ผ่าตัดตับผ่านทางกล้องงานเด่นของ รพ.ราชวิถี

dailynews130331_002การผ่าตัดผ่านทางกล้องเป็นนวัตกรรมของการผ่าตัดที่ได้ทำกันมานานปีแล้ว เป็นเทคโนโลยีที่ได้พัฒนาก้าวออกไป ทำให้เกิดผลดีกับคนไข้ขึ้นมาก การบาดเจ็บต่อร่างกายลดน้อยลง ไม่ต้องอยู่โรงพยาบาลนานวัน ลดเวลาและค่าใช้จ่ายไปด้วย แต่ละปี แต่ละหน่วยงานที่ทำเรื่องนี้ก็มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงล้วนเป็นประโยชน์กับคนไข้มาตลอด

การผ่าตัดทางกล้องมีที่ใช้แทบทุกแผนก ทางศัลยกรรม จะเป็นทางช่องท้อง ทางเดินอาหาร ตั้งแต่ปากจนถึงทวารหนัก และอวัยวะภายในช่องท้องด้วย รวมทั้งในลำไส้และนอกลำไส้ ทางนรีเวช จะเป็นเรื่องของอวัยวะเพศสตรีโดยเฉพาะมดลูก ทางออโธปิดิกส์ ทั้งกระดูกและข้อ ที่เด่นเวลานี้มุ่งไปทางกระดูกสันหลังโดยเฉพาะหมอนรองกระดูก ทางโสต ศอ นาสิก  โรคของโพรงจมูก คอ กล่องเสียง และหลังโพรงจมูก ทางอายุรกรรม เรื่องทางเดินอาหาร ทางเดินหายใจ กล้องส่องดูเยื่อหุ้มปอด หลอดลมไล่ตามจนถึงในเนื้อปอดและอื่น ๆ อีกทุกแผนก

สำหรับทางศัลยกรรมเกี่ยวกับโรคตับ เป็นอีกด้านหนึ่งที่นำกล้องมาใช้โดยผ่าตัดผ่านกล้อง แต่ก่อนเวลาจะให้การรักษาด้านผ่าตัดก็จะเปิดผ่าตัดเป็นแผลยาวทางหน้าท้อง มีการบาดเจ็บต่อร่างกายมาก ต้องอยู่โรงพยาบาลหลายวัน การผ่าตัดทางกล้องได้มาช่วยให้การบาดเจ็บร่างกายลดลง คุณภาพชีวิตของคนไข้ดีขึ้น

โรคของตับที่จะผ่าตัดรักษา ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของเนื้องอกของตับ อาจเป็นก้อนเนื้องอกธรรมดาและเนื้องอกที่เป็นมะเร็ง อาจเกิดขึ้นที่ตับโดยตรงหรือกระจายมาจากอวัยวะอื่น ที่พบบ่อยคือมาจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ ปอด เต้านม ต่อมลูกหมาก ถ้าได้ตัดตับรวมทั้งก้อนมะเร็งออกไป เป็นทางหนึ่งที่จะทำให้คนไข้มีอายุยืนยาวต่อไปอีก เป็นการตัดตับออกเพียงบางส่วนเท่านั้น มิใช่ตัดออกทั้งหมด หรือบางครั้งอาจตัดตับเพียงบางส่วนออกไปดู เพื่อดูผลทางพยาธิ จะได้วินิจฉัยโรคได้ถูกต้อง

มะเร็งอีกแบบหนึ่งคือเกิดที่ท่อน้ำดีในตับ เป็นผลมาจากผู้ชอบกินปลาดิบ ปลาเจ่า ปลาร้า ที่มีพยาธิแฝงอยู่ พอกินเข้าไปพยาธิจะค่อยคืบคลานเข้าไปอยู่ในท่อน้ำดี อุดตัน ทำให้ตัวเหลือง ลงท้ายกลายเป็นมะเร็งท่อน้ำดีแล้วลุกลามไปตับ ยังพบมากอยู่ทางภาคอีสาน

ทำไมโรคตับจึงรุนแรง ตับเป็นอวัยวะค่อนข้างใหญ่ มีหน้าที่หลายอย่าง หลัก ๆ คือทำลายของเสีย สร้างสิ่งจำเป็นต่อร่างกายหลายอย่าง เวลาตับเสียเพียงส่วนหนึ่งซึ่งเป็นส่วนน้อย จะไม่มีอาการอะไร ส่วนใหญ่ของตับสามารถทำงานชดเชยให้ร่างกายอยู่เป็นปกติได้ แต่พอมะเร็งลุกลามมากเข้า จนเซลล์ตับเสื่อมเสียหน้าที่ ร่างกายจะแสดงอาการออกมา อ่อนเพลีย ไม่มีแรง เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง ตัวเหลือง พอมาถึงจุดนี้ดูโรคจะลุกลามไปมากแล้ว การรักษาก็ยากขึ้นไปด้วย จึงควรสังเกตร่างกายไว้ให้ดี หากมีอะไรผิดสังเกตต้องรีบพบแพทย์ทันที เพื่อให้ได้รู้ว่าเป็นอะไร จะได้รีบรักษาแต่เริ่มแรก

นพ.สอาด ตรีพงษ์กรุณา ศัลยแพทย์ทางโรคตับคู่กับ นพ.สมบูรณ์ ทรัพย์วงศ์เจริญ แห่งแผนกศัลยกรรม รพ.ราชวิถี รักษาการ ผอ.คือ นพ.อุดม เชาวรินทร์ ที่ได้สนับสนุนมาตลอด เล่าให้ฟังว่า การผ่าตัดตับผ่านทางกล้อง รพ.ราชวิถี ได้ทำมาตั้งแต่ปี 2549 ราว 8 ปีแล้ว ถึงวันนี้ทำไป 87 ราย ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของมะเร็งตับ

งานเด่นอย่างหนึ่งของ รพ.ราชวิถี เป็นการผ่าตัดจำนวนค่อนข้างมาก ด้วยประสบการณ์ความชำนาญของแพทย์ที่สนใจด้านนี้จะมีการส่งคนไข้มาให้มีทำเรื่อย ๆ การรักษาแบบนี้มิใช่เป็นการรักษาให้หายขาด เป็นเพียงยืดชีวิตให้ยืนยาวออกไปอีก พร้อมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โรคมะเร็งก็ดำเนินต่อไปตามวิถีทางของโรคต่อไป มะเร็งของตับโดยทั่วไปคนมักจะพูดกันว่าชีวิตจะไม่ค่อยยืนยาว อาจอยู่ได้เพียง 6 เดือนหรือ 1 ปี ภาพลักษณ์อันนี้ก็ได้เปลี่ยนไปหมดแล้ว

เมื่อเราได้รู้ถึงโรคตับมักจะมาถึงแพทย์เมื่อเป็นมาก จึงต้องหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกาย กลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ พวกปลาน้ำจืดดิบ ที่มีเกล็ด แอลกอฮอล์ โรคตับอักเสบเรื้อรังทั้งหลาย ต้องเข้มงวดกวดขันดูแลให้ดี ติดต่อกับแพทย์ประจำสม่ำเสมอ เพื่อให้สุขภาพดีเป็นปกติเข้าไว้ หรือหากมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรจะได้รู้และรีบแก้ไขเสียแต่เริ่มแรก

การผ่าตัดตับผ่านทางกล้อง เป็นทางเลือกแบบหนึ่งของแพทย์ที่ชอบทำแบบนี้ รพ.แห่งอื่นเขาอาจไม่ชอบทำ เลยทำให้ รพ.ราชวิถีดูเสมือนเป็นโรงพยาบาลที่ทำมาก ส่วนใหญ่จะเป็นการยืดชีวิตของมะเร็งให้ยืนยาวออกไปพร้อมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ปัจจุบันการเงินที่จะสนับสนุนงานนี้ยังขาดอยู่มาก ท่านผู้ใจบุญกุศลที่มองเห็นความสำคัญอยากให้ช่วยเป็นกำลังใจและช่วยบริจาคให้ได้ซื้ออุปกรณ์การแพทย์ต่าง ๆ ที่ขาด กรุณาติดต่อ นพ.สอาด ตรีพงษ์กรุณา โทร. 08-9108-4575.

นพ.สุวิทย์ เกียรติเสวี
suvit.kiatisevi.gmail.com

ที่มา : เดลินิวส์  31 มีนาคม 2556

“เมื่อตับมีก้อน…อย่านอนใจ”

dailynews121230_001ถ้าถามว่าอวัยวะใดในร่างกายที่มีน้ำหนักมากที่สุด ผมเชื่อว่าหลายคนคงตอบไม่ถูกเป็นแน่…คำตอบก็คือ “ตับ” ครับ   เมื่อเรารับประทานอาหารไป อาหารต่าง ๆ ก็จะไปสู่ระบบทางเดินอาหารรวมถึงตับของเราด้วย ซึ่งตับจะทำหน้าที่คล้ายโรงงานของร่างกายคือ ปรับเปลี่ยนสารอาหารต่าง ๆ ให้เหมาะสมต่อการนำไปใช้งานแล้วส่งไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย รวมถึงทำหน้าที่ขับของเสียในร่างกายอีกด้วย…

แต่วันดีคืนดี ตับของเราเกิดมีก้อนแปลกประหลาดโผล่ขึ้นมาล่ะจะทำอย่างไร? อย่าเพิ่งตกใจครับ เพราะไม่ได้มีเพียงก้อนเนื้อร้ายเท่านั้น ก้อนเนื้อดี ๆ ก็มีเยอะครับ และปัจจุบันมีเทคโนโลยีมากมายที่ทำให้เราสามารถกำจัดก้อนเนื้อร้ายเหล่านั้นออกไปได้ครับ แต่ความสำคัญอยู่ตรงที่ว่าเราจะป้องกันไม่ให้เกิดก้อนเนื้อเหล่านั้นได้อย่างไร? วันนี้ผมมีคำตอบมาให้ทุกท่านครับ

ผศ.นพ.ดร.ปิยะวัฒน์  โกมลมิศร์ หัวหน้าสาขาทางเดินอาหารและตับ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับตับว่า “ตับ เป็นอวัยวะที่มีน้ำหนักมากที่สุดในร่างกายของคนเรา ทำหน้าที่คล้ายโรงงานของร่างกาย ไม่ว่าเราจะทานอาหารอะไรเข้าไป พอย่อยเสร็จก็ผ่านเข้าไปในตับ ตับก็มีหน้าที่ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมแล้วส่งไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ถ้าไม่มีตับอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกายก็ไม่สามารถนำสารอาหารไปใช้ประโยชน์ได้ คำว่าปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม เช่น ย่อยเนื้อสัตว์ที่กินเข้าไปให้กลายเป็นกรดอะมิโน แล้วสร้างเป็นโปรตีนชนิดใหม่ขึ้นมา นอกจากนั้นเมื่อเกิดของเสียขึ้นในร่างกาย ของเสียเหล่านั้นก็วนกลับมาที่ตับ ตับก็จะมีหน้าที่ขับของเสียทิ้งออกไปทางท่อน้ำดี  ซึ่งในหน้าที่อันมากมายของตับนี้ก็มีโรคร้ายต่าง ๆ เกิดขึ้นกับตับได้มากมายเช่นเดียวกัน”

โรคที่เกิดขึ้นกับตับ เช่น ตับอักเสบ, เกิดก้อนในตับ, ท่อน้ำดีในตับเกิดการอุดตัน และไขมันเกาะที่ตับ ซึ่งเมื่อก่อนคิดกันว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร คงเหมือนกับไขมันที่เกาะอยู่ตามอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย แต่เมื่อประมาณ 5 ปีที่ผ่านมาเราพบว่า การที่มีไขมันเกาะอยู่ที่ตับมากเกินไป อาจส่งผลให้เกิดตับอักเสบหรือตับแข็งได้ และยังสามารถเกิดเป็นมะเร็งตับได้อีกด้วย

อีกหนึ่งอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับตับก็คือ “ตับวาย” ถามว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร? เรื่องนี้คุณหมอปิยะวัฒน์ให้คำตอบว่า อาการตับวายส่วนใหญ่เกิดเนื่องจากการอักเสบของตับ การรับประทานยาที่ผิดปกติซึ่งจะไปทำลายตับ หรือการติดเชื้อไวรัสทำให้ตับอักเสบรุนแรง ตับหยุดทำงานทันที อาการเช่นนี้เรียกว่า ตับวาย ซึ่งถ้าแพทย์สามารถวินิจฉัยได้ว่ามีอาการตับวายตั้งแต่เริ่มต้น สามารถหาสาเหตุได้ว่าตับวายเกิดจากอะไร ก็มียาที่สามารถช่วยประวิงเวลาให้ตับฟื้นกลับมาได้

นอกจากนี้ยังมี โรคตับที่เกี่ยวเนื่องกับพันธุกรรม ซึ่งคุณหมอปิยะวัฒน์บอกว่าพบได้ไม่บ่อยนักในเมืองไทย เช่น บางคนเกิดมาด้วยภาวะที่ร่างกายไม่สามารถขับธาตุทองแดงทิ้งไปจากร่างกายได้ ธาตุทองแดงก็สะสมอยู่ในตับ วันดีคืนดีตับก็เกิดอักเสบเรื้อรังขึ้นมาได้ เกิดตับแข็งและเสียชีวิตในที่สุด หรือบางคนรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กเยอะ พอดูดซึมเข้าไปในตับแล้วขับไม่ออก ก็เกิดตับแข็งได้เช่นเดียวกัน…ส่วนโรคตับที่พบได้บ่อย แต่จริง ๆ แล้วในคนไทยมักจะไม่เรียกว่าเป็นโรคทางพันธุกรรม คือโรคไวรัสตับอักเสบบี เพราะมักจะพบว่าแม่หรือญาติทางฝ่ายแม่เป็นพาหะของ ไวรัสตับอักเสบบี ลูกก็จะได้รับเชื้อดังกล่าวผ่านทางเลือดมาตั้งแต่เกิด และมาแสดงอาการเมื่ออายุ 30-40 ปีก็เป็นได้ เพราะฉะนั้นคุณสุภาพสตรีทั้งหลายที่กำลังคิดจะมีบุตร ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจเลือดครับ เพื่อเราจะได้ทราบว่าตนเองเป็นพาหะของโรคไวรัสตับอักเสบบีหรือไม่อย่างไร ร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรงอย่างไร? อย่าวิตกไปเองครับ ให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยจะดีกว่า

หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าปัจจุบันมีวิธีการ “ล้างตับ” เกิดขึ้น ซึ่งก็อาศัยหลักการเดียวกับการล้างไต แต่จะใช้กับคนไข้เฉพาะบางกรณีเท่านั้น อีกทั้งประสิทธิภาพไม่ดีเทียบเท่ากับเครื่องมือล้างไต ทำได้เพียงแค่ล้างสารพิษและคราบน้ำดีเหลือง ๆ ที่คั่งค้างออกไปได้ แต่เราไม่สามารถทำให้ตับกลับมาทำงานได้ดีเท่าที่ควร ถึงจุดหนึ่งแพทย์ก็ยังคงต้องผ่าตัดเอาตับที่เสียออกไปแล้วใส่ตับใหม่เข้าไปทำหน้าที่แทน ซึ่งเป็นตับที่ได้จากการบริจาคของผู้ใจบุญ…ฉะนั้นก่อนที่จะต้องถูกผ่าตัดตับทิ้งไปทั้งก้อน ทุกคนควรจะทราบว่า “ตับเป็นอวัยวะเพียงอย่างเดียวในร่างกายที่สามารถงอกได้คล้ายกับหางจิ้งจก” คือเมื่อตับถูกตัดทิ้งไปบางส่วนแล้วมันสามารถจะงอกกลับมาดังเดิมได้ แต่ทั้งนี้ต้องอาศัยระยะเวลาและการดูแลตับที่ถูกต้องเหมาะสมเพราะถ้าสาเหตุที่ไปทำลายตับยังคงอยู่ ก็เป็นเรื่องยากที่ตับจะงอกใหม่ได้ ทุกคนคงเคยได้ยินคำว่าตับแข็ง เมื่อก่อนเข้าใจว่าเป็นตับแข็งแล้วไม่มีทางหาย ไม่มีทางฟื้นกลับมาได้ แต่ปัจจุบันต้องบอกว่า “ตับแข็งหายได้…ฟื้นกลับมาได้เพราะตับงอกได้” แต่เราต้องกำจัดสาเหตุของตับอักเสบหรือตับแข็งอันนั้นก่อน หาสาเหตุของโรคเสร็จก็ให้การรักษา เมื่อโรคหยุด ตับก็หยุดอักเสบ เนื้อตับดี ตับก็สามารถงอกขึ้นมาใหม่ได้ครับ

กลับมาที่เรื่องก้อนในตับที่ผมได้เกริ่นไว้ตั้งแต่ตอนต้นว่า ก้อนในตับมีทั้งก้อนที่ดีและก้อนที่ไม่ดี ซึ่งเรื่องนี้คุณหมอปิยะวัฒน์อธิบายว่า แรกเริ่มที่ก้อนในตับมีขนาดประมาณ 1-3 ซม. เรามักจะไม่ทราบ เนื่องจากไม่มีอาการแสดงใด ๆ แต่เมื่อก้อนดังกล่าวมีขนาด 10–15 ซม. ขึ้นไป คนไข้จะมีอาการจุก ๆ แน่น ๆ เป็นเหตุให้ไปพบแพทย์ จึงตรวจพบว่ามีก้อนเกิดขึ้นในตับ ซึ่งถ้าเป็นก้อนเนื้อร้าย การค้นพบในขั้นนี้นับว่ายากต่อการเยียวยารักษาแล้ว ทั้งนี้การตรวจสุขภาพประจำปีไม่สามารถบอกได้ว่าเรามีก้อนในตับหรือไม่  ต้องเพิ่มการตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องด้วย จึงจะค้นพบก้อนในตับ

คุณหมอปิยะวัฒน์ให้ความกระจ่างเกี่ยวกับก้อนในตับไว้ว่า

“ก้อนในตับชนิดดีหรือชนิดที่ไม่เป็นอันตราย อย่างแรกเลยก็คือ “ถุงน้ำในตับ” ซึ่งพบได้บ่อยมาก และบ่อยครั้งที่คนไข้จะวิตกกังวลว่าตนเองจะเป็นมะเร็ง หลังได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่า มีถุงน้ำในตับ ซึ่งจริง ๆ แล้วผมอยากให้สบายใจได้ว่าถุงน้ำนั้นจะไม่เจริญไปเป็นมะเร็ง แม้มันจะมีขนาดโตขึ้นได้แต่จะโตขึ้นอย่างช้า ๆ และไม่ก่อปัญหา เพียงแต่ทุกครั้งที่ไปพบแพทย์ ก็ให้แพทย์ตรวจเช็กดูว่าถุงน้ำดังกล่าวนั้นยังอยู่ดีและไม่แปรเปลี่ยนไปเป็นก้อนอย่างอื่นดังที่เรากังวล เท่านี้เราก็สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับเจ้าถุงน้ำในตับได้อย่างสบายใจแล้วล่ะครับ”

การอัลตราซาวด์ตับ นอกจากจะเห็นถุงน้ำในตับแล้ว สิ่งที่เราพบเห็นได้บ่อยอีกอย่างหนึ่งคือ กลุ่มก้อนขาว ๆ ในตับ ซึ่งนั่นคือ ก้อนกลุ่มเลือดในตับ เนื่องจากเส้นเลือดไปพันกันอยู่ตรงนั้น เรียกว่า ฮีแมงจิโอมา (hemangioma) แบบนี้ก็ปลอดภัยเช่นเดียวกัน และอีกหนึ่งก้อนในตับที่พบบ่อยในคุณสุภาพสตรี เรียกว่า “FNH (Focal Nodular Hyperplasia)” ก้อนเหล่านี้โตได้แต่โตช้าและปลอดภัย แต่ส่วนใหญ่นอกจากการอัลตราซาวด์แล้วแพทย์ต้องตรวจพิสูจน์ด้วยการเอ็มอาร์ไอ เพื่อให้ทราบแน่ชัดว่าก้อนดังกล่าวไม่ใช่ก้อนมะเร็งจริง ๆ

ข้อมูลจากรายการ “สุขภาพดี 4 วัย” ออกอากาศวันที่ 31 กรกฎาคม 2555 เรื่อง “เมื่อตับมีก้อน” เวลา 15.00-16.00 น. ทางเดลินิวส์ทีวี.

นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์

ที่มา : เดลินิวส์ 30 ธันวาคม 2555

.

Related Link:

.

dailynews130106_002

“เมื่อตับมีก้อน…อย่านอนใจ” ตอนที่ 2 – ชีวิตและสุขภาพ

ก้อนในตับอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า อะดรีโนม่า (hepatocellular adenoma) พวกนี้มีสิทธิโตและเป็นอันตรายได้ เพราะฉะนั้นเมื่อแพทย์ตรวจพบแล้วว่าเป็นก้อนชนิดดังกล่าว ต้องมีการตรวจติดตามอย่างใกล้ชิดครับ และเมื่อสงสัยว่าก้อนที่ตรวจพบเป็นมิตรหรือไม่ แพทย์จะใช้เข็มเล็ก ๆ เจาะเข้าไปที่ก้อนนั้นและดูดมาตรวจดูว่าคืออะไร หรือบางครั้งการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือ MRI ก็สามารถบอกได้ครับ

“ในคนไข้บางคนแม้จะไม่ได้ทำการเจาะก้อนมาตรวจก็สามารถบอกได้ว่าก้อนที่เกิดขึ้นในตับนั้นเป็นก้อนที่ดีหรือไม่ดี ยกตัวอย่างเช่น คนที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งตับ หรือตัวคนไข้เองมีโรคตับซ่อนอยู่ ทั้งไขมันในตับเรื้อรัง ดื่มสุรามาก เป็นไวรัสตับอักเสบบี หรือซี หรือมีแนวโน้มที่จะเกิดตับแข็ง คนเหล่านี้มีสิทธิที่จะพบก้อนเนื้อร้ายในตับได้ เมื่อแพทย์เจอคนไข้กรณีแบบนั้น แพทย์จะมีวิธีการตรวจต่อในเบื้องต้น โดยไม่ต้องไปเจาะก้อนเนื้อมาตรวจ นั่นคือ ตรวจผลเลือด เพื่อดูว่ามีไวรัสบี, ซีหรือไม่ จากนั้นจะตรวจค่ามะเร็งในเลือด 3-4 อย่าง และเมื่อตรวจเสร็จแล้วมักจะพบว่าก้อนดังกล่าวแปรผลตรงกับมะเร็งได้ 2-3 ชนิด เช่น ในคนที่เป็นโรคตับแข็งมักจะเกิดก้อนขึ้นมา เมื่อมีขนาดเล็ก ๆ คนไข้จะไม่ทราบว่าตนเองมีก้อนในตับ จะทราบเมื่อตนเองมีอาการน้ำหนักลดจึงไปพบแพทย์ ก้อนชนิดนี้เรียกว่า “เฮ็ปปะโตม่า

การรักษามะเร็งในตับ ปัจจุบันมีหลายวิธีด้วยกัน แต่การจะเลือกใช้การรักษาด้วยวิธีใดนั้น ขึ้นอยู่กับขนาดของก้อนมะเร็งที่พบเป็นหลัก เช่น ก้อนมะเร็งที่มีขนาดเล็กมาก ๆ สามารถรักษาได้โดยการใช้คลื่นความร้อนเข้าไปเผาก้อนเนื้อร้ายนั้น ก้อนเนื้อนั้นก็จะไหม้ไป ซึ่งวิธีนี้เทียบเท่ากับการผ่าตัด สามารถหายขาดได้

วิธีต่อมาคือการรักษาที่เรียกว่าการ “ใส่สายสวนตับ” ซึ่งคล้าย ๆ กับการใส่สายสวนหัวใจ โดยสายที่ใส่เข้าไปจะ ปล่อยยาเคมีเข้าไปที่ก้อนเนื้อร้ายในตับ ยาเคมีก็จะเข้าไปอุดที่ก้อนเนื้อและไปอุดไม่ให้เลือดเข้าไปเลี้ยงก้อนเนื้อนั้น ก้อนเนื้อก็จะฝ่อลงไป บางครั้งเมื่อก้อนเนื้อฝ่อลงไปแล้วเราก็ สามารถเข้าไปตัดทิ้งได้ด้วย ซึ่งวิธีการนี้ก็เหมาะกับก้อนเนื้อที่มีขนาดเล็กเช่นเดียวกัน

และ อีกหนึ่งวิธีก็คือการตัดตับทิ้งเฉพาะส่วนที่เป็นมะเร็ง คือถ้าก้อนมะเร็งนั้นอยู่ในตำแหน่งที่สามารถตัดได้ เช่น อยู่บนกลีบขวาหรือกลีบซ้ายของตับ ซึ่งเมื่อเราตัดทิ้งไปแล้วตับก็สามารถงอกกลับมาใหม่ได้ครับ แต่ถ้าถามว่างอกได้เร็วแค่ไหนอย่างไร อันนี้ก็ต้องดูว่าถ้าเราไม่มีโรคที่ตับเลยจะใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือนเนื้อตับก็จะงอกมาแทน อาจจะไม่ถึง 100% แต่ก็เรียกว่า 80%…แต่ท้ายที่สุด โรคมะเร็งตับนี้มักจะไปเกิดกับคนที่เป็นโรคตับแข็ง แม้จะรักษาด้วยวิธีการที่กล่าวมาข้างต้นไม่ได้ แต่เราก็ยังสามารถผ่าตัดเปลี่ยนตับได้ คือยกตับทิ้งทั้งตับแล้วใส่ตับใหม่เข้าไปแทน นอกจากนี้ปัจจุบันยังมียาชนิดรับประทาน ที่เข้าไปช่วยยับยั้งไม่ให้ก้อนมะเร็งนั้นแบ่งตัวและยุบตัวลงได้ด้วย

ที่กล่าวไปข้างต้นจะเป็นเรื่องของมะเร็งในเนื้อตับ แต่ยังมีมะเร็งที่ยังไม่ได้กล่าวถึงคือ “มะเร็งท่อน้ำดี” ซึ่ง มักพบในคนที่ชอบรับประทานปลาดิบหรือปลาร้า แล้วเกิดพยาธิใบไม้ในตับ ในที่สุดก็มีเนื้องอกเกิดขึ้นมาในท่อน้ำดี วิธีการรักษามะเร็งท่อน้ำดีก็คือ ถ้ามาในระยะต้นเราสามารถตัดทิ้งได้ หรือถ้ามีการอุดตันในท่อน้ำดีมาก ๆ เราสามารถใส่ท่อช่วยระบายได้ ซึ่งช่วยยืดอายุได้แต่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

มะเร็งตับอีกชนิดหนึ่งคือ เป็นมะเร็งที่กระจายมาจากอวัยวะอื่น เช่น เป็นมะเร็งที่ลำไส้ใหญ่ ในที่สุดกระจายมาที่ตับ วิธีการรักษาขึ้นกับว่ากระจายมาจากอวัยวะไหนรักษาได้หรือไม่ อาจจะต้องไปรักษาที่ต้นตอเสียก่อน

อย่างที่ผมย้ำอยู่เสมอว่า ไม่ว่าจะโรคอะไรก็ตาม ถ้าเราตรวจพบตั้งแต่ระยะแรก ย่อมส่งผลให้การรักษามีประสิทธิผลดี ซึ่งการรักษาก้อนเนื้อนี้ก็เช่นเดียวกัน คือถ้าตรวจพบในระยะเริ่มแรกตั้งแต่ก้อนเนื้อมีขนาดไม่เกิน 5 ซม. ย่อมจะง่ายต่อการเยียวยารักษา  และบางครั้งสามารถหายขาดได้ด้วยครับ…ดังนั้นอย่าลืมนะครับ ทุกครั้งที่ท่านไปตรวจสุขภาพประจำปี เสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มสักเล็กน้อยให้กับการตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง ผมว่ามันคุ้มค่าหากตรวจเจอมะเร็งเร็ว ก็ย่อมจะได้รับการรักษาที่ทันท่วงที โอกาสที่จะหายขาดก็มีครับ…อย่ารอให้โรคตับมาถามหาเรา แต่เราควรจะไปตรวจหามันให้พบเสียก่อนครับ

ข้อมูลจาก รายการ “สุขภาพดี 4 วัย” ออกอากาศวันที่ 31 กรกฎาคม 2555 เรื่อง “เมื่อตับมีก้อน” เวลา 15.00-16.00 น. ทางเดลินิวส์ทีวี.

นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์

ที่มา :  เดลินิวส์ 6 มกราคม 2556

ปลูกถ่ายตับ

การปลูกถ่ายตับเป็นวิธีเดียวที่จะรักษาผู้ป่วยโรคตับแข็ง หรือโรคตับวายระยะสุดท้ายได้ ซึ่งต้องใช้แพทย์เฉพาะทางหลายสาขา ทำงานร่วมกันเป็นทีม ตลอดระยะเวลาการรักษา ทั้งก่อนการผ่าตัด หลังการผ่าตัด

รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานโครงการปลูกถ่ายตับ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัย มหิดล บอกว่า  ประเทศไทยมีการปลูกถ่ายตับครั้งแรกในปี 2530 ที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  หลังจากนั้นคณะแพทยศาสตร์  รพ. รามาธิบดีได้ทำการปลูกถ่ายตับในปีเดียวกัน ต่อมาประมาณปี 2533 คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดีประสบความสำเร็จในการผ่าตัดปลูกถ่ายตับจากผู้ป่วยสมองตายให้กับเด็กเป็นครั้งแรกในเอเชีย แต่เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนผู้บริจาคตับ ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากระหว่างรอรับการรักษา ดังนั้นในปี 2544 คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี จึงได้ริเริ่มปลูกถ่ายตับโดยใช้ตับจากพ่อแม่ที่ยังมีชีวิตอยู่

ตับเป็นอวัยวะที่มีความพิเศษ  เมื่อตัดออกมาแล้วที่เหลือสามารถงอกขึ้นมาได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ รพ.รามาธิบดีทำการผ่าตัดปลูกถ่ายตับให้กับผู้ป่วยไปแล้ว 176 ราย เป็นการปลูกถ่ายตับจากพ่อแม่สู่ลูก 58 คู่  ผู้ใหญ่ให้ตับผู้ใหญ่ 3 คู่ ที่เหลือเป็นการปลูกถ่ายตับจากผู้บริจาคสมองตาย  ผลการปลูกถ่ายตับประสบความสำเร็จกว่า 90 เปอร์เซ็นต์  มีคนไข้เสียชีวิตเพียง 4 รายเท่านั้น

ในปี 2554 ที่ผ่านมา รพ.รามาธิบดีทำการปลูกถ่ายตับให้กับผู้ป่วยจำนวน 22 ราย เป็นพ่อแม่ให้ลูก 12 คู่  ตอนนี้มีผู้ป่วยรอการปลูกถ่ายตับอีก 32  คู่

โรคตับที่พบในเด็กส่วนใหญ่เป็นโรคท่อน้ำดีตีบตัน กรณีนี้พบตั้งแต่เกิดยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง เด็กจะมีอาการตาเหลือง ตัวเหลือง  การรักษาโดยทั่วไปถ้าตรวจพบเร็วอาจผ่าตัดเอาลำไส้ไปเสริมที่ท่อน้ำดีเหมือนการทำบายพาสเด็กสามารถเจริญเติบโตได้ แต่ไม่ใช่ทุกรายจะสำเร็จ อาจมีครึ่งหนึ่งตับเสียไป กลายเป็นตับแข็ง จำเป็นต้องเปลี่ยนตับเพื่อยืดอายุให้ยืนยาวขึ้น ในขณะที่เด็กอีกกลุ่มตับอาจสร้างสารบางอย่างที่มีผลต่อระบบอื่นของร่างกาย เช่น ระบบประสาท ระบบเลือด ก็ต้องเปลี่ยนตับใหม่เช่นกัน

ในผู้ใหญ่ที่ต้องเปลี่ยนตับ อาจเกิดจากภาวะตับวายเฉียบพลัน เช่น กินเห็ดพิษ เป็นไวรัสตับอักเสบบางชนิดแล้วทำให้ตับเสียสภาพ  เป็นโรคตับวายระยะสุดท้าย  มะเร็งที่ตับ  ตับแข็ง  หรือตับสร้างสารบางอย่างแล้วส่งผลต่อระบบอื่นของร่างกาย  ผู้ป่วยจะมีอาการท้องมาน ตัวเหลือง ตาเหลือง อ่อนเพลีย ขาบวม ใช้ชีวิตเหมือนคนปกติไม่ได้

กลุ่มผู้ป่วยข้างต้นต้องมาเข้าคิวปลูกถ่ายตับ  เมื่อได้ตับบริจาคมา ก็ต้องพิจารณาว่ากรุ๊ปเลือดเข้ากันได้หรือไม่  ตับจากพ่อแม่บริจาคให้ลูกก็เช่นกันต้องดูกรุ๊ปเลือดเข้ากันได้หรือไม่ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีปัญหา  พ่อแม่ที่บริจาคตับให้ลูกส่วนใหญ่มีร่างกายแข็งแรง การเฉือนตับจากพ่อแม่ให้ลูกใช้ประมาณ  20 เปอร์เซ็นต์ แต่ในกรณีที่เป็นผู้ใหญ่อาจต้องเฉือนเนื้อตับ 40-50 เปอร์เซ็นต์

หลังการเฉือนตับออกไปแล้ว  2-3 เดือนตับจะงอกประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์และชะลอลง ประมาณ 1 ปีก็คงที่ แต่งอกขึ้นมาไม่ 100 เปอร์เซ็นต์  โดยงอกมาประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์

สำหรับการเฉือนตับจากคนที่มีชีวิตอยู่ให้กับผู้ป่วย ก็ต้องพิจารณาถึงความปลอดภัยของคนให้ด้วย รวมถึงผู้รับเองก็ต้องไม่มีปัญหาภายหลัง การเฉือนตับจึงไม่ใช่สักแต่ว่าเฉือน ตับที่เฉือนมาต้องมีท่อน้ำดี เส้นเลือดดำ เส้นเลือดแดง มีองค์ประกอบครบ

ศูนย์ปลูกถ่ายตับจำเป็นต้องมีห้องผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะซึ่งเป็นการผ่าตัดใหญ่ ต้องผ่าตัดพร้อมกัน 2 ห้อง 2 ทีม หลังการปลูกถ่ายตับผู้ป่วยจะต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดในห้องแยกปลอดเชื้อ ต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกัน

ความสำเร็จในการปลูกถ่ายตับนอกจากอยู่ที่ความสามารถของทีมแพทย์ เทคโนโลยี ตัวผู้ป่วยและครอบครัวแล้ว  เครือข่ายผู้ปลูกถ่ายตับจากพ่อแม่สู่ลูกก็เป็นกองเชียร์ที่สำคัญ เพราะพ่อแม่หรือญาติพี่น้องผู้ป่วยจะได้ข้อมูลจากผู้ที่มีประสบการณ์โดยตรง

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องช่วยกันรณรงค์และทำความเข้าใจต่อไป คือ การบริจาคอวัยวะ  ต้องบอกว่า อวัยวะหลายอย่างมีประโยชน์กับคนที่มีชีวิตอยู่  เป็นการให้ที่ดีมากและยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น กระจกตา กระดูก หลอดเลือด เส้นเลือด ผิวหนัง.

นวพรรษ บุญชาญ

 

ที่มา: เดลินิวส์ 8 กันยายน 2555

เจ็ดโรคหลักที่มักทำแก่ (เร็ว) โดย นพ. กฤษดา ศิรามพุช

เลขเจ็ดเป็นตัวเลขสำคัญที่เด่นมากในประวัติศาสตร์โลก ลองดูอย่าง สัปดาห์หนึ่งมีเจ็ดวัน พระเจดีย์ในวัดมีเจ็ดยอด และยังมีอีกหลายต่อหลายเรื่องที่เข้าด้วย “เจ็ด” รวมถึงโรคภัยไข้เจ็ด เอ๊ย..เจ็บ

ฟังดูก็น่าคิดอยู่ไม่น้อยเพราะทุกวันนี้รอบข้างกายก็มีอันตรายทำลายสุขภาพเยอะพออยู่แล้ว มารู้ทันโรคแล้ว จะได้แก้ก่อนดีกว่าครับ

1. ไทรอยด์ขี้เกียจ การที่ต่อมนี้ทำงานด้อยลง ทำให้มีอาการแก่โดยเฉพาะ รับประทานน้อยน้ำหนักขึ้นง่าย เหนื่อยง่าย ง่วงเก่ง อารมณ์หงุดหงิด ประจำเดือนผิดปกติ ท้องอืดน่ารำคาญ รวมความแล้ว “อาการหมดไฟ” ที่เกิดขึ้นสามารถถูกเลียนแบบได้จากไทรอยด์ที่ขี้เกียจทำงานได้สบายๆ ครับ

2. ไทรอยด์เป็นพิษ ในทางตรงข้ามถ้าถามว่าไทรอยด์ทำงานดีเกินไปล่ะเป็นอย่างไร ก็บอกได้เลยว่าทำให้แก่ได้ไม่แพ้กันครับเป็นอาการแก่แบบโทรมมะนัง ตัวผอมแกร็น ตาโปนหงุดหงิดง่าย ใจสั่น น้ำหนักลด นี่ยังเบาะๆ เมื่อเทียบกับว่าทำให้หัวใจวายได้

3. ความดันโลหิตสูง ดูเป็นโรคขำๆ ตามวัยไม่น่ากลัวเหมือนมะเร็งนะครับ แต่ขอบอกว่า “น่ากลัวได้โล่” อย่างแรงครับ เพราะความดันที่สูงจะค่อยทำให้อวัยวะสำคัญเสื่อมง่อยไปอย่างไม่รู้ตัว หลอดเลือดสมองก็แย่ หัวใจก็โตแผ่ออกไป เกิดความตายปุบปับจากอัมพาตและหัวใจวายได้ง่ายๆ

4. เบาหวาน อาการสำคัญที่มักผุดขึ้นในหัว คือ ปัสสาวะออกมาแล้วมีมดตอม เป็นคนรูปร่างเจ้าเนื้อ ทั้งที่จริงแล้วเบาหวานทำให้เกิดอาการ “ผอมโทรม” ในผิวหนังบางส่วนเปื่อยเน่าง่าย กลายเป็นคนไม่ครบไปโดยเฉพาะตรงนิ้วมือนิ้วเท้าที่เป็นเป้านิ่งถูกเบาหวานกัดกิน ท่านที่ชินกับอาการเบาหวานขออย่าลืมตรวจ “ตา” กับ “ไต” ด้วย การช่วยรับประทานยาให้ครบเป็นทางป้องกันแก่ที่ดีสุดครับ

5. ภูมิแพ้ แค่จามฟุดฟิดหรือชีวิตติดผื่นแดงหน่อยๆ จะเป็นอะไรมาก หากคิดถึงภูมิแพ้แต่เพียงน้อยมันก็มักจะไม่หายสักทีครับ เพราะมันเป็นโรคระดับ “ทั้งตัว” น่ากลัวไม่แพ้โรคอื่นๆ ที่อัพสเกลเข้าไปทำลายระบบต่างๆ ของร่างกาย ยกตัวอย่างง่าย จมูกที่อักเสบบ่อยก็นำไปสู่ไซนัสอักเสบเรื้อรังนั่งปวดหัว และผิวที่บางจากสเตียรอยด์ทาผิวก็ทำให้ดูแก่ก่อนวัยได้ครับ

6. โรคตับ ใครจะว่าใครจนปวดตับ แต่ความลับของตับก็คือมันสำคัญมากพอกับสมองและหัวใจที่เต้นกระดุ๊บอยู่ในอกครับ คนเราที่พกตับมาครบตั้งแต่เกิดเมื่อผ่านเวลานานไปอาจมี “ตับโต” ได้ในกรณีของติดเชื้อไวรัส ไขมันจุกตับ ตับแข็งหรือมีก้อนเนื้อมะเร็งงอกขึ้น เพราะตับเป็นส่วนช่วยจับสารพิษ ชีวิตที่ตับไม่ปลื้มนั้นเป็นชีวิตที่สะสมพิษอย่างแน่แท้ ความแก่ก็จะมาเยือนอย่างไม่ต้องสงสัย ทั้งตัวผอม ท้องมาน มีอาการผิวเหลืองตาเหลืองแบบดีซ่าน ดูผ่านๆ ก็มากกว่าวัยแล้ว

7. โรคหัวใจ อย่างสุดท้ายเพราะใครๆ ก็มักทราบกันดีจึงมีวิธีป้องกันอยู่เยอะ แต่ก็ประมาทไม่ได้เลยครับเพราะอาการ “ดับ” ของหัวใจจะมาเยือนได้แบบไม่ตั้งตัว สัญญาณโรคหัวใจกับสัญญาณแก่ใกล้กันมากครับ เหนื่อยง่าย หน้ามืด เจ็บอก น้ำหนักตัวลด ขาบวมน้ำ ย้ำว่าท่านที่มีอาการเข้าวัยทองต้องตรวจไว้ก่อนอย่านอนใจว่าเป็นความแก่ตามวัยครับ

ความปรารถนาแรกของการนำโรคทั้งเจ็ดมาเล่าให้ท่านฟังก็เนื่องมาจากการไปบรรยายตามที่ต่างๆ แล้วมีผู้ใหญ่หลายท่านกรุณาถามว่าอาการเหน็ดเหนื่อยหมดไฟหัวใจเฉาทั้งหลายนี่มันคืออาการแก่ใช่ไหม ก็เลยให้วิสัชนาท่านไปด้วยความห่วงใยว่า “ไม่เสมอไป” ครับ

ถ้ายังไม่ได้ตรวจโรคต่างๆ ที่ว่ามาทั้งเจ็ดนี้ ที่ผมพบบ่อยเวลาตรวจคนไข้คือเรื่อง “ไทรอยด์ขี้เกียจ (Low function thyroid, Hypothyroid)” คือ ไทรอยด์ทำงานน้อยก็ทำให้มีอาการไม่สดชื่นเงื่องหงอยไม่สบายตัวได้

ต่อไปให้รู้ว่า “อย่าเชื่ออาการแก่” เสมอไปครับ

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ 19 สิงหาคม 2555

วิจัยโอสถสารในลิ้นจี่ พบสรรพคุณป้องกันโรคตับ

“ลิ้นจี่” เป็นผลไม้ที่มีสีแดงมีมายาวนาน กว่าพันปี ซึ่งมีต้นกำเนิดของผลไม้ชนิดนี้ มาจากประเทศจีนมีหลากหลายสายพันธุ์ทั้ง กิมเจ็ง ฮงฮวย และ จักรพรรดิ ในบ้านเราแหล่งที่มีพื้นที่ปลูกมากจะอยู่ในภาคเหนือ และเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลไม้ไทย รศ.ดร.ภญ.พาณี ศิริสะอาด คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงศึกษาค้นคว้าคุณประโยชน์ผลไม้ดังกล่าว

รศ.ดร.ภญ.พาณี เปิดเผยว่า… ช่วงนี้เราเริ่มเห็นผลลิ้นจี่ทยอยสุก แต่สียังไม่เข้มจัด การเก็บเกี่ยวลิ้นจี่มักเริ่มในเดือนกรกฎาคมถึงพฤศจิกายน เมื่อลิ้นจี่ออกสู่ท้องตลาด ลิ้นจี่จะเป็นของฝากที่มีคุณค่าที่เหมาะสำหรับผู้รับ เนื่องจากอุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรต และโปรตีน และช่วยย่อยอาหาร ช่วยในการบำรุงอวัยวะภายในต่างๆ ภายในร่างกาย

ทั้งนี้จากการศึกษาค้นคว้าข้อมูลพบว่า เนื้อลิ้นจี่เป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามิน และเกลือแร่ น้ำมันจากเมล็ดลิ้นจี่ มีสารประกอบ เป็นกรดไขมันที่สำคัญ เช่น ปาล์มมิติก 12% โอลิอิก 27% และไลโนเลอิก 11% เปลือก จะมีสารกลุ่มฟลาโวนอลที่สำคัญคือ โพรไซยาไนดินบี 4 ไพรไซยา-ไนดินบี 2 และอีพิคาเทชิน ส่วนที่สำคัญคือ ไซยาไนดิน-3-รูตินโนไซด์ ไซยาไนดิน-3กลูโคไซด์ เควอเซทิน-3-รูติโนไซด์ และเควอเซทิน-3-กลูโคไซด์ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง

และ…ยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งเต้านม จากสรรพคุณดังกล่าว ชาวแดนมังกรจึงนิยมกินผลไม้ดังกล่าวเพื่อช่วยบำรุง แก้อาการไอเรื้อรัง คัดจมูก อาการท้องเดิน ลดกรดในกระเพาะอาหาร และยังนำมาทำเป็นชาชงเพื่อบรรเทาอาการหวัด แก้การติดเชื้อในลำคอ อาการท้องเสียอย่างอ่อน และโรคจากการติดเชื้อไวรัส

เปลือก เนื้อใน รวมทั้งเมล็ดล้วนมีโอสถสาร

จากรายงานวิจัยยังพบว่า สารสกัดลิ้นจี่ลดขนาดเนื้องอกในสัตว์ทดลอง แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นสารสกัดส่วนใดของลิ้นจี่ สำหรับงานวิจัย นักวิทยาศาสตร์ของไทย พบว่า สารสกัดผลลิ้นจี่มีฤทธิ์ในการปกป้องตับ ในหนูที่เหนี่ยวนำให้ได้รับสารพิษ และเป็นโรคตับ

ผู้สนใจปรึกษาเรื่องภูมิปัญญาเพื่อสุขภาพได้ที่ศูนย์วิจัยสมุนไพรภาคเหนือ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ e–mail: pharpost@gmail.com โทรศัพท์ 0–5394–4356 และ 0– 5394–4360 หรือ www.pharmacy.cmu.ac.th

เพ็ญพิชญา เตียว

ที่มา: ไทยรัฐ 25 มิถุนายน 2555

.

Related link:

ชวนหม่ำ’ลิ้นจี่’ ฮือฮาผลวิจัย มช. ต้าน’มะเร็งตับ’