ไขมันพอกตับ…โรคที่มากับความอ้วน

dailynew140504_03ปัจจุบันคนส่วนใหญ่หันมาสนใจการตรวจสุขภาพด้วยวิธีต่าง ๆ มากขึ้น บางคนก็ตรวจพบมีการทำงานของตับผิดปกติโดยที่ไม่รู้ตัว แต่เมื่อมาปรึกษาแพทย์ก็พบว่าเป็นไขมันพอกตับหรือโรคตับคั่งไขมัน

โรคตับคั่งไขมัน (Nonalcoholic fatty liver disease (NAFLD) หมายถึงภาวะที่มีไขมันสะสมอยู่ในเซลล์ตับโดยที่คนนั้นไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์หรือดื่มในปริมาณที่น้อยมาก มักพบในผู้ที่มีภาวะอ้วนลงพุง (metabolic syndrome) โดยเป็นกลุ่มโรคที่ประกอบด้วยความผิดปกติที่มักพบร่วมกันได้แก่ โรคอ้วนลงพุง ความดันโลหิตสูง ระดับนํ้าตาลในเลือดสูงและระดับไขมันในเลือดที่ผิดปกติ ซึ่งเป็นผลมาจากความอ้วน และภาวะดื้อต่ออินซูลิน โดยเชื่อว่าโรคตับคั่งไขมันเป็นอาการแสดงทางตับของภาวะอ้วนลงพุงด้วย ผู้ป่วยโรคตับคั่งไขมันมักพบร่วมกับโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในเลือดสูงทำให้มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน นอกจากนี้ยังเป็นสาเหตุของตับอักเสบเรื้อรัง ที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มาตรวจเรื่องตับอักเสบเรื้อรัง

โรคตับคั่งไขมันอาจดูเหมือนเป็นโรคที่ไม่รุนแรงเนื่องจากส่วนใหญ่ไม่ทำให้เกิดอาการผิดปกติที่ชัดเจน แต่ก็มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่มีการดำเนินโรคไปสู่ภาวะตับแข็งได้โดยจากการศึกษาพบว่าผู้ป่วยโรคตับคั่งไขมันร้อยละ 2 มีการดำเนินโรคไปสู่ภาวะตับแข็งภายใน 15-20 ปีแต่ถ้ามีตับอักเสบด้วยโรคก็จะดำเนินเร็วขึ้น และเป็นสาเหตุที่สำคัญของการเกิดตับแข็งและมะเร็งตับเช่นเดียวกับโรคตับจากการดื่มสุราปัจจัยเสี่ยง

อ้วนลงพุง (เส้นรอบเอวมากกว่าหรือเท่ากับ 102 ซม. หรือ 40 นิ้วในผู้ชาย หรือ มากกว่าหรือเท่ากับ 88 ซม.หรือ 35 นิ้วในผู้หญิง), มีไขมันในเลือดสูง โดยตรวจพบมีระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด > 150 มก./ดล.หรือระดับ เอช-ดี-แอล โคเลสเตอรอล < 40 มก./ดล.ในผู้ชาย หรือ < 50 มก./ดล.ในผู้หญิง, เป็นโรคเบาหวาน, ความดันโลหิต > 130/85 มม.ปรอท หรือรับประทานยาลดความดันโลหิตอยู่ และใช้ยาบางชนิด เช่น amioderone, tamoxifen, ยาสเตียรอยด์การรักษา

ปัจจุบันยังไม่มียาที่รักษาได้ผลดีจริง การรักษาที่ดีที่สุด คือ การควบคุมนํ้าหนักให้เข้าสู่เกณฑ์ปกติ ถ้านํ้าหนักเกินควรลดนํ้าหนัก ให้ลดลงประมาณ 10% ของนํ้าหนักตัวปัจจุบันในอัตรา 0.5–1 กก. ใน 1-2 สัปดาห์ (ไม่ควรลดนํ้าหนักตัวลงอย่างรวดเร็ว เพราะจะทำให้โรคเป็นมากขึ้น)

หลักการรักษาโรคอ้วนหรือนํ้าหนักเกินทำได้โดยเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคอาหารและการออกกำลังโดยให้ลดพลังงานจากอาหารที่รับประทานและเพิ่มการออกกำลังกาย การลดอาหารที่ได้ผลมากที่สุดในระยะยาวคือการลดพลังงานจากอาหารที่ควรได้รับประมาณวันละ 500-1,000 แคลอรี่โดยเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผัก ผลไม้ หลีกเลี่ยงอาหารไขมัน เป้าหมายที่เหมาะสมในการลดนํ้าหนักคือการลดนํ้าหนักให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 5-10 ในช่วง 6-12 เดือน การลดนํ้าหนักในระยะยาว  ที่จะได้ผลดีนั้นจำเป็น   ที่จะต้องมีการออกกำลังกายร่วมด้วย การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ได้นํ้าหนักลดลงอย่างน้อยร้อยละ 5-10 ของนํ้าหนักตัวเริ่มต้น พบว่าทำให้ปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ของโรคหัวใจและหลอดเลือดได้แก่ระดับนํ้าตาลในเลือด ความดันโลหิต ระดับไตรกลีเซอไรด์ลดลง

การออกกำลังกายควรจะทำทุกวันอย่างน้อยวันละ 30 นาทีด้วยความแรงของการออกกำลังกายที่เหมาะสม การออกกำลังกายในระยะเวลาสั้น ๆ ครั้งละ 10-15 นาที เช่น การเดินเร็ว ๆ การทำงานบ้าน แต่ทำบ่อย ๆ วันละหลายครั้งก็พบว่ามีประโยชน์เช่นกัน

นอกจากนี้ยังต้องรักษาระดับนํ้าตาล และไขมันในเลือดให้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา หลีกเลี่ยงการซื้อยากินเอง รวมทั้งอาหารเสริมหรือสมุนไพรที่ไม่ผ่านการรับรอง.

ผศ.พญ.อภิญญา ลีรพันธ์
หน่วยระบบทางเดินอาหาร ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ที่มา : เดลินิวส์  4 พฤษภาคม 2557

หญิง-ชาย เสี่ยงไวรัสตับอักเสบพอกัน เหตุถ่ายทอดจากแม่สู่ลูก

แพทย์เผยคนส่วนมากยังเข้าใจผิด คิดว่าผู้ชายมีความเสี่ยงติดเชื้อไวรัสตับอักเสบสูงกว่าผู้หญิง แต่ความจริงแล้วถึงแม้ผู้หญิงที่ไม่มีพฤติกรรมสำส่อนทางเพศ ไม่ดื่มเหล้าสูบบุหรี่ ก็มีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อเทียบเท่าผู้ชายรักสนุก เหตุเพราะช่องทางการติดเชื้อส่วนใหญ่ในประเทศไทยยังคงมาจากแม่สู่ลูก ทั้งๆ ที่สามารถป้องกันได้ แต่อัตราการติดเชื้อผ่านช่องทางนี้ก็ยังสูงอยู่

นพ.บุญเลิศ อิมราพร อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวถึงเชื้อไวรัสตับอักเสบว่า ไวรัสตับอักเสบที่พบบ่อยในปัจจุบัน คือชนิดเอ บีและซี สำหรับไวรัสตับอักเสบชนิดดีและอีพบน้อย โดยผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบจะแบ่งอาการเป็น 2 ลักษณะคือ ติดเชื้อแบบเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีไข้ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร อาจมีผื่น ปวดข้อ ร่วมด้วย ต่อมาไข้จะลดลง ผู้ป่วยจึงเริ่มมีอาการตาเหลือง ตัวเหลือง ส่วนอีกกลุ่มคือ ติดเชื้อแบบเรื้อรัง ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่มีอาการผิดปกติ หรืออาจมีอาการที่ไม่จำเพาะ เช่น อ่อนเพลียเล็กน้อย กลุ่มนี้หากไม่ได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสมอาจนำไปสู่การเป็นตับแข็งและมะเร็งตับในที่สุด โดยเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดตับอักเสบเรื้อรัง ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบชนิดบี ซีและดีเท่านั้น ปัจจุบันพบจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีทั่วโลกประมาณ 350-400 ล้านคน ส่วนในประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีจากผู้บริจาคเลือดประมาณร้อยละ 5 และผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีส่วนใหญ่จะไม่มีอาการผิดปกติ โดยเฉพาะในเด็กจะไม่แสดงอาการป่วยใดๆ แต่เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่คนกลุ่มนี้มีโอกาสเสี่ยงของมะเร็งตับสูงกว่าคนทั่วไปประมาณ 200 เท่า หญิงเสี่ยงเป็นตับแข็งเช่นเดียวกับผู้ชาย

นพ.บุญเลิศกล่าวว่า ปัจจุบันคนส่วนใหญ่มีความเข้าใจว่า ผู้ชายมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสตับอักเสบมากกว่าผู้หญิง โดยเฉพาะผู้ชายรักสนุกที่มีพฤติกรรมชอบดื่มสุรา สูบบุหรี่ มีคู่นอนหลายคน โดยลืมตระหนักไปว่า ผู้หญิงก็มีโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเท่ากันกับผู้ชาย เพราะในประเทศแถบเอเชียรวมถึงประเทศไทยช่องทางการติดเชื้อที่สำคัญยังคงมาจากแม่สู่ลูก ส่วนโอกาสที่จะกลายเป็นตับแข็งและมะเร็งตับก็มีได้เช่นเดียวกับผู้ชาย โดยเฉพาะสาวๆ ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีอยู่แล้ว และมีพฤติกรรมชอบบริโภคอาหารที่มีไขมันมาก อาหารหมักดอง ถั่วหรือธัญพืชบางชนิดที่อาจมีสาร Aflatoxin ซึ่งเกิดจากเชื้อรา รวมถึงสาวๆ ที่ชอบซื้อยาหรือวิตามินที่อาจมีผลต่อตับมารับประทานเองโดยขาดการศึกษาข้อมูลที่เพียงพอ หรือไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ล้วนเป็นพฤติกรรมที่เอื้อให้เกิดภาวะตับอักเสบ ตับแข็งและมะเร็งตับ ได้เช่นเดียวกับผู้ชายคอทองแดงที่รักการดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหลาย ดังนั้น ผู้หญิงไม่ควรชะล่าใจ เพราะต่างก็มีอัตราเสี่ยงติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ และมีโอกาสกลายเป็นมะเร็งตับไม่แตกต่างกันกับผู้ชาย

ด้าน นพ.รัชวิชญ์ เจริญกุล อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวเพิ่มเติมถึงช่องทางในการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบว่า ไวรัสตับอักเสบบี เป็นสาเหตุสำคัญของภาวะตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็งและมะเร็งตับ การติดต่อของไวรัสตับอักเสบบี จะไม่ติดต่อผ่านการรับประทานอาหาร น้ำลาย หรือการสัมผัส แต่สามารถติดต่อได้ 3 ทางคือ เลือดและส่วนประกอบของเลือด ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก ซึ่งยังคงเป็นช่องทางการติดเชื้อที่สำคัญในประเทศไทย ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีแล้วก็ตาม ยังพบผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีสูงอยู่ ทั้งๆ ที่สามารถป้องกันได้ โดยการตรวจคัดกรอง หากพบว่าไม่มีภูมิต้านทานไวรัสก็สามารถรับวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีได้ หรือแม้กระทั่งติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีแล้ว ก็ป้องกันไม่ให้เป็นตับแข็งและมะเร็งตับได้ และหากวางแผนมีบุตรยังสามารถตั้งครรภ์และให้กำเนินทารกได้อย่างปลอดภัยภายใต้การดูแลของแพทย์

นอกจากนี้ นพ.รัชวิชญ์ ยังเปิดเผยว่า ไวรัสตับอักเสบซี ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญของภาวะตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็งและมะเร็งตับ แต่ไม่ง่ายเหมือนกับไวรัสตับอักเสบบีโดยติดทางเลือดเป็นหลัก ส่วนทางเพศสัมพันธ์และจากแม่ไปสู่นั้นน้อยมากๆ ในประเทศไทยจากข้อมูลการบริจาคเลือด พบว่ามีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีร้อยละ 1-2 ของประชากร ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบซี ผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ส่วนใหญ่ไม่มีอาการผิดปกติ ตรวจพบได้โดยการตรวจเลือดเท่านั้น ซึ่งหากกลายเป็นไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง และไม่ได้รับการรักษาจะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ ได้แก่ ตับแข็งและมะเร็งตับในที่สุด

ส่วนผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบไม่ว่าชนิดใดก็ตาม นพ.รัชวิชญ์ แนะนำแนวทางปฏิบัติตัวว่า ควรงดดื่มสุราและไม่สูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการรับประทานยาโดยไม่จำเป็น ควรปรึกษาแพทย์ว่ายาชนิดนั้นมีผลต่อตับหรือไม่ หลีกเลี่ยงการรับประทานยาสมุนไพร พักผ่อนให้เพียงพอ งดออกกำลังกายหักโหม ตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ เพื่อเฝ้าระวังตับแข็งและมะเร็งตับ แนะนำให้ญาติพี่น้อง คนใกล้ชิด สามีภรรยา ตรวจหาการติดเชื้อไวรัสและรับวัคซีนป้องกัน ระมัดระวังการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น กรณีมีข้อบ่งชี้ให้รับการรักษา ควรรักษาอย่างต่อเนื่อง

ไวรัสตับอักเสบเป็นปัญหาสาธารณสุขที่คนส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักถึงภัยเพียงพอ ทำให้มีผู้เสียชีวิตเพราะภาวะตับแข็งและมะเร็งตับจำนวนมาก ดังนั้น ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลเวชธานี จึงรณรงค์ให้ประชาชนหันมาใส่ใจในโรคดังกล่าว ด้วยการเปิดให้ผู้ที่สงสัยว่ามีความเสี่ยง หรือผู้สนใจทั่วไปเข้ารับการเจาะเลือดเพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้ที่งานสัมมนา “ไวรัส วายร้าย ทำลายตับ” ซึ่งแพทย์ทั้งสองท่านจะมาให้ความรู้ในงานดังกล่าวด้วย ในวันเสาร์ที่ 31 มี.ค. 55 ที่โรงพยาบาลเวชธานี สอบถามโทร. 0-2734-0000

 

ที่มา: ไทยรัฐ 21 มีนาคม 2555