เตือน! นอนดูทีวี-ติดสมาร์ทโฟน เสี่ยงคอเอียงไม่รู้ตัว

thairath140423_001หมอเตือนคนชอบนอนดูทีวี เล่นแท็บเล็ต-สมาร์ทโฟน ส่งผลเดินคอเอียงไม่รู้ตัว ตาพล่ามัว กล้ามเนื้อคออักเสบ แนะผู้ที่มีอาการตาแห้ง แสบตา หลังดูจอมือถือหรือจอคอมพิวเตอร์ ไม่จำเป็นต้องหยอดตา แต่ควรดื่มน้ำ และลดการจ้องมากเกินความจำเป็น…

เมื่อวันที่ 23 มี.ค.57 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์ประจำโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี กล่าวว่า ขณะนี้การใช้พฤติกรรมประจำวันของประชาชนน่าห่วง ผู้ที่อาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์ คอนโดมิเนียมที่มีพื้นที่จำกัด มักชอบนอนดูทีวี ซึ่งทีวีจะตั้งอยู่สูงกว่า การดูทีวีในลักษณะนี้ อาจก่อปัญหาโดยไม่รู้ตัว การนอนดูทีวีที่ทีวีอยู่ข้างบน เป็นท่าที่ไม่ถูก จะมีผลเสียต่อกล้ามเนื้อที่คอ กระดูกคอ ทำให้เอ็นคออักเสบ ทั้งนี้ หากมีพฤติกรรมนี้ไปนานๆ จะเกิดอาการปวดต้นคอ กล้ามเนื้อเกร็งและอักเสบ ซึ่งท่าที่ดีที่สุดในการดูทีวี คือ ท่าที่สบายที่สุด เช่น นั่งเอกเขนก และทีวีต้องอยู่ในระดับสายตา

“เรื่องที่น่าห่วงอีกเรื่อง คือขณะนี้คนส่วนใหญ่มักอยู่กับเครื่องมือสื่อสารเกือบตลอดเวลา โดยเฉพาะแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟน และชอบนอนตะแคงดูข้อมูลหรือภาพหรือนอนตะแคงกดข้อความส่งไลน์ การนอนดูข้างเดียว มือจะถือข้างเดียวติดต่อกันนานๆ อาจจะมีผลต่อบุคลิกไม่รู้ตัว เด็กบางคนจะเดินคอเอียงๆ เคยพบมาแล้ว เป็นเด็กอายุ 7 ขวบ เดินคอเอียง เนื่องจากนอนเล่นแท็บเล็ต ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้เกิดจากความเคยชิน เหมือนเช่นบางคนขณะอยู่เฉยๆ แต่เคาะโต๊ะเล่น หรือเขย่าเท้าเล่น”

นอกจากนี้ การใช้สายตาดูจอมือถือหรือดูคอมพิวเตอร์มากเกินไป จะเกิดปัญหาตาแห้ง รวมถึงแสบตา เคืองตา ตาพร่ามัว แต่สายตาปกติ และผู้ป่วยมักจะนิยมไปพบจักษุแพทย์เพื่อขอยาหยอดตา เนื่องจากเข้าใจว่าตาติดเชื้อ นับว่าเป็นความเข้าใจผิด และไม่จำเป็น ต้องรักษาด้วยยาดังกล่าว เนื่องจากสาเหตุที่ตาแห้งเกิดจากแสงจ้าจากจอมือถือและคอมพิวเตอร์ สายตาต้องเพ่งลงที่จอ ติดต่อเป็นเวลานาน นอกจากจะไม่ได้ผลแล้ว จะเกิดผลเสียในอนาคต คือ ปัญหาการดื้อยา วิธีแก้ไปอาการแสบตา เคืองตาหลังเพ่งจอมือถือหรือคอมพิวเตอร์ที่ถูกต้องคือให้ดื่มน้ำบ่อยๆ เพื่อให้น้ำไปหล่อเลี้ยงดวงตาทำให้ตาชุ่มชื้น หรือนั่งหลับตาพักสายตาชั่วครู่ประมาณ 10-15 นาทีก็จะช่วยได้ อย่างไรก็ตาม วิธีการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ เนื่องมาจากการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารที่ไม่ถูกต้อง ขอให้ใช้เทคโนโลยี ใช้เมื่อจำเป็น หากไม่จำเป็น ก็อย่าใช้ โดยเฉพาะการใช้โทรศัพท์มือถือประเภทสมาร์ทโฟนขณะนี้ ถือว่าใช้มากเกินความจำเป็น.

ที่มา : ไทยรัฐ 23 มีนาคม 2557

ถนอมดวงตา…ก่อนสาย โดย พญ. วรางคณา ทองคำใส

bangkokbiznews140301_001จักษุแพทย์เตือน ผลพวงจากกระแสความนิยมบนโลกออนไลน์ ซึ่งช่วยให้สามารถรับข้อมูลข่าวสารได้ทั่วทุกมุมโลกและตลอดเวลา ทำให้กลุ่มเด็กวัยรุ่น และวัยทำงาน มีไลฟ์สไตล์เปลี่ยนไป ใช้ “ชีวิตติดจอ” ไม่ว่าจะเป็นใช้สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ ในการทำงาน การเรียน 8-10 ชั่วโมงต่อวันและอัพเดทสื่อสารข้อมูลไม่ว่าจะแชท โซเชียลแคม หรือติดดูซีรี่ย์ต่างๆ ส่งผลให้ใช้สายตาเพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว เตือนพฤติกรรมการใช้สายตาเป็นระยะเวลานานติดต่อกัน ในระยะยาวอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคทางสายตา และอาการต่างๆ เช่น ปวดตา ตาแห้ง ปวดศีรษะ และต้นคอ หรือ ที่เรียกว่า computer vision syndrome แนะดูแลป้องกันและถนอมสายตา…ก่อนสาย

ในอดีตโรคทางสายตาโดยส่วนใหญ่มักจะเกิดกับผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ทำให้คนในวัยหนุ่มสาวมองเป็นเรื่องไกลตัว แต่ปัจจุบันจากการสำรวจและศึกษาสถิติการเป็นโรคทางสายตาในประเทศไทยพบว่า อัตราการเกิดโรคทางสายตาเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยจากผลสำรวจสุขภาพสายตาคนไทยปี 2549 ระบุว่า มีคนไทยไม่น้อยกว่า 15 ล้านคน มีสายตาผิดปกติ คาดว่าจะมีคนไทยตาบอด 369,013 คน และสายตาเลือนลาง 987,993 คน และคาดว่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆทุกปี เพราะด้วยไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปของคนยุคใหม่ ที่มีการใช้สายตาทำงานมากขึ้น ส่งผลทำให้ “อายุตา” สูงมากกว่าอายุของตัวเรา

ปัจจุบันพบว่าเกือบ 50 % ของคนไทยทั้งประเทศ ต้องใช้คอมพิวเตอร์เป็นประจำทุกวัน ในการเรียน หรือการทำงาน โดยใช้เวลาส่วนใหญ่กับการหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต หรือเช็คเมล์อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ และยังใช้นอกเหนือจากเวลาเรียน และการทำงานแล้ว โดยเฉพาะไลฟ์สไตล์ของกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานในปัจจุบันอยู่ใน ยุค Look At “ME Generation” หรือ Gen Me ยุคที่คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีมากกว่ามนุษย์ด้วยกันเอง ทำให้เกิดปรากฏการณ์ “สังคมก้มหน้า” ที่ผู้คนรอบตัวต่างจดจ้องอยู่กับ “หน้าจอ” ของตัวเอง หรือเรียกได้ว่า “ชีวิตติดจอ” โดยไม่สนใจคนรอบข้าง ทำให้เราใช้สายตาเพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว

พญ.วรางคณา ทองคำใส จักษุแพทย์ หัวหน้าฝ่ายบริการทางการแพทย์ สนง.บรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย เปิดเผยว่า คนยุคใหม่มีไลฟ์สไตล์แบบ “ชีวิตติดจอ” ใช้จอต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น จอคอมพิวเตอร์ จอแท็บเล็ต หรือ จอสมาร์ทโฟน ในการอัพเดทสถานะ โซเซียลมีเดีย เล่นเกม ดูหนัง ดูซีรี่ส์ ส่งข้อความ ซื้อของออนไลน์ ค้นหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต ทำให้เราใช้สายตาเพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว ซึ่งพบว่า อัตราการใช้สายตากับหน้าจอคอมพิวเตอร์และจอต่างๆ โดยเฉลี่ยวันละ 8-10 ชั่วโมงทีเดียว

ซึ่งการที่คนเราใช้สายตาส่วนใหญ่ในการจ้องมองหน้าจอ หรือจ้องตัวหนังสือที่อยู่บนหน้าจอคอมพิวเตอร์ รวมไปถึงจอสมาร์ทโฟนนานๆนั้น จะส่งผลให้กล้ามเนื้อลูกตาทำงานหนัก เพิ่มโอกาสที่จะทำให้สายตาเสียได้มากกว่าการอ่านหนังสือ หรือทำงานในกระดาษ โดยจากสถิติพบว่า ถ้าคนเราใช้สายตาอยู่กับหน้าจอต่อเนื่องมากกว่า 3 ชั่วโมง/วัน จะทำให้เกิดอาการ ตาเบลอ ตาแห้ง แสบตา สู้แสงไม่ได้ ซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายที่คุณไม่รู้ตัว

และหากเราใช้สายตามากขึ้น ความรุนแรงของอาการจะยิ่งมากจนเกิดอาการคอมพิวเตอร์วิชั่น ซินโดรม ซึ่งนอกจากจะมีอาการทางสายตาแล้ว ยังมีอาการของกล้ามเนื้อด้วย เช่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยบ่า ต้นคอ ถ้าปวดมากอาจทำให้นอนไม่หลับ และพ้กผ่อนไม่เพียงพอ และเป็นสาเหตูของโรคอื่นตามมาได้ฉะนั้น เราควรเริ่มดูแลและถนอมสายตาตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนสายเกินแก้ เพราะดวงตาของเรามีคู่เดียวไม่มีอะไหล่เปลี่ยน หากต้องทำงานหน้าจอคอมฯ หรือใช้สมาร์ทโฟน ควรหมั่นพักสายตา และกระพริบตาบ่อยๆ อย่างน้อย 10-15 ครั้งต่อนาที รวมถึงนั่งทำงานในที่มีแสงสว่างเพียงพอ ปรับขนาดตัวหนังสือให้อ่านง่าย ไม่เล็กเกินไป

ที่สำคัญควรเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อการบำรุงสายตา เช่น วิตามินเอ ที่ผลงานวิจัยระบุว่า ช่วยในการมองเห็น และยังมีส่วนช่วยป้องกันการเกิดภาวะตาแห้ง และเลือกรับประทานทานผลไม้มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะพบมากในผักและผลไม้ต่างๆ โดยเฉพาะผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ต่างๆ เช่น บิลเบอร์รี่ สตรอเบอร์รี่ แครนเบอร์รี่ ราสเบอร์รี่ และแบล็คเคอร์แรนต์ เป็นต้น โดยมีการวิจัยพบว่า ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ มีแอนโธไซยานิน ช่วยคลายความเหนื่อยล้าของดวงตา ช่วยให้การมองเห็นในเวลากลางคืน และช่วยให้การไหลเวียนเลือดในเส้นเลือดฝอยดีขึ้น นอกจากนี้ ยังมีวิตามินซี อี และ ไบโอฟลาโวนอยด์ ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ มีส่วนช่วยปกป้องและถนอมดวงตาไม่ให้โดนทำลาย

นอกจากการบำรุงสุขภาพตาแล้ว สุขภาพร่างกายก็สำคัญ ควรพักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดที่ดวงตาดีขึ้น หากต้องออกแดด หรือขับรถควรสวมแว่นกันแดด และควรพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจเช็คสุขภาพดวงตาปีละครั้ง หากมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับการมองเห็น ตาแดง ปวดตา หรือเคืองตา ควรรีบพบจักษุแพทย์

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ 1 มีนาคม 2557

เตือนภัยชีวิตติดจอ คอมพ์วิชั่นซินโดรม

images004จากกระแสความนิยมบนโลกออนไลน์ ทำให้กลุ่มเด็กวัยรุ่น และวัยทำงาน มีไลฟ์สไตล์เปลี่ยนไป ใช้ “ชีวิตติดจอ” ไม่ว่าจะเป็นการใช้สมาร์ตโฟน แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ ในการทำงาน การเรียน ส่งผลให้ใช้สายตาเพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว ระยะยาวอาจเป็นสาเหตุโรคทางสายตา และอาการต่างๆ

ผลสำรวจและศึกษาสถิติการเป็นโรคทางสายตาในประเทศไทยพบว่า อัตราการเกิดโรคทางสายตาเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ผลสำรวจสุขภาพสายตาคนไทยปี 2549 ระบุว่า มีคนไทยไม่น้อยกว่า 15 ล้านคน มีสายตาผิดปกติ คาดว่าจะมีคนไทยตาบอด 369,013 คน และสายตาเลือนราง 987,993 คน และคาดว่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี ด้วยไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปของคนยุคใหม่

โดยเกือบร้อยละ 50 ของคนไทยทั้งประเทศ ต้องใช้คอมพิวเตอร์เป็นประจำทุกวัน ในการเรียน หรือการทำงาน ใช้เวลาส่วนใหญ่กับการหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต หรือเช็กเมล์ ปัจจุบันเราอยู่ใน ยุค Look At “ME Generation” หรือ Gen Me คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีมากกว่ามนุษย์ด้วยกันเอง ทำให้เกิดปรากฏการณ์ “สังคมก้มหน้า” ที่ผู้คนรอบตัวต่างจดจ้องอยู่กับ “หน้าจอ” หรือเรียกได้ว่า “ชีวิตติดจอ”

พญ.วรางคณา ทองคำใส จักษุแพทย์ หัวหน้าฝ่ายบริการทางการแพทย์ สนง.บรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย เผยว่า อัตราการใช้สายตากับหน้าจอคอมพิวเตอร์และจอต่างๆ โดยเฉลี่ยวันละ 8-10 ชั่วโมงทีเดียว ส่งผลให้กล้ามเนื้อลูกตาทำงานหนัก เพิ่มโอกาสสายตาเสีย

จากสถิติพบว่า ถ้าคนเราใช้สายตาอยู่กับหน้าจอต่อเนื่องมากกว่า 3 ชั่วโมง/วัน จะทำให้เกิดอาการ ตาเบลอ ตาแห้ง แสบตา สู้แสงไม่ได้ หากเราใช้สายตามากขึ้น ความรุนแรงของอาการจะยิ่งมาก จนเกิดอาการคอมพิวเตอร์วิชั่น ซินโดรม ซึ่งจะมีอาการของกล้ามเนื้อด้วย เช่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยบ่า ต้นคอ และเป็นสาเหตุของโรคอื่นตามมาได้

ฉะนั้นหากต้องทำงานหน้าจอคอมพ์ หรือใช้สมาร์ตโฟน ควรหมั่นพักสายตา กะพริบตาบ่อยๆ 10-15 ครั้งต่อนาที นั่งทำงานในที่มีแสงสว่างเพียงพอ ปรับขนาดตัวหนังสือให้อ่านง่าย เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์บำรุงสายตา เช่น วิตามินเอ ผักและผลไม้ต่างๆ โดยเฉพาะผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ เช่น บิลเบอร์รี่ สตรอว์เบอร์รี่ แครนเบอร์รี่ ราสพ์เบอร์รี่ และแบล็กเคอร์แรนต์ เป็นต้น

การวิจัยพบว่า ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ มีแอนโธไซยานิน ช่วยคลายความเหนื่อยล้าดวงตา เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีวิตามินซี อี และไบโอฟลาโวนอยด์ ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ มีส่วนช่วยปกป้องและถนอมดวงตาไม่ให้โดนทำลาย ควรออกกำลังกายเป็นประจำ สวมแว่นกันแดด และตรวจเช็กสุขภาพดวงตาปีละครั้ง

 

ที่มา : นสพ.ข่าวสด

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ 3 มีนาคม 2557

ห่วงคนไทยเสพโซเซียลยามดึก เสี่ยง ‘โรคต้อหิน’ ทำตาบอดได้

thairath140405_002กระทรวงสาธารณสุขเตือนคนปิดไฟดูทีวี สมาร์ทโฟนในความมืด เสี่ยงเกิดโรค “เทคโนโลยีซินโดรม” สร้างความเครียดผู้ใช้ ทำให้ความดันในลูกตาสูง เสี่ยงเกิดโรคต้อหินถึงขั้นตาบอดได้ แนะอายุ 40 ปี พบจักษุแพทย์ปีละ 1 ครั้ง เพื่อตรวจค้นหาโรคต้อหิน โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวาน เสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้สูงกว่าคนทั่วไป 5-7 เท่าตัว…

เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 57 นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า วันที่ 6 มีนาคมของทุกปี เป็น “วันต้อหินโลก” ซึ่งโรคต้อหิน (Glaucoma) เป็นสาเหตุตาบอดอันดับ 2 ของโลก รองจากตาต้อกระจก ประมาณการว่า มีคนตาบอดทั่วโลก 4.5 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นถึง 11.2 ล้านคน ในปี พ.ศ.2563 ผู้ป่วยโรคต้อหินส่วนใหญ่ร้อยละ 90 มักจะไม่ค่อยรู้ตัวมาก่อน เนื่องจากโรคต้อหินมีอาการค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้น องค์กรต้อหินโลก (World Glaucoma Association) ซึ่งมีสมาชิกที่เป็นชมรม หรือสมาคมแพทย์ต้อหินจากกว่า 75 ประเทศทั่วโลก จึงได้รณรงค์ให้ทราบถึงอันตรายของโรคต้อหิน เพื่อป้องกันตาบอดและสูญเสียการมองเห็น นอกจากนี้ ยังให้ตระหนักถึงความสำคัญของการตรวจตา และการดูแลถนอมดวงตาให้เป็นปกติให้ได้นานมากที่สุด

สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากสถิติสาธารณสุข ปี 2555 พบผู้ป่วยโรคต้อหิน ทั่วประเทศ 17,687 ราย ชายหญิงพอๆ กัน พบมากสุดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4,831 ราย ภาคกลาง 4,352 ราย กรุงเทพมหานคร 3,486 ราย ภาคเหนือ 3,084 ราย และภาคใต้ 1,934 ราย โดยในคนปกติทั่วไปที่อายุ 40 ปีขึ้นไป มีโอกาสเป็นโรคต้อหินประมาณร้อยละ 1 ส่วนผู้ที่เป็นโรคเบาหวานมีโอกาสเป็นต้อหินมากถึงร้อยละ 5-7 หรือมากกว่าคนปกติ 5-7 เท่าตัว แนวโน้มผู้ป่วยโรคนี้ จะมากขึ้นตามจำนวนผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งขณะนี้ไทยมีประมาณ 3.5 ล้านคน ได้กำชับให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ รณรงค์ให้ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป พบจักษุแพทย์เพื่อตรวจตาปีละ 1 ครั้ง และผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป พบจักษุแพทย์ปีละ 2 ครั้ง เพื่อตรวจหาโรคแต่เนิ่นๆ จะช่วยลดปัญหาการสูญเสียการมองเห็นจากโรคต้อหินได้ จัดบริการตรวจตาให้ผู้ป่วยเบาหวานทุกราย เพื่อค้นหาโรคและรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ

ทางด้าน นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ ผู้เชี่ยวชาญโรคตาประจำโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี กล่าวว่า โรคต้อหิน เป็นกลุ่มโรคของดวงตา โรคนี้จะมีการทำลายของเส้นประสาทตาจากหลายสาเหตุ ที่สำคัญคือ เกิดจากความดันในลูกตาสูง ทั้งจากการสร้างน้ำในลูกตามากเกินไป หรือระบายออกน้อยเกินไป ซึ่งอาจเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน หรือค่อยๆ เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ คนเป็นจะไม่รู้ตัว ขึ้นกับชนิดของต้อหิน แล้วมีผลให้ลานสายตาแคบลงเรื่อยๆ จนสูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการรักษาโรคนี้และได้ผลดี ทั้งการใช้ยาหยอดตา เลเซอร์ ผ่าตัด มีเครื่องมือที่สอดไปเพื่อระบายน้ำในลูกตา อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับการตรวจและให้การรักษาอย่างทันท่วงทีเป็นเรื่องสำคัญมาก หากปล่อยทิ้งไว้จนสูญเสียการมองเห็น แม้จะรักษาความดันได้เป็นปกติ แต่สายตาจะไม่กลับคืนเป็นปกติ หรือเรียกว่า สูญเสียอย่างถาวร หากบอดแล้วบอดเลย หรือตาพร่ามัวตลอดชีวิต

“ที่น่าห่วงเป็นอย่างยิ่งในขณะนี้ พบว่า สาเหตุสำคัญของการเกิดโรคต้อหิน อีกอย่างหนึ่งคือความเครียด ทำให้เกิดความดันลูกตาขึ้นได้ ซึ่งขณะนี้ประชาชนมีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้นทั้งคอมพิวเตอร์ มือถือ โทรทัศน์ จนทำให้เกิดปัญหาที่เรียกว่า เทคโนโลยีซินโดรม ซึ่งเทคโนโลยีซินโดรม ไม่ได้ทำให้เกิดจุดรับภาพจอตาเสื่อม หรือตาบอด แต่จะทำให้เกิดความล้าของสายตา ตาแห้ง เนื่องจากต้องใช้สายตาเพ่งที่ภาพ หรือตัวอักษรที่มีขนาดเล็กและอยู่ในจอ การเพ่งจะทำให้ม่านตาขยายใหญ่ขึ้นกว่าปกติ โดยเฉพาะผู้ที่นิยมปิดไฟดูทีวี เล่นสมาร์ทโฟน ไอแพด มีแอพพลิเคชั่นมากๆ ไม่ว่าจะเป็นเฟชบุ๊ก หรือไลน์ต่างๆ การส่องไฟฉายอ่านหนังสือ จะมีความเสี่ยงเกิดเทคโนโลยีซินโดรมได้ง่าย เพราะต้องใช้สายตากำกับตลอดเวลา จะทำให้กล้ามเนื้อตาล้า ตาแห้ง เครียดตลอดเวลา ยิ่งรายละเอียดเยอะ ตายิ่งทำงานหนัก” นพ.ฐาปนวงศ์ กล่าว

นพ.ฐาปนวงศ์ กล่าวอีกว่า การใช้เทคโนโลยีมาก ไม่ว่าจะดูเพื่อความบันเทิง ดูข่าวสารทั่วโลกนาน คุยกัน ความระทึกต่างๆ จะทำให้ผู้ใช้เกิดความเครียด โดยอาการเตือนของความเครียด จะเริ่มรู้สึกแสบตา ตาแห้ง น้ำตาไหล กะพริบตาบ่อย ปวดเมื่อยล้าที่กระบอกตา สายตาพร่า มองเห็นไม่ชัด บางคนมีอาการปวดศีรษะไมเกรนร่วมด้วย วิธีรักษาด้วยตนเอง สามารถทำได้ง่ายๆ คือให้นอนหลับเป็นเวลา 7 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ ซึ่งจะเป็นการรักษาที่ให้ผลดีที่สุด และดื่มน้ำบ่อยๆ เพื่อเพิ่มน้ำให้ตาให้ชุ่มชื้นขึ้น หรือทำประคบเย็น โดยให้ใช้ผ้าขนหนูหนา หรือผ้าเช็ดหน้าพับ 3 ส่วน นำไปแช่น้ำที่มีน้ำแข็งจนเย็น บิดหมาดๆ วางปิดตั้งแต่ขมับให้ทับพาดผ่านดวงตา เว้นสันจมูก ไปถึงขมับอีกข้าง ถ้าเย็นเกินไปให้เอาออก หากหายเย็นให้นำไปแช่น้ำเย็นใหม่อีกครั้ง ติดต่อกันอย่างน้อย 20 นาที พัก 1 นาที วันละ 2 หน จะช่วยลดความเครียด เพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา นอกจากนี้ ควรเปิดไฟดูทีวี การอ่านหนังสือในที่แสงสว่างเพียงพอ ดีที่สุดควรใช้เทคโนโลยีเท่าที่จำเป็น ใช้ให้ปลอดภัย เหมาะสม คือใช้นานประมาณ 25 นาที และให้พัก 5 นาที หรือใช้นาน 30 นาที และพัก 10 นาที เปลี่ยนอิริยาบถสลับกันไป จะช่วยได้ให้เหมาะสม ถ้าไม่จำเป็นอย่ายุ่งกับเทคโนโลยี ให้ควบคุมใจตัวเอง

ทั้งนี้ ผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2551 พบคนไทย อายุ 6 ปีขึ้นไป ดูทีวี 57 ล้านคน และล่าสุด ปี 2555 คนไทยใช้คอมพิวเตอร์  21 ล้านกว่าคน ใช้โทรศัพท์มือถือ 44 ล้านกว่าคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในกรุงเทพมหานครมากที่สุดร้อยละ 84 ภาคกลางร้อยละ 75  ภาคเหนือร้อยละ 68 ภาคใต้ร้อยละ 67 ต่ำสุดภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 64

 

ที่มา : ไทยรัฐ 5 มีนาคม 2557

‘เคล็ดลับ..ถนอมสายตาในยุค Gen Me’

dailynews140309_003เมื่อก่อนถ้าพูดถึงโรคทางสายตา มักจะบอกว่าเป็นโรคของคนแก่ เพราะในอดีตโรคทางสายตาโดยส่วนใหญ่มักจะเกิดกับผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ทำให้คนในวัยหนุ่มสาวมองเป็นเรื่องไกลตัว แต่ปัจจุบันจากการสำรวจและศึกษาสถิติการเป็นโรคทางสายตาในประเทศไทยพบว่า อัตราการเกิดโรคทางสายตาเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยจากผลสำรวจสุขภาพสายตาคนไทยปี 2549 ระบุว่า มีคนไทยไม่น้อยกว่า 15 ล้านคน มีสายตาผิดปกติ คาดว่าจะมีคนไทยตาบอด 369,013 คน และสายตาเลือนราง 987,993 คน และคาดว่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆทุกปี เพราะด้วยไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปของคนยุคใหม่ ที่มีการใช้สายตาทำงานมากขึ้น ส่งผลทำให้ “อายุตา” สูงมากกว่าอายุของตัวเรา

ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและอุปกรณ์ไอที ประกอบกับผลพวงจากกระแสความนิยมบนโลกออนไลน์ ซึ่งช่วยให้สามารถรับข้อมูลข่าวสารได้ทั่วทุกมุมโลกและตลอดเวลา ทำให้เราปฏิเสธไม่ได้ว่า สิ่งเหล่านี้ได้เข้ามามีอิทธิพลเป็นอย่างมากในชีวิตประจำวันและการทำงานของเรา โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน มีไลฟ์สไตล์เปลี่ยนไป โดยจากสถิติการใช้อินเทอร์เน็ตในคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือของประชากรไทยในช่วงระยะเวลา 5 ปี (ระหว่างปี  2552-2556) พบว่า ข้อมูลจากบทสรุปสำหรับผู้บริหาร การมีการใช้เทคโน โลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน พ.ศ. 2556 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ระบุว่ามีผู้ใช้คอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้นเป็น 22.2 ล้านคน ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้นเป็น 46.4 ล้านคน และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยปัจจุบันพบว่าเกือบ 50 % ของคนไทยทั้งประเทศ ต้องใช้คอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโพนอยู่เป็นประจำทุกวัน ในการติดต่อสื่อสาร การเรียนหรือการทำงาน โดยใช้เวลาส่วนใหญ่กับการหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต หรือเช็กเมลอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ และยังใช้นอกเหนือจากเวลาเรียน และการทำงานแล้ว โดยเฉพาะไลฟ์สไตล์ของกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานในปัจจุบันอยู่ใน ยุค Look At “ME Generation” หรือ Gen Me ยุคที่คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีมากกว่ามนุษย์ด้วยกันเอง ทำให้เกิดปรากฏการณ์ “สังคมก้มหน้า” ที่ผู้คนรอบตัวต่างจดจ้องอยู่กับ “หน้าจอ” ของตัวเอง หรือเรียกได้ว่า “ชีวิตติดจอ” โดยไม่สนใจคนรอบข้าง ทำให้เราใช้สายตาเพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว“ชีวิตติดจอ”…ระวังโรคทางสายตาถามหาก่อนวัยอันควร

ข้อมูลจาก พญ.วรางคณา ทองคำใส จักษุแพทย์ หัวหน้าฝ่ายบริการทางการแพทย์ สนง.บรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า คนยุคใหม่มีไลฟ์สไตล์แบบ “ชีวิตติดจอ” ใช้จอต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น จอคอมพิวเตอร์ จอแท็บเล็ต หรือ จอสมาร์ทโฟน ในการอัพเดทสถานะ โซเชียลมีเดีย เล่นเกม ดูหนัง ดูซีรีส์ ส่งข้อความ ซื้อของออนไลน์ ค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต ทำให้เราใช้สายตาเพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว ซึ่งพบว่า อัตราการใช้สายตากับหน้าจอคอมพิวเตอร์และจอต่าง ๆ โดยเฉลี่ยวันละ 8-10 ชั่วโมงทีเดียว ส่งผลให้ใช้สายตาเพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว ซึ่งการที่คนเราใช้สายตาส่วนใหญ่ในการจ้องมองหน้าจอ หรือจ้องตัวหนังสือที่อยู่บนหน้าจอคอมพิวเตอร์ รวมไปถึงจอสมาร์ทโฟนนาน ๆ นั้น จะส่งผลให้กล้ามเนื้อลูกตาทำงานหนัก เพิ่มโอกาสที่จะทำให้สายตาเสียได้มากกว่าการอ่านหนังสือ หรือทำงานในกระดาษ โดยจากสถิติพบว่า ถ้าคนเราใช้สายตาอยู่กับหน้าจอต่อเนื่องมากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน จะทำให้เกิดอาการ ตาเบลอ ตาแห้ง แสบตา สู้แสงไม่ได้ ซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายที่คุณไม่รู้ตัว และหากเราใช้สายตามากขึ้น ความรุนแรงของอาการจะยิ่งมากจนเกิดอาการคอมพิวเตอร์วิชั่น ซินโดรม (computer vision syndrome) ซึ่งนอกจากจะมีอาการทางสายตาแล้ว ยังมีอาการของกล้ามเนื้อด้วยเช่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยบ่า ต้นคอ ถ้าปวดมากอาจทำให้นอนไม่หลับ และพักผ่อนไม่เพียงพอ และเป็นสาเหตุของโรคอื่นตามมาได้ดูแลป้องกันและถนอมสายตา…ก่อนสาย

เราควรเริ่มดูแลและถนอมสายตาตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อนสายเกินแก้ เพราะดวงตาของเรามีคู่เดียวไม่มีอะไหล่เปลี่ยน โดยเราสามารถดูแลถนอมสายตาได้ในชีวิตประจำวัน ดังนี้

– หากต้องทำงานหน้าจอคอมพ์หรือใช้สมาร์ทโฟน ควรหมั่นพักสายตา และกะพริบตาบ่อย ๆ อย่างน้อย 10-15 ครั้งต่อนาที

– ควรนั่งทำงานในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ

– ปรับขนาดตัวหนังสือให้อ่านง่าย ไม่เล็กเกินไป

– ที่สำคัญควรเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อการบำรุงสายตา เช่น วิตามินเอ ที่ผลงานวิจัยระบุว่า ช่วยในการมองเห็น และยังมีส่วนช่วยป้องกันการเกิดภาวะตาแห้ง และเลือกรับประทานทานผลไม้ที่มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะพบมากในผักและผลไม้ต่าง ๆ โดยเฉพาะผลไม้ตระกูลเบอรี่ต่าง ๆ เช่น บิลเบอรี่ สตรอเบอรี่ แครนเบอรี่ ราสเบอรี่ และแบล็คเคอร์แรนต์ เป็นต้น โดยมีการวิจัยพบว่า ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ มีแอนโธไซยานิน ช่วยคลายความเหนื่อยล้าของดวงตา ช่วยให้การมองเห็นในเวลากลางคืน และช่วยให้การไหลเวียนเลือดในเส้นเลือดฝอยดีขึ้น นอกจากนี้ ยังมีวิตามินซี อี และไบโอฟลาโวนอยด์ ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ มีส่วนช่วยปกป้องและถนอมดวงตาไม่ให้โดนทำลาย

นอกจากการบำรุงสุขภาพตาแล้ว สุขภาพร่างกายก็สำคัญ ควรพักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดที่ดวงตาดีขึ้น หากต้องออกแดด หรือขับรถควรสวมแว่นตากันแดด และควรพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจเช็กสุขภาพดวงตาปีละครั้ง หากมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับการมองเห็น ตาแดง ปวดตา หรือเคืองตา ควรรีบพบจักษุแพทย์

ข้อมูลจาก ดร.อภิสิทธิ์ ฉัตรทนานนท์  ประธานมูลนิธิคุณแม่คุณภาพ.

นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์

ที่มา : เดลินิวส์  9 มีนาคม 2557

‘โรคตา’ ในหน้าร้อน

ในช่วงหน้าร้อน แดดแรงจัด ปัญหาเกี่ยวกับดวงตาก็พบได้บ่อยเช่นกัน ถ้าอยากรู้ว่ามีอะไรบ้าง ไปฟังคำตอบจาก รศ.นพ.ศักดิ์ชัย วงศ์กิตติรักษ์ ประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กันเลยดีกว่า

รศ.นพ.ศักดิ์ชัย บอกว่า หน้าร้อน อากาศที่ร้อนจัดอาจจะมีปัญหาเกี่ยวกับดวงตามากขึ้นกว่าปกติดังต่อไปนี้

ตาแห้ง เป็นปัญหาที่พบมากขึ้นในช่วงนี้ ขนาดตัวหมอเองยังเป็นเลย อาการ คือ คนไข้จะมีความรู้สึกเหมือนฝืดตา เคืองตาง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าอยู่ในบริเวณที่มีลม อากาศแห้ง ดังนั้นแนะนำว่าควรหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีลมและอากาศแห้ง นอกจากนี้ควรกะพริบตาบ่อย ๆ ถ้ารู้สึกไม่สบายตาก็ให้หลับตา แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นอาจจะใช้น้ำตาเทียม หรือถ้าไม่แน่ใจว่าตัวเองเป็นโรคอื่นร่วมด้วยหรือไม่ก็ควรไปพบจักษุแพทย์

ต้อลม และต้อเนื้อ เป็นโรคที่เยื่อตาขาวมีการเสียดสีกับลม ฝุ่น หรืออากาศที่ร้อน แห้ง ๆ ทำให้มีการหนาตัวขึ้น ทำให้เกิดอาการเคืองตา ตาแดง รู้สึกไม่สบายตา และเกิดอาการอักเสบได้ง่ายขึ้น ถ้าต้อลมจะเป็นเฉพาะบริเวณตาขาว แต่ถ้าลุกลามเข้าไปในตาดำจะเรียกว่าต้อเนื้อ จริง ๆ มันคืออันเดียวกัน ซึ่งในช่วงหน้าร้อนจะเกิดการอักเสบได้ง่ายขึ้น อาจจะทำให้เกิดการเสียดสีจากการกะพริบตา ทำให้เคืองตา ตาแดง จากต้อลมและต้อเนื้ออักเสบได้ง่ายขึ้น

เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดต้อลมและต้อเนื้อ พยายามหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดด หรือในบริเวณที่มีลมมีฝุ่นเยอะ ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นแนะนำว่าควรจะไปพบจักษุแพทย์ ไม่แนะนำให้ซื้อยาไปใช้เอง เพราะยาบางอย่างที่ใช้ลดการระคายเคืองต้อลมและต้อเนื้อ ร้านขายยาอาจจะให้ยากลุ่มสเตียรอยด์ ซึ่งใช้ไปนาน ๆ อาจจะทำให้กลายเป็นต้อหิน และทำให้ตาบอดได้ เพราะลำพังต้อลมและต้อเนื้อไม่ทำให้ตาบอด แค่ทำให้ระคายเคือง รำคาญเท่านั้นเอง

การถนอมสายตาในช่วงหน้าร้อนคือ ควรหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีความร้อนสูง เช่น กลางแดด บริเวณที่มีลม มีฝุ่นเยอะ ๆ ถ้าไม่ติดว่าใช้เครื่องสำอางการล้างหน้าด้วยน้ำสะอาดก็จะช่วยทำให้ตามีความชุ่มชื่นมากขึ้น

แว่นกันแดดก็มีส่วนช่วยถนอมดวงตา เพราะจริง ๆ แล้ว แสงจากยูวีอาจจะทำให้เกิดอันตรายกับดวงตาได้ ตั้งแต่กระจกตาอักเสบ ทำให้เกิดต้อกระจกเร็วขึ้น หรือจอประสาทตาเสื่อม

เพราะฉะนั้นคนที่ทำงานอยู่กลางแดด หรือคนที่ไปเที่ยวแล้วอยู่กลางแดด เช่น อยู่กลางชายหาด แนะนำว่า ควรระวังเรื่องแสงแดดที่อาจจะเข้าตามากจนเกินไป ควรใช้แว่นกันแดด หรือ ใช้หมวกแบบมีปีกก็จะช่วยลดไม่ให้แสงเข้าตาได้

แว่นกันแดดราคาถูกกับราคาแพงใช้ได้เหมือนกันหรือไม่? รศ.นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า แว่นกันแดดสีที่เข้ม ๆ ไม่ได้บ่งบอกว่ากันแสงยูวีได้มากหรือน้อย โดยทั่วไปบริเวณข้างแว่นกันแดดจะเขียนเอาไว้ว่า ป้องกันยูวีได้กี่เปอร์เซ็นต์ แต่เป็นแว่นกันแดดที่มาจากแหล่งขายไม่มีความน่าเชื่อถือ เช่น ขายจรตามตลาดนัดในราคาถูกมาก ตัวเลขที่ระบุเอาไว้อาจจะเชื่อถือไม่ได้ อย่างไรก็ตามจะไปบอกว่าของถูกไม่ดีก็คงไม่ใช่เสมอไป.

นวพรรษ บุญชาญ – รายงาน

 

ที่มา: เดลินิวส์ 5 พฤษภาคม 2555