“ข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก” รู้เท่าทันก่อนโรคลุกลาม

dailynews140202_001สุขภาพดีสิ่งที่ทุกคนต่างปรารถนา การดูแลรักษาสุขภาพ หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง ไม่ละเลยมองข้ามความผิดปรกติที่เกิดขึ้นนับแต่เบื้องต้น ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ร่างกายห่างไกลจากความเจ็บป่วย

โรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก หรือ Juvenile Iidiopathic arthritis (JIA) ภัยสุขภาพสร้างความทรมานให้กับเด็กเมื่อมีอาการปวดข้อ ข้อบวม ข้ออักเสบ ฯลฯ และในบางรายที่มีอาการข้ออักเสบมากขึ้นอาจพิการและเสียชีวิตได้ โรคดังกล่าวเป็นหนึ่งใน กลุ่มโรคภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเอง หรือที่เรียกว่า ภูมิแพ้ตัวเอง หรือ แพ้ภูมิตัวเอง ซึ่ง ภาวะภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเอง หมายถึงภาวะที่ภูมิคุ้มกันทำงานเกินหน้าที่เพราะหลังจากที่กำจัดเชื้อโรคไปแล้ว แต่ภูมิคุ้มกันยังคงทำงานอยู่จนทำร้ายร่างกายแทนที่จะปกป้อง

โรคข้ออักเสบโดยไม่ทราบสาเหตุในเด็กก็เกิดจากการที่ภูมิคุ้มกันหันกลับมาทำร้ายข้อตัวเอง ทางการแพทย์ยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่า ภาวะภูมิคุ้มกันทำร้ายข้อตัวเองนี้เกิดจากอะไรจึงเรียกโรคนี้ว่า โรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็กซึ่งเกิดได้กับข้อทุกส่วนของร่างกายไม่เพียงแต่ ข้อมือ ข้อเท้า ข้อเข่า ข้อสะโพก แต่ยังเกิดได้กับกระดูกต้นคอ บริเวณขากรรไกร ฯลฯ

แพทย์หญิงโสมรัชช์ วิไลยุค แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคข้อและรูมาติสซั่มในเด็ก หน่วยโรคภูมิแพ้ ภูมิคุ้มกันและโรคข้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลให้ความรู้แนะนำวิธีสังเกตอาการโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็กว่า ส่วนมากอาการของข้ออักเสบหรือข้อติดมักจะเกิดตอนเช้าหรือที่เรียกว่า ภาวะ Morning Stiffness หรือในช่วงที่อากาศเย็นซึ่งจะทำให้ขยับข้อลำบากและปวดข้อมาก สังเกตได้จากเด็กเดินกะเผลกหลังจากตื่นนอนเนื่องจากเวลาหลับไม่ได้ขยับตัว ทำให้สารอักเสบหลั่งออกมา

แต่พอตื่นนอนแล้วขยับข้อหรือในช่วงที่อากาศอุ่นขึ้น อาการข้อติดก็จะดีขึ้นซึ่งอาการลักษณะนี้อาจทำให้เด็กบางคนไม่สามารถนอนกลางวันหรือนั่งเรียนทั้งวันได้ แต่ในบางรายก็อาจมีอาการปวดทั้งวัน สังเกตได้จากเด็กที่เป็นข้ออักเสบที่ข้อเข่าจะไม่ยอมเดินจะร้องให้อุ้มตลอดเวลา หากเป็นที่สะโพกจะเจ็บเวลาอุ้ม ฯลฯ ผู้ปกครองคุณพ่อ คุณแม่จึงควรสังเกตอาการลูกว่ามีอาการข้อตึงแข็งทำให้ขยับหรือลุกลำบากหรือไม่หรือเดินกะเผลกในช่วงเช้า สังเกตอาการเจ็บปวดต่างๆจากสีหน้าท่าทางของลูก เช่น เจ็บมือหากโดนจับหรือจูงมือ เจ็บขาหรือข้อเท้าเวลาเดิน เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีอาการแสดง คือ เป็นไข้สูงวันละครั้งอาจจะเป็นช่วงเช้าหรือช่วงเย็นก็ได้ หากเป็นช่วงเย็นมักจะเป็นช่วงเย็นของเวลาเดียวกัน และในช่วงไข้สูงเด็กจะมีอาการซึม แต่พอไข้ลดลงเด็กจะรู้สึกสบายดี ซึ่งต่างจากการติดเชื้อทั่วๆ ไปที่เด็กมักจะไข้สูงตลอดทั้งวัน นอกจากข้ออักเสบแล้วยังอาจจะมีอาการของผื่นเม็ดแดงๆ เล็กๆ ขึ้นเวลาที่มีไข้ขึ้นและเมื่อไข้ลงผื่นก็จะหายไป

dailynews140202_001b

“ข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก โรคนี้อาจจะยากในการวินิจฉัย แต่หากคุณพ่อ คุณแม่ช่วยสังเกตและอธิบายอาการของลูกได้ก็จะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยได้ตรงจุดยิ่งขึ้น ในการสังเกตอาการข้ออักเสบอาจเปรียบเทียบระหว่างข้อข้างซ้ายและข้อข้างขวาหรือเปรียบเทียบกับพี่น้องหรือเพื่อนๆ หากมีอาการข้ออักเสบจะสังเกตได้ถึงข้อที่บวม นูน แดงหรือจับบริเวณข้อที่อักเสบจะรู้สึกร้อนๆ

dailynews140202_001c

อีกวิธีสังเกตจากบริเวณที่เป็น อาทิ หากเป็นข้ออักเสบบริเวณข้อเข่าให้สังเกตว่าข้อเข่าจะมีรอยบุ๋มเหมือนลักยิ้ม หากรอยบุ๋มหายไปแสดงว่าข้ออาจจะเริ่มบวมหรือมีน้ำในข้อได้ หากเป็นที่ข้อเท้าให้สังเกตขณะเด็กนอนคว่ำเท้า ข้อจะอูมขึ้นมาและหากเป็นที่นิ้วมือให้สังเกตว่าเด็กไม่สามารถจับดินสอเขียนหนังสือได้ หรือจะหยิบจับอะไรได้ลำบาก เป็นต้น”

dailynews140202_001a

โรคข้ออักเสบแบ่งออกเป็น 7 กลุ่ม ได้แก่

Systemic onset juvenile idiopathic arthritis (SoJIA) เป็นชนิดที่รุนแรงและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ เพราะมีอาการอยู่ในหลายระบบของร่างกาย โดยเด็กจะเป็นไข้สูงกว่า 2 อาทิตย์ และมีผื่นแดงๆ ที่เรียกว่า ผื่นแซลมอน ขึ้นตามร่างกาย

Oligoarticular JIA หรือ pauciarticular JIA ผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะมีอาการข้ออักเสบน้อยกว่า 5 ข้อ แต่อาจมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดตาอักเสบได้มากกว่าชนิดอื่นๆ

Polyarticular JIA ที่มีรูมาตอยด์แฟกเตอร์ ผู้ป่วยในกลุ่มนี้ จะมีอาการข้ออักเสบมากกว่า 5 ข้อ ขึ้นไปและมีอาการปวดข้อเล็กๆ เช่น ข้อนิ้วมือ หรือข้อนิ้วเท้า และเด็กที่อยู่ในกลุ่มนี้ พอโตขึ้นจะมีอาการเหมือนผู้ใหญ่ที่เป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

 Polyarticular JIA ที่ไม่มีรูมาตอยด์แฟกเตอร์ การดำเนินของโรคในกลุ่มนี้ จะรุนแรงน้อยกว่ากลุ่มที่มีรูมาตอยด์แฟกเตอร์ แต่ก็เสี่ยงต่อการเกิดภาวะตาอักเสบได้

Enthesitis related arthritis หรือ ERA จะพบอาการข้ออักเสบในตำแหน่งที่มีเส้นเอ็นไปเกาะกับกระดูก เช่น บริเวณส้นเท้า ฝ่าเท้า กระดูกสะบ้า ข้อต่อของกระดูกสันหลังบริเวณเอว เป็นต้น ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดมาก โดยมากจะเป็นในเด็กผู้ชายอายุตั้งแต่ 6 ปี ขึ้นไป ที่คุณพ่อ – คุณแม่ หรือ พี่น้องท้องเดียวกัน มีประวัติป่วยเป็นโรคนี้

Psoriatic arthritis หรือ โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน จะพบผื่นสะเก็ดเงินร่วมกับอาการข้ออักเสบ ชนิดนี้จะยากต่อการวินิจฉัยพบน้อยในเด็กไทย และ

Undifferentiated JIA ข้ออักเสบที่ไม่เข้าพวกกับ 6 กลุ่มข้างต้นซึ่งจัดอยู่ในประเภทนี้

การตรวจวินิจฉัยทำได้โดยการตรวจเลือด เพื่อหาค่า CBC, ESR และ CRP และสำหรับวิธีการรักษาใช้ยาหลากหลายประเภทที่เหมาะสมกับกลุ่มโรคทั้ง 7 กลุ่ม นอกจากนี้ ผศ.มลรัชฐา ภาณุวรรณากร ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลแนะนำวิธีปฏิบัติตัวเพื่อช่วยฟื้นฟูเพิ่มอีกว่า นอกจากการใช้ยาในการรักษาโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็กแล้ว คุณพ่อ คุณแม่จำเป็นต้องช่วยเหลือฟื้นฟูเด็กทางกายภาพอีกด้วย

สำหรับวิธีปฏิบัตินั้นสามารถให้ออกกำลังกายเบาๆ ที่เหมาะสมและเน้นที่การบริหารข้อต่างๆ ของร่างกาย เช่น การวิ่งช้าๆ การเดิน ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน ฯลฯ หรือการบริหารข้อเพื่อไม่ให้เกิดอาการข้อติด เช่น หากจะบริหารข้อเข่าอาจทำท่าหมุนหัวเข่า หากบริหารนิ้วมือ บริหารด้วยการกำมือแบบหลวมๆหรือฝึกบีบลูกบอล บริหารข้อเท้า อาจบริหารด้วยการยืนเขย่งหรือการกระดกข้อเท้าขึ้น-ลง ควรหลีกเลี่ยงกีฬาประเภทที่มีการกระแทกหรือการต่อสู้ เช่น บาสเกตบอล ฟุตบอล หรือ เทควันโด จะทำให้ข้อเกิดการอักเสบมากขึ้นได้

นอกจากการรักษาด้วยยา และการฟื้นฟูทางกายภาพแล้วจำเป็นต้องดูแลในด้านต่างๆ อาทิ การรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ เลือกทานอาหารที่สุก สะอาด ควรหลีกเลี่ยงอาหารรสจัดและอาหารดิบ เพราะเด็กที่ป่วยด้วยโรคนี้มักได้รับยากดภูมิคุ้มกันจึงติดเชื้อได้ง่ายซึ่งผู้ป่วยควรพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง อย่างไรก็ตามการรักษาโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็กเป็นเรื่องที่ท้าทาย และละเอียดอ่อน ต้องคำนึงถึงการเจริญเติบโตของเด็ก การหมั่นสังเกตอาการและพบแพทย์ทันทีที่พบความผิดปกติจะช่วยให้อาการข้ออักเสบไม่ลุกลาม ผู้ป่วยไม่ต้องทนทุกข์ทรมานกับโรคและเติบโตได้เหมือนเด็กปกติทั่วไป.

ที่มา: เดลินิวส์ 2 กุมภาพันธ์ 2557

“ข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก” ตรวจพบเร็ว…รักษาได้ทันท่วงที

dailynews130113_003aข้ออักเสบเรื้อรัง โรคดังกล่าวหลายคนอาจคิดว่าเป็นโรคที่เกิดขึ้นกับผู้ใหญ่ แต่ในความจริงนั้นมีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ป่วยเป็นโรคนี้และด้วยความที่ร่างกายของเด็กกับผู้ใหญ่มีความต่างกันจึงทำให้โรคข้ออักเสบในเด็กและผู้ใหญ่ไม่เหมือนกัน จึงเรียกโรคข้ออักเสบที่เกิดกับเด็กนี้ว่า โรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก

แพทย์หญิงโสมรัชช์ วิไลยุค แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคข้อและรูมาติสซั่มในเด็ก หน่วยโรคภูมิแพ้ ภูมิคุ้มกันและโรคข้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความรู้ว่า โรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็กเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเองหรือที่เรียกว่า ภูมิแพ้ตัวเอง ซึ่งภาวะภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเอง หมายถึง ภาวะที่ภูมิคุ้มกันทำงานเกินหน้าที่เพราะหลังจากที่กำจัดเชื้อโรคไปแล้ว ภูมิคุ้มกันยังคงทำงานอยู่จนทำร้ายร่างกายแทน ที่จะปกป้อง

“โรคดังกล่าวปัญหาอยู่ที่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้จัก อีกทั้งหลายคนไม่คาดคิดว่าสามารถจะเกิดขึ้นในเด็ก โดยเด็กจะมีอาการปวดข้อ ปวดอักเสบได้เหมือนในผู้ใหญ่ ที่สำคัญเมื่อเด็กมีอาการปวดข้อ ข้อบวม และข้ออักเสบแต่ไม่สามารถอธิบายอาการสื่อสารถึงความเจ็บปวดได้ ซึ่งกว่าพ่อแม่จะทราบ เด็กต้องทนทุกข์ทรมานมีอาการข้ออักเสบมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งในบางรายอาจถึงขั้นพิการหรือเสียชีวิตได้”

โรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลยืนยันทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าเพราะเหตุใดภูมิต้านทานจึงทำร้ายร่างกาย สาเหตุบางอย่าง ภาวะติดเชื้อ ภาวะอุบัติเหตุกระตุ้นให้โรคกำเริบ ฯลฯ ยังคงเป็นเพียงข้อสงสัยซึ่งยังสรุปไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันโรคดังกล่าวไม่เพียงเป็นปัญหาเฉพาะในบ้านเรา หากแต่ยังเป็นปัญหาในหลาย ๆ ประเทศ

dailynews130113_003b

การสังเกตความผิดปกติของอาการและการเข้าถึงการรักษาแต่เนิ่น ๆ สิ่งนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ผู้ปกครองควรสังเกตความผิดปกติโดยถ้าลูกมี อาการข้อบวม หากเป็นมานานอาจทำให้มีน้ำอยู่ในข้อ

เวลาที่จับมือจะรู้สึกอุ่นกว่าข้อข้างที่ปกติ มีรอยแดงบริเวณข้อ จับแล้วมีอาการเจ็บหรือมีภาวะกระดูกบริเวณที่อักเสบโตกว่าปกติ ทำให้ขาหรือแขนยาวกว่าอีกข้างและหากเป็นบริเวณข้อเข่าอาจสังเกตได้ว่ามีรอยบุ๋มข้าง ๆ

ส่วนอาการข้อติดช่วงเช้าที่เรียกว่า ภาวะมอร์นิ่ง สติฟฟ์
เนส (Morning Stiffness) หรือ ช่วงที่อากาศเย็นซึ่งทำให้ขยับข้อลำบากและปวดข้อมาก สังเกตได้จากเด็กจะเดินกะเผลกหลังจากตื่นนอน เนื่องจากเวลาหลับไม่ได้ขยับตัวทำให้สารอักเสบหลั่งออกมา แต่พอตื่นนอนขยับข้อ หรือช่วงที่อากาศอุ่นขึ้นอาการข้อติดจะดีขึ้นทุเลาลงซึ่งในอาการลักษณะนี้อาจทำให้เด็กบางรายไม่สามารถนอนกลางวัน หรือนั่งเรียนทั้งวันได้

นอกจากนี้อาการปวดข้อซึ่งส่วนมากเกิดในช่วงเช้าหรือช่วงที่อากาศเย็น บางรายอาจมีอาการปวดทั้งวัน สังเกตจากเด็กที่เป็นข้ออักเสบที่ ข้อเข่า จะไม่ยอมเดินจะร้องให้อุ้มตลอดเวลา หากเป็นที่ ข้อตะโพก จะเจ็บเวลาถูกอุ้ม ส่วนข้ออักเสบที่ ข้อมือ จะเจ็บเวลาถูกจับมือหรือจูงเดิน และหากเป็นที่ข้อเท้า เด็กก็จะเดินกะเผลก หากเป็นมากอาจเดินไม่ได้และในบางรายที่เป็น บริเวณกระดูกต้นคอ จะทำให้ไม่สามารถเงยหน้าหรือก้มหัวได้สุดทำให้มีปัญหาเวลาก้มลงเก็บของและเด็กบางคนอาจไม่สามารถหันซ้ายขวาได้ ถ้าข้ออักเสบ บริเวณข้อต่อขากรรไกร อาจสังเกตได้ยากโดยเด็กที่เป็นข้ออักเสบบริเวณนี้จะอ้าปากได้ไม่สุด และปวดเวลาขยับกราม หรือเคี้ยวอาหาร อาจอ้าปากได้ไม่เท่ากันสองข้างซึ่งหากเป็นนานอาจทำให้คางเล็กไป

อีกทั้งยังอาจพบอาการอื่น ๆ อาทิ ตาอักเสบ ไข้สูงโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยไข้จะขึ้นสูงในเวลาเดิมทุกวัน หรือมีผื่นเม็ดแดง ๆ เล็ก ๆ ขึ้นเวลาที่มีไข้ขึ้น และเมื่อไข้ลงผื่นก็จะหายไปไม่ควรนิ่งนอนใจควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยทันที

dailynews130113_003c

ปัจจุบันโรคข้ออักเสบ แบ่งออกเป็น 7 กลุ่มซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต โดยอาการแต่ละกลุ่มจะไม่เหมือนกันโดยเฉพาะ Systemic onset juvenile idiopathic arthritis (SoJIA) เป็นชนิดที่รุนแรงมากที่สุดและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ เพราะมีอาการอยู่ในหลายระบบของร่างกาย โดยเด็กจะเป็นไข้สูงกว่า 2 อาทิตย์ และมีผื่นแดง ที่เรียกว่า ผื่นแซลมอนขึ้นตามร่างกายเป็น ๆ หาย ๆ แต่อย่างไรก็ตามหากได้รับการรักษารวดเร็วทันท่วงทีจะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
dailynews130113_003e
“โรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็กสามารถพบได้นับแต่อายุไม่ถึงหนึ่งขวบปีถึง 16 ปีโดยเด็กที่พบตั้งแต่อายุน้อยจะยิ่งสังเกตความผิดปกติได้ยากเนื่องจากเด็กเล็กอาจไม่สามารถสื่อสารบอกความเจ็บปวดได้ การตรวจวินิจฉัยทำได้โดยการตรวจเลือดเพื่อหาค่า CBC, ESR และ CRP และสำหรับวิธีการรักษาใช้ยาหลายประเภท อาทิ ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ชนิดเม็ดซึ่งเป็นยาชนิดแรกที่เด็กป่วยด้วยโรคข้ออักเสบทุกคนจะได้รับ ยากลุ่มสารชีวภาพ ยาที่ออกฤทธิ์เร็วและประสิทธิภาพสูงสามารถจับสารที่ก่อให้เกิดข้ออักเสบได้โดยตรง แต่ราคาค่อนข้างสูง ฯลฯ”

dailynews130113_003d

แพทย์ท่านเดิมกล่าวเพิ่มอีกว่าในการรักษาผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการทานของดิบ รวมทั้งต้องทำกายภาพบำบัด และออกกำลังอย่างถูกวิธีควบคู่ไปกับการทานยาร่วมด้วย ดังนั้นหากพบความผิดปกติเกิดขึ้นจึงไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย.

ที่มา : เดลินิวส์  13 มกราคม 2556

.

Related Article :

.

ระวัง..เด็กข้อบวมอูม ปวด เสี่ยงพิการ

dailynews121225_001aแม้บุตรหลานจะเกิดมามีอวัยวะครบ 32 ประการ แต่หากโชคร้ายป่วยด้วยโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุแล้วรักษาไม่ทันก็เสี่ยงพิการได้ ดังนั้น พ่อแม่ควรรู้จักโรคดังกล่าวให้ดี เพื่อนำข้อมูลไว้ใช้สังเกตความผิดปกติ

แพทย์หญิงโสมรัชช์ วิไลยุค แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคข้อและรูมาติสซั่มในเด็ก หน่วยโรคภูมิแพ้ ภูมิคุ้มกันและโรคข้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็กว่า…

เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเอง หรือที่นิยมเรียกว่า ภูมิแพ้ตัวเอง บ้างเรียก แพ้ภูมิตัวเอง ซึ่งทั้งหมดหมายถึง ภาวะที่ภูมิคุ้มกันทำงานเกินหน้าที่ โดยหลังจากกำจัดเชื้อโรคแล้ว ภูมิคุ้มกันยังทำงานอยู่จนกลายเป็นการทำร้ายร่างกาย ส่วนโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก เหตุที่แพทย์ต้องเรียกเช่นนี้เพราะปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่า ภาวะภูมิคุ้มกันทำร้ายข้อตัวเองนั้น เกิดจากอะไร?! และโรคนี้ก็ไม่ใช่โรคเก๊าท์อย่างที่ผู้ใหญ่เป็นกัน

จากการรักษาผู้ป่วยเด็กในโรคนี้ พญ.โสมรัชช์ เคยพบเด็กที่ป่วยมีอายุน้อยสุด คือ 8-9 เดือน และมีไปจนถึงอายุ 16 ปี อย่างไรก็ตาม โรคของเด็กที่พบได้ตั้งแต่อายุยังน้อย จะยิ่งสังเกตความผิดปกติได้ยาก เนื่องจากเด็กเล็กๆ อาจยังไม่สามารถสื่อสารบอกความเจ็บปวดได้ ประกอบกับลักษณะจ้ำม้ำน่ารักของเด็กที่อ้วนท้วนสมบูรณ์ รวมทั้งอาการเดินกระเผลกที่อาจทำให้ผู้ใหญ่คิดว่า เด็กไปเล่นซนแล้วหกล้ม ล้วนทำให้ผู้ใหญ่ไม่ทันรู้สึกถึงความผิดปกติว่า ข้อกระดูกของเด็กกำลังมีปัญหา

dailynews121225_001b

พญ.โสมรัชช์ จึงเล่าอาการสำคัญของโรคว่า เด็กที่ป่วยข้อกระดูกจะบวมอูมผิดปกติ ถ้าเป็นนานๆ จะมีน้ำอยู่ในข้อ เมื่อผู้ปกครองใช้มือสัมผัสข้อจะรู้สึกอุ่นกว่าข้อข้างที่ปกติ แถมมีรอยแดงปรากฏบริเวณข้อ จับแล้วเจ็บ ตำแหน่งที่เป็นจะมีภาวะกระดูกโตผิดปกติ ทั้งยังพบอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ตาอักเสบ ไข้สูงโดยไม่รู้สาเหตุในเวลาเดิมทุกวัน มีผื่นเม็ดแดงๆ เล็กๆ เฉพาะตอนมีไข้  

โรคนี้มิได้เกิดขึ้นได้เฉพาะข้อมือ ข้อเท้า ข้อเข่าเท่านั้น แต่สามารถเกิดขึ้นกับข้อกระดูกทุกส่วนของร่างกาย มีทั้งเป็นจุดเดียวหรือหลายจุด หากข้ออักเสบที่เข่า เด็กมักไม่ยอมเดิน ร้องให้อุ้มตลอดเวลา ในทางตรงกันข้าม หากอักเสบที่ข้อสะโพก จะเจ็บเวลาถูกอุ้ม

ถ้าอักเสบที่ข้อมือ จะเจ็บเวลาถูกจับมือหรือจูงเดิน ถ้าเป็นที่ข้อเท้า จะเดินกะเผลก กรณีที่รุนแรงถึงขั้นเดินไม่ได้ ขณะที่ข้ออักเสบบริเวณกระดูกต้นคอ จะเงยหน้าไม่ได้ ก้มหัวไม่สุด หันซ้ายขวาไม่สุดหรือไม่ได้ และถ้าอักเสบที่ข้อกระดูกขากรรไกรจะสังเกตได้ยาก แต่อาการบ่งชี้คือ อ้าปากไม่สุด ปวดเวลาขยับกรามหรือเคี้ยวอาหาร ถ้าเป็นนานๆ อาจทำให้คางเล็กไปเลย

นอกจากนี้ ผู้ป่วยเด็กบางรายมักมีอาการข้อติดช่วงหลังตื่นนอนตอนเช้า หรือช่วงที่อากาศเย็น ทางการแพทย์เรียกภาวะนี้ว่า มอร์นิ่ง สติฟฟ์เนส (Morning Stiffness) เนื่องจากเวลาที่หลับหรือไม่ได้ขยับตัว สารอักเสบจะหลั่งออกมา จึงทำให้ขยับข้อลำบากและเจ็บปวดมาก แต่เมื่อได้ขยับข้อ หรืออาการอุ่นขึ้น อาการจะทุเลาลง

dailynews121225_001c

หากพ่อแม่รู้ไม่เท่าทันโรค เด็กไม่ได้รับการรักษาหรือพบแพทย์ช้าเกินไป อาจทำให้รักษาไม่หาย พิการหรือร้ายที่สุดอาจเสียชีวิต ส่วนเด็กที่สงสัยว่าป่วย แพทย์จะตรวจเลือดเพื่อวิเคราะห์ค่าสำคัญ คือ CBC, ESR, และ CRP หากผลชี้ว่าเป็น จะทำการรักษาด้วยยากิน ยาฉีด ซึ่งมีค่าใช้จ่ายราว 2-4 หมื่นบาทต่อเดือน (แต่ก็มีทั้งยาชนิดที่เบิกได้และไม่ได้ตามสิทธิ์) ร่วมกับการทำกายภาพ ออกกำลังกายเบาๆ แบบไม่ลงแรงกดข้อ

สำหรับสถานการณ์ของโรคนี้ในไทย พญ.โสมรัชช์ เล่าว่า เฉพาะที่ รพ.รามาฯ มีผู้ป่วยเด็กโรคนี้ 200 ราย มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพียงคนเดียว ขณะที่รพ.เด็กมีแพทย์ด้านเดียวกันนี้อีก 2 ท่าน และที่รพ.ศิริราชอีก 1 ท่าน ถือว่าในไทยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญยังมีไม่มาก ทว่าการรักษาโรคข้ออักเสบในเด็กนี้เป็นเรื่องท้าทายและละเอียดอ่อน เนื่องจากต้องคำนึงถึงการเจริญเติบโตของเด็ก และปรับยาให้เหมาะสมด้วย

เมื่อได้รู้แล้วว่า ข้ออักเสบในเด็กแบบไม่ทราบสาเหตุนี้เป็นเช่นไร หากพบลูกหลานมีอาการดังที่กล่าว รีบพาไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด่วน เพื่อช่วยให้เด็กพ้นความทรมานจากอาการปวด ป้องกันไม่ให้พวกเขาต้องพิการหรือเสียชีวิต.

ทีมเดลินิวส์ออนไลน์
takecareDD@gmail.com

ที่มา : เดลินิวส์ 25 ธันวาคม 2555

.

Related Article :

.

thairath121225_001

ฝันร้ายของลูกน้อย กับโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก

หลายๆ คน อาจเคยได้ยินเกี่ยวกับโรครูมาตอยด์ หรือโรคข้ออักเสบเรื้อรัง และคิดว่าเป็นโรคที่เกิดขึ้นกับผู้ใหญ่เท่านั้น แต่ความจริงแล้ว มีเด็กจำนวนมากที่ป่วยเป็นโรคนี้ แต่ร่างกายของเด็กกับผู้ใหญ่นั้นมีความแตกต่างกัน ทำให้โรคข้ออักเสบในเด็กและผู้ใหญ่จึงไม่เหมือนกัน ดังนั้น จึงเรียกโรคข้ออักเสบที่เกิดกับเด็กว่า “โรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก”

แพทย์หญิงโสมรัชช์ วิไลยุค แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคข้อและรูมาติสซั่มในเด็ก หน่วยโรคภูมิแพ้ ภูมิคุ้มกันและโรคข้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “โรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเอง (Autoimmune Disease) หมายถึง ภูมิคุ้มกันทำงานเกินหน้าที่ เพราะหลังจากที่กำจัดเชื้อโรคไปแล้ว แต่ภูมิคุ้มกันยังคงทำงานอยู่จนทำร้ายร่างกายของบุคคลนั้นๆ ซึ่งโรคข้ออักเสบโดยไม่ทราบสาเหตุในเด็ก ก็เกิดจากการที่ภูมิคุ้มกันหันกลับมาทำร้ายข้อตัวเอง ทำให้เกิดข้ออักเสบในเด็กได้ โดยสามารถพบเด็กที่ป่วยเป็นโรคข้ออักเสบฯ ได้ตั้งแต่อายุ 8 – 9 เดือน จนกระทั่ง 16 ปี”

แต่สิ่งสำคัญ ก็คือ เมื่อลูกน้อยมีอาการปวดข้อ ข้อบวม และข้ออักเสบ แต่ไม่สามารถอธิบายอาการหรือสื่อสารถึงความเจ็บปวดได้ ทำให้กว่าคุณพ่อ – คุณแม่จะทราบ หนูน้อยก็ต้องทนทรมานและมีอาการข้ออักเสบมากขึ้น ในบางรายอาจถึงขั้นพิการหรือเสียชีวิตได้ ดังนั้น คุณพ่อ – คุณแม่ จึงควรสังเกตความผิดปกติของลูก โดยสังเกตจาก หากลูกน้อยของคุณมีอาการข้อบวมหรือมีน้ำอยู่ในข้อ และเวลาที่เอามือจับจะรู้สึกอุ่นกว่าข้อข้างที่ปกติ มีรอยแดงบริเวณข้อ จับแล้วมีอาการเจ็บ หรือมีอาการข้อติดในช่วงเช้า ซึ่งเรียกว่า ‘ภาวะ Morning Stiffness’ เนื่องจากเวลาหลับไม่ได้ขยับข้อทำให้สารอักเสบหลั่งออกมา แต่เมื่อตื่นนอนมาแล้วได้ขยับตัว อาการข้อติดหรือปวดข้อก็จะดีขึ้น ซึ่งอาการแบบนี้ยังส่งผลให้เด็กบางคนไม่สามารถนอนกลางวัน หรือนั่งเรียนทั้งวันได้ หรือช่วงที่อากาศเย็นๆ ทำให้ขยับข้อลำบากและปวดข้อมาก ซึ่งอาการปวดข้อและข้ออักเสบ สามารถพบได้ทั้งบริเวณข้อมือ ข้อเท้า ข้อเข่า ข้อสะโพก กระดูกต้นคอ และบริเวณขากรรไกร นอกจากนี้ ยังอาจพบอาการอื่นๆ อาทิ ตาอักเสบ ไข้สูงโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยไข้จะขึ้นสูงในเวลาเดิมทุกวัน หรือมีผื่นเม็ดแดงๆ เล็กๆ ขึ้นเวลาที่มีไข้ขึ้น และเมื่อไข้ลงผื่นก็จะหายไป หากพบความผิดปกติดังกล่าวควรรีบพาลูกน้อยไปปรึกษาแพทย์ทันที

ปัจจุบัน วิธีการตรวจวินิจฉัยโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก ทำได้โดยการตรวจเลือด และหากพบว่าเป็นโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก จะมีวิธีการรักษาด้วยการใช้ยาซึ่งมีหลากหลายประเภท ได้แก่ ยาในกลุ่มกดภูมิคุ้มกัน ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาคอร์ติโคสสเตียรอยด์ ยากลุ่มสารชีวภาพ และในบางรายอาจใช้การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อ แต่เหมาะสำหรับเด็กที่มีอาการข้ออักเสบเพียงข้อเดียว นอกจากนี้ เด็กๆ ที่ป่วยเป็นโรคนี้ ยังต้องมีการดูแลเป็นพิเศษ อาทิ การไม่ทานของดิบ หลีกเลี่ยงอาหารเผ็ดและน้ำอัดลม เป็นต้น พร้อมทั้งยังจำเป็นต้องทำกายภาพบำบัด และออกกำลังอย่างถูกวิธีควบคู่กับการทานยาด้วย

อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคข้ออักเสบในเด็กนั้นเป็นเรื่องที่ท้าทาย และละเอียดอ่อน เพราะต้องคำนึงถึงการเจริญเติบโตของเด็กด้วย ดังนั้น หากคุณพ่อ – คุณแม่ หรือผู้ปกครอง สังเกตอาการของลูกน้อย และพามาปรึกษาแพทย์ทันทีที่พบความผิดปกติ ก็จะช่วยให้อาการข้ออักเสบไม่ลุกลาม และการรักษาก็สามารถทำได้โดยง่าย เพื่อให้หนูน้อยไม่ต้องทนทรมานกับโรคที่เป็นเหมือนฝันร้ายเช่นนี้ และสามารถเติบโตได้เหมือนเด็กปกติทั่วไป

ที่มา : ไทยรัฐ 25 ธันวาคม 2555

เผยเด็กป่วยข้ออักเสบพุ่ง แนะผู้ปกครองสังเกตอาการได้

thairath121219_001แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคข้อฯ เผยเด็กเป็นโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุมากขึ้น แนะผู้ปกครองสังเกตอาการของโรคได้ เมื่อเด็กมีอาการข้อติดในช่วงเช้าและช่วงอากาศเย็น…

เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. พญ.โสมรัชช์ วิไลยุค แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคข้อและรูมาติสซั่มในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก ว่า เป็นโรคที่เกิดจากภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเอง ซึ่งจะพบได้ตั้งแต่อายุ 8 เดือน-16 ปี โดยสาเหตุการเกิดโรคนั้นยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด แต่ปัจจุบันพบอัตราการป่วยในเด็กเพิ่มมากขึ้น และโรคนี้สามารถเกิดได้กับทุกส่วนของร่างกาย อาทิ ข้อมือ เท้า เข่า สะโพก กระดูกต้นคอ และบริเวณขากรรไกร

ดังนั้น ผู้ปกครองสามารถสังเกตอาการของโรคได้คือ มีอาการข้อติดในช่วงเช้า หรือช่วงที่อากาศเย็นๆ จะทำให้ขยับข้อลำบากและปวดข้อมาก รวมถึงมีอาการข้อบวม และหากพบบุตรหลานมีอาการดังกล่าวควรรีบพามาพบแพทย์เพื่อทำการรักษา เนื่องจากหากปล่อยไว้นานๆ จะส่งผลให้เด็กพิการได้ ทั้งนี้ ระยะเวลาในการรักษาจะอยู่ที่ 1-3 ปี ซึ่งค่ารักษาจะอยู่ที่ 2-4 แสนบาท/ปี เพราะฉะนั้นถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่สูง ดังนั้น โรงพยาบาลจึงพยายามจะผลักดันยาดังกล่าวให้เข้าไปอยู่ในกลุ่มบัญชียาหลักเพื่อประชาชนจะได้เข้าถึงยามากขึ้น

พญ.โสมรัชช์ กล่าวต่อว่า การรักษาทำได้โดย
1.การให้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ชนิดเม็ด
2.ยาคอร์ติโคลสเตียรอยด์
3.ยากลุ่มสารชีวภาพที่เป็นยาที่ออกฤทธิ์เร็วจับสารที่ก่อให้เกิดโรคข้ออักเสบโดยตรง และ
4.การฉีดยาเสตียร์รอยด์เข้าข้อ โดยจากสถิติทั่วโลกพบผู้ป่วย 2-20 ราย/ประชากร 1 แสนคน ส่วนในประเทศไทยยังไม่มีการเก็บสถิติ.

ที่มา : ไทยรัฐ

  • 19 ธันวาคม 2555

ผ่าตัดข้อ”เรื่องเล็ก” ด้วยนวัตกรรมอาร์โทรสโคปี

Credit: londonkneeclinic.com

กลายเป็นเรื่องเล็กไปซะแล้วสำหรับผู้ที่มีปัญหาจากการบาดเจ็บภายในข้อ ไม่ว่าจะเกิดจากอุบัติเหตุ การเล่นกีฬา หรือภาวะการอักเสบของเยื่อบุข้อก็ตาม แล้วต้องทำการผ่าตัด เพราะด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีความก้าวหน้าและพัฒนาไปอย่างมาก ทำให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก เจ็บปวดน้อย ฟื้นตัวได้เร็ว ลดค่าใช้จ่าย และลดภาวะการติดเชื้อ แทนการผ่าตัดแบบเดิมๆ

นพ.สมศักดิ์ ปัตยะกร ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ ศูนย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ โรงพยาบาลวิภาวดี กล่าวว่า “ทางศูนย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อนั้น ใช้การผ่าตัดรักษาโรคต่างๆ หรือการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นภายในข้อของร่างกาย โดยใช้วิธีการผ่าตัดผ่านกล้องเช่นเดียวกับการผ่าตัดแขนงอื่นๆ โดยเรียกการผ่าตัดนี้ว่า อาร์โทรสโคปี (Arthroscopy) ซึ่งเป็นเครื่องมือผ่าตัดพิเศษขนาดเล็ก แพทย์สามารถตรวจหาความผิดปกติของข้อ โดยการใช้เครื่องมือเล็กๆ เจาะรูใส่เข้าไปในข้อ แล้วมองผ่านจอภาพที่ต่อออกมาจากวิดีโอคาเมราส์ (Video cameras) ได้อย่างชัดเจน ทำให้การวินิจฉัยถูกต้อง และผ่าตัดรักษาได้ผลดีกว่าวิธีผ่าตัดแบบเดิม”

โดยทั่วไปแล้ว ภาวะผิดปกติในข้อแบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ ที่นิยมรักษาโดยการส่องกล้อง คือ
1.ภาวะการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ เช่น ข้อเข่าพลิก บิด บวม หลังจากอุบัติเหต หรือจากการเล่นกีฬา มีการฉีกขาดของเอ็นหรือหมอนรองกระดูก ข้อเข่า ข้อไหล่หลุดซ้ำ หลวม หรือเอ็นภายในข้อไหล่ฉีกขาด หรือข้อเท้าที่บวม ปวด หลังจากข้อพลิกซึ่งเป็นมาเป็นระยะเวลานานหรือเรื้อรัง
2.ภาวะที่เกิดจากความเสื่อมของข้อ เช่น ข้อเข่าเสื่อม มีอาการปวด บวม ขัดหรือเสียวขณะเดินโดยเฉพาะขึ้น-ลงบันได นั่งพับขา หรือข้อไหล่ซึ่งมีการปวด ขยับไม่สุด (ข้อติด) นอนทับหัวไหล่ข้างที่ปวดไม่ได้ หรือมีอาการปวดมากเวลากลางคืน
3.ภาวะที่เกิดการอักเสบของเยื่อบุข้อ เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ซึ่งมีเยื่อบุข้อที่อักเสบมาก แม้ควบคุมด้วยยาแล้วอาการก็ยังไม่ดีขึ้น

สำหรับการผ่าตัดส่องกล้องนั้น ข้อเข่ามีการผ่าตัดโดยใช้วิธีส่องกล้องมากที่สุด และได้ผลดีมากเมื่อเทียบกับการผ่าตัดเปิดข้อ ซึ่งเป็นวิธีผ่าตัดที่ใช้น้อยลงในปัจจุบัน การผ่าตัดส่องกล้องที่ใช้กันมาก เช่น การรักษาหมอนรองกระดูกข้อเข่าขาด กระดูกอ่อนแตก การผ่าตัดสร้างเอ็นในข้อเข่า ข้อหัวไหล่ ผ่าตัดซ่อมเอ็นหัวไหล่ขาด ข้อหัวไหล่หลุด ผ่าตัดซ่อมเยื่อหุ้มข้อ ผ่าแก้ไขข้อหัวไหล่ติด ข้อมือ ผ่าตัดรักษาเส้นประสาทมีเดียนถูกกดทับ วินิจฉัยผ่าตัดรักษาอาการปวดข้อมือเรื้อรัง ข้อเท้า ตรวจวินิจฉัยอาการปวดข้อเท้าเรื้อรัง กระดูกอ่อนแตก เยื่อหุ้มข้ออักเสบ ข้อสะโพก ข้อศอก มีการผ่าตัดส่องกล้องบ้างแต่น้อยกว่าข้ออื่น

การผ่าตัดส่องกล้อง จัดเป็นการตรวจวินิจฉัยและการรักษาในเวลาเดียวกัน ซึ่งสามารถทำได้โดยการใช้ยาชาเฉพาะที่ การดมยาสลบ หรือทำให้ผู้ป่วยชาเฉพาะบริเวณ ผู้ป่วยได้รับการเตรียมข้อที่ผ่าตัดเช่นเดียวกับการผ่าตัดใหญ่ทั่วไป เพื่อป้องกันการติดเชื้อแพทย์จะเจาะรูเข้าไปในข้อมีบาดแผลเล็กๆ ขนาด 0.8-1.0 ซม. ซึ่งเพียงพอที่จะใส่กล้องเข้าไปในข้อเพื่อตรวจดูภายในข้อ หากพบความผิดปกติที่สามารถผ่าตัดได้ แพทย์จะเจาะรูเพิ่มอีกเพื่อใส่เครื่องมือผ่าตัด ขณะผ่าตัดสามารถต่อกล้องเข้ากับจอภาพและบันทึกภาพได้ หลังผ่าตัดเย็บแผลปิด 1 เข็ม บางรายแผลเล็กมากอาจไม่ต้องเย็บแผล ที่สำคัญแผลผ่าตัดมีขนาดเล็กมาก บางครั้งมองเกือบไม่เห็นแผลผ่าตัด ไม่ต้องตัดเยื่อหุ้มข้อ เนื้อเยื่อรอบๆ ข้อ การบาดเจ็บจากแผลผ่าตัดน้อยลง การเคลื่อนไหวของข้อหลังผ่าตัดทำได้เร็วขึ้น สามารถฟื้นฟูสมรรถภาพของกล้ามเนื้อกลับคืนสู่สภาพปกติได้เร็ว ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดน้อยมาก วินิจฉัยได้ถูกต้อง แม่นยำ และรักษาได้ทันที หรือวางแผนผ่าตัดในอนาคตได้

นพ.สมศักดิ์กล่าวทิ้งท้ายว่า “การทำผ่าตัดส่องกล้อง จำเป็นต้องใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัยราคาค่อนข้างแพง และต้องอาศัยความชำนาญของศัลยแพทย์ การเลือกผู้ป่วยและโรคสำหรับการผ่าตัดส่องกล้องที่เหมาะสม จะช่วยให้ผลการรักษาเป็นไปด้วยดี คุ้มค่า และเป็นประโยชน์ต่อคนไข้มาก”.

 

ที่มา: ไทยโพสต์  7 พฤศจิกายน 2555

โรค​ปวด​ข้อ​-​ฉีด​ยา​เข้า​ข้อ​เพื่อ​กายภาพบำบัด​

ข้อต่าง ๆ ของร่างกายต่างทำหน้าที่  ให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวทำงานต่าง ๆ  ได้สะดวก โดยเฉพาะบ้านเราที่เป็นภาคเกษตรกรรม การทำไร่ทำนาทำสวนต้องใช้ข้อเคลื่อนไหวมาก หากมีการเจ็บปวดขึ้นมา หรือติดขัดขยับไม่ค่อยได้ จะทรมานหรือมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันอย่างมาก

โรคข้อที่จะคุยในวันนี้หมายถึงโรคข้อเสื่อมในผู้สูงอายุ (Osteoarthritis) ผู้ที่เป็นมานานจะเห็นความทุกข์ชัดเจน นั่งยอง ๆ ไม่ได้ นั่งคุกเข่าไม่ได้ นั่งพับเพียบไหว้พระสวดมนต์ไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องของข้อเข่า เวลานั่งคุยกับใครต้องเหยียดขาออกดูเหมือนไม่สุภาพ ส่วนข้ออื่น ๆ หลัง ไหล่ ก็เช่นกันจะปวดขยับไม่ค่อยได้ไปหมด

โรคข้อเสื่อม พบได้ทั้งเพศชาย-หญิง อายุเกิน 40 ปีขึ้นไป เซลล์กระดูกอ่อนทำให้มีการเปลี่ยนแปลงจากขบวนการของความเสื่อม กระดูกอ่อนจะถูกทำลายไปจนถึงชั้นกระดูก เริ่มแรกจะปวดตอนเคลื่อนไหว นานเข้าจะปวดทั้งพักและเคลื่อนไหวไปด้วย ตำแหน่งที่พบบ่อย ข้อเข่า ข้อตะโพก กระดูกสันหลัง ข้อนิ้วมือ ฯลฯ จะปวดตอนลงน้ำหนัก ยืน เดิน ภาพทางรังสีจะพบช่องระหว่างข้อแคบลงกว่าเดิม

การรักษา เริ่มด้วยทางยาไปจนถึงการผ่าตัด และการรักษาทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู การฝึกออกกำลังกล้ามเนื้อรอบข้อ และลดน้ำหนักหากน้ำหนักเกินจะช่วยได้มาก

ก่อนจะคุยต่อไปอยากคุยเรื่องที่มาที่ไปของเรื่องนี้เสียก่อน ว่าได้มีการไปตรวจโรคข้อกันที่ไหน เรื่องราวเป็นมาอย่างไร คือ เมื่อ 4 ส.ค. 52 ทางคณะนักศึกษา วปอ. รุ่น 27, มูลนิธิแสง-ไซ้กี   เหตระกูล, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ร่วมกับองค์กรแพทย์อีกหลายแห่ง นำแพทย์ทั่วไปและแพทย์เฉพาะทางลงชุมชนตรวจคนไข้ ที่โรงเรียนบ้านเล้า ต.หนองแก้ว อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด

พิธีเปิดเริ่มตอนเช้า รอง ผวจ.ร้อยเอ็ด คุณธานี ปลูกเจริญ มาเป็นประธานเปิดงาน มีผู้บริหารระดับสูงของ กฟภ.มาหลายท่าน นริศ ศรีนวล, มาโนชย์ สังขวุฒิชัยกุล, เศกสิทธิ์ ศุภรัตนาพิทักษ์, สุภณ ศรีสถิตย์ ฯลฯ รวมทั้งเจ้าของพื้นที่ สนั่น โกสีลารัตน์ ผอ.โรงเรียนบ้านเล้า, มังกร สัจจะมโน นายก อบต.หนองแก้ว และกำนัน นิพนธ์ ศรีอุดร ให้ความร่วมมือช่วยเหลือเต็มที่

คนไข้มาตรวจ ราว 2,000 คน ต้องขอชมหน่วยงานทุกองค์กรที่มาช่วยอย่างมาก ทางสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด โรงพยาบาลร้อยเอ็ด โดย เฉพาะการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคบริการได้อย่าง ดีเยี่ยม ทั้งสถานที่ น้ำ-ไฟ อาหารการกิน ไปจนถึงการรับส่งเป็นที่เรียบร้อย ทาง สสจ.ร้อยเอ็ด นพ.ภาสกร ไชยเศรษฐ ได้  ส่งเจ้าหน้าที่และหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่มาช่วย บริการ ทญ.ปิยนาถ แก้วบัวพันธุ์ รพ.เสลภูมิ, ทญ.นฤมล ศีรษะภูมิ รพ.จังหาร พร้อมทันตแพทย์ผู้ช่วย, นพ.ณรงค์ ลิ้มตระกูล ผอ.รพ.ร้อยเอ็ด   ได้ส่งเจ้าหน้าที่พร้อมเวชภัณฑ์มาช่วยเช่นกัน และอีกหลาย ๆ โรงพยาบาลเจ้าประจำจากกรุงเทพฯ ซึ่งได้มาช่วยกันตลอดระยะ 2 ปีที่ผ่านมา

รพ.ศรีวิชัย 3 อ้อมน้อย สมุทรสาคร นพ.วิชัย วนดุรงค์วรรณ, นพ.พงษ์ศักดิ์ วัฒนา ได้นำเจ้าหน้าที่มาช่วยตรวจคนไข้ที่มีปัญหาเรื่อง กระดูก และข้อและนำอุปกรณ์การแพทย์มาตรวจ หาความหนาแน่นของมวลกระดูกโดย บ.เมดิเซีย อินสตรูเม้นท์ และ บ.เจ็บเซ่น

ฉีดยาเข้าข้อเพื่อกายภาพบำบัด มีคนไข้ปวดข้อ โดยเฉพาะข้อเข่า ข้อไหล่ มากันมาก แต่ละคนปวดกันมานานเป็นปี หลายปี กินยาแก้ปวดสารพัด จนข้อเข่าบวม เหยียดไม่ค่อยออก ข้อไหล่ก็ติดเอามือไพล่หลังไม่ได้สุด ตื่นนอนเช้ากว่าจะลุกขึ้นมาได้ลำบากมาก ต้องค่อย ๆ ขยับทีละน้อยเพราะปวด คุณหมอพงษ์ศักดิ์บอกว่า หนทางที่จะช่วยไม่ให้ข้อต้องเสื่อมไปมากกว่านี้ ต้องฝึกให้ทำกายภาพบำบัดกล้ามเนื้อรอบข้อให้ได้ ได้ฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อให้ หลังจากดูดน้ำในข้อออก แล้วมีทีมสอนทำกายภาพฝึกให้ข้อได้เคลื่อนไหว ฝึกทำจนเข้าใจและต้องไปทำต่อที่บ้านทุกวัน ไม่ทำข้อจะติดแข็งอีก

คนไข้มาตรวจเรื่องกระดูก 206 ราย ตรวจมวลกระดูกพรุน 188 ราย ฉีดยาเข้าข้อ 34 ราย และฝึกทำกายภาพบำบัดทั้งหมด ทั้งข้อเข่าและข้อไหล่ คุณหมอเน้นว่าจะฉีดให้ครั้งเดียวเท่านั้น เรื่องการฉีดสเตียรอยด์เข้าข้อ คุณหมอกระดูกแต่ละท่านอาจมีความเห็นต่างกัน แต่มาครั้งนี้ฉีดเพื่อให้ทำกายภาพบำบัดได้เพราะแต่ละรายเท่าที่เห็นปวดบวมมาก ขยับข้อแทบไม่ได้เลย หลังฉีดยาเข้าข้อไปแล้วต่างบอกว่าสบายขึ้นมาก รับปากว่าจะไปฝึกกายบริหารของข้อต่อไปทุกวันไม่ลืม

โรคปวดข้อจากความเสื่อมในผู้สูงอายุยังพบมากอยู่ ปัญหาเรื่องปวด บวม ขยับไม่คล่อง ตัวไปจนถึงติดขยับไม่ได้ทำให้ทุกข์ทรมานมาก  การฉีดสเตียรอยด์เข้าข้อมีทั้งผลดีและเสีย อยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา การทำกายภาพบำบัดกล้ามเนื้อรอบข้อทุกวันจะช่วยให้อาการปวดทุเลา ลงมาก.

 

ที่มา: เดลินิวส์  23 สิงหาคม 2552