9 พฤติกรรม…ส่งผลร้ายต่อฟันที่คุณรัก

images005คอลัมน์ คุยกับหมอฟันมหิดล : โดย รท.ทพ.ชัชชัย คุณาวิศรุต อาจารย์ประจำภาควิชาทันตกรรมทั่วไปขั้นสูง คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

พฤติกรรมเสี่ยงที่เป็นอันตรายต่อฟันคุณมีอะไรบ้าง?

1) การใช้ฟันเป็นเครื่องมือ หลายคนใช้ฟันเป็นเครื่องมือในการเปิดขวดหรือเศษถุงฉีกขาดเทปพลาสติก, ตัดป้ายราคาเสื้อผ้าออก เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะฟันถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในการบดเคี้ยวอาหารเท่านั้น การใช้ฟันผิดเช่น นำไปกัด หรือฉีกถุงพลาสติก อาจทำให้ฟันหน้าบิ่นหรือแตกหักเสียหายได้

2) เคี้ยวน้ำแข็ง ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่ามันแข็ง ถึงจะเคี้ยวแล้วมันจะได้ความกรุบกรอบ สนุกสนาน แต่อาจทำให้ฟันที่ใช้เคี้ยวน้ำแข็งเกิดอาการฟันร้าว นำไปสู่การเสียวฟัน และปวดฟันได้ หรือในบางรายที่ไม่มีอาการดังกล่าว อาจจะทำให้ฟันสึกมาก และเร็วกว่าปกติได้ รวมถึงทำให้ฟันแตกหัก จนต้องถอนฟันได้

3) ดูดน้ำมะนาว น้ำมะนาวมีความเป็นกรดสูง และความเป็นกรดในน้ำมะนาวนี้ จะทำให้เนื้อฟันบริเวณที่สัมผัสกับน้ำมะนาว มีลักษณะอ่อนนุ่มลง และจะทำให้ฟันสึกมากกว่าปกติได้ ดังนั้นหากต้องการดื่มน้ำมะนาว แนะนำให้ดื่มน้ำเปล่า หรือบ้วนปากด้วยน้ำเปล่าตามทันที เพื่อลดระยะเวลาที่น้ำมะนาวจะสัมผัสกับตัวฟัน และไม่ควรแปรงฟันทันทีหลังดื่มน้ำมะนาว เพราะเนื้อฟันยังมีลักษณะนิ่มหลังจากสัมผัสกับกรด การแปรงฟันทันที อาจส่งผลให้ฟันสึกเร็วขึ้น

4) การใช้ไม้จิ้มฟัน การใช้ไม้จิ้มฟันบ่อยๆ และใช้แบบผิดวิธี อาจทำให้ฟันห่างขึ้น และเป็นอันตรายต่อเหงือกได้ แนะนำให้ใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดระหว่างซอกฟันจะดีกว่า

5) กัดเล็บ การกัดเล็บจะทำให้เล็บไม่สวย และเสียบุคลิกภาพ

6) ดูดนิ้วหัวแม่มือ การดูดนิ้วหัวแม่มือในเด็ก จะส่งผลต่อการขึ้นของฟัน ทำให้ฟันขึ้นในตำแหน่งที่ผิดปกติ เนื่องจากนิ้วหัวแม่มือไปดันฟันไว้ และทำให้เกิดความผิดปกติของกระดูกใบหน้า ขากรรไกรได้

7) การสูบบุหรี่จัด การดื่มแอลกอฮอล์ หรือการเคี้ยวหมาก 2 อย่างแรก จะทำให้มีคราบสกปรกติดแน่นในช่องปาก ทำให้มีคราบหินน้ำลายมาเกาะได้ง่าย และนำไปสู่การเป็นโรคเหงือก โรคปริทันต์และสูญเสียฟันต่อไป นอกจากนี้ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดโรคมะเร็งในช่องปากอีกด้วย ส่วนการดื่มแอลกอฮอล์ จะส่งผลให้คนไข้ลืม หรือไม่ใส่ใจในการทำความสะอาดช่องปาก เนื่องจากเมา หลับไป

8) ดื่มน้ำอัดลมมากเกินไป น้ำอัดลมมีความเป็นกรดเช่นเดียวกับน้ำมะนาว การดื่มน้ำอัดลมบ่อยๆ จะทำให้เนื้อฟันมีลักษณะนิ่ม มีการสึกที่เร็วกว่าปกติ นอกจากนี้ ในน้ำอัดลมยังมีน้ำตาลสูง ซึ่งเป็นสาเหตุที่สำคัญต่อการเกิดฟันผุอีกด้วย

9) การนอนกัดฟันโดยไม่รู้ตัว สาเหตุของการนอนกัดฟันโดยไม่รู้ตัวยังไม่เป็นที่แน่ชัดความเครียดอาจเป็นสาเหตุหนึงที่ทำให้นอนกัดฟันได้วิธีการป้องกันคือการใส่เฝือกสบฟันในขณะนอนเพื่อช่วยลดการสึกของฟันและปัองกันการเกิดอันตรายต่อกล้ามเนื้อใบหน้า และข้อต่อขากรรไกร

ที่มา : หน้าพิเศษ Hospital Healthcare นสพ.มติชน

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ 4 มีนาคม 2557

เหงือกอักเสบกระทบอวัยวะเพศ รุนแรงถึงขนาดหย่อนสมรรถภาพ

หมอไต้หวันศึกษาวิจัยพบว่า ผู้ชายโดย เฉพาะผู้ที่อยู่ในวัยหนุ่มแน่นและสูงอายุ ที่เป็นโรคเหงือกอย่างรุนแรง ล่อแหลมกับการเป็นโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศขึ้นได้ง่าย

นักวิจัยได้ใช้ข้อมูลจากการศึกษาขนาดใหญ่กับผู้ชายที่มีอาการหย่อนสมรรถภาพเกือบ 33,000  คน  และจากผู้ที่เป็นปกติดีอยู่อีก  162,000 คน ในหมู่ผู้ชายเหล่านี้พบว่ามีผู้ป่วยเป็นโรคเยื่อหุ้มฟันอักเสบร้อยละ 12 และเป็นผู้มีอาการหย่อนสมรรถภาพร่วมอยู่ด้วย ร้อยละ 27 จนอาจกล่าวได้ว่า ผู้ชายที่หย่อนสมรรถภาพเหล่านี้จะเป็นโรคเหงือกกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะคนที่ยังหนุ่มอยู่ อายุไม่เกิน 30 ปี และผู้มีอายุเกิน 70 ปีไปแล้ว

ผลการศึกษาไม่ได้แสดงว่าการเป็นโรคเหงือก เป็นสาเหตุของอาการหย่อนสมรรถภาพ เพียงแต่เกี่ยวพันกันเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม หมอผู้เชี่ยวชาญโรคระบบทางเดินปัสสาวะของสหรัฐฯ ผู้หนึ่ง ออกความเห็นว่า “เหตุที่โรคทั้งสองเกี่ยวพันกัน อาจจะเพราะการอักเสบที่เกิดขึ้น ทำให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญเสียหายไปด้วย จึงเห็นควรว่า ผู้ชายที่เป็นโรคเหงือก ควรจะรีบไปรักษาเสีย เพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลมเสียก่อน”.

ที่มา: ไทยรัฐ 25 พฤษภาคม 2555

.

Related Link:

.

Severe Gum Disease, Impotence May Be Linked

Men younger than 30, over 70 at particular risk, study shows

MONDAY, May 21 (HealthDay News) — Men with severe gum disease, known as periodontitis, are at greater risk for impotence, according to a new study that finds young men and the elderly at particular risk.

The researchers from Taiwan used data from a large study to identify almost 33,000 men with erectile dysfunction and randomly selected about 162,000 men without this condition.

Of these study participants, about 12 percent had periodontitis. This group with gum disease included about 27 percent of the men with erectile dysfunction and about 9 percent of those without sexual problems. The men were followed for five years.

The study found gum disease was much more prevalent among the men with erectile dysfunction than the control group. After taking into account other lifestyle factors, such as income and pre-existing medical conditions, the researchers found gum disease was still linked to impotence, particularly in men younger than 30 and those older than 70.

“Understanding all aspects of how and why a health condition occurs is vital to prevention and treatment goals,” said Dr. Tobias Kohler, a member of the American Urology Association Public Media Committee, in a committee news release. “This new study demonstrates how seemingly unrelated conditions can in fact be connected, underscoring the need for further research and education.”

The study did not show that gum disease causes impotence, merely that an association exists between the two.

One expert put forth a theory on a potential link between diseased gums and erectile dysfunction.

“I think the link between erectile dysfunction and gum disease is likely due to inflammation in the body, and the damage in the blood vessels supplying the penis,” said Dr. Aaron Katz, chairman of the department of urology at Winthrop-University Hospital in Mineola, NY. He added that men who have periodontitis should avail themselves of good dental care to help address the problem.

The researchers are from the Far Eastern Memorial Hospital and the Herng-Ching Lin School of Health Care Administration at Taipei Medical University. The study was to be presented Monday at a meeting of the American Urological Association, in Atlanta.

Data and conclusions presented at meetings should be considered preliminary until published in a peer-reviewed medical journal.

More information

The U.S. National Institutes of Health provides more information on gum disease.

— Mary Elizabeth Dallas

SOURCE: Aaron Katz, MD, chairman of urology, Winthrop-University Hospital, Mineola, NY; American Urological Association, news release, May 21, 2012

Last Updated: May 21, 2012

Data from: healthday

กลิ่นปาก … บอกลาถาวร

การจะกลบ “กลิ่นปาก” ให้อยู่หมัด ไม่ใช่เรื่องยาก ก่อนอื่นต้องทราบก่อนว่าปัญหากลิ่นปากเกิดจากอะไร ทพญ.จิราภรณ์ ผลพิบูลย์ ศูนย์ทันตกรรม โรงพยาบาลบีเอ็นเอช บอกว่า สาเหตุของกลิ่นปากส่วนใหญ่เกิดจากเศษอาหารที่ตกค้างอยู่ตามซอกฟัน บริเวณที่ทำความสะอาดได้ยาก หรือในรูฟันผุ

80-90% ของผู้ที่มีปัญหาเรื่องลมหายใจมีกลิ่นเหม็นหรือกลิ่นปาก มีจุดเริ่มต้นมาจากปัญหาในช่องปาก เศษอาหารที่เน่าอยู่ตามซอกฟัน รวมทั้งแผ่นคราบฟันและหินปูนที่อยู่รอบ ๆ ฟัน เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคได้อย่างดี นอกจากนี้โรคในช่องปาก เช่น ภาวะเหงือกอักเสบ เป็นหนอง จากโรคปริทันต์ หรือฟันโยก ยังเป็นสาเหตุของกลิ่นปากได้อีกด้วย

“น้ำลาย” ก็มีส่วนอย่างมากที่ทำให้เกิดกลิ่นปาก เพราะน้ำลายเปรียบเสมือนน้ำยาบ้วนปากที่ธรรมชาติสร้างขึ้นเพื่อช่วยชะล้างสิ่งสกปรกภายในช่องปาก ช่วยลดการบูดเน่าของอาหารที่ทำให้เกิดกลิ่น ดังนั้น หลังตื่นนอนใหม่ ๆ จะสังเกตได้ว่า กลิ่นปากจะแรง เพราะในขณะที่นอนหลับน้ำลายจะถูกขับออกมาน้อย ทำให้น้ำลายมีการหมุนเวียนน้อย เศษอาหารที่ตกค้างสะสมอยู่จึงมีการบูด เกิดเป็นกลิ่นปากแต่เมื่อแปรงฟันแล้วน้ำลายมีการไหลเวียนมากขึ้น กลิ่นปากจะบรรเทาลง

อย่างไรก็ตาม คนที่มีปัญหาปากแห้งเนื่องจากมีการหลั่งน้ำลายน้อย จะพบปัญหากลิ่นปากมากกว่าคนทั่วไป ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ทานยาบางชนิด อยู่ในภาวะอดอาหาร ดื่มน้ำไม่เพียงพอ อากาศร้อน ตลอดจนภาวะทางจิตใจ ความเครียด อาชีพที่ใช้เสียงมาก ๆ เช่น ครู และทนายความ

บางครั้งกลิ่นปากก็เกิดขึ้นได้จากโคนลิ้นด้านในสุด เนื่องจากมีน้ำเมือกในช่องจมูกไหลลงคอ ซึ่งในภาวะพบได้ในผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ โดยแบคทีเรียที่อยู่บริเวณดังกล่าวจะย่อยน้ำเมือกและทำให้เกิดกลิ่นขณะมีลมผ่านลิ้นที่เคลื่อนไหวในขณะพูด

สำหรับปัจจัยอื่น ๆ เช่น อาหารและเครื่องดื่มบางชนิดเมื่อรับประทานไปแล้วจะมีกลิ่นขับออกมาทางลมหายใจ เช่น หัวหอม กระเทียม ทุเรียน ผู้ที่ดื่มสุราหรือสูบบุหรี่เป็นประจำ คนที่ท้องผูกต่อเนื่องหลายวัน ก็ทำให้เกิดกลิ่นปากได้เช่นกัน

นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยโรคทางร่างกายบางอย่าง เช่น ต่อมทอนซิลอักเสบ ไซนัสอักเสบเรื้อรัง วัณโรค โรคปอดและโรคระบบทางเดินอาหาร โดยเฉพาะโรคเบาหวานจะมีกลิ่นลมหายใจเหม็นจากสารคีโตน ซึ่งพบเฉพาะในผู้ที่คุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี

ทันตแพทย์ แนะว่า การดูแลสุขภาพในช่องปากอย่างถูกวิธีควรทำความสะอาดโคนลิ้นด้วยแปรงทำความสะอาดลิ้นและแปรงให้ลึกถึงโคนลิ้น การบ้วนปากและกลั้วปากด้วยน้ำยาทำความสะอาด รับประทานอาหารที่มีใยอาหาร เคี้ยวหมากฝรั่ง การดื่มน้ำอย่างเพียงพอ

“หากต้องการทำความสะอาดช่องปากด้วยน้ำยาบ้วนปาก ช่วงเวลาทำความสะอาดที่ดีที่สุด คือช่วงเวลาก่อนนอน เนื่องจากจะทำให้น้ำยาทำความสะอาดตกค้างในปากได้นาน และออกฤทธิ์ได้นาน ทำให้ลดกลิ่นปากหลังตื่นนอนได้อย่างดี” คุณหมอกล่าว

สำหรับยาสีฟันและแปรงสีฟันที่เหมาะกับการดูแลสุขภาพช่องปากนั้น ทันตแพทย์แนะว่า ยาสีฟันมีหลายรูปแบบ ทั้งแบบผง แบบครีมและแบบเจล แต่ชนิดที่เป็นครีมหรือเจล จะทำให้เคลือบฟันของเราสึกกร่อนน้อยกว่าชนิดผง และควรเลือกยาสีฟันที่มีสี กลิ่น รส ตามที่ชอบ ไม่จำเป็นต้องราคาสูง หรือในภาวะที่มีอาการเสียวฟัน อาจเลือกใช้ยาสีฟันที่ลดอาการเสียวฟัน หรือถ้าต้องการป้องกันฟันผุก็เลือกแบบที่ผสมฟลูออไรด์

ส่วนแปรงสีฟันควรเลือกที่ขนแปรงอ่อนนุ่มและปลายขนมนกลม จะได้ไม่คมบาดเหงือก เลือกขนาดที่พอดีกับช่องปากของตัวเอง ไม่เล็กไม่ใหญ่จนเกินไปและเลือกที่ด้ามจับถนัดมือ

ผู้ที่กำลังเผชิญอยู่กับปัญหากลิ่นปาก คงต้องลองกลับไปค้นหาสาเหตุที่แท้จริงและแก้ไข แต่ถ้าปัญหากลิ่นปากยังไม่หมดไป ทางออกที่ดีที่สุดควรไปพบทันตแพทย์เพื่อรับคำแนะนำ หาแนวทางการรักษาที่ถูกต้อง เพื่อบุคลิกภาพที่ดี บอกลาปัญหากลิ่นปากได้อย่างถาวร

กลเม็ดพูดแล้วหอม
– จิบน้ำทุกครึ่งชั่วโมง อย่าปล่อยให้ปากแห้ง
– ทุกครั้งหลังอาหาร ควรแปรงฟันและลิ้น หรือบ้วนปากด้วยน้ำเปล่าหรือน้ำยาบ้วนปาก
– ใช้ไหมขัดฟันวันละ 2 – 3 ครั้ง
– เคี้ยวหมากฝรั่งชนิดที่ไม่มีน้ำตาล
– งดอาหารกลิ่นแรง เช่น กระเทียม
– หลีกเลี่ยงกาแฟ เครื่องดื่มอื่นๆ ที่ทำให้เกิดกลิ่นปาก
– เลิกสูบบุหรี่

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ 7 สิงหาคม 2555

รู้เท่าทัน ป้องกันโรคปริทันต์

รู้เท่าทัน ป้องกันโรคปริทันต์

ท.พญ.ฉัตรแก้ว บริบูรณ์หิรัญสาร 
งานทันตกรรม

มีผู้คนไม่น้อยที่เจ็บปวดด้วยโรคปริทันต์ หรือรำมะนาด เพื่อให้คุณรู้จักดูแลตนเองให้ห่างไกลจากโรคนี้ มีคำแนะนำมาฝากค่ะ 

โรคปริทันต์อักเสบ หรือ “รำมะนาด” สาเหตุเริ่มต้นมาจากการทำความสะอาดฟันไม่ดีพอ ทำให้เกิดการสะสมของแบคทีเรีย เมื่อทิ้งไว้นานขึ้นจะมีการตกตะกอนของแร่ธาตุจากน้ำลาย จนกลายเป็น “หินปูน” หรือ หินน้ำลาย ที่ไม่สามารถแปรงออกได้ หากปล่อยทิ้งไว้จะเกิดการทำร้ายเหงือกได้อย่างรุนแรงนะคะ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นโรคปริทันต์นะคะ เนื่องจากเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกันของแต่ละคนด้วย โดยธรรมชาติร่างกายจะหลั่งสารออกมาเพื่อกำจัดเชื้อโรค หรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามา ขณะเดียวกัน ก็ทำร้ายเนื้อเยื่อของตัวเองด้วย จึงเกิดเป็นโรคปริทันต์ขึ้น แต่หลายคนมักเข้าใจว่า เป็นเพียงโรคเหงือกอักเสบเท่านั้น แท้ที่จริงแล้ว การอักเสบนั้น จะลุกลามทำลายอวัยวะรอบๆ ฟันด้วย เช่น กระดูกเบ้าฟัน เอ็นยึดฟัน และผิวรากฟัน ดังนั้นผู้ที่เป็นโรคปริทันต์รุนแรง ฟันจะโยกและอาจทำให้สูญเสียฟันได้

สัญญาณอันตรายเมื่อเกิดโรคปริทันต์ คือ มีเลือดออกง่ายขณะแปรงฟัน เหงือกบวมแดง หรือมีหนอง มีกลิ่นปาก ฟันโยก เมื่อมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง ควรมาพบทันตแพทย์ทันที เพื่อการตรวจรักษาที่ถูกต้องและถูกวิธีนะคะ

ภายหลังขูดหินปูนแล้ว

สำหรับการรักษาโรคปริทันต์ ขั้นแรกต้องทำการกำจัดเชื้อที่สะสมอยู่ก่อน โดยการขูดหินปูนให้สะอาด และเกลารากฟัน ทำให้ผิวรากฟันเรียบ โดยเฉพาะในตำแหน่งที่ร่องเหงือกลึกๆ และฟันกรามด้านในที่มีหลายๆ ราก ซึ่งขั้นตอนนี้อาจต้องใช้เวลา และทำซ้ำหลายๆ ครั้งให้สะอาด บางรายอาจต้องใช้ยาชาร่วมด้วย จากนั้น 4-6 สัปดาห์ ทันตแพทย์จะนัดกลับมาดูอาการอีกครั้ง ถ้ายังมีร่องลึกปริทันต์เหลืออยู่ อาจจำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อแก้ไขความพิการของกระดูกเบ้าฟันที่ถูกทำลายไป ซึ่งการผ่าตัด จะเป็นการเข้าไปทำความสะอาดในตำแหน่งที่เครื่องมือไม่สามารถทำความสะอาดได้ถึง หรือทำการปลูกกระดูกในลักษณะรอยโรคที่เอื้อต่อการเกิดกระดูกใหม่ เมื่อผ่าตัดแล้วผู้ป่วยควรได้รับการตรวจติดตามผลการรักษา และให้ทันตแพทย์ขูดหินน้ำลาย เพื่อทำความสะอาดฟันเป็นประจำทุกๆ 3 เดือน เป็นการป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นโรคปริทันต์อีกค่ะ

โรคปริทันต์ สามารถป้องกันได้ ด้วยการทำความสะอาดช่องปากและฟัน อย่างถูกวิธี ร่วมกับการใช้ไหมขัดฟันบริเวณซอกฟันทุกครั้ง รวมถึงเลิกสูบบุหรี่ ก็จะช่วยให้มีสุขภาพเหงือกและฟันที่แข็งแรงไปนานๆ ค่ะ

———————————————————————————————–

พบกิจกรรมดีๆ ที่ศิริราช

•ในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ องค์ประธานมูลนิธิถันยรักษ์ฯ ขอเชิญสุภาพสตรีอายุ 35 ปี ขึ้นไป รับบริการตรวจเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรมในราคาพิเศษ ตั้งแต่วันนี้-31 ตุลาคม 2555 ที่ศูนย์ถันยรักษ์ อาคาร ๑๐๐ ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์ ชั้น 7 รพ.ศิริราช ติดต่อนัดหมาย โทร.0 2411 5657-9 ต่อ 301-305 และ 0 2411 0709 วันจันทร์-เสาร์ (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

•ขอเชิญร่วมงาน “120 ปี วันพระราชสมภพสมเด็จพระบรมราชชนก ศิริราช เดิน-วิ่ง ผสานชุมชน” ครั้งที่ 6 วันอาทิตย์ที่ 13 พฤษภาคม 2555 ณ อาคารหอพักฯ (ตรงข้ามตลาดศาลาน้ำร้อน) รับสมัครจนถึงวันที่ 12 พฤษภาคม ที่โถงอาคาร ๑๐๐ ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์ ชั้น 1 รพ.ศิริราช รายได้สมทบสร้างสถาบันการแพทย์สยามินทราธิราช สอบถาม โทร.0 2419 9547, 0 24197433, 0 2419 7646-9

———————————————————————————————–

ที่มา: ASTVผู้จัดการออนไลน์ 9 พฤษภาคม 2555