“ข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก” รู้เท่าทันก่อนโรคลุกลาม

dailynews140202_001สุขภาพดีสิ่งที่ทุกคนต่างปรารถนา การดูแลรักษาสุขภาพ หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง ไม่ละเลยมองข้ามความผิดปรกติที่เกิดขึ้นนับแต่เบื้องต้น ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ร่างกายห่างไกลจากความเจ็บป่วย

โรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก หรือ Juvenile Iidiopathic arthritis (JIA) ภัยสุขภาพสร้างความทรมานให้กับเด็กเมื่อมีอาการปวดข้อ ข้อบวม ข้ออักเสบ ฯลฯ และในบางรายที่มีอาการข้ออักเสบมากขึ้นอาจพิการและเสียชีวิตได้ โรคดังกล่าวเป็นหนึ่งใน กลุ่มโรคภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเอง หรือที่เรียกว่า ภูมิแพ้ตัวเอง หรือ แพ้ภูมิตัวเอง ซึ่ง ภาวะภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเอง หมายถึงภาวะที่ภูมิคุ้มกันทำงานเกินหน้าที่เพราะหลังจากที่กำจัดเชื้อโรคไปแล้ว แต่ภูมิคุ้มกันยังคงทำงานอยู่จนทำร้ายร่างกายแทนที่จะปกป้อง

โรคข้ออักเสบโดยไม่ทราบสาเหตุในเด็กก็เกิดจากการที่ภูมิคุ้มกันหันกลับมาทำร้ายข้อตัวเอง ทางการแพทย์ยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่า ภาวะภูมิคุ้มกันทำร้ายข้อตัวเองนี้เกิดจากอะไรจึงเรียกโรคนี้ว่า โรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็กซึ่งเกิดได้กับข้อทุกส่วนของร่างกายไม่เพียงแต่ ข้อมือ ข้อเท้า ข้อเข่า ข้อสะโพก แต่ยังเกิดได้กับกระดูกต้นคอ บริเวณขากรรไกร ฯลฯ

แพทย์หญิงโสมรัชช์ วิไลยุค แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคข้อและรูมาติสซั่มในเด็ก หน่วยโรคภูมิแพ้ ภูมิคุ้มกันและโรคข้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลให้ความรู้แนะนำวิธีสังเกตอาการโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็กว่า ส่วนมากอาการของข้ออักเสบหรือข้อติดมักจะเกิดตอนเช้าหรือที่เรียกว่า ภาวะ Morning Stiffness หรือในช่วงที่อากาศเย็นซึ่งจะทำให้ขยับข้อลำบากและปวดข้อมาก สังเกตได้จากเด็กเดินกะเผลกหลังจากตื่นนอนเนื่องจากเวลาหลับไม่ได้ขยับตัว ทำให้สารอักเสบหลั่งออกมา

แต่พอตื่นนอนแล้วขยับข้อหรือในช่วงที่อากาศอุ่นขึ้น อาการข้อติดก็จะดีขึ้นซึ่งอาการลักษณะนี้อาจทำให้เด็กบางคนไม่สามารถนอนกลางวันหรือนั่งเรียนทั้งวันได้ แต่ในบางรายก็อาจมีอาการปวดทั้งวัน สังเกตได้จากเด็กที่เป็นข้ออักเสบที่ข้อเข่าจะไม่ยอมเดินจะร้องให้อุ้มตลอดเวลา หากเป็นที่สะโพกจะเจ็บเวลาอุ้ม ฯลฯ ผู้ปกครองคุณพ่อ คุณแม่จึงควรสังเกตอาการลูกว่ามีอาการข้อตึงแข็งทำให้ขยับหรือลุกลำบากหรือไม่หรือเดินกะเผลกในช่วงเช้า สังเกตอาการเจ็บปวดต่างๆจากสีหน้าท่าทางของลูก เช่น เจ็บมือหากโดนจับหรือจูงมือ เจ็บขาหรือข้อเท้าเวลาเดิน เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีอาการแสดง คือ เป็นไข้สูงวันละครั้งอาจจะเป็นช่วงเช้าหรือช่วงเย็นก็ได้ หากเป็นช่วงเย็นมักจะเป็นช่วงเย็นของเวลาเดียวกัน และในช่วงไข้สูงเด็กจะมีอาการซึม แต่พอไข้ลดลงเด็กจะรู้สึกสบายดี ซึ่งต่างจากการติดเชื้อทั่วๆ ไปที่เด็กมักจะไข้สูงตลอดทั้งวัน นอกจากข้ออักเสบแล้วยังอาจจะมีอาการของผื่นเม็ดแดงๆ เล็กๆ ขึ้นเวลาที่มีไข้ขึ้นและเมื่อไข้ลงผื่นก็จะหายไป

dailynews140202_001b

“ข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก โรคนี้อาจจะยากในการวินิจฉัย แต่หากคุณพ่อ คุณแม่ช่วยสังเกตและอธิบายอาการของลูกได้ก็จะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยได้ตรงจุดยิ่งขึ้น ในการสังเกตอาการข้ออักเสบอาจเปรียบเทียบระหว่างข้อข้างซ้ายและข้อข้างขวาหรือเปรียบเทียบกับพี่น้องหรือเพื่อนๆ หากมีอาการข้ออักเสบจะสังเกตได้ถึงข้อที่บวม นูน แดงหรือจับบริเวณข้อที่อักเสบจะรู้สึกร้อนๆ

dailynews140202_001c

อีกวิธีสังเกตจากบริเวณที่เป็น อาทิ หากเป็นข้ออักเสบบริเวณข้อเข่าให้สังเกตว่าข้อเข่าจะมีรอยบุ๋มเหมือนลักยิ้ม หากรอยบุ๋มหายไปแสดงว่าข้ออาจจะเริ่มบวมหรือมีน้ำในข้อได้ หากเป็นที่ข้อเท้าให้สังเกตขณะเด็กนอนคว่ำเท้า ข้อจะอูมขึ้นมาและหากเป็นที่นิ้วมือให้สังเกตว่าเด็กไม่สามารถจับดินสอเขียนหนังสือได้ หรือจะหยิบจับอะไรได้ลำบาก เป็นต้น”

dailynews140202_001a

โรคข้ออักเสบแบ่งออกเป็น 7 กลุ่ม ได้แก่

Systemic onset juvenile idiopathic arthritis (SoJIA) เป็นชนิดที่รุนแรงและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ เพราะมีอาการอยู่ในหลายระบบของร่างกาย โดยเด็กจะเป็นไข้สูงกว่า 2 อาทิตย์ และมีผื่นแดงๆ ที่เรียกว่า ผื่นแซลมอน ขึ้นตามร่างกาย

Oligoarticular JIA หรือ pauciarticular JIA ผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะมีอาการข้ออักเสบน้อยกว่า 5 ข้อ แต่อาจมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดตาอักเสบได้มากกว่าชนิดอื่นๆ

Polyarticular JIA ที่มีรูมาตอยด์แฟกเตอร์ ผู้ป่วยในกลุ่มนี้ จะมีอาการข้ออักเสบมากกว่า 5 ข้อ ขึ้นไปและมีอาการปวดข้อเล็กๆ เช่น ข้อนิ้วมือ หรือข้อนิ้วเท้า และเด็กที่อยู่ในกลุ่มนี้ พอโตขึ้นจะมีอาการเหมือนผู้ใหญ่ที่เป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

 Polyarticular JIA ที่ไม่มีรูมาตอยด์แฟกเตอร์ การดำเนินของโรคในกลุ่มนี้ จะรุนแรงน้อยกว่ากลุ่มที่มีรูมาตอยด์แฟกเตอร์ แต่ก็เสี่ยงต่อการเกิดภาวะตาอักเสบได้

Enthesitis related arthritis หรือ ERA จะพบอาการข้ออักเสบในตำแหน่งที่มีเส้นเอ็นไปเกาะกับกระดูก เช่น บริเวณส้นเท้า ฝ่าเท้า กระดูกสะบ้า ข้อต่อของกระดูกสันหลังบริเวณเอว เป็นต้น ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดมาก โดยมากจะเป็นในเด็กผู้ชายอายุตั้งแต่ 6 ปี ขึ้นไป ที่คุณพ่อ – คุณแม่ หรือ พี่น้องท้องเดียวกัน มีประวัติป่วยเป็นโรคนี้

Psoriatic arthritis หรือ โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน จะพบผื่นสะเก็ดเงินร่วมกับอาการข้ออักเสบ ชนิดนี้จะยากต่อการวินิจฉัยพบน้อยในเด็กไทย และ

Undifferentiated JIA ข้ออักเสบที่ไม่เข้าพวกกับ 6 กลุ่มข้างต้นซึ่งจัดอยู่ในประเภทนี้

การตรวจวินิจฉัยทำได้โดยการตรวจเลือด เพื่อหาค่า CBC, ESR และ CRP และสำหรับวิธีการรักษาใช้ยาหลากหลายประเภทที่เหมาะสมกับกลุ่มโรคทั้ง 7 กลุ่ม นอกจากนี้ ผศ.มลรัชฐา ภาณุวรรณากร ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลแนะนำวิธีปฏิบัติตัวเพื่อช่วยฟื้นฟูเพิ่มอีกว่า นอกจากการใช้ยาในการรักษาโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็กแล้ว คุณพ่อ คุณแม่จำเป็นต้องช่วยเหลือฟื้นฟูเด็กทางกายภาพอีกด้วย

สำหรับวิธีปฏิบัตินั้นสามารถให้ออกกำลังกายเบาๆ ที่เหมาะสมและเน้นที่การบริหารข้อต่างๆ ของร่างกาย เช่น การวิ่งช้าๆ การเดิน ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน ฯลฯ หรือการบริหารข้อเพื่อไม่ให้เกิดอาการข้อติด เช่น หากจะบริหารข้อเข่าอาจทำท่าหมุนหัวเข่า หากบริหารนิ้วมือ บริหารด้วยการกำมือแบบหลวมๆหรือฝึกบีบลูกบอล บริหารข้อเท้า อาจบริหารด้วยการยืนเขย่งหรือการกระดกข้อเท้าขึ้น-ลง ควรหลีกเลี่ยงกีฬาประเภทที่มีการกระแทกหรือการต่อสู้ เช่น บาสเกตบอล ฟุตบอล หรือ เทควันโด จะทำให้ข้อเกิดการอักเสบมากขึ้นได้

นอกจากการรักษาด้วยยา และการฟื้นฟูทางกายภาพแล้วจำเป็นต้องดูแลในด้านต่างๆ อาทิ การรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ เลือกทานอาหารที่สุก สะอาด ควรหลีกเลี่ยงอาหารรสจัดและอาหารดิบ เพราะเด็กที่ป่วยด้วยโรคนี้มักได้รับยากดภูมิคุ้มกันจึงติดเชื้อได้ง่ายซึ่งผู้ป่วยควรพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง อย่างไรก็ตามการรักษาโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็กเป็นเรื่องที่ท้าทาย และละเอียดอ่อน ต้องคำนึงถึงการเจริญเติบโตของเด็ก การหมั่นสังเกตอาการและพบแพทย์ทันทีที่พบความผิดปกติจะช่วยให้อาการข้ออักเสบไม่ลุกลาม ผู้ป่วยไม่ต้องทนทุกข์ทรมานกับโรคและเติบโตได้เหมือนเด็กปกติทั่วไป.

ที่มา: เดลินิวส์ 2 กุมภาพันธ์ 2557

ระวัง..เด็กข้อบวมอูม ปวด เสี่ยงพิการ

dailynews121225_001aแม้บุตรหลานจะเกิดมามีอวัยวะครบ 32 ประการ แต่หากโชคร้ายป่วยด้วยโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุแล้วรักษาไม่ทันก็เสี่ยงพิการได้ ดังนั้น พ่อแม่ควรรู้จักโรคดังกล่าวให้ดี เพื่อนำข้อมูลไว้ใช้สังเกตความผิดปกติ

แพทย์หญิงโสมรัชช์ วิไลยุค แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคข้อและรูมาติสซั่มในเด็ก หน่วยโรคภูมิแพ้ ภูมิคุ้มกันและโรคข้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็กว่า…

เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเอง หรือที่นิยมเรียกว่า ภูมิแพ้ตัวเอง บ้างเรียก แพ้ภูมิตัวเอง ซึ่งทั้งหมดหมายถึง ภาวะที่ภูมิคุ้มกันทำงานเกินหน้าที่ โดยหลังจากกำจัดเชื้อโรคแล้ว ภูมิคุ้มกันยังทำงานอยู่จนกลายเป็นการทำร้ายร่างกาย ส่วนโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก เหตุที่แพทย์ต้องเรียกเช่นนี้เพราะปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่า ภาวะภูมิคุ้มกันทำร้ายข้อตัวเองนั้น เกิดจากอะไร?! และโรคนี้ก็ไม่ใช่โรคเก๊าท์อย่างที่ผู้ใหญ่เป็นกัน

จากการรักษาผู้ป่วยเด็กในโรคนี้ พญ.โสมรัชช์ เคยพบเด็กที่ป่วยมีอายุน้อยสุด คือ 8-9 เดือน และมีไปจนถึงอายุ 16 ปี อย่างไรก็ตาม โรคของเด็กที่พบได้ตั้งแต่อายุยังน้อย จะยิ่งสังเกตความผิดปกติได้ยาก เนื่องจากเด็กเล็กๆ อาจยังไม่สามารถสื่อสารบอกความเจ็บปวดได้ ประกอบกับลักษณะจ้ำม้ำน่ารักของเด็กที่อ้วนท้วนสมบูรณ์ รวมทั้งอาการเดินกระเผลกที่อาจทำให้ผู้ใหญ่คิดว่า เด็กไปเล่นซนแล้วหกล้ม ล้วนทำให้ผู้ใหญ่ไม่ทันรู้สึกถึงความผิดปกติว่า ข้อกระดูกของเด็กกำลังมีปัญหา

dailynews121225_001b

พญ.โสมรัชช์ จึงเล่าอาการสำคัญของโรคว่า เด็กที่ป่วยข้อกระดูกจะบวมอูมผิดปกติ ถ้าเป็นนานๆ จะมีน้ำอยู่ในข้อ เมื่อผู้ปกครองใช้มือสัมผัสข้อจะรู้สึกอุ่นกว่าข้อข้างที่ปกติ แถมมีรอยแดงปรากฏบริเวณข้อ จับแล้วเจ็บ ตำแหน่งที่เป็นจะมีภาวะกระดูกโตผิดปกติ ทั้งยังพบอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ตาอักเสบ ไข้สูงโดยไม่รู้สาเหตุในเวลาเดิมทุกวัน มีผื่นเม็ดแดงๆ เล็กๆ เฉพาะตอนมีไข้  

โรคนี้มิได้เกิดขึ้นได้เฉพาะข้อมือ ข้อเท้า ข้อเข่าเท่านั้น แต่สามารถเกิดขึ้นกับข้อกระดูกทุกส่วนของร่างกาย มีทั้งเป็นจุดเดียวหรือหลายจุด หากข้ออักเสบที่เข่า เด็กมักไม่ยอมเดิน ร้องให้อุ้มตลอดเวลา ในทางตรงกันข้าม หากอักเสบที่ข้อสะโพก จะเจ็บเวลาถูกอุ้ม

ถ้าอักเสบที่ข้อมือ จะเจ็บเวลาถูกจับมือหรือจูงเดิน ถ้าเป็นที่ข้อเท้า จะเดินกะเผลก กรณีที่รุนแรงถึงขั้นเดินไม่ได้ ขณะที่ข้ออักเสบบริเวณกระดูกต้นคอ จะเงยหน้าไม่ได้ ก้มหัวไม่สุด หันซ้ายขวาไม่สุดหรือไม่ได้ และถ้าอักเสบที่ข้อกระดูกขากรรไกรจะสังเกตได้ยาก แต่อาการบ่งชี้คือ อ้าปากไม่สุด ปวดเวลาขยับกรามหรือเคี้ยวอาหาร ถ้าเป็นนานๆ อาจทำให้คางเล็กไปเลย

นอกจากนี้ ผู้ป่วยเด็กบางรายมักมีอาการข้อติดช่วงหลังตื่นนอนตอนเช้า หรือช่วงที่อากาศเย็น ทางการแพทย์เรียกภาวะนี้ว่า มอร์นิ่ง สติฟฟ์เนส (Morning Stiffness) เนื่องจากเวลาที่หลับหรือไม่ได้ขยับตัว สารอักเสบจะหลั่งออกมา จึงทำให้ขยับข้อลำบากและเจ็บปวดมาก แต่เมื่อได้ขยับข้อ หรืออาการอุ่นขึ้น อาการจะทุเลาลง

dailynews121225_001c

หากพ่อแม่รู้ไม่เท่าทันโรค เด็กไม่ได้รับการรักษาหรือพบแพทย์ช้าเกินไป อาจทำให้รักษาไม่หาย พิการหรือร้ายที่สุดอาจเสียชีวิต ส่วนเด็กที่สงสัยว่าป่วย แพทย์จะตรวจเลือดเพื่อวิเคราะห์ค่าสำคัญ คือ CBC, ESR, และ CRP หากผลชี้ว่าเป็น จะทำการรักษาด้วยยากิน ยาฉีด ซึ่งมีค่าใช้จ่ายราว 2-4 หมื่นบาทต่อเดือน (แต่ก็มีทั้งยาชนิดที่เบิกได้และไม่ได้ตามสิทธิ์) ร่วมกับการทำกายภาพ ออกกำลังกายเบาๆ แบบไม่ลงแรงกดข้อ

สำหรับสถานการณ์ของโรคนี้ในไทย พญ.โสมรัชช์ เล่าว่า เฉพาะที่ รพ.รามาฯ มีผู้ป่วยเด็กโรคนี้ 200 ราย มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพียงคนเดียว ขณะที่รพ.เด็กมีแพทย์ด้านเดียวกันนี้อีก 2 ท่าน และที่รพ.ศิริราชอีก 1 ท่าน ถือว่าในไทยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญยังมีไม่มาก ทว่าการรักษาโรคข้ออักเสบในเด็กนี้เป็นเรื่องท้าทายและละเอียดอ่อน เนื่องจากต้องคำนึงถึงการเจริญเติบโตของเด็ก และปรับยาให้เหมาะสมด้วย

เมื่อได้รู้แล้วว่า ข้ออักเสบในเด็กแบบไม่ทราบสาเหตุนี้เป็นเช่นไร หากพบลูกหลานมีอาการดังที่กล่าว รีบพาไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด่วน เพื่อช่วยให้เด็กพ้นความทรมานจากอาการปวด ป้องกันไม่ให้พวกเขาต้องพิการหรือเสียชีวิต.

ทีมเดลินิวส์ออนไลน์
takecareDD@gmail.com

ที่มา : เดลินิวส์ 25 ธันวาคม 2555

.

Related Article :

.

thairath121225_001

ฝันร้ายของลูกน้อย กับโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก

หลายๆ คน อาจเคยได้ยินเกี่ยวกับโรครูมาตอยด์ หรือโรคข้ออักเสบเรื้อรัง และคิดว่าเป็นโรคที่เกิดขึ้นกับผู้ใหญ่เท่านั้น แต่ความจริงแล้ว มีเด็กจำนวนมากที่ป่วยเป็นโรคนี้ แต่ร่างกายของเด็กกับผู้ใหญ่นั้นมีความแตกต่างกัน ทำให้โรคข้ออักเสบในเด็กและผู้ใหญ่จึงไม่เหมือนกัน ดังนั้น จึงเรียกโรคข้ออักเสบที่เกิดกับเด็กว่า “โรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก”

แพทย์หญิงโสมรัชช์ วิไลยุค แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคข้อและรูมาติสซั่มในเด็ก หน่วยโรคภูมิแพ้ ภูมิคุ้มกันและโรคข้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “โรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเอง (Autoimmune Disease) หมายถึง ภูมิคุ้มกันทำงานเกินหน้าที่ เพราะหลังจากที่กำจัดเชื้อโรคไปแล้ว แต่ภูมิคุ้มกันยังคงทำงานอยู่จนทำร้ายร่างกายของบุคคลนั้นๆ ซึ่งโรคข้ออักเสบโดยไม่ทราบสาเหตุในเด็ก ก็เกิดจากการที่ภูมิคุ้มกันหันกลับมาทำร้ายข้อตัวเอง ทำให้เกิดข้ออักเสบในเด็กได้ โดยสามารถพบเด็กที่ป่วยเป็นโรคข้ออักเสบฯ ได้ตั้งแต่อายุ 8 – 9 เดือน จนกระทั่ง 16 ปี”

แต่สิ่งสำคัญ ก็คือ เมื่อลูกน้อยมีอาการปวดข้อ ข้อบวม และข้ออักเสบ แต่ไม่สามารถอธิบายอาการหรือสื่อสารถึงความเจ็บปวดได้ ทำให้กว่าคุณพ่อ – คุณแม่จะทราบ หนูน้อยก็ต้องทนทรมานและมีอาการข้ออักเสบมากขึ้น ในบางรายอาจถึงขั้นพิการหรือเสียชีวิตได้ ดังนั้น คุณพ่อ – คุณแม่ จึงควรสังเกตความผิดปกติของลูก โดยสังเกตจาก หากลูกน้อยของคุณมีอาการข้อบวมหรือมีน้ำอยู่ในข้อ และเวลาที่เอามือจับจะรู้สึกอุ่นกว่าข้อข้างที่ปกติ มีรอยแดงบริเวณข้อ จับแล้วมีอาการเจ็บ หรือมีอาการข้อติดในช่วงเช้า ซึ่งเรียกว่า ‘ภาวะ Morning Stiffness’ เนื่องจากเวลาหลับไม่ได้ขยับข้อทำให้สารอักเสบหลั่งออกมา แต่เมื่อตื่นนอนมาแล้วได้ขยับตัว อาการข้อติดหรือปวดข้อก็จะดีขึ้น ซึ่งอาการแบบนี้ยังส่งผลให้เด็กบางคนไม่สามารถนอนกลางวัน หรือนั่งเรียนทั้งวันได้ หรือช่วงที่อากาศเย็นๆ ทำให้ขยับข้อลำบากและปวดข้อมาก ซึ่งอาการปวดข้อและข้ออักเสบ สามารถพบได้ทั้งบริเวณข้อมือ ข้อเท้า ข้อเข่า ข้อสะโพก กระดูกต้นคอ และบริเวณขากรรไกร นอกจากนี้ ยังอาจพบอาการอื่นๆ อาทิ ตาอักเสบ ไข้สูงโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยไข้จะขึ้นสูงในเวลาเดิมทุกวัน หรือมีผื่นเม็ดแดงๆ เล็กๆ ขึ้นเวลาที่มีไข้ขึ้น และเมื่อไข้ลงผื่นก็จะหายไป หากพบความผิดปกติดังกล่าวควรรีบพาลูกน้อยไปปรึกษาแพทย์ทันที

ปัจจุบัน วิธีการตรวจวินิจฉัยโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก ทำได้โดยการตรวจเลือด และหากพบว่าเป็นโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก จะมีวิธีการรักษาด้วยการใช้ยาซึ่งมีหลากหลายประเภท ได้แก่ ยาในกลุ่มกดภูมิคุ้มกัน ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาคอร์ติโคสสเตียรอยด์ ยากลุ่มสารชีวภาพ และในบางรายอาจใช้การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อ แต่เหมาะสำหรับเด็กที่มีอาการข้ออักเสบเพียงข้อเดียว นอกจากนี้ เด็กๆ ที่ป่วยเป็นโรคนี้ ยังต้องมีการดูแลเป็นพิเศษ อาทิ การไม่ทานของดิบ หลีกเลี่ยงอาหารเผ็ดและน้ำอัดลม เป็นต้น พร้อมทั้งยังจำเป็นต้องทำกายภาพบำบัด และออกกำลังอย่างถูกวิธีควบคู่กับการทานยาด้วย

อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคข้ออักเสบในเด็กนั้นเป็นเรื่องที่ท้าทาย และละเอียดอ่อน เพราะต้องคำนึงถึงการเจริญเติบโตของเด็กด้วย ดังนั้น หากคุณพ่อ – คุณแม่ หรือผู้ปกครอง สังเกตอาการของลูกน้อย และพามาปรึกษาแพทย์ทันทีที่พบความผิดปกติ ก็จะช่วยให้อาการข้ออักเสบไม่ลุกลาม และการรักษาก็สามารถทำได้โดยง่าย เพื่อให้หนูน้อยไม่ต้องทนทรมานกับโรคที่เป็นเหมือนฝันร้ายเช่นนี้ และสามารถเติบโตได้เหมือนเด็กปกติทั่วไป

ที่มา : ไทยรัฐ 25 ธันวาคม 2555