เตือน! นอนดูทีวี-ติดสมาร์ทโฟน เสี่ยงคอเอียงไม่รู้ตัว

thairath140423_001หมอเตือนคนชอบนอนดูทีวี เล่นแท็บเล็ต-สมาร์ทโฟน ส่งผลเดินคอเอียงไม่รู้ตัว ตาพล่ามัว กล้ามเนื้อคออักเสบ แนะผู้ที่มีอาการตาแห้ง แสบตา หลังดูจอมือถือหรือจอคอมพิวเตอร์ ไม่จำเป็นต้องหยอดตา แต่ควรดื่มน้ำ และลดการจ้องมากเกินความจำเป็น…

เมื่อวันที่ 23 มี.ค.57 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์ประจำโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี กล่าวว่า ขณะนี้การใช้พฤติกรรมประจำวันของประชาชนน่าห่วง ผู้ที่อาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์ คอนโดมิเนียมที่มีพื้นที่จำกัด มักชอบนอนดูทีวี ซึ่งทีวีจะตั้งอยู่สูงกว่า การดูทีวีในลักษณะนี้ อาจก่อปัญหาโดยไม่รู้ตัว การนอนดูทีวีที่ทีวีอยู่ข้างบน เป็นท่าที่ไม่ถูก จะมีผลเสียต่อกล้ามเนื้อที่คอ กระดูกคอ ทำให้เอ็นคออักเสบ ทั้งนี้ หากมีพฤติกรรมนี้ไปนานๆ จะเกิดอาการปวดต้นคอ กล้ามเนื้อเกร็งและอักเสบ ซึ่งท่าที่ดีที่สุดในการดูทีวี คือ ท่าที่สบายที่สุด เช่น นั่งเอกเขนก และทีวีต้องอยู่ในระดับสายตา

“เรื่องที่น่าห่วงอีกเรื่อง คือขณะนี้คนส่วนใหญ่มักอยู่กับเครื่องมือสื่อสารเกือบตลอดเวลา โดยเฉพาะแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟน และชอบนอนตะแคงดูข้อมูลหรือภาพหรือนอนตะแคงกดข้อความส่งไลน์ การนอนดูข้างเดียว มือจะถือข้างเดียวติดต่อกันนานๆ อาจจะมีผลต่อบุคลิกไม่รู้ตัว เด็กบางคนจะเดินคอเอียงๆ เคยพบมาแล้ว เป็นเด็กอายุ 7 ขวบ เดินคอเอียง เนื่องจากนอนเล่นแท็บเล็ต ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้เกิดจากความเคยชิน เหมือนเช่นบางคนขณะอยู่เฉยๆ แต่เคาะโต๊ะเล่น หรือเขย่าเท้าเล่น”

นอกจากนี้ การใช้สายตาดูจอมือถือหรือดูคอมพิวเตอร์มากเกินไป จะเกิดปัญหาตาแห้ง รวมถึงแสบตา เคืองตา ตาพร่ามัว แต่สายตาปกติ และผู้ป่วยมักจะนิยมไปพบจักษุแพทย์เพื่อขอยาหยอดตา เนื่องจากเข้าใจว่าตาติดเชื้อ นับว่าเป็นความเข้าใจผิด และไม่จำเป็น ต้องรักษาด้วยยาดังกล่าว เนื่องจากสาเหตุที่ตาแห้งเกิดจากแสงจ้าจากจอมือถือและคอมพิวเตอร์ สายตาต้องเพ่งลงที่จอ ติดต่อเป็นเวลานาน นอกจากจะไม่ได้ผลแล้ว จะเกิดผลเสียในอนาคต คือ ปัญหาการดื้อยา วิธีแก้ไปอาการแสบตา เคืองตาหลังเพ่งจอมือถือหรือคอมพิวเตอร์ที่ถูกต้องคือให้ดื่มน้ำบ่อยๆ เพื่อให้น้ำไปหล่อเลี้ยงดวงตาทำให้ตาชุ่มชื้น หรือนั่งหลับตาพักสายตาชั่วครู่ประมาณ 10-15 นาทีก็จะช่วยได้ อย่างไรก็ตาม วิธีการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ เนื่องมาจากการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารที่ไม่ถูกต้อง ขอให้ใช้เทคโนโลยี ใช้เมื่อจำเป็น หากไม่จำเป็น ก็อย่าใช้ โดยเฉพาะการใช้โทรศัพท์มือถือประเภทสมาร์ทโฟนขณะนี้ ถือว่าใช้มากเกินความจำเป็น.

ที่มา : ไทยรัฐ 23 มีนาคม 2557