะคล้ายๆบ้านหมุนโดยไม่รู้สาเหตุ กระเพาะอาหารปั่นป่วน อยากอาเจียน พอลุกขึ้นยืนก็ทรงตัวไม่อยู่ หากคุณมีอาการเหล่านี้คงจะเป็นสัญญาณอย่างหนึ่งว่าคุณอาจเกิดโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน ซึ่งเรื่องดังกล่าว พญ.จิรัฐา งามศิริเดช แพทย์ หู คอ จมูก โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายถึงโรคดังกล่าวว่าโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน หรือ โรคเมเนียร์ (Meniere’s disease) เป็นโรคที่พบได้บ่อย ซึ่งโรคดังกล่าวเกิดจากความผิดปกติของหูชั้นในที่ควบคุมระบบการได้ยินและการทรงตัว ทำให้มีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน การได้ยินลดลง เสียงก้องในหู และแน่นหูได้

สาเหตุของการเกิดโรค พญ.จิรัฐา กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดและบางครั้งอาจไม่พบสาเหตุ แต่มีตัวกระตุ้นหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน โดยปัจจัยภายนอกได้แก่ ความเครียด การอดนอน การเปลี่ยนแปลของระดับฮอร์โมนรวมถึงการมีประจำเดือน โรคภูมิแพ้ การติดเชื้อไวรัส หูชั้นกลางอักเสบ หูชั้นในอักเสบ หูน้ำหนวก ซิฟิลิส เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เคยประสบอุบัติเหตุที่ศีรษะมาก่อน ปวดศีรษะไมเกรน สำหรับปัจจัยภายใน เกิดจากโรคทางกรรมพันธุ์ พบได้ถึง 10-20% และพบบ่อยในครอบครัวที่เป็นไมเกรน ภาวะร่างกายมีภูมิต้านทานต่อหูชั้นใน ซึ่งผู้ที่มีโอกาสเป็นจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายอัตราส่วน 2:1 และเมื่ออายุเพิ่มขึ้นจะมีความเสี่ยงที่มากขึ้นด้วยโดยช่วงอายุที่พบมากที่สุดคือระหว่าง 40-70 ปี

พญ.จิรัฐา กล่าวต่อว่า อาการของโรคดังกล่าวจะประกอบไปด้วย 3 กลุ่มอาการ ได้แก่

1.เวียนศีรษะแบบบ้านหมุน โดยปกติมักเป็นทันทีทันใด มีอาการเป็นๆหายๆ อาการเวียนศีรษะบ้านหมุนแต่ละครั้งอาจจะมีอาการประมาณ 2-3 ชั่วโมง และมักมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย
2.ประสิทธิภาพการได้ยินลดลง มักจะมีอาการเป็นๆหายๆ โดยอาจเป็นหูข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ แต่ส่วนใหญ่มักพบเป็นหูข้างเดียวมากกว่า
3.เสียงดังในหู แน่นหู อาจทนเสียงดังไม่ได้

สำหรับการวินิจฉัยของแพทย์ โดยปกติแล้วจะซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียดก็สามารถวินิจฉัยได้หากผู้ป่วยมาด้วยอาการที่เด่นชัดทั้ง 3 อาการดังกล่าว แต่หากอาการไม่ชัดเจนอาจต้องอาศัยเครื่องมือที่ช่วยในการวินิจฉัย ได้แก่
1.การตรวจการได้ยิน
2.การตรวจคลื่นไฟฟ้าในหูชั้นใน
3.การตรวจระบบการทรงตัวของหูชั้นในและการทดสอบแคโรลิก
4.การทดลองให้ยาเพื่อลดปริมาณน้ำในหูชั้นในแล้วสังเกตดูว่าอาการดีขึ้นหรือไม่
5. การตรวจการได้ยินระดับก้านสมอง ในกรณีที่สงสัยว่าอาการเวียนศีรษะเกิดจากก้อนเนื้องอกบริเวณประสาทการได้ยิน
6.การตรวจโดยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่สมอง ในกรณีที่สงสัยว่ามีเนื้องอกบริเวณสมองและระบบประสาท

การรักษาโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน พญ.จิรัฐา กล่าวว่า การรักษาจะต้องควบคุมอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน ทำให้อาการทางหูและการได้ยินกลับมาปกติ โดยอาศัยความร่วมมือจากผู้ป่วยทางด้านการปฏิบัติตัวและการรักษาด้วยยา ซึ่งการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยต้องงดอาหารเค็ม เช่น ขนมซองที่มีเกลือปริมาณมาก เครื่องดื่มบำรุงกำลังบางชนิด งดเหล้า บุหรี่ ชา กาแฟ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ลดเครียด แต่หากรักษาด้วยวิธีปรับเปลี่ยนการปฏิบัติตัวและรักษาด้วยยาร่วมกันแล้วยังไม่ได้ผลอาจจะต้องใช้วิธีทางเลือกอื่นๆเช่น

1.Meniett device เป็นเครื่องมือที่ใส่เข้าไปในหูแล้วให้ผู้ป่วยปรับความดันเอง โดยความดันจากเครื่องมือนี้จะส่งผลไปยังหูชั้นในทำให้อาการเวียนศีรษะดีขึ้น

2.การฉีดยาเข้าในหูชั้นกลาง ปัจจุบันยาที่นิยมมี 2 ชนิด คือ
2.1 Dexamethasone เป็นยาที่ช่วยให้ความถี่ในการเวียนศีรษะลดลงและมีผลอาจช่วยให้การได้ยินดีขึ้น ซึ่งสามารถฉีดบ่อยได้ทุก 1-3 เดือน
2.2 Gentamicin เป็นยาฉีดเพื่อควบคุมอาการเวียนศีรษะ แต่อาจมีผลข้างเคียงเรื่องการได้ยินที่ลดลง

3.การรักษาโดยการผ่าตัด ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการมากและรักษาด้วยวิธีการใดก็ไม่ได้ผล ซึ่งการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคนี้ มีหลายวิธีแต่ละวิธีมีความเสี่ยง ข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน ผู้ป่วยควรปรึกษากับแพทย์ หู คอ จมูกเรื่องรายละเอียดการรักษาก่อนตัดสินใจ

ทั้งนี้ อาการเวียนศีรษะโรคน้ำในหูไม่เท่ากันมิใช่เรื่องที่น่ากลัว หากคุณหรือบุคคลใกล้ชิดมีอาการดังกล่าวสามารถมาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งการรักษาอาจต้องใช้ความอดทนและความร่วมมือในจากผู้ป่วย หากช่วยกันก็สามารถทำให้อาการกลับมาเป็นปกติหรือเกือบปกติได้

พญ.จิรัฐา งามศิริเดช
แผนกหู คอ จมูก
โรงพยาบาลเวชธานี

 

ที่มา : เดลินิวส์ 19 สิงหาคม 2557

เด็กผ่าท้องคลอด ภูมิคุ้มกันอ่อน

thairath140716_01เด็กที่เกิดจากการผ่าท้องคลอด อาจจะแพ้เปรียบเพื่อนฝูงที่คลอดตามธรรมชาติไม่ได้ ตรงที่มีปริมาณของเซลล์เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันน้อยกว่ากัน

นักวิจัยของมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ซึ่งได้ศึกษาเปรียบเทียบลูกที่เกิดจากการคลอด 2 แบบของหนูทดลอง ได้พบว่าลูกหนูซึ่งคลอดตามธรรมชาติจะมีแรงภูมิคุ้มกันดีกว่า เพราะได้ผจญจากแบคทีเรียของแม่มา ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของลูกหนูพวกนี้รู้จักแยกแยะอณูที่ให้คุณและอณูแปลกปลอม นอกจากนั้นยังไม่ค่อยเป็นโรคที่เกิดจากการที่ภูมิคุ้มกันต้านตนเอง อย่างโรคเบาหวานชนิดที 1 กับโรคภูมิแพ้ต่างๆอีกด้วย

ศาสตราจารย์แอกเซล คอร์เนอรัพ แฮนสัน กล่าวว่า ต่อไปเราอาจจะพบวิธีป้องกันให้กับทารกที่เกิดใหม่ คนที่ส่อท่าว่าจะเป็นโรคที่เกิดจากการแพ้ภูมิป้องกันตนเองได้.

ที่มา : ไทยรัฐ 16 กรกฎาคม 2557

อาหารหลากสีต้านภูมิแพ้

dailynew140501_01ภูมิแพ้ เป็นหนึ่งในโรคที่พบมากที่สุด ซึ่งถือเป็นโรคทางพันธุกรรมที่สร้างความรำคาญให้แก่ผู้ป่วยได้ไม่น้อย โดยลักษณะอาการมีตั้งแต่ แพ้เพียงเล็กน้อยจนถึงรุนแรงขั้นเสียชีวิต

โรคภูมิแพ้สามารถแบ่งตามอวัยวะที่เกิดโรคได้ 4 ประเภท ดังนี้ โรคโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือโรคแพ้อาการ, โรคตาอักเสบจากภูมิแพ้, โรคหอบหืด และ โรคผื่นผิวหนัง จะเห็นได้ว่าในชีวิตประจำวันก็สามารถเสี่ยงกับปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคได้ ซึ่งการเลือกรับประทานอาหารก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยป้องกันโรคภูมิแพ้ได้

โรงพยาบาลเวชธานี แนะนำเมนูช่วยต้านภัยจากอาการภูมิแพ้ ไว้ว่า ผักและผลไม้เป็นอาหารที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น สารเบต้าแคโรทีน ซึ่งเป็นสารตั้งต้นสร้างวิตามินเอ ที่ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายมีความแข็งแรง พบมากที่สุดในผักและผลไม้สีเขียวเข้ม สีแดงเข้ม และสีเหลืองเข้ม เช่น ตำลึง, คะน้า, ใบยอ, ผักขม, ฟักทอง, แครอท และมะม่วง เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินซี ที่มีคุณสมบัติช่วยลดอาการภูมิ เช่น ผลไม้ทุกชนิด, มะเขือเทศ มีสารต้านอนุมูลอิสระที่เรียกว่า ไลโคปีน

หลักการง่าย ๆ ป้องกันทุกโรคคือ การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และออกกำลังกายเป็นประจำ

ที่มา : เดลินิวส์  1 พฤษภาคม 2557

โรคภูมิแพ้ในวัยทำงาน

thairath140117_001ในปัจจุบันหากไม่พูดถึงโรคภูมิแพ้คงจะดูเชย หลายคนสงสัยว่าโรคภูมิแพ้เกิดเฉพาะคนวัยทำงานหรือเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม ทั้งนี้ ทั้งสองความเชื่อมีส่วนถูกและไม่ถูกต้อง กล่าวคือ ในอดีตเชื่อว่าโรคภูมิแพ้มีปัจจัยจากพันธุกรรมเป็นหลัก หมายถึง หากพ่อแม่เป็นภูมิแพ้ โดยเฉพาะโรคหืด ลูกจะมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้มากกว่าคนอื่น อย่างไรก็ตาม พบว่าปัจจุบันสิ่งแวดล้อมก็มีส่วนสำคัญมากเช่นกัน โดยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่มีการพัฒนาตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์มารดา การที่มารดาสัมผัสควันบุหรี่หรือสัมผัสสารก่อภูมิแพ้บางอย่างในปริมาณมากๆ จึงอาจทำให้ลูกแพ้สิ่งนั้นๆ ได้ นอกจากนี้ สิ่งแวดล้อมในวัยเด็กโดยเฉพาะการเลี้ยงดูแบบสังคมเมือง ครอบครัวเชิงเดี่ยวและการใช้ยาปฏิชีวะอย่างแพร่หลาย ทำให้เชื้อแบคทีเรียในลำไส้ลดลง เด็กไม่ได้สัมผัสเชื้อโรคตามธรรมชาติ จึงมีผลให้การกระตุ้นภูมิคุ้มกันตามปกติลดลง รวมถึงค่านิยมการเลี้ยงสัตว์ในบ้าน เช่น แมว ซึ่งถือเป็นตัวก่อสารภูมิแพ้ที่สำคัญ มีผลให้ผู้คนเป็นโรคภูมิแพ้มากขึ้น

ประเภทของโรคภูมิแพ้และอาการของผู้ป่วย

ในช่วงสองปีแรกของเด็กที่เป็นภูมิแพ้ อาจแสดงอาการแพ้อาหารโดยเฉพาะนมวัวและไข่ รวมถึงอาการภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบ เนื่องมาจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายโดยเฉพาะทางเดินอาหารยังไม่สมบูรณ์และมีการสัมผัสสิ่งแวดล้อมที่จำกัดได้แก่ อาหาร และเชื้อไวรัส ต่อมาในวัยที่เริ่มเข้าโรงเรียน มีการทำกิจกรรม ทำให้สัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ในชั้นบรรยากาศมากขึ้น เช่น ไรฝุ่น แมลงสาบ เกสรดอกไม้ เชื้อรา รวมถึงมลพิษต่างๆ จึงเริ่มมีอาการทางระบบหายใจได้แก่ โรคหืด โรคภูมิแพ้โพรงจมูกและเยื่อบุตาอักเสบ ซึ่งอาการเหล่านี้อาจดีขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น แต่ในบางรายโรคภูมิแพ้อาจไม่ได้หายไป เมื่อผู้ป่วยต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีสารก่อภูมิแพ้มากขึ้น รวมถึงมลพิษจากควันบุหรี่ ท่อไอเสียความชื้นต่างๆ ก็อาจมีอาการกำเริบได้อีก

โรคภูมิแพ้ที่พบบ่อยในวัยทำงานได้แก่ โรคโพรงจมูกและเยื่อบุตาอักเสบจนถึงโรคหืด อาการของโรคได้แก่ อาการคันตามเยื่อบุจมูกและตา จาม น้ำมูกไหลและคัดจมูก ในรายที่มีอาการน้อยอาจมีอาการจามและน้ำมูกไหลเพียงบางครั้ง แต่เยื่อบุจมูกอาจอักเสบจนกลายเป็นอาการคัดจมูกเรื้อรัง มีผลทำให้เป็นไซนัสอักเสบได้ง่าย

นอกจากนี้ เวลาเป็นหวัดจะมีอาการปวดศีรษะ หูเอื้อง่าย หรือมีน้ำมูกจากโพรงจมูกตกลงหลังคอทำให้มีอาการไอหรือกระแอมบ่อย โดยเฉพาะตอนเช้าจนอาจจมูกตันต้องอ้าปากหายใจเป็นระยะ และอาจทำให้ริมฝีปากแห้ง ต้องเลียริมฝีปากบ่อยๆ อาการเหล่านี้แม้ไม่รุนแรงแต่หากเป็นต่อเนื่องอาจมีผลต่อการนอนหลับ ทำให้นอนไม่อิ่ม มีอาการง่วงกลางวัน สมาธิในการเรียนการทำงานลดลง บางรายที่มีอาการมากอาจทำให้เสียบุคลิกภาพ มีปัญหาในการเข้าสังคมและการทำกิจกรรมต่างๆ

หากมีอาการดังกล่าวและสันนิษฐานว่าเป็นอาการของโรคภูมิแพ้ ควรดูแลรักษาด้วยวิธีปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมเพื่อลดปริมาณสารก่อภูมิแพ้และลดการสัมผัสสารมลพิษควบคู่กับการใช้ยา สารก่อภูมิแพ้ที่เป็นสาเหตุภาวะโพรงจมูกอักเสบได้บ่อยในประเทศไทยได้แก่ ไรฝุ่น ซึ่งพบมากในหมอน ผ้าห่ม เตียง ผ้าม่าน พรม จนถึงหนังสือและของเล่นเก่าๆ ห้องที่ควรปรับเปลี่ยนเป็นอันดับแรกคือ ห้องนอน โดยควรเลือกใช้เตียงที่บุด้วยใยสังเคราะห์ หลีกเลี่ยงขนสัตว์ นำหมอนเน่าและตุ๊กตาเน่า พรมและหนังสือที่ไม่จำเป็นออกจากห้องนอน ควรซักล้างผ้าปูเตียง ปลอกหมอนและผ้าม่านอย่างสม่ำเสมอและให้อากาศภายในห้องถ่ายเท ไม่อับชื้น ส่วนมลพิษที่ควรหลีกเลี่ยงได้แก่ ควันบุหรี่ ควันจากท่อไอเสียและกลิ่นฉุน

ยารักษาที่แนะนำมีสองกลุ่มได้แก่ ยาฮีสตามีนแบบรับประทานและยาสเตียรอยด์แบบพ่นจมูก แบบแรกแนะนำให้ใช้ยารุ่นใหม่ ซึ่งไม่ทำให้ง่วง เพราะหากรับประทานยารุ่นเก่าติดต่อกันนานๆ จะมีผลต่อการรับรู้ของสมอง ทำให้สมาธิในการเรียนและการทำงานลดลง และอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุระหว่างการขับรถหรือการทำงานได้ ส่วนยาสเตียรอยด์แบบพ่นจมูก เป็นยาหลักในการรักษาโพรงจมูกอักเสบที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงและสามารถลดอาการของโพรงจมูกอักเสบได้ทุกอาการ

หากปฏิบัติดังกล่าวมาแล้วอาการไม่ดีขึ้น แนะนำให้พบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุอื่นของภาวะโพรงจมูกอักเสบ เช่น การติดเชื้อไซนัสอักเสบเรื้อรัง โพรงจมูกคด ติ่งเนื้อในจมูก ภาวะจมูกตันจากฮอร์โมนและการตั้งครรภ์ เยื่อบุจมูกแห้งจนถึงจมูกอักเสบไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งส่วนมากเกิดจากหลอดเลือดในเยื่อบุจมูกไวต่อสิ่งกระตุ้น รวมถึงอาจทดสอบหาสิ่งที่แพ้ เพื่อพิจารณาปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมให้ครอบคลุมขึ้น จนถึงพิจารณารักษาด้วยการฉีดวัคซีนภูมิแพ้ในรายที่แพ้ไรฝุ่นหรือเกสรดอกหญ้า

เมื่อทราบอย่างนี้แล้ว อย่าลืมตรวจเช็กว่าคุณมีอาการดังกล่าวหรือไม่ พร้อมทั้งสำรวจสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน โดยเฉพาะห้องนอนและที่ทำงานว่ามีสภาพเช่นไร แม้โรคภูมิแพ้โพรงจมูกอักเสบจะไม่มีอันตรายต่อชีวิต แต่สามารถรบกวนคุณภาพชีวิตและอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ไซนัสอักเสบเรื้อรัง และในรายที่มีอาการรุนแรงอาจพัฒนาเป็นโรคหืดได้ ซึ่งในกรณีนั้น ควรพบแพทย์เพื่อประเมินและติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากโรคหืดมีภาวะทุพพลภาพและมีโอกาสเสียชีวิตจากหืดกำเริบเฉียบพลันได้

พญ.ทิชา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์
หน่วยภูมิแพ้ อิมมูโนวิทยาและโรคข้อ
คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี

ที่มา: ไทยรัฐ 17 มกราคม 2557

‘โรคแพ้ตึก’ ภัยเงียบในอาคารลดสารพิษในอากาศป้องกันได้

dailynews140115_001ปัจจุบันการใช้ชีวิตของคนเมืองนิยมอาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียม อพาร์ตเมนต์ แฟลต ตึกแถว เพราะถูกจำกัดเนื้อที่ และยังต้องทำงานอยู่ในอาคารสำนักงาน ซึ่งไม่ว่าจะนอนหรือทำงานก็ต้องใช้เครื่องปรับอากาศตลอดเวลาไม่เคยได้สัมผัสหรือรับอากาศธรรมชาติ จนทำให้หลายคนเกิดอาการอ่อนเพลีย ระคายเคืองจมูก มีอาการภูมิแพ้ ซึ่งเราเรียกลักษณะอาการเหล่านี้ว่า โรคแพ้ตึก นั่นเอง

ผศ.ดร.นพ.จามร สมณะ อาจารย์ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยา ลัยมหิดล อธิบายว่า โรคภูมิแพ้มี 2 ลักษณะ คือ แพ้เพราะเป็นระบบภูมิคุ้มกันของเราเอง เช่น บางคนแพ้ไรฝุ่นก็จะมีอาการ แต่บางคนไม่แพ้ไรฝุ่นก็จะไม่เป็นอะไร ส่วนการแพ้สารเคมีทุกคนเป็นเหมือนกันหมดคือ จะมีอาการระคายเคือง เพราะไม่ใช่ปฏิกิริยาจากระบบภูมิคุ้มกัน แต่เป็นการทำลายเนื้อเยื่อ ซึ่งสารเคมีไประคายเคืองเนื้อเยื่อโดยตรง

ปัญหาเรื่องสารพิษหรือสารเคมีในอากาศ ถ้าเป็นคนในชนบทไม่ค่อยมีปัญหา แต่สำหรับคนในเมืองต้องเผชิญกับหลาย ๆ ปัญหา เนื่องจากวัสดุที่ใช้ทำตึกแทบทุกอย่างมันเกิดฝุ่นหรือเกิดไอระเหยได้อยู่แล้ว ส่วนมากเมื่อเข้าสู่ปอดแล้วไม่ดีต่อสุขภาพ โดยหลัก ๆ ที่พบมาก ได้แก่ ฝุ่นปูน ไอระเหยของตัวทำละลาย เช่น ตัวสี ตัวเคลือบ น้ำยาเคลือบหนัง และผงไม้จากการทำเฟอร์นิเจอร์ ฉนวนกันความร้อน ยิปซัม ใยแก้ว หรือฉนวนยิปซัมที่บุผนังยิ่งน่ากลัว

อย่างไรก็ตาม เมื่อก่อนมีใยหินด้วย เพราะเมืองไทยไม่ได้กวดขันเรื่องการใช้แร่ใยหินในวัสดุก่อสร้างที่อยู่ในส่วนภายในมากนัก บางทีเรายังพบว่ากระเบื้องมุงหลังคาก็ยังมีแร่ใยหิน ซึ่งแร่ใยหินและแร่ใยแก้วเมื่อสูดเข้าไปในปอดแล้วร่างกายกำจัดไม่ออกจะเกิดการอักเสบเรื้อรัง จนในที่สุดปอดเราจะกลายเป็นพังผืด ทำให้หายใจลำบากและอาการจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไม่สามารถรักษาได้ ส่วนระยะเวลาในการรับสารนั้นอยู่ประมาณ 5-10 ปี และสารระเหยจะทำให้เกิดอาการระคายเคือง ซึ่งอาการระคายเคืองมีแบบรู้ตัว คือโดนปุ๊บมีอาการทันที และระคายเคืองแบบไม่รู้ตัว เช่น ไม่ทราบว่าตัวเองเป็นอะไร ทุกวันมีน้ำมูกไหล น้ำตาไหล คอแดง เป็นหวัดง่าย และเป็นหวัดแล้วหายยาก

สำหรับอุปกรณ์ที่ติดตั้งในห้องก็มีสารพิษได้อีก อาทิ เครื่องพรินเตอร์ เครื่องถ่ายเอกสาร เนื่องจากจะมีผงหมึกออกมาได้ ซึ่งผงหมึกจะมีความละเอียดมากเมื่อเข้าปอดแล้วร่างกายมักกำจัดไม่ออกอาจจะมีอาการไม่เป็นมาก แต่ผงหมึกมันจะปล่อยก๊าซโอโซนออกมาด้วย ซึ่งโอโซนในที่นี้ไม่ใช่ดมแล้วบริสุทธิ์สดชื่น เป็นลักษณะเป็นเหมือนสารฟอกขาว เมื่อโดนโปรตีนในเยื่อบุร่างกายเราจะทำให้โปรตีนและไขมันถูกทำลายหมด

เฟอร์นิเจอร์บ้านก็เช่นกัน มีน้ำยาเคลือบหนัง แล็กเกอร์ที่ทาไม้ ฝุ่นขี้เลื่อยของเฟอร์นิเจอร์ไม้ กาวที่ใช้แปะเฟอร์นิ เจอร์ขึ้นมาซึ่งมีผลทั้งสิ้น และยิ่งบ้านไหนใช้วัตถุดิบจากใต้ดินลึก ๆ เช่น ใช้หินอ่อนแกรนิตเยอะ ๆ ซึ่งดูเหมือนเรียบร้อยดีไม่มีอะไร แต่พบว่าถ้าอยู่ในห้องอับจะมีเปอร์เซ็นต์ของก๊าซเรดอน (Radon) สูง ซึ่งเป็นก๊าซชนิดหนึ่งได้จากการสลายตัวของธาตุกัมมันตภาพรังสี ทำให้ตัวของมันมีกัมมันตภาพรังสีด้วย ปกติเป็นก๊าซที่หนักอยู่ในหินแร่ใต้โลก ปัจจุบันเรานำเอาหินอ่อนและหินแกรนิตมาประดับตึกกันมาก ทำให้มีการปล่อยก๊าซเรดอนพวกนี้ออกมาแต่น้อยมาก ซึ่งถ้าอยู่ในห้องอับ ๆ จะมีโอกาสได้รับมากขึ้นและเป็นสารก่อมะเร็ง

ต่อมาเป็นพวก หนังสือ หากเป็นหนังสือเก่า ๆ ไม่น่ามีปัญหา แต่ถ้าเป็นหนังสือใหม่ ๆ มักมีน้ำยาเคลือบสีปก ทำให้มีสารอะคริลาไมด์ (Acrylamide) ที่เป็นสารก่อมะเร็งและมีฤทธิ์ต่อระบบประสาทด้วย ปกติแล้วอะคริลาไมด์เป็นโพลิเมอร์ช่วยทำให้กระดาษมันเงา เวลาใส่ในกระดาษแล้วจะเหลือจางมาก ๆ ไม่รุนแรง ส่วนหนังสือพิมพ์ไม่ได้มีพิษมาก อาจจะมีกลิ่นน้ำมันของหมึก แต่ที่ต้องระวังคือ ตัวกระดาษถ้าฟอกไม่ดีจะมีสารฟอกขาวตกค้างทำให้เกิดการระคายเคืองได้

สารพิษทั้งหมดที่กล่าวมาเกิดจากทางเคมี นอกจากนี้ยังมีสารพิษจากทางชีวภาพอีก เช่น ห้องของเราถ้ามีซอกหรือหลืบเยอะจะเป็นที่เก็บฝุ่น และยิ่งใช้เครื่องปรับอากาศด้วยก็ยิ่งก่อสารพิษ เพราะเวลาที่เครื่องปรับอากาศพ่นไอเย็นออกมา เนื่องจากสภาพอากาศเมืองไทยชื้น ตรงไหนเป็นส่วนที่เย็นจะมีการควบแน่นเกิดหยดน้ำขึ้น ทำให้หยดน้ำไปคลุกกับฝุ่นและมีความชื้นเย็นเป็นประจำ จะทำให้มีรางอก ยีสต์งอก และไรฝุ่นเติบโตได้ดี เป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็น ทำให้มีผลต่อสุขภาพ สำหรับคนที่แพ้ หรือร่างกายแพ้ง่ายต่อสารเคมีอยู่แล้ว ถ้ามาเจอสารพิษพวกนี้เข้าไปอีกก็จะยิ่งแพ้และเป็นโรคภูมิแพ้ได้ง่าย ส่วนคนที่ไม่แพ้ก็ไม่มีผลเท่าใดนัก

 

ผลเสียของสารพิษต่าง ๆ ทำให้มีอาการหลัก ๆ คือ
1. เกิดการแพ้
2. เกิดการระคายเคือง
3. ก่อมะเร็ง และ
4. ถ้าเป็นเชื้อโรคสะสมนอกจากจะแพ้แล้วยังทำให้เกิดเป็นโรค เช่น โรคบางชนิดที่มากับเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในระบบความเย็น ทำให้เป็นโรคปอดบวม ปอดอักเสบ บางรายเป็นหนักถึงขั้นติดเชื้อในกระแสเลือดและเสียชีวิตได้ นอกจากนี้พวกเชื้อราที่อาศัยอยู่ในวัสดุก่อสร้างชื้น ถ้าสปอร์ตกลงไปในปอดอาจทำให้คนที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ๆ เช่น คนแก่ ผู้ป่วยโรคเบาหวานอาจมีราไปงอกในปอดได้

ฉะนั้นการสังเกตอาการเจ็บป่วยนับว่าสำคัญ ถ้าเรารู้สึกว่าไปบางสถานที่แล้วเกิดการระคายเคืองเป็นพิเศษก็สงสัยได้เลยว่าในห้องนั้นอาจจะมีสารพิษหรือสารที่ทำให้เกิดการแพ้มากระตุ้นให้เราเจ็บป่วย โดยทั่วไปอาการของการได้รับสารพิษแต่ละสารพิษจะแตกต่างกัน เช่น พวกโอโซน ดมแล้วกลิ่นจะเหม็นสาบ เปรี้ยว ถ้าโดนตาและจมูกจะแห้งและแสบ สารระเหย ดมเข้าไปจะทำให้น้ำมูก น้ำตาไหล คอแห้ง และถ้าสัมผัสโดยตรงจะทำให้เป็นผื่นแพ้ขึ้นมา แต่ถ้าเป็นอาการภูมิแพ้มีหลายแบบขึ้นอยู่กับแต่ละคน เช่น ถ้าอาการเล็กน้อยอาจมีแค่จาม น้ำมูกไหล คันตา แต่ถ้าเป็นมากจะมีอาการเป็นหอบหืด ไอมาก ส่วนถึงขั้นติดเชื้อในปอด ถ้าไม่มีอาการเป็นไข้สูงก็จะมาด้วยอาการเรื้อรัง ไอเป็นเลือด แต่ถ้าเป็นอาการแบบเรื้อรังนาน ๆ จนก่อมะเร็งไม่สามารถสังเกตได้จนกว่าจะมีอาการและตรวจพบ

 

การป้องกันในเมื่อมันขึ้นอยู่กับวัสดุก่อสร้างบางทีเราเปลี่ยนไม่ได้ แต่มีวิธีลดความรุนแรง เช่น หากมีความจำเป็นต้องอยู่ในห้องพยายามอย่าเปิดแอร์ทั้งวันทั้งคืน เพราะส่วนมากที่พบผู้ป่วยเป็นหวัดแล้วรักษาไม่หายหรือเป็นโรคภูมิแพ้จะแนะนำให้นอนแบบไม่ต้องเปิดแอร์ แต่เปิดหน้าต่างโล่ง ๆ ไม่ต้องห่มผ้าห่ม ถึงแม้จะรู้สึกว่าลมข้างนอกดูสกปรกเพราะมีฝุ่น แต่ลมแอร์ก็ดูดอากาศจากข้างนอกหรือในห้องหมุนไปมา ซึ่งอากาศข้างนอกมีข้อดีกว่าคือสามารถเจือจางและนำพาเชื้อโรคที่สะสมในห้องออกไปได้

หากใครที่อยู่ห้องเวลากลางวันสามารถเปิดแอร์ได้ถ้าอากาศร้อนมาก ส่วนกลางคืนอากาศเย็นเปิดพัดลมและหน้าต่างก็เพียงพอ ที่สำคัญควรทำความสะอาดห้องให้เรียบร้อยไม่เก็บอะไรที่เก็บสะสมฝุ่น โดยเฉพาะพวกอาหารและเครื่องดื่ม เพราะเป็นสิ่งสะสมเชื้อรา เอกสารหนังสือไม่ควรนำเข้ามากองในห้องมากเกินไป เครื่องปรับอากาศควรทำความสะอาดอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง พยายามปรับตัวให้อยู่ในสภาพอากาศอุณหภูมิธรรมชาติให้ได้ ปลูกต้นไม้ใหญ่ ๆ ไว้รอบบ้านเพื่อบังฝุ่นและแสงแดดทำให้ลดการใช้เครื่องปรับอากาศลง การเปิดหน้าต่างในห้องให้อากาศถ่ายเทเป็นสิ่งที่ง่ายและดีที่สุดทำให้ลดสารพิษได้ ถึงแม้จะมีปัญหาคือฝุ่นเยอะ แต่อย่างน้อยอากาศก็ได้ถ่ายเทและหมุนเวียน ส่วนในสำนักงานควรต้องเก็บข้าวของให้เรียบร้อยเพื่อสุขภาพโดยรวม

ส่วนใครที่กำลังมองหาห้องพักควรดูที่การตกแต่งก่อนเช่าหรือซื้อว่าห้องเพดานสูงเพียงพอหรือไม่  มีประตูหลังห้องระบายอากาศและห้องน้ำมีหน้าต่างระบายความชื้นหรือไม่ เพราะเชื้อโรคก่อตัวได้ดีในห้องน้ำชื้น ๆ แสงส่องไม่ถึง หรือการปูพรมในห้องก็ไม่ดีเพราะเป็นแหล่งสะสมฝุ่นและไรฝุ่นที่ดีมาก หรือการตกแต่งห้องควรใช้วอลเปเปอร์ผิวเรียบ อย่าใช้ที่เป็นซอกหรือหลุมมาก ๆ เพราะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคและสัตว์ที่ชอบความชื้นทั้งหลาย หากใครที่ซื้อไปแล้วได้ห้องที่อับก็หากิจกรรมนอกห้องทำให้มากขึ้น เช่น ออกไปฟิตเนส ออกกำลังกายกลางแจ้งบ้าง ไม่ควรหมกตัวอยู่ในห้องบ่อย ๆ และจัดเก็บห้องให้สะอาด โล่งโปร่งสบาย พยายามอย่าให้มีข้าวของรกรุงรังเป็นแหล่งสะสมฝุ่นและเชื้อโรค

สุดท้ายถึงแม้ว่าการก่อสร้างอาคารตึกจะยังไม่มีกฎหมายควบคุมหรือกฎข้อบังคับอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็อยากให้ผู้ก่อสร้างออกแบบให้ดีตั้งแต่ต้น โดยการคำนึงถึงเรื่องสุขภาพและการประหยัดพลังงานด้วย.

ทีมวาไรตี้

ที่มา: เดลินิวส์ 15 มกราคม 2557

พบคนไทย เป็นภูมิแพ้มากขึ้น ส่งผลกระทบ ชีวิตการงาน

ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม

โรคภูมิแพ้ภัยเงียบที่บั่นทอนสุขภาพคนไทย มีแนวโน้มจะมากขึ้นเรื่อยๆ โดยคาดว่ามีคนไทยป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ ประมาณ 10-15 ล้านคน แม้ว่าโรคนี้จะไม่อันตรายถึงชีวิต แต่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการทำงานและชีวิตประจำวัน ทาง สมาคมโรคภูมิแพ้ โรคหืดและวิทยาคุ้มกันแห่งประเทศไทย ร่วมกับหน่วยโรคภูมิแพ้ ทั้งแผนกเด็กและผู้ใหญ่จาก 13 โรงพยาบาลชั้นนำของรัฐ อาทิ รพ.จุฬาลงกรณ์, รพ.ศิริราช, รพ.รามาธิบดี, รพ.พระมงกุฎเกล้า เป็นต้น ได้จัดกิจกรรม “สัปดาห์รณรงค์ป้องกันโรคภูมิแพ้” หรือ Allergy Expert Week 2012 ขึ้นที่ลานอีเดน 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

ภายในงาน ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม นายกสมาคมโรคภูมิแพ้ฯ กล่าวว่า โรคภูมิแพ้พบในทุกเพศทุกวัย แต่พบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ โรคภูมิแพ้ที่พบบ่อยในคนไทย ได้แก่ โรคภูมิแพ้ทางจมูก รองลงมาคือ โรคหืด และโรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง ทั้งนี้  สาเหตุเกิดจากพันธุกรรมและสารก่อภูมิแพ้ในสิ่งแวดล้อม รวมถึงปัจจัยจากมลพิษในอากาศ หากเป็นโรคภูมิแพ้เรื้อรังและเป็นมาก จะทำให้เหนื่อยง่าย หายใจไม่อิ่ม อ่อนเพลียนอนไม่มีประสิทธิภาพ ส่วนอาการโรคภูมิแพ้ที่พบบ่อยๆ ได้แก่ เป็นหวัดเรื้อรัง จาม คันจมูก ไอบ่อยเวลาอากาศเปลี่ยน มีผื่นคันตามข้อพับ แขนขาเป็นๆหายๆ หรือมีอาการปากบวม หรือเกิดลมพิษขึ้นทันทีหลังรับประทานอาหาร ฯลฯ

ดร.พญ.วิภารัตน์ มนุญากร

ดร.พญ.วิภารัตน์ มนุญากร จาก รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า โดยทั่วไปโรคภูมิแพ้สามารถรักษาให้หาย ขาดได้ ถ้าเราปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง โดยหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้และสารระคายเคืองต่าง ๆ เช่น ควันบุหรี่ ไรฝุ่น เกสรดอกไม้ ขนสัตว์ และหมั่นดูแลสุขภาพให้แข็งแรงด้วยการออกกำลังกาย และรักษาโรคนี้ด้วยการรับประทานยา ใช้ยาพ่นจมูก หรือยาสูดพ่น หรือการฉีดวัคซีนภูมิแพ้เป็นประจำ สามารถลดอาการของโรคได้ สำหรับผู้สนใจสามารถเข้าไปดูข้อมูลได้ที่ www.allergyexpert.org ซึ่งเป็นศูนย์กลางความรู้จากผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการป้องกันและรักษาโรคภูมิแพ้อย่างถูกต้อง พร้อมทั้งมีแบบทดสอบภูมิแพ้เบื้องต้นว่า คุณเสี่ยงเป็นโรคนี้หรือไม่ด้วย.

ที่มา: ไทยรัฐ 20 พฤศจิกายน 2555