‘ตรวจพบไวรัสตับอักเสบซีทำอย่างไรดี’ ตอนที่ 2

dailynews150111ระหว่างการรักษาแพทย์จะมีการตรวจนับจำนวนไวรัส ที่ 1, 3, 6 และ 12 เดือน เพื่อประเมินโอกาสการหาย ถ้าไวรัสไม่ลดลงหรือหมดไปที่ระยะ 3 เดือน ในสายพันธุ์ที่ 1 แพทย์อาจพิจารณาหยุดการรักษา หรือ ถ้าตรวจไม่พบไวรัสตั้งแต่เดือนแรก จะช่วยบอกว่าโอกาสการหายมากกว่า 90% เป็นต้น

คำว่าหายจากหลังการรักษานั้นหมายถึงเมื่อได้ยาครบกำหนดแล้ว หลังจากนั้นอีก 6 เดือนตรวจไม่พบไวรัสซีในเลือด คือ ตรวจ HCV RNA viral load แล้ว น้อยกว่าค่าที่ตรวจได้ เช่น < 12 IU/mL โอกาสที่จะกลับเป็นใหม่น้อยมาก จึงใช้คำว่าหายขาด แต่อย่างไรก็ตามแม้หายแล้วยังต้องมาติดตามตรวจคัดกรองมะเร็งตับอย่างน้อยทุก ๆ 6 เดือน เพราะไวรัสซีอาจจะเคยทำลายตับมานานจนบางส่วนมีพังผืดมากหรือมีตับแข็ง บริเวณเหล่านั้นอาจเป็นจุดก่อมะเร็งได้ ถึงแม้รักษาไวรัสซีหายไปแล้วโอกาสการเป็นมะเร็งตับลดลงแต่ก็ยังมีโอกาสเป็นได้อยู่

ปัจจุบันการรักษาไวรัสซีสายพันธุ์ที่ 2 และ 3 สามารถรักษาได้ฟรีผ่านทาง สำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) หรือ ประกันสังคม โดยมีเกณฑ์ข้อกำหนดในเบื้องต้นเพื่อควบคุมจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาให้เหมาะสมกับงบประมาณ ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจนั้นเบิกค่ารักษาได้อยู่แล้วสำหรับทุกสายพันธุ์ เชื่อว่าในที่สุด สปสช. คงจะอนุมัติให้รักษาฟรีในทุกสายพันธุ์ในไม่ช้า ฉะนั้นต้องคอยติดตามข่าวคราว และกระตุ้นเตือนให้แพทย์ทราบเรื่องการรักษาฟรียุคปลอดไวรัสซีกำลังจะมาถึง

มีการทำนายกันว่าอีกไม่นานไวรัสซีกำลังจะหมดไป รวมถึงการรักษาด้วยยามาตรฐานปัจจุบันคือ “อินเตอร์เฟียรอน/ไรบาวิริน” กำลังใกล้จะหมดยุค ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะเป็นการรักษาด้วยยาชนิดใหม่และสามารถทำให้โรคหายได้เกิน 90% ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ใด

ไวรัสตับอักเสบซีแม้ค้นพบมาเพียง 20 กว่าปี แต่นักวิทยาศาสตร์รู้ทะลุปรุโปร่งว่าไวรัสซีเข้าเซลล์ตับอย่างไร แบ่งตัวอย่างไร ใช้วิธีอะไรในการสร้างตัวใหม่ ก่อนส่งต่อออกไปนอกเซลล์ตับ หลายปีที่ผ่านมาจึงมีการวิจัยสร้างยาที่ไปยับยั้งเฉพาะกระบวนการต่าง ๆ ในเซลล์ทำให้ไวรัสแบ่งตัวไม่ได้ ยากลุ่มนี้เรียกรวม ๆ ว่า Direct Acting Antiviral drugs หรือย่อว่า DAA ตอนนี้มียาออกมาแล้วหลายชนิด

สองตัวแรกที่ออกมาเมื่อ 2-3 ปีก่อนเรียกว่าเป็น DAA รุ่นแรก ชื่อ Telaprevir กับ Boceprevir ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สามารถทำให้การรักษาสายพันธุ์ที่ 1 หายเพิ่มจาก 40-50% เป็น 60-70% และสามารถใช้ในการรักษาผู้ที่เคยได้รับการรักษาด้วยยาสูตรเดิมมาแล้วไม่หาย สองตัวนี้ยังต้องให้ร่วมกับสูตรยามาตรฐานเดิม ซึ่งปีนี้ Boceprevir เริ่มมีจำหน่ายในประเทศไทย ผู้จะใช้ยาได้ต้องกระเป๋าหนักพอควร และยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้ตามสวัสดิการต่าง ๆ

ถึงปีนี้และปีต่อ ๆ ไป กำลังจะมียาชนิดใหม่คลานตามกันออกมาจำนวนมาก เรียกว่าเป็น DAA รุ่นที่ 2 ที่ออกมาในปีนี้ได้แก่ Sofosbuvir, Ledipasvir, Simeprevir, Asunaprevir, Daclastavir ผลการศึกษาวิจัยระยะที่สามของยา DAA หลายชนิดก่อนออกสู่ท้องตลาด เมื่อนำยามารวมกันสองหรือสามชนิด โดยไม่ต้องให้ยาอินเตอร์เฟียรอนและไรบาวิรินร่วมด้วย ให้ผลการรักษาหายมากกว่า 90% การพัฒนายาใหม่ในอนาคตจะเป็นลักษณะการให้ยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการสร้างตัวไวรัสหลายตำแหน่งในเซลล์ เมื่อนำมาใช้ร่วมกันจึงมีประสิทธิภาพในการรักษาที่ดีขึ้น แถมยาบางอย่างจะถูกผลิตออกมาเป็นยา 2 ชนิดในเม็ดเดียวกัน ทานวันละเม็ด เป็นเวลา 3-6 เดือน โรคหายเกือบหมด แต่ปัญหาในขณะนี้อยู่ที่ราคายาซึ่งสูงมาก เช่น ยาชนิดหนึ่งทานวันละหนึ่งเม็ดไป 3 เดือนราคาที่ประเทศทางยุโรปในปี 2557 อยู่ที่ประมาณ 3 ล้านบาท อย่างไรก็ตามเชื่อว่าเมื่อถูกนำมาขายในประเทศแถบบ้านเรา ราคาคงจะต้องลดลงอย่างเหมาะสม มิเช่นนั้นใครจะไปใช้ เชื่อว่าน่าจะประมาณปลายปี 2558 เป็นต้นไป คนไทยคงจะมีโอกาสใช้ยาเหล่านี้ และไวรัสซีก็จะหมดไปจากประเทศไทย

คุณสมใจ นึกย้อนอดีตไปน่าจะได้รับเชื้อจากการได้รับเลือดเมื่อตอนคลอดบุตรชาย แล้วไวรัสก็แอบกัดกินตับของเธอมาตลอดโดยไม่มีอาการอะไรให้ทราบแม้แต่น้อย ถ้าไม่ไปตรวจเลือดก็ไม่ทราบ ผ่านไป 20 กว่าปีไวรัสซีผลาญตับเธอจนเข้าสู่ระยะตับแข็งไปแล้ว เมื่อทราบว่าเป็นเชื้อไวรัสซีสายพันธุ์ที่ 3 จึงเข้ารับการรักษาตามกฎระเบียบการเบิกจ่ายของ สปสช. ได้ยาอยู่ 6 เดือน อีก 6 เดือนให้หลังตรวจไม่พบเชื้อไวรัสในเลือด แสดงว่าโรคไวรัสซีหายขาดไปแล้ว จึงมั่นใจว่าตับของเธอจะไม่แข็งไปมากกว่านี้ อนาคตพังผืดในตับของเธอก็จะลดลงไปเรื่อย ๆ จนเนื้อตับเป็นปกติ แต่เธอยังต้องคอยติดตามระวังมะเร็งตับอย่างต่อเนื่อง ขอบคุณลูกชายที่กลับมาช่วยแม่ไว้ทัน…ยังไม่สายเกินแก้

ข้อมูลจาก นายแพทย์ ดร.ปิยะวัฒน์ โกมลมิศร์ ศูนย์โรคตับ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์

 

ที่มา: เดลินิวส์ 11 มกราคม 2558

‘ตรวจพบไวรัสตับอักเสบซีทำอย่างไรดี’ ตอนที่ 1

dailynews150104คุณสมใจ แม่ค้าในตลาดที่แปดริ้ว อายุเข้าวัยกลางคน เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนเคยตกเลือดขณะคลอดบุตรได้รับเลือดไปหลายถุง ที่ผ่านมาสุขภาพร่างกายแข็งแรง ลูกชายเรียนจบสมัครเข้าทำงานได้เลยพาคุณแม่ไปตรวจเช็กร่างกายประจำปี ไปพบว่ามีตับอักเสบ ค่า SGOT/SGPT สูงประมาณสองเท่าของค่าปกติ หมอตรวจเพิ่มเติมพบไวรัสตับอักเสบซี และมีตับแข็งระยะต้น คุณสมใจบ่นอยู่ในใจ ไม่เคยได้ยินมาเลยว่ามันคือตัวอะไร ฉันก็แข็งแรงดี จะทำอย่างไรดี จะเอาเงินที่ไหนมารักษา

ไวรัสตับอักเสบซี เป็นไวรัสตัวเล็ก ๆ ที่ชอบอาศัยอยู่ในตับและก่อให้เกิดตับอักเสบเรื้อรังได้ ติดต่อได้ทางเลือด ผลิตภัณฑ์ของเลือด และเพศสัมพันธ์ ในอดีตรู้กันว่า มีไวรัสที่ทำให้เกิดตับอักเสบหลังได้รับเลือด เรียกชื่อกันแต่เดิมว่า “ไวรัสที่ไม่ใช่เอไม่ใช่บี” มาพิสูจน์ชัดและเริ่มมีการตรวจคัดกรองในเลือดที่รับบริจาคตั้งแต่ปี 2532-2533 คือร่วมยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา คนที่ติดเชื้อจากเลือด 100 คน ประมาณยี่สิบคนจะหายเอง ส่วนอีกประมาณแปดสิบคนจะกลายเป็นการติดเชื้อแบบเรื้อรัง ก่อให้เกิดตับอักเสบแบบเรื้อรัง ตามมาด้วยตับแข็ง โดยประมาณเวลาก็ราว ๆ 20-30 ปี เมื่อเข้าสู่ระยะตับแข็ง ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งประมาณหนึ่งในสามเป็นอย่างน้อยจะมีโอกาสเกิดมะเร็งตับแทรกซ้อนขึ้นมา ดูไปก็คล้าย ๆ กับการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี แต่ไม่ซับซ้อนเท่า เพราะเป็นโรคแบบระยะเดียว ก้าวไปเรื่อย ๆ แอบกินตับไปทีละน้อย เหมือนสนิมกัดกร่อนตับไปช้า ๆ แบบเจ้าตัวไม่รู้ถ้าไม่ไปตั้งใจตรวจหา ไวรัสตัวนี้มักไม่แสดงอาการกะโตกกะตาก คือก่อให้เกิดตับอักเสบเฉียบ พลันแทรกซ้อนเหมือนกับไวรัสตับอักเสบบีที่ทำให้ตาเหลืองตัวเหลืองแบบสังเกตเห็นได้ ทำให้ผู้เป็นโรคไม่มีทางทราบแม้แต่น้อย มารู้อีกทีก็เมื่อตับแข็งจนตับวาย หรือเกิดมะเร็งตับแทรกซ้อนขึ้น

บ้านเราพบประมาณ 2% ของประชากร (2 คนใน 100 คน) โดยเฉพาะในคนที่เคยได้รับเลือดหรือผลิตภัณฑ์ของเลือด เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ผู้ที่สักตามร่างกาย ใช้เข็มร่วมกัน มีสามีภรรยาเป็นโรคอยู่ และผู้ใหญ่ทุกคน ควรได้รับการตรวจคัดกรองโดยตรง เริ่มจากตรวจภูมิต่อไวรัสซี เรียก “AntiHCV” หรือ “HCV Antibody” ถ้าให้ผลบวก ไม่ได้แปลว่าเรามีภูมิป้องกันโรค แต่แปลว่า

1) เคยติดเชื้อมาแล้วหายไปเอง แต่ภูมิยังจะให้ผลบวกอยู่ตลอดไป หรือ แปลว่า

2) กำลังติดเชื้ออยู่ การตรวจยืนยันว่ามีเชื้อหรือไม่ แพทย์จะส่งตรวจดูสายพันธุกรรมของไวรัสโดยตรงและนับออกมาเป็นจำนวนตัว เรียกว่าตรวจ HCV viral load รายงานผลออกมาเป็น กี่ยูนิต ต่อซีซี เช่น ถ้าน้อยกว่า 12 ยูนิต ต่อซีซี (<12 unit/mL, ความไวในการตรวจที่ใช้อยู่ขณะนี้คือระดับ 12 unit) เรียกว่าเป็นลบ คือไม่พบเชื้อ ถ้าออกมามากกว่า 12 ยูนิต ก็เรียกว่าพบเชื้อ โดยมากจะมีเชื้อเป็นหลายแสน หรือหลายล้านยูนิต ต่อซีซี

ในเวลาเดียวกันกับที่ตรวจนับเชื้อ แพทย์จะตรวจชนิดของไวรัสซีร่วมไปด้วย ไวรัสซีแบ่งสายพันธุ์ (genotype) ออกเป็น 6 สายพันธุ์ เรียกว่าสายพันธุ์ 1, 2, 3, 4, 5 หรือ 6 บ้านเราพบ สายพันธุ์ ที่ 1 ประมาณ 40 กว่าเปอร์เซ็นต์ สายพันธุ์ที่ 3 ประมาณ 40 กว่าเปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นสายพันธุ์ที่ 6 ประมาณเกือบ 10 เปอร์เซ็นต์ แตกต่างกันไปตามภาคของประเทศไทย เช่น สายพันธุ์ 6 พบมากในภาคเหนือและอีสาน ที่ต้องตรวจชนิดของสายพันธุ์ก็เพราะแต่ละสายพันธุ์มีการรักษาด้วยระยะเวลาที่แตกต่างกันและโอกาสการหายไม่เท่ากัน

นอกจากนี้แพทย์จะตรวจประเมินค่าการทำงานตับ เม็ดเลือด ค่าการแข็งตัวของเลือด ค่ามะเร็ง (AFP) ตรวจอัลตราซาวด์ตับ หรือเอกซ เรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือ คลื่นแม่ เหล็กไฟฟ้า (MRI) ตามความเหมาะสม ปัจจุบันมีการตรวจความหนาแน่นของตับ (liver stiffness) เพื่อประเมินในเบื้องต้นว่าตับมีพังผืดมากน้อยอย่างไร และอาจมีการ เจาะตับเพื่อประเมินก่อนการรักษาในกรณีที่จำเป็น อยู่ในดุลพินิจของแพทย์และผู้รับการรักษาร่วมกัน

การรักษาไวรัสซี มีประโยชน์แน่นอน ยิ่งรักษาตั้งแต่ระยะแรก ๆ ดีกว่าปล่อยไปเริ่มรักษาตอนตับแข็งไปแล้ว ถ้าหายจากโรคคือหายขาด ไวรัสซีหายไปเลย ผลที่ได้ คือ ตับจะหยุดอักเสบ พังผืดที่เคยเกิดขึ้นก็จะลดลง ตับที่เคยแข็งก็จะหยุดและพังผืดก็จะค่อย ๆ ลดลง นานเข้าตับแข็งก็หายไป โอกาสการเป็นมะเร็งตับก็จะลดลงเช่นกัน

การรักษาด้วยยามาตรฐาน ประกอบด้วยยาสองชนิดคือ ยาฉีด เพ็คกีเลเต็ดอินเตอร์เฟียรอน (Pegylated interferon) เข้า ใต้ผิวหนัง อาทิตย์ละครั้ง ร่วมกับยาชนิดรับประทานชื่อ ไรบาวิริน (Ribavirin) วันละสองครั้ง หลักการคือยาอินเตอร์เฟียรอนไปกระตุ้นภูมิต้านทานให้ไปทำลายไวรัส และตัวยาเองก็ช่วยทำลายไวรัสด้วย ยาอินเตอร์ เฟียรอนมีสองชนิด เลือกชนิดใดชนิดหนึ่ง ระหว่าง ชนิดอัลฟ่า 2a (Pegasys) หรือ ชนิดอัลฟ่า 2b (Peg-intron, Redipen) ภาวะแทรกซ้อนของยานี้มีหลายประการได้แก่ ไข้ขึ้นปวดเมื่อยตามร่างกายหลังฉีดยาเข็มแรก ๆ กดไขกระดูกทำให้ โลหิตจาง เม็ดเลือดขาวตํ่า และเกล็ดเลือดตํ่าลง มีผลต่ออารมณ์ ความเครียด นอนไม่หลับ ผมร่วงมากขึ้น และบางครั้งไปกระตุ้นภูมิต้านทานบางอย่างมีผลต่อการทำงานของต่อมไทรอยด์ เป็นต้น ส่วนยาไรบาวิรินไปช่วยลดการแบ่งตัวของไวรัสซี มีภาวะแทรกซ้อนทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่าย เกิดโลหิตจาง ยาตัวนี้ห้ามให้ขณะมีครรภ์ การรักษาด้วยยาทั้งสองชนิดร่วมกันทำให้ผลการรักษาออกมาดี โดยสรุปผลและระยะเวลาการรักษาดูได้จากตารางข้างล่าง

ข้อมูลจาก นายแพทย์ ดร.ปิยะวัฒน์ โกมลมิศร์ ศูนย์โรคตับ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์.

นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์

ที่มา: เดลินิวส์ 4 มกราคม 2558

‘เมื่อฉันตรวจพบไวรัสตับอักเสบบี’

dailynews141221_04‘เมื่อฉันตรวจพบไวรัสตับอักเสบบี’ ตอนที่ 1

คุณสมพงษ์ หนุ่มใหญ่นักธุรกิจ รู้ว่าเป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบีมาตั้งแต่ตอนเรียนมหาวิทยาลัย เฝ้าติดตามห่าง ๆ มานานเพื่อนตัวนี้ก็ไม่ยอมไปไหน ระยะหลังเห็นข่าวคราวเซเล็บหลายต่อหลายคน ทั้ง ดีเจ นักร้อง ตลอดจนนักการเมืองใหญ่โต ป่วยด้วยโรคตับแข็ง หรือไม่ก็มะเร็งตับ ฟังแล้วก็เสียวไปถึงตับ สืบค้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต ยิ่งอ่านยิ่งกังวล มีคนแนะนำให้ไปตรวจนับไวรัสในเลือด ลองไปตรวจดูเอง เห็นผลแล้วเครียดหนัก คือมีไวรัสตั้งหกร้อยล้านตัวต่อซีซี นี่ตับฉันเป็นโรงงานผลิตไวรัสหรือนี่กระไร ไม่รู้จะทำอย่างไรกับชีวิต

คนไทยและชาวเอเชียเป็นแหล่งพาหะของไวรัสตับอักเสบบี ประเทศไทยตอนนี้พบประมาณ 3-5 คน ใน 100 คน จะพบน้อยก็เด็กรุ่นใหม่ที่ได้รับวัคซีนตั้งแต่แรกเกิดทั่วประเทศซึ่งเริ่มประมาณปี 2535 ฉะนั้นปัญหาก็จะเป็นกับคนรุ่นที่เกิดก่อนปีนั้น ปัญหาของบ้านเรายังอยู่ที่ไม่มีการตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบบี ผู้คนยังเข้าใจผิดกับเรื่องการติดต่อ ทำให้กลัวคนรังเกียจบ้าง เลยพยายามไม่ไปตรวจ หรือปกปิด ปัญหาใหญ่อีกประการคือ ทั้งคนที่รู้ว่าเป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบีและแพทย์จำนวนหนึ่ง ยังเข้าใจกับคำว่าพาหะแบบผิด ๆ คือคิดว่าเป็นพาหะแล้วปลอดภัย ไม่เกิดปัญหา หรือมีเชื้ออยู่เฉย ไม่ต้องไปตรวจติดตามก็ได้ จนในที่สุดก็ลืมไป กลับไปหาแพทย์ก็ตอนเป็นมะเร็งตับไปแล้ว

ไวรัสตับอักเสบบีแบบเรื้อรัง ซึ่งบ้านเรามักจะติดมาจากมารดาขณะคลอด ทำให้เป็นเรื้อรังไปจนเป็นผู้ใหญ่ คนที่มีตับอักเสบเรื้อรังร่วมด้วยเมื่อปล่อยไปนาน ๆ เข้าโดยไม่ได้รับการรักษา จะเกิดภาวะตับแข็ง ตับแข็งระยะท้ายจนตับวาย และบางคนจะมีมะเร็งตับแทรกซ้อนขึ้นมา ทั้งไวรัสตับอักเสบบีกับไวรัสตับอักเสบซีมีการดำเนินโรคคล้าย ๆ กันตรงที่ ชอบที่จะอยู่แบบเงียบ ๆ เหมือนสนิมกัดกร่อนตับแบบที่เจ้าตัวไม่รู้ แต่เจ้าไวรัสบีตัวร้ายมีนิสัยประหลาดอยู่ที่ เมื่อเวลาผ่านไปจากไวรัสน้อยก็อาจเพิ่มจำนวนขึ้นมามาก ๆ วันดีคืนดีก็ก่อให้เกิดตับอักเสบแบบเฉียบพลันขึ้นมาเฉย มีตั้งแต่เป็นน้อยไม่แสดงอาการชัด แค่รู้สึกเพลีย ๆ ไปจนตาเหลืองตัวเหลือง บางคนถึงขั้นตับวายเสียชีวิต โดยเฉพาะคนที่ไปได้รับยากดภูมิต้านทานเช่น สเตียรอยด์ หรือยาเคมีบำบัด และที่พบบ่อยอีกกลุ่มคือ คนที่ทานยาต้านไวรัสแล้วเกิดเบื่อ แอบหยุดยาไปเอง หรือ เกิดดื้อยาระหว่างการรักษา พอไวรัสเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วจะเกิดภาวะตับอักเสบเฉียบพลันแทรกซ้อนขึ้นมา

ทุกคนที่มีไวรัสตับอักเสบบีแบบเรื้อรังเกิน 6 เดือน เรียกว่าเป็น “พาหะไวรัสตับอักเสบบี” หรือ มักจะได้ยินคนพูดตามภาษาอังกฤษแบบสั้น ๆ ว่า “แคร์ริเออร์” ตัดมาจากคำว่า Viral hepatitis B carrier แปลว่า มีไวรัสบีอยู่ในร่างกายและสามารถแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้ แปลแค่นี้ ไม่ได้แปลว่าเป็นพาหะแล้วตัวเองปลอดภัยโดยทั่วไปแบ่งพาหะไวรัสตับอักเสบบีออกเป็น 4 ระยะ คือ

(1) พาหะตอนเด็ก (immune tolerance) ไวรัสในเลือดมากแต่ไม่มีการอักเสบของตับ ต่างคนต่างอยู่

(2) ระยะที่เริ่มมีการอักเสบทำลายไวรัส (immune clearance) ระยะนี้ภูมิต้านทานของร่างกายเริ่มแข็งแรงขึ้นจึงไปทำลายไวรัสในตับทำให้เกิดตับอักเสบขึ้น เกิดขึ้นตอนเข้าสู่วัยรุ่นหรือบางคนยาวไปจนอายุยี่สิบกว่าปี ถ้าทำลายไวรัสสำเร็จจะเข้าสู่ระยะที่สาม แต่ถ้าทำลายไวรัสไม่ได้สักทีหลายปีไม่ยอมหายเราเรียกว่า ตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสตับอักเสบบี ระยะอีบวก [แพทย์ใช้อีโปรตีน (HBeAg) เป็นตัวแบ่งระยะโรค] ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม หลายคนจะตามมาด้วยภาวะตับแข็งและมีโอกาสเป็นมะเร็งตับสูง

(3) ระยะพาหะชนิดเชื้อน้อย (inactive carrier) ภูมิต้านทานของร่างกายควบคุมไวรัสได้สำเร็จ จนไวรัสในเลือดลดลงมากจนน้อยกว่า 10,000 ตัวต่อซีซี (copies/mL) หรืออาจจะใช้หน่วยเป็นน้อยกว่า 2,000 ยูนิตต่อซีซี (IU/mL) ซึ่งระยะนี้จะไม่มีการอักเสบของตับ โดยค่า SGOT/SGPT จะอยู่ในเกณฑ์ปกติ ผู้ที่อยู่ในระยะนี้ และคงอยู่อย่างนี้ไปนาน ๆ โอกาสกลายเป็นตับแข็งจะน้อยกว่าระยะอื่น โอกาสการเป็นมะเร็งตับก็น้อยกว่าระยะอื่น แต่ไม่ได้หมายถึงว่าไม่มีโอกาสเป็นมะเร็งตับ ผู้ที่อยู่ในระยะนี้บางคน ภูมิของร่างกายดีขึ้นไปอีกจนกำจัดไวรัสได้เกือบราบคาบ จนไวรัสหายไป [ตรวจผิวไวรัสบีเป็นลบ (HBsAg)] บางคนเกิดภูมิต้านทานต่อไวรัสบี (AntiHBs) ขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งเราเห็นกันได้บ่อย ๆ ว่าทำไมคนบางคนไปตรวจเช็กเลือดแล้วพบว่าตัวเองมีภูมิต้านทานไวรัสบีอยู่แล้วทั้ง ๆ ที่ไม่เคยไปฉีดวัคซีนมาก่อน บางท่านไวรัสนอนนิ่งอยู่นานอยู่ดี ๆ ก็เพิ่มจำนวนขึ้นเข้าสู่ระยะต่อไปคือ

(4) ระยะตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสบี ชนิดอีลบ (immune reactivation) คือไวรัสเกิดหาหนทางสำเร็จในการดื้อต่อภูมิของร่างกาย เปลี่ยนแปลงร่างจนภูมิของร่างกายควบคุมไว้ไม่ได้ ไวรัสเพิ่มจำนวนมากขึ้น ในที่สุดก่อให้เกิดภาวะตับอักเสบขึ้นมาใหม่ แพทย์ใช้คำว่า “อีลบ” ต่อท้ายเพื่อแบ่งระยะโรคว่าแตกต่างกับระยะที่สองที่เรียก “อีบวก” โดยดูจากโปรตีนอี (HBeAg) เป็นลบในเลือด เช่นเดียวกับระยะที่สอง ถ้าปล่อยไว้ไม่รักษาตับก็จะถูกทำลายไปเรื่อย ๆ จนเกิดภาวะตับแข็งและมะเร็งตับได้ ที่สาธยายมานี้ก็เพื่อผู้อ่านบางท่านที่อยากจะรู้ลึกและเข้าใจโรคมากขึ้น แต่ผู้ที่อ่านแล้วไม่เข้าใจ ก็ไม่ต้องใส่ใจมากเพราะจะเครียดไปเปล่า ๆ แค่เป็นโรคก็เครียดพอแล้ว

เอาเป็นว่าใครก็ตามที่เข้าสู่วัยอายุยี่สิบกว่า ๆ ก็สมควรเข้าสู่ระยะที่ (3) ระยะพาหะเชื้อน้อย คือมีไวรัสในเลือดน้อยกว่า 10,000 ตัวต่อซีซี ร่วมกับไม่มีภาวะตับอักเสบ (SGOT/SGPT อยู่ในเกณฑ์ปกติ) ถ้าอยู่ในระยะนี้ จะปลอดภัยกว่าระยะอื่น ไม่ต้องให้ยารักษา เอาแค่ติดตามกับแพทย์อย่างต่อเนื่อง คอยระวังไวรัสตื่นขึ้นมาใหม่ หรือ คอยระวังมะเร็งตับ แต่อย่าไปเครียดมาก คิดเสียว่าไวรัสเป็นเพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตาย อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข เมื่อไหร่ไวรัสมันเบื่อ ก็อาจจะยอมถอยร่นหายไปจากตับตามที่ได้กล่าวมา อย่าลืมต้องออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทำจิตใจให้ผ่องใส ภูมิต้านทานจะได้แข็งแรงไปช่วยกำจัดไวรัสที่หลงเหลืออยู่ บางท่านเล่าว่า เขาแผ่เมตตาให้มันบ่อย ๆ ขู่มันเป็นพัก ๆ บอกไวรัสว่า ถ้ามาเล่นงานจนเขาเป็นอะไรไป ไวรัส! เจ้าก็จะไม่มีที่อยู่ที่กินนะ จะบอกให้

ใครก็ตามเมื่อวัยยี่สิบกว่า ๆ แล้ว ไวรัสมีจำนวนมากกว่า 10,000 ตัวต่อซีซี โดยมากจะมีไวรัสเป็นหลายแสน หลายล้าน หลายร้อยหลายพันล้าน ซึ่งถ้าติดตามผลเลือดเป็นระยะ ๆ ก็จะพบค่าการอักเสบสูงเกินค่าปกติ (คนที่ไวรัสเกินหนึ่งหมื่นถึงแสนต้น ๆ มักไม่มีตับอักเสบ) คนอยู่ในเกณฑ์นี้แล้วไวรัสไม่ยอมลดลงเอง ควรพิจารณาให้การรักษา ซึ่งต้องพิจารณาหลายปัจจัยร่วมด้วย ดังนั้นต้องปรึกษาแพทย์ผู้รู้และปรึกษาตนเองหลังได้คุยกับแพทย์ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ ว่าสมควรรักษาหรือยัง หรือจะเลือกการรักษาด้วยวิธีใด

การรักษาไวรัสตับอักเสบบี ก็เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลร้ายที่กล่าวข้างต้น คือ ตับอักเสบ ตับแข็ง ตับวาย และมะเร็งตับ มีทั้งงานวิจัยและประสบการณ์ตรงยืนยันแน่ชัดว่า แม้ตับเข้าสู่ระยะตับแข็งและตับเริ่มวายไปแล้ว พอได้ยาต้านไวรัส กดไวรัสไม่ให้โงหัวขึ้นมา ผ่านไประยะหนึ่ง ตับจะฟื้นตัวกลับมาทำงานปกติ พังผืดและตับแข็งก็หายได้ ในงานวิจัยเดียวกันในผู้ป่วยตับแข็ง ก็มีตัวเลขทางสถิติชี้บ่งว่า โอกาสการเกิดมะเร็งตับก็ลดลง ฉะนั้นเมื่อมีข้อบ่งชี้ว่าควรรักษาก็ต้องรักษา

การให้ยารักษาไวรัสตับอักเสบบี มีหลักในการหายอยู่สองประเภทคือ การหายระยะที่หนึ่ง คือรักษาให้โรคกลับเข้าสู่ระยะที่สามคือ ให้กลับเข้าสู่ระยะพาหะเชื้อน้อย หรือไวรัสน้อย ๆ และตับไม่อักเสบ เท่านี้ก็เรียกว่าดีมากแล้ว ผู้รับการรักษาอย่างน้อยถ้าจะหวังก็หวังแบบนี้เป็นแบบแรก การหายระยะที่สอง คือ รักษาจนไวรัสหมดไปคือ ผิวไวรัส (HBsAg) เป็นลบ และบางคนถึงขั้นเกิดภูมิต้านทานไวรัสขึ้น (AntiHBs) โอกาสถึงระยะนี้อาจจะประมาณ 3-5 คนต่อ 100 คน (เมื่อรักษาด้วย อินเตอร์เฟียรอน)

ก่อนการรักษาแพทย์จะมีการตรวจวัดสิ่งต่าง ๆ หลายประการ ได้แก่ ตรวจเลือด นับจำนวนไวรัส (Hepatitis B viral load) ตรวจค่าการทำงานตับ ตรวจนับเม็ดเลือด (CBC) ตรวจค่ามะเร็งตับ (AFP) ตรวจค่าการแข็งตัวของเลือด (INR) ตรวจโปรตีนอีของไวรัส (HBeAg) ภูมิต่อโปรตีนอี (AntiHBe) และ ปริมาณผิวของไวรัส (HBsAg quantitative) นอกจากนี้จะมีการตรวจเพื่อดูเนื้อตับว่าเป็นอย่างไรด้วยการทำอัลตร้าซาวด์ หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือ ตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) และ ปัจจุบันมักจะตรวจวัดความหนาแน่นของตับ (liver stiffness) เพื่อบอกว่าตับมีพังผืดมากน้อยอย่างไร แข็งหรือยัง และบางกรณีจะมีการตรวจเนื้อตับโดยตรงด้วยการเจาะตับ (liver biopsy) อ่านถึงตรงนี้คงขวัญหนีดีฝ่อเมื่อได้ยินคำว่าเจาะตับ อย่ากังวลไป ปัจจุบันมักไม่ใช้การเจาะตับกับทุก ๆ คน จะทำเมื่อมีข้อบ่งชี้ หรือใช้ช่วยการตัดสินใจในการรักษา

ข้อมูลจาก นายแพทย์ ดร.ปิยะวัฒน์ โกมลมิศร์ และ นายแพทย์สมบัติ ตรีประเสริฐสุข ศูนย์โรคตับ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์

ที่มา: เดลินิวส์ 21 ธันวาคม 2557

‘ตับอักเสบ – ตับแข็ง’

dailynews141012_02

‘ตับอักเสบ – ตับแข็ง’ ตอนที่ 1 ทบทวนสาเหตุ 10 ประการ

คนทั่วไปเวลาได้ยินคำว่า ตับอักเสบหรือตับแข็ง มักจะคิดถึงการดื่มแอลกอฮอล์เกินขนาด ก่อนอื่นช่วยกันล้างสมองเอาความคิดนี้ทิ้งไปก่อน แล้วเริ่มกันใหม่ ๆ จริง ๆ แล้วมีโรคมากมาย โรคอะไรก็ตามที่ไปทำลายตับแบบเรื้อรังย่อมทำให้เกิดเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรังได้ เมื่อเป็นไปนาน ๆ หลายปีก็จะกลายเป็นตับแข็ง เพราะฉะนั้น ตับแข็งก็ไม่จำเป็นต้องเกิดจากเหล้าเสมอไป บ้านเราสาเหตุที่พบได้บ่อยคือ ไวรัสตับอักเสบบี ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินขนาด ไวรัสตับอักเสบซี ไขมันเกาะตับ นอกนั้นยังมีสาเหตุอื่น ๆ ที่พบรอง ๆ ลงไป ดูได้จากตารางข้างล่าง สาเหตุของตับอักเสบเรื้อรังพอจะแบ่งเป็นกลุ่มโรคได้หลายกลุ่ม ดังนี้

เมื่อท่านอ่านมาถึงตรงนี้ สำหรับท่านที่ต้องการความรู้เบื้องต้นก็อ่านผ่านตาที่ตารางข้างต้น สำหรับหลายท่านที่ประสบปัญหากับโรคตับอักเสบเรื้อรัง ขอให้อ่านต่อเฉพาะโรคที่แพทย์ให้การวินิจฉัย หรืออ่านไปถามแพทย์ เผื่อว่าแพทย์ยังไม่ได้ทำการวิเคราะห์หาสาเหตุเหล่านั้น และที่สำคัญก็เพื่อทำความเข้าใจในแต่ละสาเหตุที่ท่านเป็นอยู่ ผู้ป่วยหลายท่านที่เป็นโรคประหลาด ๆ ก่อให้เกิดปัญหากับตับท่านนั้น จะหาอ่านข้อมูลที่เป็นภาษาไทยได้ค่อนข้างยาก แพทย์ก็ยังไม่รู้จะบัญญัติศัพท์ภาษาไทยอะไรมาบอกท่าน ได้แต่พูดเป็นภาษาอังกฤษที่ไม่ได้สื่อความหมายอะไร ติดตามศึกษาจากบทความตามนี้พอสรุปให้ท่านทราบได้พอสังเขป

โรคตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัส

ไวรัสบีและไวรัสซีเป็นปัญหาใหญ่สำหรับบ้านเราและทั้งโลก ว่าไปแล้วถ้านับไปเรียงตัว ท่านทราบหรือไม่ว่า คนไทยทุก ๆ 12 คนจะมี 1 คนที่มีไวรัสตับอักเสบบีหรือซีซ่อนอยู่ 1 คน คนไทย 65 ล้านคน มีไวรัสบีประมาณ 3 ล้านกว่าคน มีไวรัสซีประมาณ 1 ล้านกว่าคน ปัญหาใหญ่ของไวรัส 2 ตัวนี้คือ แอบซ่อนอยู่แบบไม่แสดงอาการ หรือบางท่านรู้ทั้งรู้แต่ไม่ได้ใส่ใจรักษา ปล่อยไวรัสทำลายตับไปนาน ๆ คล้าย ๆ เป็นสนิมอยู่ในตับ ตับก็ถูกกัดกร่อนไปเรื่อย ๆ ผ่านไป 20-30 ปีก็จะเข้าสู่ระยะตับแข็งแบบไม่รู้ตัว ตับแข็งต่อไปอีกสัก 10 ปีจึงค่อย ๆ แสดงอาการบวมที่ขา ท้องโต สับสน อาเจียนเป็นเลือด หรือบางคนก็เกิดเป็นมะเร็งตับแทรกขึ้นมา

โรคตับจากแอลกอฮอล์

ส่วนใหญ่ท่านที่ดื่มแอลกอฮอล์จัดจนเกิดปัญหา อ่านถึงบรรทัดนี้ก็คงรีบปิดหนังสือ เพราะอย่างไรก็ไม่ยอมหยุดดื่ม นี่สิเรื่องใหญ่ พวกที่ยอมเชื่อก็จะลองหยุดเหล้าแล้วไปดื่มไวน์แทน เพราะหลอกตัวเองว่าไวน์มันเบากว่าเหล้า ว่าเข้าไปนั่น ยกคำที่หมอหัวใจชอบเอามาโฆษณาว่าช่วยเรื่องหัวใจและหลอดเลือดสุขภาพดีอีกต่างหาก แพทย์ก็บอกว่าไม่ได้ ต้องหยุดไวน์ ท่านเหล่านั้นก็หลบไปดื่มเบียร์ เพราะอ้างว่าเบียร์มีแอลกอฮอล์น้อย ไม่สร้างปัญหา แพทย์ก็ต้องขอร้องต่อไปว่า เบียร์ก็ไม่ได้เพราะดื่มมาก ๆ ก็ได้แอลกอฮอล์เข้าไปเยอะเช่นกัน ท่านรู้มั้ย กิเลสที่สิงสู่ในคนติดเหล้าบอกให้เจ้าตัวทำอย่างไรต่อ ท่านเหล่านี้ก็จะกลับมาด้วยการดื่มไลท์เบียร์ ภาษาอังกฤษคำว่า ไลท์ (Light) แปลว่า เบา ก็คือเบียร์ เบา ๆ เบียร์บาง ๆ ทราบหรือไม่ ไลท์เบียร์ของไทยปริมาณแอลกอฮอล์ใกล้เคียงกับเบียร์มาตรฐานทั่วไป

โรคภูมิต้านทานไปทำลายเนื้อเซลล์ตับ เรียกภาษาแพทย์ว่า ออโต้อิมมูน เฮ็บปาไตติส (Autoimmune hepatitis) “ออโต้” แปลว่า ต่อตัวเอง “อิมมูน” แปลว่า ภูมิต้านทาน “เฮ็บปาไตติส” แปลว่า ตับอักเสบ เมื่อแปลโดยรวมก็คือ โรคตับอักเสบที่เกิดจากภูมิต้านทานของตัวเองต่อตับ ผู้ที่เป็นก็จะเกิดมีตับอักเสบเรื้อรังเป็นส่วนใหญ่ เป็นแบบกัดกร่อนไปทีละน้อย หรือเกิดอักเสบแบบรุนแรง บ้างก็รุนแรงจนเกิดภาวะตับวาย โรคนี้มักจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย แพทย์จะให้การวินิจฉัยได้ด้วยการตรวจเลือดหาค่าเลือดบางอย่าง ที่ช่วยชี้แนะว่าอาจจะมีโรคนี้ซ่อนอยู่ ได้แก่ Antinuclear Antibody (ANA) และ Anti-smooth muscle antibody เป็นต้น และต้องตรวจหาว่าไม่มีโรคอื่น ๆ จากนั้นจะต้องตรวจดูเนื้อตับด้วยกล้องจุลทรรศน์ว่ามีลักษณะจำเพาะที่เข้าได้กับโรคนี้ โรคนี้รักษาได้ด้วยยากดภูมิ ได้แก่ สเตียรอยด์ เป็นต้น

โรคตับจากหัวใจวายเรื้อรัง

โรคนี้เกิดจากโรคหัวใจวายชนิดเรื้อรัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีหัวใจซีกขวาวายมาก ๆ ด้วยเหตุใดก็ตาม ในที่สุดเลือดก็จะคั่งอยู่ในตับ ตับขาดสารอาหารจากเลือด ความดันในตับสูง ตับโต ม้ามโต ตับอักเสบเรื้อรัง จนเกิดตับแข็งในที่สุด โรคนี้ต้องแก้ที่โรคหัวใจถึงจะผ่อนหนักให้เป็นเบาได้

ข้อมูลจาก นายแพทย์ ดร.ปิยะวัฒน์  โกมลมิศร์ ศูนย์โรคตับ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์.

นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์

ที่มา : เดลินิวส์ 12 ตุลาคม 2557

 

dailynews141019_01

‘ตับอักเสบ – ตับแข็ง’ ตอนที่ 2 สุรา นานาประเภทกับตับแข็ง

 โรคตับจากแอลกอฮอล์เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์มาก และดื่มมานานระยะหนึ่ง นานขนาดไหน ประมาณ 5-10 ปีขึ้นไป ก็ขึ้นกับปริมาณที่ดื่มด้วย เห็นอย่างนี้ไม่ใช่ชี้โพรงให้กระรอก เดี๋ยวก็บอกตัวเองว่า ดื่มแค่ 2-3 ปีก็พอให้สะใจแล้วจะหยุด อย่าลองแบบนั้น เพราะลองแล้วหยุดไม่ได้ ผู้หญิงโชคไม่ดีเกิดโรคตับจากแอลกอฮอล์ได้ง่ายกว่าผู้ชาย ไม่ว่าท่านจะดื่มแอลกอฮอล์ชนิดใดก็ตาม จะเป็นเหล้าขาว เหล้าแดง

วอดก้า ไวน์ขาว ไวน์แดง เบียร์ ลาร์คเกอร์ ถ้าดื่มมากถึงระดับหนึ่งก็เกิดปัญหากับตับได้เช่นกัน ถ้าจะดื่มก็ขอให้เป็นการดื่มเวลาเข้าสังคม ดื่มพอตึง ๆ ให้สนุกสนาน ดื่มแบบนี้ไม่เป็นอะไร แต่ก็อย่าอ้างว่าต้องเข้าสังคมทุกวัน เพื่อนคะยั้นคะยอ ผิดธรรมเนียมถ้าไม่ดื่ม เหล่านี้มักจะเป็นข้ออ้างของคนติดแอลกอฮอล์

ดื่มได้เท่าไรจะไม่เกิดโรคตับ เป็นคำถามที่พบบ่อย เพราะคนอยากดื่ม ถ้าพูดตามมาตรฐานโลกมีสถิติบอกไว้ว่า ผู้ชายดื่มได้ไม่เกิน 21 ยูนิต (ดริ๊งค์) ต่ออาทิตย์ ผู้หญิงดื่มได้ไม่เกิน 14 ยูนิต (ดริ๊งค์) ต่ออาทิตย์ คำว่า 1 ยูนิต เทียบเท่ากับแอลกอฮอล์ 8 กรัม ถ้าเทียบให้ง่ายขึ้น

เหล้าแดง (วิสกี้ 40%) 25 ซีซี เท่ากับ 1 ยูนิต

ไวน์ (12%) 1 แก้วเล็ก 175 ซีซี เท่ากับ 2 ยูนิต

ไวน์ (12%) 1 แก้วใหญ่ 250 ซีซี เท่ากับ 3 ยูนิต

เบียร์ (5%) 1 แก้วใหญ่ หรือ 1 ไพน์ (pint = 568 ซีซี) เท่ากับ 3 ยูนิต

ถึงตรงนี้ก็คงจะทำให้บางท่านสับสนมากขึ้น เอาเป็นว่าให้ดูจากตารางข้างล่างเป็นเกณฑ์จะง่ายกว่า ว่าในหนึ่งอาทิตย์ผู้ชายและผู้หญิงไม่ควรดื่มเกินกว่าเท่าใดตาราง แสดงปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์แต่ละชนิด ไม่ควรเกินเท่าใด ของผู้หญิงและผู้ชายภายในหนึ่งอาทิตย์

ชนิดของแอลกอฮอล์

หญิงดื่มไม่เกิน 14 ยูนิต ชายดื่มไม่เกิน 21 ยูนิต

ต่ออาทิตย์                     ต่ออาทิตย์

เหล้าแดง (Whisky 40%)

1 ขวดกลม (1,000 ซีซี) 1 ใน 3 ขวด                 ครึ่งขวด

ไวน์ (12%)

1 ขวด (750 ซีซี) 1 ขวดครึ่ง    2 ขวดครึ่ง

เบียร์ไทย (6.4%)

1 กระป๋อง (330 ซีซี)                7 กระป๋อง                       10 กระป๋อง

1 ขวดใหญ่ (640 ซีซี)               3 ขวดครึ่ง                      5 ขวดเบียร์ขนาดมาตรฐาน (5%)

1 กระป๋อง (330 ซีซี)                8 กระป๋อง                       12 กระป๋อง

1 ขวดใหญ่ (640 ซีซี) 4 ขวด   6 ขวดครึ่ง

ไลท์เบียร์ (3.5 – 4.2%)

1 กระป๋อง                           10 กระป๋อง                        15 กระป๋อง

หมายเหตุ  เหล้าขาวที่ชาวบ้านชอบดื่ม ปริมาณแอลกอฮอล์ใกล้เคียงหรือมากกว่าเหล้าแดงขึ้นอยู่กับวิธีการผลิต

แอลกอฮอล์ เมื่อดื่มเกินขนาดที่ควรนานถึงระยะเวลาหนึ่งจะก่อปัญหากับตับ 4 ประการ เริ่มแรกจะมีไขมันแทรกในตับมากขึ้น ตับค่อย ๆ โตขึ้น เมื่อดื่มมากต่อไปอีกจะเริ่มมีการอักเสบของตับแทรกอยู่ในเนื้อตับ เรียกว่า ตับอักเสบจากแอลกอฮอล์ ถ้ายังไม่หยุดดื่มก็จะเริ่มเข้าทางแบบโรคตับอักเสบเรื้อรังจากสาเหตุอื่น ๆ คือจะมีแผลเป็นหรือพังผืดแทรกกระจายไปทั่ว ๆ ตับ คือ ในตับจะมีทั้งไขมัน การอักเสบ และพังผืด เมื่อถึงระยะที่มีพังผืดกระจายทั่วตับจะเข้าสู่ระยะตับแข็ง และท้ายที่สุดก็จะมี มะเร็งตับ เกิดขึ้นที่ใดที่หนึ่ง คนที่ดื่มเหล้าจนตับแข็งโดยเฉพาะอย่างยิ่งเริ่มมีขาบวม ถ้ายังไม่หยุดดื่มภายใน 5 ปี มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของคนเหล่านี้จะเสียชีวิต หรือแปลให้ง่ายเข้า ถ้ามี 2 คน 1 ใน 2 คนจะเสียชีวิตในระยะ 5 ปี หรือเอาให้ง่ายขึ้นอีก ท่านลองหยิบเหรียญขึ้นมา แล้วก็โยนหัวโยนก้อยได้เลยว่าจะเสียชีวิตหรือไม่ในระยะ 5 ปี

รีบหยุดแอลกอฮอล์เสียตั้งแต่ระยะแรก ๆ หรือแม้จะเกิดตับแข็งมากแล้วก็ตาม ถ้าหยุดแอลกอฮอล์ได้ทัน ท่านก็โชคดี ตับฟื้นตัวได้ แข็งแล้วก็คืนกลับได้ อย่าหมดหวัง แต่ในชีวิตจริงแล้ว หลายคนยินดีไปเกิดใหม่อย่างทุกข์ทรมานมากกว่าที่จะหยุดแอลกอฮอล์

โรคตับจากไขมันแทรกตับ ปัจจุบันโรคไขมันแทรกตับกลับเป็นโรคที่พบได้บ่อยมากขึ้น เนื่องจากการทานอาหารที่ผิดวิธี ขาดการออกกำลังกาย ผู้คนทั้งเด็กและผู้ใหญ่น้ำหนักเกิน เป็นโรคอ้วน และโรคเบาหวาน ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ในอดีตเราคิดกันว่า ไขมันแทรกตับไม่มีผลเสียต่อการทำงานของตับ ไม่ก่อให้เกิดการอักเสบของตับ ปัจจุบันเป็นที่ทราบแล้วว่า คนที่มีไขมันแทรกตับมาก ๆ จะก่อให้เกิดภาวการณ์อักเสบของตับแบบเรื้อรัง ตับแข็ง และอาจมีมะเร็งตับตามมา

โรคตับที่เกิดจากท่อน้ำดีอุดตันแบบมีสาเหตุ

โรคนี้คล้ายกับโรคพีเอสซี (PSC) ที่เกิดจากภูมิต้านทาน แพทย์ใช้คำเรียกว่า เซ็คกันดารี่ สเกลอโรสซิ่ง คอแลงไจติส (Secondary sclerosing cholangitis) ใช้คำว่า เซ็คกันดารี่ ในความหมายคือ เกิดขึ้นจากสาเหตุที่หาได้ โรคนี้จะเกิดที่ท่อน้ำดีขนาดใหญ่ทั้งในและนอกตับ มีพังผืดยึดในท่อน้ำดีจนเกิดการตีบตันของท่อน้ำดี สาเหตุที่พบได้เกิดจากการติดเชื้อในท่อทางเดินน้ำดีอย่างรุนแรง เช่น มีนิ่วในท่อทางเดินน้ำดี มักเกิดในคนที่ภูมิต้านทานไม่ดี เป็นเบาหวาน เป็นต้น เมื่อท่อน้ำดีตีบ ก็จะเกิดการติดเชื้อซ้ำซาก ในที่สุดก็จะมีอาการตาเหลือง ตัวเหลือง ตับแข็ง และตับวายในที่สุด

ข้อมูลจาก นายแพทย์ ดร.ปิยะวัฒน์  โกมลมิศร์ ศูนย์โรคตับ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์

ที่มา : เดลินิวส์ 19 ตุลาคม 2557

 

dailynews141026_01

‘ตับอักเสบ–ตับแข็ง’ ตอนที่ 3 โรคภูมิต้านทานทำลายเนื้อเซลล์ตับและอื่น ๆ

มนุษย์เรามีภูมิต้านทานอยู่ในร่างกาย เอาไว้ทำหน้าที่หลาย ๆ อย่างที่สำคัญก็คือ คอยป้องกันร่างกายจากเชื้อโรคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส พยาธิ ไม่ให้เข้ามาภายในกระแสเลือด หรืออวัยวะต่าง ๆ หรือแม้แต่มีเชื้อโรคหลุดเข้ามาจากบาดแผล จากเข็มฉีดยา จากอะไรก็ตาม พอเข้ามาในเนื้อเยื่อหรือกระแสเลือด ภูมิของเราก็จะรู้ทันทีว่าเชื้อโรคเป็นสิ่งแปลกปลอม เมื่อร่างกายรู้ภูมิต้านทานก็จะส่งสารต่าง ๆ และเม็ดเลือดขาวชนิดต่าง ๆ เข้าไปทำลายเชื้อโรคเหล่านั้น

แต่ชีวิตไม่สวยหรูเช่นนั้นเสมอไป บางครั้งภูมิของร่างกายก็เกิดเพี้ยนขึ้นมาดันไปรับรู้ว่าร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นสิ่งแปลกปลอม เช่น ไปเห็นว่าผิวหนัง ไต หลอดเลือด ข้อกระดูก และอวัยวะหลาย ๆ แห่งเป็นสิ่งแปลกปลอม ก็จะส่งเม็ดเลือดขาวไปทำลายอวัยวะนั้น ๆ ท่านคงอาจจะได้ยินจากข่าวสารอยู่บ้าง มีดารา นักร้อง หรือผู้มีชื่อเสียงเป็นโรคที่เรียกว่า ลูปัส เป็นต้น

กลับมาที่ตับ มีโรคภูมิต้านทานต่อตัวเอง ที่ภูมิของร่างกายไปเห็นว่าเนื้อเยื่อบางส่วนของตับเป็นสิ่งแปลกปลอมของร่างกาย ก็จะทำแบบที่กล่าวข้างต้นคือส่งสารต่าง ๆ หรือเม็ดเลือดขาวเข้าไปทำลายเนื้อเยื่อตับส่วนนั้น ๆ

มีโรคตับเรื้อรังหลายชนิดที่จัดอยู่ในโรคภูมิต้านทานต่อตับ ได้แก่

โรคภูมิต้านทานไปทำลายท่อนํ้าดีขนาดเล็กในเนื้อตับ เรียกภาษาแพทย์ว่า ไพรมารี่ บิลิอารี่ เซอร์โรสิส (Primary billiary cirrhosis) แพทย์จะใช้คำย่อว่า พีบีซี (PBC) คำว่า “ไพรมารี่” ในความหมายนี้แปลว่า ไม่ทราบสาเหตุ “บิลิอารี่” แปลว่า ท่อนํ้าดี “เซอร์โรสิส” แปลว่า ตับแข็ง เมื่อแปลโดยรวมก็คือ โรคตับแข็งที่เกิดจากการอักเสบของท่อนํ้าดีโดยไม่ทราบสาเหตุ โรคชนิดนี้พบได้ในคนไทยเช่นกัน ที่คลินิกโรคตับของจุฬาฯ พบเกือบทุกเดือน เนื่องจากเป็นที่รวมของโรคตับที่แพทย์ทั่วไปวินิจฉัยไม่ได้ในเบื้องต้น ผู้ป่วยมักจะมาด้วยอาการคันตามร่างกาย เนื่องจากตับขับของเสียออกทางนํ้าดีไม่ได้ ค่าการทำงานตับจะมีความผิดปกติ เมื่อตรวจเลือดจะพบมีค่าที่เรียกว่า AMA (เอเอ็มเอ) ให้ผลบวก การเจาะตับตรวจเนื้อเยื่อจะช่วยในการวินิจฉัยและบอกถึงความรุนแรงของโรคได้ โรคนี้สามารถให้การรักษาด้วยยา เออโซดีออกซี่โคลิก แอสิด (ursodexycholic acid) ซึ่งก็เป็นนํ้าดีชนิดหนึ่งในร่างกาย ผู้ป่วยจะต้องทานยาไปตลอดชีวิต จะช่วยชะลอการทำลายของตับไปได้มากพอสมควร

โรคภูมิต้านทานไปทำลายท่อนํ้าดีขนาดใหญ่ เรียกภาษาแพทย์ว่า ไพรมารี่ สเกลอโรสซิ่ง คอแลงไจติส (primary sclerosing cholangitis) แพทย์มักจะใช้คำย่อว่า พีเอสซี (PSC) คำว่า “ไพรมารี่” ในความหมายนี้แปลว่า ไม่ทราบสาเหตุ “สเกลอโรสซิ่ง” แปลว่า เกิดพังผืด ในที่นี้คือพังผืดบริเวณท่อนํ้าดี “คอแลงไจติส” แปลว่า ท่อนํ้าดีอักเสบ เมื่อแปลโดยรวมหมายถึง โรคท่อนํ้าดีอักเสบจนเกิดเป็นพังผืดบริเวณท่อนํ้าดีโดยไม่ทราบสาเหตุ โรคนี้พบค่อนข้างน้อยในประเทศไทย ผู้ป่วยจะมาด้วยการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณท่อนํ้าดีหรืออาจเข้าสู่กระแสเลือด ตรวจพบค่าการทำงานตับผิดปกติ ส่องกล้องตรวจท่อนํ้าดีจะพบการตีบตันของท่อนํ้าดีในบริเวณต่าง ๆ ของท่อนํ้าดีขนาดใหญ่ทั้งในและนอกตับ การรักษาต้องใช้การส่องกล้องขยายท่อนํ้าดีที่ตีบ ใส่ท่อระบายช่วย หรือแม้แต่กระทั่งต้องเปลี่ยนตับเมื่อเป็นมาก ๆ เข้ายังไม่มียาที่ใช้ในการรักษาได้ผลดีโรคตับที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม

ยีนเป็นองค์ประกอบที่อยู่บนสายพันธุ กรรมที่อยู่ในใจกลางของเซลล์ เป็นตัวควบคุมกลไกทุกอย่างทางกายภาพของความเป็นเราเป็นเขา เช่น ความสูงต่ำ ดำขาว เป็นชายเป็นหญิง บางครั้งยีนเหล่านี้เกิดความผิดปกติ มีการเรียง

ตัวขององค์ประกอบของยีนผิดปกติไป มีโรคหลายชนิดที่เกิดจากความผิดปกติของยีน ทำให้เกิดตับอักเสบเรื้อรัง ในที่สุดก็ตับแข็ง โรคแรกเรียกตามชื่อผู้ค้นพบว่า โรควิลสัน (Wilson’s disease) ในประเทศไทยก็พบได้พอสมควร เกิดจากการที่ร่างกายขับถ่ายธาตุทองแดงออกจากตับไม่ได้ ในที่สุดธาตุทองแดงไปสะสมในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ที่สมอง ที่ตับ มักพบในวัยเด็ก วัยรุ่น และผู้ใหญ่ที่อายุไม่มากมาด้วยอาการตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง ซีด มือสั่น มีการเคลื่อนไหวของร่างกายบางส่วนผิดปกติ การรักษาของโรคก็มียาที่ใช้ขับธาตุทองแดงออก หรือลดการดูดซึมของธาตุทองแดง โรคที่สองเรียก เฮียริดิทารี่ ฮีโมโครมาโตสิส (Hereditary hemochromatosis) เกิดจากการมีธาตุเหล็กถูกดูดซึมเข้ามาในร่างกายมากกว่าปกติ นานเข้าก็ไปสะสมตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย จนมีผิวหนังสีบรอนซ์ กล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติ ตับอ่อนผิดปกติจนเกิดเบาหวานและตับแข็ง บ้านเราพบน้อยมาก มักจะเป็นในคนยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย การรักษาต้องใช้การเจาะเลือดทิ้งเป็นระยะ ๆ เพื่อเอาธาตุเหล็กออกจากร่างกาย คนไทยจะพบโรคธาตุเหล็กสะสม ในร่างกายมาก ๆ ก็ในโรคซีดจากพันธุกรรมที่เรียกว่า ธาลัสซีเมีย (Thalassemia) ชนิดที่รุนแรงซึ่งเป็นตั้งแต่เด็ก โรคนี้แก้ด้วยการเจาะเลือดทิ้งไม่ได้ เพราะซีดมากอยู่แล้ว โรคตับมักเป็นส่วนหนึ่งของอาการหลาย ๆ อย่าง มักจะแก้ไม่ได้ เปลี่ยนตับก็ทำไม่ได้โรคตับที่เกิดจากท่อเส้นเลือดออกจากตับอุดตัน

โรคนี้พบได้ประปรายในบ้านเรา ภาษาแพทย์เรียกตามชื่อแพทย์ 2 ท่านที่ค้นพบโรคนี้ว่า บัดด์ เคียรี่ ซินโดรม (Budd Chiari syndrome) เอาเป็นว่า เส้นเลือดเส้นใหญ่ที่ออกจากตับเพื่อไปยังหัวใจเกิดการอุดตันด้วยเหตุอะไรก็ตาม เช่น มีก้อนเลือดไปอุด มีผนังเนื้อเยื่อยื่นไปในเส้นเลือดทำให้เลือดไหลผ่านไม่ได้ เป็นต้น เมื่อเกิดการอุดตัน เลือดก็จะคั่งอยู่ในตับ ความดันในตับสูงมากขึ้น เลือดต้องหาทางออกไปทางอื่น ตับหลายส่วนขาดเลือดไปเลี้ยง ในที่สุดเซลล์ตับก็ตามเกิดการอักเสบแบบรุนแรง ถ้าเป็นเร็ว เกิดตับอักเสบแบบช้า ๆ จนตับแข็ง ถ้าค่อย ๆ อุดตัน มีตับโต ม้ามโต มีนํ้าในท้อง การรักษาต้องใส่สายสวนไปขยายหลอดเลือดทำทางเดินเลือดให้ใหม่เพื่อลดความดันในตับ ที่เรียกว่า ทิปส์ (Tips) อาจจะผ่าตัดเปลี่ยนทางเดินเลือด หรือสุดท้ายต้องเปลี่ยนตับโรคตับอักเสบเรื้อรังและตับแข็งโดยไม่ทราบสาเหตุ

จริง ๆ แล้วสาเหตุของโรคตับยังมีอีกมาก ยังมีไวรัสตับอักเสบที่มนุษย์ยังไม่รู้จัก มีโรคอีกหลายชนิดที่ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุ ภาษาแพทย์เราใช้คำรวม ๆ เป็นกระโถนท้องพระโรง เรียกว่า คริปโตเจนนิค เซอร์โรสิส (Cryptogenic cirrhosis) “คริปโตเจนนิค” ในความหมายนี้แปลว่า ไม่ทราบสาเหตุ “เซอร์โรสิส” แปลว่า ตับแข็ง โรคกลุ่มนี้เมื่อหาสาเหตุไม่ได้ก็แก้ไขไม่ได้ ถ้าตับอักเสบเป็นมาก นานพอควร โรคจะเข้าสู่ระยะตับแข็ง และถึงระยะหนึ่งก็จะมีตับวาย การรักษาทำได้ด้วยการเปลี่ยนตับ

ท่านที่อ่านมาถึงตรงนี้คงต้องเป็นคนที่สนใจตับพอสมควร หรือไม่ก็มีโรคตับที่แพทย์ใช้คำแปลก ๆ วินิจฉัยโรคให้ ยังมีโรคตับอีกหลายชนิดที่ไม่สามารถนำมาเขียนไว้ในที่นี้ ถ้าต้องการหาความรู้เพิ่มเติมคงต้องถามรายละเอียดจากแพทย์ผู้ดูแล ยิ่งถ้าโรคยาก ๆ โรคตับอักเสบเรื้อรังที่แพทย์ยังไม่สามารถหาชื่อโรคให้กับท่านได้ แนะนำให้พบแพทย์โรคตับโดยเฉพาะ

ข้อมูลจาก นายแพทย์ ดร.ปิยะวัฒน์  โกมลมิศร์ ศูนย์โรคตับ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์.

นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์

ที่มา : เดลินิวส์ 26 ตุลาคม 2557

ระวัง ไวรัสตับอักเสบบีและซี

bangkokbiznews140725_01แพทย์เตือนโรคไวรัสตับอักเสบบีและซี ตัวการสำคัญการเกิดตับแข็งและมะเร็งตับ

แพทย์เตือนโรคไวรัสตับอักเสบบีและซี ตัวการสำคัญการเกิดตับแข็งและมะเร็งตับ

รศ.นพ.ธีระ พิรัชวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสถาบันโรคตับ และระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท กล่าวว่าในผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสบีหรือซีเรื้อรัง จะเกิดตับอักเสบเรื้อรังมีค่าของเอนไซม์ตับ (AST, ALT) สูงกว่าปกติ ซึ่งอาจสูงกว่าปกติตลอด หรือค่าแกว่งขึ้นลงเป็นระยะ ในผู้ป่วยที่มีตับอักเสบเรื้อรัง จะมีการทำลายเซลล์ตับเรื้อรัง เกิดผังผืดสะสมมากขึ้น จนเกิดตับแข็ง ได้ร้อยละ 20 – 25 ภายในเวลา 8 – 20 ปี หลังจากเกิดตับแข็งจะมีการดำเนินโรคจนเกิดตับวายได้ร้อยละ 4 – 6 ต่อปี อาการของตับวาย เช่น ดีซ่าน ท้องมาน ซึม

ผู้ป่วยที่มีตับแข็งจะมีโอกาสเกิดมะเร็งตับได้ ร้อยละ 3-8 ต่อปี พบว่าไวรัสบีและซีเป็นสาเหตุของมะเร็งตับในคนไทยสูงถึงมากกว่าร้อยละ 80 ที่สำคัญผู้ป่วยไวรัสบีหรือซีเรื้อรังมักจะไม่มีอาการอะไร จนทำให้ผู้ป่วยเข้าใจผิดว่าตนเองปกติแข็งแรงดี กว่าจะมีอาการทางคลินิกผู้ป่วยก็มักจะมีภาวะตับแข็งที่เป็นมากจนเริ่มมีตับวายเรื้อรังแล้ว ในกรณีมะเร็งตับก็จะมีขนาดมะเร็งที่ใหญ่เกินกว่ารักษาให้ได้ผลดีแล้วเช่นกัน

นอกจากนี้ ค่าเอนไซม์ตับอาจจะอยู่ในเกณฑ์ปกติได้ เพราะการตรวจดูเอนไซม์ตับทุก 3-6 เดือน อาจจะไม่พบค่าผิดปกติในผู้ป่วยที่มีค่าเอนไซม์ตับแกว่งขึ้นลง ดังนั้นประมาณร้อยละ 15-20 ของผู้ป่วยไวรัสบีและซีเรื้อรังจะมีการดำเนินโรคไปเป็นตับแข็งหรือมะเร็งตับในขณะที่ตรวจแต่ค่าเอนไซม์เป็นช่วงๆ แล้วพบว่าปกติ

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ 25 กรกฎาคม 2557

ภัยเงียบไวรัสตับอักเสบซี ใครเสี่ยง?

dailynews140128_001ไวรัสตับอักเสบซี เป็นสาเหตุที่สำคัญของตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง และมะเร็งตับในผู้ป่วยไทยเป็นจำนวนมาก นับเป็นภัยเงียบที่คอยคุกคามตับของผู้ป่วยโดยไม่มีอาการหลังจากได้รับเชื้อผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่ทราบว่าเป็นไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรังจน 10-20 ปี จึงเกิดภาวะตับเสื่อมหรือเป็นตับแข็ง ซึ่งแม้เป็นตับแข็งแล้วผู้ป่วยส่วนมากก็ยังไม่มีอาการ จนกว่าตับจะเสื่อมมากถึงขั้นมีภาวะตับวาย หรือเป็นมะเร็งตับระยะท้ายจึงเริ่มมีอาการ

บุคคลที่มีความเสี่ยงอาจติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี คือ ผู้ที่เคยได้รับเลือดหรือส่วนประกอบของเลือด เช่น เกร็ดเลือด น้ำเลือด ก่อนปี พ.ศ. 2538 หรือบุคคลที่เคยมีประวัติใช้ยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้นแม้แต่เพียงครั้งเดียวก็อาจติดได้ นอกจากนี้ผู้ที่นิยมสักตามร่างกายหรือผู้ที่มีการทำงานของตับผิดปกติอย่างต่อเนื่องก็ควรได้รับการตรวจหาว่าท่านมีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรังหรือไม่ สำหรับความชุกในประเทศไทยมีประมาณร้อยละ 1-2 ของประชากร นั่นคือ อาจมีผู้ป่วยสูงถึงเกือบ 1 ล้านคน โดยไวรัสตับอักเสบซีจะอยู่อย่างเงียบๆ รอเวลาที่จะมีโรคในระยะลุกลาม ตับแข็ง หรือเกิดมะเร็งตับในอนาคต

หากท่านเป็นกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจว่าท่านเป็นไวรัสตับอักเสบซีหรือไม่ โดยแพทย์จะส่งตรวจสารภูมิต่อไวรัสตับอักเสบซี (Anti-HCV) หากผลเป็นบวกแสดงว่าท่านมีโอกาสสูงที่จะเป็นไวรัสตับอักเสบซี แพทย์จะตรวจเพื่อยืนยันเพิ่มเติม โดยการตรวจนับปริมาณไวรัส และตรวจหาสายพันธุ์ของไวรัสตับอักเสบซีต่อไปเพื่อประเมินสำหรับการรักษาสำหรับประเทศไทยส่วนใหญ่ของผู้ป่วยเป็นไวรัสตับอักเสบซีชนิดสายพันธุ์ที่ 3 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่รักษาง่ายด้วยยาอินเตอร์เฟอรอน นอกจากนั้นก็พบสายพันธุ์ที่1 และ 6

ในผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง ปัจจุบันการรักษามาตรฐาน คือการใช้ยาฉีดอินเตอร์เฟอรอน (Peg-Interferon) ทุกสัปดาห์ร่วมกับรับประทานยาไรบาไวรินทุกวัน เป็นเวลา 6 เดือนสำหรับสายพันธุ์ที่ 2 และ 3 หรือ 1 ปี สำหรับสายพันธุ์อื่น ๆ ก็มีโอกาสสูงที่จะหายขาดจากไวรัสตับอักเสบซี สิ่งที่ได้ประโยชน์อย่างมากสำหรับการรักษาก็คือ นอกจากจะทำให้ไวรัสหายขาดแล้วการอักเสบของตับหรือแม้แต่พังผืดในตับก็จะลดลงด้วย ลดความเสี่ยงที่จะเกิดตับแข็งและมะเร็งตับลงได้อย่างมาก

ข่าวดีสำหรับชาวไทยก็คือ การรักษาไวรัสตับอักเสบซี ซึ่งในอดีตดูเหมือนว่ามีราคาแพง แต่เนื่องจากประโยชน์ที่ได้จากการรักษามีมากมายและมีความคุ้มค่าในการรักษาอย่างมาก ดังนั้นในปัจจุบันยาสำหรับรักษาไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่ 2 และ 3 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่พบบ่อยนั้น ได้รับการบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติทำให้ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีส่วนใหญ่ได้รับการรักษา โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น หากท่านมีความเสี่ยงดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์ที่ดูแลท่าน เพื่อขอรับการตรวจหาไวรัสตับอักเสบซี และหากท่านเป็นไวรัสตับอักเสบซีจะได้ให้การรักษาจนหายขาดต่อไป

อยากฝากท่านผู้อ่านทุกท่านไว้ว่า อย่าชะล่าใจ หากท่านมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีหรือทราบอยู่แล้วว่าเป็นไวรัสตับอักเสบซีโดยไม่มีอาการใด ๆ ท่านยังมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดตับแข็งและมะเร็งตับเมื่ออายุมากขึ้น ดังนั้น ไปตรวจเสียตั้งแต่วันนี้เพื่อจะได้รับการรักษาแล้วท่านจะห่างไกลจากโรคตับแข็ง มะเร็งตับ อันเป็นผลจากไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง

ข้อมูลจาก : รองศาสตราจารย์นายแพทย์ทวีศักดิ์ แทนวันดี

ที่มา: เดลินิวส์ 28 มกราคม 2557

เตือนภัย “ไวรัสตับอักเสบซี” หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงห่างไกลโรค

dailynews121223_004dสุขภาพดีเป็นสิ่งที่ทุกคนต่างปรารถนา การดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้มีความแข็งแรงและมีความรู้เข้าใจในโรคภัยอย่างถูกต้อง สิ่งเหล่านี้มีความหมายความสำคัญอย่างยิ่ง

ไวรัสตับอักเสบ สาเหตุที่ทำให้การทำงานของตับผิดปกติ นอกเหนือจากจะคุ้นเคยกันในชื่อของไวรัสตับอักเสบ A และ B แล้วยังมี C,D,E ฯลฯ ที่เป็นปัญหาคือ การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิด บีและซี ซึ่งทำให้เกิดเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรังได้

dailynews121223_004aรศ.พญ.อาภัสณี โสภณสฤษฎ์สุข แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคตับ สาขาวิชาโรคทางเดินอาหารและตับ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ความรู้กล่าวถึงโรคตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสตับอักเสบซึ่งสถาน การณ์ของโรคนี้เป็นปัญหามานานทั้งเรื่องของจำนวนผู้ป่วยและความชุกของการติดเชื้อไวรัส

ปัจจุบันความชุกของไวรัสตับอักเสบบีลดลงจึงทำให้เห็นถึงจำนวนของผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีมากขึ้น หรือเห็นผลที่เกิดจาก การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีมานานและหากไม่ได้รับการรักษาก็อาจทำให้หน้าที่ของตับเสื่อมสภาพลง เกิดเป็นตับแข็งและมะเร็งตับในที่สุด

ไวรัสตับอักเสบซี สถานการณ์ทั่วโลกปัจจุบันโดยเฉลี่ยผู้ป่วยที่เป็นโรคตับอักเสบไวรัสซีมีประมาณ 170 ล้านคน ในทวีปเอเชียมีประมาณ 35 ล้านคน ส่วนประเทศไทยจากตัว เลขผู้บริจาคโลหิตพบอุบัติการณ์ของไวรัสตับอักเสบซีประมาณ 1-3% โดยทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบมากกว่าภูมิภาคอื่น

นอกจากนี้ยังพบแนวโน้มของความชุกชุมของโรคสวนทางกับการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ทั้งนี้ เนื่องจากได้มีการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีแก่เด็กเกิดใหม่ทุกคนทำให้อุบัติการณ์โรคไวรัสตับอักเสบบีน้อยลง การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีจึงน้อยลงเรื่อย ๆ ขณะที่ไวรัสตับอักเสบซียังไม่มีวัคซีนป้องกัน

dailynews121223_004fการติดต่อของไวรัสตับอักเสบซีส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวข้องกับการไอ จาม หรือการรับประทานอาหารร่วมกัน แต่การติดเชื้อไวรัสซีเกิดจากการสัมผัสเลือดโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ที่ใช้สารเสพติด ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังที่ต้องได้รับการฟอกไตอยู่เป็นประจำกลุ่มนี้มีโอกาสติดเชื้อได้สูง นอกจากการติดต่อทางเลือดแล้วยังมีความเสี่ยง อื่น ๆ ที่อาจทำให้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี เช่น การสักตามร่างกาย ฯลฯ สิ่งเหล่านี้หากทำโดยผู้ที่ขาดความรู้และใช้เครื่องมือที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อโรค ใช้อุปกรณ์ที่ใช้แล้วหรือไม่มีความสะอาดเพียงพอก็มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส

ปัจจุบันในกรณีที่ผู้ป่วยมีความจำเป็นจะต้องได้รับเลือดแม้จะมีการตรวจคัดกรองเลือดทุกถุง แต่สำหรับผู้ที่เคยได้รับเลือดก่อนปี พ.ศ.2535 อาจมีความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบซี เพราะขณะนั้นยังไม่มีการคัดกรองไวรัสตับอักเสบซี ดังนั้นหากเป็นผู้ที่เคยได้รับโลหิตก่อนปี พ.ศ. 2535 ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด เกิดอุบัติเหตุ ฯลฯ ควรได้รับการตรวจเลือดหาไวรัสตับอักเสบซี เพื่อจะได้เท่าทันการรักษา

dailynews121223_004b“จากที่กล่าวการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเป็นการรับเชื้อมาจากทางเลือดโดยตรงภายหลังได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบซีส่วนใหญ่จะไม่มีอาการมีเพียงส่วนน้อยที่มีอาการแบบเฉียบพลันโดยมีอาการตัวเหลือง ตาเหลืองหรือดีซ่าน จากนั้นร้อยละ 80 ของผู้ที่ได้รับเชื้อจะกลายเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง ปัญหาที่ติด ตามมาหลังเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง 15-20 ปีและไม่ได้รับการรักษานั้น ตับมีโอกาสกลายเป็นตับแข็งได้ในที่สุด แต่อย่างไรก็ตามผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเร็วขึ้นกว่านี้หากดื่มสุรา ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบอื่นหรือมีโรคไขมันเกาะตับร่วมด้วยก็จะทำให้โรคดำเนินไปได้เร็วยิ่งขึ้น”

dailynews121223_004eทั้งนี้โรคตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสตับอักเสบซีมักไม่แสดงอาการใดเด่นชัด สิ่งนี้จึงอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ถ้ามีเชื้อไวรัสอยู่และไม่ได้รับการตรวจ การตรวจสุขภาพประจำปีตรวจการทำงานของตับหรือเอนไซน์ตับ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้นับว่ามีความสำคัญ อีกทั้งการปฏิบัติตัวห่างไกลจากปัจจัยเสี่ยงเป็นอีกหนทางที่ทำให้หลีกไกลจากโรคดังกล่าวได้

ในกรณีที่ตรวจสุขภาพแล้วพบไวรัสตับอักเสบซีในการรักษานอกจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การรักษาด้วยยามีทั้งยาฉีดและยารับประทานร่วมกันโดยใช้ระยะเวลาในการรักษาประมาณ 6 เดือน -1 ปี แพทย์ท่านเดิมให้ความรู้อีกว่า ตับอักเสบเรื้อรังจะไม่ทำให้เสียชีวิต แต่หากมีอาการตับแข็งแล้วจะมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งตับ แต่อย่างไรแล้วภาวะตับแข็งแบ่งเป็นระยะต้น ระยะกลาง และระยะปลาย ซึ่งหากได้รับการตรวจวินิจฉัยและเริ่มต้นรักษาที่รวดเร็วก็จะส่งผลดีต่อการรักษาและผู้ป่วย

dailynews121223_004cสิ่งที่ควรเฝ้าระวัง คือ หากเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงควรได้รับการตรวจสุขภาพ ตรวจเช็กเอนไซน์ตับ ไวรัสตับอักเสบ บี และซีซึ่งหากตรวจพบไม่ควรตื่นตระหนกแต่ควรตระหนักในการดูแลสุขภาพ ไม่เครียด หรือกังวล ส่วนกลุ่มที่ดูแลรักษาสุขภาพ การตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีหรือทุก 2 ปีมีความสำคัญเช่นเดียวกัน เพราะช่วยให้หลีกไกลและเท่าทันการรักษา เป็นการเตรียมความพร้อมให้กับตนเองหากต้องเผชิญกับโรคไวรัสตับอักเสบซี ปัจจุบัน ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีสายพันธุ์ 2 และ 3 ที่ใช้สิทธิรักษาพยาบาลข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ ประกันสังคมและประกันสุขภาพแห่งชาติสามารถเบิกค่ารักษาได้

การรู้เท่าทันโรคเปลี่ยน แปลงพฤติกรรมการปฏิบัติตนเอง สิ่งเหล่านี้จึงไม่เพียงช่วยให้ไกลห่างจากไวรัสตับอักเสบซี แต่ยังช่วยให้มีสุขภาพร่างกาย สมบูรณ์แข็งแรงไกลห่างโรคร้ายทั้งปวงอีกด้วย.

 

ที่มา: เดลินิวส์ 23 ธันวาคม 2555

“เครื่องตรวจตับ” เทคโนโลยีใหม่ รู้ผลไว…รักษาได้ก่อนเกิดภาวะตับแข็ง

 

ตับเป็นอวัยวะที่มีหน้าที่สำคัญหลายอย่าง อาทิ สร้างน้ำดี ย่อยอาหารประเภทไขมัน ขจัดสารพิษ ทำลายเชื้อโรค ถ้าเราไม่ใช้งานตับมากเกินไปก็จะสามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ถ้าเมื่อใดที่เราไม่แน่ใจว่าตับของเราทำงานปกติดีหรือไม่ ปัจจุบันมี “เทคโนโลยีเครื่องตรวจตับ” ใหม่ที่มีความแม่นยำสูง ที่จะสามารถทราบภาวะเริ่มต้นของโรคตับได้แต่เนิ่นๆ และมีโอกาสรักษาหายขาดก่อนลุกลามเป็นโรคตับแข็ง…!!

ด้านสถานการณ์โรคตับในปัจจุบัน รศ.นพ.สมบัติ ตรีประเสริฐสุข แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทางเดินอาหาร ศูนย์โรคทางเดินอาหารและตับกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า โรคตับในประเทศไทยที่พบบ่อยมากที่สุดในกลุ่มแรกคือ ไวรัสตับอักเสบบีและซี ซึ่งไวรัสบีจะเป็นในกลุ่มคนรุ่นอายุตั้งแต่ 40-60 ปี เพราะติดจากแม่สู่ลูกและจากการรับเลือด ถือเป็นปัญหามากในเอเชีย และเมื่อแม่อายุ 60 ปี ลูกจะมีอายุประมาณ 30-40 ปีก็ยังเป็นปัญหาหลักอยู่ ส่วนกลุ่มไวรัสซี มักเป็นในวัยทำงานอายุประมาณ 30-40 ปี ติดจากเข็มฉีดยาและการรับเลือดในสมัยก่อนที่ไม่ได้มีการตรวจคัดกรอง ดังนั้นคนที่เคยรับเลือดสม่ำเสมอหรือฟอกไตในยุคประมาณปี 2530 ต้น ๆ ส่วนใหญ่จะติดไวรัสซี

ไวรัสทั้ง 2 กลุ่มนี้ทำให้เกิดโรคตับแน่นอน คือโรคตับแข็ง แต่ถ้าเราได้รับการตรวจวินิจฉัยได้เร็ว เมื่อพบว่าเป็นตับอักเสบแล้ว ปัจจุบันประเทศไทยมียารักษาเพื่อให้เชื้อหมดไปจากร่างกายแล้ว ถ้าเชื้อหมดโอกาสที่จะเกิดตับแข็งก็น้อยลงไปมาก ดังนั้นถ้าเรารักษาได้เร็วและหายเร็วก็ไม่เกิดโรคตับแข็ง แต่บางคนเมื่อทราบแล้วแต่ชะล่าใจไม่รับการรักษาจนกลายเป็นตับแข็งและเป็นมะเร็งตับในที่สุด

กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มโรคไขมันเกาะตับ ถือเป็นโรคที่ฮิตมา 10 ปีแล้ว มีงานวิจัยว่า เมื่อประมาณปี ค.ศ. 2000 พบโรคนี้ในประเทศไทย แต่ในต่างประเทศเริ่มต้นจากอเมริกาเมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว มักเจอในคนอ้วน โดยมีการนำเข็มจิ้มที่เนื้อตับไปตรวจโดยการส่องกล้องจะเห็นไขมันในปริมาณมากเกินถึง 30-80 เปอร์เซ็นต์ ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะปัจจุบันเป็นกลุ่มที่มาตรวจร่างกายเป็นระดับคนชั้นกลาง มีฐานะ ทำงานออฟฟิศ กินดีอยู่ดีไม่มีเวลาออกกำลังกาย ทำให้น้ำหนักขึ้น นอกจากนี้ยังมีความเชื่อมโยงกับโรคเบาหวาน เมื่อเป็นเบาหวานและอ้วนมาก โรคไขมันเกาะตับจึงตามมา เป็นอาการรวมของโรคอ้วนที่ไปแสดงที่ตับทำให้ตับอักเสบและเป็นตับแข็งได้

ถ้าเปรียบเทียบการรักษาโรคไขมันเกาะตับจะยากกว่าโรคตับที่เกิดจากไวรัส เพราะไวรัสหมอให้ยารักษาได้ ถ้าคนไข้กินยาตามที่หมอสั่งอาการจะดีขึ้น แต่โรคไขมันเกาะตับไม่มียารักษา หมอจะแนะนำว่าให้ออกกำลังกาย ลดน้ำหนัก ลดอาหารประเภทแป้ง อาหารรสหวาน และมีไขมัน ซึ่งยากมากในการเปลี่ยนนิสัยการกินและการอยู่ของมนุษย์เรา แต่ถ้าทำได้ก็เป็นผลดี นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยอีกกลุ่มที่อ้วนซ่อนรูปดูไม่ออก เพราะนำไปเข้าเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์วัดปริมาณไขมันในช่องท้องปกติ แต่ข้างในตับมีไขมันอยู่เต็มเลยทำให้เกิดไขมันเกาะตับ มีความเสี่ยงต่อโรคไขมันเกาะตับเช่นกัน แต่น้อยกว่ากลุ่มผู้ป่วยที่อ้วนชัดเจน ซึ่งคนกลุ่มนี้มักจะมาหาเราช้า เพราะคิดว่าตัวเองไม่อ้วนและแข็งแรงดี ซึ่งทางการแพทย์ได้เก็บข้อมูลวิจัยโดยการเจาะตับ 100 รายเป็นกลุ่มอ้วนซ่อนรูปประมาณ 1 ใน 4

กลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มโรคแอลกอฮอล์ ในคนที่ดื่มเหล้าเข้าไปมาก ๆ เวลาเก็บจะเก็บเป็นพลังงานมีน้ำตาลและเปลี่ยนเป็นไขมันก็เป็นไขมันเกาะตับได้เหมือนกัน แต่เราจะไม่เรียกโรคไขมันเกาะตับ เราเรียกว่าโรคตับจากเหล้า เพราะเหล้าเป็นตัวต้นเหตุ แต่กลไกข้างในคล้าย ๆ กัน คือเหล้าเปลี่ยนแปลงเป็นไขมันพอกที่ตับส่วนหนึ่ง และเหล้ามีสารอื่น ๆ ที่ทำให้ตับพังด้วยอีกส่วนหนึ่ง

อย่างไรก็ตามทั้ง 3 โรคนี้ถ้าเราใช้เครื่องมือจากการตรวจร่างกายซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาการตรวจวินิจฉัยโดยนำเครื่องมือที่เรียกว่า Fibroscan with CAP (Controlled Attenuation Parameter) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดในการตรวจวินิจฉัยเพื่อดูสภาพการเกิดพังผืดในเนื้อตับเข้ามาช่วย ที่โรงพยาบาลกรุงเทพถือเป็นแห่งแรกในประเทศไทยที่ใช้เทคโนโลยีนี้ โดยสามารถประเมินสภาวะพังผืดในเนื้อตับในผู้ป่วยที่เป็นตับแข็งระยะแรก ๆ รวมถึงติดตามผล ประเมินระดับความรุนแรงเพื่อวางแผนการรักษาและวินิจฉัยภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยที่มีภาวะตับแข็งแทนการเจาะเนื้อตับอย่างรวดเร็วและแม่นยำ โดยผู้ป่วยจะไม่ได้รับความเจ็บปวดหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนใด ๆ

หลักการทำงานของเครื่อง Fibroscan with CAP ในการตรวจหาภาวะพังผืดในเนื้อตับ ใช้หลักการปล่อยคลื่นเสียงเข้าไปในเนื้อตับ และใช้คลื่นอัลตราซาวด์ในการตรวจวัดความเร็วของคลื่นเสียงที่สะท้อนกลับเพื่อประเมินความนิ่มหรือแข็งของเนื้อตับ และการตรวจประเมินไขมันสะสมในตับ ใช้หลักการปล่อยคลื่นอัลตราซาวด์เข้าไปในเนื้อตับและวัดค่าความต้านทานนั้น ๆ หากตับมีปริมาณไขมันสะสมมากจะมีแรงต้านทานมาก ค่าที่ได้จะสูงตาม

ข้อดีในการตรวจด้วยเครื่อง Fibroscan with CAP คือ การเตรียมตัวของผู้ป่วยก่อนเข้ารับการตรวจไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องงดน้ำและอาหาร สามารถตรวจได้ทันที สามารถทราบทั้งสภาวะพังผืดในเนื้อตับและปริมาณไขมันสะสมในตับโดยการตรวจเพียงครั้งเดียว โดยใช้เวลาในการตรวจประมาณ 8-10 นาที ก็สามารถทราบผลได้ทันทีหลังการตรวจ โดยไม่มีบาดแผล ไม่รู้สึกเจ็บ ผู้ป่วยไม่ต้องนอนโรงพยาบาล และค่าใช้จ่ายไม่สูงมาก ส่วนข้อจำกัดในการตรวจด้วยเครื่อง Fibro scan with CAP คือ ไม่สามารถตรวจหาจุดเนื้องอกหรือมะเร็งตับได้และไม่สามารถตรวจในผู้ป่วยที่มีดัชนีมวลกายมากกว่า 28 ได้ ที่สำคัญไม่ควรใช้กับผู้ป่วยตั้งครรภ์ ผู้ป่วยที่มีภาวะท้องมาน ผู้ป่วยที่ติดอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น เครื่องกระตุ้นหัวใจ ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะหรือโรคหัวใจ

 อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่มีอาการตับอักเสบจะนำไปสู่การเกิดพังผืดในตับหรือที่เราเรียกว่าตับแข็ง ซึ่งผู้ป่วยส่วนมากจะไม่แสดงอาการชัดเจน บางรายอาจมีอาการจุกแน่นชายโครงด้านขวา หรือบางรายที่เป็นมานานอาจมีอาการเริ่มต้นของภาวะตับแข็ง เช่น อ่อนเพลีย ท้องโต หากใครที่มีอาการลักษณะนี้หรือมีความเสี่ยงต่าง ๆ ควรรีบไปตรวจเช็กตับเพื่อรับการรักษาก่อนที่อาการจะลุกลามจนถึงขั้นไม่สามารถรักษาได้และเสียชีวิตในที่สุด…!!
……………………………………

สรรหามาบอก 

-โรงพยาบาลกรุงเทพ ร่วมกับศูนย์เยาวชนลุมพินี สำนักวัฒนธรรมกีฬาและการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร ชวนคนรักสุขภาพร่วมงาน“รวมพลคนกรุงสุขภาพดี” ฟังสัมมนาหัวข้อ“ดูแลตัวเองอย่างไร…ให้ห่างไกลมะเร็ง” พร้อมรับบริการตรวจสุขภาพ เช่น ตรวจวัดความดันโลหิต, ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (สำหรับ 100 ท่านแรกที่ลงทะเบียนหน้างาน) ร่วมเล่นเกมและตอบคำถามรับของรางวัลมากมายในวันอาทิตย์ที่ 7 ตุลาคม 2555 เวลา 06.00–09.00 น. ที่ด้านหน้าอาคารพลเมืองอาวุโส สวนลุมพินี สอบถามโทร.1719

-บริษัท คอลเกต-ปาล์มโอลีฟ (ประเทศไทย) จำกัด โดยผลิตภัณฑ์โพรเทคส์ร่วมกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย และบริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด จัดกิจกรรมรณรงค์วันล้างมือโลก 2012 ภายใต้โครงการโพรเทคส์ “ล้างมือต้านหวัด เด็กไทยแข็งแรง” พร้อมร่วมกิจกรรมสนุกและรับของที่ระลึก ในวันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม 2555 เวลา 14.00 – 18.30 น. ณ ลานอีเดน ชั้น 2 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

-โรงพยาบาลสมิติเวช ขอเชิญผู้สนใจร่วมงาน “October Go Pink” ปีที่ 3 ฟังเสวนาเรื่องโรคมะเร็งเต้านมแบบเจาะลึก พร้อมชมแฟชั่นโชว์หมวกไหมพรมเพื่อมอบให้กับผู้ป่วยมะเร็งเต้านม และไฮไลท์สุดพิเศษ เกรซ มหาดำรงค์กุล ไฮโซฯสาวชื่อดัง จะร่วมบริจาคผมให้กับโรงพยาบาลฯ เพื่อนำไปทำวิกผมให้กับผู้ป่วยมะเร็ง ในวันพุธที่ 10 ตุลาคม 2555 เวลา 13.30-15.30 น. ณ ลานเปียโน อาคาร Royal Wing ชั้น 1 โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท สอบถามโทร.0-2711-8181

-โรงพยาบาลมนารมย์ ขอเชิญผู้สนใจฟังการบรรยาย เรื่อง“ไขปัญหาอัลไซเมอร์” ในวันเสาร์ที่ 13 ตุลาคม 2555 เวลา 08.30-12.00 น. ณ ห้องประชุมมนารมย์ โรงพยาบาลมนารมย์ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย สนใจติดต่อสำรองที่นั่งได้ที่ โทร.0-2725-9595

ทีมวาไรตี้

ที่มา: เดลินิวส์ 7 ตุลาคม 2555

ไวรัสตับอักเสบซี

ไวรัสตับอักเสบซี เป็นสาเหตุของการติดเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดภาวะตับแข็งและมะเร็งตับได้เช่นกัน ในประเทศไทยพบได้น้อยกว่าไวรัสตับอักเสบบีมาก อุบัติการณ์ของไวรัสตับอักเสบซีจากข้อมูลของผู้ที่บริจาคโลหิต ประมาณกันว่าในโลกนี้มีผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีประมาณร้อยละ 3 ของประชากรโลก (ประมาณ 170 ล้านคน) ในประเทศไทยพบประมาณร้อยละ 1-5 แตกต่างกับตามภูมิภาค ทางภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือจะพบได้มากกว่าภาคอื่น คือ ประมาณร้อยละ 5-8 ไวรัสตับอักเสบซีแตกต่างจากไวรัสตับอักเสบบีตรงที่ไวรัสตับอักเสบซีนั้น ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

การติดต่อของไวรัสตับอักเสบซี

สามารถติดต่อได้โดย

1.การได้รับเลือดหรือส่วนประกอบของเลือด โดยเฉพาะในช่วงก่อนที่จะมีการตรวจกรองหาไวรัสตับอักเสบซีในเลือดของผู้บริจาค คือ ก่อนปี 2533

2.การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน การสัก การเจาะหู เขียนคิ้วถาวร  โดยผู้ที่ขาดความรู้ และเครื่องมือไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อให้ถูกต้อง

3. การใช้ยาเสพติดฉีดผ่านทางผิวหนัง

4. การฟอกไตในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง

5.การติดต่อทางเพศสัมพันธ์และจากมารดาสู่ทารก ซึ่งการเข้าสู่ร่างกายของเชื้อไวรัสตับอักเสบซีโดยวิธีนี้พบได้น้อยมากแตกต่างจากไวรัสตับอักเสบบี

เมื่อเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดภาวะตับอักเสบเฉียบพลัน โดยที่ส่วนมากจะไม่มีอาการ แต่ส่วนน้อยประมาณร้อยละ 10-15 จะเกิดอาการตัวเหลืองหรือดีซ่าน อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร โดยอาการเหล่านี้จะหายไปเอง

เมื่อเกิดภาวะตับอักเสบซีเฉียบพลัน ประมาณร้อยละ 10-15 จะหายขาดจากโรค แต่ส่วนใหญ่ที่เหลือจะเกิดภาวะตับอักเสบแบบเรื้อรัง ทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของพังผืด หรือแผลเป็นในตับ โดยที่ประมาณหนึ่งในสี่ของผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง จะเกิดภาวะตับแข็งภายหลังได้รับเชื้อประมาณ  20 ปี ผู้ที่ดื่มสุราเป็นประจำ อ้วน เพศชาย หรือมีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ร่วมด้วยจะเกิดภาวะตับแข็งได้เร็วขึ้น  ภายหลังการเกิดภาวะตับแข็งจะเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น น้ำในช่องท้อง หรือท้องมาน ตัวเหลือง ตาเหลือง เลือดออกในทางเดินอาหาร กล้ามเนื้อลีบ และมะเร็งตับ การตรวจพบและรักษาแต่เนิ่น ๆ จะทำให้หายขาดจากโรคได้ แตกต่างจากไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง ซึ่งโอกาสหายขาดจากการรักษานั้นน้อยมากการตรวจเลือดในผู้ป่วยที่สงสัยว่าเกิดการติดเชื้อของไวรัสตับอักเสบซี

ในผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีการตรวจค่าการทำงานของตับ (Liver function test) อาจพบว่าปกติ หรือผิดปกติก็ได้ การตรวจ Anti-HCV จะบอกว่าผู้ป่วยเคยได้รับเชื้อมาก่อนหรือไม่  ซึ่งถ้าเป็นผลบวก แพทย์จะต้องทำการตรวจดูว่าพบเชื้ออยู่ในเลือดหรือไม่ โดยการตรวจหาปริมาณของไวรัส (HCV Viral load) ซึ่งจะบอกว่าผู้ป่วยยังมีเชื้อไวรัสตับอักเสบซีอยู่ในร่างกายหรือหายขาดจากโรคแล้ว  การตรวจนี้ราคาค่อนข้างสูง

ถ้าตรวจพบเชื้อไวรัสตับอักเสบซี  การตรวจหาสายพันธุ์ (Genotype) จะช่วยกำหนดแนวทางในการรักษาและช่วยทำนายโอกาสหายหากได้รับการรักษา แพทย์อาจต้องตรวจดูว่าผู้ป่วยมีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบอื่น ๆ ร่วมด้วยหรือไม่ เช่น ไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งการติดต่อของเชื้อทำนองเดียวกัน เพื่อช่วยในการวางแผนการรักษาต่อไป
การรักษาไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง

เป้าหมายของการรักษาเพื่อกำจัดเชื้อไวรัสซีให้หมดไปจากร่างกายของผู้ป่วย  ทำให้ลดการอักเสบของตับ ลดความเสี่ยงในการเกิดตับแข็งและมะเร็งตับ สามารถทำได้โดยใช้ยาฉีดในกลุ่มเพ็คกิเลเต็ดอินเตอร์เฟอรอน (Pegylated Interferon) ร่วมกับยากินไรบาไวริน (Ribavirin) โดยที่ระยะเวลาของการรักษาตั้งแต่ 24 ถึง 48 สัปดาห์ แตกต่างกันตามชนิดสายพันธุ์ (Genotype) และโอกาสการหายขาดก็ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ด้วยเช่นกัน

อาการข้างเคียงที่เกิดจากการรักษา ได้แก่ อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ท้องเสีย ซีด ผิวหนังแห้ง นอนไม่หลับ ผมร่วง ซึมเศร้าและอารมณ์แปรปรวน โดยที่ประมาณร้อยละ 10 ของผู้ป่วยจะต้องหยุดการรักษาก่อนกำหนดเนื่องจากไม่สามารถทนต่ออาการข้างเคียงเหล่านี้ได้

การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยที่เป็นไวรัสตับอักเสบซี

1.รับประทานอาหารที่ถูกสุขอนามัย  ไม่จำเป็นต้องรับประทานวิตามินมากจนเกินไป

2.งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดเด็ดขาด

3.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ

4.ลดอาหารจำพวกแป้ง ของหวาน  และของมันมากจนเกินไปจะทำให้อ้วนและไขมันสะสมตับ ทำให้ตับอักเสบมากขึ้น

5.หลีกเลี่ยงยาสมุนไพร ยาลูกกลอน และอาหารเสริม

6.งดการบริจาคโลหิต

7.ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ ในกรณีที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกัน และฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ในกรณีที่ผลการตรวจเลือดบ่งชี้ว่าไม่เคยได้รับเชื้อมาก่อน กล่าวคือ ผลการตรวจกรองเลือดทั้ง 3 อย่าง (HBsAg, Anti-HBc และ Anti-HBs) ให้ผลลบ

8.พบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อทำการตรวจเลือด และอัลตราซาวด์ตับเป็นระยะ โดยเฉพาะในกรณีที่มีภาวะตับแข็งแล้ว

ข้อมูลจาก นายแพทย์พงษ์ภพ   อินทรประสงค์ อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและโรคตับ โรงพยาบาลพญาไท 2 / http://www.phyathai.com

 

ที่มา: เดลินิวส์ 1 เมษายน 2555

หญิง-ชาย เสี่ยงไวรัสตับอักเสบพอกัน เหตุถ่ายทอดจากแม่สู่ลูก

แพทย์เผยคนส่วนมากยังเข้าใจผิด คิดว่าผู้ชายมีความเสี่ยงติดเชื้อไวรัสตับอักเสบสูงกว่าผู้หญิง แต่ความจริงแล้วถึงแม้ผู้หญิงที่ไม่มีพฤติกรรมสำส่อนทางเพศ ไม่ดื่มเหล้าสูบบุหรี่ ก็มีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อเทียบเท่าผู้ชายรักสนุก เหตุเพราะช่องทางการติดเชื้อส่วนใหญ่ในประเทศไทยยังคงมาจากแม่สู่ลูก ทั้งๆ ที่สามารถป้องกันได้ แต่อัตราการติดเชื้อผ่านช่องทางนี้ก็ยังสูงอยู่

นพ.บุญเลิศ อิมราพร อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวถึงเชื้อไวรัสตับอักเสบว่า ไวรัสตับอักเสบที่พบบ่อยในปัจจุบัน คือชนิดเอ บีและซี สำหรับไวรัสตับอักเสบชนิดดีและอีพบน้อย โดยผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบจะแบ่งอาการเป็น 2 ลักษณะคือ ติดเชื้อแบบเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีไข้ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร อาจมีผื่น ปวดข้อ ร่วมด้วย ต่อมาไข้จะลดลง ผู้ป่วยจึงเริ่มมีอาการตาเหลือง ตัวเหลือง ส่วนอีกกลุ่มคือ ติดเชื้อแบบเรื้อรัง ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่มีอาการผิดปกติ หรืออาจมีอาการที่ไม่จำเพาะ เช่น อ่อนเพลียเล็กน้อย กลุ่มนี้หากไม่ได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสมอาจนำไปสู่การเป็นตับแข็งและมะเร็งตับในที่สุด โดยเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดตับอักเสบเรื้อรัง ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบชนิดบี ซีและดีเท่านั้น ปัจจุบันพบจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีทั่วโลกประมาณ 350-400 ล้านคน ส่วนในประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีจากผู้บริจาคเลือดประมาณร้อยละ 5 และผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีส่วนใหญ่จะไม่มีอาการผิดปกติ โดยเฉพาะในเด็กจะไม่แสดงอาการป่วยใดๆ แต่เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่คนกลุ่มนี้มีโอกาสเสี่ยงของมะเร็งตับสูงกว่าคนทั่วไปประมาณ 200 เท่า หญิงเสี่ยงเป็นตับแข็งเช่นเดียวกับผู้ชาย

นพ.บุญเลิศกล่าวว่า ปัจจุบันคนส่วนใหญ่มีความเข้าใจว่า ผู้ชายมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสตับอักเสบมากกว่าผู้หญิง โดยเฉพาะผู้ชายรักสนุกที่มีพฤติกรรมชอบดื่มสุรา สูบบุหรี่ มีคู่นอนหลายคน โดยลืมตระหนักไปว่า ผู้หญิงก็มีโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเท่ากันกับผู้ชาย เพราะในประเทศแถบเอเชียรวมถึงประเทศไทยช่องทางการติดเชื้อที่สำคัญยังคงมาจากแม่สู่ลูก ส่วนโอกาสที่จะกลายเป็นตับแข็งและมะเร็งตับก็มีได้เช่นเดียวกับผู้ชาย โดยเฉพาะสาวๆ ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีอยู่แล้ว และมีพฤติกรรมชอบบริโภคอาหารที่มีไขมันมาก อาหารหมักดอง ถั่วหรือธัญพืชบางชนิดที่อาจมีสาร Aflatoxin ซึ่งเกิดจากเชื้อรา รวมถึงสาวๆ ที่ชอบซื้อยาหรือวิตามินที่อาจมีผลต่อตับมารับประทานเองโดยขาดการศึกษาข้อมูลที่เพียงพอ หรือไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ล้วนเป็นพฤติกรรมที่เอื้อให้เกิดภาวะตับอักเสบ ตับแข็งและมะเร็งตับ ได้เช่นเดียวกับผู้ชายคอทองแดงที่รักการดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหลาย ดังนั้น ผู้หญิงไม่ควรชะล่าใจ เพราะต่างก็มีอัตราเสี่ยงติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ และมีโอกาสกลายเป็นมะเร็งตับไม่แตกต่างกันกับผู้ชาย

ด้าน นพ.รัชวิชญ์ เจริญกุล อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวเพิ่มเติมถึงช่องทางในการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบว่า ไวรัสตับอักเสบบี เป็นสาเหตุสำคัญของภาวะตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็งและมะเร็งตับ การติดต่อของไวรัสตับอักเสบบี จะไม่ติดต่อผ่านการรับประทานอาหาร น้ำลาย หรือการสัมผัส แต่สามารถติดต่อได้ 3 ทางคือ เลือดและส่วนประกอบของเลือด ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก ซึ่งยังคงเป็นช่องทางการติดเชื้อที่สำคัญในประเทศไทย ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีแล้วก็ตาม ยังพบผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีสูงอยู่ ทั้งๆ ที่สามารถป้องกันได้ โดยการตรวจคัดกรอง หากพบว่าไม่มีภูมิต้านทานไวรัสก็สามารถรับวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีได้ หรือแม้กระทั่งติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีแล้ว ก็ป้องกันไม่ให้เป็นตับแข็งและมะเร็งตับได้ และหากวางแผนมีบุตรยังสามารถตั้งครรภ์และให้กำเนินทารกได้อย่างปลอดภัยภายใต้การดูแลของแพทย์

นอกจากนี้ นพ.รัชวิชญ์ ยังเปิดเผยว่า ไวรัสตับอักเสบซี ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญของภาวะตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็งและมะเร็งตับ แต่ไม่ง่ายเหมือนกับไวรัสตับอักเสบบีโดยติดทางเลือดเป็นหลัก ส่วนทางเพศสัมพันธ์และจากแม่ไปสู่นั้นน้อยมากๆ ในประเทศไทยจากข้อมูลการบริจาคเลือด พบว่ามีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีร้อยละ 1-2 ของประชากร ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบซี ผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ส่วนใหญ่ไม่มีอาการผิดปกติ ตรวจพบได้โดยการตรวจเลือดเท่านั้น ซึ่งหากกลายเป็นไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง และไม่ได้รับการรักษาจะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ ได้แก่ ตับแข็งและมะเร็งตับในที่สุด

ส่วนผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบไม่ว่าชนิดใดก็ตาม นพ.รัชวิชญ์ แนะนำแนวทางปฏิบัติตัวว่า ควรงดดื่มสุราและไม่สูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการรับประทานยาโดยไม่จำเป็น ควรปรึกษาแพทย์ว่ายาชนิดนั้นมีผลต่อตับหรือไม่ หลีกเลี่ยงการรับประทานยาสมุนไพร พักผ่อนให้เพียงพอ งดออกกำลังกายหักโหม ตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ เพื่อเฝ้าระวังตับแข็งและมะเร็งตับ แนะนำให้ญาติพี่น้อง คนใกล้ชิด สามีภรรยา ตรวจหาการติดเชื้อไวรัสและรับวัคซีนป้องกัน ระมัดระวังการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น กรณีมีข้อบ่งชี้ให้รับการรักษา ควรรักษาอย่างต่อเนื่อง

ไวรัสตับอักเสบเป็นปัญหาสาธารณสุขที่คนส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักถึงภัยเพียงพอ ทำให้มีผู้เสียชีวิตเพราะภาวะตับแข็งและมะเร็งตับจำนวนมาก ดังนั้น ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลเวชธานี จึงรณรงค์ให้ประชาชนหันมาใส่ใจในโรคดังกล่าว ด้วยการเปิดให้ผู้ที่สงสัยว่ามีความเสี่ยง หรือผู้สนใจทั่วไปเข้ารับการเจาะเลือดเพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้ที่งานสัมมนา “ไวรัส วายร้าย ทำลายตับ” ซึ่งแพทย์ทั้งสองท่านจะมาให้ความรู้ในงานดังกล่าวด้วย ในวันเสาร์ที่ 31 มี.ค. 55 ที่โรงพยาบาลเวชธานี สอบถามโทร. 0-2734-0000

 

ที่มา: ไทยรัฐ 21 มีนาคม 2555