กินเค็ม…มหันตภัยร้ายโรคไต

thairath141031_01b

กินเค็ม…มหันตภัยร้ายโรคไต ตอนที่ 1

โรคความดันโลหิตสูงและโรคไตเรื้อรังเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของคนไทย จากการศึกษาความชุกของโรค พบว่ามีประชากรไทยเป็นความดันโลหิตสูงถึง 1 ใน 4 ของผู้ใหญ่ หรือกว่า 10 ล้านคน และพบว่ามีประชากรไทยเป็นโรคไตเรื้อรังประมาณ 7 ล้านคน โดยส่วนมากเป็นโรคไตระยะเริ่มต้น ซึ่งหากผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมา เช่น โรคหัวใจวาย อัมพาต และความเสื่อมจากการทำงานของไตนำไปสู่ภาวะไตวาย หลักสำคัญในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเหล่านี้ คือ ควบคุมความดันโลหิต รักษาเบาหวาน รวมทั้งป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากหัวใจและหลอดเลือด

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้การควบคุมความดันโลหิตไม่เป็นไปตามเป้าหมาย คือ การบริโภคเกลือในปริมาณมาก มีการเติมเกลือหรือน้ำปลาในการปรุงรสชาติอาหาร โดยเฉพาะคนไทย มีพฤติกรรมการบริโภคเกลือสูงถึง 2 เท่าของปริมาณที่ร่างกายต้องการ ซึ่งผลเสียที่ตามมาจากการบริโภคอาหารเค็ม คือ โซเดียมสูง ซึ่งส่งผลเสียให้มีความดันโลหิตสูง เพิ่มการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะ และส่งผลเสียต่อไตโดยตรง

โซเดียมคืออะไร?

โซเดียมเป็นหนึ่งในเกลือแร่สำคัญของร่างกาย ทำหน้าที่ควบคุมความสมดุลของเกลือแร่ การกระจายตัวของน้ำในส่วนต่างๆ ของร่างกาย ควบคุมสมดุลของกรด-ด่าง ควบคุมการเต้นของหัวใจและชีพจร มีผลต่อความดันโลหิตและการทำงานของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ ร่างกายของเราได้รับโซเดียมจากอาหารซึ่งมักอยู่ในรูปของเกลือโซเดียมคลอไรด์ซึ่งมีรสชาติเค็ม มักใช้ปรุงรสหรือถนอมอาหาร เช่น น้ำปลา กะปิ นอกจากนี้ โซเดียมแอบแฝงอยู่ในอาหารรูปแบบอื่นแต่ไม่มีรสชาติเค็ม เช่น ผงชูรส ผงฟู เป็นต้น

โซเดียมสูงส่งผลต่อร่างกายอย่างไร?

การรับประทานโซเดียมในปริมาณที่มากหรือน้อยเกินไป ล้วนส่งผลเสียต่อร่างกายทั้งสิ้น จากการสำรวจของกรมอนามัยร่วมกับสถาบันโภชนศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าคนไทยส่วนใหญ่รับประทานโซเดียมมากถึง 2 เท่าของปริมาณที่แนะนำ ซึ่งผลเสียของการรับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูงมี ดังนี้

1. เกิดการคั่งของเกลือและน้ำในอวัยวะต่างๆ แม้ว่าโซเดียมจะมีความจำเป็นต่อร่างกาย แต่หากมีมากเกินไปก็จะทำให้เกิดการคั่งของเกลือและน้ำในร่างกาย ในผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง ไตยังสามารถกำจัดเกลือและน้ำส่วนเกินได้ทัน แต่ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง มักจะไม่สามารถกำจัดเกลือและน้ำส่วนเกินในร่างกายได้ ทำให้เกิดภาวะคั่งของเกลือและน้ำในอวัยวะต่างๆ เช่น แขน ขา หัวใจ และปอด ทำให้แขน ขา บวม เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก นอนราบไม่ได้ ในผู้ป่วยโรคหัวใจ น้ำที่คั่งในร่างกายจะทำให้เกิดภาวะหัวใจวายได้ง่ายขึ้น

2. ทำให้ความดันโลหิตสูง การรับประทานโซเดียมมากเกินไปทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง คนอ้วน และผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยภาวะความดันโลหิตสูงทำให้เกิดผลเสียต่อหลอดเลือดในอวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจ และสมอง เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ตามมา นอกจากนี้ ยังพบว่าในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง หากรับประทานโซเดียมในปริมาณที่เหมาะสมควบคู่กับยาลดความดันโลหิต สามารถลดความดันโลหิตได้ดีกว่าผู้ที่รับประทานยาลดความดันโลหิตแต่ได้รับโซเดียมเกินกำหนด

3. เกิดผลเสียต่อไตจากการที่มีการคั่งของน้ำและความดันโลหิตสูง ทำให้ไตทำงานหนักขึ้น เพื่อเพิ่มการกรองโซเดียมและน้ำส่วนเกินของร่างกาย ผลที่ตามมาคือการเกิดความดันในหน่วยไตสูงขึ้น และเกิดการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะมากขึ้น นอกจากนี้ ยังกระตุ้นให้ร่างกายสร้างสารบางอย่างซึ่งมีผลทำให้ไตเสื่อมเร็วขึ้น.

พญ.อติพร อิงค์สาธิต
พญ.กชรัตน์ วิภาสธวัช
นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ
คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี

ที่มา : ไทยรัฐ 31 ตุลาคม 2557

thairath141007_01

กินเค็ม…มหันตภัยร้ายโรคไต ตอนที่ 2

ศุกร์สุขภาพที่ผ่านมาได้ให้ความรู้ท่านผู้อ่านเกี่ยวกับการรับประทานอาหารรสเค็มจัด ว่าส่งผลต่อ สุขภาพร่างกายของเราอย่างไร สําหรับวันนี้จะนําเสนอเกี่ยวกับโซเดียมในอาหาร เพื่อให้คุณผู้อ่านเลือกรับประทานอาหารได้อย่างเหมาะสม

โซเดียมอยู่ในอาหารประเภทใดบ้าง?

อาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูงมักมีรสเค็ม ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารทุกชนิดที่มีรสเค็ม แต่อาหารที่มีโซเดียมสูงบางชนิดอาจไม่มีรสเค็ม ซึ่งเรียกว่า มีโซเดียมแฝง ทําให้ร่างกายรับโซเดียมโดยไม่รู้ตัว ดังนั้น จึงควรทําความรู้จักอาหารประเภทนี้ไว้ด้วย จากการสํารวจพบว่าปริมาณโซเดียมที่ได้รับส่วนใหญ่มาจาก ขั้นตอนการปรุงอาหารมากกว่าการเติมน้ําปลาหรือเกลือหลังปรุงเสร็จแล้ว โดยเราสามารถแบ่งอาหารที่มี โซเดียมเป็นส่วนประกอบได้ ดังนี้

1. อาหารแปรรูปและอาหารหมักดอง ได้แก่ อาหารกระป๋อง อาหารเค็ม อาหารตากแห้ง เนื้อเค็ม ปลาเค็ม ปลาร้า ผักดอง และผลไม้ดอง เป็นต้น

2. เครื่องปรุงรสชนิดต่างๆ ได้แก่ เกลือ (ทั้งเกลือเม็ดและเกลือป่น) น้ําปลา ซึ่งมีปริมาณโซเดียม สูง สําหรับคนที่ต้องจํากัดโซเดียมควรงดซอสปรุงรสต่างๆ เช่น ซีอิ๊วขาว เต้าเจี้ยว น้ําบูดู กะปิ ปลาร้า ปลาเจ่า เต้าหู้ยี้ ซอสหอยนางรม ซอสมะเขือเทศ ซอสพริก น้ําจิ้มต่างๆ ที่มีรสเปรี้ยวๆ หวานๆ เพราะซอสเหล่านี้แม้จะมีปริมาณโซเดียมไม่มากเท่าน้ําปลา แต่คนที่จํากัดโซเดียมก็ไม่ ควรบริโภคให้มากเกินไป

3. ผงชูรส แม้เป็นสารปรุงรสที่ไม่มีรสเค็มแต่ก็มีโซเดียมเป็นส่วนประกอบ ประมาณ 15%

4. ขนมกรุบกรอบต่างๆ เพราะอาหารเหล่านี้มีการเติมเกลือหรือสารกันบูด มีโซเดียมในปริมาณที่สูงมาก

5. อาหารกึ่งสําเร็จรูป เช่น บะหมี่ โจ๊ก ข้าวต้ม ซุปต่างๆ ทั้งชนิดก้อนและชนิดซอง

6. ขนมต่างๆ ที่มีการเติมผงฟู ( Banking Powder หรือ Banking Soda) เช่น ขนมเค้ก คุกกี้ 
แพนเค้ก ขนมปัง เพราะผงฟูที่ใช้ในการทําขนมเหล่านี้มีโซเดียมเป็นส่วนประกอบ (โซเดียมไบ 
คาร์บอเนต) รวมถึงแป้งสําเร็จรูปที่ใช้ทําขนมก็มีโซเดียมด้วยเพราะได้ผสมผงฟูไว้แล้ว

7. น้ําและเครื่องดื่ม น้ําฝนเป็นน้ําที่ปราศจากโซเดียม ส่วนน้ําบาดาลและน้ําประปามีโซเดียม 
ปะปนแต่ในจํานวนไม่มากนัก ส่วนเครื่องดื่มเกลือแร่มีการเติมสารประกอบของโซเดียมลงไปด้วย เพื่อให้เป็นเครื่องดื่มสําหรับนักกีฬาหรือผู้ที่สูญเสียเหงื่อมาก ไม่ใช่ประชาชนทั่วไป ส่วนน้ําผลไม้บรรจุกล่อง ขวด หรือกระป๋อง ก็มักมีการเติมสารกันบูด (โซเดียมเบนโซเอต) ลงไป ทําให้น้ําผลไม้ เหล่านี้มีโซเดียมสูง ดังนั้น หากต้องการดื่มน้ําผลไม้ควรดื่มน้ําผลไม้สดจะดีกว่า.

พญ.อติพร อิงค์สาธิต
พญ.กชรัตน์ วิภาสธวัช
นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ
คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี

ที่มา : ไทยรัฐ 7 พฤศจิกายน 2557

thairath141007_02

 

ที่มา : ไทยรัฐ 7 พฤศจิกายน 2557

 

thairath141124_01

กินเค็ม….มหันตภัยร้ายโรคไต ตอนที่ 3

ศุกร์สุขภาพได้เสนออันตรายจากการรับประทานอาหารรสเค็มซึ่งเป็นผลเสียต่อสุขภาพรวมทั้งแนะนําการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่มีรสเค็ม สําหรับวันนี้จะนําเสนอเกี่ยวกับโซเดียมในอาหาร การลดปริมาณโซเดียม ในร่างกาย รวมไปถึงปริมาณโซเดียมที่ร่างกายต้องการ เพื่อควบคุมให้พอเหมาะกับร่างกายของเรา ไม่ให้มากหรือน้อยจนเกินไป คุณผู้อ่านสามารถนําไปปฏิบัติเพื่อให้ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนในอนาคตได้

เราจะลดปริมาณโซเดียมในอาหารได้อย่างไร ?

ปริมาณโซเดียมที่เหมาะสมในการบริโภคไม่ควรเกิน 2,400 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเทียบเป็นปริมาณเกลือโซเดียมคลอไรด์หรือเกลือแกงได้ 1 ช้อนชา หรือเทียบเป็นปริมาณโซเดียมในเครื่องปรุงอื่นๆ ได้ดังตัวอย่าง คือ ผงปรุงชูรส 1 ช้อนชา โซเดียม 950 มิลลิกรัม ผงชูรส 1 ช้อนชา โซเดียม 600 มิลลิกรัม ซอสหอยนางรม 1 ช้อนโต๊ะ โซเดียม 420-490 มิลลิกรัม น้ำปลา ซีอิ๊ว ซอสปรุงรส 1 ช้อนชา โซเดียม 400 มิลลิกรัม ผงฟู 1 ช้อนชา โซเดียม 340 มิลลิกรัม และซอสพริก น้ำจิ้มไก่ 1 ช้อนโต๊ะ โซเดียม 220 มิลลิกรัม เป็นต้น

หากรับประทานอาหารที่มีปริมาณโซเดียมเหล่านี้ 3 มื้อต่อวัน จะทําให้ได้รับโซเดียมมากเกินความต้องการของร่างกาย นอกจากนี้หากเราเติมน้ําปลาเพิ่ม ก็จะเพิ่มปริมาณโซเดียมอีกถึงช้อนชาละ 500 มิลลิกรัม ส่งผลให้ร่างกายได้รับโซเดียมในปริมาณสูงขึ้นไปอีก ดังนั้น จึงควรปฏิบัติตัวตามหลักการดังต่อไปนี้เพื่อให้การควบคุมปริมาณโซเดียมได้ประสิทธิภาพสูงสุด

1. หลีกเลี่ยงการใช้เกลือปรุงอาหาร เลือกเติมเครื่องปรุงที่ให้โซเดียมไม่เกินปริมาณที่กําหนด และควรเลือกรับประทานอาหารที่มีหลายรสชาติ เช่น แกงส้ม ต้มยํา ที่ให้รสหวาน เปรี้ยว และเผ็ด เพื่อช่วยเพิ่มรสชาติ

2. หลีกเลี่ยงอาหารประเภทดองเค็ม เช่น ไข่เค็ม ปลาแดดเดียว อาหารหมักดอง ปลาส้ม แหนม และอาหาร แปรรูปจําพวกไส้กรอก กุนเชียง หมูหย็อง

3. ไม่เติมผงชูรส

4.น้ําซุปต่างๆ เช่น ก๋วยเตี๋ยวมักมีปริมาณโซเดียมสูงควรรับประทานแต่น้อยหรือเทน้ําซุปออกบางส่วนแล้วเติมน้ําเพื่อเจือจาง

5. ตรวจดูปริมาณโซเดียมต่อหน่วยบริโภคบนฉลากของอาหารสําเร็จรูปและขนมถุง เพื่อหลีกเลี่ยงอาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูงได้ถูกต้อง

อาหารเค็มและอาหารที่มีโซเดียมสูงถือเป็นมหันตภัยเงียบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพความเคยชินในการรับประทานอาหารรสเค็มจัดของคนไทยนั้นปรับเปลี่ยนได้ยาก เพราะเมื่อเกิดความเคยชินแล้ว ลิ้นของเราก็จะโหยหารสเค็มต่อไปเรื่อยๆ ถึงเวลาที่เราควรใส่ใจเรื่องอาหารกันมากขึ้น โดยการสร้างนิสัยการกินอาหารรสจืดอย่างถูกวิธีเพื่อลดการเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ และเพื่อสุขภาพที่ดีในอนาคต.

พญ.อติพร อิงค์สาธิต
พญ.กชรัตน์ วิภาสธวัช
นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ
คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี

ที่มา : ไทยรัฐ 24 พฤศจิกายน 2557

“ข้าวไทย” ป้องกันโรค ช่วยผิวสวย

manager141008_02โรคเบาหวานเป็นหนึ่งในโรคประจำตัวที่คนไทยป่วยกันมาก สาเหตุหนึ่งมาจากพฤติกรรมการกิน โดยเฉพาะอาหารรสชาติ หวาน มัน เค็ม อย่างไรก็ตาม นางรัชนี คงคาฉุยฉาย อาจารย์สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล มองว่าคนไทยซึ่งบริโภคข้าวเป็นหลักนั้น “ข้าว” สามารถช่วยป้องกันโรคได้หากกินให้เป็นยา

โดยเฉพาะหากมีการปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวไทยให้มีดัชนีน้ำตาลต่ำ จะช่วยควบคุมน้ำหนักตัว ป้องกันการเกิดโรคอ้วน เหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

ส่วนการศึกษาคุณสมบัติข้าวสายพันธุ์พื้นเมืองของไทย นางรัชนี เปิดเผยว่า ข้าวเหลือง ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ปลูกภาคอีสานมีปริมาณโฟเลต ซึ่งช่วยป้องกันโรคปากแหว่งเพดานโหว่ และป้องกันภาวะสมองเสื่อม หรืออัลไซเมอร์ ในผู้สูงอายุได้จำนวนสูงถึง 100 ไมโครกรัม ต่อ 100 กรัม ขณะที่คนปกติต้องการโฟเลตวันละ 400 ไมโครกรัม แต่ปัญหาคือข้าวสายพันธุ์นี้ค่อนข้างแข็งจึงต้องมีการศึกษาและพัฒนาให้ข้าวอ่อนนุ่มมากขึ้น

 ข้าวเจ้าลอย หรือ ข้าวหนีน้ำมีปริมาณโฟเลตและฟอสฟอรัสต่ำเหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคไต ซึ่งเป็นที่ต้องการของกลุ่มแพทย์ แต่ปริมาณข้าวมีไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างการของบประมาณเพื่อศึกษา

ข้าวกล่ำ มีสารแอนโทไซยานินสูง ซึ่งช่วยเรื่องผิวพรรณ ชะลอการเหี่ยวย่น ที่น่าสนใจคือมีความคล้ายคลึงกับข้าวดำของจีนที่สกัดเอาสารสำคัญไปให้หนูทดลองกินอย่างสม่ำเสมอ แล้วเอาดวงตาหนูไปจ่อกับรังสีอัลตราไวโอเลต เพื่อเร่งให้เกิดต้อกระจบ โดยพบว่าหนูที่ได้รับสารสกัดจากข้าวดำมีดวงตาเป็นปกติ แต่หนูที่ไม่ได้รับสารพบว่าเรตินาถูกทำลายลง

“เรากำลังค้นหาพันธุ์ข้าวที่มีในประเทศไทยเพื่อศึกษาคุณสมบัติ คุณค่าทางโภชนาการ และความจำเพาะต่อโรคบางโรคว่ามีหรือไม่อย่างไร เพราะถ้าหวังให้มีการปรับปรุงสายพันธุ์นั้นค่อนข้างใช้เวลานาน ซึ่งหากพบแล้วจะเป็นสร้างความมั่นคงทางอาหารของประเทศ การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ เกษตรกรก็จะไม่ละทิ้งที่ดินของตัวเอง” นางรัชนี กล่าว

ที่มา: ASTVผู้จัดการออนไลน์ 8 ตุลาคม 2557

สารพัดโรคจาก “เกลือ”

matichon140622_01คุณเคยนึกย้อนไหมว่าวันหนึ่งๆ อาหารที่รับประทานมีเกลือเป็นส่วนผสมอยู่มากน้อยเพียงใดอาหารไทยมากมายที่มีส่วนผสมของเกลือปริมาณสูง โดยเฉพาะอาหารแห้ง หรือหมักดอง กะปิ น้ำปลา

บางคนขาดพริกน้ำปลา เหมือนขาดอะไรไปสักอย่าง เช่นเดียวกับซิอิ้ว และของเค็มหลากชนิดในอาหารจีน เกลือที่โรยลงบนข้าวโพดคั่ว หรือมันฝรั่งทอด ไส้กรอก แฮม ในอาหารจานด่วนแบบตะวันตก หรืออาหารยอดฮิตของชาวฟิลิปปินส์ที่เรียก bagoong (บากุง) เป็นปลาแอนโชวี่หรือกุ้งที่หมักเค็ม คล้ายกะปิของไทย เห็นไหมว่าไม่ว่าชาติไหนๆ ก็นิยมอาหารที่มีเกลือผสมในปริมาณค่อนข้างสูง
ก็เพราะเกลือเป็นหัวใจสำคัญในการถนอมอาหารให้เก็บไว้กินได้นานๆ และเป็น ราชาแห่งเครื่องปรุงรส 1 ใน 5 รสชาติที่ลิ้นคุ้นเคยเสียด้วย

อันที่จริงร่างกายของเราต้องการเกลือเพียงเล็กน้อยในแต่ละวัน นักโภชนาการกล่าวว่าใน 1 วัน คนเราต้องการเกลือเพียง 220 มิลลิกรัม ( หรือ 1/10 ของ 1 ช้อนชา) เพราะถ้าร่างกายขาดเกลือก็จะมีอาการอ่อนเพลีย มีอาการคลื่นเหียน วิงเวียนถึงหมดสติได้ แต่ดูเหมือนว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นกับวัฒนธรรมการกินแบบเราๆ ตรงกันข้าม เพราะเรากินเกลือเกินความจำเป็นถึงประมาณ 6 -10 เท่า จากปริมาณที่ร่างกายต้องการเสียด้วยซ้ำ

ซึ่งหากปริมาณเกลือในร่างกายมากเกินความต้องการก็จะนำพาโรคต่างๆ มาให้มากมายทั้งโรคไต โรคความดันโลหิตสูง อัมพฤกษ์ โรคหัวใจ และอาการผื่นแดงคันตามร่างกายที่บางครั้งเกิดขึ้นอย่างไม่มีสาเหตุ

 

ทำไมต้องกังวลว่าจะกินเกลือมากเกินไป ?

มีงานวิจัยทางการแพทย์พบว่า สารโซเดียม หรือ เกลือ เป็นสาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง มีผลร้ายแรงอย่างต่อเนื่องกับโรคหัวใจ และอัมพฤกษ์

โดย Jaen Brody นักเขียนและโภชนากร เขียนถึงเกลือไว้ในหนังสือ Nutrition Book หนังสือขายดีติดอันดับของเธอว่า ในเลือดมีปริมาณโซเดียมอยู่ถึง 40 % โซเดียมเป็นส่วนประกอบสำคัญในร่างกายมนุษย์ผสมอยู่ในของเหลวในร่างกาย หากร่างกายมีปริมาณโซเดียมสูงเหมือนน้ำทะเลที่เค็มจัด ร่างกายจำเป็นต้องการน้ำมาก เพื่อทำให้ความเค็มอยู่ในระดับที่สมดุล

และโซเดียมคลอไรด์ เป็นตัวบังคับสำคัญที่จะกำหนดความสมดุลของน้ำที่ทำละลายสสารต่างๆ นอกเซลล์ นอกเหนือจากนั้นยังทำหน้าที่ควบคุมการเต้นของหัวใจ และชีพจรด้วย เมื่อระบบการดูดซึมผิดปกติ อาจทำให้ระบบการทำงานดังกล่าวผิดปกติ และเกิดอาการร้ายแรงต่อสภาพร่างกายได้

คุณอาจคาดไม่ถึงว่าเกลือในปริมาณที่มากเกินความต้องการจะมีผลร้ายแรงต่อร่างกายขนาดไหน และส่งผลไปถึงโรคความดันโลหิตสูงได้อย่างไร Dr.Marlelo Agama นักฟิสิกซ์ชาวฟิลิปปินส์ กล่าวว่า ไตเป็นอวัยวะที่ช่วยในการปรับระดับโซเดียมในร่างกายคนเรา เมื่อปริมาณโซเดียมสูงเกินไป ไตจะขับถ่ายออกมา ในทางกลับกันถ้าร่างกายต้องการโซเดียม ไตจะทำงานโดยดูดสสารนั้นกลับสู่เลือด แต่เมื่อใดที่ไตทำงานผิดปกติไม่สามารถขับโซเดียมได้ในปริมาณที่เหมาะสม จนร่างกายมีปริมาณโซเดียมสะสมสูง น้ำในร่างกายก็จะเพิ่มปริมาณมากขึ้น นั่นหมายถึงว่าระดับเลือดก็จะสูงขึ้นด้วย เมื่อปริมาณเลือดสูงขึ้น เลือดต้องวิ่งผ่านไปยังเส้นเลือดมากขึ้น เป็นผลให้เกิดความดันโลหิตสูงขึ้น ซึ่งหัวใจก็ต้องสูบฉีดหนักขึ้น เพราะปริมาณเลือดที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้หัวใจต้องเต้นเร็วขึ้น

นอกจากผลต่อความดันโลหิตแล้ว ปริมาณโซเดียมที่มากเกินความต้องการของร่างกายจะทำให้ปริมาณน้ำของเนื้อเยื่อภายในและภายนอกเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดอาการบวม หรือปริมาณของเหลวในร่างกายที่มากเกินไปทำให้เกิดอาการเส้นเลือดคั่ง และหัวใจวายได

 

การค้นพบที่น่าสนใจยิ่ง

มีการสำรวจพบว่า แทบจะไม่มีผู้ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงในบริเวณที่ไม่นิยมใช้เกลือในการปรุงอาหาร นักวิจัยชาวอเมริกันแห่งมหาวิทยาลัย Harvard ศึกษาประชากรที่อาศัยอยู่ในเกาะ Solomon แถบหมู่เกาะทะเลใต้ ประชากรที่อาศัยอยู่บริเวณภูเขา ไม่นิยมปรุงอาหารด้วยเกลือ ไม่พบผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง

ผลสำรวจแบบเดียวกันที่แคว้น Akita ทางเหนือของประเทศญี่ปุ่น ประชากรในบริเวณนั้นนิยมใช้เกลือในการถนอมอาหาร ในแต่ละวันพวกเขารับประทานเกลือปริมาณ 3 ½ – 6 ช้อนชา เหตุนี้เองทำให้พบว่าประชากรส่วนใหญ่เสียชีวิตด้วยโรคอัมพฤกษ์ ที่แย่ไปกว่านั้น จากการวิจัยที่โรงพยาบาลเซนต์โทมัสในลอนดอน พบว่าเกลือมีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต ในกรณีของผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืด
นอกจากนี้ยังพบว่า เกลือมีผลทำให้โรคริดสีดวงกำเริบ จากข้อคิดเห็นของ Dr.Lohn Lawder จาก Torrance California ได้กล่าวว่า ระดับเกลือที่เกินความต้องการทำให้ร่างกายขับของเหลวเพื่อเจือจาง ของเหลวในร่างกายที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น จะวิ่งผ่านระบบไหลเวียนของร่างกาย ไปยังเส้นเลือดต่างๆ ทั้งนี้มีผลทำให้เส้นเลือดดำโป่งพองได้ในบริเวณทวารหนัก และบริเวณอื่นๆ เช่นเดียวกันกับผลร้ายที่เกิดจากเกลือที่เขียนไว้ในหนังสือ The Doctors Book of Home Remedies ว่าการรับประทานเกลือมากเกินไปทำให้เป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดศีรษะ(ไมเกรน)

Dr.Norman Schulman สูตินรีแพทย์จาก Cedars-Sinai Medical Center ใน LA แนะนำว่าควรลดการรับประทานเกลือ(เค็ม) ประมาณ 1 สัปดาห์ก่อนมีประจำเดือน เพื่อลดอาการเจ็บคัดหน้าอกก่อนมีประจำ แนวคิดนี้ได้รับการสนับสนุนโดย Dr.Penny Wise Budoff จาก New York ที่แนะนำว่าให้ลดการรับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูงประมาณ 7 -10 วัน ก่อนมีประจำเดือนเพื่อลดอาการบวมน้ำขณะมีประจำเดือน

สารอาหารบางอย่าง ดีต่อร่างกาย แต่ถ้าได้รับในปริมาณที่มากไป โดยเกินความจำเป็นที่ร่างกายจะได้รับ ก็ส่งผลอันตรายแก่ชีวิตได้ ต้องพิถีพิถัน ระมัดระวังอาหารการกินเข้าไว้ เพื่อสุขภาพที่ดี แข็งแรงเสมอไปค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.emaginfo.com
ที่มา : มติชน 22 มิถุนายน  2557

“โรคไต” ในผู้สูงอายุ หมั่นดูแลตนเอง ช่วยลดความเสี่ยง

dailynew140608_1ใครที่มีอาการปัสสาวะบ่อยในเวลากลางคืน มีอาการขาบวมเมื่อกดลงไปแล้วเกิดเป็นรอยบุ๋ม อีกทั้ง มีอาการความดันโลหิตสูงร่วมด้วย ยิ่งมีอายุที่เพิ่มขึ้น ไม่ควรชะล่าใจเพราะอาจเกิดความผิดปกติขึ้นที่ “ไต” ได้!!

ล่าสุด โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ (SiPH) จัดกิจกรรมเวิร์ก ชอปสุขภาพ ในหัวข้อ “ผู้สูงอายุกับโรคไต” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “อาสาสมัครใจ SiPH 2 gether Caring & Sharing” สานต่อแนวคิด ผู้รับและผู้ให้ ในการดูแลสังคมด้วยคุณธรรมและจริยธรรม ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2

อ.นพ.สมเกียรติ วสุวัฏฏกุล รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาคุณภาพ และอายุรแพทย์โรคไต ศูนย์โรคไต โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคไตว่า สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยระบุถึงสถานการณ์โรคไตในประเทศไทยปัจจุบันพบว่า คนไทยเป็นโรคไตมากถึง 17 เปอร์เซ็นต์หรือประมาณ 10 ล้านคน โดยในปี พ.ศ. 2554 มีผู้ป่วยไตเสื่อมเรื้อรังจำเป็นต้องฟอกเลือดหรือล้างไตผ่านช่องท้องประมาณ 47,000 คน ซึ่งมีสาเหตุมาจากโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงมากที่สุดประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์

สำหรับการวินิจฉัยโรคไตที่ง่ายและได้ผลชัดเจนที่สุด คือ การเจาะเลือดตรวจ โดยเฉพาะคนที่อายุ 40 ปีขึ้นไปทั้งผู้ชายและผู้หญิง ควรตรวจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อเช็กสภาพของไต และผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคไตเรื้อรังที่ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรค ได้แก่ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป มีโรคประจำตัวที่เป็นสาเหตุของโรคไตเรื้อรัง ได้รับสารพิษหรือยาที่ทำลายไต มีมวลเนื้อไตลดลง ทั้งที่เป็นมาแต่กำเนิด หรือเป็นภายหลัง มีประวัติโรคไตเรื้อรังในครอบครัว

โรคไตเรื้อรัง เป็นภาวการณ์ที่ไตทำงานผิดปกติ หรือ มีการทำงานของไตที่ลดลง โดยดูจากค่าอัตราการกรองของไตที่ผิดปกติ ในระยะเวลามากกว่า 3 เดือนขึ้นไป ซึ่งในระยะเริ่มแรกมักจะไม่แสดงอาการแต่เมื่อไตทำงานเสื่อมลงจนหน่วยไตเหลือน้อยกว่าร้อยละ 10 จะมีของเสียคั่งในกระแสเลือดและมีอาการต่าง ๆ ตามมา”

โดยอาการที่สามารถสังเกตได้คือ ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ขาบวมเมื่อกดลงไปจะเกิดรอยบุ๋ม รวมทั้ง มีความดันโลหิตสูง เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย โลหิตจาง เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ หอบเหนื่อย  และมีโอกาสชักหรือหมดสติได้ ในเพศหญิงมักมีการขาดประจำเดือนและไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ ส่วนในเพศชายจะมีความรู้สึกทางเพศลดลง การสร้างอสุจิลดลง

’คนที่ไม่ได้เป็นโรคไตเรื้อรังมาก่อนแต่ก็มีโอกาสที่จะเป็นได้เช่นกัน โดยบางคนอาจจะเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น เป็นนิ่วที่ไตก็สามารถเกิดโรคไตได้ หรือว่ามีการอักเสบของหลอดเลือดฝอยที่ไต อย่าง โรคเอสแอลอี ที่เป็นหลอดเลือดฝอยอักเสบ โดยผู้ที่เป็นโรคในกลุ่มนี้มักจะมีอาการบวมแล้วก็มีเลือดออก รวมไปถึง เรื่องเกี่ยวกับการรับประทานยา โดยเฉพาะยาแก้ปวดทั้งหลาย จำพวกเอ็นเสท ยาแก้ปวดพวกแอสไพรินซึ่งหากกินมาเป็นเวลานานแล้วเรื้อรังก็อาจทำให้มีเรื่องของไตวายเข้ามาได้“

นอกจากนี้ การรับประทานผลไม้บางประเภท เช่น มะเฟือง เชอรี่ ลูกเหนียง อาจจะเป็นสาเหตุของการเกิดโรคไตได้เหมือนกันหากรับประทานในปริมาณที่มาก เนื่องจากในมะเฟืองจะมีออกซาเลตสะสมอยู่มาก เป็นสาเหตุทำให้เกิดนิ่วได้ และหากเกิดการอุดตันในเนื้อไตและท่อไตอาจเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้ ส่วนเชอรี่ เป็นผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง ในเมล็ดมีสารไฮโดรเจนไซนาไนต์ โดยเฉพาะเวลาเคี้ยว บด จะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ สับสน วิตกกังวลและอาเจียน ทำให้มีปัญหาเรื่องหัวใจและความดันโลหิต

นพ.สมเกียรติ กล่าวต่อว่า ในผู้ป่วยบางรายถ้าตรวจเช็กดูแล้วพบว่า เป็นนิ่วและแก้ปัญหาได้ก็ไม่มีปัญหานำไปสู่การเป็นไตวายระยะสุดท้าย หรือหากเป็นไตอักเสบแล้วสามารถรักษาได้ก็ไม่มีปัญหาตามมา หรือแม้กระทั่งเป็นเบาหวาน ความดันสูง แต่ถ้าหากผู้ป่วยสามารถควบคุมอาการให้ดีขึ้นได้ ก็จะสามารถชะลอการเสื่อมของไตได้ รวมถึง สาเหตุอื่น ๆ เช่น การรับประทานยาแก้ปวด ถ้าหยุดยาแก้ปวดได้จะเป็นการช่วยลดการเกิดเรื่องโรคไตได้ เพราะหากเป็นโรคนี้ขึ้นมาแล้วค่าใช้จ่ายในการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมไม่ว่าจะเป็นล้างทางช่องท้อง หรือว่าไต เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2 แสนต่อคนต่อปี

สัญญาณที่บ่งชี้ให้รีบมาพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจร่างกาย คือ มีการเปลี่ยนแปลง เกิดความผิดปกติของหลอดเลือดขึ้น เช่น ความดันสูงโดยจะมีโปรตีนรั่วออกมาซึ่งสามารถสังเกตได้จากปัสสาวะว่าเป็นฟองมากขึ้น หรือเป็นฟองนานผิดสังเกตหรือไม่ หรือเช็กอาการบวม ซึ่งจะพบได้ที่บริเวณก้นกบและหน้าแข้ง รวมทั้ง ที่บริเวณเท้า โดยอาการบวมจะนูนขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด ตึงขึ้น เมื่อกดแล้วจะบุ๋มลงไป

วิธีการดูแลตนเองของผู้ป่วยที่เป็นโรคไตจะมีวิธีการที่แตกต่างกัน บางรายต้องงดอาหารเค็มและอาหารประเภทเนื้อสัตว์  รวมถึง ทำจิตใจให้สบาย เพราะความเครียด จะส่งผลให้ความดันโลหิตสูง เลือดไปเลี้ยงไตไม่เพียงพอ จนกระทบต่อไต พักผ่อนให้เพียงพอ และควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อชะลอความเสื่อมของไต ที่ต้องงดเค็มเพราะเป็นตัวการที่ทำให้เกิดความดันสูงได้ง่าย

ส่วนผู้ป่วยที่มีภาวะเป็นเบาหวานถ้าเป็นแล้วให้ควบคุมน้ำตาล หรือหากอยู่ในครอบครัวที่เป็นเบาหวานถึงแม้ไม่เป็นเบาหวานก็ต้องควบคุมน้ำตาลให้ดีเช่นกัน ส่วนผู้ป่วยบางรายขับเกลือไม่ได้จะมีอาการบวมจำเป็นต้องระวังเรื่องอาหารรสเค็มด้วย

ในขณะที่ บางรายขับโพแทสเซียมเกลือแร่ไม่ได้ซึ่งจะมีอันตรายต่อหัวใจจึงจำเป็นต้องควบคุมอาหาร ผัก และผลไม้ เพราะโพแทสเซียมมีมากในผักและผลไม้ หรือในรายที่ไตเริ่มทำงานไม่ดีมากขึ้นเรื่อย ๆ จะต้องควบคุมสารฟอสเฟต มีอยู่มากในอาหารประเภทโปรตีน ถั่ว ช็อกโกแลตต่าง ๆ จะเห็นได้ว่า ผู้ป่วยโรคไตจะมีอาการไม่เหมือนกันทุกราย แต่ละคนต้องปรับสมดุลร่างกายในวิธีการที่แตกต่างกันไป

สำหรับการดูแลตัวเองในผู้ป่วยที่เป็นโรคไตเพื่อไม่ให้ไตเสื่อมมากไปกว่าเดิมสามารถทำได้โดยการควบคุมความดันสูงของตัวเอง เพราะยิ่งมีความดันสูงมากขึ้นจะส่งผลทำให้ไตเสื่อมมากขึ้น  และเมื่อใดก็ตามที่ไตมีอาการเสื่อมลงมาก ๆ จะพบว่า มีสารฟอสเฟตสูงในเลือด หากมีจำนวนมากขึ้น ๆ ก็จะไปจับกับแคลเซียมจนเกิดเป็นผลึกกลายเป็นแคลเซียมฟอสเฟตผลึก หากจับตัวกันไปผสมที่หลอดเลือดต่าง ๆ ทั้งหัวใจและไต จะทำให้ไตมีอาการแย่ลงไปอีก โดยแหล่งอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ นม ถั่วต่าง ๆ ธัญพืช เบียร์ เบเกอรี่ เค้ก พาย ช็อกโกแลต น้ำอัดลมสีเข้ม ชา กาแฟ ชา เต้าหู้ และไข่แดง.

ที่มา : เดลินิวส์ 8 มิถุนายน 2557

ระวังไตพัง เพราะสารกันบูด

dailynews130524_001ก่อนหน้านี้ ผู้เขียนเห็นข่าวผ่านตาว่า มีหน่วยงานภาคประชาชนที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยด้านอาหาร เปิดเผยผลการทดสอบสารกันบูดในขนมปังและเค้กแบบพร้อมบริโภค ซึ่งได้มาจากร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาเก็ต และร้านเบเกอรี่ จำนวน 14 ตัวอย่าง โดยผลทดสอบนั้น ทำให้ตัวผู้เขียนเองก็อึ้งไปด้วย เพราะพบขนมปังแซนวิชแบรนด์ดัง ที่แสดงฉลากลวงอ้างว่า ไม่ใช้วัตถุกันเสีย แต่กลับตรวจพบการใช้ร่วมกันในตัวอย่างเดียวถึง 2 ชนิด นอกจากนี้ ยังพบว่า 5 ใน 14 ของตัวอย่างที่สุ่มตรวจมีสารกันบูดเกินค่ามาตรฐานไทย และค่ามาตรฐานอาหารสากล

หลังจากมีเรื่องราวที่ว่านี้เกิดขึ้น ผู้เขียนก็ได้รับคำถามมากมายเกี่ยวกับสารกันบูด ดังนั้น มาทำความเข้าใจเรื่องนี้กันดีกว่าค่ะ

‘สารกันบูด’ หรือ ‘วัตถุกันเสีย’ เป็นสารเคมีที่ช่วยในการถนอมอาหาร ช่วยยืดอายุการเก็บรักษา โดยจะชะลอหรือยับยั้งการเจริญเติบโตและทำลายจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุให้อาหารเน่าเสีย สารกันบูดมีหลายชนิด ที่นิยมใช้กันโดยทั่วไปแบ่งเป็นกลุ่มๆ ได้ ดังนี้

1.กลุ่มกรดและเกลือของกรดบางชนิด เช่น กรดเบนโซอิก และเกลือเบนโซเอต กรดซอร์บิกและเกลือซอร์เบต กรดโปรปิโอนิกและเกลือโปรปิโอเนต ฯลฯ อาหารที่ผสมสารกันบูดเหล่านี้ ได้แก่ กลุ่มเครื่องดื่ม น้ำผลไม้ ซอส ผักผลไม้ดอง แยม เยลลี่ เครื่องแกงสำเร็จรูป และขนมปัง 

2.กลุ่มพาราเบน เช่น เมทธิลพาราเบน โปรปิลพาราเบน นิยมใช้กับอาหารประเภท เครื่องดื่ม น้ำผลไม้ เยลลี่ ขนมหวานต่างๆ และสารปรุงแต่งกลิ่นรส เป็นต้น

 3.กลุ่มซัลไฟต์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ นิยมใส่ในไวน์ น้ำผลไม้ ผักและผลไม้แห้ง เป็นต้น 

4.กลุ่มไนไตรท์ เกลือไนไตรท์ นิยมใช้กับเนื้อสัตว์ต่างๆ เบคอน แฮม เป็นต้น

การใช้ใช้สารกันบูด ในเรื่องของปริมาณที่ใช้นั้นจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับชนิดของอาหาร ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้กำหนดปริมาณที่อนุญาต โดยสารกันบูดเหล่านี้หากใช้ตามที่กฎหมายกำหนด หรือใช้ตามประกาศกระทรวง จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค แต่หากใช้ในปริมาณมากเกินไป หรือนำไปใช้ไม่เหมาะสม ก็จะก่อให้เกิดอันตรายได้

นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังห้ามใช้วัตถุกันเสียในอาหารที่ไม่จำเป็นต้องใช้สารกันบูด นั่นก็คืออาหารกระป๋องที่ผ่านการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์แล้ว

ผู้ผลิตที่ผสมสารกันบูดลงในอาหารจึงควรคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยเลือกใช้สารกันบูดให้เหมาะสมกับชนิดของอาหาร และใช้ในปริมาณที่กำหนดเท่านั้น และในระหว่างกรรมวิธีการผลิต จะต้องระมัดระวังการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ให้น้อยที่สุด เพราะหากมีจุลินทรีย์ปนเปื้อนมาก ทำให้อาหารเกิดการเน่าเสียมาก่อน การใส่สารกันบูดก็ไม่เกิดผลดีแต่อย่างใด

มาดูอันตรายจากสารกันบูดกันบ้างนะคะ หากในแต่ละวัน เราได้รับสารกันบูดในปริมาณน้อย ร่างกายจะสามารถกำจัดออกทางปัสสาวะได้ตามปกติ แต่หากได้รับในปริมาณมากทุกวัน ตับและไตจะต้องทำงานหนักขึ้น และหากกำจัดออกไปไม่หมด ก็จะเกิดการสะสมในร่างกาย ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพของตับและไตในการกำจัดสารเคมีเหล่านี้ลดลง และอาจทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยต่อตับและไตได้

สารกันบูดในกลุ่มกรดและเกลือของกรดบางชนิด รวมทั้งพาราเบน ถือว่ามีความเป็นพิษต่ำ และสามารถขับออกจากร่างกายได้ แต่ก็มีข้อควรระวัง เช่น เกลือเบนโซเอต โดยทั่วไปแล้วจะค่อนข้างปลอดภัย แต่ก็พบว่าทำให้เกิดอาการแพ้ได้ โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ สารกันบูดในกลุ่มซัลไฟต์ แม้จะถูกขับออกจากร่างกายได้ แต่หากได้รับในปริมาณมากเกินไป สารดังกล่าวจะไปลดการใช้โปรตีนและไขมันในร่างกาย นอกจากนี้ยังทำลายไธอามีนหรือวิตามินบี 1 ในอาหารด้วย ส่วนสารกันบูดในกลุ่มไนไตรท์ เช่น ดินประสิว ซึ่งนิยมนำมาใช้กับอาหารประเภทเนื้อสัตว์ หากใช้เกินกว่าที่กำหนด จะทำให้ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาซึ่งมีข้อบ่งชี้ว่า การได้รับไนไตรท์ในปริมาณมากๆ จะเป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็งได้อีกด้วยล่ะค่ะ

ข้อแนะนำสำหรับผู้บริโภคเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายจากสารกันบูด มีดังนี้…

  • ก่อนซื้ออาหารสำเร็จรูป ควรอ่านฉลากอาหารและเลือกอาหารที่ระบุว่าไม่ใส่สารกันบูดหรือวัตถุกันเสีย
  • หากฉลากนั้นไม่ได้ระบุชัดเจนว่าใช้สารกันบูดหรือไม่ ก็ควรหลีกเลี่ยง หรือบริโภคให้น้อยที่สุด
  • หลีกเลี่ยงการซื้ออาหารที่ขายไม่หมดวันต่อวัน
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะใส่สารกันบูด เช่น แหนม หมูยอ กุนเชียง เนื้อเค็ม และน้ำพริกชนิดต่างๆ เป็นต้น
  • มีการศึกษาพบว่า การลวกหมูยอในน้ำเดือดก่อนนำมารับประทาน จะช่วยลดปริมาณสารกันบูดลงได้ ซึ่งน่าจะได้ผลเช่นเดียวกันในผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์อื่นๆ

โดยสรุปก็คือ การใช้สารกันบูดตามปริมาณที่กำหนดจะไม่เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม อาจมีผู้ผลิตบางรายที่ละเมิดกฎหมาย ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย การหลีกเลี่ยงอาหารที่สุ่มเสี่ยงต่อการใส่สารกันบูดหรือบริโภคแต่น้อย น่าจะดีต่อสุขภาพที่สุดนะคะ.

“PrincessFangy”
twitter.com/PrincessFangy

 

ที่มา  : เดลินิวส์  24 พฤษภาคม 2556

รณรงค์คนไทยตื่นตัวรับมือโรคไตวาย

bangkokbiznews130425_001ไต (Kidney) เป็นอวัยวะในร่างกายอยู่ด้านข้างของกระดูกสันหลัง บริเวณบั้นเอว มีอยู่สองข้าง รูปร่างคล้ายเมล็ดถั่ว ทำหน้าที่ กำจัดของเสียออกจากร่างกาย , ควบคุมสมดุล น้ำ เกลือ และแร่ธาตุอื่นๆ , สร้างฮอร์โมนและเอนไซม์ที่มีความสำคัญต่อร่างกาย เช่น ในขบวนการสังเคราะห์วิตามินดี ช่วยในการควบคุมแคลเซียมและฟอสฟอรัส, Erythropoietin ซึ่งมีส่วนช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดงและ renin ในการควบคุมความดันโลหิต ไตจะทำหน้าที่กรองของเสียจากร่างกาย ในหนึ่งวันไตต้องกรองเลือดมากถึง 180 ลิตร หรือ เลือดในร่างกายเราต้องกรองผ่านไตถึงวันละ 50 ครั้ง และช่วยควบคุมระดับน้ำในร่างกาย โดยการขับน้ำส่วนเกินออกมาเป็นปัสสาวะ คอยควบคุมระดับเกลือแร่ต่าง ๆ ในร่างกาย ถ้าเกลือแร่เสียสมดุล เซลล์หรืออวัยวะต่าง ๆ จะไม่สามารถทำงานได้ หากผิดปกติมาก ๆ อาจทำให้เสียชีวิตได้ ช่วยร่างกายควบคุมความดันโลหิต ผู้ป่วยโรคไตมักมีความดันโลหิตสูงยากต่อการควบคุม นอกจากนี้ไตยังช่วยร่างกายในการเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง โดยมีส่วนร่วมในการสังเคราะห์ วิตามินดี และช่วยร่างกายในการสร้างเลือดโดยการผลิตฮอร์โมนที่จำเป็นต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง อีกด้วย

โรคไตชนิดเรื้อรัง คือ ภาวะที่มีการทำงานของไตค่อย ๆ ลดลงอย่างช้า ๆ ในเวลาหลายเดือนหรือเป็นปี จนกระทั่งสูญเสียหน้าที่อย่างถาวร โดยมีสาเหตุมาจากการเสื่อมตามอายุหรือมีสาเหตุอื่นที่พบได้บ่อย เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคแพ้ภูมิตัวเอง ถุงน้ำในไต เป็นต้น

ปัจจุบันมีการแบ่งระยะของโรคไตเรื้อรังออกเป็น 5 ระยะ(ตารางที่ 1) ตามอัตราการกรองของไต ซึ่งวิธีการคำนวนมีหลายวิธี ปัจจุบันนิยมใช้ CKD EPI Creatinine เนื่องจากมีความถูกต้องแม่นยำสูง ในปีหนึ่งมีผู้ป่วยเป็นจำนวนนับล้าน ทั่วโลกที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควรเนื่องจากภาวะแทรกซ้อนจากโรคไตเรื้อรัง ร้อยละ 8-10 ของกลุ่มประชากรผู้ใหญ่ มักจะมีความผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่งของไต ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุเกิดจากโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคไตเรื้อรัง โดยเฉพาะในผู้สูงอายุทั่วโลก

โดยผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะแรก ๆ มักจะไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ ทำให้สูญเสียโอกาสสำคัญในการรักษาโรค ดังนั้น การตรวจหาโรคไตจึงเป็นสิ่งสำคัญ เราสามารถตรวจโดยการตรวจเลือด เพื่อดูค่า ครีเอตินีน(Creatinine) ซึ่งเป็นของเสียที่ไตขับออกมาในปัสสาวะ เพื่อคำนวณค่าการทำงานของไต (estimated Glomerular Filtration Rate) และ ตรวจวิเคราะห์ปัสสาวะ (Urinalysis) และตรวจปัสสาวะเพื่อวัดปริมาณโปรตีน/ไข่ขาวปัสสาวะ (Urine microalbumin to creatinine ratio) โดยกลุ่มเสี่ยงที่ควรได้รับการตรวจหาโรคไต ได้แก่ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ผู้ที่เป็นโรคอ้วน ผู้ที่สูบบุหรี่ ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีประวัติครอบครัวที่มี โรคไต โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง

การวินิจฉัยโรคไตเรื้อรัง แพทย์จำเป็นต้องได้ประวัติครบถ้วนเนื่องจากการวินิจฉัยต้องอาศัยระยะเวลาที่ป่วย อย่างน้อยสามเดือน ร่วมกับอัตราการกรองของไตลดน้อยกว่า 60 มล/นาที/1.73 ตารางเมตร หรือมีหลักฐานอื่นที่แสดงว่าไตมีการถูกทำลาย เช่น ผลชิ้นเนื้อของไต หรือ โปรตีนรั่วในปัสสาวะมากกว่าเกณฑ์มาตรฐาน หรือ ตรวจปัสสาวะพบเม็ดเลือดที่มากกว่าเกณฑ์มาตรฐาน หรือ มีภาพถ่ายทางรังสีพบว่า ไตมีขนาดเล็ก มีถุงน้ำ เล้นเลือดที่ไปเลี้ยงไตตีบ เป็นต้น ดังนั้นผู้ป่วยจำเป็นต้องให้ความร่วมมือกับแพทย์ เพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่ถูกต้องแม่นยำ

อาการของโรคไตเรื้อรัง โดยส่วนใหญ่ถ้าเป็นโรคไตเรื้อรังระยะ 1 , 2 และ 3 มักมีอาการแสดงเล็กน้อย ซึ่งเราสามารถสังเกตได้เบื้องต้นดังนี้

1. บวม มักจะบวมทั้งตัว ระยะแรกอาจมีเพียงการบวมที่หนังตา และใบหน้า อาจจะรู้สึกว่าแหวนหรือรองเท้าคับขึ้น ต่อมาจะมีการบวมที่ขาและเท้าทั้งสองข้าง ถ้าบวมไม่มากอาจสังเกตไม่เห็น ลองใช้นิ้วกดที่หน้าแข้งสักพักแล้วปล่อยจะมีรอยบุ๋มอยู่แสดงว่า บวม

2. ปัสสาวะเป็นฟอง เกิดจากมีโปรตีนรั่วออกมาในปัสสาวะ

3. ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะคนเราจะมีสีเหลืองใส อาจมีสีเข้มขึ้นเล็กน้อยถ้าดื่มน้ำน้อย ถ้าปัสสาวะที่ออกมามีสีออกแดงหรือเป็นแบบสีน้ำส้างเนื้อแสดงว่ามีเลือดออกจากทางเดินปัสสาวะ คนปกติไม่ควรมีปัสสาวะเป็นเลือด ในผู้ป่วยหญิงการเก็บปัสสาวะต้องเก็บหลังหมดประจำเดือน 5 – 7 วัน

4. ปัสสาวะบ่อย คนเราแต่ละคนจะมีความถี่บ่อยของการปัสสาวะแตกต่างกัน ขึ้นกับการฝึกหรือนิสัยส่วนตัว รวมทั้งปริมาณน้ำที่ดื่มและน้ำที่เสียไปทางเหงื่อกับอุจจาระ การที่มีปัสสาวะบ่อยกว่าที่เคยเป็นอยู่ ในระยะเริ่มต้นอาจสังเกตได้ไม่ชัดเจน อาการที่ต้องนึกถึงว่ามีปัสสาวะบ่อยผิดปกติก็คือ การตื่นขึ้นมาปัสสาวะตอนกลางคืน

5. ปัสสาวะน้อยลง เมื่อคนเราดื่มน้ำมากปริมาณปัสสาวะมักจะมากขึ้น เมื่อดื่มน้ำน้อยปัสสาวะก็มักจะน้อยลงเช่นกัน แต่หากดื่มน้ำมากแต่ปัสสาวะไม่ออกมากตามหรือปัสสาวะไม่ออกเลย มักเกิดจากการทำงานของไตเสียไป ดังนั้นเมื่อสังเกตว่าปัสสาวะน้อยลงให้ลองรับประทานน้ำเพิ่มขึ้นและสังเกตว่ามีปัสสาวะมากขึ้นหรือไม่ หากยังคงมีปัสสาวะออกน้อยถึงแม้จะดื่มน้ำมากขึ้นแล้วควรรีบมาปรึกษาแพทย์เพื่อให้การรักษาโดยทันที

อาการดังกล่าวจะรุนแรงขึ้นในระยะที่ 4 และ 5 ร่วมกับมีอาการอื่นๆ เช่น คลื่นไส้อาเจียน ซีด อ่อนเพลีย คัน เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ มีภาวะน้ำเกิน สับสน เป็นต้น

แนวทางการรักษาโรคไต จะใช้ยากลุ่มที่ block Renin-Angiotensin System เช่น ยากลุ่ม ACE Inhibitors, ARBs ที่มีการใช้มากกว่า 10 ปี ในการรักษา โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไต อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนการที่จะชะลอโรคไตให้เสื่อมช้าลง สามารถทำได้โดย ควบคุมความดันโลหิต โดยให้ ความดันโลหิตลดลงมาอยู่ในเกณฑ์ปกติในระดับ 130/80 มม. ปรอท ลดโปรตีนในปัสสาวะให้น้อยกว่า 0.5 กรัมต่อวัน โดยใช้ยาลดความดันโลหิตกลุ่ม ACEI, ARB ถ้าเป็นเบาหวานให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้น้อยกว่า 130 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ควบคุมระดับไขมันในเลือด ควบคุมความเข้มข้นของเลือดไม่ให้จางจนเกินไป ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ควบคุมอาหาร โดยเฉพาะ เกลือ หรือ ความเค็มของอาหาร อาหารไขมันสูง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หยุดสูบบุหรี่ ดื่มน้ำอย่างน้อย 1.5-2 ลิตร ต่อวัน หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs, COX-2 Inhibitorsหลีกเลี่ยงการใช้ยาสมุนไพรและถ้าไม่สามารถชะลอโรคไตเรื้อรังได้ ควรเตรียมการรักษาด้วยวิธี การฟอกเลือด การล้างไตทางช่องท้อง หรือการปลูกถ่ายไตตามความเหมาะสม

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ 25 เมษายน 2556

อ้วนเอวช้างอ้วนอันตราย

thairath130418_001แพทยสมาคมโรคไตอเมริกัน ศึกษาพบว่าคนอ้วนแบบที่มีรอบเอวใหญ่กว่าสะโพก มักจะป่วยเป็นโรคไตพิการร้ายแรงได้ง่าย

คนอ้วนแบบนี้ เกิดเพราะไขมันสะสมมากในช่องท้องและอวัยวะภายในที่เรียกกันว่า อ้วนแบบทรงลูกแอปเปิ้ล มักจะเจ็บป่วยด้วยความดันโลหิตในไตสูง มากยิ่งกว่าผู้ที่อ้วนแบบไขมันพอกบริเวณบั้นท้าย สะโพกและต้นขา ส่วนใหญ่ในเพศหญิง ที่เรียกกันว่าอ้วนแบบทรงลูกแพร์

หัวหน้าคณะวิจัยมหาวิทยาศูนย์แพทย์โกรนิงเกน ของเนเธอร์แลนด์ แจ้งว่า “เราพบว่าผู้ที่อ้วนแบบนี้ แม้ว่าสุขภาพทั่วไปจะแข็งแรง และความดันโลหิตปกติ แต่ความดันโลหิตในไตก็ยังสูง ยิ่งถ้าเป็นผู้ที่มีน้ำหนักเกิน หรืออ้วนเกิน ก็ยิ่งน่ากลัวหนัก” ทางโฆษกของสำนักวิจัยโรคไตของอังกฤษกล่าวให้ความเห็นว่า “เราเข้าใจว่าผู้ที่อ้วนแบบทรงลูกแอปเปิ้ลแบบนี้จะเสี่ยงกับโรคหัวใจและหลอดเลือดมากยิ่งกว่าผู้ที่อ้วนแบบทรงลูกแพร์ ทั้งเสี่ยงกับโรคไตมากกว่า”.

ที่มา : ไทยรัฐ 18 เมษายน 2556

.
Related Article :
.

Body shape is important for more than clothing style. Researchers have found exess belly fat — as seen in the apple-shaped body, as opposed to the pear-shaped body where the fat is lower down on the hips and butt — can increase risk of kidney disease. CREDIT: hatanga | Shutterstock

Body shape is important for more than clothing style. Researchers have found exess belly fat — as seen in the apple-shaped body, as opposed to the pear-shaped body where the fat is lower down on the hips and butt — can increase risk of kidney disease.
CREDIT: hatanga | Shutterstock

Shaped Like an Apple? Beware Kidney Disease

Christopher Wanjek, LiveScience Bad Medicine Columnist
Date: 12 April 2013

Are apples bad for the kidneys? The answer is yes, if you’re talking about an apple-shaped body in which fat is concentrated in the abdominal area.

Researchers in the Netherlands have found that excess abdominal or belly fat — as seen in the so-called apple-shaped body, as opposed to the pear-shaped body where the fat is lower down on the hips and buttocks — can significantly raise the risk of kidney disease even among people with a modest-size belly and who are generally not overweight.

While the connection between obesity and kidney disease has long been established, this latest study is the first to show how just a small increase in abdominal fat begins to strain the kidneys, reducing the blood flow to these organs and raising the local blood pressure within them.

The study appears today (April 11) in the Journal of the American Society of Nephrology.

The kidneys are two bean-shaped organs, just below the rib cage, that remove waste from the blood stream and send it out of the body as urine. People can function well with just one kidney. Nevertheless, chronic kidney disease is on the rise. More than 10 percent of American adults now have some form of kidney disease, according to the Centers for Disease Control and Prevention (CDC). Among diabetics, 35 percent have kidney disease.

Most forms of kidney disease have no cure, except through a kidney transplant from a healthy donor. Kidney disease is the eighth leading cause of death in the United States, according to the CDC, and approximately 90,000 Americans are waiting for a transplant.

To further investigate the known connection between obesity and kidney disease, researchers led by Arjan Kwakernaak, a medical doctor and a Ph.D. candidate at the University Medical Center Groningen in the Netherlands, analyzed kidney profiles and waist-to-hip ratios in 315 healthy individuals with an average body mass index (BMI) of about 25 kg/m2. The waist-to-hip ratio is a measure of central body fat distribution; and a BMI of 25 is considered the upper border or normal weight.

Even among healthy subjects, higher waist-to-hip ratios were directly associated with lower kidney function, lower kidney blood flow and higher blood pressure within the kidneys.

“We found that apple-shaped persons — even if totally healthy and with a normal blood pressure — have an elevated blood pressure in their kidneys,” Kwakernaak said. “When they are also overweight or obese, this is even worse.”

An apple-shaped body was associated with a twofold-increased risk of high renal blood pressure, seen in both men and women, Kwakernaak said.

The researchers don’t know why this is happening. The reason is not because fat is weighing down on kidneys, crushing them, Kwakernaak said. The researchers speculate that the cause might be from the fat triggering inflammation or insulin resistance, which can impede blood flow, or fat creating free radicals, which can damage the kidneys at a cellular level.

“Our study now provides a possible mechanism for this increased renal risk” seen in obesity, for further investigation, Kwakernaak told LiveScience.

As for anyone with a pear-shaped body, you’re not off the hook. Researchers at University of California Davis found that gluteal adipose tissue — that is, that fat around the backside, thought to be harmless, if not useful for sitting for long periods — secretes proteins associated with inflammation and insulin resistance, the latter being a precursor to diabetes. Their study was published last month in the Journal of Clinical Endocrinology and Metabolism.

No word yet, though, from researchers on the healthfulness of a starfruit-shaped body.

Christopher Wanjek is the author of a new novel, “Hey, Einstein!”, a comical nature-versus-nurture tale about raising clones of Albert Einstein in less-than-ideal settings. His column, Bad Medicine, appears regularly on LiveScience.

SOURCE : www.livescience.com

กิน-อยู่อย่างไร…ให้ไตอยู่ดี

dailynews130331_001ปัจจุบันพบว่า การกินอาหารส่งผลต่อสุขภาพร่างกายของมนุษย์โดยตรง เรียกว่า กินอย่างไรก็จะได้อย่างนั้น หากเราเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสมกับน้ำหนักตัว กิจวัตรประจำวัน รวมทั้งเลือกกินอาหารที่ดีและมีประโยชน์ต่อร่างกาย นอกจากจะมีสุขภาพที่ดีแล้วยังเป็นแนวทางป้องกันโรคที่ดีด้วยและถึงแม้นว่าจะเป็นโรค เราก็ยังต้องเลือกกินให้ถูกกับโรคที่เป็น เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนและอยู่อย่างมีคุณภาพชีวิต

กินแบบไหน…ช่วยป้องกันโรคไต

หนึ่งในโรคที่มีส่วนสัมพันธ์โดยตรงกับพฤติกรรมการบริโภคอาหารและพบบ่อยในคนไทยคือ โรคไตวายเรื้อรัง โดยผู้ที่เป็นโรคไตส่วนหนึ่งมาจากอาหารที่รับประทาน เช่น อาหารที่มีรสเค็มจัด และอาหารที่ไม่สะอาด ซึ่งการรับประทานอาหารให้ห่างไกลโรคไตนั้น ควรเริ่มจากตัวเราก่อน โดยการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร จากที่เคยรับประทานอาหารในปริมาณที่เกินความต้องการของร่างกาย (ดูได้ง่าย ๆ คือน้ำหนักตัวจะเริ่มเพิ่มขึ้น เสื้อผ้าคับ) ก็ควรลดปริมาณอาหารให้น้อยลง หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันจากสัตว์ และคอเลสเตอรอลสูง รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีรสจัดเกินไป เช่น หวานจัด เค็มจัด และอาหารที่มีกะทิ เพื่อป้องกันโรคอ้วน ซึ่งจะเป็นสาเหตุสู่โรคอื่นๆ ตามมา เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูงและไขมันอุดตันในเส้นเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเป็นโรคไตเรื้อรังที่ตามมา นอกจากนี้ ควรดื่มน้ำสะอาด อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว จะช่วยให้เราห่างไกลจากโรคไตได้

เมื่อเป็นโรคไต…ควรกินอยู่อย่างไร ชะลอไตพัง

สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังแล้ว ก็ควรระมัดระวังไม่ให้โรครุนแรงไปมากกว่าเดิม นอกจากการทานยาตามที่แพทย์สั่ง และการบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีการล้างไตทางช่องท้อง หรือการฟอกเลือดอย่างสม่ำเสมอแล้ว อาหารก็มีส่วนช่วยบำบัดอาการของโรคไตได้ หากเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสม จะช่วยป้องกันภาวะทุพโภชนาการและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังได้

ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ล้างไตด้วยการฟอกเลือด หรือการล้างไตทางช่องท้อง อาจเกิดภาวะขาดสารอาหารได้ เนื่องจากผู้ป่วยอาจมีอาการเบื่ออาหาร ทานอาหารได้น้อยลงรวมทั้งมีการสูญเสียสารอาหาร ระหว่างฟอกเลือด และการล้างไตทางช่องท้อง อาทิ โปรตีนซึ่งเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการซ่อมแซมร่างกาย และสร้างภูมิคุ้มกัน ดังนั้น ผู้ป่วยแต่ละคนควรมีความรู้ความเข้าใจในการเลือกกินอาหาร เพื่อให้ได้รับสารอาหารโปรตีนและพลังงานที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

โดยผู้ป่วยโรคไตจะต้องรับการประเมินภาวะโภชนาการ ซึ่งได้แก่ น้ำหนักตัว ผลทางชีวเคมีของเลือด เช่น อัลบูมิน (วัดโปรตีนในเลือด) การประเมินอาการทางคลินิกและการประเมินการบริโภค และนำข้อมูลเหล่านี้ไปปรึกษานักกำหนดอาหาร/นักโภชนาการ เพื่อจะได้กำหนดปริมาณและรับประทานอาหารให้ถูกต้องเหมาะสมกับภาวะที่ร่างกายต้องการของแต่ละบุคคล ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ ทั้งเนื้อสัตว์ ข้าว แป้ง ไขมันที่ดี รวมทั้งผักและผลไม้แต่ต้องกินในปริมาณที่แนะนำ เช่น ผลไม้อาจกินเงาะได้ไม่เกินวันละ 8 ผล แต่ควรงดเมื่อผลทางชีวเคมีของโพแทสเซียมในเลือดเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ในขณะเดียวกันสารอาหารโปรตีนที่พบมากในเนื้อสัตว์ต้องรับประทานให้เพียงพอ โดยเน้นบริโภคปลา เพราะเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่ดี ย่อยง่าย มีไขมันต่ำ ในผู้ที่ล้างไตทางช่องท้องควรกินให้ได้ 4-6 ช้อนโต๊ะต่อมื้อหรือเท่ากับ 3 กล่องไม้ขีดไฟกล่องเล็ก หรือ ไพ่ 1 สำรับ และกินไข่ขาววันละ 2 ฟอง การจัดอาหารให้น่ารับประทาน และดัดแปลงเมนูให้หลากหลาย จะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกอยากรับประทานอาหารมากยิ่งขึ้น เช่น ใช้ “ไข่ขาว” ดัดแปลงเป็นอาหารหลากเมนู ไม่ว่าจะเป็น ซูชิไข่ขาว ฮ่อยจ๊อไข่ขาว หรือ ไส้กรอกอีสานไข่ขาว และอื่น ๆ นอกจากนี้การใช้วุ้นเส้น มาใช้ในตำรับจะช่วยให้ท้องอิ่ม น้ำตาลขึ้นได้อย่างช้า ๆ และเพื่อให้ได้พลังงานตามที่กำหนด

ควรกินอาหารที่ปรุงด้วยวิธีการต้ม นึ่ง ย่าง หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ น้ำมันในการปรุงอาหาร ประเภทผัด จะต้องเป็นน้ำมันที่ดีคือ มีไขมันไม่อิ่มตัว เนื่องจากเรากินน้ำมันด้วย ควรใช้น้ำมันถั่วเหลืองผสมกับน้ำมันรำข้าวในสัดส่วน 1 : 1 สำรับ เพื่อลดการอุดตันของไขมันในเส้นเลือดที่จะนำไปสู่โรคหัวใจ ส่วนน้ำมันปาล์ม ใช้สำหรับอาหารประเภททอด โดยหลังทอดเสร็จแล้วควรใช้กระดาษซับเอาน้ำมันออก ก็จะช่วยให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง ที่สำคัญช่วยยืดอายุให้ยืนยาวมากยิ่งขึ้น

ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังควรหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ที่มีไขมัน และคอเลสเตอรอลสูง เช่น อาหารทะเล หมูสามชั้น หนังเป็ด หนังไก่ เครื่องในสัตว์ อีกทั้งเนื้อสัตว์แปรรูปและอาหารสำเร็จรูป ได้แก่ ไส้กรอก แฮม ปลาส้ม กุนเชียง รวมถึงเนื้อสัตว์ที่มีรสเค็ม เช่น เนื้อเค็ม ไข่เค็ม ปลาเค็ม รวมทั้งอาหารทะเลแช่แข็งด้วย เพราะอาหารเหล่านี้มีเกลือแร่ที่ชื่อโซเดียม ซึ่งมีงานวิจัยพบว่าการกินโซเดียมเกินกว่าที่กำหนดมีผลต่อความดันโลหิตสูงส่งผลให้หลอดเลือดต่าง ๆ เสื่อมได้ง่ายขึ้น ที่สำคัญควรระวังโซเดียม จากเครื่องปรุงที่ใช้ในการปรุงรสอาหาร อาทิ เกลือ น้ำปลา น้ำตาล ซึ่งจริง ๆ แล้วเราเติมลงในอาหารเพื่อเพิ่มรสชาติตามที่เราต้องการ แต่ร่างกายไม่ได้มีความต้องการ จึงต้องจำกัดปริมาณให้อยู่ในความเหมาะสม มิฉะนั้นการปรุงรสอาหารตามใจปากอาจเป็นส่วนที่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อ ความดันเลือด ระบบหัวใจ และระดับแคลเซียมในเลือด ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังหรืออาจทำให้เสียชีวิตได้

แต่ทั้งนี้ ผู้ป่วยสามารถเพิ่มรสชาติได้โดยการใช้สมุนไพรช่วยในการปรุงรส เช่น หอมแดง ใบมะกรูด กระเทียม ข่า ตะไคร้ กระชาย ผักชี ขิง ใบแมงลัก เป็นต้น นอกจากนี้ควรลดการกินขนมเบเกอรี่ ขนมปัง ซึ่งใช้ผงฟูซึ่งมีโซเดียมแฝงอยู่ นอกจากนี้ผงฟูยังมีเกลือแร่ชื่อฟอสฟอรัสซึ่งมีผลต่อกระดูกเปราะในผู้ป่วยไตเรื้อรังถ้ากินมากเกินไป ควรลดน้ำตาลทรายและอาหารที่มีกะทิ เช่น แกงกะทิ ฉู่ฉี่ ก๋วยเตี๋ยวแขก ข้าวซอย ของหวานที่มีกะทิข้น เช่น ขนมปลากริมไข่เต่า ผลไม้เชื่อมซึ่งมีผลต่อไขมันในเลือดชื่อ ไตรกลีเซอร์ไรด์ ซึ่งนำไปสู่โรคหัวใจ หลีกเลี่ยงอาหารหมักดองและอาหารที่ย่อยยากและชิ้นใหญ่ ไม่ควรกินอาหารมื้อใหญ่ ควรแบ่งเป็นมื้อเล็ก ๆ หลายมื้อ กินให้พอเหมาะกับกิจกรรม

นอกจากนี้ ควรจำกัดน้ำดื่มเมื่อมีอาการบวม โดยดื่มน้ำปริมาณเท่ากับปริมาณปัสสาวะต่อวันที่ขับออกมา บวกกับน้ำ 500 ซีซี หลีกเลี่ยงการดื่ม ชา กาแฟ ช็อกโกแลต น้ำอัดลม เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้มีทั้งโพแทสเซียมและฟอสฟอรัสในปริมาณค่อนข้างสูง งดการดื่มสุราและสูบบุหรี่ ทั้งนี้ผู้ป่วยควรออกกำลังกายเบา ๆ ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า กล้ามเนื้อแข็งแรง และควบคุมความดันโลหิตได้ดีขึ้น พักผ่อนให้เพียงพอ และเลี่ยงภาวะตึงเครียดต่าง ๆ ที่จะทำให้สุขภาพจิตเสื่อมลง ถ้าผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังสามารถปฏิบัติตัวได้ดังกล่าวก็สามารถอยู่อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้แม้นเป็นโรคไตเรื้อรัง

ข้อมูลจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชนิดา ปโชติการ นายกสมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย.

นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์

ที่มา : เดลินิวส์  31 มีนาคม 2556

ตะลึง! คนไทยส่อป่วยไต 10 ล้าน..มีเคล็ดลับป้องกันได้?

dailynews130311_001-1เพราะสาเหตุของการป่วย ‘โรคไต’ อาจเกิดขึ้นเนื่องจากป่วยโรคเบาหวาน เป็นนิ่ว มีพฤติกรรมการใช้ยาแก้ปวดหรือการกินยาชุดอย่างไม่เหมาะสมมาเป็นเวลานาน บ้างก็อาจป่วยไตอย่างไม่รู้ต้นตอ แต่ที่น่าวิตกแน่ๆ คือ เป็นโรคไตเพราะความดันโลหิตสูง เนื่องจากภาวะความดันโลหิตที่ผิดปกตินี้ แท้จริงแล้วทุกคนสามารถป้องกันได้ ทว่าผู้คนส่วนใหญ่ไม่ใส่ใจเท่าที่ควร!

dailynews130311_001-2

 

นาวาอากาศเอก นพ.อนุตตร จิตตินันทน์, ศ.นพ.เกรียง ตั้งสง่า, และ ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ

เหตุใดจึงต้องกังวลเรื่องโรคไตที่เกิดจากความดันโลหิตสูง? ‘ศ.นพ.เกรียง ตั้งสง่า’ ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย บอกว่า ภาวะความดันโลหิตสูงเป็นตัวเร่งให้ไตเสื่อมเร็ว ปัจจุบันคนไทยเป็นความดันโลหิตสูงถึง 11.5 ล้านคน หรือร้อยละ 21.4 ของประชากร ดังนั้นในอนาคตคนกลุ่มนี้ย่อมมีโอกาสป่วยโรคไต ซึ่งขณะนี้คนป่วยโรคไตในระยะต่างๆ ก็มีอยู่จำนวนไม่น้อย โดยมีถึง 7.6 ล้านคน หรือราวร้อยละ 17.5 อย่างไรก็ตาม ภาวะความดันโลหิตสูงเรื้อรังมิใช่เป็นชนวนโรคไตเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ยังทำให้เส้นเลือดเสื่อมสภาพ นำไปสู่โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์และอัมพาตอีกด้วย

แล้วความดันโลหิตสูงเกิดขึ้นได้อย่างไร? ‘ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ’ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ แจงว่า ส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมกินเค็มมากเกินไป โดยปกติคนเราต้องการโซเดียม (ความเค็ม/รสเค็ม) ไม่เกิน 5 กรัมต่อวัน แต่คนไทยกินเกินไปกว่า 2 เท่าต่อวัน หรือ 10.8 กรัม

ผศ.นพ.สุรศักดิ์ บอกอีกว่า ที่คนไทยกินเค็มเพราะลิ้นติดรสเค็ม เห็นได้จากการไม่ตระหนักว่า วัตถุดิบที่นำมาทำอาหารล้วนมีโซเดียมอยู่แล้วส่วนหนึ่ง เมื่อนำไปประกอบอาหาร พ่อครัวแม่ครัวก็ปรุงรสชาติเพิ่มเติมด้วยซีอิ้ว ซอสปรุงรส น้ำปลา หรือเกลือแล้ว แต่ก่อนจะกิน หลายคนก็ยังปรุงรสเพิ่มเข้าไปอีก เช่น ปรุงก๋วยเตี๋ยวให้ออกรสเข้มข้นจัดจ้าน หรือราดน้ำปลาพริกลงในข้าวสวย แม้กระทั่งอาหารว่างที่เด็กและผู้ใหญ่นิยมกิน อาทิ มันฝรั่งทอดกรอบ ถั่วอบ ที่ผลิตออกมาจำหน่าย ล้วนทำมาออกแล้วมีรสเค็ม โซเดียมสูง เหตุเพราะพฤติกรรมผู้บริโภคชอบกินรสเค็ม

ถ้ากินเค็มไปนานๆ ความดันโลหิตก็จะสูงอย่างต่อเนื่อง จึงเสี่ยงป่วยเป็นโรคไต ซึ่งถ้ามีปัญหาสุขภาพนี้เกิดขึ้นแล้ว ถ้าโชคร้ายไตเสื่อมเร็ว จนทำงานได้ต่ำกว่าร้อยละ 60 จะเข้าข่ายโรคไตเรื้อรัง บั่นทอนคุณภาพชีวิต เพราะผู้ป่วยระยะนี้ต้องเข้ารับการล้างช่องท้อง บ้างก็ต้องฟอกเลือด หรืออาจต้องเปลี่ยนไต ซึ่งมีค่าใช้จ่ายโดยรวมสูง

เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงความดันโลหิตสูงซึ่งจะนำไปสู่โรคไต และโรคอื่นๆ ผศ.นพ.สุรศักดิ์ แนะลดการบริโภคเค็ม เลือกใช้เครื่องปรุงที่ปรับลดปริมาณโซเดียมให้น้อยลง ลดการกินอาหารที่ต้องเข้าไมโครเวฟก่อนกิน เนื่องจากมักใช้ความเค็มในการถนอมอาหาร ตลอดจนเบามือเมื่อจะปรุงเพิ่ม โดยเฉพาะคนสูงวัย ผู้ป่วยโรคหัวใจ สภาพร่างกายจะไวต่อเกลือ หากกินเค็ม ความดันโลหิตก็จะเพิ่มขึ้นได้ง่าย

ด้าน ศ.นพ.เกรียง เผยเพิ่มเติมว่า ถ้าเราลดเค็มได้ 1 กรัม ค่าความดันโลหิตตัวบนจะลดลง 1-3 มม.ปรอท หรือถ้าลดเค็มลง 2 กรัม จะช่วยลดค่าความดันโลหิตตัวบนได้ถึง 6-10 มม.ปรอท ดังนั้นการลดกินเค็มลงจึงมีส่วนช่วยลดความดันโลหิตลงได้นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ความมุ่งหวังลดการกินเค็มมิได้มีแค่ในบ้านเรา แม้แต่องค์การอนามัยโลกก็ยังให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยตั้งเป้าลดกินเค็มไว้ที่ร้อยละ 3 ต่อปี ดังนั้นมาเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรม ลดการกินเค็มตั้งแต่วันนี้ ซึ่งถือเป็นฤกษ์ดี เพราะ 11-17 มีนาคม 2556 เป็นช่วงที่สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยร่วมกับราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกาศให้เป็น ‘สัปดาห์วันไตโลก ลดเค็มลงครึ่งหนึ่ง’

‘นาวาอากาศเอก นพ.อนุตตร จิตตินันทน์’ นายกสมาคมโรคไตฯ ชวนผู้ที่สนใจร่วมงานวันไตโลก ซึ่งแต่เดิมต้องเป็นวันพฤหัสบดีที่ 2 ของเดือนมีนาคม ทว่าเพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้าร่วมในช่วงวันหยุด ปีนี้จึงเลือกจัดงานในวันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม ระหว่าง 10.00-21.00 น. บริเวณโซนอีเดน ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กิจกรรมภายในงานมีทั้งนิทรรศการให้ความรู้เรื่องโรคไต การให้ข้อมูลเกี่ยวกับโภชนการอาหารลดเค็ม การตรวจคัดกรองโรคไต การเสวนาทางการแพทย์ และการสาธิตปรุงอาหารอ่อนเค็มแต่ยังอร่อย ดร.ยิ่งศักดิ์ จงเลิศเจษฎาวงศ์ เชฟชื่อดังพร้อมการแสดงดนตรีจากศิลปินดารา รายละเอียดกิจกรรมเพิ่มเติมดูได้ที่ www.nephrothai.org และ www.lowsaltthailand.org

ทีมเดลินิวส์ออนไลน์

 

ที่มา:  เดลินิวส์ 11 มีนาคม 2556

Related Article :

ลดเค็มครึ่งหนึ่ง

dailynews130310_001ใครที่กินอาหารรสชาติเค็มจัด อาจเสี่ยงเป็น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไต และอัมพฤกษ์ อัมพาต ด้วยเหตุนี้กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ร่วมกับสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันไตโลก ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 14 มี.ค. โดยจัด “สัปดาห์วันไตโลก ลดเค็มครึ่งหนึ่ง” ในโรงพยาบาลทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 11-17 มี.ค.นี้ เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในการถนอมไตไม่ให้เสียเร็ว ลดการเติมเครื่องปรุงรสเค็มในอาหารให้น้อยลงกว่าที่เคยใช้

นพ.โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า คนไทยมีแนวโน้มป่วยเป็นโรคไตเพิ่มขึ้น สาเหตุสำคัญของโรคไตเกิดจากเบาหวานและความดันโลหิตสูง นอกจากนี้อาจมีสาเหตุจากโรคนิ่วในไต ติดเชื้อที่ไต การกินยาแก้ปวดเป็นเวลานาน ๆ จากข้อมูลล่าสุดพบคนไทยป่วยเป็นโรคไตประมาณ 8 ล้านคน หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจเกิดโรคแทรกซ้อนถึงขั้นเสียชีวิต ต้องฟอกไตยืดชีวิต รอการเปลี่ยนไตใหม่

หน้าที่สำคัญของไตคือ ควบคุมระดับโซเดียมในร่างกาย โซเดียมจะช่วยรักษาสมดุลของเหลวในร่างกาย ทำให้การทำงานของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อเป็นปกติ โซเดียมที่ร่างกายได้รับส่วนใหญ่มาจากอาหารที่บริโภค เช่น น้ำปลา ซอสปรุงรส ผงชูรส ผงปรุงรส  ใน  1 วัน ร่างกายต้องการไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม หรือเท่ากับเกลือ 1 ช้อนชา แต่จากข้อมูลพบว่า คนไทยบริโภคเกลือหรือโซเดียมเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดถึง 2 เท่า

การกินเค็มจัดทำให้ไตทำงานหนักในการขับโซเดียมส่วนเกินออกทางปัสสาวะ เพื่อรักษาสมดุลของร่างกาย หากขับออกได้ไม่หมดโซเดียมก็จะคั่งและเป็นตัวดึงน้ำไว้ในร่างกาย ทำให้มีปริมาณของเหลวไหลเวียนในร่างกายมากผิดปกติ เพิ่มแรงดันในหลอดเลือดให้สูงขึ้น ส่งผลให้หัวใจทำงานหนักขึ้น เกิดปัญหาหลอดเลือดทั้งขนาดใหญ่และเล็กที่ไปเลี้ยงทั่วร่างกายปรับตัวหนาและแข็งตามมา โดยเฉพาะที่ไตมีผลกระทบมาก เนื่องจากมีเส้นเลือดฝอยเล็ก ๆ จำนวนมากทำหน้าที่กรองของเสียออกจากเลือด ไม่สามารถขับของเสียออกได้หมด เกิดการอักเสบของเส้นเลือด เร่งให้เกิดการเสื่อมสภาพเร็วขึ้นกว่าปกติ หากยังกินเค็มต่อเนื่อง ภายใน 5–10 ปี หลอดเลือดในไตจะเสื่อมสภาพอย่างถาวรทำให้เป็นไตวายเรื้อรัง รักษาให้กลับมาเหมือนเดิมไม่ได้ ต้องเปลี่ยนไตใหม่ จึงต้องเร่งรณรงค์ให้ประชาชนลดการกินเค็มลงกว่าเดิมครึ่งหนึ่ง เป็นการถนอมไต ป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับไตในระยะยาว

ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม  กล่าวว่า การกินอาหารเค็มเป็นครั้งคราวคงไม่เป็นอะไร แต่การกินอาหารเค็มจัด ทำให้เกิดการคั่งของน้ำและเกลือ ส่งผลให้ไตทำงานหนักขึ้น เพื่อกรองเกลือและน้ำส่วนเกิน ผลที่ตามมาคือ ทำให้เป็นโรคไตวายเรื้อรัง การกินอาหารเค็มจัดทำให้ความดันโลหิตสูงมีโอกาสเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด หากไม่ได้รับการรักษาอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจขาดเลือด หัวใจวาย เสียชีวิต เป็นอัมพฤกษ์อัมพาต

หลายคนติดรสชาติเค็ม และไม่รู้ว่าตัวเองกินเค็ม ดังนั้นควรลดเค็มลงครึ่งหนึ่ง เคยปรุงรสอาหารด้วยน้ำปลา 2 ช้อน ก็ลดลงเหลือ 1 ช้อน ใน 1 วันไม่ควรกินน้ำปลาเกิน 3 ช้อนชา หรือมื้อละ 1 ช้อนชา  กินเหลือไม่เกินวันละ 5 กรัม ควรเปลี่ยนนิสัยในการกินด้วยการชิมก่อนปรุง ไม่ใช่ว่าปรุงก่อนชิม หลีกเลี่ยงอาหารรสชาติเค็มจัด เช่น อาหารหมักดอง อาหารที่ใช้เกลือในการถนอมอาหาร เช่น ปลาเค็ม ปลาร้า  กะปิ

จากข้อมูลของสหรัฐพบว่า หากลดบริโภคเกลือลง 30% ต่อวันจะลดความดันโลหิตได้ 5-10 มิลลิเมตรปรอท เท่ากับลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ และถ้าประชากรทั้งประเทศลดการบริโภคเกลือลง 30% จะลดจำนวนผู้ป่วยได้มาก เช่น ลดจำนวนผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดเหลือ 60,000-100,000 คนต่อปี ลดจำนวนผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาตเหลือ 30,000-60,000 คนต่อปี  และลดอัตราการตาย 40,000-90,000 คนต่อปี และยังสามารถลดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้นับหมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี  ดังนั้นคนไทยควรลดการบริโภคอาหารเค็มจัด โดยเฉพาะซีอิ๊ว น้ำปลา กะปิ ผงชูรส

นพ.อนุตตร จิตตินันทน์ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย แนะนำวิธีป้องกันโรคไต คือ
1. ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงควรไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
2. พยายามควบคุมเบาหวานและความดันให้ดี
3. หลีกเลี่ยงการกินอาหารรสชาติเค็มจัด โดยลดเค็มลงครึ่งหนึ่ง
4. หลีกเลี่ยงการกินยาแก้ปวดโดยไม่จำเป็น ไม่ควรซื้อยากินเอง ไม่ว่ายาชุด ยาหม้อ การกินยาติดต่อกันเป็นเวลานานมีผลต่อไตโดยตรง และ
5. คนที่เป็นโรคอ้วน มีโอกาสเป็นโรคไตมากขึ้น ดังนั้นควรควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม

ด้าน ดร.ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ผอ.สำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า อย.บังคับให้อาหารกรุบกรอบ 5 ชนิด คือ มันฝรั่งทอดหรืออบกรอบ ข้าวโพดคั่วทอดหรืออบกรอบ ข้าวเกรียบหรืออาหารขบเคี้ยวชนิดอบพอง ขนมปังกรอบ แครกเกอร์หรือบิสกิต และเวเฟอร์สอดไส้  ต้องแสดงฉลากโภชนาการแบบจีดีเอด้านหน้าซองมองเห็นได้ชัดเจน  โดยแสดงค่าพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม  หลังจากบังคับใช้มา 1 ปี ตอนนี้ขยายไปยังขนมกรุบกรอบทุกชนิด รวมถึงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซุปต่าง ๆ จากเดิมมีผู้ประกอบการอยู่ในข่ายกว่า 1,000 ราย ตอนนี้คาดว่าจะกระทบผู้ประกอบการประมาณ 4,000-5,000 ราย อย่างไรก็ตามได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการปรับสูตรอาหารทางเลือก เช่น อาหารเค็มน้อย หวานน้อย สำหรับผู้บริโภคด้วย.

นวพรรษ บุญชาญ : รายงาน

ที่มา:  เดลินิวส์ 10 มีนาคม 2556